- การถดถอยของโรงเรียนที่จัดโดยภาครัฐเป็นหนึ่งในปรากฎการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกการศึกษาไทย
- ส่งผลให้ผู้ปกครองไม่เชื่อมั่นและตัดสินใจให้ลูกลาออกมาเรียนด้วยตัวเอง ถ้าคนไหนมีต้นทุนสามารถสนับสนุนการศึกษาที่ดีที่สุดให้ลูก เกิดเป็นช่องว่างในสังคมที่เริ่มขยายมากขึ้น
- มองระบบการศึกษาไทยวันนี้ผ่านวงเสวนาข้ามขอบการเรียนรู้ สู่ความเป็นไปได้ใหม่
‘แกะดำ’
ความหมายตามพจนานุกรมราชบัณฑิตสถาน หมายถึงคนที่ทำอะไรผิดเพื่อน ผิดฝูงในกลุ่มนั้นๆ มักใช้สำหรับสื่อความหมายที่ไม่ดี
และก็เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับคุณครูบางคน พวกเขารู้สึกว่าตัวเองผิดแปลกเพราะความคิดที่ไม่เหมือนครูคนอื่นๆ ไม่ว่าจะไม่อยากลงโทษนักเรียนด้วยการตี หรือ ทำไมเราต้องสอนเนื้อหานี้ให้เด็กด้วย
เรื่องที่ควรปกติ แต่หลังรั้วโรงเรียน ห้องพักครู หรือพื้นที่สี่เหลี่ยมในห้องเรียน การมีความคิดเช่นนี้กลับกลายเป็นเรื่องผิดแปลก
ครูบางคนยืนหยัดในความคิดของตัวเองก็พยายามต่อสู้ ถึงแม้จะพบเพื่อนที่คิดเหมือนกันในโลกออนไลน์ แต่ในชีวิตจริงพวกเขากลับรู้สึกยืนโดดเดี่ยว ครูหลายๆ คนที่เริ่มอ่อนแรงจึงหันกลับมาเปลี่ยนที่ตัวเอง โยนความคิดเปลี่ยนแปลงระบบทิ้งไป กลับมาใช้ชีวิตให้แต่ละวันผ่านไปก็พอ…
คนที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าครูจะมีความคิดแบบไหน หรือระบบการศึกษาวันนี้เป็นอย่างไร ก็คือ ‘เด็กๆ’ ที่กำลังเติบโตและหวังว่าพื้นที่ระบบการศึกษาและโรงเรียนจะช่วยทำให้เขาเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ชอบ แต่กลับทิ้งรอยแผลและความเจ็บปวดไว้
วงเสวนาข้ามขอบการเรียนรู้ สู่ความเป็นไปได้ใหม่ ในงานประชุมวิชาการ “Education Journey 50 ปี การศึกษาไทย” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา ชวนคนในวงการการศึกษาที่ยังคงมีไฟและความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความเป็นไปได้ใหม่ๆ
ผู้ที่ร่วมในวงเสวนานี้ ประกอบด้วย
- ‘ครูทิว’ ธนวรรธน์ สุวรรณปาล จากกลุ่มครูขอสอน
- ‘นะโม’ ชลิพา ดุลยากร จาก Inskru
- ‘เอิร์ธ’ ภูมิสิทธิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย จาก a-chieve
- ‘ทราย’ ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอาวุโส ทีมนโยบายปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
- ‘ครูมะนาว’ ศุภวัจน์ พรมตัน จากเพจอะไรอะไรก็ครู
- ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สุดท้ายแล้วครูและนักเรียนอาจเป็น ‘แกะดำ’ ภายในระบบการศึกษาที่พวกเขาควรมีบทบาท แต่กลับกลายเป็นเพียงคนที่ทำตาม และไม่สามารถส่งเสียงความต้องการตัวเองได้
ระบบการศึกษาปัจจุบันที่เข้าไปแล้ว ไม่ได้การันตีว่าจะได้ ‘เรียนรู้’
อาวุธในการทำงานของนักวิจัย คือ การสังเกตและตั้งคำถาม ทำให้ทรายมองเห็น 3 ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในระบบการศึกษาตอนนี้
ปรากฏการณ์แรก คือ การแยกตัวของการเรียนรู้กับการศึกษา ทรายอธิบายว่า 2 คำนี้ดูเหมือนเป็นคำที่มีความหมายคล้ายกัน แต่จริงๆ แล้วแตกต่าง การศึกษา คือ คนอื่นจัดสรรความรู้ให้เรา แต่การเรียนรู้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราเอง เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาตั้งแต่เด็กจนตาย ซึ่งการแยกตัวนี้ส่งผลให้เมื่อเราเข้าสู่ระบบการศึกษาไม่ได้แปลว่าจะได้รับการเรียนรู้เสมอไป
“เราเห็นเด็กไทยใช้เวลาในห้องเรียนเยอะมาก แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลับไม่ได้มาก เทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ใช้เวลาเรียนเท่ากับเรา ผลลัพธ์เด็กเขาเยอะกว่ามาก”
นอกจากการแยกตัวของการเรียนรู้กับการศึกษา อีกสิ่งที่ทรายมองเห็นว่ากำลังแยกตัวออกจากกัน คือ ทักษะ (skills) และวุฒิการศึกษา
“ต่อให้คุณจบการศึกษาในระดับสูง แต่อาจทำงานที่ไม่ได้ใช้คุณสมบัติที่สูงขนาดนั้น เช่น ตอนนี้คนทำงาน Grab 20% เรียนจบปริญญาตรี มันแสดงให้เราเห็นว่าต่อให้จบปริญญาตรี คุณก็อาจจะไม่ได้ทำงานที่เป็น Knowledge Worker หรืออาจไปแย่งงานคนที่จบปวช. (การศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ) ปวส. (การศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง) ก็ได้”
ปรากฏการณ์ที่สอง คือ การถดถอยของ Formal Public Education หรือระบบการศึกษาสายหลักที่จัดโดยภาครัฐ ภาวะถดถอยนี้มาจาก 2 ปัจจัย ปัจจัยแรกคือปริมาณคน ตั้งแต่ไทยเข้าสู่ยุคที่เด็กเกิดน้อย ส่งผลให้จำนวนเด็กที่จะเข้าโรงเรียนลดน้อยตาม และปัจจัยที่สอง คือ คุณภาพโรงเรียนรัฐในปัจจุบันที่ทำให้ความเชื่อมั่นของพ่อแม่มีไม่เท่าเดิม ผู้ปกครองบางคนให้ลูกลาออกจากโรงเรียนด้วยความตั้งใจ
“บางโรงเรียนมีเด็กลาออกที่ไม่ใช่เพราะปัญหาเศรษฐกิจ แต่ผู้ปกครองรู้สึกว่าเสียเวลา บางส่วนลาออกไปเรียนกศน. (การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) ขณะที่จำนวนเด็กในโรงเรียนสังกัดสพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ลดลง แต่เด็กกศน. ไม่ลดลงเลย เพิ่มขึ้นตลอด เด็กบางส่วนเลือกไปสอบเทียบตอนม.6 ให้ได้วุฒิการศึกษาจบ”
และปรากฏการณ์สุดท้าย คือ การเติบโตของการศึกษาทางเลือก (Alternative Education) ที่พัฒนาเพื่อตอบความต้องการและแก้ปัญหาในระบบการศึกษาสายหลักที่ผู้ปกครองและเด็กเจอ รวมถึงการเกิดใหม่ของสถาบันเรียนรู้นอกห้องเรียน เช่น Base Playhouse ซึ่งข้อสังเกตที่ทรายมองเห็นในปรากฏการณ์นี้ คือ พ่อแม่เป็นคนจ่ายเงินเพื่อซัพพอร์ตลูกเท่านั้น ไม่มีเงินสนับสนุนจากภาครัฐ
ในอนาคตหากระบบการศึกษาสายหลักไม่สามารถปรับคุณภาพได้ อาจทำให้เกิดช่องว่างในสังคม คือ คนที่มีทุนก็สนับสนุนการศึกษาที่มีคุณภาพให้ลูกอย่างเต็มที่ ส่วนคนที่ไม่มีก็จะต้องอยู่กับระบบการศึกษาแบบเดิมต่อไป
ครูปรับตัว ความต้องการนักเรียน และนโยบายที่ปรับแก้ : ทางออกของระบบการศึกษา
‘คน’ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เป็นสิ่งที่ผู้ร่วมเสวนาเชื่อเหมือนกัน การจะแก้ไขปัญหาต้องเริ่มจากคน และคนที่เปลี่ยนเป็นอันดับแรกได้ผลมากที่สุดก็คือ ‘ครู’
เป็นที่มาของ Inskru บนฐานความเชื่อของนะโมว่า การเรียนรู้อยู่ในธรรมชาติของคนเป็นครู แต่ภาระงานนอกเหนือจากการสอนกลับดึงครูออกจากห้องเรียน การอบรมหรืองานเอกสารค่อยๆ ดึงเวลาของครูไป และสภาพแวดล้อมที่ทำให้ครูบางคนที่อยากเปลี่ยนแปลง กลับถูกมองว่าเป็น ‘แกะดำ’
นะโมตั้งใจสร้างพื้นที่ Inskru ให้กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับครูที่จะมาแลกเปลี่ยนไอเดียการสอน แชร์ความคิดเห็น หรือนำปัญหามาปรึกษา
“มีครูที่มาพร้อมกับความเชื่อเก่าๆ เช่น ปรึกษาว่าจะลงโทษเด็กด้วยวิธีไหนดี (หัวเราะ) เราไม่ได้แบนคำถามแบบนี้นะ แต่เราทำให้เกิดการ discuss แลกเปลี่ยนมุมมองที่หลากหลาย เรารู้สึกว่ายิ่งเปิดบทสนทนาให้ครูได้คุยถึงเรื่องการจัดการชั้นเรียน การจัดการห้องเรียน จะช่วยให้การต่อสู้ทางวัฒนธรรมในโรงเรียนมันขยับไปได้”
‘กระบวนการเปิดเผยห้องเรียนสู่สาธารณะ’ ถือเป็นวัฒนธรรมที่ผู้ร่วมวงเสวนารู้สึกว่าใหม่สำหรับวงการครู และเป็นสัญญาณที่ดีที่เกิดขึ้น เพราะแต่ก่อนครูไม่นิยมที่จะแชร์วิธีจัดการห้องเรียนของตัวเอง เพราะรู้สึกว่าครูคนอื่นไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจากบริบทโรงเรียนต่างกัน เรื่องในห้องเรียนควรถูกเก็บเป็นความลับ
ครูมะนาวมองว่า การที่ครูรุ่นใหม่หลายคนเริ่มแชร์เทคนิคการสอนหรือการจัดการห้องเรียนของตัวเอง รวมถึงการเกิดขึ้นของเพจครูต่างๆ ช่วยทำให้สิ่งนี้กลายเป็นวัฒนธรรมที่ดี ส่งผลต่อปรับเปลี่ยนมุมมองของครูในการสอนนักเรียน
“ครูจะเริ่มมีความรู้สึกว่าฉันต้องเปลี่ยนห้องเรียนแล้ว ตั้งคำถามกับการสอนตัวเอง แต่ส่วนนี้จะติดกับดักว่าเป็นภาระงานที่ค่อนข้างเยอะ สังคมเรามีมายาคติว่า ‘ครูคือผู้ให้’ เป็นคำที่ดีนะ แต่พอใช้ในบริบทที่งาน overload เกินภาระที่คนคนหนึ่งจะรับไว้ กลายเป็นใช้คำเหล่านั้นเพื่อที่จะทำให้ครูทำงานได้มากขึ้น
“เราไม่ได้แก้ปัญหาให้ตรงจุด เหมือนทุกคนพยายามข้ามแม่น้ำแต่ไม่ซ่อมสะพาน เห็นใครที่ข้ามได้ก็พยายามข้ามโดยใช้วิธีเดียวกับเขา แต่บริบท สมรรถนะไม่เท่ากัน สิ่งที่เราพยายามทำ คือ พูดเรื่องโครงสร้าง เพื่อที่ทุกคนจะได้ข้ามไปด้วยกันได้”
เพราะแก้ที่คุณภาพครูไม่เพียงพอ สุดท้ายวนกลับมาที่ ‘นโยบายและโครงสร้าง’ ครูทิวให้ความเห็นว่า การจับกลุ่มของครูเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อไม่ให้ครูรู้สึกว่าต่อสู้โดดเดี่ยว ยังมีคนอื่นๆ ที่พร้อมสู้ไปกับพวกเขา และการรวมกลุ่มจะสร้างอิมแพคให้เกิดเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างและนโยบาย
“ผมว่าคนที่เลือกจะเป็นครู เขามี passion ในการสอน ไม่ว่าจะอยู่บนแนวคิดไหน แต่อะไรที่ทำให้เราไม่ได้ทำหรือทำได้ไม่เต็มศักยภาพ”
คนที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อีกคน คือ ‘นักเรียน’ หากพวกเขาได้อำนาจในการจัดห้องเรียนเช่นกัน ครูมะนาวแชร์ painpoint ที่เด็กหลายคนมี คือ ไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรในห้องเรียน ทำไปเพื่ออะไร พวกเขาไม่สามารถเชื่อมโยงความรู้กับชีวิตประจำวัน กลายเป็นเวลาในห้องเรียนเสียเปล่า
วิธีแก้ปัญหาของครูมะนาวเรียกว่าใช้นวัตกรรมที่ทุกคนมี คือ ‘ถาม’ เด็กว่าต้องการเรียนอะไร
“ขอยกตัวอย่างวิชาภาษาไทยที่สอน เราเริ่มต้นห้องเรียนให้นักเรียนเขียนว่าต้องการอะไรจากวิชานี้ คำตอบของเขาจะไม่ได้เป็นแบบมาตรฐานตัวชี้วัดนะ เขาเขียนคำที่เป็นรูปธรรมจริงๆ เช่น เขาอยากสื่อสารเป็น พูดเก่งขึ้น มีความมั่นใจในการพูดหน้าห้องเรียน พวกนี้เป็นสิ่งที่อยู่ในวิชาอยู่แล้ว
“การสอนก็เหมือนขายกะเพรา เวลาลูกค้าสั่งเขาสั่งเป็นจาน ไม่ได้สั่งว่าเอาข้าว ใส่ใบกะเพรา ใส่หมูสับ เขาบอกสูตรสำเร็จ ส่วนเรามีหน้าที่ปรุงให้ลูกค้าได้สิ่งนั้น
“การสอนของเราจะไม่ใช่สอนให้รู้ 1 2 3 4 แล้วไปทำ แต่ถ้าคุณจะทำอันนี้คุณต้องรู้อะไรบ้าง เรียนรู้ร่วมกัน เช่น อยากให้นักเรียนฝึกเขียนเรียงความ ช่วงนั้นการเขียนรีวิวมาแรง ก็ให้นักเรียนเขียนรีวิวชุมชนตัวเองลงเฟซบุ๊ก แต่ผ่านมา 2 – 3 ปีก็ต้องเปลี่ยนเพราะคนไม่ฮิตเขียนรีวิวละ แต่ทำ vlog แทน เราก็ให้เขาเขียนเรียงความแบบเดิม แต่นำเสนอเป็นคลิป ข้ามขอบมาตรฐานและตัวชี้วัดในหลักสูตร ออกแบบการสอนด้วยความเข้าใจเราเองเถอะ”
ลดความเป็นราชการ ให้ระบบการศึกษากลับไปเป็นของนักเรียนและครู
ช่วงสุดท้ายของวงเสวนานี้ไม่ได้จบด้วยคำตอบ แต่เป็นคำถามจากทรายที่อยากชวนคนอื่นๆ คิดต่อ เพื่อในท้ายที่สุด อาจทำให้เราลงมือเพื่อหาคำตอบจนได้ต่อยอดเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดในระบบการศึกษา
“เราจะลดความเป็นราชการของการศึกษาได้อย่างไร” คำถามแรกที่ทรายหยิบขึ้นมา เพราะระบบการศึกษาในประเทศอื่นๆ เกิดขึ้นเพราะคนอยากเรียนจึงมารวมตัวกัน แต่ของประเทศไทยเกิดขึ้นเพราะรัฐ ‘สั่ง’ ให้เกิด ทำให้รากฐานของระบบการศึกษามีความเป็นราชการ
“ปัญหาที่ครูเจอที่ครูต้องรับผิดชอบไม่ใช่เพราะเป็นครู แต่เพราะเป็นข้าราชการ”
คำถามที่สอง “ทำอย่างไรให้การศึกษากับการเรียนรู้ และทักษะกับวุฒิการศึกษากลับมารวมกันอีกครั้ง” ทรายยกตัวอย่างวิธีที่สามารถทำได้ เช่น ยอมรับความรู้ที่ได้นอกเหนือจากสถานศึกษาที่กำหนดโดยรัฐ ให้วุฒิพวกเขาเทียบเท่ากันโดยวัดจากความรู้ที่มี หรือให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมปฏิรูปการศึกษามากขึ้น
และคำถามสุดท้าย เมื่อโลกมีการศึกษาวิทยาศาสตร์สมองมากขึ้น ทำให้รู้ฟังก์ชันการทำงานของสมอง ความรู้หนึ่งที่น่าสนใจและมีผลต่อการจัดการเรียนรู้ คือ การเรียนรู้เกิดที่สมอง เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประสาทในสมอง แต่ในกระบวนการผลิตครูยังคงเชื่อว่า การเรียนรู้เป็นการกระทำที่ครูทำกับเด็ก พยายามหาวิธีจัดการเด็กมากมาย ซึ่งอาจไม่ตรงจุด
“ถ้าเอาศาสตร์ความรู้นี้มาเชื่อมได้ เราอาจแก้ปัญหาเดิมๆ เช่น ความรู้เกี่ยวกับสมองทำให้เรารู้ว่าการนอนเป็นเรื่องสำคัญ สมองเด็กจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น บางประเทศเลื่อนเวลาเริ่มเรียน เพื่อเพิ่มเวลาให้เด็กได้นอนมากขึ้น หรือประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กส่งผลต่อสื่อประสาทในสมอง ส่งผลให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพ ถ้าเราดึงความรู้นี้มาใช้อาจจัดการสอนที่ส่งเสริมเด็กๆ” ทรายทิ้งท้าย