เติบโตจากโรงเรียน เรื่องเล่าจากศิษย์เก่า “โรงเรียนรุ่งอรุณ” ลีโอ – ศุภวุฒิ ธีระวัฒนชัย

  • ลีโอ – ศุภวุฒิ ธีระวัฒนชัย ศิษย์เก่าตัวตึงของโรงเรียนรุ่งอรุณ จากน้องอ.1 จนเป็นพี่ม.6 สู่บัณฑิตด้านสถาปัตยกรรมจาก University College London วันนี้ลีโอคือนักออกแบบรุ่นใหม่ที่กลับมา “รัน” วงการออกแบบของไทยอย่างเต็มตัว
  • แม้จะได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนทางเลือกวิถีพุทธ แต่สิ่งที่อยู่ลึกลงไปกว่าพฤติกรรมและวิถีธรรมเนียมปฏิบัติแบบพุทธศาสนา คือหลักปรัชญาที่ถูกนำมาปรับใช้กับการเรียนรู้โดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างการเติบโตของมนุษย์คนหนึ่งในสังคมที่มีความหลากหลาย
  • การทำงานกลุ่มเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญของโรงเรียนรุ่งอรุณ เพราะช่วยให้นักเรียนคนหนึ่งได้รู้จักตัวเองและรู้จักคนอื่นผ่านการทำงานร่วมกับคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย เปรียบได้กับการซ้อมใช้ชีวิตในสังคมที่เต็มไปด้วยผู้คนที่แตกต่างกัน

เป็นช่วงเช้าที่ดีมาก ๆ วันหนึ่ง เมื่อเราได้มีโอกาสนั่งสนทนากับ “ลีโอ – ศุภวุฒิ ธีระวัฒนชัย” ศิษย์เก่าของโรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนทางเลือกที่โดดเด่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการสอน บรรยากาศในโรงเรียน รวมไปถึงศิษย์เก่ามากหน้าหลายตา ผู้ “รัน” ทุกวงการและมากล้นด้วยความสามารถที่ใคร ๆ ก็ต้องเอ่ยชื่นชม ซึ่งลีโอที่มานั่งคุยกับเราในวันนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น 

หากจะบอกลีโอว่าคือ “pure blood แห่งรุ่งอรุณ” ก็คงไม่ผิดนัก เพราะเขาเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ ตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 จนจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากลูกศิษย์ของโรงเรียนทางเลือกแห่งความหวังของพ่อแม่ สู่บัณฑิตด้านสถาปัตยกรรมจาก University College London วันนี้ลีโอคือนักออกแบบรุ่นใหม่ที่กลับมารันวงการออกแบบของไทยอย่างเต็มตัว และสิ่งที่โรงเรียนรุ่งอรุณได้บ่มเพาะนักออกแบบคนนี้ คือรากฐานของการเป็น “มนุษย์ในสังคม” ที่ลีโอยังคงจดจำได้และพร้อมจะแบ่งปันให้ทุกคนได้รับฟัง

รุ่งอรุณในสายตาของลีโอ

“คำว่าโรงเรียนรุ่งอรุณมีหลายคำนิยามมาก อันดับแรกคือโรงเรียนรุ่งอรุณคือโรงเรียนทางเลือก ผมเองก็ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าต้องมีอะไรบ้างที่มาประกอบกันให้เป็นโรงเรียนทางเลือกบ้าง แต่สำหรับโรงเรียนรุ่งอรุณ มันคือการที่โรงเรียนมีสิทธิ์ที่จะสร้างหลักสูตรของตัวเอง หลักสูตรของโรงเรียนไม่ได้ขึ้นอยู่กับหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ 100 เปอร์เซ็นต์ เราไม่ได้ใช้หนังสือของกระทรวง เราไม่ได้มีบทเรียนที่ถูกกำหนดโดยกระทรวง แต่ถูกกำหนดโดยครูผู้สอนและคณะบริหารของโรงเรียน”

“ด้วยความที่มีหลักสูตรที่ต่อเนื่อง มันจึงมากำหนดลักษณะและวิธีการเรียนของเด็กคนหนึ่ง โรงเรียนรุ่งอรุณไม่ใช่โรงเรียนที่มีนักเรียนเข้าออกเยอะ คือเด็กที่เรียนตั้งแต่อนุบาล 1 จนจบม.6 ค่อนข้างเยอะ เพราะมีระบบคัดคนเข้าเรียนที่ค่อนข้างละเอียด แม้ไม่ได้คัดด้วยการเอาคะแนนสอบมาวัด แต่มีการคัดเลือกผู้ปกครอง มีการสัมภาษณ์ผู้ปกครอง เพราะฉะนั้นโรงเรียนก็จะคัดคนที่มีทัศนคติหรือแนวคิดตรงกับโรงเรียน ทำให้เด็กที่เข้าเรียนก็จะเรียนยาว” 

“ภาพจำของเด็กโรงเรียนนี้ ข้อดีก็คือเป็นเด็กที่ีความคิดความอ่าน มีความเป็นตัวของตัวเอง กล้าแสดงออก ทำงานเก่ง แต่อีกฝั่งหนึ่งก็จะมีเสียงที่บอกว่า เด็กรุ่งอรุณดื้อ แรง และไม่อยู่ในกฎระเบียบ” 

โรงเรียนวิถีพุทธ

“โรงเรียนรุ่งอรุณเป็นโรงเรียนทางเลือกที่โครงสร้างของหลักสูตรถือว่าเป็น “วิถีพุทธ” ซึ่งสำหรับผม คำว่าโรงเรียนวิถีพุทธคือใช้หลักคิดหรือปรัชญาบางอย่างของพุทธศาสนาเป็นตัวกำหนดเป้าหมายหรือคุณค่าต่าง ๆ ในการเรียน เวลาโรงเรียนพูดเรื่องโครงสร้างหลักสูตรก็เลยมีหลายอย่างที่เป็นคุณลักษณะที่เข้ากันกับหลักของศาสนาพุทธ”

“ส่วนหนึ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมคือสวดมนต์บ่อย วันพฤหัสบดีก็จะสวดมนต์ยาวหน่อย ช่วงประถมปลายหรือมัธยมก็จะพาเด็กไปปฏิบัติธรรมบ้าง เป็นเหมือนค่ายของโรงเรียน แต่โรงเรียนจะเรียกว่าภาคสนาม เป็นเหมือนการออกไปเรียนนอกสถานที่ แต่ไม่ใช่ทุกภาคสนามจะเป็นการไปปฏิบัติธรรม แล้วก็มีกิจกรรมธรรมยาตรา ซึ่งเป็นกิจกรรมสำหรับนักเรียนชั้น ม.4 ที่จะเข้าเรียนสายวิทย์ คือผมพยายามให้เห็นภาพรวมว่ากิจกรรมชาวพุทธอยู่ในกิจกรรมของโรงเรียนอย่างไรบ้าง” 

“ถ้าเราตีความความเป็นวิถีพุทธเป็นพฤติกรรม วิถีธรรมเนียมปฏิบัติมันก็จะได้แบบนี้แหละ แต่ถ้าเรามองว่าพุทธเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เป็นลักษณะของมนุษย์ เป็นการเข้าใจตัวเอง เป็นการเห็นตัวเอง เป็นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นความช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคม ผมคิดว่าโรงเรียนก็แทรกวิถีพุทธลงมาในการสร้างสังคมบางอย่างในโรงเรียน เป็นสังคมที่มีความถูกต้อง ทุกคนต้องเท่าเทียมกันหมด เรามีความหลากหลายของนักเรียนที่เข้ามาเรียนในชั้น แต่ทุกคนยอมรับความหลากหลายซึ่งกันและกัน ทุกคนอยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือกัน ครูใหญ่ไม่มีที่จอดรถของตัวเอง เราถูกพาไปรู้จักปัญหาต่าง ๆ ในสังคม เพื่อทำความเข้าใจสังคม เข้าอกเข้าใจสังคม เกิดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น”

“เวลาเราพูดถึงพุทธ เราพูดถึงคุณลักษณะของคน เราพูดว่ามนุษย์คนหนึ่งต้องมีคุณลักษณะอะไรบ้างในการเติบโต เราต้องเลือกว่าเราจะเป็นคนอย่างไร เราต้องเลือกว่าเราจะประพฤติตัวอย่างไร ปฏิบัติตัวอย่างไร ซึ่งสิ่งที่โรงเรียนรุ่งอรุณสอนคือ เราต้องรู้จักตัวเอง รู้จักคนอื่น และรู้จักสังคม” 

รู้จักตัวเองผ่านศิลปะ

“ผมรู้จักตัวเองผ่านวิชาศิลปะ พอผมรู้ว่าตัวเองอยากเรียนสถาปัตย์ อยากเรียนศิลปะ ผมก็เลยยอมจบสายศิลป์ทั่วไปเพื่อให้ผมได้ทำงานศิลปะเยอะ ๆ แล้วก็จะได้ฝึกด้วย จะได้ทำพอร์ตโพลิโอด้วย ซึ่งศิลปะทำให้ผมรู้ว่าคุณลักษณะของเราในฐานะมนุษย์ต้องค่อย ๆ ถูกบ่มเพาะ เวลาครูสอนศิลปะ เขาจะสอนผ่านการทำโปรเจกต์ เราเสนอโปรเจกต์ไป แล้วครูก็จะคอยดูว่าเราทำออกมาเป็นยังไง เวลาประเมินก็ไม่ได้มานั่งประเมินว่าปั้นดินสวยหรือเปล่า วาดรูปสวยไหม แต่เป็นการประเมินว่าผมมีความอดทนหรือเปล่า ผมมีความพยายามทำให้งานเสร็จไหม มีความสม่ำเสมอหรือเปล่า ซึ่งทำให้ผมรู้จักตัวเองเยอะมากจากการเรียนศิลปะ” 

“สมมติผมเสนอโจทย์ไปเรื่องปั้นดิน พอผมปั้นออกมา แล้วครูก็บอกว่าใจร้อนนี่นา ซึ่งผมก็ใจร้อนจริง ๆ เพราะอยากให้งานเสร็จ หรือบอกว่าแบบนี้เราคิดเยอะไปไหม ทำเลย วาดเลย ที่คิดอยู่เนี่ยวาดออกมาสักที ทำออกมาเลยเถอะ เอาแต่พูดอยู่ได้ ไม่เห็นทำอะไรเลย หรือจะเป็นเรื่องของความสม่ำเสมอ เราปั่นงานทีเดียวตอนใกล้ส่ง ครูก็จะเขียนประเมินไม่ดีให้กับเรา ทั้งหมดนี้มันเหมือนกับเราทำเพราะเรารู้จักตัวเองมากขึ้น”

งานกลุ่มทำให้รู้จักคนที่หลากหลาย

“ด้วยความที่โรงเรียนใช้การสอนโดยครูถึงนักเรียน มันจึงมีความใกล้ชิดกันระหว่างครูกับนักเรียนเยอะมาก ทำให้เราได้รู้จักคนอื่นจากครูนี่แหละ แล้วก็รู้จักคนอื่นจากเพื่อน ๆ เวลาที่ทำงาน เวลาความเห็นไม่ตรงกันทำอย่างไร เวลามีประเด็นที่เรารู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง โรงเรียนมีพื้นที่ให้เราพูดแสดงความคิดเห็นหรือเปล่า เมื่อเรารู้สึกว่าเราโดนเอาเปรียบ เราจะทำอย่างไรต่อ มันคือการเตรียมพร้อมการรับมือกับสังคม เพราะฉะนั้นโจทย์ที่โรงเรียนให้สำคัญมากที่จะทำให้เราได้เรียนรู้คน” 

“โรงเรียนมีการทำงานกลุ่มเยอะ ซึ่งการทำงานกลุ่มเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการทำให้เราได้ฝึกการอยู่ร่วมกันในสังคม และเป็นการทดสอบว่าเวลาที่เรามีส่วนช่วยในการทำโปรเจกต์ใด ๆ ที่ต้องมีมากกว่าหนึ่งคน เราเป็นผู้นำหรือผู้ตาม เราเป็นคนทำงานแบบไหน เรามีความเสียสละแค่ไหน เรามีความสามารถอะไรที่เราสามารถเอาไปช่วยคนอื่นได้ เราขยันไหม เอาเปรียบคนอื่นหรือเปล่า พอเราทำงานกลุ่มไปเรื่อย ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราจะเริ่มเห็นว่าคนนี้ถนัดอย่างหนึ่ง อีกคนถนัดอีกอย่างหนึ่ง เราเห็นคนที่มีสภาวะการเป็นผู้นำมากกว่าคนอื่น เห็นคนที่ไม่ได้มีสภาวะผู้นำ แต่ช่วยเหลือได้ เห็นคนที่ไม่ทำ ไม่เสียสละ แต่จะไปเรียนพิเศษ ซึ่งสุดท้ายเราก็จะเห็นชัดมากว่าเราคือใครในพื้นที่นี้ แล้วไม่ใช่ว่าเป็นอะไรแล้วจะดีกว่าคนอื่น” 

รู้จักและเข้าใจสังคมผ่านวิชาเรียน

“โรงเรียนจะมีวิชาหนึ่งชื่อว่าวิชาบูรณาการ คือยำทุกวิชามาให้เรียน เป็นวิชาที่หน่วยกิตค่อนข้างใหญ่ และผมก็ชอบวิชานี้ วิธีการเรียนก็จะเรียนผ่านการทำโปรเจกต์ เรียนผ่านหัวข้อ ผ่านคอนเซ็ปต์ เช่น เรื่องทรัพยากรน้ำ ก็บูรณาการทุกอย่างที่เกี่ยวกับน้ำ บำบัดน้ำอย่างไร แผนที่ของแม่น้ำลำธารของบ้านเราเป็นอย่างไร น้ำมาจากไหน ต้นน้ำมาจากไหน ไปภาคสนามที่ป่าต้นน้ำ ไปดูต้นกำเนิดของมัน หรือลักษณะทางการเมืองเป็นอย่างไร มีนายทุนเข้ามาสัปทานการปลูกป่าแบบนี้นะ สุดท้ายป่าต้นน้ำก็อาจจะถูกทำลายเพราะการสร้างเขื่อนหรือเปล่า จะสร้างเขื่อนโดยไม่มี EIA (การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม) นักเรียนก็ได้ทำงานวิจัย EIA ไปยื่นให้ผู้แทน” 

“เหล่านี้คือส่วนที่แทรกอยู่ในหลักสูตร ที่ทำให้เรารู้จักสังคมภายนอก ซึ่งเราจะเรียนสังคมศึกษาอย่างเดียวไม่ได้ ผมเห็นด้วยว่ามันเรียนแยกกันไม่ได้ ทั้งสังคมศึกษา ภูมิศาสตร์ การเมือง การปกครอง แต่สิ่งที่ยากคือมันต้องเรียนผ่านความจริง มันไม่ได้เรียนผ่านสิ่งที่ครูเตรียมมาสอน ไม่ได้เรียนผ่านการเลคเชอร์ เพราะฉะนั้น ครูต้องพานักเรียนสังเคราะห์ วิเคราะห์มุมนี้ ชี้ให้เห็นมุมที่หายไป ครูกลายเป็นผู้อำนวยความสะดวกของการเรียน มากกว่าเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ดังนั้น สิ่งที่ครูเข้าใจมา ครูอาจจะยังเข้าใจไม่หมด จนมาเห็นพร้อมเราก็ได้”

โรงเรียนครึ่งหนึ่ง ครอบครัวครึ่งหนึ่ง

“การที่นักเรียนคนหนึ่งจะเติบโตมาเป็นอย่างไร ครึ่งหนึ่งผมให้เครดิตที่บ้าน เวลาผมกลับมาเล่าเรื่องอะไรที่เรารู้สึกว่าเราไม่ได้รับความเป็นธรรมให้ที่บ้านฟัง เขาก็จะบอกว่าเรื่องนี้ได้เหรอ ทำยังไงต่อดี เราจะมีชีวิตอยู่ในสังคมนี้อย่างไร ผมจำได้ว่าตอนอยู่ ป.1 มันมีเหตุการณ์ที่ผมโดนจับกลุ่มให้อยู่กับคนที่ไม่ได้ขยันมาก ผมกลับบ้านมาร้องไห้กับแม่ บอกว่าผักกลุ่มผมต้องไม่โตแน่เลย เพราะกลุ่มอื่นเขาดูขยันจด แต่เพื่อนในกลุ่มผมไม่ยอมจดเลย มันขี้เกียจมาก แม่ก็คุยให้ฟังว่า ลองดูว่าเพื่อนในกลุ่มมีข้อดีอะไรบ้าง ผมก็นั่งคิดกับตัวเอง คนนี้แข็งแรงก็อาจจะช่วยยกของได้ คนนี้เป็นแบบนี้ ซึ่งถ้าเรามาดูภาพนี้จริง ๆ มันก็คือโรงเรียนให้โจทย์มาแบบนี้ แล้วที่บ้านก็บอกเราว่า คุณต้องมีชีวิตต่อไปนะ ในสังคมไม่มีทางที่ทุกคนจะขยันเท่ากัน” 

“พ่อแม่ก็เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับลูกแหละ มันไม่ได้ผลลัพธ์ที่เท่ากันหรอก แต่เคสของผมคือผมคุยกับแม่เยอะ แม่ก็เรียนรู้ไปกับเรา แล้วก็ได้รู้จักเรามากขึ้น ถ้าถามในมุมของแม่ แม่ก็คงได้รู้ว่าผมไม่ใช่เด็กที่ชอบอ่านหนังสือมาก แต่ผมมีความพยายาม มีความมุ่งมั่นดี ซึ่งการรู้จักกันแบบนี้ โดยไม่เอาไปวัดความพึงพอใจผ่านมาตรฐานเด็กดี ผมว่ามันก็เป็นสิ่งที่ทำให้โตขึ้นมาแล้วมั่นใจมากขึ้น” 


Writer

Avatar photo

ณัฐฐฐิติ คำมูล

วัยรุ่นปวดหลังที่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Illustrator

Avatar photo

ธีรภัทร์ เศาธยะนันท์

ชอบกินลาเต้เย็น

Related Posts