เราจะเริ่มก่อร่างสร้าง ‘ระบบการศึกษาแห่งอนาคต’ จากตรงไหน?

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้มีการ ‘ปฏิรูประบบการศึกษา’ ในทั่วทุกมุมโลก ทั้งเสียงเรียกร้องจากผู้เรียนและผู้สอนไป จนถึงเสียงสะท้อนจากผู้ปกครอง นักวิจัย และผู้กำหนดนโยบายทางการศึกษา เราทุกคนต่างรู้ดีว่าถึงเวลาแล้วที่ระบบระเบียบปัจจุบันจะต้องเร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบใหม่ที่ดีกว่า แต่แทบไม่มีใครสามารถที่จะบอกได้อย่างชัดเจนว่า เราจะเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่นี้ได้อย่างไร

อย่างไรก็ดี เราได้เดินทางมาถึง ‘ก้าวสำคัญ’ ที่สามารถนำไปสู่คำตอบที่เราตามหาแล้ว ณ การประชุม ‘Creativity in Education Summit 2023’ (CES 2023) ที่ซึ่งบทสนทนาได้ขยับขยายจากการอภิปรายข้อมูลภาคทฤษฎีและไปสู่การหารือกลยุทธ์ภาคปฏิบัติที่สามารถทำได้จริง อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้กับไอเดียและนวัตกรรมใหม่ๆ โดยไม่ได้เพียง ‘เรียกร้อง’ และ ‘ยืนยัน’ ว่าความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น แต่ยังลงลึกถึงวิธีการที่เราจะสามารถนำพาโลกเข้าสู่ยุคใหม่ของการศึกษาได้จริงหนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิที่ริเริ่มบทสนทนาเกี่ยวกับประเด็นที่สำคัญนี้ คือ อันเดรียส ชไลเชลอร์ ผู้อำนวยการด้านการศึกษาและทักษะ และที่ปรึกษาพิเศษด้านนโยบายการศึกษาของเลขาธิการทั่วไปที่ขึ้นตรงกับสำนักงาน OECD ในปารีส เขาเป็นแรงสนับสนุนสำคัญที่คอยวิเคราะห์และให้แนะนำด้านนโยบาย เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางสังคม ในระหว่างการประชุม เขานำเสนอกรณีศึกษาและข้อมูลเกี่ยวกับวิธีที่ประเทศสมาชิก OECD ใช้ในการปลูกฝังความสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ลงในระบบการศึกษา

Andreas Schleicher (ภาพ: Christian Sinibaldi/The Guardian)

อันเดรียส ขึ้นต้นด้วยอ้างอิงถึงสำรวจที่ที่น่าสนใจที่แสดงให้เห็นว่า ทักษะทางสังคมและอารมณ์ของนักเรียนที่อายุ 15 ปีโดยเฉลี่ยนั้นต่ำกว่าเด็กที่มีอายุ 10 ปีเสียอีก แม้ปัจจัยทางพัฒนาการอาจมีผลต่อตัวเลขสถิตินี้ แต่อีกนัยหนึ่ง ความคาดหวังของระบบการศึกษาที่บีบให้นักเรียนปฏิบัติตามกฎระเบียบ ก็อาจมีส่วนทำให้ความใคร่รู้และความคิดสร้างสรรค์ลดลงเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่พวกเขาอยู่ในระบบ

(ภาพ: Yan Krukau/Pexels)

ในฐานะนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง ผมรู้สึกใจสลายที่ได้เห็นว่าเรากำลังสอนวิชาวิทยาศาสตร์เหมือนการเผยแพร่ศาสนา เราโน้มน้าวเยาวชนให้เชื่อในทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และให้พวกเขาทำแบบฝึกหัด ก่อนจะลงเอยด้วยการทดสอบความจำ นั่นไม่ใช่วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์เลย หัวใจวิทยาศาสตร์คือการตั้งคำถามกับหลักคิดของยุคสมัยต่างหาก

อันเดรียสกล่าว

เพราะนี่คือโลกที่เต็มไปด้วย ‘เหตุแห่งการชะงักงัน’

อันเดรียส ได้กล่าวถึงความท้าทายของการที่โลกต้องเผชิญหน้ากับเหตุแห่งการชะงักงันอย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์ระดับโลกต่างๆ เหล่านี้ล้วนอาศัยการแก้ไขที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงความสามารถในการปรับตัวรับมือกับเหตุการณ์เฉพาะหน้าทั้งสิ้น นี่คือเหตุผลที่เราจำเป็นต้องเร่งพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อความสร้างสรรค์และการคิดเชิงวิเคราะห์ที่ใช้งานได้จริง

1. การมาถึงของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI): ความจริงที่ประการหนึ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คือความก้าวหน้าของ AI ที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ และผลกระทบที่ตามมาต่อบางสายอาชีพ เช่น งานในระบบโรงงานอุตสาหกรรม งานกรอกข้อมูล งานสายการบริหารจัดการ และงานในระบบขนส่ง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ AI จะมีความสามารถที่น่าทึ่ง แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น แม้จะเก่งเรื่องการสืบค้นข้อมูลยิ่งกว่ามนุษย์ แต่ก็ยังด้อยกว่ามนุษย์อยู่มาก หากพูดถึงทักษะการสนทนาแบบไม่จำกัดหัวข้อ (Open Domain Conversation)

(ภาพ: Mojahid Mottakin/Unsplash)

2. คลังข้อมูลสารสนเทศที่กำลังทะลักล้น: ความท้าทายในการสืบค้นข้อมูลในโลกปัจจุบัน อันเนื่องมาจากปริมาณข้อมูลที่ล้นทะลัก ทำให้เราจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการในการได้มาซึ่งความรู้ จากเดิมที่เพียงสังเคราะห์ข้อมูลจากตัวบท กลายเป็นตอนนี้เราต้องประกอบสร้างองค์ความรู้ขึ้นด้วยตนเองอย่างรอบคอบ ในการที่จะทำเช่นนั้นได้ ต้องอาศัยทักษะการสืบค้นทางดิจิทัล

3. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change): ถือเป็นความจริงที่คนส่วนใหญ่รับรู้กันว่า มนุษยชาติมีรอยเท้านิเวศน์ (Ecological Footprint) ขนาดมหึมา อันสืบเนื่องมาจากวิถีชีวิตที่ไม่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน คำถามสำคัญปรากฏขึ้นในโมงยามอันเร่งด่วนนี้ คือแล้วใครกันที่จะเป็นเสียสละยอมเป็นผู้นำด้านการปรับตัว การโน้มน้าวผู้คนและสถาบันต่างๆ ให้ตระหนักถึงความสามารถและความรับผิดชอบของตนเองในการเปลี่ยนแปลงโลกถือเป็นก้าวหนึ่งที่สำคัญ และการแก้ไขปัญหาระดับนี้ ก็ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ ความพร้อมที่จะเผชิญกับอุปสรรค และกลยุทธ์การทำงานร่วมกันเพื่อบรรเทาและปรับตัวต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก

นอกจากความกังวลที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ยังมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอื่นๆ ที่ปรากฏขึ้นอีกหลายประการ เช่น อัตราการเติบโตของ ‘สังคมสูงอายุ’ ในหลายประเทศ โรคระบาดใหม่ๆ ดังเช่น COVID-19 ที่อุบัติขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และรวมถึงภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง (Economic Shocks) ที่จะวนกลับมาเสมอในทั่วทุกมุมโลก

แต่จะเริ่มต้นอย่างไรล่ะ?

1. การปลูกฝังให้ผู้เรียนมี ‘ศักยภาพกระทำการ’: ตามคำนิยามในทางสังคมวิทยา คำว่า ศักยภาพกระทำการ (Agency) หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการครอบครอง หรือการทำให้ได้มาซึ่งอำนาจและทรัพยากร เพื่อที่จะเติมเต็มศักยภาพของตนเอง บุคคลที่ถือว่ามีศักยภาพกระทำการ คือคนกระทำการต่างๆ โดยมีแรงจูงใจมากจากตนเอง อยู่ในการควบคุมของตนเอง ไม่ได้เผชิญกับแรงกดดันจากข้อจำกัด

อันเดรียสเชื่อว่า ‘ความคิดสร้างสรรค์’ และ ‘ศักยภาพกระทำการ’ คือเหรียญอีกด้านหนึ่งของกันและกัน โดยที่วิธีจัดการเรียนการสอนในระบบการศึกษายุคปัจจุบัน คือสิ่งที่พรากความสามารถในการรับรู้ถึงศักยภาพกระทำการของตนเองไปจากนักเรียน ด้วยการบังคับให้เขาอยู่ในกรอบและจำกัดอิสรภาพทางความคิด

หลักฐานที่เป็นรูปธรรมประการหนึ่งปรากฏในผลสำรวจเกี่ยวกับความคิดเห็นของนักเรียนต่อประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่านักเรียนส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสอบถามจะให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เชื่อว่าพวกเขามีศักยภาพมากพอจะกระทำการใดๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

(ภาพ:  Li-An Lim /Unsplash)

การส่งเสริมให้ผู้เรียนตระหนักถึงศักยภาพกระทำการของตนเอง เป็นกระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน อีกทั้งยังอาศัยความอดทนและความต่อเนื่อง โดยวิธีการส่งเสริมอิสระภาพและความรู้สึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในขณะที่พวกเขากำลังเติบโต ด้วยเหตุนี้ โรงเรียนควรเริ่มต้นให้เร็วที่สุด ด้วยการเริ่มเปิดโอกาสให้ผู้เรียนรู้จักมีความคิดริเริ่ม รู้จักตัดสินใจ และปลูกฝังให้พวกเขารับรู้ถึงอำนาจในการควบคุมการกระทำของตนเองตั้งแต่ยังเด็ก

2. การบ่มเพาะทัศนคติแบบ ‘Growth Mindset’: ผลสำรวจเกี่ยวกับ Growth Mindset ของนักเรียนชี้ให้เห็นว่านักเรียนจำนวนมากจากหลายประเทศในเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย เชื่อว่าความฉลาดเป็นพรสวรรค์ที่พวกเขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ในทางกลับกัน ผลสำรวจในประเทศเอสโตเนีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีผลคะแนน PISA ในระดับดี พบว่านักเรียนจำนวนมากเชื่อมั่นว่าจะสามารถประสบความสำเร็จได้ หากขยันเรียน นี่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่าง Growth Mindset กับอัตราความสำเร็จทางการศึกษาและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้เรียน

จะเห็นได้ว่าทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ถือเป็นปัจจัยสำคัญ ในการที่จะกระตุ้นทัศนคติดังกล่าว ขณะเดียวกัน เราอาจต้องพิจารณามุมมองที่เรามีต่อวิชาต่างๆ และความเกี่ยวข้องของวิชาเหล่านี้กับความสร้างสรรค์เสียใหม่ คนจำนวนมากมักเหมาเอาว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นทักษะสำหรับวิชาศิลปะเท่านั้น ทำให้พวกเขาเผลอละเลยความจริงที่ว่าความคิดสร้างสรรค์ก็สำคัญต่อการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

3. การขยับขยาย ‘กะลาใบเล็ก’ ที่ครอบเราไว้ในนามของ ‘หลักสูตร’: หลักสูตรที่ใช้ในโลกทุกวันนี้คือผลผลิตของการค่อยๆ สั่งสมความรู้ศาสตร์และศิลป์ต่างๆ มาเป็นเวลาหลายศตวรรษ แต่นั่นกลับนำไปสู่ภาวะ ‘แออัดยัดเยียด’ ของข้อมูล ตัวอย่างเช่นในวิชาคณิตศาสตร์ นักเรียนอายุ 15 ปีซึ่งอยู่ในวัยมัธยมต้น มักต้องใช้ชีวิตอยู่กับการจดจำสูตรและสมการต่างๆ โดยหนึ่งในบทเรียนที่สำคัญมากในชั้นเรียนระดับนี้คือ ‘ตรีโกณมิติ’

หากพิจารณาจากสถานการณ์ข้างต้น หลายคนอาจเข้าใจว่าตรีโกณมิติจะต้องเป็นบทเรียนรากฐานสำคัญในการคณิตศาสตร์แน่ๆ หลักสูตรส่วนใหญ่จึงให้ความสำคัญมากถึงเพียงนี้ แต่ในความเป็นจริง ตรีโกณมิติเป็นเพียงสาขาหนึ่งของคณิตศาสตร์ที่ไม่ได้มีความจำเป็นมากมายไปกว่าคณิตศาสตร์แขนงอื่นๆ เลย ที่ยิ่งไปกว่านั้น คือปัจจุบันไม่มีความจำเป็นที่มนุษย์จะต้องคำนวณสูตรตรีโกณเองอีกต่อไปแล้ว ด้วยอานิสงส์ของเทคโนโลยีที่เรียกว่าเครื่องคิดเลข และนั่นได้นำไปสู่คำถามสำคัญคือ เหตุใดในปัจจุบัน บุคลากรในระบบการศึกษายังคงยืนกรานที่จะบังคับให้นักเรียนท่องจำสูตรคำนวณเหล่านี้อยู่

(ภาพ:  Anoushka Puri/Unsplash)

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการปฏิรูปโครงข่ายการศึกษาทั้งหมดเป็นจะต้องเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและอาศัยองค์ความรู้แบบสหวิทยาการ แม้ว่าข้อเสนอของอันเดรียสจะฟังดูมีศักยภาพ แต่แน่นอนว่าในโลกนี้ไม่มีทางออกที่สามารถแก้ไขปัญหาทุกระบบการศึกษาในโลกได้เหมือนยาวิเศษ และนี่ก็คือเหตุผลสำคัญที่เราจำเป็นจำต้องมีงานเสวนาอย่าง CES 2023 เพราะการรวมตัวในลักษณะนี้คือแพลตฟอร์มสำคัญที่จะรวบรวมเอาบุคลากรทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นครู ผู้นำในสถานศึกษา และนักกำหนดนโยบายจากทั่วโลก มาร่วมหารือการทำงาน แบ่งปันมุมมองที่หลากหลาย เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการศึกษาร่วมกัน


Related Posts