การให้พื้นที่คือหัวใจของการเรียนศิลปะ
พ่อแม่จะเริ่มจากพื้นที่ให้ลูกได้อย่างไร? – ครูมอส อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี นักบำบัดศิลปะมนุษยปรัชญา ที่ใช้ศิลปะพาเด็กๆ กลับมาอยู่กับพื้นที่ของตัวเอง บอกว่าต้องเริ่มจากการ สร้าง space ที่เด็กรู้สึกปลอดภัย เพราะจะช่วยทำให้เด็กๆ กลับมาค้นหาและเจอตัวเอง
“สเปซเป็นสิ่งที่ปล่อยให้เกิดยากมาก พ่อแม่มีความคาดหวังเป็นพื้นฐานของทุกครอบครัวอยู่แล้ว ไม่ว่าจะในการทำงานศิลปะหรือทำอย่างอื่น ทุกอย่างอยู่ในสายตาคุณพ่อคุณแม่ จนเด็กรู้สึกว่าอึดอัด เพราะไม่มีสเปซ”
ไม่ใช่แค่ในงานศิลปะ เด็กทุกคนต้องมีสเปซ เราควรปล่อยให้ลูกเติมนั่น โน่น นี่ ให้เด็กได้ลองทำอย่างปลอดภัย ไร้ถูกผิด ถ้าเขาไม่มั่นใจจริงๆ เขาจะหันมาถามพ่อแม่เอง
แต่ถ้าเป็นครูมอส จะไม่ตอบว่าเติมอะไร เข้าไปเท่าไหร่ แต่จะฝึกให้หาว่าสเปซที่เหลือ ทำอะไรได้อีกบ้าง
สร้างมุมเล็กๆ ในบ้านให้เป็นพื้นที่ศิลปะ
ครูมอส บอกว่า พ่อแม่หลายครอบครัวมักไม่ค่อยปล่อยให้ลูกมีสเปซ หลายคนอาจว่าการให้ลูกอยู่ในสายตาตลอดเป็นเรื่องเล็ก แต่ไม่ใช่ นี่คือเรื่องสำคัญ
“สเปซเป็นสิ่งที่ปล่อยยากมาก ยิ่งการทำงานศิลปะยิ่งอยู่ในสายตาคุณพ่อคุณแม่ อาจทำให้เด็กรู้สึกว่าอึดอัด เพราะไม่มีสเปซ”
ฉะนั้นในทางปฏิบัติ เมื่อต้องการสร้างศิลปะให้ลูก ขั้นตอนแรกพ่อแม่อาจช่วยลูกหาพื้นที่ปลอดภัยและอุปกรณ์ทางศิลปะเล็กๆ น้อยๆ
พ่อแม่ลองปล่อยให้ลูกอยู่กับกระดาษ 1 แผ่น สี 1 กล่อง ครูมอสแนะนำให้หามุมๆ หนึ่งในบ้านที่มีตู้และอุปกรณ์ศิลปะอยู่ตรงนั้น
“ไม่ใช่แค่เด็ก เวลาทำงานศิลปะทุกคนต้องมีสเปซ จะเติมนั่น โน่น นี่ ดีไหม ให้เด็กได้ลองทำอย่างปลอดภัย ไร้ถูกผิด ถ้าเขาไม่มั่นใจจริงๆ ถึงจะหันมาถาม”
แต่ถ้าเป็นครูมอส อาจไม่ตอบให้ว่าต้องเติมอะไร ลองให้เด็กฝึกให้หาว่าสเปซที่เหลือ เขาทำอะไรได้อีกบ้าง
พ่อแม่ลองทำให้ดู
“เมื่อเด็กสามารถรู้ว่าหยิบจากตรงนี้ ชั้นนี้เป็นอุปกรณ์อะไร จานสี ขวดแก้ว พู่กันอยู่ตรงไหน ตัดยังไงเวลาเก็บ แรกสุดคุณแม่อาจจะพาทำ หรือทำไปด้วยกัน ถ้าเด็กเลียนแบบแล้วทำตาม เช่น คุณพ่อคุณแม่ทำปุ๊บก็ล้างเก็บ ผมเชื่อว่าพรุ่งนี้เวลาเดิม เด็กจะอยู่ตรงนั้น”
ตามปกติครูมอสบอกว่าเด็กต่ำกว่า 7 ปี จะเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบ
“ถ้าเด็กเลียนแบบแล้วทำตาม เช่น วันนี้เขาเห็นคุณพ่อคุณแม่เก็บพู่กันไปล้าง ผมเชื่อว่าพรุ่งนี้เวลาเดิม เด็กจะอยู่ตรงนั้นและทำได้เหมือนที่พ่อแม่ทำ”
ปล่อยให้ลูกวาดรูปอย่างอิสระ ไม่สอน คอยสังเกตอยู่ใกล้ๆ
ขณะที่ลูกกำลังวาดรูปอยู่ ถ้าลูกไม่ต้องการให้พ่อแม่มานั่งใกล้ๆ พ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกได้ทำงานอย่างอิสระ พ่อแม่ไม่ต้องถามหาความหมายของภาพ ไม่ต้องสอนว่าอะไรถูกต้อง ปล่อยให้ลูกทำงานศิลปะด้วยความรื่นรมย์
ในบางครอบครัว เด็กอาจจะขอให้พ่อแม่นั่งใกล้ๆ แต่ถ้าเขาไม่ได้ขอ พ่อแม่จะกลายเป็นผู้เฝ้ามอง (observer) ปล่อยให้เขาได้ทำงานอย่างอิสระ
“นักบำบัดส่วนใหญ่จะไม่ค่อยถามไปที่ภาพเยอะ จะไม่ค่อยหาความหมายเยอะ เพราะเราดูสิ่งที่ทำไปหมดแล้ว และเราเข้าใจว่าสิ่งที่ทำนั้นคืออะไร แต่ส่วนหนึ่งพ่อแม่อาจจะไม่ได้สังเกตสิ่งที่ทำ เลยไม่รู้ว่าทำอะไร เลยไปถามว่าลูกวาดอะไร”
หรือถ้าจะให้พ่อแม่ชวนถามสักหน่อย ครูมอสแนะนำให้ชวนคุยว่า
“ไหนมีอะไรเล่าให้แม่ฟังหน่อย เพราะเด็กบางคนก็ชอบเล่าเรื่องตอนระบายสี เด็กบางคนก็ไม่อยากพูด ขึ้นอยู่กับลักษณะของเด็กแต่ละคน แต่อย่างหนึ่งที่จะไม่ทำเลยคือเมื่อเด็กวาดรูปเสร็จบังคับให้เขาออกไปพรีเซนต์หรือไปพูดหน้าห้อง”
พ่อแม่ ล้าง เก็บ อุปกรณ์ให้ดู แล้วลูกจะทำตาม
ศิลปะนอกจากจะช่วยสร้างทักษะต่างๆ ให้ลูก เช่น การดูแลอุปกรณ์ด้วยตัวเอง เด็กๆ จะรู้จักวิธีล้างพู่กัน เก็บจานสีอย่างเป็นระบบระเบียบ ฝึกอยู่กับตัวเอง มีสมาธิ จินตนาการ ยังสร้างความรื่นรมย์ทางอารมณ์ ช่วยให้เด็กได้รับความสงบและฝึกอยู่กับตัวเอง
ถ้าพ่อแม่กังวลและอยากให้บ้านเรียบร้อยหลังลูกทำงานศิลปะ พ่อแม่อาจต้องยอมเก็บบ้าน เก็บข้าวของทุกอย่างเข้าที่เดิมของมัน
“เป็นสิ่งที่ทุกคนเอาไปใช้ได้จริง พอเด็กทำงานเสร็จแล้วเขาจำได้ว่าเมื่อวานแม่พาเก็บแบบนี้ เขาก็จะไปล้างตรงนั้นแล้วก็เอามาคว่ำ ถ้ามันยังไม่คลีนถึงกับเพอร์เฟ็คต์ ก็อาจจะ เอ้า…มาเช็ดด้วยกันอีกสักนิดนึง เพื่อให้พู่กันแห้ง แก้วแห้ง”
ระหว่างทางถ้าพ่อแม่เฝ้ามองตลอด และเห็นว่าลูกวาดรูประบายสีอย่างมีความสุข เขาจะไม่ลืมเลยช่วงเวลานั้นเลย ข้อนี้ครูมอสยืนยัน
อ่านบทความฉบับเต็ม อย่าระบายสีด้วยความรู้สึกผิดตลอดเวลา ‘ศิลปะ’ จะพาไปค้นหาตัวเอง