คุณวีรพรคะ
ลูกของเดือนร้องอยากมีมือถือค่ะ เดือนเลยสองจิตสองใจ คุณวีรพรบอกให้ตามใจลูกมากๆ แต่ในแง่หนึ่งก็ห่วงเรื่องความปลอดภัย ไม่แน่ใจว่าเด็กแค่ไหนถึงควรอนุญาตให้เล่น นี่เพื่อนๆ เขาเล่นกันด้วยค่ะ ลูกชายก็เลยอยากเล่นบ้าง
รบกวนปรึกษานะคะ
เดือน, กรุงเทพฯ
____________________________________________________________
ตามจริงคำถามของคุณเดือนน่าจะเป็นว่าทำอย่างไรไม่ให้เด็กอายุน้อยๆ เล่นมือถือหรือแท็บเล็ตมากเกินไปมากกว่า มาถึงตอนนี้แล้ว พอใครๆ เล่นเราก็คงต้องปล่อยให้ลูกเล่นบ้างตามยุคสมัย เด็กอนุบาลเดี๋ยวนี้ก็มีสังคมที่จะแลกเปลี่ยนข่าวสารความเป็นไปกันนะคะ ลูกของคุณก็คงต้องมีเรื่องในจอมือถือเอาไว้สื่อสารกับมิตรสหายเหมือนกัน
หากติดตามข่าวสารอยู่บ้างก็คงพอจะทราบว่ามีรายงานการศึกษาใหม่ๆ เกี่ยวกับผลเสียการใช้มือถือในเด็กเล็กอยู่ไม่น้อย หลักๆ คือเรื่องของแสงที่ไม่เหมาะกับจอประสาทตาที่ยังไม่เจริญเต็มวัย รวมทั้งความผิดปกติทางกระดูกและกล้ามเนื้อจากการจ้องจอนานเกินไป จะว่าไปทั้งสองกรณีไม่ได้อันตรายแต่กับเด็กเล็ก ผู้ใหญ่เองก็อาจได้รับความเสียหายทางสุขภาพจากการใช้มือถือนานจนเกินไปเช่นกัน
รายงานที่เพิ่งผ่านตาไปเมื่อไม่นานมานี้ยังกล่าวถึงการค้นพบว่าเด็กๆ ที่ถูกปล่อยให้ใช้มือถือหรือแท็บเล็ตตั้งแต่อายุน้อยมากๆ ชั่วโมงต่อวัน ยังมีอาการของโรคสมาธิสั้นเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งก็เช่นกันกับเรื่องสายตาและกล้ามเนื้อ ผู้ใหญ่เองก็เป็นโรคนี้กันไม่น้อย ออกอาการลุกลี้ลุกลน พูดจาไม่ปะติดปะต่อ
รายงานอีกชิ้นก็ระบุว่าคนรุ่นหลังเริ่มมีสติปัญญาถดถอย พูดง่ายๆ คือระดับไอคิวลดลง ซึ่งอาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากการใช้มือถือหรือแท็บเล็ตมากเกินไป อย่างไรก็แล้ว เรื่องนี้ยังต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมผลทางพฤติกรรมทางสังคมอื่นๆ ที่อาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่มนุษย์ใช้เวลาหน้าจอมากเกินไป
คำถามจึงอยู่ที่ว่าเราจะจำกัดการใช้มือถือในเด็กเล็กได้อย่างไรมากกว่า
ขอเสนอดังนี้ค่ะ
1.พ่อแม่นั่นแหละค่ะที่ต้องลดการใช้มือถือก่อน อย่าลืมว่าคุณเป็นคนสอนเขาทุกอย่าง บ่อยครั้งที่เราเป็นคนเอามือถือยัดใส่มือเด็กๆ เองเพื่อที่เราจะมีเวลาเล่นมือถือของเรา ไปทำธุระปะปัง ทำงานบ้าน เม้าท์มอยกับเพื่อนฝูง พฤติกรรมของลูกๆในวัยต้นๆ จะเป็นการเลียนแบบผู้ใหญ่โดยตรง ใช้วิธีโชว์ลูกให้น้อยค่ะ
2.อธิบาย พ่อแม่ผู้ปกครองต้องฝึกฝนตัวเองให้อธิบายให้เป็นทุกอย่างตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ เสิร์ชหาความรู้ อธิบายให้เขาเข้าใจ บอกเขาว่าแสงฟ้าเป็นอันตรายต่อสายตาของเขาอย่างไร มันจะทำให้เขาตัดขาดจากโลกจริงอย่างไร และความสั้นห้วนของสิ่งต่างๆ ที่นำเสนอในมือถือหรือแท็บเล็ตจะส่งผลให้เขากลายเป็นคนไม่สามารถทนอะไรยาวๆ และสมาธิสั้นได้อย่างไร และอาจเป็นอันตรายต่อสมองและสติปัญญาด้วย
ปรับเปลี่ยนคำอธิบายให้เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา ตามประสบการณ์ส่วนตัว…เด็กๆ มีความสามารถเข้าใจอะไรได้ดีกว่าที่เราเชื่อกันมาก แต่แน่ล่ะ มันต้องการพ่อแม่ที่พยายามอยู่สักหน่อยที่จะทำให้คนยังมีฐานมูลเล็กจ้อยเข้าใจ
การสร้างระบบตรรกะที่เข้มแข็งกับลูกเป็นอะไรที่แนะนำมากๆ ค่ะ
3.หากิจกรรมที่น่าสนใจให้ลูกทำ แน่นอน… หนังสือเล่มที่มีรูปภาพสวยงามเป็นตัวเลือกที่ดี และพ่อแม่ก็ควรใช้เวลาเล่นมือถือของตัวเองมาอ่านกับลูก คุณอาจอ่านหนังสือของลูกกับลูก และปล่อยลูกอ่านของลูกขณะที่คุณนั่งอ่านหนังสือของตัวเองไปข้างๆ
นอกจากนี้ยังมีเกมที่ฝึกสมองต่างๆ ที่น่าสนใจเพื่อช่วยให้เด็กๆ หลีกหนีความเบื่อหน่ายได้อย่างเกมจิ๊กซอว์ ตัวต่อ วาดภาพระบายสี ไปจนถึงเล่นกับสัตว์เลี้ยง ปลูกต้นไม้ เราต้องทำโลกนอกจอให้น่าสนใจค่ะ แล้วลูกถึงจะไม่หมกมุ่นกับสิ่งที่อยู่ในจอเล็กๆ นั้น
4.หาตัวช่วย อย่างแผ่นกรองแสงสีฟ้าที่จะช่วยปกป้องสายตา ปรับแสงจอและแสงในห้องให้สว่างพอดี ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ปกป้องเด็กๆ ไม่ให้เข้าถึงเนื้อหาไม่เหมาะสม
การนั่งดูมือถือกับลูกจะช่วยให้คุณรู้จักโลกของเขา และเข้าใจเขา พอๆ กับช่วยเขาเข้าใจเรื่องที่อาจไม่ใช่เรื่องของเด็กทีเดียวนัก เป็นโอกาสดีที่จะมีโอกาสได้อธิบาย
อย่างที่บอก… เด็กๆ สามารถเข้าใจอะไรได้มากกว่าที่เราคิด
อีกอย่างที่อยากฝากไว้ ดูเหมือนประเทศไทยเราจะกลัวเนื้อหาทางเพศมากเกินเหตุด้วย ตามประสบการณ์… เด็กๆ สามารถเข้าใจเรื่องเพศในแบบเด็กๆ ไม่จำเป็นต้องห้ามไม่ให้รู้หรือวิตกเรื่องนี้มากเกินไป เสิร์ชหาคำอธิบายที่เหมาะสม เป็นโอกาสที่ดีที่พ่อแม่จะได้อธิบายเรื่องนี้ให้มองเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ แทนที่เขาจะได้คำอธิบายอะไรก็ไม่รู้จากเพื่อนหรือคนอื่น
5.ถ้าอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าแม้มือถือหรือแท็บเล็ตจะเต็มไปด้วยการ์ตูนและเกมน่าสนุกอยู่ในนั้น แต่มันก็มีผลเสียมากมายได้เช่นกัน อันดับต่อไปคือบอกเขาว่าเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียที่ว่า เราจำเป็นต้องใช้พอเหมาะ ในเวลาที่จำกัด และกำหนดเวลาการใช้ในแต่ละวันได้ หนึ่งหรือสองชั่วโมง หรือสองแต่ไม่ต่อเนื่อง เช้าหนึ่งเย็นหนึ่ง ทำนองนั้น
และแน่นอนค่ะ ในสังคมเล็กจ้อยที่ประกอบด้วยพ่อแม่ลูก คุณเองก็เช่นกัน… ต้องทำตามกฏที่ว่าด้วย
หวังว่าจะช่วยได้บ้างนะคะ
หมายเหตุ : ใครอยากถาม อยากเล่า อะไร พี่แหม่ม แม่แหม่ม หรือป้าแหม่ม สามารถส่งและหรือเล่ามาได้ที่กล่องข้อความของเพจเฟซบุ๊ค mappa หรือ อีเมล์ mappalearning@gmail.com ทีมงานจะรวบรวมนำไปเป็นวัตถุดิบสำคัญแล้วส่งต่อให้พี่แหม่มค่ะ เพราะคอลัมน์นี้ตั้งตั้งต้นจากผู้อ่านไม่ใช่ผู้เขียน |