Bangkok Resilience เพราะเมืองเข้าใจ เราเลยอยากตื่นมาใช้ชีวิต

  • ถ้าเมืองเข้าใจ การใช้ชีวิตคงไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่ใครบอกกัน
  • mappa พาสัมผัสบรรยากาศงาน ‘Siam Square Walking Street’ กลับมาใช้ชีวิตของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกความสัมพันธ์บนถนนสายกิจกรรมแห่งใหม่ในกรุงเทพฯ
  • พื้นที่สาธารณะแห่งนี้จึงไม่ใช่ ‘คนแปลกหน้า’ แต่เป็น ‘เพื่อน’ ที่เข้าใจ เ เราจึงรู้สึกอยากออกไปใช้ชีวิตมากกว่าที่เคย

เพราะเมืองเข้าใจ เราเลยอยากตื่นมาใช้ชีวิต

ทุกคนต่างต้องการชีวิตที่มีความหวัง ความสุข และเลือกได้เอง แต่ที่ผ่านมา เมืองมีแต่พื้นที่ก่อสร้างตึก รถ ถนน และทำตามคำสั่งราชการ เราจึงไม่เคยรู้ว่าเมืองเข้าใจเราแค่ไหน 

แต่วันนี้เมืองเปิดพื้นที่ให้เราได้ใช้ชีวิตในแบบที่เราต้องการและโอบรับความหลากหลายของผู้คน 

เพราะเมืองก็ไม่ต่างจากคน หากวันหนึ่งมีคนที่เข้าใจแล้วนั่งอยู่ข้างๆ เรา การใช้ชีวิตก็คงไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่ใครบอกกัน

mappa พาทุกคนไปสัมผัสบรรยากาศงาน ‘Siam Square Walking Street’ ถนนสายกิจกรรมแห่งใหม่ในกรุงเทพฯ ที่มีทั้งร้อง เล่น เต้น คุย ได้อย่างอิสระ

ทั้งยังเป็นการกลับมาใช้ ‘ชีวิต’ ของคนทุกเพศ ทุกวัย และทุกความสัมพันธ์ ผ่านเสียงดนตรี เสียงเพลง การเต้นที่สร้างสรรค์และเป็นตัวเอง

ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุที่มาเดินเล่น เด็กมัธยมที่กลับมาเติมเต็มความสุขวัยเรียน กลุ่มนักเรียนค่ายอาสาที่รักในเสียงเพลง คู่รัก คนทำงาน หรือคนรักสัตว์ พวกเขาคือคนที่มารวมตัวกันเพื่อปลุกชีวิตที่หลับใหลให้กลับมามีความสุขอีกครั้ง 

พื้นที่สาธารณะแห่งนี้จึงไม่ใช่ ‘คนแปลกหน้า’ แต่เป็น ‘เพื่อน’ ที่เข้าใจ เพราะถ้าเมืองเข้าใจเราแล้ว เราจึงรู้สึกอยากออกไปใช้ชีวิตมากกว่าที่เคย

กลุ่มนักเรียน (ม.ปลาย): การ์ตูน (นักเรียนชั้นม.5) และเพื่อน  

“พื้นที่สร้างความทรงจำและคืนเวลาที่หายไป”

“ช่วงโควิดน่าเบื่อมาก ต้องอยู่บ้าน เรียนออนไลน์ เรียนมา 5 วันมันก็เครียด ไม่ได้ทำอะไรเลย หนูยังรู้สึกเหมือนตัวเองอยู่ม.3 ทั้งๆ ที่ตอนนี้อยู่ม.5 แล้ว เพราะหนูไม่ได้อยู่กับเพื่อน ไม่ได้ออกมาเที่ยวตามวัยในตอนนั้น” 

‘เพื่อน’ คือองค์ประกอบสำคัญที่ชีวิตวัยรุ่นของ ‘การ์ตูน’ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 คิดว่าไม่ควรขาดไป แต่สถานการณ์ 2 – 3 ปีที่ผ่านมาขีดเส้นแบ่งให้เธอและเพื่อนต้องห่างไกลกัน

“การได้อยู่กับเพื่อนก็เป็นประสบการณ์วัยรุ่นที่หนูรู้สึกว่าเราขาดไปไม่ได้ พอได้ออกมากับเพื่อนแบบนี้ก็รู้สึกว่าได้ทำอะไรที่สบายใจขึ้น”

ก่อนจะแยกย้ายไปเรียนมหาวิทยาลัย การ์ตูนและเพื่อนขอย้อนมาเก็บเกี่ยวช่วงเวลาด้วยกัน ให้เป็นความทรงจำที่ครั้งหนึ่งเราเคยเจอ ฟังเพลง และร้องไห้ไปด้วยกันที่นี่

“การได้อยู่กับเพื่อนก่อนจะแยกย้ายกันไปต่อมหา’ลัยคือความทรงจำที่ดีมาก ช่วยเติมเต็มช่วงเวลาของวัยรุ่นที่หายไป ทำให้หนูมีความสุขมากเลย”

เด็กที่กำลังฟอร์มวงดนตรี

“พื้นที่แสดงสด”

“ขอแค่ให้เขาใส่ใจกับพวกเรามากขึ้นอีกหน่อยครับ อยากให้ซัพพอร์ตในสิ่งที่พวกเราต้องการ”

เสียงจากแก๊งนักดนตรีวัยมัธยมที่กำลังอยู่ในช่วงฟอร์มวง การได้พื้นที่ที่พวกเขาสามารถโชว์เสียงดนตรีถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

“บางคนไม่ได้อยากเล่นเพลงลง YouTube หรือ TikTok อยากแสดงสดๆ มากกว่า พื้นที่ตรงนี้มันก็ช่วยสนับสนุนได้ ใช้เป็นพื้นที่สำหรับฝึกฝีมือตัวเอง และเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการแสดง”

ผู้ปกครอง

“พื้นที่สบายใจของแม่”

“แม่ว่ามีพื้นที่แบบนี้มันดี ช่วยให้เด็กๆ กล้าแสดงออกด้วย ได้มาลองทำกิจกรรม ทำในสิ่งที่เขาชอบ”

ขณะที่รอลูกเดินเล่นกับเพื่อน ‘คุณแม่’ ก็แวะมาเดินเล่นฟังเสียงดนตรีจากเด็กๆ ถึงไม่ได้ฟังเพลงแนวเดียวกัน แต่ความมันส์ที่แผ่ออกมาเราต่างสามารถสัมผัสกันได้

“โรงเรียนที่ลูกแม่เรียนอยู่ก็จะมีมหกรรมดนตรีให้เด็กนักเรียนมาจัดกันเองสนุกๆ เหมือนกัน” 

“เล่นดนตรีกับเรียนหนังสือมันทำควบคู่กันไปได้นะ แค่ว่าเราต้องมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของเราเองด้วย”

คุณแม่อยากฝากว่านอกจากทำพื้นที่แบบนี้ให้กระจายแล้ว อยากให้ช่วยดูแลเรื่องการเดินทางและความปลอดภัย เพราะเด็กบางคนอยากมาเอง แต่พ่อแม่ก็เป็นห่วง ถ้ามีมาตรการที่ช่วยรักษาความปลอดภัย ก็ทำให้ทุกฝ่ายเบาใจขึ้นเยอะ

เด็กคัฟเวอร์: วง HYZE (cover Enhypen)

“พื้นที่ที่ใครๆ ก็ปล่อยของได้”

พื้นอาจสะเทือนเพราะดนตรีบรรเลงและคนฟังโยกตัวไปมา ถนนอีกฟากหนึ่งพื้นก็กำลังสั่นไม่แพ้กัน จากสเต็ปของหล่านักเต้นโคฟเวอร์ที่มาปล่อยของให้เราดู

“พวกเราเริ่มต้นการเต้นคัฟเวอร์จากการความชื่นชอบศิลปิน อย่างเราก็เริ่มจากการที่ชื่นชอบวง SEVENTEEN และ Wanna One แล้วก็ค่อยๆ ติดตามวงอื่นเพิ่มขึ้น ตอนนี้พวกเราก็กำลังคัฟเวอร์วง Enhypen อยู่ครับ”

คุณครูสอนเต้นที่แบ่งเวลาส่วนหนึ่งมาฟอร์มวงเต้นคัฟเวอร์ตามศิลปินที่ชอบ พอเขาอยู่มาตั้งแต่ยุคที่เต้นตามพื้นที่ว่างในห้าง เช่าห้องเต้น หรืออัดคลิปลงโซเชียล จนวันนี้ที่มีพื้นที่ให้พวกเขาได้ออกมาโชว์สเต็ปแดนซ์รวมกัน

“ตอนที่ดูศิลปินที่เราชอบแสดงบนเวที เรารู้สึกว่าเขาเท่มากเลย อยากจะเท่แบบนั้นบ้าง พวกเราก็เลยอยากถ่ายทอดผลงานศิลปินออกมาให้คนอื่นได้รับรู้เหมือนกัน เราเลยพยายามพัฒนาทักษะการเต้นให้มากขึ้น”

“อยากขอบคุณที่จัดพื้นที่แบบนี้ ให้เราได้ทำในสิ่งที่ชอบ สิ่งที่เราเป็น และเปิดโอกาสให้คนอื่นๆ มา joy กัน”

เจ้าของน้องหมา: คุณเจ้าของกับน้องดุ๊กดิ๊ก

“พื้นที่ผ่อนคลายทั้งกับนายและทาส”

ไม่ใช่แค่คนที่อยากได้ public space เท่านั้น แต่สัตว์เลี้ยงเองก็ต้องการเช่นกัน

“ผมว่าสถานที่สำหรับพาสัตว์เลี้ยงไปผ่อนคลายในกรุงเทพฯ ยังมีน้อยนะ ทั้งๆ ที่มีคนเลี้ยงน้องหมาน้องแมวเยอะเลย”

สถานที่ที่จะพาน้องหมาไปเที่ยวด้วยน้อย แต่วันนี้เขาพาน้องหมามาฟังเพลง เดินเล่นสยามด้วยกัน

“บางคนอาจจะไม่ได้ชอบสัตว์เลี้ยงของเรา อาจจะกลัวหมา เจ้าของก็ไม่กล้าให้น้องมาเดินเล่นเต็มที่ ถ้าแบ่งโซนหรือสร้างเป็น space ที่มีสนามพื้นหญ้าไว้รองรับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะก็คงดี อาจมีร้านขายขนมไว้ให้ซื้อป้อนน้องหมาน้องแมว รู้สึกว่ามันครบครันดีนะครับ ช่วยให้น้องผ่อนคลายด้วย”

ผู้ประกอบการ

“พื้นที่ทำมาหากิน (สักที)”

“ผมว่าดีนะ มีคนบอกเหมือน ‘เมียงดง’ ที่เกาหลี”

โควิดที่ทำให้ย่านการค้าหลายที่ซบเซาเพราะไม่มีคนมาเดิน วันนี้กลับมาคึกครื้นอีกครั้ง 

‘คุณลุง’ เจ้าของร้านเสริมสวยในสยาม ดีใจที่บรรยากาศสยามครั้งเก่ากลับมาอีกครั้ง เด็กๆ ได้พื้นที่แสดงออก ร้านค้าก็แฮปปี้ที่คนมาจับจ่ายซื้อของอีกครั้ง

“วัยรุ่นจะมากันเยอะช่วงศุกร์ – อาทิตย์ครับ ส่วนวันธรรมดาก็ปกติ แต่โอเคกว่าเมื่อก่อนเยอะ” 

“มีงานจัดแบบนี้ดีเลย ร้านค้าอื่นๆ ก็บอกว่าดีหมด ทุกคนชอบ เพราะคนเยอะ กำลังซื้อก็เยอะตาม”

คู่รัก

“พื้นที่สีชมพู”

“สมัยก่อนไม่ได้มีที่ให้ไปเยอะ นัดเจอกัน กินข้าว ชอปปิ้ง เย็นก็กลับบ้าน พอมีพื้นที่แบบนี้เราก็อยู่ด้วยกันต่อได้นานขึ้น มีกิจกรรมให้ทำร่วมกันมากขึ้น ได้เห็นน้อง ๆ ออกมาแสดง มาเล่นดนตรี มันน่าตื่นตาตื่นใจมากกว่า”

ถ้าพื้นที่อำนวย เราก็มี ‘ความรัก’ ได้ เช่นคู่ของ ‘จูเนียร์’ และ ‘เกรซ’ ที่พวกเขาได้สถานที่เพิ่มไว้สำหรับเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

น้องเปิดหมวกทำค่ายอาสา: มาร์วิน IG: Kidsd.volunteer

“พื้นที่ของ active citizen”

นอกจากมาปล่อยของ ใช้สถานที่เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ รวมถึง ‘เปิดหมวก’ หาเงินทำค่ายของเหล่านักศึกษาปีหนึ่งกลุ่มนี้ ที่ร่วมตัวก่อตั้งกลุ่ม Kidsd.volunteer เพื่อหาเงินทุนในการออกค่าย

วิธีหาทุนมีหลากหลาย แต่วิธีที่คนในกลุ่มส่วนใหญ่ชอบคือ การเปิดหมวกเล่นดนตรี เหมือนยิงนกสองตัวที่ได้ทั้งทุนและความสนุกจากการทำสิ่งที่ชอบ

“มันยากตรงที่ไม่ค่อยมีพื้นที่ให้เด็กมาแสดงความสามารถ การที่สยามมาพีคช่วงนี้ เป็นโอกาสที่ดีที่จะเป็นต้นแบบให้ที่อื่นๆ คิดทำอะไรแบบนี้บ้าง

“อยากให้มีพื้นที่ที่ซัพพอร์ตให้เด็กได้ทำกิจกรรมหลากหลายขึ้น ไม่ใช่แค่เปิดหมวกร้องเพลง บางคนอาจจะอยาก cover dance หรือวาดรูป”

“ถ้ารู้สึกว่าตัวเองเสียงไม่ดี หรือไม่มีความมั่นใจที่จะร้องเพลง เราอยากบอกให้รู้ไว้ว่า แค่กล้าที่จะเริ่ม กล้าที่จะทำ มันคุ้มค่าแน่นอน” นักศึกษาปีหนึ่งให้กำลังใจทิ้งท้าย

แก๊งคุณป้า 3 พี่น้อง

“พื้นที่ของรุ่นใหญ่”

บอกเลยว่าเห็น ‘พี่ๆ’ ทั้งสามในงานต้องเหลียวมอง น่าเสียดายที่ไม่ได้นั่งคุยกัน แต่ตากล้องของเราไม่ลืมที่จะเก็บภาพน่ารักๆ พวกเขามาฝากนะ

คุณนักสเก็ตช์ภาพ

“พื้นที่สำหรับเก็บความทรงจำ”

บางทีความทรงจำก็ถูกเก็บไว้ในรูปแบบ ‘ลายเส้น’ บันทึกช่วงเวลาแห่งความสุขนั้นด้วยปลายปากกา


Writer

Avatar photo

ชนิศรา จันทรโคตร

เด็กนิเทศสายครีเอทีฟ ที่รัก K-POP เป็นชีวิตจิตใจ มีไอเดียแปลก ๆ วนอยู่ในหัวตลอดเวลา เลยหาทางเล่าออกมาผ่านผลงานในรูปแบบของคอนเทนต์

Avatar photo

รดามณี กระแสสินธุ์

นักศึกษาภาษาศาสตร์ที่ทุกคนสงสัยว่าเรียนภาษาอะไร ผู้ชื่นชอบในการเล่าเรื่องและการเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ เพราะเชื่อว่า การเรียนรู้ทำให้เราค้นพบสิ่งที่น่าสนใจได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Related Posts