Barakamon: เติบโตนอกพื้นที่ปลอดภัย บนกระดาษแผ่นใหญ่ในอ้อมกอดผู้คน

  • บางครั้งการฟังคำวิจารณ์เป็นเรื่องยาก แต่หากไม่ยอมรับและปรับปรุง เราอาจเผชิญหน้ากับกำแพงสูงที่ข้ามผ่านได้ยาก
  • ฮันดะ เซย์ชู เป็นจิตรกรอายุน้อยมากฝีมือ ผู้ยึดมั่นว่าการเขียนตามแบบแผนคือสิ่งที่ถูกต้อง จนความเชื่อนั้นกลายเป็นดาบสองคม
  • เมื่อเห็นความสำคัญของความสัมพันธ์กับผู้อื่นและได้คิดทบทวน ฮันดะผู้แข็งกร้าวก็นุ่มนวลลงและเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ในที่สุด 

“อายุยังน้อย ทำไมถึงวาดตามตำรา ผลงานเหมือนออกแบบมาเพื่อคว้ารางวัล เธอเคยคิดจะก้าวข้ามกรอบเก่า ๆ บ้างหรือเปล่า”

ในเสี้ยววินาทีที่ประโยคนี้จบลง ฮันดะ เซย์ชู จิตรกรพู่กันญี่ปุ่นวัยยี่สิบต้นชกหน้าศิลปินอาวุโสเข้าอย่างจัง เพราะรับไม่ได้กับคำวิจารณ์ขวานผ่าซากที่ไม่เคยมีใครพูดกับเขามาก่อน

หลังเหตุการณ์อันอื้อฉาว พ่อส่งเขาไปอาศัยบนเกาะโกโต เกาะเล็กห่างไกลจากเมืองกรุง หวังให้เขาได้สงบอารมณ์ ปรับปรุงตัว และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อแก่การรังสรรค์งาน โดยไม่คาดคิดว่าสิ่งที่ฮันดะได้รับจะมากกว่านั้น

คำพูดของเด็กน้อย

บ้านพักของฮันดะตั้งอยู่ในทำเลเงียบสงบติดทะเล ห่างจากบ้านเรือนที่กระจายตัวอยู่ทั่วเกาะ รถประจำทางซึ่งวิ่งเพียงเที่ยวเดียวต่อวันแทบไม่ก่อมลภาวะทางเสียง ทว่าเขามีปัญหาใหญ่กว่านั้น นั่นคือ นารุ เด็กหญิงจอมแก่นที่มักเข้า ๆ ออก ๆ บ้านพักของฮันดะและพูดเจื้อยแจ้วตลอดวัน 

สำหรับฮันดะแล้ว เด็กผู้หญิงถือเป็นตัวกวนสมาธิ แต่ถ้ามองในมุมนารุ ตัวฮันดะเองก็เป็นผู้บุกรุก “ฐานลับ” ที่เธอเที่ยวเล่นมาตั้งแต่จำความได้ ทางเดียวที่จะปรองดองคือทั้งสองสามารถใช้เวลาร่วมกันในบ้านหลังนี้ ภายใต้เงื่อนไขว่าเด็กน้อยจะสงบปากสงบคำขณะฮันดะเขียนงาน

“เขียนสวยเหมือนคุณครูที่โรงเรียนหนูเลย” นารุเอ่ยชมในยามบ่ายวันหนึ่ง

ฮันดะหยุดเขียน ตวาดไล่นารุออกจากบ้าน เพราะคำชมจากเด็กหญิงซ้อนทับกับคำวิจารณ์จี้ใจดำจากศิลปินรุ่นใหญ่ 

พอใจเย็นลง ฮันดะจมลงไปในห้วงความคิด ความรู้สึกผิดรุนแรงโถมเข้าโจมตี คำพูดของนารุไม่ได้ผิด เป็นเขาต่างหากที่ไม่ยอมรับความจริง จนเผลอใช้อารมณ์กับเด็กประถม ในระหว่างคิดคำขอโทษ เด็กน้อยกลับเป็นคนยื่นจดหมายเขียนด้วยลายมือโย้เย้ให้เขาพลางกล่าวขอโทษที่คำพูดของเธอทำให้เขาไม่พอใจ ฮันดะรีบบอกว่าไม่ใช่ความผิดเธอเลย 

“เซนเซย์ยกโทษให้หนูเหรอคะ โล่งอกไปที การขอโทษนี่ไม่ง่ายเลยเนอะ” นารุทรุดลง ส่วนฮันดะปล่อยให้ประโยคนั้นซึมซาบในใจ เขารู้ดีว่าการยอมรับผิดและขอโทษนั้นยากเหลือเกิน

ช่วงเวลาสั้น ๆ กับนารุสะกิดให้เขาย้อนมองและสอดส่องตัวเอง ขบคิดถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา แม้หลายคนอาจเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับฮันดะ นี่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงตัวเอง

เกาะโดดเดี่ยว แต่คนไม่เดียวดาย

นอกจากนารุ แขกที่มาเยือนบ้านพักของฮันดะยังมีมากหน้าหลายตา ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายไปจนถึงทารกน้อยในอ้อมแขนของแม่ลูกอ่อนซึ่งข้างกายมีสามี ทุกคนต่างให้การต้อนรับแก่เขา และกำชับหนักแน่นว่าหากต้องการความช่วยเหลือเมื่อใดก็อย่าได้ลังเล

ความเป็นชุมชนที่ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นบนเกาะแห่งนี้กลายเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับฮันดะผู้เติบโตมาในครอบครัวจิตรกรแสนเข้มงวด ในช่วงแรกเขาเกิดคำถามในใจอยู่เสมอ เพราะอะไรคนไม่รู้จักกันถึงต้อนรับด้วยไมตรีจิต เพราะอะไรคนเหล่านี้จึงยินดีกับการมาเยือนของคนนอก หรือแม้แต่พาลสงสัยไปในทางลบว่าชาวบ้านหวังผลประโยชน์บางอย่างจากเขาหรือเปล่า 

นานวันเข้าฮันดะเริ่มปรับตัวเข้ากับคนท้องถิ่นได้ หากตกปลาไม่เป็นก็จะมีคนสอน หากไปช่วยตกปลาก็จะได้กินปลา และหากมีปลาเหลือก็แค่แบ่งให้คนอื่นได้อิ่มหนำ ผู้คนในชุมชนที่นั่นใช้ชีวิตเรียบง่ายอย่างนั้นเอง

สังคมที่อุดมด้วยความเกื้อกูลขัดเกลาฮันดะราวกับลมทะเลที่กร่อนผาหินอย่างเชื่องช้า ทำให้เขาเปลี่ยนตัวเองได้ไม่ยากนัก แทนที่เขาจะหมกตัวเขียนงานทั้งวันดังที่เคย เขากลับเต็มใจออกไปหาชาวบ้าน ช่วยงานเท่าที่ทำได้ ฝึกฝนทักษะใหม่อย่างสม่ำเสมอ และพอรู้ตัวอีกทีเขาก็ไม่กังขาในน้ำใจ กลายเป็นคนพร้อมหยิบยื่นความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น เสมือนว่าตัวตนข้างในของเขาเข้าใกล้ความเป็นชาวเกาะโกโตไปอีกขั้น

โอกาสจะมาหาในเวลาที่เหมาะสม

ชาวญี่ปุ่นมีพิธีโปรยขนมโมจินำโชค ทว่าธรรมเนียมของเกาะโกโตต่างจากเมืองอื่นตรงที่คนจะโยนขนมลงมาจากเรือแทนที่จะเป็นวัดหรือศาลเจ้า 

ท่ามกลางชาวเกาะผู้ช่ำชอง คนเมืองด้อยประสบการณ์อย่างฮันดะเกือบถอดใจเพราะเก็บขนมไม่ได้แม้แต่ชิ้นเดียว เขาไพล่นึกถึงการเขียนพู่กันไปพร้อมกับการเก็บขนม และคิดจะยอมแพ้ในเรื่องนั้นด้วย

“ได้กี่ชิ้นแล้วล่ะ” คุณยายคนหนึ่งทัก ฮันดะส่ายหน้า

“เพราะเอาแต่มองข้างบนกันถึงไม่มีใครเห็นโอกาส” หญิงชราชี้ไปที่พื้นซึ่งมีขนมโมจิร่วงเกลื่อนอยู่

ฮันดะพยายามเก็บขนมจากพื้น แต่ก็ยังเจอคู่แข่งเป็นเหล่าตายายที่รู้เคล็ดลับนี้ เขาล้มเลิกความตั้งใจอีกรอบ ถามคุณยายอีกว่าถ้าเขาเก็บขนมไม่ทันคนอื่นสักชิ้น เขาควรทำอย่างไร

“ถึงเวลานั้นเซนเซย์ต้องพูดว่า เชิญก่อนเลย แล้วหาจังหวะเก็บโมจิชิ้นที่ใกล้กับตัวเอง” คุณยายพูดพร้อมรอยยิ้มกว้าง อวดถุงพลาสติกที่มีขนมโมจิล้นปรี่ 

ขนมโมจิก็เหมือนกับการประกวดเขียนพู่กัน แม้ในปีนี้เขาจะพลาดรางวัล แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาหมดโอกาสอย่างถาวร

ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น คันซากิ โคสึเกะ เด็กมัธยมปลายผู้คว้าเหรียญทองการประกวดเขียนพู่กันก็เดินทางมาที่เกาะเพื่อโน้มน้าวให้ฮันดะกลับโตเกียว เขาให้เหตุผลว่าฮันดะคือต้นแบบของเขา และการอาศัยอยู่ชนบททำให้ฝีมือของฮันดะทื่อลง หากเป็นเมื่อก่อน ฮันดะคงเห็นด้วยทันที แต่ตอนนี้เขากลับบอกคันซากิว่าเขาอยากเปลี่ยนแปลงและค้นหาตัวเองที่นี่ 

“ตอนนี้ฉันยังติดหล่ม นายเดินไปก่อนได้เลย สักวันเราได้พบกันอีกแน่นอนบนถนนเส้นนี้” ฮันดะกล่าวจากใจ โดยไม่รู้ว่าคำพูดของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เด็กหนุ่มที่ชื่นชมเขาได้มากกว่าคำพูดสวยหรูแต่กลวงเปล่าที่เขาให้สัมภาษณ์กับนิตยสารเล่มใด ๆ ในชีวิต

ความกล้าเผชิญหน้าจะชนะความกลัว 

ฮันดะกำลังนั่งรออย่างหวั่นวิตก เมื่อเมื่อคาวาฟุจิเพื่อนของเขานัดหมายศิลปินคู่กรณีมาให้ ยังไม่ทันที่อีกฝ่ายจะได้เอ่ยปากทักทาย ฮันดะโค้งตัวลงและกล่าวขอโทษด้วยท่าทีนบนอบจนทุกคนประหลาดใจ ชายชรามองความนอบน้อมนั้นด้วยสายตาเอ็นดู เสมือนเป็นพยานในการเติบโตของฮันดะ เขากล่าวว่าไม่ถือสาหาความฮันดะเลย และขอชมผลงานเขียนชิ้นล่าสุด

“ฉันขอติงานเธอได้ไหม” เขาแซว ก่อนจะวิจารณ์งานของฮันดะอย่างซื่อตรงเช่นเดิม 

คราวนี้ฮันดะไม่ขุ่นเคืองแล้ว จะมีก็แต่ความยินดีที่ได้ฟังความคิดเห็นจากผู้ใหญ่ในวงการ ด้วยใจที่เปิดกว้างพร้อมปรับปรุงและก้าวต่อไปข้างหน้า

ผลงานชิ้นล่าสุดของฮันดะหลังกลับจากเกาะไม่ได้แม้แต่รางวัลชมเชย ทว่าเขากลับไม่ทุกข์ร้อนกับการจัดอันดับอีกต่อไป นอกขอบเขตของกระดาษ ยังมีโลกกว้างใหญ่ให้จรดพู่กันละเลง แต่งแต้มสีสันด้วยมิตรภาพกับคนรอบข้าง และลิขิตเส้นทางชีวิตด้วยตัวเองนับจากนี้


Writer

Avatar photo

ศิริกมล ตาน้อย

อยากเกิดใหม่เป็นแมงกะพรุน

Illustrator

Avatar photo

ชัชฎา วัฒนสมบุญดี

นักออกแบบที่สนใจเรื่องคนและพฤติกรรมมนุษย์ ตื่นเต้นทุกครั้งเวลาเจอแมวส้มและมีม เป้าหมายในชีวิตตอนนี้คืออยากทำงานที่คนอ่านได้ประโยชน์

Related Posts