- Better Days คือภาพยนตร์จีนที่เข้าฉายในปี 2019 ที่ว่าด้วยเรื่องราวของเฉินเหนียน เด็กสาวมัธยมปลายผู้ตกเป็นเหยื่อของการบูลลี
- นอกจากการตีแผ่ปัญหาการบูลลีในโรงเรียนแล้ว Better Days ยังเล่าเรื่องราวในโรงเรียนของเฉินเหนียนคลอไปกับเรื่องความรักของเฉินเหนียนและเสี่ยวเป่ยในสถานการณ์ “Us against the world” ที่พยายามจะใช้ความรักต่อสู้กับโลกทั้งโลกที่หันหลังให้พวกเขา
- ปัญหาสังคมจีนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทอดออกมาไม่ได้มีเพียงเรื่องการบูลลี หรือเรื่องราวของเด็กสองคนที่ต้องเผชิญความโหดร้ายของโลกใบนี้ตามลำพัง แต่ยังรวมไปถึงการศึกษาที่ไม่ให้ค่าความเป็นมนุษย์ เสียงเรียกร้องของเหยื่อที่ไม่มีใครรับฟัง และความเน่าเฟะอื่น ๆ ที่สอดแทรกเข้ามาในเรื่องด้วยเช่นกัน
“ฉันมันไม่มีอะไรเลย ไม่มีสมอง ไม่มีเงิน ไม่มีอนาคต แต่ฉันรักคนคนหนึ่ง อยากให้เธอมีบั้นปลายที่มีความสุข”
ในปี 2019 มีหนังจากจีนอย่าง Better Days เข้าฉาย หนังเรื่องนี้มีสาระสำคัญคือการตีแผ่ปัญหาการบูลลีในโรงเรียน หากแต่ Better Days ยังทำให้เรารู้สึกปวดร้าวได้มากไปกว่านั้นด้วยการเพิ่มเรื่องราวความรักของเฉินเหนียนและเสี่ยวเป่ย เยาวชนที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ “Us against the world” เมื่อไม่มีที่ไหนในโลกที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขาได้เลย นอกจากพื้นที่ที่พวกเขามีกันและกัน
ในระบบการศึกษาที่ผู้ใหญ่ให้ค่ากับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมากกว่าการได้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ของเด็ก ๆ ในประเทศที่ปัญหาต่าง ๆ ถูกซุกไว้ใต้พรม ในสังคมที่ผู้คนจะหันมาสนใจผู้ถูกกระทำก็ต่อเมื่อสถานการณ์บีบบังคับให้พวกเขาต้องผันตัวไปเป็นผู้กระทำ เฉินเหนียนและเสี่ยวเป่ย หนุ่มสาววัยหัวเลี้ยวหัวต่อจึงต้องใช้ความรักที่พวกเขามีให้กันและกันเพื่อสานฝันไปยังวันที่ดีกว่า… ที่พวกเขา เคย เชื่อว่ามีอยู่จริง
การศึกษาที่ไม่เห็นค่าความเป็นมนุษย์
การสอบ “เกาเข่า” หรือการสอบเอนทรานซ์ของจีนนั้นเป็นการสอบครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของเยาวชนชาวจีน มันไม่ใช่เพียงการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่แทบจะกำหนดชีวิตทั้งชีวิต ในแต่ละปีจะมีเยาวชนชาวจีนผู้ต้องเดินเข้าสนามสอบไปพร้อมกับความหวังของคนทั้งครอบครัวกว่า 9 ล้านคน ช่วงเวลาแห่งการเตรียมตัวสอบจึงอาจจะนับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่กดดันและโหดหินที่สุดในชีวิตของเด็กคนหนึ่ง
Better Days เลือกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เด็กมัธยมปลายกำลังเตรียมตัวสอบ โดยมีตัวละครหลักคือ เฉินเหนียน เด็กสาวมัธยมปลายที่กลายเป็นเหยื่อของการบูลลีจากเพื่อนกลุ่มหนึ่งในห้องหลังจากที่เหยื่อคนก่อนหน้านั้นปลิดชีวิตตัวเองด้วยการโดดลงมาจากอาคารเรียน
แม้จะมีนักเรียนที่ตัดสินใจปลิดชีพตัวเองเพราะโดนบูลลีไปแล้ว แต่ผู้ใหญ่ในโรงเรียนกลับไม่ได้มีมาตรการป้องกันอย่างจริงจัง อาจารย์เอาแต่มุ่งความสนใจไปที่การสอนหนังสือและพล่ามถ้อยคำปลุกใจให้นักเรียนเอาจริงเอาจังกับการสอบที่กำลังจะมาถึง การบูลลีที่เกิดขึ้นในโรงเรียนกลายเป็นเพียงเรื่อง “เล็กน้อย” ที่นักเรียน – แม้แต่เหยื่อ – ไม่ควรจะไปใส่ใจ เพราะสิ่งเดียวที่นักเรียนควรจะใส่ใจในตอนนี้ก็คือการทำข้อสอบอย่างไรให้ได้คะแนนเยอะที่สุดเพื่อจะได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด
“อย่าแจ้งตำรวจให้เอาเรื่องฉันเลย เธอจะถ่ายคลิปฉันบ้างก็ได้ ชกฉันก็ได้ ฉันซ้ำชั้นอีกปีไม่ได้แน่ ๆ พ่อฉันไม่ยอมพูดกับฉันมาเป็นปีแล้ว เธอไม่ต้องให้อภัยฉันก็ได้ ขอแค่อย่าเอาเรื่อง ฉันยอมหมดทุกอย่าง ฉันซ้ำชั้นอีกปีไม่ได้จริง ๆ”
คนที่บูลลีเฉินเหนียนอ้อนวอนเธอเมื่อรู้ว่าเรื่องการบูลลีอาจไปถึงหูตำรวจ ที่ผ่านมา กลุ่มนักเรียนที่เคยบูลลีเฉินเหนียนไม่เคยแสดงออกถึงความสำนึกผิดเลย กระทั่งการกลั่นแกล้งนั้นรุนแรงจนมีผู้พบเห็นเหตุการณ์และโทรแจ้งตำรวจ นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่เฉินเหนียนได้รับคำขอโทษ แต่ก็ไม่ได้เกิดจากความสำนึกผิด หากเป็นความกลัวว่าจะต้องซ้ำชั้นอีกหน
เมื่อการศึกษาไม่ได้มุ่งพัฒนาเด็กในด้านอื่นนอกจากสอนให้เด็กแก่งแย่งแข่งขัน ความหวาดกลัวและความกดดันจึงกลายเป็นสิ่งที่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ ซึมซับ และเข้ายึดครองพื้นที่ในจิตใจของเด็กจนไม่เหลือที่ว่างให้เขาได้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ อีกทั้งครูก็ถูกสังคมมอบบทบาทให้เป็นผู้เคี่ยวเข็ญเด็ก ๆ ไปถึงความสำเร็จปลายทางด้านวิชาการจนไม่มีเวลามาสนใจปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ปัญหาการบูลลีจึงไม่เคยได้รับการแก้ไข และโรงเรียนก็กลายเป็นเพียงที่บ่มเพาะ “นักบูลลี” และโรงยิมให้พวกเขาฝึกบริหารอำนาจในการกดขี่ข่มเหงผู้ที่อ่อนแอกว่าเท่านั้น
คนจะได้ยินเสียงเหยื่อก็ต่อเมื่อพวกเขาหันมาเป็นผู้กระทำ
สาเหตุที่ทำให้การกลั่นแกล้งที่เฉินเหนียนต้องเจอรุนแรงขึ้นเป็นเพราะโปสเตอร์ประจานแม่ของเธอที่ติดอยู่ทั่วเมือง แม่ของเฉินเหนียนเป็นแม่ค้าขายสินค้าหนีภาษีและยังติดหนี้มหาศาล ใบปลิวประจานแม่จึงกลายเป็นใบอนุญาตให้ลูกถูกทำร้ายหนักกว่าเดิม
“ฉันก็เป็นเหยื่อมาเหมือนกัน” แม่เคยบอกเฉินเหนียนเมื่อเธอถามว่าเหตุใดแม่จึงยังไม่เลิกขายสินค้าหนีภาษี ฉันก็เป็นเหยื่อมาเหมือนกัน เหยื่อของความเหลื่อมล้ำที่อาชีพสุจริตรายได้ดีไม่ได้มีไว้สำหรับทุกคน แต่แน่นอนว่าไม่เคยมีใครมองแม่ของเธอในแง่มุมนั้น แม่เฉินเหนียนคือ “นังตอแหล ขี้โกง” สำหรับคนอื่น ๆ ไปแล้ว
ทางฟากเด็กหนุ่มที่กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยเดียวของเฉินเหนียนอย่าง เสี่ยวเป่ย ก็มีชะตากรรมชีวิตที่ติดลบไม่ต่างกัน พ่อของเขาทอดทิ้งครอบครัวไป และวันหนึ่ง แม่ผู้หัวใจสลายก็หันมาลงไม้ลงมือกับลูก นั่นทำให้เขาต้องออกมาอยู่อย่างหลักลอยและคอยก่ออาชญากรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อมีชีวิตรอด เสี่ยวเป่ยชอบมีเรื่องชกต่อยทะเลาะวิวาทกับวัยรุ่นคนอื่น ๆ และอยู่อย่างไร้เป้าหมายไปวัน ๆ ทว่าสังคมไม่ได้ตั้งคำถามหรอกว่าทุกข์เข็ญใดกันที่ทำให้เยาวชนคนหนึ่งต้องออกจากบ้านมาร่อนเร่เลื่อนลอยอยู่เช่นนี้ ในสายตาของคนส่วนใหญ่ ไม่เว้นแม้กระทั่งเฉินเหนียนก่อนที่จะได้ใกล้ชิดกัน เสี่ยวเป่ยก็เป็นเพียงเด็กเหลือขอเท่านั้นเอง
ส่วนเฉินเหนียนที่เป็นเหยื่อของการบูลลีในโรงเรียนก็ใช่ว่าไม่เคยขอความช่วยเหลือ เธอเคยรวบรวมความกล้าเพื่อเป็นพยานชี้ตัวกลุ่มนักบูลลีที่ทำให้เพื่อนคนหนึ่งต้องปลิดชีวิตตัวเองมาแล้ว เธอเคยพยายามโทรแจ้งตำรวจแล้วเมื่อการบูลลีเกิดขึ้นกับเธอ ทว่าเสียงของเธอไม่เคยมีใครตั้งใจฟังเลย จนกระทั่งวันที่เธอพลาดพลั้ง กลายเป็นฝ่ายทำร้ายคนที่ตามรังควานเธอบ้าง ตอนนั้นเองที่เสียงของเธอถูกรับฟัง
“ถ้าเธอเชื่อใจพวกผู้ใหญ่อย่างเรามั่ง เราก็ช่วยเธอได้อยู่แล้ว”
“ใครหน้าไหนล่ะที่ช่วย ไอ้พวกถ่ายคลิปหนูเหรอ หรือไอ้พวกที่ยืนดู หรือพวกที่โทษหนูที่ดันตกเป็นเหยื่อ”
มันง่ายกว่ามากหากจะซุกปัญหาของการบูลลีไว้ใต้พรม รอคอยวันที่เหยื่อหมดความอดทน และโทษว่าเป็นความผิดพวกเขาเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง มันง่ายกว่ามากหากจะตั้งคำถามว่าเหตุใดเหยื่อจึงไม่สู้กลับหรือไม่ร้องขอความช่วยเหลือ แม้ว่าเหยื่ออาจจะเคยร้องขอความช่วยเหลือจนสิ้นเสียงร้องแล้วก็ตาม
ครั้งหนึ่งที่นี่เคยเป็นสนามเด็กเล่นของเรา
เฉินเหนียนเจอกับเสี่ยวเป่ยโดยบังเอิญในระหว่างทางกลับบ้าน ขณะนั้นเสี่ยวเป่ยกำลังโดนรุมทำร้าย เฉินเหนียนจึงตัดสินใจยื่นมือเข้าไปช่วยด้วยการโทรหาตำรวจ และนั่นก็ทำให้เธอเกือบจะเดือดร้อนไปด้วย แล้วความสัมพันธ์ของคนสองคนก็ก่อตัวขึ้นตั้งแต่นั้น
เด็กสองคนที่โดนผู้คนรอบตัวทำร้ายและไร้ทางเลือกในชีวิตจึงกลายมาเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกัน ในโลกที่ไม่ต่างอะไรจากนรกสำหรับพวกเขา และสิ่งเดียวที่ทั้งคู่พอจะเลือกได้ก็คือการเลือกที่จะได้รัก เมื่อโลกหันหลังให้และผู้ใหญ่ก็ไม่เคยยื่นมือมาช่วยเหลือ ความรักจึงเป็นสิ่งเดียวที่มั่นคงในชีวิตท่ามกลางทุกสิ่งที่เอาแน่เอานอนไม่ได้
“เราอยู่ในที่เสื่อมทราม แต่เราบางคนก็แหงนหน้าดูดาว”
เด็กสองคนที่แทบไม่มีสิทธิ์ฝันนั่งคุยเรื่องความฝันกันในวันหนึ่ง ฝันถึงชีวิตที่ดีกว่าเดิม ฝันว่าพวกเขาสักคนจะหลุดพ้นจากความเสื่อมทรามนี้ไปได้ ถึงแม้จะเป็นเด็กที่เผชิญชะตากรรมโหดร้ายไม่ต่างกันนัก แต่เสี่ยวเป่ยเชื่อว่า เฉินเหนียนยังมีโอกาสที่จะเติบโตไปมีชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ อย่างน้อยที่สุดเธอก็ได้เรียนหนังสือ ในขณะที่เขาไม่มีโอกาสนั้น แถมเฉินเหนียนยังเป็นคนขยัน ตั้งใจและหัวดี มีความเป็นไปได้สูงที่เธอจะสอบติดมหาวิทยาลัยชื่อดัง และนั่นก็หมายถึงการการันตีอนาคตที่สดใส
“ฉันมันไม่มีอะไรเลย ไม่มีสมอง ไม่มีเงิน ไม่มีอนาคต แต่ฉันรักคนคนหนึ่ง อยากให้เธอมีบั้นปลายที่มีความสุข”
เพราะรักจึงยอมทำได้ทุกอย่าง และเพราะยังเด็กจึงยังใฝ่ยังฝัน เสี่ยวเป่ยเชื่อเอาจริง ๆ ว่าวันหนึ่งเขาจะส่งเฉินเหนียนไปถึงดวงดาวได้ และหากโลกยังไม่โหดร้ายเกินไปนัก เฉินเหนียนที่ตะกายออกจากขุมนรกนี้ไปได้ก็จะหันกลับมาฉุดมือเขาขึ้นไปด้วย เด็กที่ต้องเติบโตก่อนวัยและคิดว่าตัวเองรู้เท่าทันความโหดร้ายของโลกใบนี้ดีแล้ว จึงใช้วิธีการแบบเด็ก ๆ ในการเผชิญปัญหาและปกป้องคนที่เขารัก และเขาก็เกือบจะทำได้สำเร็จแล้ว แต่มันก็แค่ “เกือบ” เท่านั้น
“This is our playground.
This was our playground.
This used to be our playground.”
คือบทเปิดเรื่องของหนังที่เน้นย้ำให้เราเห็นถึงนัยของอดีตที่เคยมี แต่ได้ผ่านพ้นไปแล้วในวลี used to be
กาลครั้งหนึ่งในเส้นเวลาชีวิตอันโหดร้ายและเปล่าดายนี้ มีช่วงเวลาหนึ่งซึ่งยังคงสงวนไว้ให้เป็นสนามเด็กเล่นของเฉินเหนียนและเสี่ยวเป่ย พื้นที่แห่งความฝันที่พวกเขาเคยได้พบ ได้รัก ได้ต่อสู้กับคนทั้งโลก และได้จินตนาการถึงวันที่ดีกว่าแบบเด็ก ๆ ร่วมกัน
และกาลครั้งนั้นก็ได้ผ่านพ้นไปแล้ว