Cloud-floor: ออกแบบพื้นที่เล่นให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์

เมื่อมีโอกาสได้ไปทำงานที่ต่างประเทศหลังจากเรียนจบ ‘ฟิวส์-นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย’ เกิดคำถามว่าทำไมการออกแบบกายภาพเมืองของไทยจึงเป็นเรื่องที่ใครต่อใครมักมองข้ามและไม่ได้รับการออกแบบที่ดี ทั้ง ๆ ที่ประเทศนี้มีสถาปนิกฝีมือดีมากมาย แต่กลับไม่มีโอกาสได้ใช้ฝีมือในการพัฒนาเมือง นั่นคือจุดเริ่มต้นของ ‘Cloud-floor’ บริษัทสถาปนิกซึ่งก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากความตั้งใจที่อยากใช้ความรู้ความสามารถเพื่อออกแบบพื้นที่กายภาพเมือง เกิดเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของการเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยพัฒนาเมืองนี้ให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

กระทั่งในวันนี้ Cloud-floor ได้เริ่มลงมือทำโปรเจกต์ ‘พื้นที่เล่น’ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เด็ก ๆ ได้ใช้ทำกิจกรรม เล่น และเรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมอย่างเต็มที่ Mappa จึงอยากพูดคุยถึงสิ่งที่ทำให้ทีม Cloud-floor หันมาสนใจการออกแบบสร้างสรรค์พื้นที่สำหรับวัยจิ๋ว และอยากรู้ว่าการสร้างพื้นที่เหล่านี้สร้างประโยชน์อะไรให้กับสังคมบ้าง

พื้นที่สาธารณะที่ไม่เป็นสาธารณะ

ฟิวส์เล่าว่าในขณะที่ได้ไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ เขาเห็นความแตกต่างหลายอย่างในด้านการออกแบบเมืองและการจัดสรรพื้นที่เนื้อเมืองให้เกิดประโยชน์ โดยยกตัวอย่างจากประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่มีการออกแบบเมืองมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และยังคงคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ในอนาคต มีการผสมผสานระหว่างเมืองเก่ากับเมืองใหม่ มีพื้นที่สาธารณะที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน มีพื้นที่สวนและพื้นที่สาธารณะเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเมืองโดยที่ผู้คนไม่ต้องวางแผนเดินทางไปใช้งานพื้นที่นั้น เพราะแค่เดินผ่านก็เจอแล้ว และพื้นที่เหล่านี้ก็ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของเอกชน แต่อยู่ในพื้นที่ที่รัฐบาลรับผิดชอบ ในขณะที่ประเทศไทย หากเราต้องการไปสวนสาธารณะจะต้องมีการวางแผนล่วงหน้า เผื่อเวลาในการเดินทาง อีกทั้งพื้นที่สาธารณะที่เรามีอยู่ก็ยังไม่ใช่พื้นที่สาธารณะร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะยังคงเป็นพื้นที่ของเอกชนอยู่

“ประเทศไทยมีทั้งเมืองที่มีปัญหาและไม่มีปัญหาเรื่องพื้นที่สาธารณะ ต่างจังหวัดมีพื้นที่สาธารณะเยอะกว่ากรุงเทพฯ เมืองที่มีปัญหาจริง ๆ คือเมืองที่เริ่มมีการพัฒนาในด้านของการลงทุน เช่น กรุงเทพฯ ขอนแก่น เชียงใหม่ ภูเก็ต อันนี้เป็นความท้าทายของคนที่มีอำนาจและบทบาทในการวางผังเมืองว่าเขาจะใช้ศาสตร์อะไรในการออกแบบเพื่อรองรับการขยายเมืองในอนาคต ในวันนี้บางอย่างมันสายเกินแก้ บางอย่างยังไม่สายเกินแก้ ในส่วนที่มันสายเกินแก้ เราเชื่อว่านักผังเมืองหรือสถาปนิกที่มีบทบาทในเชิงของการช่วยวางผังเมืองยังพอแก้ไขได้อยู่ แต่ในกรุงเทพฯ อัตราส่วนพื้นที่ว่างนอกอาคารต่อประชากรในเมืองคิดเป็นอัตราส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ เนื้อที่ถนนเราก็น้อยมาก นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงไม่ค่อยมีพื้นที่สาธารณะ”

“ถ้าพูดถึงคำว่าพื้นที่สาธารณะเราตีความว่าอย่างไร สวนสาธารณะเหรอ ที่จริงอาจจะไม่ใช่ก็ได้นะ พื้นที่สาธารณะคือพื้นที่ที่เป็นสาธารณะโดยมีรัฐเป็นเจ้าของ รัฐเป็นผู้ควบคุม แต่แก่นที่แท้จริงของการเป็นพื้นที่สาธารณะ คือเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยและเข้าถึงได้ทุกเพศ ทุกชนชั้น ทุกวัย และเข้าถึงได้ทุกเวลา เป็นพื้นที่ที่ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทุกรูปแบบภายใต้กฎหมาย สิ่งนี้คือหัวใจหลักของพื้นที่สาธารณะ” 

เพราะพื้นที่เล่นก็เป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่สาธารณะ

“เราเห็นตัวอย่างในต่างประเทศ อย่างเช่นเยอรมนีหรือญี่ปุ่น เวลาเดินไปเรามักจะเจอพื้นที่ที่เป็นสาธารณะซึ่งเป็นพื้นที่ของรัฐ และสิ่งที่จะเห็นควบคู่อยู่เสมอก็คือพื้นที่เล่นของเด็ก เรารู้สึกว่าดีจังเลยที่เด็ก ๆ มีพื้นที่เล่น เราเป็นผู้ใหญ่แล้วเรายังอยากเล่นเลย มันเป็นชีวิตจริงที่เด็กควรจะได้สัมผัสกับโลกภายนอก ไม่ใช่แค่เล่นอยู่ในห้าง ก็เลยรู้สึกว่าน่าจะดีนะถ้าหากว่าในกรุงเทพฯ จะมีพื้นที่สาธารณะสำหรับให้เด็กเล่นบ้าง ไม่ต้องไปเล่นในห้างอย่างเดียว ให้เด็กได้เจออากาศ เจอดิน เจอความชื้นเหมือนที่เราเจอในตอนเด็ก ๆ” 

“เราเคยวิ่งตามหนองน้ำ ตามท้องนา เคยขุดดินเอามาทำโอวัลติน แต่เด็กสมัยนี้กลับต้องไปเล่นแต่สิ่งประดิษฐ์ในห้างที่มีแต่พลาสติก เหมือนเป็นเมืองพลาสติกที่เด็กเข้าไปเล่นได้ พ่อแม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่าย แต่เราก็ไม่ได้ตัดสินนะว่าสิ่งนั้นมีผลต่อพัฒนาการเด็กในทางที่ดีหรือแย่กว่าสิ่งที่เราเคยเจอ แต่ในเมื่อเราเห็นข้อดีของสิ่งที่เราเคยเจอมา เราเลยคิดว่าสิ่งนี้มันควรเกิดขึ้น”

“เคยคิดจะทำ proposal อันหนึ่งขึ้นมาว่าอยากให้เมืองมีพื้นที่เล่นของเด็กและนำเสนอต่อกทม. แต่วันนั้นที่มีโอกาสได้ไปนำเสนอ เราดันเปลี่ยนโจทย์ คนที่นัดกับทางกทม.ให้เขาก็แจ้งว่าเราจะนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องพื้นที่เด็กเล่น แต่เราเปลี่ยนโจทย์กะทันหันเพราะรู้สึกว่าสิ่งที่ critical ที่สุดในกรุงเทพฯ คือปัญหารถติด ก็เลยเปลี่ยนไปนำเสนอเกี่ยวกับการทำให้ระบบขนส่งมวลชนเชื่อมโยงถึงกันได้ เรื่องนั้นก็เลยไม่ได้ถูกพูดถึงต่อ แต่กลับกลายเป็นว่าสองปีหลังจากนั้นก็มีโอกาสเข้ามา นั่นก็คือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้พูดเกี่ยวกับเรื่อง ‘พื้นที่สุขภาวะ’ และปีนั้นเขาก็พูดเกี่ยวกับเด็กพอดี เพื่อน ๆ ก็ชักชวนให้ไปทำ ก็เลยได้มีโอกาสทำโปรเจกต์ ‘Active Play’ ขึ้นมา”

พื้นที่เล่น VS สนามเด็กเล่น

เมื่อพูดถึงคำว่า ‘พื้นที่เล่น’ เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงภาพ ‘สนามเด็กเล่น’ แต่ฟิวส์เชื่อว่าพื้นที่เล่นนั้นไม่จำเป็นต้องหมายถึงสนามเด็กเล่นเสมอไป เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนทุกคนก็เล่นได้ ขอเพียงมีสิ่งที่เป็นแรงจูงใจให้เกิดการเล่น 

“ถ้าวิเคราะห์แบบ critical ทั้งพื้นที่เล่นและสนามเด็กเล่นต่างเป็นสับเซตของกันและกัน พื้นที่เล่นคือแค่เราออกไปหน้าห้องก็เล่นได้แล้ว ขอเพียงแค่มีสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการเล่น เพราะฉะนั้นพื้นที่เล่น = anywhere แต่สนามเด็กเล่นคือพื้นที่ที่ออกแบบไว้แล้ว มีพื้นที่ มีบริเวณที่ชัดเจน แต่ถ้าถามว่าเราเล่นที่ไหนได้บ้าง เราเล่นได้ทุกที่”

“เคยเห็นภาพภาพหนึ่งที่เป็นสนามเด็กเล่นที่นิวยอร์ก เด็ก ๆ เขาเล่นกันบนถนนได้โดยแค่เอาชอล์กไปขีดพื้นแล้วก็เล่นกัน อันนี้คือนวัตกรรมเชิงพื้นที่ในสังคมสมัยก่อนที่ยังไม่มีเทคโนโลยีมากมาย สิ่งเดียวที่มีคือชอล์ก เอาสิ่งของไปวาง กระโดดข้ามไปมา เหมือนตอนที่เราเป็นเด็กถ้ามีต้นกล้วยก็เอามาทำเป็นปืนของเล่น เจอดินก็ขุดมาทำโอวัลติน คือคำว่า ‘เล่น’ มันไม่ได้หมายความว่าต้องเหนื่อย แต่สิ่งสำคัญคือต้องผ่อนคลาย ถ้ามากกว่าผ่อนคลายมันจะกลายเป็นการแข่งขัน กลายเป็นกีฬา อันนี้คือคำนิยามของคำว่า ‘เล่น’ กับ ‘กีฬา’ ซึ่งหัวใจของการเล่นก็คือเราไม่จำเป็นต้องเหนื่อย นั่งเล่นไพ่เราไม่เหนื่อย แต่เราเล่นแล้วผ่อนคลาย นี่คือการเล่น”

พื้นที่เล่นในอดีตและปัจจุบันต่างกันแค่ไหน

“ถ้าถามว่าในปัจจุบันต่างกับอดีตไหม คิดว่าไม่ต่างเลย สิ่งที่ต่างคือเรามีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นธุรกิจในเชิงกีฬาหรือในเชิงสนามเด็กเล่นมากขึ้นกว่าในอดีต เพราะมันไม่มีสิ่งที่เป็นฟรีสเปซให้คนในเมืองได้ออกไปใช้ คนที่อยากทำก็ไม่ใช่ภาครัฐ ถึงเป็นภาครัฐก็หาที่ทำไม่ได้เพราะไม่รู้จะทำที่ไหน ก็ต้องทำแค่สวนสาธารณะ ในเมืองก็ไม่มีพื้นที่สาธารณะสำหรับรองรับการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต่างกันก็คือปัจจุบันนี้มีพื้นที่เล่นเกิดขึ้น แต่อยู่ในอำนาจของนักธุรกิจ พื้นที่เล่นอยู่ในห้าง ในห้างมีคอร์ตแบด มีสนามบอล ซึ่งก็ต้องจ่ายเงินก่อนจึงจะมีสิทธิ์ได้ใช้พื้นที่ตรงนั้น”

“เรามีพื้นที่ฟรีเยอะขึ้น แต่อยู่ในส่วนที่เป็นสวนสาธารณะ มีอยู่ในหมู่บ้าน แต่ก็เป็นพื้นที่สำหรับคนในหมู่บ้านเท่านั้น พอยุคสมัยเปลี่ยนไปการใช้พื้นที่เล่นก็มีทางเลือกมากขึ้น แต่ก็ต้องเสียเงิน อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้เป็นสาธารณะร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วก็อยู่ในพื้นที่ที่เราต้องมีการวางแผนล่วงหน้า ต้องพยายามเดินทางไป”

พื้นที่เล่นที่ดีจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทั้งทางกายและทางใจ

หากนิยามของคำว่า ‘พื้นที่เล่น’ ของฟิวส์คือทุกพื้นที่ที่มีสิ่งเร้าให้เกิดการเล่น ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่า ‘พื้นที่เล่นที่ดี’ จะต้องมีหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งฟิวส์อธิบายว่าหากจะให้บรรลุวัตถุประสงค์ของ สสส. พื้นที่เล่นนั้นจะต้องเป็นพื้นที่ที่รองรับกิจกรรมทั้งทางกายและทางใจ นั่นคือต้องทำให้เกิดการพัฒนาในมิติของกายภาพ และเมื่อเด็กได้ไปอยู่ในพื้นที่เล่นแล้วต้องมีความสุข สนุก ไม่รู้สึกหดหู่ อีกทั้งยังต้องมีองค์ประกอบเชิงความคิดร่วมด้วย คือเด็กจะต้องมีการพัฒนาทางความคิด แล้วปิดท้ายด้วยสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงเป็นหลักอย่าง ‘ความปลอดภัย’

“ลองให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสคิดว่าถ้าหากเรามีพื้นที่บวกเลข แต่การบวกเลขนั้นไม่เหมือนกับในหนังสือ ถ้าเราใช้วิธีการทางกายภาพแทน จะบวกเลขกันอย่างไรดี ลองวิ่งไล่จับกันไหม สิ่งนี้จะทำให้เด็กมีพัฒนาการทั้งทางด้านทักษะความคิดและทางกายภาพ ถ้าเราเอาเกมหมากกระดานมากางให้สเกลมันใหญ่ขึ้น ใช้ร่างกายมนุษย์เล่นแทนที่จะใช้หมากเล่น นั่นแหละคือการพัฒนาทั้งทางด้านความคิด กาย และใจ ซึ่งเป็น ideal ของพื้นที่เล่นที่ดี แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่ทุกคนคำนึงถึงที่สุด คือเรื่องความปลอดภัย ต้องปลอดภัยทั้งในแง่ของการออกแบบ การใช้งาน และสภาพแวดล้อม” 

แต่ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเริ่มมีการพัฒนาไปไกลอย่างรวดเร็ว ความท้าทายของการออกแบบพื้นที่เล่นในเวลานี้คือ จะทำอย่างไรให้เด็กมีทางเลือกในการเล่นที่หลากหลาย ซึมซับบรรยากาศและสภาพแวดล้อมได้โดยไม่จดจ่ออยู่กับหน้าจอ 

“เดิมทีเราเคยคิดว่าต้องแข่งกับเทคโนโลยีเพื่อดึงความสนใจเด็ก แต่ ณ วันนี้เราคิดว่าเราไม่ได้แข่งกับเทคโนโลยี เรามองเป็นการสร้างทางเลือกให้เด็ก ต้องยอมรับก่อนว่าเทคโนโลยีมาควบคู่กับการดูแลบำรุงรักษา ต้องมีคนดูแล ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยาก แต่สุดท้ายสิ่งที่ท้าทายมากที่สุดสำหรับเราคือ จะทำอย่างไรให้พื้นที่เหล่านี้อยู่ได้ยืนยาว เพราะส่วนใหญ่ที่เราเคยทำมักจะเป็นแค่พื้นที่ชั่วคราว แล้วเราจะทำอย่างไรให้มันเกิดกลไกในการดูแลรักษา” 

“ซึ่งการจะทำให้พื้นที่เล่นนี้ยั่งยืนก็ต้องอาศัยหลายปัจจัย ลำดับแรก พื้นที่ตรงนั้นต้องเกิดประสิทธิภาพสูงสุดก่อน เกิดการใช้งานอย่างบ่อยครั้ง แล้วก็จะมีคนเข้ามาดูแลรักษาเอง ถัดมาก็เป็นเรื่องของข้อจำกัดทางพื้นที่ เครื่องเล่นหลายอย่างมีข้อจำกัดตั้งแต่ต้นทาง สมมุติว่าเรามีเงิน 10 บาทแต่อยากได้แก้วน้ำที่คงทนไป 100 ปี มันก็เป็นไปได้ยาก เพราะอาจจะมีงบที่ทำได้แค่แก้วกระดาษซึ่งใช้ได้แค่ 3 ครั้งก็รั่วแล้ว การที่เรามีงบจำกัดแล้วคาดหวังให้สิ่งนี้อยู่ได้ 10 ปี 20 ปีมันก็เป็นไปได้ยาก ขึ้นอยู่กับว่าคนที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลพื้นที่ตรงนั้นจะดูแลมันอย่างไร”

“เทคโนโลยีทำให้รูปแบบการเล่นเปลี่ยนไป จากสนามที่ใช้ร่างกายเล่นก็เปลี่ยนเป็นใช้มือเล่น เปลี่ยนสเกล แต่สนุก อาจจะมากกว่าหรือต่างกันอันนี้เราก็ไม่รู้ ซึ่งนี่เป็นโจทย์ของ สสส. ที่เรารับมาว่าเด็กสมัยนี้มีแนวโน้มในการเคลื่อนที่และออกแรงน้อยลง ไม่ได้บอกว่าเล่นน้อยลงนะ คือเคลื่อนไหวน้อยลง กายภาพขยับน้อยลง ขยับแค่นิ้วกับตา แต่การหายใจและกล้ามเนื้อมันไม่ได้พัฒนาไปด้วย ก็เลยเป็นโจทย์ที่ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดทางเลือกที่เด็กจะมีการเล่นที่หลากหลายขึ้นได้ และทางเลือกนั้นก็ต้องเป็นการเคลื่อนไหวออกแรงโดยใช้ร่างกายเป็นหลัก”

กระบวนการออกแบบพื้นที่เล่นที่เน้นการ ‘พูดคุย’ และ ‘รับฟัง’

ซึ่งโจทย์ข้างต้นคือสิ่งที่นำมาสู่โปรเจกต์ ‘Active Play’ โปรเจกต์ในการสร้างพื้นที่เล่นที่ตอบโจทย์ในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กทั้งทางกายภาพ จิตใจ และความคิด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลักตามที่ฟิวส์ได้อธิบายองค์ประกอบของ ‘พื้นที่เล่นที่ดี’ ไว้ก่อนหน้านี้ โดยฟิวส์เล่าถึงกระบวนการในการออกแบบพื้นที่เล่นของ Cloud-floor ว่าเป็นกระบวนการที่อาศัยการทำวิจัย (research) เป็นหลัก ทางทีมได้ลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับผู้คนใน 3 สถานที่หลักที่เกี่ยวข้องกับเด็กโดยตรง นั่นคือบ้าน โรงเรียน และชุมชน

“เรามีความเชื่อและมีหลักการในการทำพื้นที่เล่นจากการทำ research ก่อน เราต้องคุยกับเด็ก คุยกับคุณพ่อคุณแม่ คุยกับคุณครู เพราะวงจรชีวิตของเด็กมีอยู่ 3 สถานที่ที่เขาจะไปบ่อย ๆ สถานที่แรกคือบ้าน เราก็ต้องดูว่าบ้านมีใครอยู่บ้าง  stakeholder ของบ้านมีใคร สถานที่ต่อมาคือโรงเรียน เพราะเด็กส่วนใหญ่ต้องไปโรงเรียน ในโรงเรียนมีใครบ้าง มีเพื่อนมีคุณครู สถานที่สุดท้ายคือชุมชน เขามีเพื่อน ๆ ในชุมชน มีผู้ใหญ่ในชุมชน เราก็เลยไปพูดคุยศึกษาปัญหาความต้องการของคนในพื้นที่ทั้ง 3 สถานที่ ว่าแต่ละพื้นที่มีโอกาส มีความต้องการ หรือมีปัญหาในการใช้พื้นที่เล่นอย่างไรบ้าง” 

“เราลงพื้นที่ไปพูดคุย รับฟัง ควบคู่ไปกับการศึกษาหลักการเชิงวิชาการ พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเล่น พูดคุยกับคุณหมอ นักกายภาพ นักกีฬา หรือแม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านการละเล่นในแบบไทย ๆ เราทำทุกมิติที่คิดว่าจะครอบคลุมการเล่น พอเราวิจัยเสร็จก็มาดูความเป็นไปได้ แล้วก็มาสร้างโจทย์ว่าการเล่นในโรงเรียนมันต่างจากบ้าน ต่างจากชุมชนอย่างไร” 

“เราพบว่าสิ่งที่ต่างคือที่โรงเรียนมีคุณครูและมีหลักสูตร แต่บ้านไม่มีหลักสูตร ไม่มีคุณครู มีแค่คุณพ่อคุณแม่ ชุมชนก็ไม่มีคุณครู ก็เลยเกิดการตั้งคำถามว่าแล้วมันจะเป็นไปได้ไหม หากเรานำการเล่นและการเรียนมารวมเข้าด้วยกัน ทำให้การเรียนวิชาคณิตศาสตร์สนุกด้วยการออกกำลังกาย แต่ความเป็นไปได้นี้เราตั้งคำถามโดยอิงจากการวิจัย พอตั้งคำถามโดยเปลี่ยนสถานที่มาเป็นบ้าน เราก็ตั้งคำถามเพิ่มว่าคุณพ่อคุณแม่ทำอะไรที่บ้าน คำตอบก็คือทำงานบ้าน ปัดกวาดเช็ดถู แล้วจะเป็นไปได้ไหมที่จะทำให้การเล่นมารวมกับการทำความสะอาดบ้านได้ ให้เด็กเขาได้เล่นในขณะที่การเล่นนั้นก็มีประโยชน์กับการทำงานบ้านสักนิดหนึ่งก็ยังดี” 

“ส่วนในชุมชนปัญหาก็คือในชุมชนไม่มีพื้นที่เล่น เด็กก็ต้องวิ่งเล่นตามถนน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อเด็ก เราจะสร้างพื้นที่เล่นให้เด็กในพื้นที่แคบ ๆ ได้ไหม เพราะฉะนั้นในแต่ละบริบทมันมีโจทย์ที่ต่างกัน แต่ทุกอย่างล้วนมาจากการวิจัย ดังนั้นการที่ได้พูดคุยกับคนจริง ๆ ลงพื้นที่จริง ๆ จะทำให้เกิดโจทย์ที่มันจำเพาะเจาะจงในแต่ละพื้นที่ ก็เลยเข้าสู่ขั้นตอนการลงมือทำโปรเจกต์ Active Play”

อุปสรรคชิ้นใหญ่ที่มาพร้อมกับความต่างระหว่างวัย

เมื่อได้โปรเจกต์มาแล้ว ทางทีม Cloud-floor มีความคิดอยากทำพื้นที่เล่นที่เด็กเล่นได้ทุกวัย ใช้ได้กับทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน โรงเรียน หรือชุมชน จึงเริ่มจำลองขึ้นมาและทดลองใช้ก่อน แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับไม่เป็นไปตามคาด เพราะทางทีมค้นพบว่ามีอุปสรรคสำคัญอย่าง ‘ช่วงวัย’ และ ‘ข้อจำกัดในด้านพื้นที่’ ทำให้จำต้องปรับชิ้นงานเพื่อความเหมาะสม 

“ชิ้นงานที่เราออกแบบอย่างเลโก้ ถามว่าเล่นที่โรงเรียนได้ไหม ก็คือเล่นได้ โดยกลุ่มที่เรานำชิ้นงานไปทดลองคือกลุ่มเด็กอายุ 6 – 12 ปี แต่เราก็พบอุปสรรคว่าช่วงวัยที่กว้างขนาดนี้ ทำให้เด็กมีกิจกรรมการเล่นที่ต่างกัน เด็กโตเล่นแล้วไม่สนุก อีกอุปสรรคคือปัญหาเชิงพื้นที่ พื้นที่แต่ละสถานที่ไม่สามารถรองรับชิ้นงานได้ บ้านและชุมชนมีพื้นที่ที่ไม่เพียงพอ ไม่มีพื้นที่เล่น เราเลยได้บทเรียนว่าการทำสิ่งที่มันรองรับการใช้งานของทุกกลุ่มเป้าหมายอาจจะเป็นไปไม่ได้ ก็เลยกลับมาทำสิ่งที่มันจำเพาะเจาะจงขึ้น” 

“เราคำนึงถึงเรื่องอายุก่อน เพราะมันสะท้อนถึงพฤติกรรมของเด็ก ต่อมาคือในส่วนของชุมชนที่เป็นพื้นที่แคบและเล็ก เราจะทำอย่างไรให้เด็กเล่นได้ทุกพื้นที่ ทุกสภาพแวดล้อมที่เราสร้างขึ้นมา เช่น เราจะเล่นได้ไหมถ้ามีแค่กำแพง เราเอาอุปกรณ์มาติดกับกำแพงได้ เอาสีมาทา เด็กก็เล่นได้แล้ว มาตีปิงปองหรือเตะบอลอัดกำแพงได้ เพียงเท่านี้เด็กก็เล่นได้แล้วหากมีการใช้งานพื้นที่นั้น เรานำพื้นผิวภายนอกมาใช้งานได้ เดิมทีเราคิดแค่เด็กต้องเข้าไปข้างในถึงจะเล่นได้ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ ผนังก็เล่นได้ ก็เลยคิดว่าอยากทำให้ทุกพื้นผิว ทุกพื้นที่เล่นได้”

“เนื่องจากเรามีพื้นที่ประมาณหนึ่ง  และเราวางรูปแบบว่าเด็กต้องเล่นได้ทั้งพื้นที่ด้านในและกำแพงด้านนอก ขนาดพื้นที่ขั้นต่ำที่เด็กจะเข้าไปเล่นได้น่าจะประมาณ 60 เซนติเมตร เด็กก็เข้าไปเล่นได้แล้ว แต่เราไม่ได้นึกถึงแค่เด็กที่เข้าไป เรานึกถึงผู้ใหญ่ที่เข้าไปด้วย ซึ่งเหตุผลที่ผู้ใหญ่จะเข้าไปมี 2 เหตุผล คือ เข้าไปเล่นด้วย และ เข้าไปช่วยเหลือเมื่อเด็กเกิดอันตราย จึงขยายพื้นที่เป็น 1 เมตรเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานจริง เกิดเป็นยูนิตของตัวโครงสร้างที่คิดเป็นขนาด 1 x 1 และต่อกันได้ในทุก ๆ ระนาบ ถ้าพื้นที่ไหนแคบก็ต่อยาว ๆ ออกไป แล้วแต่การออกแบบของแต่ละพื้นที่”

แก้ปัญหาให้ได้แล้วค่อยดีไซน์ทีหลัง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องความรู้เชิงวิชาการที่เด็กควรจะได้จากการเล่น ทาง Cloud-floor นำประเด็นนี้มาประกอบเป็น Play panel แล้วจึงดูว่าตอบโจทย์ทุกความต้องการของทีมแล้วหรือยัง เช่น มีพื้นที่สร้างความทนทานต่อกล้ามเนื้อเด็กหรือยัง มีพื้นที่สร้างทักษะเชิงความคิดในการเล่นแล้วหรือยัง ซึ่งโปรเจกต์ Active Play นี้ตอบโจทย์ทั้งหมดและยังเข้าถึงเด็กทุกช่วงวัยได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบให้มีแป้นบาส 2 ขนาด สำหรับเด็กเล็กและเด็กโต เพราะทางทีมต้องการลงมือทำในสิ่งที่ช่วยให้เด็กมีความพยายามในแต่ละช่วงวัยมากขึ้น โดยฟิวส์บอกว่าหลักการในการออกแบบพื้นที่เล่นของทีมคือ ‘เอา research นำ เอา empathy นำ แล้วจึงตามด้วย design’ 

อีกหนึ่งโปรเจกต์ที่ฟิวส์และทีม Cloud-floor ได้มีโอกาสไปออกแบบพื้นที่เล่น คือโปรเจกต์ ‘BWE’ KLAR PLAYSCAPE’ ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งโจทย์คือการออกแบบพื้นที่ ‘สนามเด็กเล่น’ แต่เมื่อทางทีมได้ลงพื้นที่เพื่อไปพูดคุยกับคุณครูและเด็ก ก็พบว่าโรงเรียนนี้มีปัญหาห้องเรียนไม่เพียงพอ ไม่มีหอประชุมให้ทำกิจกรรม ทำทุกอย่างที่ลานกลางแจ้ง จึงได้ข้อสรุปว่าโรงเรียนนี้ไม่ได้ขาดแค่พื้นที่เล่น แต่ขาดพื้นที่สาธารณะที่ใช้งานได้ 

“ทางเรานำเสนอว่าถ้าทางโรงเรียนยังขาดพื้นที่สาธารณะอยู่ เราใช้พื้นที่ตรงนี้สำหรับทุกกิจกรรมเลยได้ไหม แล้วก็เริ่มวางลำดับขั้นตอนว่าจะแก้ไขอย่างไร ขั้นตอนแรกเราก็มองว่าพื้นที่ตรงนี้ต้องมีหลังคาสำหรับให้เด็กเข้าแถวและทำกิจกรรมอื่น ๆ ด้วยกัน จากนั้นก็ใส่เครื่องเล่นเข้าไป ซึ่งก็มีโจทย์ว่าถ้าเราใส่เครื่องเล่นแล้วเขาต้องการทำกิจกรรมอื่น ๆ จะจัดเก็บเครื่องเล่นอย่างไร จึงเกิดเป็นไอเดีย จากเดิมที่พื้นที่เล่นอยู่ข้างล่าง เราก็เอาขึ้นไปบนหลังคา ให้เครื่องเล่นห้อยจากหลังคาลงมาให้หมด แล้วทำให้เลื่อนได้เพื่อที่จะได้จัดเก็บได้สะดวกยิ่งขึ้น พื้นที่ตรงนี้ก็กลายเป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมสันทนาการอื่น ๆ ด้วย”

“ตั้งแต่ทำมาเราได้ Learning เกี่ยวกับความปลอดภัยในการออกแบบ ทุกคนล้วนพูดเรื่องนี้เป็นอันดับแรก เรื่องต่อมาคือทุกคนไม่ได้คาดหวังให้พื้นที่เล่นสร้างความรู้ให้เด็กมากขนาดนั้น เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่เสริมได้ เรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องที่ว่าพื้นที่เล่นตรงนี้สร้างประโยชน์อะไรที่มากกว่าการเป็นเครื่องเล่นหรือเปล่า”

สิ่งมีค่าที่ได้กลับมาจากการสร้างพื้นที่เล่น

เมื่อถามถึงโปรเจกต์ที่ชอบและประทับใจที่สุดตั้งแต่ลงมือทำพื้นที่เล่นมา ฟิวส์ตอบว่าชอบเวลาที่ผู้คนมีส่วนร่วมกับพื้นที่เล่นตรงนั้น ได้เห็นสีหน้าของผู้คนที่มารวมตัวกัน สีหน้าของเด็ก ๆ ที่ตั้งตารอพื้นที่เล่นในชุมชนอย่างใจจดใจจ่อ และปลุกคุณพ่อคุณแม่ให้พามารอมีส่วนร่วมกับพื้นที่เล่นนี้ แต่สิ่งที่ฟิวส์ชอบที่สุดคือ ‘สังคมที่เกิดจากพื้นที่เล่น’ 

“ตอนเด็ก ๆ เราไม่ทันได้สังเกตหรอก แต่พอโตมาก็เริ่มสังเกตพฤติกรรมของคนมากขึ้น แม้จะไม่ได้มาพูดคุยกัน แต่ทุกคนก็ได้มาเห็นหน้าค่าตากัน สิ่งที่ได้จากการมีพื้นที่เล่นก็คือสิ่งที่เรียกว่า ‘ชุมชน’ พ่อแม่ได้มาเฝ้าลูก ซึ่งที่จริงแล้วหน้าที่ของเขาไม่ได้มาเพื่อมารู้จักใคร แต่ในระหว่างที่เฝ้าลูก เขาก็ได้แชร์ประสบการณ์กัน ได้รู้จักกัน อันนี้คือประโยชน์ที่มันมากกว่าการที่เด็กได้เติบโต ได้ออกกำลังกาย เพราะมันทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าสังคม”


Writer

Avatar photo

ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Illustrator

Avatar photo

ธีรภัทร์ เศาธยะนันท์

ชอบกินลาเต้เย็น

Related Posts