Co-Parenting/Single Parenting: 2 วิธีเลี้ยงลูก ในวันที่ชีวิตคู่เลิกรา

  • co-parenting และ single parenting คือ 2 วิธีการเลี้ยงลูกที่แตกต่าง แต่เป้าหมายคือ อยากให้ลูกเติบโตด้วยดี
  • การร่วมมือกันดูแลลูกและทิ้งความรู้สึกส่วนตัว เช่น ความโกรธแค้น ความเจ็บปวด หรือความทุกข์ใจไว้ข้างหลัง แล้วโฟกัสที่ความสุขของลูกเป็นหลัก คือหัวใจสำคัญของการเลี้ยงดูลูกแบบ co-parenting
  • single parenting เพราะมีกันอยู่สองคน ความสัมพันธ์ของพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยวและลูกจึงต้องแข็งแรง

ภาพของหญิงสาวจ้องมองสามีกลางดึกที่กำลังหลับใหลจากความเมามาย เธอครุ่นคิดก่อนลุกออกจากเตียง เก็บเสื้อผ้า และหอบลูกสาววัย 3 ขวบหนี ท่ามกลางเศษแก้วที่แตกกระจายเกลื่อนพื้น

นี่คือฉากเปิดของซีรีส์ Maid: ชีวิตเปื้อนเหงื่อ ซีรีส์สัญชาติอเมริกันที่สะท้อนภาพชีวิตของ ‘อเล็กซ์’ คุณแม่ลูกหนึ่งในวันที่ต้องเลิกรากับสามีด้วยเหตุจากความรุนแรงในครอบครัว (domestic violence) แม้จะไม่ได้มีการทำร้ายร่างกาย แต่ก็เป็นการทำร้ายสภาพจิตใจ ฟางเส้นสุดท้ายที่เธอตัดสินใจไม่รักษาสภาพความเป็นครอบครัวที่ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก เอาไว้คือ การต้องหยิบเศษแก้วออกจากผมของลูกสาว 

จุดเริ่มต้นชีวิตของอเล็กซ์จึงไม่ใช่การตั้งท้องและย้ายเข้ามาอยู่กับสามี ทว่าการตัดสินใจเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว (single mom) หลังชีวิตรักพังทลาย คือจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้

เมื่อพูดถึงรูปแบบวิธีการเลี้ยงลูกของสามีภรรยาที่หย่าร้างกัน การเป็น single mom/dad ไม่ใช่วิธีเดียวในการเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ แต่การเลี้ยงลูกยังมีอีกหลายรูปแบบ บทความชิ้นนี้จึงเป็นการพาไปทำความรู้จักกับวิธีการเลี้ยงลูก 2 แบบคือ co-parenting หรือการร่วมเลี้ยงดูลูก และ single parenting หรือการเลี้ยงดูลูกเดี่ยว ที่พ่อหรือแม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ดูแลเพียงคนเดียว

Co-Parenting: เลี้ยงลูกร่วมกัน อย่าเอาลูกเป็นตัวกลาง แต่ลูกต้องเป็นจุดศูนย์กลางของพ่อและแม่

เมื่อถึงวันที่ความรักไม่สามารถไปต่อได้ คนเป็นพ่อเป็นแม่จะเดินแยกกันอย่างไรให้ลูกไม่รู้สึกถึงความรักที่เปลี่ยนแปลง

co-parenting คือวิธีการเลี้ยงลูกร่วมกันของพ่อแม่ที่หย่าร้างหรือแยกทางกัน แต่ยังสามารถเลี้ยงลูกร่วมกันได้ เพื่อให้ลูกได้รับสิ่งที่พวกเขาต้องการอย่างตรงจุดในสิ่งที่พ่อไม่อาจให้ได้ แต่แม่ให้ได้ หรือแม่ให้ไม่ได้ แต่พ่อสามารถเติมเต็มในส่วนนั้นได้ ซึ่งวิธีการนี้ยังช่วยรักษาความสัมพันธ์ของลูกกับพ่อและแม่ได้ทั้งสองฝ่าย และยังมีอิทธิพลในด้านบวกต่อสภาพจิตใจ (mental) รวมถึงสุขภาวะทางอารมณ์ของเด็กด้วย (emotional well-being) 

แน่นอนว่าการรักษาความสัมพันธ์ของพ่อแม่หลังจากเลิกรากัน หากเหตุผลของการแยกทางคือความรุนแรงในครอบครัว ก็อาจเป็นเรื่องที่น่าลำบากใจและยากที่จะเลี้ยงดูลูกร่วมกัน หรือหากนอกเหนือจากเรื่องดังกล่าว ก็ยังมีสิ่งที่ทำให้การเลี้ยงลูกร่วมกันเป็นเรื่องที่ต้องคิดหลายตลบ ไม่ว่าจะเรื่องการเงิน ความสามารถในการเลี้ยงลูกของอีกฝ่าย แต่ถึงอย่างนั้นหากพ่อแม่คิดว่าวิธีการเช่นนี้จะดีที่สุดสำหรับลูก ก็จำเป็นต้องข้ามผ่านข้อกังวลใจเหล่านี้ไปให้ได้ โดยยึดกุญแจสำคัญคือ การแยกความสัมพันธ์ส่วนตัวออกจากความสัมพันธ์แบบ co-parenting และคิดถึงความสัมพันธ์ของตนกับคนรักเก่า ในฐานะความสัมพันธ์แบบใหม่ที่เอาความสุขและความต้องการของลูกเป็นตัวตั้ง

เด็กทุกคนต้องการความรักและการสนับสนุนจากทั้งพ่อและแม่ ซึ่งแม้พ่อแม่จะไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่ก็ยังสามารถเติมเต็มในส่วนนั้นได้ คำถามคือแล้วจะทำอย่างไรให้การเลี้ยงลูกร่วมกันนั้นเวิร์ค?

แยกความเจ็บปวดและความโกรธออกจากกัน

การเลี้ยงดูลูกร่วมกันจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อพ่อแม่ไม่เอาความรู้สึกส่วนตัว เช่น ความโกรธ ความคับแค้นใจ ความเจ็บปวด มาก่อนความต้องการของลูก แม้จะเป็นสิ่งที่พูดง่ายและทำยาก ทว่านี่คือหัวใจสำคัญในการเลี้ยงลูกด้วยวิธีการนี้เพื่อให้เด็กมีความสุข (happiness) มีความมั่นคง (stability) และมีความเป็นอยู่ที่ดีในอนาคต (future well-being)

สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำอันดับแรกคือ แยกความรู้สึกออกจากพฤติกรรม กล่าวคือการรู้สึกโกรธหรือไม่พอใจในความสัมพันธ์ครั้งเก่าไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่สิ่งที่ไม่ควรทำคือการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับลูก หรือเอาอารมณ์ต่างๆ เหล่านั้นมาลงที่ลูก ถึงแม้การระบายความรู้สึกกับเด็กจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดของพ่อหรือแม่ได้บ้าง แต่นั่นไม่ได้เป็นผลดีกับตัวเด็กเลย สิ่งที่จะช่วยบรรเทาความรุ่มร้อนใจของผู้ใหญ่ได้จึงมีวิธีอื่น เช่น ระบายความทุกข์ใจกับเพื่อน พูดคุยกับสัตว์เลี้ยง หรือออกกำลังกาย ดังนั้น พ่อแม่ต้องตระหนักไว้ให้ดีว่าสิ่งสำคัญที่สุดและควรโฟกัสมากที่สุดคือ ลูก หากนึกถึงลูกได้มากเท่าไรก็จะช่วยให้ความรู้สึกนั้นเบาบางลงได้

ต่อมาคือ อย่าเอาลูกเป็นตัวกลาง ซึ่งเป็นเรื่องยากที่พ่อแม่จะแยกความรู้สึกเจ็บปวดและขมขื่นได้เมื่อต้องทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งร่วมกับคนรักเก่า แต่สิ่งที่ต้องย้ำเสมอคือการเตือนตัวเองว่า นั่นเป็นปัญหาของพ่อแม่ ไม่ใช่ของลูก พ่อแม่จึงต้องแก้ปัญหาด้วยตัวเองโดยไม่เอาเด็กเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น ไม่เอาลูกเป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างพ่อกับแม่ เพราะจะทำให้เขารู้สึกอยู่ท่ามกลางปัญหา การโทรหากันโดยตรงหรือส่งข้อความหากันจึงเป็นทางออกที่ดีกว่า นอกจากนี้การกล่าวร้ายอีกฝ่ายให้ลูกฟัง หรือทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาต้องเลือกระหว่างพ่อหรือแม่ ใครดีกว่ากัน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ เพราะลูกเองมีสิทธิ์ที่จะมีความสัมพันธ์ได้ทั้งสองฝ่าย

การสื่อสารคือสิ่งสำคัญ

การสื่อสารอย่างสันติ สม่ำเสมอ และมีจุดหมายร่วมกัน คือสิ่งสำคัญของพ่อแม่ในการร่วมกันดูแลลูก 

การสื่อสารกับคนรักเก่าแม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากมองถึงประโยชน์สูงสุดนั่นคือ ‘ความสุขของลูก’ พ่อแม่จึงจำเป็นต้องมีการพูดคุยกัน แต่ก่อนที่จะพูดคุย ตัวเองจำเป็นต้องแน่ใจก่อนว่าจะไม่แสดงพฤติกรรมใดๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อลูกในระยะยาว ดังนั้น เป้าหมายของการสื่อสารที่สำคัญคือเพื่อลดความขัดแย้ง แต่ยังสามารถพูดคุยกันได้ การเจอหน้ากันจึงไม่จำเป็นเสมอไป เพราะการสื่อสารมีได้หลายช่องทาง อาทิ พูดคุยผ่านทางโทรศัพท์ ส่งข้อความ หรือจดหมาย แต่ละบ้านจึงต้องเลือกวิธีที่เหมาะสมกับคู่ของตัวเอง 

อย่างไรก็ตาม เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น จึงต้องมีวิธีการปรับปรุงการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ 

ลำดับแรก การพูดคุยกับคนรักเก่าด้วยแนวทางแบบธุรกิจ โดยที่เป้าหมายของธุรกิจคือ ‘การเป็นอยู่ที่ดีของลูก’ การพูด การเขียน หรือการพิมพ์หาอีกฝ่ายจึงต้องปฏิบัติต่อกันเหมือนเพื่อนร่วมงานที่มีความจริงใจ เคารพซึ่งกันและกัน และไม่มีอคติ ทั้งต้องเป็นการพูดคุยกันด้วยท่าทีผ่อนคลาย ค่อยๆ สื่อสารโดยเน้นประเด็นให้ชัดเจน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น

ลำดับต่อมาคือ การประนีประนอม พูดคุยกันแบบที่ไม่ใช่การสั่ง หรือแสดงความต้องการ เพราะบางครั้งรูปประโยคหรือน้ำเสียงอาจนำไปสู่การเข้าใจผิดกัน ดังนั้นการปรับในส่วนนี้จะช่วยให้การเลี้ยงลูกร่วมกันราบรื่นมากขึ้น เช่น การพูดว่า “คุณยินดีที่จะ…ไหม” หรือ “เราลองแบบนี้กันดีไหม…” 

ลำดับสาม ใช้สภาวะความเป็นผู้ใหญ่ การฟังถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญ แม้ว่าจะเห็นต่างกับอีกฝ่ายก็ตาม แต่ที่ต้องทำคือ การฟังและพยายามทำความเข้าใจความคิดเห็นของคู่สนทนาก่อนเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน 

ลำดับสี่ พ่อแม่จำเป็นต้องฝึกระงับอารมณ์ของตัวเอง ต้องมีความอดทน อดกลั้น เพราะสิ่งที่ต้องตระหนักไว้เสมอคือลูก หากพ่อแม่ขาดสิ่งนี้ไปก็อาจส่งผลต่อลูกในระยะยาวได้ ซึ่งหากเกิดการทะเลาะกันขณะสนทนา การกล่าวขอโทษกันก็อาจช่วยให้คลายความขัดแย้งลงได้

ลำดับห้า ต้องสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ แม้จะเป็นเรื่องยากในตอนแรก แต่หากทำได้จะทำให้สิ่งนี้ส่งไปถึงลูก ทำให้เขารับรู้ได้ว่าทั้งคู่นั้นปรองดองกัน หรือเป็นแนวร่วมเดียวกันในการดูแลเด็ก

สุดท้าย ทุกครั้งที่มีการพูดคุยกัน บทสนทนาต้องเน้นที่เรื่องลูกเป็นหลัก อย่าให้การโต้แย้งกันเป็นเรื่องของความต้องการของตัวเองหรือความต้องการของอีกฝ่าย แต่ต้องเน้นความต้องการของลูกเท่านั้น 

แม้เลิกรา แต่พ่อแม่ก็สามารถเป็นทีมเดียวกันเพื่อเลี้ยงลูกได้

สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นจากการเลี้ยงลูกร่วมกันคือ การไปๆ มาๆ ระหว่างบ้านพ่อกับบ้านแม่ ส่วนดีของการเลี้ยงลูกแบบนี้คือ เด็กจะได้รับมุมมองทางความคิดที่แตกต่าง ไม่ใช่ได้รับอิทธิพลทางความคิดแค่จากผู้ปกครองคนใดคนหนึ่ง และเด็กจะได้เรียนรู้วิธีปรับตัวเข้ากับคนรอบข้างมากขึ้น ทว่าสิ่งที่น่ากังวลของการเลี้ยงลูกแบบ co-parenting คือความสับสนของเด็ก 

เพื่อหลีกเลี่ยงความกังวลดังกล่าว พ่อและแม่ต้องมีข้อตกลงหรือกฎร่วมกัน เช่น หากตั้งกฎว่าลูกต้องทำงานบ้าน หรือกำหนดเวลากลับบ้านเมื่อลูกออกไปข้างนอก ก็ต้องเป็นกฎที่เหมือนกันทั้งสองบ้าน หรือหากลูกไม่ปฏิบัติตามกฎ การลงโทษก็ต้องเหมือนกันทั้งสองบ้านด้วย เพื่อไม่ให้ลูกสับสนกับระเบียบวินัยและสภาพแวดล้อมรอบตัวที่แตกต่างกันจนเกินไป นอกจากการมีกฎสำหรับลูกแล้ว พ่อแม่เองก็ต้องมีกฎเช่นเดียวกัน เช่น ถ้าลูกไปบ้านใคร คนนั้นก็ต้องมีหน้าที่ซักผ้าให้ลูก หรือจะเป็นกฎว่าเมื่ออยู่ต่อหน้าลูก ห้ามทะเลาะกัน เป็นต้น

การจะเป็นทีมเดียวกันของพ่อแม่ได้ต้องอาศัยการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ร่วมกัน โดยทั้งคู่ต้องเปิดใจ ซื่อสัตย์ และตรงไปตรงมา เมื่อมีปัญหาจะได้แก้ไขร่วมกันได้ การตัดสินใจเรื่องสำคัญที่ว่า เช่น การศึกษาของลูก พ่อแม่ต้องแจ้งให้กับทางโรงเรียนทราบถึงสถานะที่เปลี่ยนไป เพื่อวางแผนในการดูแลเด็กร่วมกันของทั้งพ่อ แม่ ครู หรือจะเป็นเรื่องความต้องการทางการแพทย์ที่ไม่ว่าจะตกลงให้ใครเป็นผู้ดูแลสุขภาพพื้นฐานของลูก แต่เมื่อมีการนัดพบแพทย์จะต้องให้อีกฝ่ายรับรู้ด้วย 

อีกเรื่องที่สำคัญคือ การเงินที่ต้องแยกค่าใช้จ่ายในการดูแล การทำงบค่าใช้จ่ายจริงและเก็บบันทึกค่าใช้จ่ายไว้ จะทำให้สามารถวางแผนเลี้ยงลูกร่วมกันได้ 

ช่วยให้การไปๆ มาๆ ของลูกเป็นเรื่องง่ายสำหรับเขา

การที่เด็กต้องย้ายบ้านไปมา ไม่ว่าจะแค่ไม่กี่วันต่อสัปดาห์ก็ตาม ถือเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยสำหรับเด็ก เพราะการออกจากอีกบ้านเพื่อไปเยี่ยมเยียนอีกบ้าน ทำให้เขาต้องปรับตัวตลอดเวลา 

สิ่งที่จะช่วยให้การปรับตัวของลูกง่ายขึ้น พ่อแม่ต้องทำ 2 อย่างนี้ คือ เมื่อลูกต้องออกไปอยู่อีกบ้านหนึ่ง ต้องพูดคุยกับลูกเพื่อให้เขาเตรียมตัวก่อนสัก 2-3 วัน ในระหว่างนี้พ่อหรือแม่อาจช่วยลูกเก็บของหรือกระเป๋า เพื่อทำให้ลูกมั่นใจว่าพ่อแม่อยู่เคียงข้างเขา และการไปอีกบ้านก็จะมีความสุขได้เช่นกัน เมื่อถึงวันนัดหมาย พ่อหรือแม่ต้องส่งลูกให้ตรงเวลา ห้ามเปลี่ยนวันเวลากำหนดส่งลูกหากไม่ได้สื่อสารกับอีกฝ่ายก่อน อีกทั้งไม่ควรไปรับลูกเอง แต่ควรให้อีกฝ่ายเป็นคนมาส่งลูกแทน เพื่อไม่ให้อีกฝ่ายรู้สึกถูกพรากลูกไป และเพื่อให้ลูกได้มีเวลากับอีกบ้านอย่างเต็มที่

เช่นเดียวกันเมื่อลูกมาถึงบ้าน เด็กบางคนอาจยังไม่ชินกับสถานที่ หรือไม่ชินกับการต้องไปๆ มาๆ สิ่งที่พ่อหรือแม่จะช่วยได้คือ การหากิจกรรมเงียบๆ ทำร่วมกันกับเขา เพื่อให้เขารู้สึกสงบ ปลอดภัย เช่น การอ่านหนังสือร่วมกัน เป็นต้น นอกจากนี้ของใช้ส่วนตัวต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนให้เขา ควรปล่อยให้เขาได้ใช้ของส่วนตัวอย่างเดิมที่เคยใช้ เช่น แปรงสีฟัน ชุดนอน หรือผ้าเช็ดตัว เพื่อไม่ให้เขารู้สึกแปลกที่มากจนเกินไป 

เมื่อลูกกลับมาอยู่กับเราอีกครั้งหลังจากไปบ้านอีกฝ่าย การคาดคั้นถามรายละเอียดจากลูกว่าอยู่อีกบ้านแล้วรู้สึกอย่างไร เจออะไรมาบ้าง จะทำให้ลูกรู้สึกถูกกดดัน ดังนั้นแค่ถามลูกว่าเป็นอย่างไรบ้างก็เพียงพอแล้ว ซึ่งหากลูกรู้สึกไม่ดีหรือไม่สบายใจ พ่อแม่เองต้องตั้งสติและไม่ตีโพยตีพายว่าจะไม่ให้ลูกไปบ้านอีกฝ่ายอีก แต่ต้องคุยกับอีกฝ่ายก่อนว่าปัญหาคืออะไร ลูกต้องการสิ่งใด เพื่อให้การดูแลร่วมราบรื่นต่อไป

Single Parenting: ลูกต้องไม่รู้สึก ‘ขาด’ เลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างสมบูรณ์ได้ แม้เป็น Single Mom/Dad

“แม่ไม่มาด้วยเหรอ” หรือ “ดูเหมือนคุณจะมีภาระล้นมือไปหมดเลยนะ” คำพูดเหล่านี้คือสิ่งที่ เดเนียล ออร์เตกา (Daniel Ortega) คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวชาวอเมริกัน วัย 34 ปี ของลูกๆ 3 คน ต้องเจอมาโดยตลอดเมื่อเขากลายเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว

เดเนียลเล่าว่า การต้องบอกใครๆ ว่าเขาคือคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว เหมือนเป็นกฎหรือข้อบังคับที่ต้องเจอเวลาพาลูกๆ ออกไปเที่ยวเมื่อคนเหล่านั้นไม่เห็นภรรยาไปด้วย 

“ผมรู้สึกเหมือนสิ่งนี้เป็นกฎหรือข้อกำหนดที่ต้องบอกทุกคนให้รู้ว่า ผมคือพ่อเลี้ยงเดี่ยว และทำทุกอย่างด้วยตัวเอง…ความรู้สึกไม่มั่นใจของผมคือ การที่ต้องมานั่งอธิบายว่าผมเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว พอพวกเขารู้ก็จะกล่าวชื่นชมทันทีว่า ‘โห…ดีจัง คุณเก่งมากๆ เลย’ ‘ฉันไม่เคยเจอใครเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวเหมือนคุณเลย’ ‘เด็กพวกนี้โชคดีจัง’ ซึ่งผมไม่เคยเจอใครชื่นชมแม่เลี้ยงเดี่ยวแบบนี้บ้างเลย” 

การเลี้ยงเดี่ยวถือเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้ทั่วไป ข้อมูลจาก ‘รายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558 โฉมหน้าครอบครัวไทย ยุคเกิดน้อย อายุยืน’ โดย กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ในสังคมไทยช่วงปี 2530-2556 มีจำนวนครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวเพิ่มขึ้นจาก 970,000 ครัวเรือน เป็น 1.37 ล้านครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้นถึง 41 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เกือบร้อยละ 60 ของครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว เป็นผลมาจากการหย่าร้างหรือแยกกันอยู่ และอีก 28 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลจากการเสียชีวิตของคู่สมรส 

การต้องเลี้ยงลูกลำพังเพียงคนเดียวถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหากไม่มีคู่รักหรือคนคอยช่วยดูแลลูก หน้าที่ในการรับผิดชอบต่างๆ ต้องตกเป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงคนเดียว ทำให้อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจ เกิดความกดดัน ความเครียด และความเหนื่อยล้า ซึ่งหากมีมากเกินไป สิ่งเหล่านี้จะกระทบมาถึงลูก ทั้งด้านจิตใจและพฤติกรรม แต่คำถามคือเมื่อเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวแล้ว จะเลี้ยงลูกอย่างไรให้เขาเติบโตมาอย่างสมบูรณ์ที่สุด

ปรับ Mindset บรรเทาความกังวลของพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว

สิ่งแรกที่พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องทำคือ บอกกับตัวเองว่าคุณสามารถเลี้ยงลูกได้ หัวใจของการเลี้ยงเดี่ยวคือ การไม่กล่าวโทษตัวเองจนทำให้รู้สึกผิดต่อลูกและตามใจลูกเพื่อชดเชยความรู้สึกผิดนั้น เพราะการเลี้ยงเดี่ยวไม่ใช่ความผิดของใคร

เมื่อคุณตัดสินใจเป็นคุณแม่/คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวแล้ว การแสดงความรักหรือสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่และสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อไม่ให้เขารู้สึกโดดเดี่ยว โดยในแต่ละวันอย่างน้อยพ่อแม่ต้องมีเวลาให้ลูกบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการเล่นด้วยกัน การอ่านหนังสือร่วมกัน หรือแม้แต่นั่งเฉยๆ เพื่อพูดคุย 

สิ่งที่น่ากังวลใจอีกอย่างหนึ่งสำหรับการเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวคือ จะทำอย่างไรให้ลูกเป็นคนมีระเบียบวินัย แม้พ่อแม่อาจไม่มีเวลาอบรม การกำหนดเวลาอย่างเป็นระบบและตั้งกฎในบ้านจึงเป็นหัวใจของการเลี้ยงลูกแบบนี้ วิธีการก็คือ การให้ลูกรู้ว่าเวลาไหนคือเวลานอน เวลาไหนคือเวลากินข้าว หรือหากลูกทำผิดกฎของบ้านก็อาจถูกลงโทษ สิ่งเล็กๆ เหล่านี้จะทำให้เขาจัดสรรเวลาตัวเองและมีวินัยได้มากขึ้น

นอกจากนี้ การรู้จักขอความช่วยเหลือหรือพึ่งพาผู้อื่นบ้าง เช่น จัดตารางเวลาให้คนในครอบครัว อย่างปู่ ย่า ตา ยาย เพื่อน หรือเพื่อนบ้าน มาช่วยดูแลลูกในวันที่ตัวเองต้องไปทำงานหรือติดธุระ หรือการเข้าร่วมกลุ่มพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว เพราะเมื่อเกิดปัญหาจะได้สามารถขอคำปรึกษาได้ เป็นต้น

สร้างความสัมพันธ์ที่ดีและความรู้สึกมั่นคงให้กับลูก

หลายครอบครัวที่การเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวมีสาเหตุมาจากการหย่าร้าง ซึ่งการบอกลูกเพื่อให้รับรู้เหตุการณ์ที่เป็นอยู่จะทำให้เขาไม่รู้สึกถูกปกปิดและเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว ขณะเดียวกันพ่อแม่เองก็ต้องรับฟังความรู้สึกของลูก และพยายามอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างใจเย็น พร้อมตอบคำถามของพวกเขาอย่างจริงใจ ตรงไปตรงมา แต่ก็จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงรายละเอียดยิบย่อยหรือการกล่าวด้านลบที่เกี่ยวกับอีกฝ่าย เพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกไม่ดีกับผู้เป็นพ่อหรือแม่ พร้อมบอกย้ำกับลูกเสมอว่าเขาไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหา และไม่ว่าอย่างไรพ่อแม่ก็จะยังรักเขาเสมอ

การมีสุขภาพจิตที่ดีและเป็นครอบครัวที่คอยสนับสนุนกันด้วยมุมมองเชิงบวกจะช่วยให้เด็กรู้สึกปลอดภัย สบายใจ และรู้สึกถูกรักมากขึ้น หากเด็กสัมผัสได้เช่นนั้นแล้ว ความรู้สึกเหล่านั้นก็จะส่งมาถึงตัวคุณเองด้วย ดังนั้น วิธีที่พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวสามารถเสริมความสัมพันธ์ที่แข็งแรงให้กับลูกได้คือ หาเวลาว่างทำกิจกรรมร่วมกันกับเขา หรือเข้าไปพูดคุย คลุกคลีในสิ่งที่ลูกชอบ ให้เขาแสดงสิ่งเหล่านั้นให้เราดู พร้อมแสดงพฤติกรรมด้านบวกให้เขาเห็นเพื่อเสริมความมั่นใจ เช่น หัวเราะชื่นชม ยิ้ม และกอดเขาให้บ่อยเท่าที่ทำได้

นอกจากนี้ หากคุณมีลูกหลายคนก็จำเป็นจะต้องเข้าหาแต่ละคนอย่างใกล้ชิดและเป็นส่วนตัว เช่น อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังก่อนนอนสำหรับเด็กเล็ก หรือทำกิจกรรมที่เขาชอบสำหรับเด็กโต สิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกรู้สึกสนิทสนม ใกล้ชิดกับพ่อแม่และกล้าขอคำปรึกษา และเมื่อลูกประสบปัญหา การกล่าวกลับไปด้วยประโยคชื่นชมว่า “พ่อ/แม่ภูมิใจในตัวลูกมากที่ลูกกล้ามาปรึกษาและคุยเรื่องนี้กับพ่อ/แม่” จะยิ่งทำให้เขารู้สึกสบายใจมากขึ้นที่จะพูดคุยเรื่องต่างๆ กับพ่อหรือแม่ได้

เมื่อพ่อแม่แยกทาง พฤติกรรมไม่ดีของลูกอาจเกิดขึ้นได้ แต่ก็ปรับปรุงได้เช่นกัน

การเป็นพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยว แน่นอนว่าสิ่งที่ท้าทายอย่างมากคือพฤติกรรมของลูก บางครั้งอาจจะไม่น่ารักหรือเป็นเด็กไม่ดีบ้าง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องปกติ เช่น การไม่ยอมกินข้าว ไม่ยอมนอน ขี้โวยวาย หงุดหงิดง่าย หรือทะเลาะกับผู้ปกครองบ่อย ทางออกหนึ่งที่ช่วยได้อาจจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเด็ก (​​a child health professional) แพทย์ทั่วไป (general practitioner: GP) หรือผู้เชี่ยวชาญที่ส่งเสริมสุขภาพเด็กและครอบครัว

ในเบื้องต้นหากลูกๆ มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม การทำให้เขายอมรับความรู้สึกตัวเองด้วยการระบายออกมาเป็นคำพูดที่ไม่ใช่การด่าทอหรือแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว จะทำให้ทั้งลูกและพ่อแม่เข้าใจสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการ ตัวอย่างวิธีการพูดที่พ่อแม่อาจนำไปปรับใช้ได้ เช่น “พ่อ/แม่รู้ว่าลูกกำลังโกรธมาก แต่การตะคอกใส่กันไม่ใช่สิ่งที่ควรทำเลย ลองสูดหายใจเข้าลึกๆ และถ้าใจเย็นเมื่อไหร่ เรามาคุยกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น”

เลี้ยงลูกต้องมีบาลานซ์

พ่อแม่ทุกคนบางครั้งก็อาจดิ้นรนมากเกินไปเพื่อให้การเลี้ยงดูลูกสมบูรณ์แบบมากที่สุด จนทำให้บางคนอาจเคยแสดงพฤติกรรมอารมณ์เสียใส่ลูก ตะคอกใส่ลูก หรือทำโทษลูกอย่างไม่มีเหตุผล ซึ่งนี่อาจเป็นสัญญาณของความตึงเครียดและบีบรัดตัวเองมากเกินไป ดังนั้นการพยายามไม่ใจร้ายกับตัวเอง ยอมผ่อนปรนกฎเกณฑ์บางอย่างลงบ้าง แล้วกลับมาทบทวนกับตัวเองถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่าคืออะไร จะแก้ไขอย่างไร ก็อาจจะทำให้พ่อแม่มีสมดุลในการเลี้ยงลูกมากขึ้น

เช่นเดียวกัน การใจอ่อนมากเกินไป เช่น พอลูกแสดงพฤติกรรมไม่ดี พ่อแม่บางคนกลับยอมปล่อยผ่าน เนื่องจากไม่อยากทะเลาะหรือทำให้ลูกรู้สึกมีปัญหา จนทำให้ไม่อยากอบรม สั่งสอน หรือพูดคุยถึงปัญหากับลูก เพราะคิดว่าแค่พ่อแม่แยกทางกันลูกก็เจ็บปวดมากพอแล้ว ซึ่งหากปล่อยไปเช่นนี้ก็อาจเป็นปัญหาพฤติกรรมของลูกต่อไปได้

รับมือกับความรู้สึกและแก้ปัญหาของผู้ใหญ่ด้วยตัวเอง

เป็นเรื่องปกติที่ลูกๆ อาจจะเห็นพ่อแม่เศร้าเสียใจ โกรธ หรือเครียดในบางครั้ง แต่สิ่งสำคัญพ่อแม่ทุกคนต้องทำให้ลูกรับรู้อยู่เสมอว่า พ่อแม่รักลูกและอารมณ์ลบๆ เหล่านั้นไม่ได้เป็นเพราะเขา หากคุณควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ต่อหน้าลูก จะช่วยทำให้พวกเขามั่นใจในตัวคุณว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรพ่อแม่ก็จะสามารถช่วยเหลือหรืออยู่ตรงนั้นเมื่อพวกเขามีปัญหาได้

หากลูกของคุณโตพอที่จะเข้าใจสิ่งต่างๆ การพูดกับลูกถึงอารมณ์ที่แท้จริงโดยไม่ต้องลงรายละเอียด ณ ขณะนั้น จะทำให้ลูกรู้ว่าเขาควรตอบสนองเช่นไร เช่นเดียวกัน เขาก็จะได้เรียนรู้วิธีการแสดงออกถึงความรู้สึกในแบบที่พ่อแม่ทำ ตัวอย่างเช่น การพูดกับลูกไปตรงๆ เลยว่า “วันนี้ที่ทำงานมันแย่มาก พ่อ/แม่กำลังหงุดหงิดอยู่นะ” 

นอกจากนี้ โดยทั่วไปแล้วพ่อแม่ต้องพยายามอย่าเอาปัญหาของผู้ใหญ่ไปคุยกับลูก เช่น ปัญหาเรื่องการเงิน ความไม่ซื่อสัตย์ หรือข้อขัดแย้งกับคนรักเก่า (พ่อ/แม่ของเด็ก) ซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกกังวลอย่างมาก ทางที่ดีพ่อแม่ควรปรึกษาผู้ใหญ่ด้วยกันเองจะดีกว่า

ลูกต้องไม่รู้สึกขาดแบบอย่าง

แน่นอนว่าการเลี้ยงเดี่ยวอาจทำให้พ่อ/แม่รู้สึกกังวลว่าลูกจะขาดแบบอย่าง (role model) ของเพศตรงข้ามไปหรือไม่ สิ่งที่พ่อแม่จะเติมเต็มได้ก็คือ การไม่พูดเชิงลบเกี่ยวกับเพศตรงข้ามให้ลูกฟัง หรืออาจยกตัวอย่างแบบอย่างคนในครอบครัวที่เป็นเพศตรงข้ามแทนก็ได้ เพื่อให้เขารู้ว่า ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนต่างเพศเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ 

ถึงอย่างนั้น เพื่อไม่ให้ลูกขาดแบบอย่าง คุณเองก็สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกได้ไม่ว่าจะเป็นเพศใด โดยแสดงให้เห็นในทางปฏิบัติ เช่น การออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ หรือดูแลสุขภาพฟันของตนเอง สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้จะเป็นเหมือนคำแนะนำทางอ้อม และเด็กจะเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง 

แม้ว่าโลกนี้อาจโหดร้ายกับคุณ แต่การลุกขึ้นยืนอีกครั้งด้วยความมั่นใจในตัวเอง จะทำให้ลูกเห็นต้นแบบของความเข้มแข็ง และกล้าเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต

อ้างอิง

Writer

Avatar photo

ธัญชนก สินอนันต์จินดา

บัณฑิตไม่หมาดจากรั้วเหลืองแดง ที่พกคำว่า ‘ลองสิ’ ติดหัวตลอดเวลา เพราะเชื่อว่าประสบการณ์ชีวิตเกิดจากการไม่กลัวและลงมือทำเท่านั้น

Illustrator

Avatar photo

บัว คำดี

ตอนประถมอยากเป็นศิลปินวาดภาพ แต่โดนพ่อเบรคหัวทิ่ม "เป็นศิลปินไส้แห้งนะ" ปัจจุบันทำงานเกี่ยวกับการออกแบบและทำภาพประกอบ (บ้าง) จนได้

Related Posts