- 24 มกราคมของทุกปี คือวันที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กำหนดให้เป็น วันการศึกษาสากล หรือ International Day of Education เพื่อฉลองให้การศึกษาในบทบาทของการสร้างสันติภาพ ขจัดความยากจน และขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- ทว่าการศึกษาอาจไม่ได้มีบทบาทในการสร้างสันติภาพเสมอไป เมื่อในยุคล่าอาณานิคม การศึกษาเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้กดขี่ที่จะทำให้การกดขี่เป็นไปอย่างแนบเนียนที่สุด
- นอกจากเรื่องราวหน้าประวัติศาสตร์โลกแล้ว รัฐไทยเองก็เคยใช้การศึกษาในการทำลายอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์และชนพื้นเมือง จนส่งผลมาถึงการขาดไร้ความหลากหลายในระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันเช่นกัน
24 มกราคมของทุกปี คือวันที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กำหนดให้เป็น วันการศึกษาสากล หรือ International Day of Education โดยองค์การสหประชาชาติกล่าวถึงความสำคัญของการศึกษาไว้ว่า “การศึกษาสามารถเปลี่ยนชีวิตได้ และเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยสร้างสันติภาพ ขจัดความยากจน และขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ในทางสังคมวิทยาการศึกษา (Sociology of Education) นั้น การศึกษาคือกระบวนการที่ทำให้คนคนหนึ่งสามารถมีตัวตนและสร้างพื้นที่ในสังคมได้ และเป็นกระบวนการที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต สอดคล้องกับแนวคิดของนักปรัชญาชาวอเมริกัน จอห์น เดวีย์ ที่เชื่อว่าการศึกษานั้นควรจะหมายถึงพัฒนาการทั้งหมดของเด็กแต่ละคน และควรจะเกิดจากความสนใจและความต้องการทางพัฒนาการของเด็กโดยให้เด็กเป็นศูนย์กลาง และที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติได้มีภารกิจสำคัญในการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับทุกคน นั่นรวมไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่ควรมีระบบการศึกษาที่เคารพวัฒนธรรม ภาษา และวิถีชีวิตของพวกเขา
อย่างไรก็ดี หลายครั้งที่เราพูดถึงการ “มอบโอกาสทางการศึกษา” เรากลับไม่ได้มองการศึกษาในฐานะของกระบวนการในการสร้างพื้นที่และตัวตนของคนคนหนึ่ง แต่กลับนึกไปถึงการนำคนเข้าสู่ “ระบบการศึกษา” หรือ “การศึกษากระแสหลัก” ที่มักจะมุ่งเน้นเพียงแค่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่มีการวัดประเมินผลตายตัวจากส่วนกลาง และไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างด้านสภาพสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่ และกรณีที่เห็นเด่นชัดที่สุดก็คือการใช้ระบบการศึกษาเพื่อหลอมรวมวัฒนธรรมและกลบลบอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองนั่นเอง
การศึกษาในฐานะเครื่องมือของการแบ่งแยกและกดขี่
“ท่านร้อยโทแพรตต์ที่รัก หนูเขียนจดหมายนี้มาด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้งที่จะบอกท่านว่าหนูพูดภาษาอินเดียนแดงไปคำหนึ่ง หนูจะเล่าให้ฟังว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร: เมื่อวานนี้ ตอนเย็น ที่ห้องอาหาร อลิซ วินน์ ใช้ภาษาซูคุยกับหนู และหนูพูดไปโดยไม่ทันคิดและเพิ่งรู้ตัวว่าหนูพูดไปคำหนึ่ง และหนูก็เสียใจมาก ๆ จนทานอาหารไม่ลงเลย และหนูก็ลืมคำภาษาอินเดียนแดงนั่นไม่ได้ และขณะที่หนูนั่งอยู่ที่โต๊ะ น้ำตาก็ไหลอาบแก้ม หนูพยายามมาก ๆ แล้วนะคะที่จะพูดแค่ภาษาอังกฤษ”
นี่คือจดหมายที่นักเรียนจากกลุ่มชาติพันธุ์คนหนึ่งเขียนถึง ริชาร์ด แพรตต์ ร้อยโทนักล่าอาณานิคมที่เชื่อว่า หากปฏิบัติต่อชนพื้นเมืองอเมริกันดี ๆ พวกเขาก็จะไม่มีวันลุกขึ้นสู้ “การศึกษา” จึงเป็นเครื่องมือที่แพรตต์เลือกใช้ในการควบคุมชาวพื้นเมืองให้อยู่ใต้อำนาจ แทนการเข่นฆ่า ด้วยการก่อตั้งโรงเรียนที่ชื่อว่า คาร์ลาย อินเดียน สคูล ขึ้น
สำหรับเด็ก ๆ ชาวพื้นเมืองที่ถูกเลือกให้มาเข้าเรียนจะถูกจับถ่ายรูป “ก่อนและหลัง” การเรียน เพื่อแสดงให้เห็นว่าก่อนเรียนพวกเขาดูมอมแมมป่าเถื่อนแค่ไหน และหลังเรียนเปลี่ยนไปอย่างไร เมื่อถ่ายรูปก่อนเรียนเสร็จ เสื้อผ้าของเด็ก ๆ จะถูกนำไปทิ้ง ผมที่ไว้ยาวตามธรรมเนียมจะถูกตัดสั้น ชื่อพื้นเมืองจะถูกเปลี่ยนให้เป็นชื่ออย่างชาวยุโรป พวกเขาจะต้องสื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษเท่านั้น และในตำราเรียนก็มีการสอนเรื่อง “ประวัติศาสตร์สุดป่าเถื่อน” ของบรรพบุรุษพวกเขาด้วย จน แสตนดิง แบร์ หนึ่งในชาวพื้นเมืองที่เคยเข้าเรียนในโรงเรียนคาร์ลาย กล่าวว่า “ผมรู้สึกว่าผมไม่ใช่อินเดียนแดงอีกต่อไปแล้ว แต่กลายเป็นของเลียนแบบคนขาวแทน”
หากย้อนมองกลับไปในประวัติศาสตร์การศึกษาของชาวพื้นเมืองในช่วงล่าอาณานิคม เราก็จะพบว่า ชาวพื้นเมืองนั้นมักจะถูกบังคับให้เข้าเรียนในระบบการศึกษาที่ชาวยุโรปเจ้าอาณานิคมจัดเตรียมไว้ให้ โดยในระบบการศึกษานั้นมักจะมีกฎระเบียบและเนื้อหาการเรียนการสอนคล้าย ๆ กัน เช่น การอนุญาตให้ชาวพื้นเมืองสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษเพียงภาษาเดียว และสร้างบทลงโทษเมื่อชาวพื้นเมืองเผลอพูดภาษาของตน การเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้เป็นเครื่องแบบนักเรียนของชาวยุโรป การสอนนักเรียนด้วยเนื้อหาของโลกภายนอกที่ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับวิถีชีวิตของเด็ก
เนลสัน มัลโดนาโด-ตอร์เรส ศาสตราจารย์ด้านละตินและแคริบเบียนศึกษา ให้ความเห็นว่า ในยุคของการล่าอาณานิคมนั้น การจะอ้างสิทธิ์ในการ “ค้นพบ” ดินแดนที่มีเจ้าของอยู่แล้ว เจ้าอาณานิคมจำเป็นต้องทำให้ “เจ้าของดินแดน” มีความเป็นมนุษย์น้อยกว่าตนเอง ภาพลักษณ์ของคนป่าเถื่อน โง่เขลา ล้าหลัง และไร้อารยธรรม จึงถูกยัดเยียดให้กับชาวพื้นเมือง เพื่อที่การล่าอาณานิคมและเข้ายึดดินแดนจะดูเป็น “ของขวัญ” มากกว่าการรุกราน
ในหนังสือ การศึกษาของผู้ถูกกดขี่ (Pedagogy of the Oppressed) เปาโล เฟรเร กล่าวถึงแนวคิดของ การศึกษาแบบการธนาคาร (Banking Education) ซึ่งเป็นการศึกษาที่ผู้สอนนั้นเอาภาพความโง่เขลาโดยสมบูรณ์สวมทับผู้เรียน และมองว่าความรู้ที่ตนมอบให้ผู้เรียนนั้นคือของขวัญแด่คนโง่เขลา
เมื่อเจ้าอาณานิคมยัดเยียดภาพลักษณ์อันโง่เขลาให้อีกฝ่าย และจัดระบบการศึกษาขึ้นในนามของขวัญจาก “ผู้เจริญ” ระบบการศึกษาแบบตะวันตกโดยเจ้าอาณานิคมจึงกลายเป็นระบบเดียวที่ได้รับการยอมรับ ถูกยึดถือว่าเป็น “ความจริงเพียงหนึ่งเดียว” เพราะเป็นใบเบิกทางให้ชาวพื้นเมืองเข้าถึงความเจริญ
เมื่อการศึกษาเป็นการกดขี่ที่แนบเนียนที่สุด เสี่ยงต่อการถูกลุกขึ้นมาต่อต้านน้อยที่สุด และสามารถนำแนวคิดแบบตะวันตกแทรกซึมเข้าไปในสำนึกของชาวพื้นเมืองได้ง่ายที่สุด การใช้การศึกษาในการกดขี่และทำลายอัตลักษณ์ของชาวพื้นเมืองจึงกลายเป็นวิธีการยอดฮิตของเจ้าอาณานิคม
ในแอฟริกัน โรงเรียนเพื่อชาวแอฟริกันกลายเป็นเพียงสถาบันตอบสนองความต้องการในตลาดแรงงานของคนขาว โดยการยัดเยียดแนวคิดและค่านิยมแบบตะวันตกให้กับชาวแอฟริกัน และทำลายสำนึกรู้ในการเป็นชาวพื้นเมือง แต่ก็ไม่ได้ให้ชาวแอฟริกันได้รับการศึกษาเท่าเทียมกับคนขาว เมื่อจบจากโรงเรียนไป ชาวแอฟริกันจึงเป็นได้เพียงแรงงานในฟาร์ม โรงงาน หรือเมืองที่มีนายจ้างเป็นคนขาว
ในนิวซีแลนด์ เจ้าอาณานิคมได้สร้างระบบการให้ทุนการศึกษาขึ้น โดยจะเลือกให้ทุนกับชาวเมารีที่ดูมี “พรสวรรค์” เพื่อให้เกิดการแบ่งแยกทางชนชั้นในสังคมของเมารี ผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาก็จะกลายเป็น “ชนชั้นสูง” ในสังคมของชาวเมารี จนทำให้ชาวเมารีมีเป้าหมายชีวิตที่เปลี่ยนไป ละทิ้งวิถีชีวิตเดิม เพื่อไล่ตามความฝันที่เครือจักรภพหยิบยื่นให้
ส่วนในแคนาดา ได้มีการจัดตั้งระบบโรงเรียนประจำขึ้นเพื่อแยกเด็กออกจากครอบครัวและวัฒนธรรมของพวกเขา ทว่าเนื้อหาการเรียนการสอนที่โรงเรียนประจำสอนนั้น กลับมีการดูหมิ่นเหยียดหยามความรู้และความเชื่อของชาวพื้นเมือง และเชิดชูความรู้ของชาวตะวันตกที่ไม่มีความสลักสำคัญหรือประโยชน์ต่อวิถีชีวิตของชาวพื้นเมือง ทำให้กว่า 40% ของชาวพื้นเมืองอายุระหว่าง 18 – 20 ปี ลาออกจากระบบการศึกษา
แม้ว่าระบบการศึกษาที่เจ้าอาณานิคมหยิบยื่นให้ชาวพื้นเมืองจะเป็นระบบการศึกษาที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จในแง่ของการเรียนรู้ แต่ภาพจำของ “การศึกษาของผู้เจริญ” ก็ทำให้ระบบการศึกษาแบบเจ้าอาณานิคมที่มีหลักสูตรและเกณฑ์การประเมินตายตัว กลายเป็นระบบการศึกษาที่นิยมใช้กันมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งเกิดกระแสกระแสปฏิรูปการศึกษา
การศึกษาที่ไร้ความหลากหลาย มรดกตกทอดของการล่าอาณานิคมในรัฐ
“รัฐบาลสยามไม่อนุญาตให้เปิดโรงเรียนของชาวมลายูในประเทศ พวกเขาบังคับให้ชาวมลายูเรียนแต่ภาษาของชาวสยามเท่านั้น วัตถุประสงค์ก็เพื่อการลบล้างอุดมการณ์ชาตินิยมมลายูและภาษามลายู พวกเขายังต้องการให้ชาวมลายูตกอยู่ในความโง่เขลา เมื่อใดที่ชาวมลายูเรียนภาษาของชาวสยาม ซึ่งไม่ใช่ภาษาแม่นั้น ชาวมลายูมักจะพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะเมื่อชาวมลายูถูกปฏิเสธจากระบบการศึกษาขั้นสูง และดังนั้น จึงไม่สามารถจะเข้าทำงานในตำแหน่งสูงๆ ในกลไกของรัฐได้เลย นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า แม้ว่าชาวสยามจะปกครองปาตานีโดยตรงมาเป็นเวลากว่าห้าสิบปีแล้ว แต่ยังไม่มีชาวมลายูรับราชการในตำแหน่งสูงๆ เลยสักคนเดียว”
สืบค้นและแปลโดย ณภัค เสรีรักษ์, เผยแพร่ใน https://www.the101.world/sea-history-of-losers
เนื้อความข้างต้นคือใจความตอนหนึ่งจาก จดหมายร้องทุกข์ของชนชั้นนำชาวมลายูมุสลิมจากภูมิภาคปาตานี ส่งถึง เลขาธิการแห่งอาณานิคมอังกฤษ (Secretary of State for the Colonies) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงบทบาทของการเป็น “นักล่าอาณานิคม” ในระดับรัฐของสยามผ่านการศึกษา
ก่อนหน้าเหตุการณ์นี้ ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามได้มีการพยายามรวมศูนย์อำนาจเพื่อป้องกันการตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกอย่างประเทศเพื่อนบ้าน ทว่าสยามเองกลับใช้วิธีการล่าอาณานิคมในการรวมศูนย์อำนาจ โดยการศึกษาก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่สยามใช้สร้างอุดมการณ์ชาตินิยมเพื่อควบรวมกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองให้เป็นหนึ่งเดียวกับสยาม เห็นได้จากพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2461 และ พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 ที่มีการบังคับใช้ภาษาไทยกลางในหลักสูตรการเรียน มีวิชาที่สอนให้เกิดความภาคภูมิใจในชาติและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และมีการสอนประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงเพียงแค่ประวัติศาสตร์ส่วนกลาง
ชัชวาลย์ โคตรสงคราม นักเขียนที่นิยามตนเองว่าเป็นลาวล้านช้างฝั่งขวาแม่น้ำโขง ให้ความเห็นไว้ในบทสัมภาษณ์กับ the101.world ว่า การปฏิรูปการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้ตัวอักษรลาวหายไป ซึ่งหากอิงจากจดหมายเหตุที่รายงานเข้าส่วนกลาง เนื้อหาของการรายงานจะระบุว่าได้ทำสิ่งใดบ้างเพื่อลดความเป็นลาวและลืมความเป็นลาวได้ โดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือ
ดร.ประสิทธิ์ ลีปรีชาและมุกดาวรรณ ศักดิ์บุญ ให้ความเห็นในงานเขียน การศึกษาเพื่อความเป็นไทยกับกลุ่มชนพื้นเมืองในภาคเหนือ ไว้ว่า สิ่งที่สยามทำนั้นคือ แนวคิดอาณานิคมภายใน (Internal Colonialism) ซึ่งหมายถึงการหลอมรวมวัฒนธรรมและความรู้สึกนึกคิดของกลุ่มชาติพันธุ์และคนชายขอบให้เป็นหนึ่งเดียวกับรัฐ
แม้จะผ่านพ้นช่วงของการล่าอาณานิคมมาแล้ว ทว่าแนวคิดอาณานิคมภายในก็ยังคงทิ้งมรดกตกทอดไว้ในบริบทรัฐชาติสมัยใหม่ เมื่อการศึกษากลายเป็นสิ่งที่ถูกทำให้เชื่อมกับความมั่นคงของรัฐ และเมื่อกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองถูกยัดเยียดให้มีภาพลักษณ์ของความล้าหลังและความเป็นอื่น รัฐจึงยังต้องใช้วิธีการล่าอาณานิคมเพื่อกำจัด “ความเป็นอื่น” ไป ด้วยการใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบ
ดร.ประสิทธิ์ ลีปรีชา จากสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยได้อภิปรายไว้ในหัวข้อ “การจัดการศึกษาในระบบและผลที่มีต่อภาษาชาติพันธุ์” ว่า การที่ภาษาท้องถิ่นและวัฒนธรรมท้องถิ่นหมดความหมายได้ทำให้เกิดสภาวะการดำรงชีวิตใหม่ของกลุ่มชาติพันธุ์ และทำให้คนรุ่นใหม่ในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ต้องมุ่งหาโอกาสในการทำงานนอกแหล่งชุมชน
“การศึกษาเปรียบเสมือนนกยักษ์ที่คาบลูกหลานออกจากชุมชน”
ติปุนุ-บัญชา มุแฮ ผู้ติดตามชุมชน ชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋ (ตาหลู่เก่อซอ) อ้างอิงคำพูดที่ผู้เฒ่าชาวปกาเกอะญอคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ ในการให้สัมภาษณ์กับ the101.world ติปุนุเล่าว่า ค่านิยมการเรียนสูงเพื่อจะได้จบมามีงานทำที่ดีในปัจจุบัน ทำให้คนในตาหลู่เก่อซอ ออกจากป่าไปเรียนในตัวเมืองมากขึ้น ทำไร่หมุนเวียนน้อยลง และไม่หันกลับมาสนใจวิถีวัฒนธรรมของตนเอง นอกจากนั้น การไปเรียนหนังสือในระบบการศึกษาคือการต้องกู้ กยศ. ดังนั้น เมื่อเรียนจบก็ยังต้องทำงานใช้ทุนอยู่ในเมือง ทำให้ลูกหลานไม่สามารถกลับมาดูแลชุมชนและผืนป่าได้
เช่นเดียวกันกับ จอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์ชาวบ้านอาวุโส ที่เคยกล่าวไว้ว่า ระบบการศึกษาของไทยนั้นสร้างค่านิยมเรื่องของอาชีพที่ทำเงินและมีสถานะที่ดีในสังคม ซึ่งเป็นการบิดเบือนความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ อีกทั้งระบบการศึกษาก็ไม่ได้มีการจัดเวลาให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังต้องประกอบอาชีพกสิกรรม
ส่วน แซวะ-ศิวกร โอ่โดเชา ลูกชายของจอนิ ได้ให้สัมภาษณ์กับ The Cloud ว่าเขาเคยเรียนในระบบ แต่ท้ายที่สุดก็เลือกที่จะมาเรียนรู้วิถีชาวปกาเกอะญอที่บ้าน ที่ที่แซวะพบว่าการศึกษาในห้องเรียนนั้นไม่มีอะไรข้องเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอเลย
“ภูมิแปลว่าแผ่นดิน ปัญญาแปลว่าความรู้แจ้ง มันจึงเป็นความรู้แจ้งที่งอกเงยขึ้นจากแผ่นดินและเป็นความรู้ที่สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น เช่น ทางใต้เป็นทะเล เขาจะรู้เรื่องประมง เกลือเขา เกลือเล เกลือทุ่ง ทางอีสานเป็นแอ่งกระทะ ทำนาผืนใหญ่รับน้ำฟ้า ในขณะที่ทางเหนือใช้ระบบเหมืองฝายหรือนาขั้นบันได เพราะว่าเป็นภูเขา ระบบการผลิตของที่ท้องถิ่นจึงสอดคล้องกับระบบนิเวศ ซึ่งความรู้ก็จะสอดคล้องกันไปอย่างเป็นระบบ”
ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้ก่อตั้ง ‘โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา’ โรงเรียนทางเลือกที่สอนภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สอดคล้องกับบริบทสังคมและวิถีชีวิตของเด็ก ให้สัมภาษณ์กับ Equity Lab เรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นและการศึกษาทางเลือกที่ไม่ได้ยึดการศึกษากระแสหลัก
วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์คือการเคารพธรรมชาติและอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มก้อน และในแต่ละพื้นที่ก็มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมของคนแต่ละกลุ่มในแต่ละพื้นที่ ทว่าสิ่งที่เด็กได้เรียนเมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษา กลับเป็น “โลกที่ถูกนำเสนอให้” (proposed world) หรือ ความรู้ที่นอกเหนือไปจากบริบทของชุมชน สภาพแวดล้อม และวัฒนธรรม และทำให้เด็กรู้สึก “เป็นอื่น” จึงต้องพยายามปรับตัวให้เป็นไปตามกระแสหลักจนละทิ้งตัวตนของชาติพันธุ์ไปในที่สุด
“วันคืนผ่านไป เพื่อนก็รู้ว่าฉันเป็นเด็กมาจากบ้านดอย มีหลายคนล้อเล่น และเรียกฉันว่า “แม้ว” ฉันรู้สึกโกรธและเจ็บใจที่สุด แต่ก็ไม่อยากตอบโต้ เพราะฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นชนกลุ่มน้อย มีปมด้อย รู้สึกมีอะไรที่ไม่เหมือนเขา และมีความรู้สึก ถึงขั้นไม่อยากเป็นชาวดอย ไม่อยากเป็นปกาเกอะญอ”
บทเขียนของบือพอ นักเรียนชาวปกาเกอะญอที่เข้ารับการศึกษาในชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง
การศึกษาที่มีความหลากหลาย ทลายกำแพง “ความเป็นอื่น”
“การเข้าใจประวัติศาสตร์จะทำให้เราเข้าใจปัจจุบัน และสร้างสรรค์อนาคตจากการต่อยอดความรู้ที่เรามีอยู่แล้วได้ ผมไม่ได้ปิดกั้นความรู้สมัยใหม่ที่เป็นสากลนะครับ แต่การรับความรู้ใหม่เหล่านี้จะต้องไม่เข้ามาตัดรากเราทิ้ง กลับกัน มันต้องมาเสริมรากฐานที่เรามีอยู่ให้แข็งแรงยิ่งขึ้น” ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ กล่าวกับ Equity Lab
ในปัจจุบัน กระแสการศึกษาและการเรียนรู้ทั้งทั่วโลกและในไทยได้พยายามทลายกรอบของ “การศึกษากระแสหลัก” และขับเน้นความหลากหลายมากขึ้น ใน มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ของ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) หัวข้อ ชนเผ่าและคนพื้นเมือง (Indigenous and tribal peoples) ระบุแนวทางการจัดการศึกษาเพื่อความเท่าเทียมของชนเผ่าและคนพื้นเมืองว่า ควรให้ชนเผ่าและคนพื้นเมืองได้มีส่วนร่วมในการจัดหลักสูตรการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการอันเฉพาะเจาะจง มีการบูรณาการระหว่างประวัติศาสตร์ ความรู้ ความต้องการทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในอนาคตข้างหน้าของพวกเขา กับเทคโนโลยี
นอกจากนั้นยังมีการกล่าวถึงการให้เด็กจากชนเผ่าและกลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มได้เรียนการอ่านและเขียนในภาษาของตัวเอง และเป้าหมายของการศึกษาควรเป็นการสอนให้เด็กมีความรู้และทักษะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับทั้งวิถีชีวิตในชนเผ่าและวิถีชีวิตอื่น ๆ
ส่วนในไทยเอง นโยบายการกระจายอำนาจก็เริ่มถูกนำมาใช้ในระบบการศึกษา อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงโรงเรียนก็ยังคงมีอิสระในการบริหาร จัดกิจการ และแม้แต่กำหนดหลักสูตรค่อนข้างน้อย เพราะอย่างไรเสียก็ยังต้องวัดผลแบบอิงเกณฑ์มาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดโดยรัฐบาลกลางมากกว่าผลลัพธ์ของการพัฒนารายบุคคลที่อิงกับสภาพแวดล้อมจริง
“เราต้องยอมรับว่าประชาชนโตขึ้น ผู้คนมีความหลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ทั้งในเชิงภูมิวัฒนธรรมและเชิงชาติพันธุ์ คนแต่ละกลุ่มมีอัตลักษณ์ของตน แต่รัฐกลับพยายามที่จะรวมศูนย์ รวมความเป็นชาติเอาไว้ หากมันทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตดี ได้รับการดูแลและมีระบบสวัสดิการ มันก็ยังพอรับได้ แต่ที่ผ่านมา ผมว่าเรายากจนกันมากขึ้น เหลื่อมล้ำมากขึ้น มีความไม่เป็นธรรมในสังคมเกิดขึ้นจำนวนมาก” ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ให้ความเห็น
ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทำให้เราเห็นว่า การศึกษานั้นไม่ได้มีบทบาทในการสร้างสันติภาพหรือการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพียงอย่างเดียว หากแต่การศึกษาที่ขาดความหลากหลายและไม่มีการปรับให้เข้ากับผู้เรียน ก็อาจกลายเป็นเครื่องมือของการกดขี่หรือเป็นการทำลายอัตลักษณ์ของคนบางกลุ่มไปในที่สุด
คงยากและอาจต้องใช้เวลานานกว่าชั่วอายุคน หากจะเยียวยาผลกระทบจากการศึกษาของผู้กดขี่ที่เคยเกิดขึ้นต่อกลุ่มชาติพันธุ์และชาวพื้นเมือง และยังคงเกิดขึ้นอยู่ในบางพื้นที่ แต่จากบทเรียนที่ผ่านมา ก็อาจทำให้เราได้กลับมาทบทวนว่า เมื่อเราพูดถึง “การศึกษา” และ “โอกาสทางการศึกษา” เรากำลังพูดถึงการศึกษาแบบไหน การศึกษาที่ถูกจัดวางเป็น “ความจริงเพียงหนึ่งเดียว” อันก่อให้เกิดการแบ่งแยกและไม่ยอมรับความแตกต่าง หรือการศึกษาที่ปรับเปลี่ยนได้ ลื่นไหล ยืดหยุ่น และช่วยสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นจริง
“เราควรจะรู้ว่าการเติบโตแย้มบานของมนุษย์ไม่ใช่กระบวนการจักรกล มันคือกระบวนการตามธรรมชาติ และหากคุณไม่สามารถคาดเดาผลลัพธ์พัฒนาการของมนุษย์ได้ สิ่งที่คุณทำได้ก็เหมือนกับชาวสวน นั่นก็คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่พวกเขาพร้อมที่จะเติบโต” – เซอร์ เคน โรบินสัน นักการศึกษาและภาคีสมาชิกราชสมาคมศิลปะแห่งลอนดอน
อ้างอิง :
https://unesdoc.unesco.org/ark:/48223/pf0000369698
https://www.unilim.fr/trahs/2723
https://dl.icdst.org/pdfs/files/04d8c4e23070a769fd5e3e9fc4dc2dd4.pdf
https://files.eric.ed.gov/fulltext/EJ1300573.pdf
https://www.erudit.org/en/journals/fpcfr/1900-v1-n1-fpcfr05254/1068934ar.pdf
โจ๊ะมาโลลือหล่า : เดินล่องลำน้ำขาน การศึกษาที่กว้างขวางและเป็นอิสระที่สุด (home.blog)
ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ: ก้าวออกจากห้องสี่เหลี่ยมสู่โลกกว้างของ ‘การศึกษาทางเลือก’ (eef.or.th)
https://www.the101.world/vong-on-phuaphansawat-interview/
https://www.the101.world/sea-history-of-losers/
https://www.the101.world/doi-chang-parpae/
https://prachatai.com/journal/2016/12/69329
http://tribalcenter.blogspot.com/2010/05/blog-post_1017.html
https://www.silpa-mag.com/history/article_28713
https://www.silpa-mag.com/history/article_61417