สิ่งที่น่าเศร้าที่สุดนอกจากยอดตัวเลขผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คือผลกระทบด้านสุขภาพจิต
โรคระบาดทำให้ ‘พ่อแม่’ ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาด้านเศรษฐกิจ บางคนตกงาน ซ้ำยังต้องแบกหนี้สินจำนวนมาก
โรคระบาดทำให้ ‘เด็ก’ ถูกจำกัดพื้นที่ อยู่เพียงแต่ในบ้าน ไม่สามารถออกไปพบปะสังคม เพื่อน หรือออกไปทำกิจกรรมเพื่อเสริมการเรียนรู้ตามพัฒนาการตามธรรมชาติได้
หากมองผลลัพธ์ในบริบทครอบครัว สภาพความเป็นอยู่บนสถานการณ์ที่ย่ำแย่เช่นนี้ ย่อมส่งผลให้เกิดความเครียดกับสมาชิกทุกคนในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือลูก และภาวะเครียดที่มากเกินขีดจำกัด จนไม่อาจควบคุมได้ อาจเป็นสาเหตุทำให้วิธีการเลี้ยงดูเปลี่ยนไป
ข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดขึ้น บีบให้พ่อแม่ลูกต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลาในบ้าน ผู้ปกครองหลายท่านอาจรู้สึกใกล้ชิดกับลูกมากขึ้นระหว่างอยู่ที่บ้านด้วยกัน ขณะที่พ่อแม่บางส่วนรู้สึกว่าเวลาที่อยู่ด้วยกันนานมากขึ้นทำให้พวกเขาเผลอลงโทษลูกอย่างรุนแรงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ด้วยการกระทำหรือคำพูดที่ไม่รู้ตัว
mappa คุยกับ เม-เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว หรือ ‘ครูเม’ ของคุณพ่อคุณแม่ที่ติดตามเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ เพจที่แชร์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวจิตวิทยาเด็กและครอบครัว
ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด เกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง โดยเฉพาะบริบทครอบครัว
โดยปกติเราทำงานใกล้ชิดกับครอบครัวที่มีลูก โดยเฉพาะลูกตั้งแต่วัย 3-7 ปี ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอมักเกิดจากสภาพแวดล้อมในการต้องกักตัวอยู่ในบ้านด้วยกันเป็นเวลานานและยืดเยื้อ
ย้อนไปตอนที่ยังไม่มีโควิด-19 สมาชิกทุกคนอาจจะพอมีพื้นที่ส่วนตัวในบ้านกันบ้าง คุณพ่อและคุณแม่อาจจะมีโอกาสพาลูกๆ ออกไปเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง กลายเป็นว่าทุกคนวนเวียนอยู่ในบ้าน บ้านใครที่มีขนาดเล็กหรือเป็นคอนโดอาจจะทำให้คุณพ่อคุณแม่เจอกับภาวะเรื่องของอารมณ์และความรู้สึก เพราะธรรมชาติของเด็ก เขาเป็นวัยที่พลังเยอะอยู่แล้ว เขาต้องการวิ่งเล่น ต้องการพื้นที่ปลดปล่อย พอต้องอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเป็นเวลานานๆ แน่นอนว่าเด็กต้องรู้สึกอึดอัด
ธรรมชาติของเด็กเราจะต้องหาพื้นที่ ให้เขาใช้ได้อย่างอิสรภาพ แต่เมื่อมีโควิดเข้ามามันกลายเป็นว่าพ่อแม่ผู้ใหญ่ใช้คำว่า ห้าม อย่า หยุด เยอะขึ้น “อย่าเอาหน้ากากอนามัยออกนะ” “อย่าจับประตูนะ” คำสั่งเหล่านี้มันตรงกันข้ามกับพัฒนาการของเด็กที่เขาใช้ร่างกายของเขาตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัย สำรวจ หรือแม้แต่กระทั่งค้นหาอย่างอิสระ
จะเห็นได้ว่าการบังคับให้เด็กเล็กๆ ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาจึงส่งผลกระทบต่อชีวิตเขา และท้ายที่สุดเด็กๆ จะเกิดคำถามมากมาย ทำไมล่ะ แค่อิสระที่จะหายใจก็ยังไม่ได้เลย ออกไปข้างนอกก็ต้องมีผ้าปิดปากตลอดเวลา จุดนี้ส่งผลต่อความหงุดหงิด อารมณ์ และโอกาสหลายอย่างที่เขาควรจะได้ทำ
ไม่ต่างกับพ่อแม่ เมื่อลูกหงุดหงิด พ่อแม่ก็หงุดหงิด วนไปไม่มีที่สิ้นสุด ระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 2 ปี ไม่มีจุดที่จะออกมาจากวงกลมตรงนี้
บางครั้งพ่อแม่ไม่รู้จะบอกลูกอย่างไรถึงสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้น การอธิบายกับลูกไปตรงๆ ก็ไม่รู้ว่าเขาจะเข้าใจหรือเปล่า จะทำอย่างไรดี
แน่นอนว่าบางอย่างเด็กเล็กก็ไม่สามารถเข้าใจได้
ถ้าคุณแม่บอกว่าทุกคนในประเทศกำลังเผชิญปัญหาโควิด-19 อยู่นะ เขาจะสงสัยว่าคนในประเทศคืออะไร ไวรัสคืออะไร โควิด-19 คืออะไร ซึ่งการอธิบายเรื่องราวกับเด็กเล็กเราแนะนำว่า พ่อแม่ควรอธิบายให้สั้นและกระชับมากที่สุด ที่สำคัญพ่อแม่ต้องบอกสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง อย่าไปโกหกเขา อย่าแต่งเรื่อง
พ่อแม่ค่อยๆ ใช้เวลาอธิบายว่าสิ่งที่ทุกคนกำลังเจออยู่คือเชื้อโรค และเชื้อโรคอยู่ทุกแห่ง เจ้าเชื้อโรคตัวนี้เรายังไม่มียาที่จะรักษาได้นะ ถ้าลูกหรือคนในครอบครัวเราติดขึ้นมา มันอาจจะลำบากได้ ดังนั้นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือ และไม่เดินทางออกไปไหน เราไม่จำเป็นต้องตอบโลกสวย แต่เราต้องบอกตามความเป็นจริง โดยคำนึงถึงวิธีการสื่อสารและการบอกสิ่งที่จำเป็นให้ตรงกับวัยของเด็ก เราไม่จำเป็นต้องบอกทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เราควรบอกสิ่งที่จำเป็นและสิ่งที่กระทบกับตัวของเด็กก็เพียงพอ สำหรับเด็กแล้ว เขาควรได้รับการอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเหตุการณ์นี้ก็กระทบต่อชีวิตของเขาไม่แพ้ผู้ใหญ่เลย
หรือพ่อแม่จะเสนอทางออกให้เขา เพราะเมื่อเด็กไม่ได้เล่นหรือออกไปทำกิจกรรมอย่างที่เขาเคยทำ เขาจะไม่เข้าใจ อย่างนั้นเรามาจัดบ้านเพื่อสร้างพื้นที่ทำกิจกรรมกันดีไหม
พฤติกรรมของเขาไม่ได้หายไปไหน ความอยากของเขาก็ยังมี พ่อแม่สามารถทดแทนได้ และลูกก็จะโอเคขึ้นเมื่อเรามีทางออกให้เขา
คุณเมพอมีตัวอย่างไหมว่าพ่อแม่จะมีวิธีการทดลองหรือบอกความจริงเรื่องไวรัสกับลูกอย่างไร
ขอยกตัวอย่างเคสเด็ก 3-4 ขวบที่เราเคยทำงานกับเขา เขาสงสัยว่าเชื้อโรคมันติดกันได้อย่างไร หน้ากากอนามัยจะป้องกันได้อย่างไร เราเลยพาเขาทดลองโดยการปิดพื้นที่ห้องหนึ่ง โดยเราจะสมมุติว่าสีโปสเตอร์สีแดงขวดนี้เป็นไวรัส แล้วเราก็บีบสีไว้ในมือ จากนั้นเราถามเขาว่าถ้าเราจะเข้ามาในห้องนี้เพื่อหยิบหนังสือ ต้องทำอย่างไร เด็กก็ตอบว่า เปิดประตูแล้วเดินไปที่ชั้นวางหนังสือเพื่อหยิบหนังสือ แล้วค่อยๆ อธิบายไปว่าถ้าเด็กๆ ไม่ใส่หน้ากากอนามัยแต่ต้องอยู่ในห้องเดียวกับเรา (ที่มีเชื้อโรค) จะป้องกันได้อย่างไร คีย์เวิร์ดมันอยู่ที่การทำให้เด็กเข้าใจสถานการณ์มากขึ้น เราจำเป็นต้องทำผ่านตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมน่ะค่ะ
ต้องปรับที่ความพร้อมพ่อแม่ก่อนไหมคะ อาจจะต้องใจเย็นลงและค่อยๆ อธิบาย
พ่อแม่ต้องเข้าใจก่อนว่า เด็กเล็กเขาไม่ได้เข้าใจว่าโรคระบาดมันทำให้เศรษฐกิจแย่ลง สภาพสังคมมันแย่อย่างไร เขาแค่รู้สึกว่าทำไมเขาไม่ได้ออกไปเจอเพื่อน ไม่ได้ไปโรงเรียน ทำไมแม่ต้องบังคับเขาล้างมือหรือใส่หน้ากากอนามัย ดังนั้นเมื่อเราอธิบายให้เขาเห็นสถานการณ์ผ่านตัวอย่าง เขาก็จะเข้าใจว่าเชื้อโรคมันติดกันได้แบบนี้ และทางที่เขาจะรอดได้คือเขาต้องป้องกันตัวเอง
เมื่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เด็กๆ ไม่ได้เจอคุณครู ไม่ได้เจอเพื่อน เขาต้องอยู่กับพ่อแม่วนไปวนมา ในมุมของพัฒนาการ หากลูกต้องอยู่ในภาวะนี้ต่อไปอีกนานจะส่งผลกระทบเรื่องอะไรบ้าง
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือเป็นบ้านที่พ่อแม่ลูกไม่เคยมีสายสัมพันธ์กันมาก่อน
พ่อแม่ไม่รู้ว่าจะเริ่มดีลกับลูกอย่างไร พ่อแม่บางคนรู้สึกอึดอัดเลยนะ รับมือไม่ถูก เราว่าปัญหาส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับครอบครัวที่มีเด็กโตขึ้นมาหน่อย เพราะเด็กที่โตแล้วเขาต้องการพื้นที่ส่วนตัวมากกว่า แต่วัยเด็กเล็กช่วงเวลานี้อาจเป็นโอกาสอันดีที่คุณพ่อคุณแม่จะได้สานสัมพันธ์กับเขา เพราะตามพัฒนาการของเด็ก 0-3 ปี สิ่งที่เขาต้องการที่สุดคือพ่อแม่
เราเคยคุยกับพ่อแม่บางคนเขาบอกว่าลูกดีใจมากเลยที่ได้อยู่บ้าน เพราะแต่ก่อนถูกทำให้ห่างกันเพราะพ่อแม่ทำงานและเขาถูกส่งไปโรงเรียน เด็กเล็กอาจจะรู้สึกเหงาที่เขาไม่ได้เล่นกับเพื่อนแต่ถ้าพ่อแม่สามารถลงมาเล่นกับเขาได้ หรือมีเวลาให้เขาก็อาจจะช่วยคลี่คลายความรู้สึกเหงาได้มากขึ้น
แต่พ่อแม่ก็จะกังวลไปว่าหากลูกไม่ได้เล่นกับเพื่อนในวัยเดียวกันจะเป็นอะไรไหม ส่งผลให้เวลาพ่อแม่เล่นกับลูกมักจะสปอยล์ พ่อแม่ยอมให้เขาชนะตลอด ซึ่งมันมีผลต่อเด็กๆ นะคะ เพราะเขาจะคิดว่าทุกคนจะต้องยอมเขาไปหมด การเล่นเกมหรือเล่นกับลูก เราก็ต้องผลัดกันนำ ผลัดกันตามบ้าง ลูกจะได้เรียนรู้ทั้งความรู้สึกการเป็นผู้นำและผู้ตาม ที่สำคัญคือเกมมีกติกาไว้แบบไหน ให้พ่อแม่ยึดตามกติกาของเกมนั้น ไม่จำเป็นต้องไหลตามลูก จะช่วยให้เขาเรียนรู้กติกาและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นมากยิ่งขึ้น พ่อแม่สามารถเป็นสังคมจำลองให้กับลูกได้ค่ะ
บริบทครอบครัวในประเทศไทย เป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น จากเดิมที่เราเคยอยู่พร้อมหน้าหลายคน ปู่ย่าตายาย มีผลต่อการผ่านช่วงนี้ไปได้ไหม
จริงๆ ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือการอยู่เป็นครอบครัวเล็กๆ มีแค่พ่อแม่ลูก เมื่อมีการพูดคุยและตกลงกติกาในบ้านกันชัดเจน เด็กจะไม่ค่อยสับสน เพราะทุกคนในบ้านปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน
ถ้าบางครอบครัวที่มีญาติอยู่ด้วยกัน แต่ละคนอาจจะมีวิธีการดูแลเด็กไม่เหมือนกัน ปู่ย่าอาจจะตามใจเด็ก ส่วนของพ่อแม่อาจจะไม่ได้ตามใจมาก ดังนั้นการเลี้ยงดูที่ไม่ตรงกันอาจส่งผลให้เด็กสับสนและเกิดการขัดแย้งได้ง่ายกว่า เพราะเด็กจะเลือกทางที่สะดวกและสบายกับเขา
ขณะเดียวกันครอบครัวที่ไม่ใหญ่ พ่อแม่ก็ต้องมีความรับผิดชอบที่หนักมากขึ้น เพราะไม่มีตัวตายตัวแทนได้ ลูกมีแค่พ่อกับแม่เท่านั้น สมมุติพ่อแม่ทำงานหนักแล้วยังต้องดูแลลูกด้วยตนเองอีกก็คงเป็นเรื่องที่นักหนาสาหัส
ถ้ายิ่งในสถานการณ์เช่นนี้ ลูกอาจจะเกิดการทวงถามว่าทำไมเขาไม่ได้เจอปู่ย่าตายาย เขาคิดถึง อยากไปหา พ่อแม่ต้องรับมือให้ได้ อย่างที่เราบอก พ่อแม่สามารถอธิบายให้เขาฟัง การเดินทางอาจเพิ่มความเสี่ยงในการนำพาเชื้อโรคไปติดปู่ยาตายายได้นะ เราใช้วิธีผ่านการวิดีโอคอลได้ไหม ให้ปู่ย่ามีโอกาสได้คุยกับหลานมากขึ้น ให้เขาคลายความเหงาลง
เพื่อป้องกันความเหงาที่จะเกิดขึ้นในเด็กเล็ก แปลว่าพ่อแม่ต้องทำให้ลูกรู้สึกสนุกอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า
เราว่าคีย์เวิร์ดที่สำคัญจริงๆ อาจไม่ใช่การทำให้ลูกรู้สึกสนุกตลอดเวลา แต่เป็นการทำให้ลูกรู้สึกว่าขณะที่สมาชิกทุกคนกำลังเผชิญกับปัญหาอยู่เขามีพ่อแม่อยู่เคียงข้าง เขามีพ่อแม่แสดงความเข้าใจ มีพ่อแม่ที่พร้อมหาทางออกร่วมกัน
บางครอบครัวอาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ หรือพื้นที่คอนโด เราพยายามบอกพ่อแม่ตลอดว่าเราสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในห้องที่เรามีอยู่ได้ เด็กๆ ไม่ได้ต้องการพื้นที่ที่มากมาย แต่เขาต้องการพื้นที่ที่เขาใช้งานได้ เราสร้างพื้นที่ในบ้านให้เด็กเล็กได้ทำกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ได้มากมาย เช่น เราแบ่งพื้นที่เป็น 3 จุด จากจุด a ไปจุด b ไปจุด c อาจจะแปะเทปให้ห่างกันนิดหนึ่ง เพื่อให้ลูกได้กระโดดหรือเดินต่อขา
หรือพ่อแม่จะชวนเขาเล่นบทบาทสมมุติ หรือหากล่องลังหรือกระดาษให้เขาวาดรูป จากเดิมที่เด็กวาดรูปบนโต๊ะลองเปลี่ยนให้เขามาวาดลงกล่องลังก็ได้ มันมีทางออกในการใช้พื้นที่อยู่ เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องแพนิค เราไม่ได้บอกว่าพ่อแม่ทุกต้องแก้ปัญหาทุกอย่างได้ดี หรือต้องทำตัวเหมือนครูในโรงเรียน แต่พ่อแม่ช่วยเสริมพัฒนาการลูกให้เดินต่อไปได้แน่นอน
การดูแลเด็กเล็กที่ติดโควิด-19 มีเรื่องยากต้องกังวลอย่างไรบ้าง เพราะเราเริ่มพบเคสเด็กติดเชื้อในพื้นที่ภาคเหนือแล้ว
ตามพัฒนาการของเด็กเล็ก เขาอยู่ในวัยที่พึ่งพาใครสักคนอยู่ เขาไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง ในกรณีแย่ที่สุดพ่อแม่อาจจะต้องคุยกันว่าใครจะเสียสละไปอยู่ดูแลลูก นั่นหมายความว่าพ่อแม่ต้องยอมติดโควิดไปกับลูกนะ แต่ถ้ามองข้อมูลนี้ในแง่การแพทย์การมีผู้ป่วยเพิ่มก็เท่ากับเพิ่มภาระทางการรักษา
เราคิดว่ามันความสีเทาๆ อยู่ ครอบครัวไหนที่ต้องเผชิญปัญหานี้น่าจะกังวลพอสมควร เราไม่รู้ว่าผิดหรือถูก มันเป็นความยากในการตัดสินใจมากๆ และเจ็บปวด
หนทางที่พอจะเป็นไปได้เราขอกล่าวถึงเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ในกรณีที่ต้องดูแลเด็กเล็กที่ติดเชื้อ หากเป็นไปได้เขาคือบุคคลที่จะมาทดแทนพ่อแม่ให้แก่เด็กๆ นอกจากจะมองเขาเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อ เจ้าหน้าที่ต้องมองว่าเขาคือเด็ก เขายังโหยหาอ้อมกอดและความอบอุ่นอยู่ มีอะไรบ้างไหมที่จะช่วยเติมเต็มเขาได้ระหว่างรักษาตัว เช่น ตุ๊กตา ขนม หรือของเล่นต่างๆ ทั้งหมดก็เพื่อเยียวยาสภาพจิตใจของเด็ก
กรณีในต่างประเทศ บุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำนวนมาก ทำให้เขาสามารถดูแลเด็กเล็กที่ติดเชื้อเป็นรายบุคคลได้ มันดีมากนะ มีคนคอยหมุนเปลี่ยนกันมาเล่น มาอ่านนิทาน ฟังเพลง วาดรูประบายสี หรือเปิดวิทยุทั้งวันเพื่อให้เด็กๆ รู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียว
แน่นอนว่าผลกระทบที่จะตามมาคือ เด็กจะเกิดความกลัว เขาวิตกกังวล สมองของเขาประมวลว่าฉันกลัว ฉันต้องออกจากบ้าน ฉันจะทำอย่างไรดี ฉันจะสู้ต่อหรือยืนหยัด ฉันจะเผชิญกับมันต่อไปอย่างไร เด็กบางคนร้องไห้ หากปล่อยให้เลยตามเลยสุดท้ายเด็กจะเกิดพฤติกรรมที่ถดถอย เช่น เด็กบางคนที่เคยเข้าห้องน้ำด้วยตนเอง ความกลัวอาจทำให้อาการปัสสาวะราดเสื้อผ้ากลับมาอีกครั้ง แม้กระทั่งเด็กที่มีความวิตกกังวลสูง เขาจะไม่อยากกินข้าว นี่คือสิ่งที่จะตามมา ความกลัวที่เกิดขึ้นในเด็กมันก็ต้องมีใครสักคนเป็นภาชนะรองรับความกลัวของเขาได้ ซึ่งก็คือใครสักคนที่พร้อมจะโอบกอดและเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเขานั่นเอง
แล้วในกรณีพ่อแม่ต้อง work from home ขณะลูกก็ต้องเรียนออนไลน์ ครอบครัวจะรอดจากความปั่นป่วนนี้ไปได้อย่างไร
อันนี้ต้องแบ่งตามสภาพของแต่ละครอบครัว บางครอบครัวที่เผชิญกับพิษเศรษฐกิจ พ่อแม่ต้องทำงานหนักขึ้น ลูกยังจะต้องเรียน มันก็ค่อนข้างจะรุมเร้า คือเราจะบอกคุณพ่อคุณแม่เสมอว่า ทักษะมันพัฒนาได้แต่จิตใจมันพังไปแล้วมันจะซ่อมอยาก
ดังนั้นยิ่งในเด็กเล็กสิ่งที่ควรจะโฟกัสคือจิตใจ ทั้งจิตใจเราและจิตใจลูก
ถ้าเราไม่พร้อมที่จะให้ลูกเรียนตอนนี้ ลูกไม่คุ้นชินกับวิธีการเรียนออนไลน์ เขาไม่เอา ไม่อยากเรียน เราจะแนะนำให้คุณวางก่อนเลย เพราะสุดท้ายยิ่งฝืนธรรมชาติของเด็กจะทำให้แย่ลงกว่าเดิม พ่อแม่อาจจะนำเพียงกิจกรรมในชั้นเรียนมาทำกับลูกก็ได้ เรื่องวิชาการของเด็กเล็กมันไม่สำคัญเท่าจิตใจของลูก เด็กบางคนปรับตัวได้ช้า แล้วเรายังไปฝืนเขาว่าต้องนั่งเรียนให้ได้เดี๋ยวนี้ มันไม่มีทางหรอกค่ะ ดังนั้นเมื่อเราเข้าใจธรรมชาติของลูกเรา พ่อแม่ก็ต้องประนีประนอม พยายามทำงานร่วมกับครูและค่อยๆ ให้ลูกปรับตัวดีกว่า
ส่วนพ่อแม่ที่ต้อง work from home ในเวลาเดียวกับการเรียนของลูก เราเข้าใจว่ามันค่อนข้างลำบาก มันยากมากๆ พ่อแม่อาจจะต้องเลือกว่าเราจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องอะไร แน่นอนว่าช่วงนี้เศรษฐกิจล้มเหลว พ่อแม่ไม่สามารถละทิ้งการทำงานได้ เราก็ต้องทำงานก่อน
แต่อย่างไรก็ตามครอบครัวไหนที่ลูกมีอายุเกิน 6 ปี เราเชื่อว่าลูกน่าจะเริ่มดูแลตัวเองและแบ่งเบาความกังวลไปได้ เพียงแค่เราจัดตารางให้เขา เมื่อก่อนลูกอาจจะไม่เคยมีชีวิตที่มีกำหนดการ แต่ถ้าเราบอกเขาด้วยเหตุผลอย่างตรงไปตรงมา บอกให้เด็กเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เขาก็น่าจะควบคุมตนเอง มากน้อยแค่ไหนพ่อแม่ก็ต้องยอมรับ ค่อยๆ ให้ลูกได้ปรับขึ้นไป อย่าไปวัดเกณฑ์หรือเปรียบเทียบกับเด็กบ้านอื่น โฟกัสตามธรรมชาติของลูกเราก็พอ
ในกรณีที่พ่อแม่เครียดหรือกังวลมากๆ หรือรู้สึกว่าเราควบคุมอะไรไม่ได้เลยจนไม่รู้ว่าจะหันไปพึ่งใคร เราแนะนำให้ลองพบจิตแพทย์ดูบ้างก็ได้นะคะ ไม่ใช่เรื่องผิดเลย สุขภาพจิตที่ย่ำแย่อย่าแบกเอาไว้คนเดียว ยิ่งพ่อแม่กดดันตัวเองมันจะพัง เราวางทั้งหมดลงก่อนแล้วมาเรียงลำดับความสำคัญก่อน ค่อยๆ จัดการไปทีละเรื่อง
ช่วงแรกเราเห็นภาพเด็กอนุบาลที่ต้องเรียนผ่านหน้าจอ โดยพ่อแม่บังคับให้ลูกนั่งเฉยๆ ไม่ยุกยิก ไม่วอกแวก อยากให้คุณเมช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่าจริงๆ แล้วเด็กเล็กไม่ได้เกิดมาเพื่อโฟกัสต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานาน
เด็กคนหนึ่งจะนั่งเขียนหนังสือนิ่งๆ ได้
หนึ่ง-เขาต้องใช้สมาธิ ซึ่งการที่เขาจะมีสมาธิมากพอที่จะบรรจงเขียน ก.ไก่ อย่างน้อยก็ประมาณ 10 นาทีที่เขาจะเรียนรู้ตัวอักษรใหม่ๆ ดังนั้นเด็กที่จะอยู่นานขนาดนั้น โดยที่ไม่วอกแวกเลย เขาต้องมีอายุประมาณ 4-5 ขวบขึ้นไปแล้วค่ะ
สอง-เด็กจะต้องมีกล้ามเนื้อมัดเล็กที่แข็งแรง ซึ่งเด็กเล็กเป็นวัยที่กำลังพัฒนากล้ามเนื้อส่วนนี้ บางคนจับดินสอยังไม่ถนัดเลยแล้วเราจะไปบังคับเขาได้อย่างไร
ที่สำคัญตามธรรมชาติของพัฒนาร่างกาย ต้องเริ่มจากพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ ได้แก่ แขน ขา แกนกลางลำตัว ก่อนจะนำไปสู่การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ได้แก่ นิ้วมือทั้งสิบ ด้วยเหตุนี้การพัฒนากล้ามเนื้อจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายผ่านการเล่น เช่น การเดินทรงตัวได้หรือกระโดดสองขา นอกจากนี้ การช่วยเหลือตัวเองยังเป็นการเตรียมความพร้อมกล้ามเนื้อให้กับเด็กๆ อีกด้วย เช่น เด็กสามารถตักข้าวเข้าปากเอง หรือเขาสามารถช่วยพ่อแม่หนีบกิ๊บ หนีบผ้า เขาควบคุมมือและนิ้วได้
ผู้ใหญ่ควรตระหนักอยู่เสมอว่า เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ซึ่งนำไปสู่ความพร้อมของเด็กไม่เท่ากัน ผู้ใหญ่ไม่ควรกดดันเด็กๆ ด้วยการเปรียบเทียบตัวเขากับเด็กคนอื่น
สาม-การจะเขียนตัวอักษรขึ้นมาสักตัว เด็กจะต้องรู้รูปทรงต่างๆ ก่อน รวมถึงเขาเรียนรู้อยู่กับการอยู่ในกิจกรรมใดได้นานเกิน 10 นาทีหรือไม่
ดังนั้นการจะให้เด็กอนุบาลมานั่งคัดลอกเขียนตัวอักษร ยิ่งสื่อสารผ่านจอคอมมันยากและฝืนธรรมชาติค่ะ มันข้ามบันไดของการพัฒนาการมาหลายขั้นเลย ตามปกติแล้วพัฒนาการของเด็กควรถูกฝึกมาอย่างเป็นลำดับขั้นตอน เริ่มตั้งแต่กล้ามเนื้อ การรอคอย การเรียนรู้จะโฟกัสกับกิจกรรมต่างๆ ในระยะเวลาที่ค่อยๆ นานขึ้น
หากเขาไม่ได้เรียนรู้มาตั้งแต่แรกและยังมาบังคับให้เข้าเขียนหนังสือ หรือทำอะไรเลยโดยที่กล้ามเนื้อยังไม่ได้พัฒนา เขาทำไม่ได้ พอทำไม่ได้มันจะยิ่งบั่นทอนและฝืนความรู้สึกเขา อาจจะทำให้เขาเกลียดการเรียนรู้ไปเลยก็ได้ ยิ่งโดนดุบ่อยๆ กลายเป็นว่าการเรียนรู้ไม่ได้สนุกสำหรับเขาอีกต่อไปแล้ว
ถ้าโรงเรียนที่เน้นวิชาการมากๆ เรามักจะบอกพ่อแม่เสมอว่า ไม่เป็นไรนะ ถึงแม้โรงเรียนจะเน้นเนื้อหาเช่นนั้น แต่พ่อแม่เลือกได้ เลือกที่จะพอหากลูกจะทำไม่ได้หรือทำได้แค่เท่านี้ แค่พ่อแม่ภูมิใจกับเขา เสริมในสิ่งที่เหมาะกับวัยให้เขา ทั้งเรื่องของพัฒนาการกล้ามเนื้อ หรือแม้กระทั่งสิ่งเล็กๆ ที่เขาทำได้ดีอย่างงานบ้าน การช่วยเหลือตนเอง ก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องเอาเขาไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นๆ
บรรยากาศภายในบ้านมีผลมากน้อยแค่ไหน เมื่อต้องอยู่ร่วมกันนานๆ เพราะบางบ้านพ่อแม่อาจจะไม่ลงรอยกัน
ในต่างประเทศเราพบว่าการอยู่ด้วยกันนานขึ้น กลับทำให้คนหย่าร้างกันมากขึ้น
บรรยากาศในบ้านและความสัมพันธ์ย่อมมีผลต่อชีวิตมนุษย์แน่นอน เราว่าความสัมพันธ์ไม่ว่าระหว่างพ่อกับแม่ หรือพ่อแม่กับลูก การเริ่มต้นที่ดีที่สุดคือการเคารพซึ่งกันและกัน เราไม่ต้องเอาใจกันขนาดนั้น คนส่วนใหญ่มักทะเลาะกันเรื่องหน้าที่ เราสามารถคุยกันเพื่อจัดสรรกันได้ไหมว่าใครจะทำอะไรเพื่อไม่ทำให้อีกคนรู้สึกไม่ดี
ทุกสายสัมพันธ์บางครั้งเราอาจจะไม่ต้องพยายามถึงขั้นการแสดงออกซึ่งความรักชัดเจนอะไรขนาดนั้น สำหรับคู่ของสามีภรรยา การเคารพซึ่งกันและกัน การให้เกียรติซึ่งกันและกัน นั่นก็สำคัญมากแล้ว คำพูดที่เราใช้ระหว่างกันมันก็ส่งผลต่อลูกนะ เช่น การขอบคุณ การขอโทษ หรือเมื่อมีปัญหาเราก็เพียงแชร์กันให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ยังอยู่ทีมเดียวกับเขานะ มันก็ช่วยให้บรรยากาศในบ้านดีขึ้นด้วย
ท้ายที่สุดความเครียดและความกังวลจากโควิด-19 มันมากจนเกินขีดจำกัด เราจะปรับตัว ปรับใจอย่างไรให้เรากลับมาตั้งหลักและผ่านช่วงนี้ไปอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
ถ้าวันนี้มันอยู่ในจุดที่แย่ที่สุด พ่อแม่ตกงาน ลูกก็ต้องเลี้ยง บ้านก็ต้องผ่อน รถก็ต้องผ่อน เราอยากให้พ่อแม่หันมาบอกตัวเราว่าเราไม่ไหวแล้วเนอะ เราไม่จำเป็นต้องหลอกตัวเองหรือกดดันตัวเองว่าเราจะต้องแกร่งและอย่าเพิ่งโทษตัวเองว่าเราผิด
บางครอบครัวเจอปัญหา เช่น พ่อมองตัวเองว่าเราคือพ่อที่เฮงซวยมากที่ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ เราเอาภรรยากับลูกมาเผชิญเรื่องแบบนี้ เช่นกันแม่ที่รู้สึกผิดหวังในตัวเองมองว่าเราดูแลลูกได้ไม่ดี คือต้องทำความเข้าใจก่อนว่าทุกครอบครัวได้รับผลกระทบเหมือนกัน ไม่ว่าจะมากหรือน้อย สุดท้ายพอเรายอมรับตรงนี้ได้แล้วและเราไม่สามารถลุกขึ้นมาได้ ไม่สามารถช่วยตนเองได้ ไม่รู้จะหันไปหาใคร บางครั้งการโทรไปขอความช่วยเหลือหรือขอคำปรึกษามันก็อาจจะทำให้เราพอได้ระบายความทุกข์ทนบ้าง ค่อยๆ ประคองตัวเองขึ้นมาตั้งหลักและแก้ไขปัญหากันไป
สิ่งสำคัญคือเราต้องพูดคุยกับคนในบ้าน พ่อแม่มักจะมองว่านี่คือปัญหาของผู้ใหญ่ ลูกไม่ต้องรู้หรอก ไม่จริงนะคะ ทุกความทุกข์ของพ่อแม่ ลูกสามารถรับรู้ได้ อยู่ดีๆ วันหนึ่งแม่ไม่คุยกับเขา แม่ร้องไห้ แม่ไม่เล่นกับเขา ลูกสัมผัสได้
ไม่ว่าลูกจะเล็กแค่ไหน พ่อแม่คุยกับเขาอย่างตรงไปตรงมาโดยยังคำนึงถึงวิธีการบอกสารให้ตรงกับวัยของเขา เพื่อให้เขาเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะไม่ใช่เพียงแค่ผู้ใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ สำหรับเด็ก เขาก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน ดังนั้นเขาควรได้รับรู้และเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย เช่น ช่วงนี้แม่อาจจะซื้อของเล่นให้ลูกไม่ได้นะ แต่ลูกไม่ต้องกังวลนะ เพราะว่าแม่กำลังหาทางพยายามอยู่ บางปัญหาอาจทำให้เราไม่อยากจะเลือกรับรู้แต่บางครั้งโลกมันบีบเราให้ต้องเลือก ฉะนั้นเราก็ต้องยอมเพื่อส่งผลในระยะยาว เพราะชีวิตมนุษย์ไม่ได้มีสูตรสำเร็จ
ตอนนี้พ่อแม่บางคนรู้สึกผิดที่ไม่สามารถหาเงินมาซื้อสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกได้ แต่นั่นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ลูกต้องการสำหรับเรา เรามองว่าสิ่งที่ลูกต้องการที่สุดคือ แม่ที่ยังมีแรงยิ้มให้เขา แม่ที่ยังพร้อมที่จะสู้ไปกับเขา แม่ที่มีสุขภาพจิตและร่างกายที่พร้อมสู้ไปกับเขาในช่วงเวลาที่เผชิญกับสภาพสังคมในตอนนี้