Crash Course in Romance ซีรีส์ที่ทำให้เข้าใจว่าการศึกษาที่ ‘เร่งรัด’ มีอยู่จริง แต่ความสัมพันธ์นั้นอาจไม่

  • ซีรีส์โรแมนติกคอมเมดีที่เล่าเรื่องความรัก ครอบครัวและการศึกษาผ่านการกำกับของ ‘ยูเจวอน’ เจ้าพ่อแห่งการสร้างชุมชนให้ผู้ชมผูกพันกับตัวละครสมทบพอ ๆ กับตัวละครหลัก
  • ระบบการศึกษาเร่งรัดให้เด็ก ๆ ต้องเติบโตไปประสบความสำเร็จ และศึกการเรียนนี้ไม่ได้มีแค่ลูก พ่อแม่เองก็ยังต้องแข่งขัน
  • ซีรีส์มีจังหวะจะโคนที่ค่อย ๆ กระซิบบอกเราอย่างใจเย็นว่าความสัมพันธ์ไม่มีสูตรเร่งรัดหรอก เราไม่สามารถไปบังคับให้ใครรักตอบได้ ทั้งความสัมพันธ์แบบคู่รัก พี่น้อง เพื่อน หรือแม้กระทั่งพ่อแม่ลูก 

*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของเรื่อง*

Crash Course in Romance (โรแมนซ์ฉบับเร่งรัด) ซีรีส์สัญชาติเกาหลีใต้ที่เล่าเรื่องราวของ ‘ชเวชียอล’ (รับบทโดย จองคยองโฮ) ติวเตอร์คณิตศาสตร์อันดับหนึ่งแห่งสถาบันกวดวิชาเดอะไพรด์ เจ้าของฉายา ‘หนุ่มล้านล้านวอน’ (รายได้ที่เขาทำต่อปี) ผู้ทุ่มเทสุดเนื้อสุดตัวให้กับการสอนอย่างไม่ถดถอย เขาสอนสนุกและสนุกกับการสอน ฝีไม้ลายมือเขาเป็นที่ยอมรับอย่างมากในแวดวงผู้ปกครองและเด็ก ๆ จนเรียกได้ว่าการส่งลูกเข้าคลาสเรียนของชเวชียอลนั้นกลายเป็นเป้าหมายสุดสลักสำคัญของการเป็นพ่อเป็นแม่เลยก็ว่าได้

แต่ทว่าเบื้องหลังความสำเร็จและความทุ่มเทอันล้นท้นนั้น ชเวชียอลก็แลกมาด้วยชีวิตที่ทำให้เขามักรู้สึก ‘โดดเดี่ยวและว่างเปล่า’ จะมีอะไรแย่ไปกว่าการรู้ว่ามีเงินซื้ออาหารได้ทั้งโลกแต่ข้าวที่กินไม่เคยย่อยสักมื้อ ถ้าพูดด้วยภาษาคณิตศาสตร์หน่อย ๆ คงต้องบอกว่าการสำรอกออกมามันแปรผันตรงตามอาหารที่เอาเข้าไป  ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีที่แค่จะกินข้าวสักคำยังทำได้ยาก ร่างกายเขาซูบผอมและขาดสารอาหาร ชีวิตวนลูปอยู่ไม่กี่อย่าง สอนอย่างตั้งใจ หงุดหงิดต้นไม้ตรงทางเดินสถาบัน และเรียกชื่อคนนั้นคนนี้ผิดตลอดเวลา ค่ำหน่อยก็กลับบ้านด้วยกายหยาบ พยายามข่มตาหลับให้มันผ่าน ๆ ไป รุ่งขึ้นก็คลานออกจากบ้านมาสอน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

จนกระทั่งวันนั้น ข้าวกล่องหน้าตาดูดีวางเรียงรายอยู่บนโต๊ะ ข้าง ๆ กันมีถุงพลาสติกสีขาวขุ่นเขียนว่า ‘ร้านเครื่องเคียงตัวแทนประเทศ’ วางอยู่ วันที่ทำให้เขาได้ลืมตา (กว้าง) และอ้าปาก (กว้างกว่า) ด้วยความอึ้ง ทึ่ง และดีใจ ราวกับมนุษย์ทะเลทรายที่ร่อนเร่มาพบน้ำตกกลางป่าใหญ่ครั้งแรก เหมือนว่าแหล่งอาหารสำคัญถูกค้นเจอแล้วตั้งแต่บัดนี้ อาหารที่จะทำให้เขาไม่ต้องขย้อนมันออกมาอีกต่อไป 

และใช่ นั่นเป็นสมการสำคัญที่ทำให้เขาเริ่มรู้จักและได้รักกับ ‘นัมแฮงซอน’ 

‘นัมแฮงซอน’ (รับบทโดย จอนโดยอน) อดีตนักกีฬาทีมชาติที่ตัดสินใจหันหลังให้ความฝันซึ่งกำลังรุ่งโรจน์ของตัวเองเพื่อกลับมาดูแลครอบครัวหลังสูญเสียแม่ไป ปัจจุบันผันตัวมาเป็นเถ้าแก่เนี้ยร้านเครื่องเคียงที่สานต่อกิจการมาจากแม่ เธอเป็นทั้ง ‘พี่’ ของน้องชายที่เป็นออทิสติกและเป็น ‘แม่’ ของ ‘หลาน’ เมื่อพี่สาวเธอทิ้งเด็กหญิงไว้แล้วจากไปเมื่อ 10 ปีกว่าก่อน

“น้า หนูขอเรียกน้าว่า ‘แม่’ ได้ไหม” ‘นัมแฮอี’ วัย 6 ขวบถามขึ้นขณะเดินกลับจากโรงเรียน

การเป็นแม่ไม่ได้ง่ายแค่เพราะได้มาซึ่งคำเรียก นัมแฮงซอนรู้ข้อนั้นดี แต่นาทีนั้น ณ วินาทีนั้น สายตาที่เต็มไปด้วยความเปี่ยมหวังของเด็กผู้หญิงผูกแกละตรงหน้ากำลังจ้องมาที่เธอ เราว่าแฮงซอนตอบตัวเองได้ทันทีว่ามันคือความรู้สึกยินดี

“ได้สิ ทำไมจะไม่ได้” 

และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นัมแฮอีก็กลายเป็น ‘ลูกสาว’ ของนัมแฮงซอนอย่างเต็มตัว

แฮอีเป็นเด็กเรียนเก่ง พอขึ้นชั้นมัธยมปลายเธอก็ตั้งใจเรียนอย่างหนัก อ่านหนังสือด้วยตนเอง ไม่เคยพึ่งสถาบันกวดวิชาไหน ๆ จนเพื่อนสนิทยกย่องให้เธอเป็นต้นแบบของประโยค ‘ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน’ แม้ปากจะบอกว่าอ่านหนังสือและทบทวนบทเรียนเองได้ แต่ลึก ๆ เธอก็รู้ว่าถ้ามีคนติวให้อาจเห็นผลที่ดีกว่า คอร์สเรียนพิเศษไม่ได้เอื้อมถึงและจับต้องได้สำหรับทุกคน ด้วยเพราะฐานะทางบ้านไม่ได้ร่ำรวย แม่ต้องใช้เงินในการหมุนเวียนกิจการร้านอาหาร และบางส่วนต้องเก็บไว้สำหรับน้าที่มักป่วยเข้าโรงพยาบาลขึ้นมาบ่อย ๆ ค่าเรียนพิเศษจึงเป็นราคาที่เธอไม่อยากให้ครอบครัวต้องเสียไป

เพราะการศึกษาที่ ‘เหลื่อมล้ำ’ และ ‘เร่งรัด’ มีอยู่จริง

ไม่เพียงแค่การศึกษา แต่ระบบทั้งระบบกำลังเร่งรัดเด็ก ซีรีส์สะท้อนการศึกษาของประเทศเกาหลีใต้อย่างเข้มข้น (ด้วยน้ำเสียงที่ไม่ได้กระโชกโฮกฮากนัก) ผ่านสถานการณ์ในครอบครัว เรื่องเล่าในวงผู้ปกครอง ห้องเรียน และแม้กระทั่งสนามเด็กเล่น 

‘บังซูอา’ เจ้าของรางวัลนักเรียนคะแนนสูงหลายปีซ้อน มุ่งมั่นที่จะเป็นที่หนึ่งของโรงเรียนให้ได้ เธอสู้อยู่ในสงครามแรงกดดันจากคนรอบตัวและตัวเอง จนกระทั่งเย็นวันหนึ่ง แรงที่กดไว้ได้ถูกเขวี้ยงออกไปเป็นแก้วหนึ่งใบ แตกสลายลงพร้อม ๆ กับถ้อยคำที่เอ่ยกับผู้เป็นแม่ว่า “มันอาจจะเป็นหนูก็ได้ คนที่คิดจะฆ่าตัวตายน่ะ”

สังคมเร่งรัดให้เด็ก ๆ ต้องเป็นคนเก่งตลอดเวลา ต้องประสบความสำเร็จ ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ของประเทศ ต้องเจอตัวเอง และแม้จะเรียนไม่เก่ง ถ้าสนใจดนตรีก็ต้องขั้นเทพ ถ้าสนใจศิลปะก็ต้องระดับมาสเตอร์พีซ  เป็นการศึกษาที่ไม่มีที่ทางให้พวกเขาได้มีเวลาสำรวจตัวเองมากพอ 

อีกสิ่งที่ปรากฏในซีรีส์คือ นี่ไม่ใช่เพียงศึกการเรียนของลูก สงครามนี้ไม่ได้มีแค่เด็ก พ่อแม่เองก็ยังต้องแข่งขัน ภาพผู้ปกครองตื่นแต่เช้ามืดไปต่อแถวจองคอร์สเรียนพิเศษให้ลูกหลานกลายเป็นความปกติธรรมดาของวงการ ยิ่งเร็วลูกยิ่งได้นั่งข้างหน้า ยังไม่รวมการต่อสู้เรื่องค่าเรียนพิเศษที่มีแนวโน้มว่าแพงขึ้นอีก

สถาบันกวดวิชาเติบโตอย่างมากในยุคสมัยที่เด็ก ๆ ไม่เชื่อมั่น ‘ในระบบ’ อีกต่อไปแล้ว การ ‘เรียนรู้’ กลายเป็นสิ่งไม่สำคัญสำหรับพวกเขา คุณค่าที่เด็ก ๆ ยึดถือจึงเป็นการเรียน ‘เพื่อสอบ’ เท่านั้น เลยไม่แปลกที่พวกเขาจะรู้สึกว่าการสอนที่รวบรัดเข้าใจง่ายจะส่งผลดีต่ออนาคตมากกว่า นอกจากเกาหลีใต้แล้ว สังคมไทยเองก็พบปัญหานั้นอยู่มาก นักเรียนใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมงต่อวันในการจดจ่ออยู่แต่กับหนังสือและสถาบันกวดวิชา เราไม่ได้บอกว่าสถาบันกวดวิชาเป็นตัวร้ายของเรื่องนี้ กลับกัน มันยิ่งทำให้เราเห็นปัญหาของการศึกษาในระบบด้วยซ้ำ เพราะเมื่อครูมีเวลามากพอที่จะโฟกัสการสอน ผลที่ออกมาย่อมดีกว่าไม่ใช่หรือ

“เอาเข้าจริง พวกเราไม่ได้เตรียมหนักเท่าพวกครูสถาบันกวดวิชานี่คะ” ครูคนหนึ่งถามขึ้น

“คิดว่าเราขี้เกียจเลยไม่ทำเหรอครับ พวกเราไม่มีเวลาให้ทำแบบนั้นต่างหาก เราต้องทำทั้งหนังสือราชการ แผนการสอน และรายงานอุปกรณ์ที่จำเป็น ผมคิดว่าสิ่งที่ต้องเปลี่ยนไม่ใช่เรา แต่เป็นระบบครับ”

‘จอนจงรยอน’ ครูประจำชั้นของนัมแฮอีตอบ โรงเรียนไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ปล่อยให้ครูได้โฟกัสกับการสอนเท่าติวเตอร์จากสถาบันกวดวิชา การทำหน้าที่ที่ไม่จำเป็นต่อการเรียนการสอน เป็นแผลใหญ่ที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างใส่ใจจริง ๆ สักที ทิ้งไว้จนเรื้อรังและเน่าเฟะ

เราเคยถามกันหรือเปล่า ว่าระบบการศึกษาที่แสนบิดเบี้ยวและเหลื่อมล้ำเช่นนี้ทำให้เด็ก ๆ ได้หรือเสียอะไรไปบ้าง พวกเขาทำอะไรได้มากกว่าการก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือ เรียนพิเศษ กินแต่อาหารสะดวกขายใกล้ ๆ และอยู่ในสงครามที่ตัวเองไม่ได้สร้าง 

เราไม่มีทางรู้เลยว่าเด็ก ๆ ผุพังกันไปมากเท่าไร และต้องสูญเสียอีกสักกี่คนให้ระบบการศึกษาที่กดดันให้พวกเขาต้องแลกทั้งชีวิตกับการสอบเพียงครั้งเดียว

แต่กับความสัมพันธ์ มันไม่มีสูตรเร่งรัด

อ่านมาถึงจุดนี้เราก็อยากยืนยันว่า Crash Course in Romance ยังเป็นซีรีส์โรแมนติกคอมเมดี้ย่อยง่าย เล่าเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ และความสัมพันธ์น่าหยอกน่าหยิกที่เกิดขึ้นในบ้าน ร้านค้า สถาบันกวดวิชาและโรงเรียนอยู่

เสน่ห์และลายเซ็นที่ชัดเจนของผู้กำกับ ‘ยูเจวอน’ คือการชวนเราไปอ้อยอิ่งกับบรรยากาศ หากย้อนกลับไปดูเรื่องที่ผ่าน ๆ มาอย่าง  Hometown Cha-Cha-Cha’ ไม่แปลกใจนักที่เราจะเผลอไผลหลงรักหมู่บ้านกงจินขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว เขาสร้างสภาพแวดล้อมให้จำตัวละครสมทบได้ทุกคน เราผูกพันกับตัวละครอื่น ๆ ไม่น้อยไปกว่าตัวละครหลัก ซึ่งไม่ใช่การตีหัวเข้าบ้านแล้วบอกว่าดูสิ่งนี้สิ รักมันสิ ไม่ใช่เลย มันละเมียดละไมและค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไปกว่านั้นมาก เหมือนยูเจวอนพิรี้พิไรจัดแจงพาเราไปนั่งพัก เสิร์ฟน้ำเย็นจัด และหลอกล่อให้เราสำรวจบ้าน ไม่นานเราก็กลายเป็นคุ้นเคย

ส่วนเรื่องความอ้อยอิ่งที่ว่าคือ กว่าชเวชียอลกับนัมแฮงซอนจะลงเอยอย่างน่ายินดีปรีดา ฟันเฟืองทุกชีวิตในเรื่องก็ทำหน้าที่อย่างหนักหนาสาหัสเหมือนกัน ภาษาบ้าน ๆ คือ ไม่ได้กันสักที นั่นแหละ ไหนชื่อเรื่องว่าโรแมนซ์ฉบับเร่งรัดไงยูเจวอน โอดครวญอยู่ทุกอีพีว่าให้เขาได้(รัก)กันเถอะลุง หนูไหว้

อย่างไรก็ตาม การที่ทั้งสองยอมให้ตัวเองเปิดรับและโอบกอดความรักนั้นไว้ ไม่ใช่เรื่องที่เร่งรัดได้ ซีรีส์จึงมีจังหวะจะโคนที่ค่อย ๆ กระซิบบอกเราอย่างใจเย็นว่าความสัมพันธ์ไม่มีสูตรเร่งรัดหรอก เราไม่สามารถไปบังคับให้ใครรักตอบได้ ทั้งความสัมพันธ์แบบคู่รัก พี่น้อง เพื่อน หรือแม้กระทั่งแม่ลูก 

เพราะกว่าชเวชียอลและนัมแฮงซอน จะรักเอยเตยหอมกันได้ ก็ผ่านร้านเครื่องเคียงของแม่มาแล้วอย่างต่ำ 10 ปี 

เพราะกว่าอีฮีแจและอีซอนแจ ลูกชายบ้านทนายความจะเข้าใจกันอย่างถ่องแท้ได้ ก็ยังต้องใช้สถานการณ์ที่โอบกอดพวกเขาไว้ด้วยกัน

เพราะกว่านัมแฮอี จะยอมรับและทำความเข้าใจกับตัวเองว่า เพื่อนไม่ได้เลวร้ายเหมือนในอดีตหมดทุกคน ก็ต้องอาศัยการลองเผชิญ

เพราะกว่าแม่ซอนแจจะเข้าใจได้ว่า สิ่งที่คอยบอกคนอื่นมาตลอดว่าทำเพื่อลูก แท้จริงแล้วนั่นคือความต้องการของตัวเอง ก็เกิดขึ้นในวันที่ลูกถามขึ้นมาทั้งน้ำตาว่า “แม่มีหน้าที่การงานที่ดี แล้วแม่มีความสุขไหมครับ”

“นี่ แต่คนเป็นแม่ก็ทำพลาดได้นะ”

บทสนทนาระหว่างแฮงซอนและ ‘ยองจู’ เพื่อนสนิทเกิดขึ้น เมื่อเธอไม่มั่นใจว่าตัวเองเป็นแม่ที่ดีพอ และไม่เคยรู้เลยว่าที่ผ่านมาแฮอีต้องการอะไร 

ยองจูเอ่ยต่อ “แค่รู้ตัวก็พอ อย่างน้อยตอนนี้ก็เข้าใจความรู้สึกลูก แล้วสนับสนุนแกซะ” 

พอเป็นเรื่องลูก พ่อแม่จะอ่อนไหวเป็นพิเศษ เหมือนตอนที่พ่อและแม่ของบังซูอาทะเลาะกันจนถึงขั้นอยากหย่าร้าง แต่แม่ซูอาก็บอกว่ารอให้ลูกเข้ามหา’ลัยก่อนค่อยหย่า ไม่ใช่ว่ายังมีเยื่อใย แต่เพราะเธอจะไม่ยอมให้เรื่องนี้ดึงซูอาออกมาจากการเรียนที่โฟกัสอยู่ จนกระทั่งบนรถวันนั้น ซูอาพูดขึ้นมาท่ามกลางความเงียบว่า “หย่าเถอะ หย่ากับพ่อซะ ถ้านั่นเป็นความสุขของแม่”

หรือตอนที่พี่สาวนัมแฮงซอน แม่แท้ ๆ ของแฮอีกลับมาหา เราสงสัยอยู่สักพักว่าเพราะอะไรเธอถึงไม่ตำหนิหรือต่อว่าพี่สาวที่ทิ้งลูกไว้ให้เธอเลี้ยงในวันที่ครอบครัวลำบาก แม้ตอนนี้จะไม่ได้คำตอบที่เป็นข้อสรุปเท่าไรนัก แต่ก็พอเข้าใจได้ว่าเพราะเหตุการณ์นั้นทำให้เธอได้อยู่และรักแฮอีอย่างที่เป็น และแม่ก็ผิดพลาดได้

ชีวิตไม่มีคำตอบที่ถูก มีเพียงคำตอบที่เข้าท่าหลายคำตอบ

“ตัวเลขชัดเจนและมีคำตอบเสมอ แต่ชีวิตผมไม่เป็นแบบนั้นครับ มันไม่มีกฎและไม่ตายตัว ทุกครั้งที่ผมผิดพลาด ผมก็จะคิดว่า “ฉันทำผิดอีกแล้วสินะ”

ชเวชียอลบอกกับนัมแฮงซอนเมื่อชีวิตเขามาถึงจุดที่รู้สึกว่าตัดสินใจผิดพลาดอีกครั้ง

“แต่ถึงอย่างไร คุณก็เข้าใกล้คำตอบมากขึ้นทุกครั้งที่ผิดนี่คะ” เธอตอบแล้วเอ่ยต่อ “อย่างเวลาที่เล่นแฮนด์บอล ถ้าโยนมุมนี้แล้วไม่เข้าประตู ก็ลองโยนอีกมุม ถ้าใช้กล้ามเนื้อเส้นนี้แล้วทำให้โยนลูกบอลเบาไป ครั้งหน้าก็ลองใช้กล้ามเนื้ออีกเส้น แบบนั้นจะทำให้อัตราประสบความสำเร็จสูงขึ้น ชีวิตก็เหมือนกันนี่คะ พวกเราต่างก็ต้องคลำหาคำตอบกันไป ลองแบบนั้นที ลองแบบนี้ที ลองมันไปเรื่อย ๆ”

เราไม่มีคู่มือสำเร็จรูปสำหรับอะไรเลย ทั้งการเป็นคนรัก เพื่อน พ่อแม่ สามีหรือภรรยา และแม้กระทั่งลูก เราไม่มีติวเตอร์สอนว่าทางไหนที่เราเลือกมันจะเป็นชอยส์ที่ถูกต้อง ไม่มีความสัมพันธ์ใดที่ออกสอบแล้วเก็งไปก่อนได้ เราไม่มีทางรู้จนกว่าเราจะได้เผชิญ 

และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ความรู้สึกรักมันงอกงาม


Writer

Avatar photo

อรญา ศรีสังวาลย์

คนเจนซีที่เชื่อว่าบ้านเมืองจะดีกว่านี้ได้ หลงใหลในการทอดไข่และก๋วยเตี๋ยวไม่ใส่ถั่วงอก มีความสุขทุกครั้งที่กินหวาน ตัดผม และเห็นคนบังเอิญใส่เสื้อสีแมทช์กัน

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts