การออกแบบในรั้วสถานศึกษาที่เป็นมิตร ดีต่อใจเด็ก ‘พิการ’ ทำได้จริง

พิการทางสายตาแต่มองเห็นหน้าเพื่อน และเดินได้อย่างปลอดภัย

“ขณะนี้เราอยู่ระหว่างการปรับปรุงทางเท้าทั้งหมด ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย โดยจะจัดทำเป็นพื้นผิวสำหรับนำทาง (Guiding Block) สำหรับนักศึกษาพิการทางสายตาเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่จะขยายเพิ่มให้ได้ 100%” นี่คือคำกล่าวของ รศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านกายภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนั่นทำให้เห็นว่าการออกแบบที่เป็นพื้นฐานที่สุดเพื่อผู้พิการทางสายตานั่นก็คือ ‘พื้น’ ที่ช่วยนำทางพวกเขาให้เดินไปเรียน หรือทำกิจกรรมภายในสถานศึกษาได้อย่างปกติ 

ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เป็นมหาลัยหนึ่งที่ได้รับเลือกให้เป็น ‘องค์กรส่งเสริมอารยสถาปัตย์แห่งปี’ (Tourism for All) จากมหกรรมอารยสถาปัตย์และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 5 (Thailand Friendly Design Expo 2022) และได้รับราง Friendly Design Awards 2022 มา ต่อเนื่อง 4 ปี และเราคิดว่าถ้าทุกมหาวิทยาลัยในไทยมีการดีไซน์พื้นผิวสำหรับนำทางเพื่อผู้พิการทางสายตา ไปจนถึงการมีอักษรเบรลล์ตามจุดต่างๆ อาจช่วยให้นักเรียน นักศึกษาพิการทางสายตา ลดอุปสรรคในการใช้ชีวิตในรั้วสถานศึกษาอย่างแน่นอน

อีกโมเดลหนึ่งที่ไปไกลกว่าการออกแบบสิ่งปลูกสร้างจากประเทศเกาหลีใต้ ที่น่าสนใจจนอยากหยิบมาคุยกัน คือการที่โรงเรียนในเกาหลีใต้หลายแห่ง มีความตั้งใจอยากให้นักเรียนพิการทางสายตาได้มองเห็นหน้าเพื่อนของพวกเขาผ่านการทำอัลบั้มรูป ซึ่งนี่เป็นความใส่ใจเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ ที่น่าเอามาปรับใช้ในประเทศเราเหมือนกัน

ยกตัวอย่างนักเรียนที่จบจากโรงเรียน Daegu Kwangmyung จะได้รับหนังสือรุ่นสุดพิเศษ โดยมีใบหน้าของนักเรียนที่ถูกแกะสลักรูปแบบ 3 มิติ ในหนังสือ อย่างในปี 2021 โรงเรียนนี้มีผู้พิการทางสายตาที่สำเร็จการศึกษา 17 คน ทั้งในระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลายจะได้สัมผัสใบหน้า 3 มิติของเพื่อนๆ นอกจากนี้ชื่อของผู้จบการศึกษายังสลักเป็นอักษรเบรลล์ไว้ใต้ใบหน้า เพื่อให้รู้ว่า อ๋อ นี่คือหน้าของเพื่อนคนนั้น คนนี้ ที่เราใช้เวลาร่วมกัน ซึ่งนับเป็นความน่ารักที่แฝงความใส่ใจอย่างมาก

เช่นเดียวกับนักเรียนมัธยมปลายที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียน Hanbit School for the Blind ในกรุงโซลก็จะได้รับอัลบั้มสำเร็จการศึกษาเป็นรูปปั้นที่สร้างโดยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ โดยรูปปั้นแต่ละชิ้นจะมีดีเทลเป็นใบหน้า ทรงผม และลักษณะอื่นๆ ของแต่ละบุคคล เพื่อให้นักเรียนได้รู้จักหน้าคร่าตาให้ได้มากที่สุด

“ฉันไม่เคยเห็นหน้าเพื่อนที่โรงเรียนเลย ตอนนี้ฉันรู้สึกถึงพวกเขาได้ด้วยมือ และเรียนจบด้วยหัวใจที่มีความสุข” ยาง จีวู หนึ่งในผู้สำเร็จการศึกษากล่าว

Bikurim โรงเรียนที่ออกแบบให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษ เรียนรวมกับเด็กคนอื่นๆ อย่างมีความสุข

Bikurim เป็นโรงเรียน inclusive แห่งแรกในเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล โดยภายในพื้นที่ 2,000 ตร.ม. ล้วนออกแบบซึ่งคำนึงถึงจุดยืนหลักคือการสนับสนุนการเรียนรวมกันของนักเรียนพิการเข้ากับนักเรียนไม่พิการ ด้วยความเชื่อที่ว่าเด็กทุกคนมี ‘เอกลักษณ์เฉพาะตัว’ ซึ่งนับว่าเป็นแนวคิดที่ปลูกฝังเยาวชนในการอยู่ร่วมกันได้ดีเลยทีเดียว

25% ของนักเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้มีความพิการทางร่างกาย และอยู่ในเกณฑ์ออทิสติก กลยุทธ์การออกแบบจึงต้องสร้างสภาพแวเล้อมที่ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันที่ทั้งสนุก และส่งเสริมความเห็นอกเห็นใจกันของเด็กที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะพิการ หรือไม่พิการ ประกอบไปด้วยห้องหลากหลายรูปแบบและห้องเพื่อการบำบัด เช่น ห้องโยคะ ที่ออกแบบมาเพื่อเป็นพื้นที่นั่งสมาธิและกายภาพบำบัด แต่ละห้องออกแบบมาให้เป็นผนังกระจกเพื่อให้ได้บรรยากาศของความ inclusive ไม่แบ่งแยก ห้องเรียนก็ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และเรียนเล่น ตั้งแต่คอนเซ็ปต์การมีที่นั่งรูปทรงตัว U ซึ่งสามารถจัดเป็นวงกลมให้นักเรียนนั่งเข้าหากันเป็นวงกลมได้ ด้วยความตั้งใจที่ว่า ทุกคนสามารถนั่งตรงนี้ได้อย่างอิสระ รวมถึงนักเรียนที่ใช้วีลแชร์ด้วย ยังมีการให้พื้นที่ส่วนตัวกับเด็กๆ ด้วยการสร้างมุมที่เป็นรูปทรงเรขาคณิต ไว้ให้เด็กๆ พักผ่อนหรืออ่านหนังสือตามอัธยาศัย

และอย่างที่บอกว่าเพื่อให้เด็กที่มีความต้องการสามารถเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปได้ Shani Hay นักออกแบบจึงตั้งใจให้องค์ประกอบภายในอาคารทำจากไม้ และโดดเด่นด้วยการใช้สีโทนสงบ เช่น สีเขียว และสีน้ำเงิน เพื่อหลีกเลี่ยงอารมณ์ที่มากเกินไป (emotional overload) โดยพัฒนาผ่านการสนทนากับคุณครูผู้เชี่ยวชาญในการเรียนรู้แบบ inclusive โดยเฉพาะ เพื่อให้ตอบโจทย์เด็กๆ มากที่สุด ซึ่งทำให้ Shani Hay ได้รับรางวัล FRAME Award Jury Prize ประจำปี 2020 จากการออกแบบโรงเรียนนี้ด้วย

พื้นที่การเรียนรู้ที่ต้องเอื้อกับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว

สำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว โจทย์หลักของการออกแบบที่ต้องคำนึงมากที่สุดคงเป็นการมีพื้นที่ที่เอื้อต่อการเคลื่อนไหวของ ‘วีลแชร์’ ไม่ว่าจะเป็นทางลาด ลิฟต์ หรือแม้แต่สเปซในห้องเรียนที่ต้องไม่แคบจนไม่สามารถขับเคลื่อนวีลแชร์เข้าไปได้ ซึ่งปัญหานี้ยังมีอยู่ในรั้วสถานศึกษาหลายแห่ง

ที่มหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลกอย่าง Harvard ก็เคยเกิดปัญหานี้ เมื่อ Elizabeth Suitor ปริญญาเอกวิศวกรรมไฟฟ้า ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว เข้าร่วมการบรรยายครั้งแรกของมหาวิทยาลัย แล้วเธอพบว่าไม่มีโต๊ะเล็กเชอร์สำหรับวีลแชร์ หรือแม้แต่ห้องคลีนรูมที่ใช้โครงสร้างแบบ microfabrication ซึ่งไม่ได้เอื้อต่อการมีวีลแชร์ติดตัวของเธอ

หลังจากที่เกิดการแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้น Harvard ก็ได้เพิ่มโต๊ะสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ และพื้นที่ที่เหมาะสมในห้องบรรยาย รวมถึงคลีนรูมที่ได้เพิ่มห้องอาบน้ำเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้วีลแชร์โดยเฉพาะ อุปกรณ์ทำความสะอาดวีลแชร์ และคำแนะนำสำหรับการอพยพฉุกเฉินที่ชัดเจนไว้ ซึ่งถือเป็นการรับฟังปัญหาและแก้ไขปัญหานั้นให้นักศึกษาได้อย่างดี

ถ้าเป็นของประเทศไทย ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอง ก็มีการออกแบบเพื่อนักศึกษาพิการทางการเคลื่อนไหว โดยทุกอาคารจะมีทางลาดสำหรับรถวีลแชร์ มีลิฟต์ ห้องน้ำ ส่วนหอพักนักศึกษา ได้ออกแบบขึ้นมาพิเศษภายใต้มาตรฐานสากล เช่นเดียวกับสถานที่ออกกำลังกาย เช่น ฟิตเนส หน้าผาจำลอง สระว่ายน้ำ ก็มีการออกแบบไว้ให้นักศึกษาพิการเข้าถึงได้ทั้งหมด และมีการติดตั้งทางลาดในรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าของมหาวิทยาลัยทุกคัน

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากข้อมูลสถานการณ์ผู้พิการในปี 2563 พบว่าประเทศไทยมีผู้พิการ 2.05 ล้านคน โดย 49.61% เป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย และมีเพียง 21,980 คน เท่านั้นที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่ง รศ.เกศินี มองว่าสาเหตุที่ทำให้การศึกษาของผู้พิการไม่ดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการออกแบบที่ไม่เอื้อให้เข้าถึงการศึกษา เช่น การไม่มีทางเท้า การไม่มีทางลาด การไม่มีลิฟต์ ฯลฯ ตลอดจนความพร้อมของอุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอน ความเข้าใจของบุคลากร 

ซึ่งในประเทศอินเดีย ก็ถือเป็นประเทศที่มุ่งเน้นเรื่องการสร้างความเป็นมิตรให้กับนักเรียนพิการในช่วง 6 ปีที่ผ่าน โดยพบว่ามากกว่า 70% ของโรงเรียนรัฐบาล เป็นมิตรต่อผู้พิการ ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ได้รับการออกแบบตามหลัก barrier-free ที่ทำให้นักเรียนพิการไม่มีอุปสรรคในการเข้าถึง เช่น มีทางลาด มีห้องน้ำสำหรับผู้พิการ และมีราวราวจับ เราก็อยากให้ทุกโรงเรียน และทุกมหาวิทยาลัยในไทยออกแบบมาเพื่อผู้พิการเพิ่มขึ้นเช่นกัน

เพิ่มการเข้าถึงทางการได้ยินให้ผู้พิการทางการได้ยิน

ตัวอย่างหนึ่งสำหรับการออกแบบสถานศึกษาเพื่อเด็กพิการทางการได้ยินที่เราเห็นได้ชัดซึ่งออกแบบโดย Stride Treglown เพื่อ Deaf Academy ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสถานศึกษาเพื่อผู้พิการทางการได้ยินโดยเฉพาะ แต่เราว่า ถ้าประเทศเราจะนำมาปรับใช้ก็ย่อมเอามาคิดต่อยอดกันอีกทีได้

Deaf Academy วิทยาเขตในเมืองเอ็กซ์เมาธ์ สหราชอาณาจักร ที่ถูกออกแบบบนหลักปรัชญา Reverse Inclusion เพื่อให้นักเรียนที่มีความพิการทางการได้ยินได้มีประสบการณ์ทางการได้ยิน และได้นำหลักของ DeafSpace มาใช้ ซึ่งมีตั้งแต่การออกแบบแนวทางการมองเห็น เสียง แสง และสี โดยอิงจากวิธีที่ผู้พิการทางการได้ยินใช้ และมีประสบการณ์กับพื้นที่ต่างๆ เช่น การมีแผ่นกั้นเสียง ที่ช่วยคอนโทรลเวลาการสะท้อนกลับของเสียง (reverberation times) เป็นต้น

ถ้ากลับมามองที่ประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ บริเวณถนนภายในมหาวิทยาลัยก็มีการติดตั้งสัญญาณเตือนสำหรับนักศึกษาพิการทางการได้ยินอยู่  

อย่างไรก็ตามทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างคร่าวๆ ของการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่สังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย โดยไม่แบ่งแยกผู้พิการออกจากผู้ไม่พิการ ซึ่งหากทุกสถานศึกษาสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางใจ และทางกายได้ผ่านการออกแบบ กำแพงการเรียนรู้ของผู้พิการในบทบาทนักเรียน นักศึกษา คงจะทลายลง และพวกเขาจะรู้สึกเข้าถึง และเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา หากการศึกษา ‘เอื้อ’ ให้เขาได้เรียนโดยปราศจากอุปสรรคใดๆ

อ้างอิง:

https://bigsee.eu/the-first-inclusive-school-in-tel-aviv-bikurim/

https://bit.ly/3EZanOD

https://www.dezeen.com/2023/01/11/stride-treglown-deaf-academy-school-exmouth-uk/

https://educationsnapshots.com/projects/10692/bikurim-inclusive-school/#:~:text=Twenty%2Dfive%20percent%20of%20the,the%20diversity%20of%20the%20students.

http://koreabizwire.com/3d-designer-creates-touchable-graduation-albums-for-blind-students/132789

https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2023/09/113_322191.html

https://hypeandhyper.com/feeling-free-safe-and-loved-at-school-sarit-shani-hay/

https://seas.harvard.edu/news/2023/07/improving-disabled-communitys-lives-now-and-future

https://theconversation.com/why-do-students-with-disability-go-to-special-schools-when-research-tells-us-they-do-better-in-the-mainstream-system-184652

https://thelogicalindian.com/inclusivity/over-70-of-govt-schools-made-disabled-friendly-35926

https://tu.ac.th/thammasat-150265-friendly-design-awards-2022


Writer

Avatar photo

พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts