Doc club for kids ใช้สายตาแม่เลือกสารคดีให้ลูกดู

  • “ชวนเด็กๆ มาเปิดโลกใหม่ๆ ด้วยการดูหนังสารคดี แล้วสร้างบทสนาดีๆ ไปด้วยกัน” คือมอตโต้ของ Doc club for kids คลับของภาพยนตร์สารคดีสำหรับเด็กด
  • สนทนากับ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ท่ีเลือกสารคดีทุกเรื่องด้วยสายตาแม่
  • แนะนำสำหรับบ้านที่กำลังเหน็ดเหนื่อยกับการเรียนออนไลน์ การใช้หนังจะช่วยลดความเบื่อ เครียดหรือเสียสมาธิของเด็กได้ และนำไปสู่การพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ง่ายขึ้นเพราะทุกคนกล้าบอกความรู้สึกของตัวเอง

เปิดตัวมาได้สักพักแล้วสำหรับ Doc club for kids คลับของภาพยนตร์สารคดีสำหรับเด็ก ภายใต้มอตโต้ว่า “ชวนเด็กๆ มาเปิดโลกใหม่ๆ ด้วยการดูหนังสารคดี แล้วสร้างบทสนาดีๆ ไปด้วยกัน”

mappa สนทนากับ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ก่อตั้งและเป็นคนเลือกสารคดีทุกเรื่องด้วยสายตาแม่ 

“เด็กๆ มีเวลาอยู่บ้านเยอะมากๆ โดยบางบ้านอาจจะไม่รู้จะให้เด็กทำอะไรดี หรือพ่อแม่อยากจะมีสื่ออะไรเพิ่มเติมเป็นพิเศษ ทั้งเพื่อให้ลูกได้ใช้เวลาและเพื่อเพิ่มโลกทัศน์หรือความรู้ใหม่ๆ บ้าง” 

ในฐานะบ้านที่เพิ่งทำโฮมสคูลหมาดๆ ธิดา วางหลักสูตรไว้ว่า จะพยายามให้ครอบครัวตีตั๋วดูหนังด้วยกันทุกสัปดาห์ และไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นของ Doc club for kids ทุกเรื่อง ให้สิทธิ์ลูกๆ เป็นคนเลือกเอง 

และแนะนำอย่างยิ่งสำหรับบ้านที่กำลังเหน็ดเหนื่อยกับการเรียนออนไลน์ 

“การใช้หนังเข้ามาเป็นเครื่องมือหนึ่งจึงน่าจะพอมีประโยชน์สำหรับการลดความเบื่อหรือเครียดหรือเสียสมาธิของเด็กได้ และการดูหนังยังน่าจะนำไปสู่การพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ง่ายมากขึ้นด้วย เพราะทุกคนกล้าบอกความรู้สึกของตัวเองหลังจากดูหนังอยู่แล้วโดยพื้นฐาน ยิ่งหากพ่อแม่หรือครูสามารถนำบทสนทนาไปอย่างลื่นไหลเป็นอิสระ ไม่ชี้นำหรือมีโจทย์มีคำตอบคอยตัดสิน ก็น่าจะยิ่งช่วยเสริมให้การเรียนร่วมกันทั้งแบบโฮมสคูลและออนไลน์ง่ายขึ้น” 

โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านและอย่าเพิ่งเชื่อจนกว่าจะได้ลองตีตั๋วเข้าโรง Doc club for kids ด้วยกันทั้งครอบครัว 

ที่มาที่ไปและการเกิดขึ้นของ Doc club for kids 

ความคิดเรื่องอยากชวนเด็กๆ มาดูสารคดีมีมาเรื่อยๆ ค่ะ แต่เพิ่งมาลองทำดูจริงๆ ก็ในช่วงล็อกดาวน์ครั้งที่ 2 เพราะเห็นว่าเด็กๆ มีเวลาอยู่บ้านเยอะมากๆ โดยบางบ้านอาจจะไม่รู้ว่าจะให้เด็กทำอะไรดี หรือพ่อแม่อยากจะมีสื่ออะไรเพิ่มเติมเป็นพิเศษ ทั้งเพื่อให้ลูกได้ใช้เวลาและเพื่อเพิ่มโลกทัศน์หรือความรู้ใหม่ๆ บ้าง

ตอนแรกเราใช้วิธีแปะลิงค์ดูฟรีเฉยๆ แต่ต่อมาเพิ่มเติมเนื้อหาเข้าไปอีกนิดหน่อยในเว็บไซต์ด้วย เพราะได้แรงบันดาลใจจากหนังสารคดีบางเรื่องในต่างประเทศซึ่งนำเสนอหนังของตนให้เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนของครูหรือผู้ปกครอง บางเรื่องมีการทำคู่มือให้ครูใช้ร่วมกับการดูหนังอย่างละเอียดมากๆ ก็เลยอยากลองทำบ้าง ด้วยการสรุปประเด็นสำคัญของสารคดีที่ด็อกคลับมีอยู่ (โดยเฉพาะเรื่องที่สามารถชมฟรีได้เลยบนแพลตฟอร์ม VIPA ของทาง ThaiPBS ซึ่งซื้อสิทธิหนังของเราไว้) ออกมาเรื่องละ 3-5 ประเด็น ตามด้วยคำถามประมาณ 6-10 ข้อที่พ่อแม่หรือครูสามารถชวนลูกๆ พูดคุยได้ หรือผู้ชมทั่วไปก็สามารถใช้ประเด็นเริ่มต้นสร้างบทสนทนาแลกเปลี่ยนกันได้หลังชมค่ะ

ในชั่วโมงโฮมสคูลของที่บ้าน มีการดูหนังหรือสารคดีไหม 

จริงๆ พยายามจะให้มีทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะการดูหนังของด็อกคลับเอง สักสัปดาห์ละเรื่อง แต่ยังไม่ค่อยสำเร็จค่ะ (หัวเราะ) แต่ลูกๆ ก็มีการดูหนังอื่นๆ อยู่บ้างสัปดาห์ละ 1-2 หน เช่น หนังในเน็ตฟลิกซ์ ซีรีส์ หรือในดิสนีย์พลัส ส่วนใหญ่จะเป็นแอนิเมชั่นกับหนังซูเปอร์ฮีโร่ เพราะเขาเลือกเอง

คิดว่าการเรียนรู้ผ่านหนังหรือสารคดี ผลที่ได้แตกต่างจากการเรียนแบบสอนตรงหรือเปิดหนังสือสอนอย่างไรบ้าง 

คิดว่าเด็กๆ สมัยนี้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียกันค่อนข้างมาก คุ้นเคยกับสื่อวิดีโอ กับภาพและเสียง แถมยังคุ้นเคยกับการสนทนาสองทาง ฝึกฝนการอ่านความเห็นคนอื่นและการแสดงความเห็นของตัวเอง และเข้าถึงประเด็นทางสังคมได้หลากหลายและไวด้วย การเรียนจากตำราเป็นหลัก หรือการเรียนประเภทที่ผู้สอนเป็นฝ่ายนำเสนอคนเดียว ผู้เรียนเป็นฝ่ายรับ ฯลฯ น่าจะไม่สอดคล้องกับการรับรู้ของเด็กมากนัก 

สำหรับการเรียนรู้ผ่านหนัง โดยเฉพาะหนังสารคดี ความที่ทุกวันนี้กระบวนการผลิตสารคดีมีความง่ายคล่องตัวขึ้น ทำให้มีจำนวนหนังให้เลือกมากมาย ประเด็นที่ถูกนำเสนอในหนังก็มีความอัปเดตทันต่อเหตุการณ์ และที่สำคัญคือหนังหลายเรื่องนำเสนอความเปลี่ยนแปลงหลายๆ แง่ของสังคมที่ห่างไกลจากเรา ทั้งหมดนี้ทำให้หนังสารคดีสามารถเป็นสื่อการเรียนรู้และเปิดโลกทัศน์ของเด็กได้กว้างและไวกว่าหนังสือเรียนทั่วไปมาก 

นอกจากนั้นหลายๆ เรื่องยังมีตัวบุคคลในหนังที่น่าติดตาม น่าสนใจ เป็นช่องทางให้เด็กได้รับรู้โลกผ่านสายตามนุษย์ด้วยกัน ซึ่งเป็นชีวิตชีวาแบบที่อาจจะไม่ปรากฏเท่าไหร่ในตำราเรียน เราเลยคิดว่าหนังสารคดีเป็นสื่อเสริมในการเรียนรู้ที่มีความสำคัญ ยิ่งถ้าเราสามารถสร้างบทสนทนาแลกเปลี่ยนกับเด็กหลังจากดูจบได้ ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์มากๆ ค่ะ

อยากให้ลองยกตัวอย่างชั่วโมงการดูหนังและบทสนทนาหลังจากนั้น 

ตอนดู The Hunger Games ค่ะ พอดีเรื่องนี้มีหลายภาคและแม่ก็ยังไม่เคยดู เลยได้นั่งดูด้วยกัน 3-4 วันกว่าจะครบทุกภาค หลังจากนั้นก็ได้คุยกันถึงประเด็นต่างๆ ในหนัง เช่น เราคิดว่าการกระทำของตัวละครบางตัวไม่สมเหตุผลเลย เพราะอะไร หรือลูกเชียร์ตัวละครตัวไหน ลูกสาวเชียร์ตัวนักรบบางคน ลูกชายเชียร์อีกคน เพราะอะไร พระเอกมีสองคน ลูกชอบคนไหน แม่ชอบคนไหน ทำไมฉากนี้นางเอกถึงตัดสินใจแบบนี้ เราว่าเข้าท่าหรือไม่เข้าท่า ถ้าเป็นเราเราจะทำแบบนี้ๆ

นอกจากนั้นก็ยังคุยถึงประเด็นในการทำหนังเรื่องนี้เองด้วย เพราะเรารู้สึกว่าหลังจากดูภาคแรกไปแล้ว เราคาดหวังว่าหนังจะเป็นแนวทางหนึ่ง เนื่องจากเรายังไม่ได้อ่านตัวนิยายต้นฉบับเลยยังไม่รู้ว่าจริงๆ ทั้งหมดมันเล่าอะไรกันแน่ แต่พอดูถึงภาคสามกลับพบว่าหนังเปลี่ยนไปเป็นอีกประเด็นหนึ่ง แล้วเรารู้สึกว่าน่าผิดหวังไหม เพราะอะไร ตรงนี้แม่จะคิดอย่างหนึ่ง ลูกคิดอีกอย่างหนึ่ง พอดูจบทั้งหมดเรารู้สึกว่าหนังมันล้มเหลวในการนำเสนอเพราะมันมีความไม่สอดคล้องกันตรงนี้ๆๆ ส่วนลูกก็จะบอกว่าจริงๆ แล้วเขาชอบที่มันเป็นอย่างนี้มากกว่า ไม่ชอบแบบที่แม่ชอบ แต่ก็เห็นพ้องกันว่าหนังควรจะทำได้ดีกว่านี้ ฯลฯ 

เลือกสารคดีแต่ละเรื่องของ Doc Club for Kids อย่างไร ใช้บทบาทไหนในการเลือก 

เราก็จะพยายามมองจากตัวเองในฐานะแม่นี่ล่ะค่ะว่า ถ้าเป็นหนังเรื่องนี้ๆ เราคิดว่ามันน่าจะเหมาะกับการเผยแพร่ให้เด็กอื่นๆ ดูไหม หรือควรจะนำเสนอว่าหนังเหมาะกับการพูดคุยประเด็นอะไร ตอนแรกมีลังเลนิดหน่อยว่าบางเรื่องมันดู ‘โต’ ไปมั้ย

เช่น The Hunting Ground ที่พูดถึงการล่วงละเมิดทางเพศในมหาวิทยาลัย แต่พอดูจากสถานการณ์ในสังคมไทยที่เป็นอยู่ เราก็พบว่าปัญหานี้ยังคงมีอยู่และยังไม่ถูกแก้ไข ในที่สุดเราปฏิเสธไม่ได้ว่าลูกๆ เราก็โตมาในสังคมที่ยังมีปัญหาเหล่านี้เช่นกัน การชวนให้เด็กได้ดูหนังที่นำเสนอเรื่องเหล่านี้ในเชิงสร้างสรรค์ และการต่อยอดเป็นบทสนทนาที่สร้างสรรค์ก็น่าจะเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะในสังคมที่เรายังปิดกั้นการสนทนาหลายเรื่องอยู่

สำหรับภาพรวมๆ ของหนังในโครงการก็จะพยายามให้มีความหลากหลายค่ะ มีทั้งหนังที่พูดเรื่องสังคม เรื่องศิลปะ ประเด็นผู้หญิง ประเด็น LGBT เรื่องครอบครัว เรื่องธรรมชาติ เรื่องการศึกษา ฯลฯ เผื่อจะมีเรื่องไหนที่บ้านไหนหรือชั้นเรียนไหนหยิบไปใช้งานในแต่ละโอกาสได้บ้างค่ะ

ชั่วโมงดูหนัง/สารคดี เหมาะกับโฮมสคูล หรือ การเรียนออนไลน์อย่างไร 

ตามความเห็นส่วนตัวพี่นะคะ พี่คิดว่าโฮมสคูลหรือการเรียนออนไลน์ต้องการปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่หรือครูกับเด็กค่อนข้างมากกว่าการเรียนตามปกติ เพราะโอกาสที่เด็กจะเสียสมาธิ เบื่อ ตามไม่ทัน ฯลฯ มีสูงกว่า การใช้หนังเข้ามาเป็นเครื่องมือหนึ่งจึงน่าจะพอมีประโยชน์สำหรับการลดความเบื่อหรือเครียดหรือเสียสมาธิของเด็กได้ และการดูหนังยังน่าจะนำไปสู่การพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ง่ายมากขึ้นด้วย เพราะคนทุกคนกล้าบอกความรู้สึกของตัวเองหลังจากดูหนังอยู่แล้วโดยพื้นฐาน ยิ่งหากพ่อแม่หรือครูสามารถนำบทสนทนาไปอย่างลื่นไหลเป็นอิสระ ไม่ชี้นำหรือมีโจทย์มีคำตอบคอยตัดสิน ก็น่าจะยิ่งช่วยเสริมให้การเรียนร่วมกันทั้งแบบโฮมสคูลและออนไลน์ง่ายขึ้น

 

3 เรื่องชวนครอบครัวล้อมวงดูด้วยกัน พร้อมบทสนทนา “ดูจบแล้วคุยอะไรกันดี” 

1.Ailo’s Journey : The amazing odyssey of a newborn reindeer 

สำหรับเด็กเล็กหน่อย อยากชวนดู Ailo’s Journey ค่ะ เป็นสารคดีสัตว์โลกที่สวยงามตื่นตามากๆ และที่มหัศจรรย์มากคือคนทำตามถ่ายสัตว์หลายตัว หลายชนิด ในดินแดนหิมะแลปแลนด์ที่ค่อนข้างจะไม่เป็นที่คุ้นเคยสำหรับเรา จึงมีภาพวิถีชีวิตสัตว์บางตัวที่ประหลาดและฮามากๆ ในแง่ความบันเทิงจึงคิดว่าน่าจะทำงานกับเด็กได้ ขณะเดียวกันหนังยังพูดประเด็นที่ร่วมสมัย มีประเด็นปัญหาโลกร้อน การตัดไม้ การเอาตัวรอดท่ามกลางธรรมชาติที่โหดร้าย คิดว่าเรื่องเหล่านี้สามารถชวนลูกคุยได้ดี

ดูจบแล้วคุยอะไรกันดี

  • หนังเรื่องนี้มีชื่อว่า “การเดินทางของกวางเรนเดียร์ชื่อไอโล” เราได้เห็นการเดินทางตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องของเจ้ากวางตัวนี้อย่างไรบ้าง มีเหตุการณ์ไหนที่ประทับใจ ตื่นเต้น กลัว ชอบและไม่ชอบเป็นพิเศษ
  • นอกจากไอโล เรายังได้เห็นการเดินทางของใครหรืออะไรอีก
  • เหล่าสัตว์ป่าในอาร์กติกได้รับผลกระทบอะไรบ้างจากปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
  • คิดว่าเสียงบรรยายของหนังช่วยสร้างความรู้สึกเพิ่มเติมให้แก่ภาพอย่างไร ทำให้เรื่องดูสนุกน่าสนใจขึ้นไหม เสียงของเขาทำให้สัตว์ต่างๆ ดูมีบุคลิกนิสัยใจคอที่เราเข้าใจได้ง่ายขึ้นอย่างไร
  • ไอโลเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นนิสัยมุมานะเพียรพยายามอย่างไร เด็กๆ คิดว่านิสัยนี้มีความสำคัญอย่างไร
  • เด็กๆ อยากให้มีหนังที่ไปติดตามการเดินทางของสัตว์อะไรในโลกนี้อีกบ้าง เพราะอะไร

2.Gayby Baby ครอบครัวของฉัน

ซึ่งเล่าเรื่องผ่านสายตาของเด็กๆ ใกล้วัยรุ่น ที่โตมาในครอบครัวซึ่งมีผู้ปกครองเป็น LGBT และตัวเด็กเองเผชิญปัญหาและความสับสนทั้งจากสถานะของพ่อแม่และจากชีวิตส่วนตัว เรื่องพ่อแม่เพศเดียวกันยังถือเป็นเรื่องใหม่ในหลายๆ สังคมจึงเป็นเรื่องที่น่าชวนคุยเพื่อเตรียมทัศนคติของลูกให้พร้อมและเท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลง

ดูจบแล้วคุยอะไรกันดี 

  • หลังจากได้ดูเรื่องราวของครอบครัวต่างๆ ในหนังแล้ว มีเรื่องอะไรหรือฉากไหนบ้างที่ทำให้รู้สึกแปลกใจ สงสัย หรือสนใจเป็นพิเศษ
  • เด็กๆ ในหนังทุกคนเจอปัญหาสำคัญของตัวเอง (เช่น แกรห์มมีปัญหากับการอ่านหนังสือไม่คล่อง และเมื่อย้ายไปฟิจิก็ยังต้องพยายามช่วยพ่อปิดบังเรื่องครอบครัวไม่ให้เพื่อนรู้, อีโบนี่มีความทุกข์เพราะอยากร้องเพลง แต่ก็ไม่เก่งพอ แถมยังต้องช่วยแม่ดูแลน้องที่ป่วย, กัสอยากดูมวยปล้ำ แต่แม่ไม่อนุญาตเพราะคิดว่ามันจะสอนให้เขาเข้าใจความเป็นผู้ชายแบบผิดๆ, แม็ตต์เครียดกับคำสอนของบาทหลวงที่เขาเคารพ ซึ่งชอบบอกว่าแม่ของเขาทำบาป) คุณคิดว่าแต่ละคนรับมือกับปัญหาของตัวเองอย่างไร และผ่านมันมาได้เพราะอะไรบ้าง
  • คุณเคยมีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับเพื่อนใหม่หรือโรงเรียนใหม่แบบที่อีโบนี่เจอไหม แล้วทำอย่างไร
  • คุณคิดว่าเด็กผู้ชาย-เด็กผู้หญิงต้องเป็นอย่างไร ต้องทำตัวแบบไหนถึงจะ “สมกับเป็นผู้ชาย” หรือ “สมกับเป็นผู้หญิง” ทำไมถึงคิดแบบนั้น ใครทำให้คุณเชื่อแบบนั้น
  • มีอะไรบ้างที่คุณเคยคิดว่าผู้หญิงทำไม่ได้ หรือผู้ชายทำไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วทำได้
  • ถ้าคุณเจอคนที่เชื่อไม่เหมือนคุณเลย (แบบเดียวกับที่กัสเจอบาทหลวง) คุณจะหาวิธีพูดคุยสื่อสารกับเขายังไงให้เขายอมรับสิ่งที่คุณเป็น และคุณอยากให้เขาทำอย่างไรเพื่อให้คุณยอมรับสิ่งที่เขาเป็นด้วยเหมือนกัน
  • ในชีวิตจริง คุณเคยเจอครอบครัวไหนบ้างที่ไม่ได้เป็นเหมือน “นิยามครอบครัวปกติ” แบบที่คุ้นเคย (เช่น ไม่ได้มีพ่อแม่เป็นชายหญิง ไม่ได้มีพ่อแม่ครบ ฯลฯ) แล้วคุณคิดว่าพวกเขาเป็นอย่างไรบ้าง

3.Where to Invade Next บุกให้แหลก แหกตาดูโลก

เป็นเรื่องที่คิดว่าสามารถชวนเด็กคุยได้ทุกวัยเลยค่ะ ซึ่งพูดถึงรัฐสวัสดิการในหลายๆ ประเทศของยุโรป ประเด็นนี้กำลังมาแรงในประเทศเรา และหนังก็นำเสนอหลากหลายเรื่องภายใต้ธงนี้ เช่น เรื่องการศึกษา สุขภาพ ผู้ต้องขัง เพศ ยาเสพติด โทษประหารชีวิต ฯลฯ ทุกเรื่องชวนให้เราคิดทั้งสิ้นว่า สังคมที่ดีที่เราอยากให้เป็นควรเป็นอย่างไร เราจะเป็นอย่างประเทศที่เราได้เห็นในหนังได้ไหม ลูกอยากโตมาในสังคมแบบไหน ลูกคิดกับแต่ละประเด็นอย่างไร น่าจะเป็นหนังที่ชวนคุยและบันดาลใจได้ดีมากๆ ค่ะ

ดูจบแล้วคุยอะไรกันดี 

  • หลังจากดูจบแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง รู้สึกหมดหวังในประเทศตัวเอง หรือมองเห็นโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศของเราได้
  • ก่อนหน้านี้ไมเคิล มัวร์ทำหนังวิพากษ์วิจารณ์ประเทศของเขาเอง (สหรัฐอเมริกา) มาตลอด แล้วคิดว่าทำไมเรื่องนี้เขาจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีพูดถึงประเทศอื่น แทนที่จะวิจารณ์ความย่ำแย่ของประเด็นเดียวกันในนี้ประเทศของเขา คิดว่าวิธีการแบบนี้ดีไหม
  • ลองเลือกสักหนึ่งประเทศในหนังที่ชอบที่สุดหรือสนใจที่สุด แล้วคุยกันว่าทำไมเรื่องนั้นๆ ถึงทำได้ดีในประเทศนั้น มันน่าจะเกิดจากเหตุผลอะไรบ้าง และประเด็นเดียวกันนี้เป็นอย่างไรในประเทศของเรา
  • พูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในเยอรมนี คิดว่าการที่นักเรียนต้องเรียนเรื่องดำมืดในอดีตแบบนี้มีความสำคัญไหม หรือเราควรจะลืมอดีตที่ไม่น่าจำแล้วมุ่งเดินหน้าไปสู่อนาคตดีกว่า
  • หนังนำเสนอเรื่องของผู้นำที่เป็นผู้หญิง ด้วยความเชื่อว่าหากผู้หญิงอยู่ในอำนาจมากกว่าผู้ชายแล้วล่ะก็ โลกนี้จะมีสงครามน้อยลง คุณคิดว่าอย่างไร มันน่าจะเป็นอย่างนั้นจริงไหม
  • นอร์เวย์ไม่มีโทษประหารชีวิต แม้แต่ฆาตกรที่ก่ออาชญากรรมเลวร้ายก็รับโทษสูงสุดแค่ติดคุก คุณคิดอย่างไรกับเรื่องนี้
  • ประเทศของเรามีการเรียนเรื่องเพศศึกษาเป็นอย่างไรบ้าง ทำไมในฝรั่งเศสถึงกล้าสอนแม้แต่เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ คุณคิดว่าควรมีแบบนี้ในประเทศเราบ้างไหม มันจะเป็นเรื่องดีหรือแย่กันแน่
  • หลังจากดูหนังแล้ว คุณคิดว่าอะไรคือ “สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” ที่เราทุกคนในสังคมควรได้รับจากรัฐ? การดูแลสุขภาพและการศึกษาควรเป็นสิ่งที่ทุกคนได้เข้าถึงเท่าๆ กันจริงไหม / คุณคิดว่าคนทำงานควรจะได้หยุดปีละกี่วัน / ยุติธรรมไหมที่นายจ้างต้องจ่ายเงินแม้แต่ในวันที่ลูกน้องลาหยุด เพราะอะไร และอะไรอีกบ้างที่คุณอยากได้รับในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง?

อ้างอิง : https://documentaryclubthailand.com/doc-club-for-kids/


Writer

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Related Posts