- สวัสดิการการศึกษาที่ดีต้องไม่ใช่แค่ฟรี แต่ต้องมีคุณภาพ
- เพราะหัวใจของรัฐสวัสดิการคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน สวัสดิการการศึกษาจึงเป็นเรื่องที่ไม่ใช่แค่โรงเรียนและมหาวิทยาลัย แต่ยังรวมถึงชีวิตพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู ที่มีผลต่อการศึกษาของเด็กด้วย
- พูดคุยกับ ‘กระติ๊บ’ วริษา สุขกำเนิด และ ‘ฟรองซ์’ ณปกรณ์ ภูธรรมะ คนรุ่นใหม่จากศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ และ ‘อาจารย์ฮูก’ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ถึงคำถามว่า สวัสดิการการศึกษาที่คนรุ่นใหม่ต้องการคืออะไร และเพราะอะไรการศึกษาไทยจึงไปไม่ถึงรัฐสวัสดิการ ทั้งยังติดกับดักการแข่งขันสูงจนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถ่างกว้างอย่างไม่สิ้นสุด
“เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน” คุณเชื่อประโยคนี้แค่ไหน
สำหรับคนรุ่นใหม่ประโยคข้างต้นอาจไม่เป็นจริง ด้วยภาพการศึกษาไทยในปัจจุบันที่ไม่ว่าจะหันไปทางไหนเด็กต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เหนื่อย…ยิ่งโตยิ่งเหนื่อย ยิ่งเรียนยิ่งเครียด ไม่มีความสุขกับการเรียน เพราะการติดอยู่กับการแข่งขันในระบบการศึกษามานานเกือบ 20 ปี ที่ตั้งแต่เล็กจนโตเด็กไทยเกือบทุกคนต้องผ่านการเรียนกวดวิชามาก่อน พ่อแม่ต้องทุ่มเงินส่งลูกให้สามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้เพื่อเข้าโรงเรียนระดับจังหวัด หรือประเทศ เด็กต่างจังหวัดหลายคนที่ต้องโยกย้ายเข้าเมืองเพื่อรับการศึกษาที่ดีกว่าโรงเรียนใกล้บ้าน จนถึงระดับมหาวิทยาลัยก็หนีไม่พ้นการดิ้นรนสอบเข้าสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ หากเข้าไม่ได้ก็อาจมีผลต่อชีวิตการงาน และโอกาสในอนาคตอาจไม่เปิดกว้างอย่างบัณฑิตที่จบจากสถานศึกษาระดับแถวหน้า
แนวคิดข้างต้นดูเหมือนจะแทรกซึมและกลายเป็นขั้นบันไดในชีวิตของเด็ก โดยพ่อแม่เองก็ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้การศึกษาเกิดภาวะการแข่งขันสูงไปด้วย สิ่งเหล่านี้กำลังสะท้อนถึงภาพของการขาดรัฐสวัสดิการด้านการศึกษาที่ดีของไทย
“สำหรับเราคิดว่าทั้งรัฐและกลุ่มทุนเป็นชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจควบคู่กัน รัฐสนับสนุนกลุ่มทุนและกลุ่มทุนก็สนับสนุนรัฐ ส่วนคนที่ทำให้รัฐและทุนเติบโตคือประชาชนที่เสียภาษีขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นรัฐสวัสดิการจึงไม่ใช่เพียงการเรียกร้องสวัสดิการจากรัฐ แต่มันคือการที่ประชาชนต้องรวมตัวกันแข็งแรงพอที่จะขับเคลื่อนการเมืองในประเทศ เพื่อเอาทรัพยากรพื้นฐานที่ควรได้มาเป็นสวัสดิการของประชาชน”
“ในมุมมองผม รัฐสวัสดิการคือการให้สิทธิขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน ภายใต้จิตสำนึกว่าทุกคนควรได้สวัสดิการเท่าเทียมกันไม่ว่ารวยหรือจน แต่พลเมืองทุกคนควรได้เท่ากัน และสวัสดิการที่ให้นั้นไม่ใช่แค่เพื่อให้อยู่รอดในชีวิตประจำวัน แต่เพื่อจะได้ทำตามความฝันของแต่ละคนด้วย”
ข้างต้นคือความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อรัฐสวัสดิการอย่าง ‘ฟรองซ์’ ณปกรณ์ ภูธรรมะ และ ‘กระติ๊บ’ วริษา สุขกำเนิด จากศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ ทั้งคู่กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนจะเกิดสวัสดิการด้านการศึกษา ประเทศจะต้องเป็นรัฐสวัสดิการเสียก่อน เช่นเดียวกัน การจะเป็นรัฐสวัสดิการได้ ประเทศต้องเป็น ‘ประชาธิปไตย’ เสียก่อน เนื่องด้วยรัฐสวัสดิการมีฐานคิดจากการมองมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน
นอกจากสองคนรุ่นใหม่แล้ว mappa สนทนาเพิ่มเติมกับ ‘อาจารย์ฮูก’ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงความเกี่ยวเนื่องระหว่างรัฐสวัสดิการกับการศึกษา และอุปสรรคที่ทำให้ไทยยังติดกับดักการแข่งขันสูงจนเกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
แข่งขันและจัดอันดับ รัฐที่มองการศึกษาเป็นเพียงธุรกิจ
ก่อนเชื่อมโยงรัฐสวัสดิการกับการศึกษา อาจารย์อรรถพลได้อธิบายฐานการมองการศึกษาไว้ว่า “การจัดการศึกษา คือประโยชน์สาธารณะที่รัฐต้องจัดให้เป็นสวัสดิการ ไม่ว่ารัฐนั้นจะเชื่อมั่นในรูปแบบการบริหารจัดการทางการเมืองหรือเศรษฐกิจด้วยอุดมการณ์แบบใด การศึกษาต้องเป็นสิ่งที่พลเมืองของประเทศนั้นควรได้รับ แต่รัฐที่เป็นประชาธิปไตยที่อยู่บนฐานคิดเศรษฐกิจแบบทุนนิยมจะจัดการศึกษาบนฐานของการเลือกปฏิบัติ โดยให้โรงเรียนเป็น School Market หรือ ตลาดการแข่งขันโรงเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาตลอดหลายสิบปี ขณะที่แนวคิดรัฐสวัสดิการคือแนวคิดของสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ไปถึงขั้นการจัดให้เปล่า และทำให้เกิดความใกล้เคียงกันของการศึกษา”
กล่าวคือ ฐานการมองการศึกษาในแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย จะมองการศึกษาเป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะที่ประชาชนทุกคนคือผู้ได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน จึงจัดการศึกษาในรูปแบบของรัฐสวัสดิการ ส่วนเสรีนิยมประชาธิปไตยที่มีฐานคิดทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม จะมองการศึกษาเป็นเรื่องของธุรกิจที่โรงเรียนต้องแข่งขันกันหาลูกค้า มีการจัดอันดับคุณภาพของสถานศึกษา หรือแม้กระทั่งจัดอันดับให้กับตัวผู้เรียน เป็นต้น
เมื่อทั้งสองฐานคิดแตกต่างกัน แล้วสำหรับรัฐไทยกำลังมองการศึกษาด้วยสายตาแบบใด
“ผมเรียนมหา’ลัยเปิด ก็มีปัญหาการจัดอันดับ ผมมองว่า เรื่องการจัดอันดับเป็นเรื่องทางธุรกิจมาก มันสร้างความเหลื่อมล้ำที่ทำให้เราต้องแข่งขันกันเพื่อไปให้ถึงจุดสูงสุด ผมอยากเห็นโรงเรียนที่ไม่ต้องคำนึงเรื่องอันดับ เป็นโรงเรียนที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่อย่างนั้นพ่อแม่ก็ต้องเสียทรัพยากรทุ่มไปกับการศึกษา เช่น ส่งลูกเข้าโรงเรียนอินเตอร์”
คำตอบของฟรองซ์อาจเป็นคำตอบที่ชี้ให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่า รัฐไทยอาจไม่ได้กำลังปฏิบัติกับการศึกษาในแง่ของประโยชน์สาธารณะ แต่กลับมองในแง่กลไกการแข่งขันของตลาด เป็นเรื่องของตัวใครตัวมันหรือบ้านใครบ้านมัน ซึ่งในมุมนี้อาจารย์อรรถพลมองว่า เป็นเรื่องที่น่ากังวลและเป็นปัญหา
“พอเราไม่ได้มองการศึกษาเป็นประโยชน์สาธารณะ แต่เรามองเป็นเครื่องมือในการเลื่อนชั้นทางสังคมของครอบครัวใครครอบครัวมัน ก็เลยกลายเป็นปัญหา พ่อแม่ต้องซัพพอร์ตลูกให้ถึงที่สุดเพื่อให้ลูกแข่งขันกับคนอื่นได้ ทำให้เด็กถูกฝึกให้เห็นตัวเองอยู่ใน positioning ของการแข่งขันตลอดเวลา เราปล่อยให้การศึกษาเป็นเรื่องของบ้านใครบ้านมันมานาน ทำให้เด็กจำนวนไม่น้อยเข้าไม่ถึงโรงเรียนที่มีคุณภาพ และการเข้าไม่ถึงเช่นนี้เองก็เกิดจากการที่รัฐเลือกปฏิบัติกับแต่ละโรงเรียนไม่เท่ากัน”
การเลือกปฏิบัติของรัฐต่อโรงเรียน อาจารย์อรรถพลยกตัวอย่างเช่น แนวคิดเรื่องการจัดการศึกษาอย่างเสมอภาคที่รัฐมองว่าต้องจัดทุกอย่างเหมือนๆ กัน เช่น การให้เงินรายหัวเท่ากัน ซึ่งเป็นโจทย์ที่รัฐตั้งผิด เพราะการศึกษาถือเป็นการชดเชยโอกาสให้คนเสมอภาคกัน โดยต้องคำนึงถึงความเท่าเทียมของแต่ละโรงเรียน โรงเรียนขนาดเล็กที่มีทรัพยากรน้อย รัฐต้องช่วยให้มาก มิใช่การให้เงินสนับสนุนเท่ากันหมดทุกโรงเรียน ทำให้โรงเรียนที่มีความพร้อมสูงอยู่แล้วยิ่งได้รับการพัฒนาจนทิ้งห่างโรงเรียนที่มีความพร้อมต่ำกว่า
“มายาคติที่ว่า เด็กจนก็ต้องไปอยู่โรงเรียนนี้ หรือรัฐลงทุนมากกับโรงเรียนที่มีคุณภาพอยู่แล้ว มันคือสัญญาณที่บ่งบอกว่ารัฐเลือกปฏิบัติกับคนบนความเข้าใจที่ผิดว่า ปล่อยให้โรงเรียนแข่งขันกันสิ โรงเรียนจะได้พัฒนา หรือเอาคะแนนโอเน็ตเทียบกันเพื่อประเมินโรงเรียน ซึ่งเป็นลอจิคการคิดที่ผิด นี่คือการบั่นทอนโรงเรียน ทำให้ปัญหาไม่ถูกแก้และผลิตซ้ำ
“แนวคิดการแข่งขันเต็มรูปแบบเลยเป็นปัญหา ผลข้างเคียงคือคนไม่เชื่อมั่นในโรงเรียนใกล้บ้าน และนโยบายรัฐก็ส่งสัญญาณนั้นมาเสียเอง เช่น ยิ่งโรงเรียนมีเด็กน้อยลง รัฐก็ส่งครูมาประจำการน้อยลง พอมีครูไม่ครบชั้น พ่อแม่ก็จะคิดแล้วว่า จะไหวเหรอเนี่ยโรงเรียนใกล้บ้านเรา มีครูแค่ 2 คนเอง ตั้งแต่อนุบาลถึง ป.6 จะดูแลกันอย่างไร มันก็มีผลถึงความไม่เชื่อมั่นในคุณภาพด้วย ซึ่งถ้ารัฐไม่แก้โจทย์ผ่านนโยบายก็จะยิ่งแย่” อาจารย์อรรถพลกล่าว
สวัสดิการโดยรัฐควรเข้มแข็ง การศึกษาจึงจะมีคุณภาพ
เมื่อพูดถึงการศึกษา ประเทศต้นแบบที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเสมอคงหนีไม่พ้นประเทศทางยุโรปหรือประเทศแถบสแกนดิเนเวีย เช่น เยอรมนี ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน ที่ล้วนเป็นรัฐสวัสดิการ ทำให้คนรุ่นใหม่ต่างคาดหวังให้การศึกษาไทยเป็นไปในรูปแบบนั้นเช่นกัน
แต่สำหรับกระติ๊บและฟรองซ์ ทั้งคู่มองว่า “พอเราพูดถึงเรื่องสังคมรัฐสวัสดิการ ก็ต้องมีสังคมประชาธิปไตยก่อน อย่างที่สแกนดิเนเวียเกิดรัฐสวัสดิการได้ เพราะเขามีประชาธิปไตยและมองคนในฐานะมนุษย์เท่ากัน มีสำนึกว่าทุกคนควรจะได้สิ่งนี้ร่วมกัน แต่ถ้าดึงโมเดลแบบนอร์ดิกมาใช้เลย ก็คงไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการและไม่ได้ออกแบบร่วมกัน”
เป็นไปในทิศทางเดียวกับอาจารย์อรรถพลที่เห็นว่า การคาดหวังให้การศึกษาไทยเป็นไปในรูปแบบนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่การคิดเลียนแบบการศึกษาของประเทศต่างๆ โดยไม่มองบริบทรอบข้างอาจทำให้เกิดปัญหาได้
“ในมุมนี้ต้องมองรัฐสวัสดิการกับการศึกษาควบคู่กันคือ สังคมไทยซื้อคอนเซ็ปต์รัฐสวัสดิการหรือไม่ ถ้าซื้อก็ต้องยอมรับว่าจะไม่เกิดแบบฉับพลันใน 5-10 ปี ถ้างั้นเริ่มจากการทำให้สวัสดิการรัฐแข็งแรงก่อนได้ไหมใน 20 ปีนี้ ถ้าไม่ได้ก็ต้องคิดต่อไปว่า แล้วจะทำให้เป็นรัฐสวัสดิการได้ยังไง ต้องค่อยเป็นค่อยไป แต่สิ่งแรกเลยคือเริ่มจากการสร้างสังคมประชาธิปไตยให้แข็งแรง เพื่อจะไปถึงรัฐสวัสดิการได้ ซึ่งเรามีจินตนาการถึงรัฐสวัสดิการอยู่แล้ว แต่เรายังไม่เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของประชาธิปไตยที่กำลังล้มเหลวในไทยตอนนี้ เราต้องทำให้ประชาธิปไตยแข็งแรงก่อน แล้วจึงเดินจากสังคมเสรีนิยมประชาธิปไตยเป็นสังคมประชาธิปไตย ไปสู่รัฐสวัสดิการได้
“เราไม่จำเป็นต้องก็อปปี้แบบใครเลย เป็นเรื่องน่ากังวลมากด้วยซ้ำในการก็อปปี้แบบ เพราะการก็อปปี้โดยที่ไม่มีจิตวิญญาณย่อมไม่เกิดประโยชน์อะไร ต่อให้แปรหลักสูตรฟินแลนด์หรือญี่ปุ่นมาใช้ แต่ไม่ได้อยู่ในฐานคิดแบบเดียวกันก็จะไม่เกิดประโยชน์ เราต้องไม่คิดเรื่องการก็อปปี้แบบ แต่ต้องดูบริบทว่าสังคมหนึ่งๆ ออกแบบการศึกษามาอย่างไร ด้วยโจทย์อะไร
“ต่อให้ไปไม่ถึงคอนเซ็ปต์รัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ การศึกษาก็ควรถูกทบทวนว่าเป็นสวัสดิการของรัฐที่รัฐจัดคุณภาพให้ได้ดีแค่ไหน ดีที่สุดคือการไปถึงการเป็นรัฐสวัสดิการที่ครอบคลุมทุกอย่าง แล้วการศึกษาแบบให้เปล่าก็จะเป็นปลายเปิดไปตลอดชีวิตที่เด็กได้ใช้ชีวิต และเป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง”
ประเทศญี่ปุ่น คือตัวอย่างที่อาจารย์อรรถพลยกขึ้นมาว่า ญี่ปุ่นไม่ใช่รัฐสวัสดิการ แต่เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย มีฐานคิดเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แม้จะมีการแข่งขันทางการศึกษาสูง แต่หากมีสวัสดิการการศึกษาที่เข้มแข็งโดยรัฐมอบให้ ก็สามารถลดปัญหาข้างต้นลงได้
“ญี่ปุ่นก็ไม่ใช่มีระบบการศึกษาที่ดีเสียจนไม่มีอะไรให้ติ สมัย 40 ปีที่แล้วก็แข่งขันกันสูง เด็กเครียด จนเกิดคำว่า ‘Kyōiku mama’ ในช่วง 1980 ที่แม่ออกมาเคี่ยวเข็ญลูกให้แข่งกันเรียน จนปี 1990 มีการปฏิรูปการศึกษา โดยเป้าคือลดความเครียดจากการศึกษา เพราะคาดการณ์แล้วว่าจะเป็นสังคมสูงอายุ จำนวนเด็กจะลดลง เพราะฉะนั้นไม่ต้องให้เด็กแข่งกันมาก เขาก็โปรโมทเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล จนมีการ์ตูน ‘ซึบาสะ’ เข้ามาผลักดันให้เด็กเตะบอล หรือการ์ตูนอาชีพต่างๆ ที่ส่งเสริมมุมมองว่าทุกงานมีคุณค่า มีความหมาย ทำให้เด็กที่โตมากับการศึกษาหลังปี 2000 ได้รับการศึกษาอีกแบบหนึ่ง และสถิติการฆ่าตัวตายก็ลดลง
“ญี่ปุ่นไม่ใช่รัฐสวัสดิการ แต่เป็นทุนนิยมเสรี เพียงแต่มีสวัสดิการโดยรัฐที่เข้มแข็ง เพราะญี่ปุ่นมีพื้นฐานชุมชนที่จัดการตัวเองมาก่อน มีการกระจายอำนาจที่ดี ทำให้เขาสามารถไปต่อได้ แม้จะอยู่ชนบทห่างไกลก็ยังมีอำนาจตัดสินใจดูแลตัวเอง เพราะเขารักษารากฐานชนบทเอาไว้ โดยเฉพาะภาคการเกษตร ไม่งั้นจะเกิดปัญหาความมั่นคงทางอาหาร วิธีที่ทำให้ภาคเกษตรอยู่ได้คือท้องถิ่นแข็งแรง โรงเรียนเล็กแค่ไหนก็ปิดไม่ได้ และมีมาตรฐานขั้นต่ำว่าโรงเรียนชุมชนต้องมีอะไรบ้าง นั่นคือหน้าที่ท้องถิ่นในการจัดสรรทรัพยากรมา และจำเป็นต้องรักษาโรงเรียนท้องถิ่นไว้ เพราะคือหัวใจชุมชน ถ้าไม่มีโรงเรียนในพื้นที่ หนุ่มสาวที่ไหนจะอยู่บ้านเกิด พอเขามีครอบครัวมีลูก ต้องอพยพเข้าเมืองใหญ่เท่านั้นหรือ นี่คือฐานคิด”
เพราะหัวใจคือท้องถิ่น โรงเรียนใกล้บ้านจึงไว้ใจได้
จากหัวข้อข้างต้นที่มองว่าเมื่อประเทศหนึ่งๆ ไม่ได้เป็นรัฐสวัสดิการ แต่ก็สามารถมีสวัสดิการการศึกษาที่เข้มแข็งได้อย่างญี่ปุ่น จึงทำให้เกิดคำถามต่อว่า แล้วไทยควรมีการศึกษาแบบไหน ควรเป็นรัฐสวัสดิการไหม หรือควรเป็นสวัสดิการโดยรัฐที่เข้มแข็ง
“ถ้าเป็นรัฐสวัสดิการจริงๆ ต้องไม่ใช่แค่เรียนฟรี แต่ต้องมีประสิทธิภาพด้วย มันคือการลงทุนกับประชาชน ไทยก็เคยมีเรียนฟรี แต่ว่าโรงเรียนยังไม่มีคุณภาพ พ่อแม่ก็เลยให้ไปเรียนเอกชน ต้องดั้นด้นไปเรียนเอกชน ทั้งๆ ที่โรงเรียนรัฐบาลเรียนฟรี”
ประสบการณ์โดยตรงจากฟรองซ์เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า แม้ไทยจะมีสวัสดิการการศึกษาฟรี เหมือนประเทศต้นแบบด้านการศึกษา แต่เพราะขาดคุณภาพจึงทำให้การศึกษาไทยยังมีความเหลื่อมล้ำและแข่งขันสูงอยู่
“มุมมองของไทย รัฐให้สวัสดิการแบบสังคมสงเคราะห์ ประชาชนต้องพิสูจน์ความยากจนของตัวเองเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่เขากำหนด สังคมสงเคราะห์จากรัฐแบบนี้เป็นการสร้างภาพแบบหลอกๆ ว่าถ้าไม่มีรัฐจะทำยังไง ทั้งที่จริงแล้วรัฐควรมองความต้องการของประชาชนว่าคืออะไร และรัฐต้องมองคนโดยไม่มีการแบ่งแยก เพราะเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่ทุกคนควรได้” ฟรองซ์เพิ่มเติม
จากคำตอบของฟรองซ์ เป็นฐานความคิดเดียวกับอาจารย์อรรถพลที่ให้ความสำคัญกับความต้องการของประชาชนเป็นหลัก โดยอาจารย์เสริมว่า เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างตรงจุด หน่วยงานรัฐที่ใกล้ชิดกับประชาชนอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้การศึกษาไทยพัฒนาขึ้นได้
“การกระจายอำนาจต้องมาพร้อมการทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง เพราะในระหว่างการกระจายอำนาจ รัฐส่วนกลางก็ยังสามารถเข้ามาแทรกแซงในช่วงการเปลี่ยนผ่านได้ ดังนั้นต้องมีมาตรการลงทุนก่อนหน้านั้น อย่างญี่ปุ่นก็มีการพัฒนาครู การทำให้มหาวิทยาลัยฝึกหัดครูประจำจังหวัดเข้ามา take action กับโรงเรียนประถม ซึ่งเขามีระบบซัพพอร์ตอยู่ ทำให้โรงเรียนท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้นได้ ต้องดูด้วยว่ารัฐส่วนกลางจะเข้ามาแทรกแซงประมาณไหนเพื่อทำให้โรงเรียนเข้มแข็งได้ก่อน แล้วจึงส่งต่อไปยังท้องถิ่น
“บ้านเราสวนทางคือ โรงเรียนขนาดเล็กจำนวนไม่น้อยคือโรงเรียนประชาบาลเก่า หลายโรงเรียนถูกสร้างด้วยคนในชุมชนลงขันกัน หาเงินจ้างครูเอง จนวันหนึ่งรัฐเข้มแข็งก็เลยมีการร้องขอให้รัฐเข้ามาดูแล และส่งมอบโรงเรียนไปอยู่ในการดูแลของรัฐ และทุ่มเงินขนาดใหญ่จนโรงเรียนเหล่านี้อยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่พอถึงจุดหนึ่งที่อัตราการเกิดลดลง รัฐก็ไม่แทรกแซง ปล่อยให้โรงเรียนขนาดเล็กเล็กลงไปเรื่อยๆ จนปิดตัวลง ด้วยมุมมองของรัฐที่มุ่งไปยังกลุ่มโรงเรียนที่มีศักยภาพมากกว่า
“สัญญาณจากส่วนกลางเวลามองโรงเรียน ไม่ได้มองบนฐานคิดว่า การศึกษาคือประโยชน์สาธารณะซึ่งอยู่ใกล้ตัวเด็กที่สุด ยังมีความเชื่อผิดๆ เช่น มีโรงเรียนดีเด่นประจำจังหวัด ประจำอำเภอ หรือแม้กระทั่งมีแนวคิดยุบโรงเรียนขนาดเล็กไปอยู่ตามมุมของเมือง เป็นโรงเรียนดีสี่มุมเมือง ทั้งๆ ที่เคยมีโรงเรียนใกล้บ้าน แสดงให้เห็นว่ารัฐไม่เข้าใจ ว่าการศึกษาเป็น public goods หรือประโยชน์สาธารณะที่ต้องอยู่ใกล้ตัวเด็ก”
นอกจากนี้ สวัสดิการการศึกษาอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปของโรงเรียนเสมอไป แต่เป็นพื้นที่ที่เสริมการเรียนรู้ได้ อย่างสนามเด็กเล่นหรือพื้นที่สาธารณะต่างๆ สำหรับกระติ๊บเธอให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วยมองว่า
“การเรียนเหมือนการทำงานอย่างหนึ่งที่ต้องทำการบ้านเพื่อให้ได้คะแนนกลับมา เมื่อเราโฟกัสกับงานและคะแนน มันลดโลกทางสังคมให้เป็นแค่กระดาษหรือสมุดเล่มเดียว แต่ถ้าเด็กได้เรียนรู้นอกพื้นที่ก็เป็นการขยายความรู้ให้เด็กได้เจอสิ่งใหม่ๆ ทำให้เด็กได้พัฒนา”
การลงทุนกับการศึกษาจึงไปไกลกว่าขอบเขตของสถานศึกษา อย่างประเทศญี่ปุ่นที่อาจารย์อรรถพลยกขึ้นมาให้เห็นว่า รัฐให้ความสำคัญกับพื้นที่การเรียนรู้
“ญี่ปุ่นเป็นสังคมคนแก่ จึงให้คุณค่ากับการพัฒนาทรัพยากรการเรียนรู้ตามอัธยาศัยสูงมาก ซึ่งทั้งหมดไม่ได้ลงทุนจากส่วนกลาง แต่มาจากระดับจังหวัดและท้องถิ่น เทศบาลมีหน้าที่ดูแลมิวเซียม เด็กจากต่างจังหวัดนั่งรถไฟมาดูได้ สิ่งเหล่านี้ประเทศไทยจินตนาการถึงบ้างหรือเปล่า ต่อให้ไปไม่ถึงรัฐสวัสดิการ ก็ต้องทำให้การศึกษามีคุณภาพ ท้องถิ่นต้องแข็งแรง หลายจังหวัดในไทยก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เช่น สตูล ยะลา โคราช แต่ส่วนกลางทำให้เขาแสดงได้ไม่เต็มที่ เพราะยังมีเรื่องการจัดการภาษีที่ส่วนกลางกุมอำนาจอยู่” อาจารย์อรรถพลกล่าว
ดังนั้น หากรัฐกระจายอำนาจจากส่วนกลางและไว้ใจท้องถิ่น ให้คนในชุมชนเลือกสิ่งที่ตัวเองต้องการ ก็อาจถือเป็นหัวใจของการศึกษาที่ดีและเหมาะสมได้ในประเทศไทย
สวัสดิการการศึกษาที่ไม่ใช่แค่โรงเรียนกับมหาวิทยาลัย
“ในโลกที่ไม่มีรัฐสวัสดิการ บางครอบครัวที่มีปัญหา เช่น ลูกไม่มีงาน ไม่สามารถทำงานได้ พ่อแม่ก็ต้องหาเลี้ยง หรือพ่อแม่ทำงานไม่ได้ ลูกก็ต้องเลี้ยงพ่อแม่ ส่วนตัวคิดว่า มันคือความรุนแรงอย่างหนึ่ง เพราะเป็นภาระที่มีมาตั้งแต่เกิดและไม่สามารถปลดแอกออกจากสิ่งนี้ได้ ถ้ามีรัฐสวัสดิการมาช่วย อาจลดสิ่งที่เคยเป็นภาระที่ครอบครัวต้องแบกไว้ทั้งด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ทำให้ความสัมพันธ์เป็นไปในแบบที่ใกล้ชิดและห่วงใยกันมากขึ้น
สังคมที่ไร้รัฐสวัสดิการในมุมมองของกระติ๊บ เธอเห็นว่า สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานที่เกี่ยวโยงกับการศึกษา กล่าวคือ หากสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวไม่สามารถสนับสนุนเด็กคนหนึ่งได้ ภาระมากมายที่เกิดขึ้นก็ส่งผลให้เกิดความเครียด การมีรัฐสวัสดิการจึงเข้ามาช่วยพยุงความสัมพันธ์ ลดภาระ และเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นได้
เช่นเดียวกัน เมื่อการศึกษาไม่ใช่แค่เรื่องโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย บุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งที่มีผลต่อเด็กคือ ครู โดยเธอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงที่เคยไปแลกเปลี่ยนในประเทศรัฐสวัสดิการอย่าง เดนมาร์ก
“ครูเดนมาร์กใจดีกับนักเรียนมาก ถ้าเป็น ผอ.ไทย ก็ต้องยืนหน้าเสาธง มีการไหว้ครูถือพาน แต่ที่เดนมาร์กเรายืนเท่ากันเป็นวงกลม ไม่มีลำดับขั้น ทุกคนเท่ากัน ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องประชาธิปไตยในที่ทำงาน ครูเองก็เป็นแรงงาน เด็กก็เป็นแรงงาน ถ้าทั้งครูและเด็กปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม ก็จะเกิดชุมชนที่แข็งแรง ทำให้คนสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ร่วมกันต่อไปได้”
หากมองบทบาทของรัฐสวัสดิการกับความสัมพันธ์ครอบครัว อาจารย์อรรถพลมองว่า ครอบครัวคือหนึ่งสถาบันสำคัญที่มีผลต่อการศึกษาของเด็ก
“รัฐผลักค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็นไปอยู่ในมือพ่อแม่หมด ต่อให้ลูกสอบเข้าโรงเรียนดัง แต่ก็ต้องส่งไปเรียนพิเศษทุกอาทิตย์อยู่ดี ไม่นับค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น อุปกรณ์การเรียน ถ้าวันนี้คนรุ่นใหม่ตื่นตัวอยากเห็นรัฐสวัสดิการ ก็ต้องยอมรับก่อนว่าไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ภายใน 1-2 ปี แต่ต้องใช้เวลาที่เป็นหนุ่มสาวทั้งชีวิตสร้างมันขึ้นมา และต้องทำให้สังคมเห็นพ้องต้องกันที่จะทำให้โรงเรียนใกล้บ้านเป็นที่ไว้วางใจของพ่อแม่ได้ และรู้สึกเป็นเจ้าของโรงเรียนร่วมกัน รวมถึงเด็กรู้สึกว่าการไปโรงเรียนเป็นชั่วโมงที่มีความสุข”
ส่วนความสัมพันธ์ภายในโรงเรียนระหว่างครูและนักเรียน อาจารย์อรรถพลมองบนฐานคิดของรัฐสวัสดิการที่ว่า หากทุกคนเคารพคุณค่าศักดิ์ศรีของคน และมองคนเท่ากัน ปัญหาอำนาจนิยมในสถานศึกษาก็จะไม่เกิดขึ้น
“รัฐสวัสดิการคือการเคารพคุณค่าศักดิ์ศรีของคน เพราะเป็นฐานคิดประชาธิปไตยโดยพื้นฐาน ต้องชดเชยโอกาสคน ให้คนเข้าถึงการเป็นอยู่ที่ดีอย่างเสมอหน้ากัน ไม่เลือกปฏิบัติ โรงเรียนที่ฟินแลนด์จึงไม่มีการจัดห้องคิง-ควีน ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะผิดหลักพื้นฐานการศึกษา แต่ถ้ามีเด็กที่มีความสามารถ เขาก็จะมีโปรแกรมพิเศษให้ แล้วก็เรียนร่วมกับเพื่อนปกติ พอถึงชั่วโมงฟิสิกส์ก็จะมีครูที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาสอน นี่ไม่ใช่เลือกปฏิบัติ แต่เป็นการออกแบบการศึกษาให้เหมาะกับทุกคน
“ความสุขในชีวิตครูกับความสุขในชีวิตเด็กเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกัน ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ เงินเดือนครูค่อนข้างสูง เพราะต้องการให้ครูรู้สึกมั่นคงในหน้าที่การงาน ครูจะมีความสุขในวิชาชีพและโฟกัสไปที่เด็ก ทำให้ความสุขทั้งครูและเด็กไปด้วยกันได้”
ดังนั้น การที่เด็กคนหนึ่งเติบโตมาพร้อมกับรัฐสวัสดิการที่ดีและเหมาะสมจะทำให้พวกเขาไม่หลงทาง รู้ความต้องการของตัวเอง และเป็นเจ้าของชีวิตตัวเองได้อย่างเต็มที่
“อย่างโรงเรียนที่เยอรมนี ม.4-5 ก็เริ่มคุยกันแล้วว่าตัวเองคือใคร สนใจเรื่องอะไร มีแผนจะทำอะไรต่อ เขาสามารถถกการเมืองกับเราได้ เพราะเขามีเวลาว่าง มีเวลาส่วนตัว เขาเป็นเจ้าของชีวิต ไม่ถูกกำกับไปด้วยโรงเรียนทั้งหมด โรงเรียนเป็นแค่พาร์ทหนึ่งในเส้นทางการเรียนรู้ของเขา และโรงเรียนในประเทศรัฐสวัสดิการก็เอาผู้เรียนเป็นตัวตั้ง มีโจทย์คือเด็กเป็นใคร อยากเป็นอะไร และโรงเรียนมีอะไรบ้างที่จะเอื้อให้เขาได้เป็นอย่างนั้น
“หัวใจของรัฐสวัสดิการคือ คนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นและเสมอหน้ากัน ไม่ใช่คนรวยเท่านั้นถึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการจะคำนึงถึงมนุษย์เป็นศูนย์กลาง โดยมนุษย์กลุ่มแรกคือเด็ก ที่ต้องได้รับการพัฒนา มนุษย์กลุ่มสองคือ ผู้ใหญ่ ครู พ่อแม่ ที่ต้องมีเวลาในการอยู่กับลูก ดังนั้นต้องคิดไปพร้อมกัน สวัสดิการด้านการศึกษาจึงไม่ใช่แค่เรื่องโรงเรียนกับมหาวิทยาลัย
“สิ่งนี้คือสิ่งที่รัฐสวัสดิการจะให้คุณได้ เพราะเงินที่เก็บภาษีไปต้องคำนึงถึงชีวิตประชาชน” อาจารย์อรรถพลกล่าวสรุป