เคยสงสัยกันไหมว่าเพราะอะไรคนเราถึงต้องสอบ?
ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่าแทบทุกคนที่กำลังอ่านโพสต์นี้อยู่ล้วนเคยผ่านการสอบกันมาทั้งสิ้น และอาจนับได้ไม่ถ้วนว่าตั้งแต่เราเริ่มเข้าระบบการศึกษามาเราสอบไปแล้วกี่ครั้ง สนามเล็กสนามใหญ่ปะปนกันไป และสิ่งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘ยาขม’ สำหรับใครหลายคนก็เป็นได้
อาการเบื่อหน่ายปนง่วงนอนเมื่อต้องท่องจำหนังสือ
พ่อแม่ (หรือกระทั่งป้าข้างบ้าน) ที่อยากรู้คะแนนสอบและเกรดเฉลี่ยเราเหลือเกิน
การจัดอันดับเพื่อเป็นตัวพิสูจน์ว่าเราเป็นที่เท่าไร พ้นค่ามัธยฐานของภาพรวมหรือไม่
และอื่นๆ อีกมากมาย
แต่ใครกันนะที่เป็นผู้คิดค้น ‘การสอบ’ ขึ้นมา
วันนี้เราขอชวนคุณผู้อ่านทุกคนย้อนรอย ‘ประวัติศาสตร์การสอบ’ ของมวลมนุษยชาติว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร สอบเพื่ออะไร และกลายมาเป็นมาตรวัดสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษาของเราได้อย่างไร
ต้นตำรับการสอบที่มาจาก ‘ประเทศจีน’
อันที่จริงแล้วจะเรียกว่าประเทศจีนก็อาจไม่ได้ถูกต้องไปเสียทั้งหมด เพราะว่าการสอบที่เกิดขึ้นครั้งแรกในโลก เกิดขึ้นก่อนที่จีนจะยกระดับเป็นประเทศเสียอีก
ตามประวัติศาสตร์ระบุว่า การสอบอย่างเป็นทางการที่เกิดขึ้นที่แรกในโลกคือ ‘จีนยุคโบราณ’ ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์สุย หรือตรงกับราวคริสต์ศตวรรษที่ 6
เราอาจคุ้นกันดีกับคำว่า ‘การสอบจอหงวน’ แต่ที่จริงแล้วคำว่า ‘จอหงวน’ หมายถึงผู้ที่สอบได้เป็นลำดับที่ 1 ของการสอบ ส่วนระบบการสอบที่แท้จริงนั้นเรียกว่า ‘การสอบเคอจวี่’ (科举) ซึ่งเป็นการสอบเข้ารับราชการเพื่อเข้าไปทำงานในราชสำนักจีนยุคจักวรรดิ
การสอบเคอจวี่มีทั้งหมด 3 รอบ
การสอบรอบแรกเป็นการสอบคัดเลือกระดับท้องถิ่น ซึ่งหมายถึงในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด โดยการสอบรอบนี้จะจัดสอบปีละหนึ่งครั้ง เพื่อเฟ้นหาผู้ที่จะเข้ารับราชการในเบื้องต้น
ต่อด้วยการสอบรองสองที่เป็นการสอบระดับภูมิภาค (ซึ่งอาจเทียบได้กับระดับมณฑลในประเทศจีนหรือภาคในประเทศไทยยุคปัจจุบัน) โดยผู้ที่จะเข้าสอบรอบนี้ได้ จะต้องผ่านการสอบรอบก่อนหน้ามาก่อน และการสอบรอบนี้จะจัดขึ้นในทุกๆ 3 ปี
การสอบรอบสุดท้าย เป็นรอบเดียวที่จะจัดสอบในเขตพระราชวัง โดยผู้ที่สอบผ่านรอบนี้จะได้รับการขึ้นบัญชีเพื่อรอการบรรจุเป็นข้าราชการ และผู้ที่สอบได้ที่หนึ่งจะถูกเรียกว่า ‘จอหงวน’ นั่นเอง
ทั้งนี้ การสอบเคอจวี่ด้วยระบบดังกล่าวถูกนำมาใช้คัดบรรจุข้าราชการในสำนักนับพันปีก่อนที่จะถูกยกเลิกไปในสมัยราชวงศ์ชิง (ราว ค.ศ. 1905)
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ชาวจีนโบราณเป็นผู้คิดค้นและออกแบบการสอบที่เป็นระบบเพื่อวัดผลและเฟ้นหาคนเข้ามาทำงานในพระราชวัง แต่ว่าชนชาติที่นำระบบการสอบเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาสมัยใหม่และกลายมาเป็นแม่แบบการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษานั้นคือชาวอังกฤษ ซึ่งเราจะเล่าในถัดไป
‘อังกฤษ’ ประเทศที่ริเริ่มวางรากฐานการสอบที่เป็นระบบ
การเติบโตของจักรวรรดิอังกฤษช่วงราวศตวรรษที่ 18 ทำให้ภาคส่วนต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับราชวงศ์มีการเติบโตขึ้นอย่างมาก ทำให้จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบคัดเลือกผู้เข้ามาทำงานราชการอย่างละเอียดมากขึ้น นั่นจึงทำให้เมื่อถึงช่วงศตวรรษที่ 19 จึงเกิด การสอบคัดเลือกข้าราชการพลเรือน (Civil Service Examination) ขึ้นมา ซึ่งการสอบคัดเลือกระบบนี้จะใช้คัดผู้ที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงเพื่อให้เข้ามาทำงานราชการที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นด้วยบริบททางการเมืองที่กล่าวไปข้างต้น และการสอบคัดเลือกระบบนี้จะเข้ามาแทนที่ระบบอุปถัมภ์ทางครอบครัวและเครือญาติแบบเดิมที่เคยใช้ ซึ่งแนวคิดในการสร้างระบบนี้ก็ได้รับอิทธิพลมาจากการสอบเคอจวี่ของจีนเช่นเดียวกัน
ระบบการสอบนี้ได้ถูกนำมาปรับใช้กับการสอบของหลายมหาวิทยาลัยชื่อดังของอังกฤษในเวลาต่อมา เช่น มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด อีกทั้งยังต่อยอดไปยังโรงเรียนทั่วทั้งเกาะอังกฤษอีกด้วย
ต่อมาในศตวรรษที่ 19 เฮนรี เอ ฟิชเชล (Henry A. Fischel) ชายชาวอเมริกัน-เยอรมัน ผู้เป็นศาสตราจารย์กิตติคุณด้านภาษาและวัฒนธรรมตะวันออก ที่มหาวิทยาลัยอินเดียนา ได้ยกระดับ ‘การสอบ’ ขึ้นเป็น ‘การประเมินที่เป็นมาตรฐาน’ ก่อนที่การสอบในความหมายนี้จะถูกแพร่หลายไปยังระบบการศึกษาทั่วทุกมุมโลกมาจนถึงปัจจุบัน
การสอบในประเทศไทยในสมัย ‘การปฏิรูปการศึกษา’
สำหรับในประเทศไทยเอง การสอบเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทำการปฏิรูปประเทศในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการปกครอง การศาล การคมนาคมและสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน ‘การศึกษา’
พระองค์ทรงตระหนักว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะว่าจะเป็นส่วนที่พัฒนากำลังคนของประเทศได้อย่างดีที่สุด เพื่อให้คนในประเทศมีความรู้ความสามารถ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ
นั่นจึงทำให้เกิดการปฏิรูปทางการศึกษาขึ้น โดยเริ่มต้นจากการจัดการศึกษาให้มีระเบียบแบบแผน (Formal Education) ผ่านการเพิ่มช่องทางและโอกาสทางการศึกษาให้เกิดโรงเรียนเพิ่มขึ้นทั้งในวัดและในวัง มีการกำหนดวิชาที่เรียน มีสอบไล่เพื่อเลื่อนระดับชั้น และมีทุนเล่าเรียนเพื่อไปศึกษายังต่างประเทศ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงประวัติศาสตร์ในการเกิดขึ้นของ ‘การสอบ’ ซึ่งเมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้ ผู้เขียนคิดว่าคุณผู้อ่านน่าจะพอเห็นภาพว่าการสอบนั้นเกิดขึ้นด้วยสาเหตุที่ต้องการวัดผลคนเพื่อคัดเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานหรือเรียน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในองค์กรทั้งสิ้น และในส่วนของประเทศไทยเองก็น่าจะพอเห็นได้ว่า ‘การสอบ’ ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่การวางรากฐานระบบการศึกษา ซึ่งนั่นทำให้เราแทบแยกการสอบและการศึกษาให้ออกจากกันไม่ขาด
อย่างไรก็ตาม การสอบเป็นเพียงการวัดผลประเมินในรูปแบบหนึ่งเท่านั้น ในโลกนี้ยังมีการประเมินวัดผลอีกหลายรูปแบบมาก
ตลอดทั้งเดือนมีนาคมนี้ Mappa จึงอยากชวนทุกคนทบทวนเรื่องราวของการประเมินกันใหม่ เพื่อให้เห็นความหมาย รูปแบบ และความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ว่าอาจมีมากกว่าที่เราเคยคิด
กระทั่งการสอบเองก็มีหลายรูปแบบเช่นเดียวกัน