วิชารัดเข็มขัดฉบับครอบครัว

มนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่: หมดยุคมีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท แต่จง ‘หาให้เก่งกว่าออม’ เพื่ออุดรอยรั่วในบ้าน

  • “หาเงินให้เก่งดีกว่าออมเงินเก่ง” เป็นคอนเซ็ปต์หลักในการบริหารจัดการเงินของ ‘พ่อพี’ เเอดมินเฟซบุ๊คแฟนเพจมนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่เเละคุณพ่อของลูกชายวัย 10 ขวบ
  • เพราะพ่อพีคิดว่า มนุษย์เรามีศักยภาพในการหาเงินมากกว่ามานั่งคิดเก็บเงิน 
  • เพื่อการสอนการเงินภายในบ้าน พ่อพีตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพราะเขาต้องการอยู่กับลูก และเชื่อว่าครูเเนะเเนวที่ดีที่สุด คือ พ่อเเม่

“มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท” 

สุภาษิตสอนเรื่องการออมที่เราได้ยินกันมาตั้งเเต่เด็กพร้อมกับถือกระปุกออมสินในมือ 1 อัน  

เเต่เราจะออมได้อย่างไร ถ้าเราหาเงินไม่เป็น

‘หาเงินให้เก่งดีกว่าออมเงินเก่ง’ เป็นคอนเซ็ปต์หลักในการบริหารจัดการเงินของ 

‘พ่อพี’ รพีรัฐ ธัญวัฒน์พรกุล เเอดมินเฟซบุ๊คแฟนเพจมนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่เเละคุณพ่อของลูกชายวัย 10 ขวบ

อาจเป็นเพราะพ่อพีเติบโตในครอบครัวของผู้ประกอบการ สิ่งที่เขาเรียนรู้ตั้งเเต่เด็กจนโต คือ การหาเงินให้เท่าหรือมากกว่าเงินที่ใช้ 

“สิ่งที่เราได้เรียนรู้มาตั้งแต่เด็กจนโตคือการเรียนรู้ที่จะหาเงินมากกว่าออมเงิน คือ หาให้มากกว่าใช้ เช่น ใช้เดือนละแสนก็ต้องหาให้ได้มากกว่าเเสน เราเคยลองวางเเผนการเงินว่าจะจัดการเงินที่เรามียังไง เเต่เราไม่มีความสุข เเต่พอคิดว่าจะหาเงินยังไงเราสนุกกว่า”

โดยเขาเลือกประยุกต์คอนเซ็ปต์ หาให้มากกว่าใช้ ในบทบาทของสามี พ่อ เเละอาจารย์

หาให้ได้ เก็บนิดนึง เเละใช้ให้เต็มที่

จากคอนเซ็ปต์หาให้มากกว่าใช้ทำให้พ่อพีเลือกที่จะมองข้ามทฤษฎีการวางเเผนการเงิน เเต่สิ่งสำคัญคือตัวเราต้องรู้พฤติกรรมการใช้เงินของตัวเองเเละกลับมาถามตัวเองว่า เราอยากมีคุณภาพชีวิตเเละมองเป้าหมายชีวิตเเบบไหน

“เราลองหันกลับมาถามตัวเองว่า คุณภาพชีวิตแบบไหนที่เราต้องการ โดยเปรียบเทียบจากเงินที่เรามี การไม่มีเงินเก็บหรือไม่มีเงินออมเป็นความเสี่ยงเราก็รู้ เเล้วเรายอมรับความเสี่ยงตรงนั้นได้มากแค่ไหน ซึ่งเรื่องเงินเป็นเรื่องเป้าหมายส่วนบุคคล ซึ่งผมมองว่าเราวัดผลเชิงตัวเลขมากกว่าการวัดผลเชิงความสุข”

พ่อพี – รพีรัฐ ธัญวัฒน์พรกุล

เขาเชื่อว่า ถ้าหาเงินได้ ตัวเราจะรู้ว่าควรจะบริหารการเงินอย่างไร

“ผมคิดว่ามนุษย์เรามีศักยภาพในการหาเงินมากกว่ามานั่งคิดเก็บเงิน มันไม่สนุก เมื่อไหร่ที่เราวางแผนหาเงินเก่ง เรื่องบริหารวางเเผนการเงินมันจะตามมาเอง”  

นอกจากนี้ พ่อพียังเปรียบเทียบการบริหารจัดการการเงินของตนเองเหมือนกับถังน้ำที่มีรูรั่ว

“ตัวเราเหมือนถังน้ำที่มีรูรั่วที่ก้น รู้รั่วคือค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายแต่ละเดือน น้ำที่เติมเข้าไปคือเงิน ถ้ามีน้ำเข้ามากกว่าน้ำที่รั่วออกไปก็ปลอดภัย มีเงินเหลือที่จะไปออม ลงทุน หรือใช้จ่ายเพื่อความสุข แต่ถ้าน้ำที่เติมเท่ากับน้ำที่รั่ว จะอันตรายเพราะไม่มีเงินเหลือ”

ทั้งนี้ ในบทบาทสามี คุณพีตกลงกับภรรยาว่า เขาจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ในบ้าน ส่วนรายได้ของภรรยาจะเป็นเงินสำรองหรือเงินสนับสนุนในเรื่องเล็กน้อยภายในบ้าน รวมถึงจะเป็นเงินสำหรับลูกเเละภรรยาเมื่อเขาตายไป 

ขณะเดียวกัน พ่อพียังคงคอนเซ็ปต์การหาเงินมาประยุกต์กับการบริหารการเงินในครอบครัวด้วย

“สำหรับครอบครัว ผมยังใช้คอนเซ็ปต์เดิม อันไหนเก็บก็ต้องเก็บ อันไหนห้ามแตะก็ห้ามแตะ อันไหนใช้ก็ต้องใช้ เพราะผมยึดหลักการชีวิตว่า ต้องมีความสุข ได้กินของอร่อย ได้ไปเที่ยว ไม่อย่างนั้นความทรงจำในชีวิตมันจะไม่เหลืออะไรเลยต้องมานั่งเก็บเงินแล้วไม่ได้ใช้”

ไม่มีโรงเรียนที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก พ่อแม่คือครูแนะแนวที่ดีที่สุด

พ่อพีเเนะนำว่า การสอนลูกหรือเด็กเรื่องการบริหารการเงินในบ้านเเละโรงเรียน สิ่งสำคัญคือการเปิดโอกาสให้เขาลงมือทำ ลองหาเงินด้วยตัวเอง เเละทำให้เขาเห็นทางเลือกในการลงทุนเเละออมเงิน

สำหรับการสอนการเงินภายในบ้าน พ่อพีตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพราะเขาต้องการอยู่กับลูก เขาคิดว่าครูเเนะเเนวที่ดีที่สุด คือ พ่อเเม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการที่ทำให้ลูกเห็นเเละค้นหาตัวเอง ไม่ใช่คาดหวังกับการสอนในโรงเรียนเพียงอย่างเดียว

“โลกใบนี้มันไม่มีแล้วครับโรงเรียนที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก มันอยู่ที่พ่อแม่มากกว่าที่ทำให้สิ่งที่เขาเรียนเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขาหรือเปล่า”

เขาเริ่มต้นสอนเรื่องเงินด้วยการให้ลูกทำงานบ้าน เเละจะได้เงินเป็นค่าตอบเเทน เเละสอดเเทรกวิธีการหาเงินไปในสิ่งที่ลูกสนใจเเละกิจกรรมของลูก 

“ลูกชอบเล่นเกม ชวนเขาคุยเเละคิดว่า ใครได้ตังค์มากที่สุด ก็เป็นเจ้าของเกม สนใจอยากเป็นเจ้าของเกมไหม ผมก็พาเขาไปเรียนโค้ดดิ้ง (coding) ไปเรียนเขียนเกม หรือเขาไม่เคยเล่นฟุตบอล ผมให้เขาลองเล่น เเต่ระหว่างทางผมก็จุดไอเดียว่า กีฬานี้ทำรายได้ยังไง นักเตะระดับเวิลด์คลาสเขาได้รายได้จากทางไหน ผมอยากให้เขาซึมซับไปตั้งแต่เด็กๆ ว่า ทุกอย่างทุกทักษะ มันมีร่องรอยความสำเร็จที่สามารถสร้างเงินได้เสมอ”

ส่วนการสอนทักษะการเงินในบทบาทของอาจารย์วิชา soft skill ในรั้ว ม.ศิลปากร เขาสร้างโมเดลการสอนด้วยคำถามง่ายๆ ว่า ‘เรามาลงทุนกันไหม นักศึกษาอย่างเราลงทุนอะไรได้บ้าง’

ด้วยคำถามชวนสงสัยกับการลงมือทำจริงในห้องเรียนคือการสร้างทางเลือกในการลงทุนให้กับพวกเขา เเละชวนคุยต่อยอดถอดบทเรียนร่วมกัน

“ถ้าบอกเด็กว่าลงทุนน้อยก็เริ่มได้นะครับ ลงกองทุนรวมสิ เด็กจะไม่อิน เราให้เขาลงทุนจริงจากเงิน 500 บาท ศึกษาข้อเสนอเเละเงื่อนไขการลงทุนในกองทุนของธนาคารต่างๆ มาดูผลลัพธ์ ชวนคุยต่อว่า ทำไมตัวนี้ขึ้น อีกตัวหนึ่งไม่ขึ้น สนุกกว่า แล้วเวลาจะมาสอนเรื่องการวางแผนการเงินมันง่าย”

พ่อเเม่ก็คือเด็กคนหนึ่งที่จะเรียนรู้ไปพร้อมกับลูก

พ่อเเม่คือคนที่อยู่กับลูกตลอดเวลา เเละลูกจะมองพ่อเเม่ของพวกเขาเป็นต้นเเบบในเเง่มุมต่างๆ ในชีวิต หน้าที่ของพ่อเเม่คือการจุดประกายความคิดให้ลูกสามารถต่อยอดได้ในอนาคต

“ไม่มีใครสอนเขาได้ทุกเวลาเท่ากับเราอีกเเล้ว เพราะจริงๆ เเล้วโรงเรียนไม่ได้สอนเรื่องเงินก็ไม่ได้ผิด แต่ต้องเปลี่ยนวิธีการสอน พ่อแม่ก็ไม่ได้ถูกแล้วก็อาจจะผิดบ้างที่ฝากความหวังไว้ที่โรงเรียน เพราะฉะนั้นพ่อเเม่ก็ต้องกลับมาสอนลูกในแบบที่เราต้องสอนให้เป็น ต่อให้เราเป็นคนมีความผิดพลาดเรื่องการใช้เงิน เช่น เคยล้มละลายมาก่อน บทเรียนพวกนั้นก็สอนได้ 

“ผมคิดว่าบ้านเราน่าจะมีหลักสูตรให้พ่อแม่เป็นครูสอนทักษะ soft skill ให้ลูกตั้งแต่ลูกอายุน้อย สอนเรื่องความคิดสร้างสรรค์ สอนเรื่องทักษะการเข้าสังคม สอนเรื่องการวางแผนการเงิน พ่อแม่ต้องเป็นคนเริ่มต้น”

เนื่องจากเรื่องเงินสัมพันธ์กับชีวิตเเละความสุขของเเต่ละคน การที่เด็กคนหนึ่งเข้าใจเเละรู้จักบริหารการเงินด้วยตัวเองจะสร้างนิสัยให้เขารู้จักหาก่อนใช้ คิดก่อนใช้ เเละมองเห็นเป้าหมายของตัวเอง อีกทั้งทำให้เขารับมือเเละเเก้ปัญหาในชีวิตได้ 

การสอนเรื่องการเงินให้กับลูกจึงไม่มีกฎตายตัว เเต่พ่อเเม่เป็นเเค่จุดเริ่มต้นในการเรียนรู้ร่วมกันไปพร้อมกับลูก

“ไม่มีคำว่าสิ่งสำคัญที่ควรรู้ เเละไม่มีสิ่งที่ควรตระหนัก เเต่เรื่องการเงินคือวิชาบังคับที่ครอบครัวต้องเรียนรู้ด้วยกัน เราอยากให้ลูกวางเเผนการเงินเป็น ทำไมเราไม่วางแผนวันแรกไปพร้อมกับเขา เรื่องที่เราไม่รู้เราก็เรียนไปพร้อมกับเขา เพราะพ่อเเม่ก็คือเด็กคนหนึ่งในอดีต เเต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเด็กไปพร้อมกับลูกในวันนี้ไม่ได้”


Writer

Avatar photo

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Photographer

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts