ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 หลายครอบครัวรายได้ลดลงกะทันหัน ขณะที่รายจ่ายยังคงที่ บ้างต้องจ่ายมากกว่าเดิม
เพื่อไม่ให้ทุกอย่างสายเกินไป คุณพ่อคุณแม่และทุกคนในครอบครัวต้องหันกลับมาดูเงินในกระเป๋าว่าร่วงหรือแดงทั้งกระดานหรือไม่
“การเริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยการตกลงและวางแผนทางการเงินอย่างชัดเจน” เป็นคำแนะนำที่สำคัญมากจาก ‘พ่อกิจ’ สุรกิจ พิทักษ์ภากร คุณพ่อลูกสอง นักการเงินและเจ้าของเฟซบุ๊คแฟนเพจ Kevin’s Daddy
“การเงินในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตคู่ ถ้าใครมีลูกด้วยก็ยิ่งหนักกว่า 2 เท่า เพราะถ้าจัดการการเงินในครอบครัวไม่ดีจะส่งผลต่อความเครียด ความกดดัน ความสัมพันธ์ แล้วก็จะบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระยะยาวที่อาจจะมีปัญหา”
‘งบส่วนบุคคล’ สะท้อนการเงินในครอบครัว
พ่อกิจอธิบายว่า เมื่อคนสองคนตัดสินใจลงเรือลำเดียวกันแล้ว ทั้งคู่สามารถเริ่มต้นจากการเช็คสุขภาพการเงินของตนเองอย่างน้อยปีละครั้ง โดยดูจาก ‘งบส่วนบุคคล’ ที่ประกอบไปด้วย ‘งบดุลเเละงบกระเเสเงินสด’
งบดุลคืออะไร?
งบดุลจะดูจากทรัพย์สิน คือ รายได้ที่เกิดขึ้น ทั้งเงินเดือน เงินออม หรือเงินจากกองทุนต่างๆ รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน รถ ส่วนหนี้สิน คือ เงินที่เราค้างชำระหรือต้องผ่อน เเล้วนำมูลค่าทรัพย์สินมาหักกับหนี้สินเพื่อดูความมั่งคั่ง หรือศัพท์การเงินเรียกว่า ‘Net Worth’
“ถ้าเรียกง่ายๆ ก็คือ ดูว่าอะไรบ้างที่ครอบครัวเราเป็นเจ้าของสิ่งนั้นเพื่อความมั่นคงในชีวิต”
ส่วนงบกระเเสเงินสดจะดูจากรายรับรายจ่าย โดยรายจ่ายจะมี 3 ประเภท คือ 1.‘รายจ่ายประจำ’ ที่เราต้องจ่ายทุกเดือน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ไปจนถึงค่าเทอมลูก 2. ‘รายจ่ายผันเเปร’ ซึ่งเป็นรายจ่ายไลฟ์สไตล์หาซื้อความสุขให้กับตัวเอง เเละ 3. ‘รายจ่ายเพื่อการลงทุน’ คือการนำรายรับหักรายจ่ายเเล้วนำไปลงทุนเพื่อซื้อของหรือออมเกษียณ
หลังจากนั้นนำรายรับลบรายจ่ายก็จะทำให้รู้ว่า บ้านเราเหลือเงินเท่าไหร่ เพื่อเริ่มวางเเผนการซื้ออสังหาริมทรัพย์ การลงทุน เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวทางอื่นๆ
หลังจากที่เช็คสุขภาพการเงินของตัวเราเเล้ว ก็ถึงเวลาเช็คสุขภาพการเงินของครอบครัว โดยเฉพาะภาวะการเงินของคู่ชีวิต ซึ่งสุขภาพการเงินในครอบครัวควรอยู่ในเกณฑ์ที่คนในครอบครัวยอมรับได้
“สิ่งสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการเงินในครอบครัว คือ เราเปิดใจเคลียร์เรื่องรายได้เเละรายจ่ายของเเต่ละฝ่าย ตั้งเเต่ก่อนตัดสินใจเเต่งงานหรือสร้างครอบครัว รู้ว่าเธอมีภาระอะไร เรื่องไหนซีเรียส เพราะการเงินจะเป็นตัวกำหนดเเผนครอบครัว ในการซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือดูว่าถ้าเรามีลูก เราจะไหวไหม
“ไม่ใช่ว่าไม่เคยรู้อะไรเลย เเล้วแต่งงานกันโดยใช้เงินคนละกระเป๋า วันหนึ่งมีลูกเเล้วเงินไม่พอ ต้องไปลดคุณภาพชีวิตเขา ส่งผลถึงคุณภาพชีวิตพ่อแม่เขาด้วย”
พ่อกิจเล่าข้อตกลงระหว่างเขากับภรรยาว่า เขาจะต้องช่วยจ่ายเงินที่ให้เเม่ของภรรยาทุกเดือน เพราะเธอเลือกที่จะลาออกมาเลี้ยงลูก รายได้หายไป ซึ่งจะส่งผลต่อเเผนการเงินในครอบครัว
การเงินในครอบครัวจึงไม่ใช่เเค่ดูว่ามีเงินเท่าไหร่ เเต่เป็นข้อตกลงเพื่อวางเเผนอนาคตครอบครัวเเละรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย
ปรับเเผนการเงินช่วงโควิดด้วยเงินสำรองฉุกเฉิน
ท่ามกลางสถานการณ์การเเพร่ระบาดของโควิด-19 หลายครอบครัวต้องเจอกับความเครียดจากรายจ่ายในบ้านที่สูงขึ้น
คำถามที่เกิดขึ้นคือ เราควรจะปรับเเผนการเงินในบ้านอย่างไร
เเผนการเงินฉบับคุณพ่อนักการเงินในยุคโควิด-19 คือการเปลี่ยนวิถีครอบครัวด้วยการทำอาหารกินเองมากขึ้นเพื่อลดรายจ่ายไลฟ์สไตล์ครอบครัว รวมไปถึงลดรายจ่ายประจำบางอย่าง เช่น ประกันรถ เดิมอาจจะชั้น 1 ก็อาจลดเหลือชั้น 2 หรือ 3 เพราะไม่ได้เดินทางบ่อยเหมือนเเต่ก่อน
นอกจากนี้คุณพ่อคุณเเม่ควรจะมีเงินสำรองฉุกเฉิน เพื่อสำรองไว้ใช้จ่ายกรณีฉุกเฉิน โดยคำนวณจากรายจ่ายประจำทั้งหมดต่อเดือน ซึ่งเงินส่วนนี้ควรจะมี 3-6 เท่าของรายจ่ายทั้งหมด
“ถ้าเดือนหนึ่งมีรายจ่าย 30,000 บาท เเสดงว่าต้องสำรองไว้อย่างน้อย 90,000 บาท หรือสำรอง 6 เดือนเป็น 180,000 บาท เก็บเอาไว้โดยไม่หยิบมาใช้ ถ้าเกิดจังหวะโดนล็อคดาวน์ ทำงานไม่ได้ ก็นำเงินส่วนนี้มาใช้ ทำให้เรายังปรับตัวเเละเเก้ไขสถานการณ์ทัน”
นอกจากนี้พ่อกิจยังเลือกที่จะมองข้อดีของการอยู่ร่วมกันของสมาชิกครอบครัวในสถานการณ์โควิดว่าอย่างน้อย การอยู่บ้านทำให้ได้มองเห็นลูกในเเบบที่ไม่เคยเห็น เเละเฝ้ามองพัฒนาการของลูกในระยะใกล้
“ลูกเรียนออนไลน์ ทำให้ผมเห็นว่าลูกเรียนยังไง ต้องส่งการบ้านอะไรบ้าง บางวิชามีเต้นลูกเราก็ทำได้เหมือนกัน เพราะปกติไปส่งตอนเช้ากับเย็น ผมก็ไม่รู้ว่ากิจกรรมในโรงเรียนเขาเรียนอะไร มันมีมุมดีที่มาชดเชยในสิ่งที่เราเซ็งกับมัน ลูกเราไปไหนไม่ได้ เเต่ก็เเลกมากับการได้เห็นพัฒนาการเขา”
เมื่อลูกรู้คุณค่าของเงิน เขาจะวางเเผนเเละจัดการเพื่อเป้าหมาย
เด็กชายกิจในวัยเด็ก เรียนรู้เรื่องเงินจากการหยอดกระปุกออมสิน ทำให้เขาเริ่มวางเเผนเเละรู้จักการรอคอยจนกว่าจะเก็บเงินครบเพื่อไปซื้อของเล่นที่อยากได้
เเต่วันนี้เด็กชายกิจกลายเป็นคุณพ่อที่สอนเรื่องการเงินให้กับลูกๆ ด้วยการเเทรกความรู้ไปกับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือช่วงเวลาที่ออกไปเที่ยวข้างนอกด้วยกัน
สามกิจกรรมหลักที่พ่อกิจสอนลูกๆ คือ สอนอ่านป้ายราคาเมื่อไปร้านสะดวกซื้อ ตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวระหว่างเดินทางไปโรงเรียนหรือไปเที่ยวว่าสิ่งไหนต้องใช้เงินเพื่อได้มันมา เเละให้ลูกลองนับเงินโดยใช้เเบงก์ปลอมพร้อมกับสอนทำบัญชีรายรับรายจ่ายเเบบง่ายๆ
พ่อกิจเชื่อว่าเมื่อลูกรู้จักคุณค่าของเงินเเล้ว จะทำให้พวกเขามองเห็นคุณค่าของสิ่งนั้นตามไปด้วย
“เมื่อลูกเรารู้เรื่องเงิน เขาจะรู้คุณค่าของเงิน เเละคิดค้นวิธีการเเละวางเเผนเพื่อให้ถึงเป้าหมาย เมื่อวันหนึ่งเขามีครอบครัวเขาจะรู้เเละเก็บเงินเพื่อสิ่งที่เขาอยากได้ในอนาคต”
การสอนทักษะการเงินให้กับลูก คือจุดเริ่มต้นกระบวนการเรียนรู้การวางเเผน จัดการเเละออกเเบบเป้าหมายด้วยตัวเอง เขาจะรู้ว่าเป้าหมายปลายทางคืออะไร เเละทำอย่างไรถึงจะเดินไปถึงเป้าหมายนั้น หลังจากที่ทำได้เขาจะรู้สึกภูมิใจในตัวเองที่สามารถฝ่าฟันปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างทางได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่
“พ่อเเม่ไม่สามารถอยู่กับลูกได้ตลอด การเปิดโอกาสให้เขาลองเผชิญกับปัญหา ลองจัดการ วางเเผนด้วยตัวเอง จะทำให้เขากล้าตัดสินใจเเละมั่นใจ”
เมื่อวันหนึ่งที่เขาเติบโต เขาจะสามารถนำทักษะเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับชีวิตของตัวเอง งบการเงินในบ้านจึงไม่ใช่เรื่องของพ่อเเม่เเค่สองคน เเต่เป็นเรื่องของทุกคนในครอบครัวที่ควรรู้เพื่อร่วมกันวางเเผนอนาคตของครอบครัวร่วมกัน