เราแก้ความมืดด้วยความมืดไม่ได้ แต่เราเดินออกไปเปิดไฟที่ห้องอื่นได้ : พ่อแฟรงค์ เจษฎา เลิศวงวาณิชย์ และเฟียน เลิศ เลิศวงวาณิชย์

  • ‘เฟียน’ เลิศ เลิศวงวาณิชย์ ในวัย 17 ปีที่ยังคงมีวุฒิการศึกษาเพียงชั้นป.5 เพราะปัญหาระบบราชการไทย
  • ‘พ่อแฟรงค์’ เจษฎา เลิศวงวาณิชย์ จับมือกับลูกสู้กับระบบ เพื่อให้ลูกได้รับวุฒิการศึกษาที่เขาควรได้รับ
  • แม้ตอนนี้พวกเขาจะเผชิญกับคำว่า ‘แพ้’ จากคำตัดสินศาล แต่พ่อแฟรงค์และเฟียนยังคงไม่หมดหวัง

ในช่วงปีที่ผ่านมา มีเด็ก 1.2 ล้านคน หลุดออกจากระบบการศึกษาด้วยความไม่พร้อมของสภาพเศรษฐกิจ สังคม และครอบครัว และกำลังกลายเป็นปัญหาการศึกษาที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยในยุคโควิด-19 

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า รัฐมีหน้าที่โดยตรงในการจัดการศึกษาให้ประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ รวมถึงช่วยให้เด็กเข้าถึงสิทธิและโอกาสในการศึกษาอย่างเหมาะสม​ ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมามีการจัดตั้งองค์กรและกองทุนต่างๆ ขึ้นมามากมายเพื่อแก้ปัญหาที่พอกมานานของสังคมไทย 

แม้พ.ร.บ.จะกล่าวไว้อย่างชัดเจน หรือมีองค์กรที่พร้อมแก้ปัญหานี้ด้วยงบประมาณมากมาย แต่มีเด็กหนึ่งคนที่หลุดร่วงจากความหลุดลุ่ยของระบบราชการและการศึกษาไทย จากการตัดสินของศาลปกครองกลางที่สั่งยกฟ้องคดีเลื่อนชั้นของ ‘เฟียน’ เลิศ เลิศวงวาณิชย์ วัย 17 ปี ที่ยื่นฟ้องต่อสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 2 เมื่อปี 2563 ในกรณีละเลยต่อหน้าที่ไม่อนุมัติผลการศึกษาชั้นป.6 ส่งผลให้เฟียนในขณะนั้นแม้อายุ 15 ปี แต่มีวุฒิการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 

คำว่า ‘แพ้’ ที่ครอบครัวเลิศวงวาณิชย์ได้รับควรถูกตั้งคำถามดังๆ ว่าเป็น ‘ความพ่ายแพ้’ ของใครกันแน่ ระหว่างครอบครัวเลิศวงวาณิชย์ ระบบการศึกษา หรือหน่วยงานที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเด็กหลุดออกนอกระบบ 

เพราะครอบครัวเลิศวงวาณิชย์ไม่ได้ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม ยิ่งไปกว่านั้น ‘พ่อแฟรงค์’ เจษฎา เลิศวงวาณิชย์ ยังพร้อมทุ่มเทชีวิตของตัวเองให้กับการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางการจัดการศึกษาโดยครอบครัว (homeschool) และสนับสนุนความสามารถพิเศษทางด้านเปียโนของเฟียน จนกระทั่งฝีมือของเขาวันนี้เริ่มได้รับความสนใจจากนักวิชาการและนักดนตรีนานาประเทศ เขาเริ่มแต่งเพลงคลาสสิกตั้งแต่ 11 ปี 

‘พ่อแฟรงค์’ เจษฎา เลิศวงวาณิชย์ และ ‘เฟียน’ เลิศ เลิศวงวาณิชย์

เมื่ออายุ 14 ปี เขาสามารถนำเพลงที่ตัวเองแต่งขึ้นไปสอบวัดระดับด้านเปียโนแทนเพลงที่ถูกกำหนดโดยคณะกรรมการ 

เวทีนั้น ผลที่ออกมาไม่เพียง ‘ผ่าน’ แต่เขาได้รับการชื่นชมว่าทำได้อย่างดีเยี่ยม 

ฟังไม่ผิด เฟียนนี้คือเฟียนคนเดียวกับที่ศาลยกฟ้องและตัดสินให้เขามีวุฒิการศึกษาเพียงชั้นป.5 

และฟังไม่ผิดถ้าเราจะได้ยินเรื่องราวในบรรทัดต่อจากนี้ว่าเหตุที่มาอันไม่สมควรเกิดขึ้นนี้มาจากคำตอบจากสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยาว่า ‘ไม่ว่าง’ ‘ไม่พร้อม’

เรื่องเป็นมาอย่างไร จึงมาถึงบทสรุปว่า ‘แพ้’ 

พ่อแฟรงค์: เริ่มต้นเลย คือ ผมพาลูก (เฟียน เลิศ เลิศวงศ์วานิช) ไปยื่นขอจดทะเบียนโฮมสคูล (การศึกษาโดยครอบครัว) ที่สำนักงานเขตจังหวัดอยุธยา ตอนนั้นทางเจ้าหน้าที่เขตบอกว่าไม่พร้อม เลื่อนบ้าง ไม่ว่างบ้าง ประกอบกับตอนนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงประชวรอยู่ ทางเขตบอกว่าเขาไม่ว่าง ต้องจัดดอกไม้ ต้องสวดมนต์ ไม่ว่าง ไม่สะดวก และบอกว่าถ้าต้องการความสะดวกให้ไปกศน. ​(การศึกษานอกโรงเรียน) คือ ปฏิเสธมาเรื่อยๆ 

ประมาณเกือบ 2 ปีครึ่ง กว่าเขาจะติดต่อกลับมาบอกว่าให้มาทำยื่นอีกครั้ง ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสวรรคต พอเตรียมเอกสารเสร็จเรียบร้อย วันสุดท้ายที่เอกสารเสร็จ ยื่นแล้ว เขาเรียกผมให้ไปเซ็นชื่อ ขออนุมัติวันที่ 14 เมษา 2560 ผมจำได้แม่นยำเพราะตรงนั้นกลับกลายเป็นหลักฐานสำคัญที่ทางเขตและศาลใช้ในการตัดสินว่าครอบครัวผม ‘แพ้’ เขตไม่ได้ประเมินล่าช้า เนื่องจากเขานับวันที่ผมเซ็นชื่อ เขาไม่นับ 3 ปีที่ผ่านมาที่ผมพยายามติดต่อและพูดคุยกับทางเขต แม้เจ้าหน้าที่จะยอมรับกับผมว่าได้ดูเอกสารตั้งนานแล้ว แต่ทางเขตอ้างว่า ผมแค่เอาผลการเรียนรู้ไปให้ดู ไม่ได้ขอจดทะเบียน เขานับวันจดทะเบียนคือวันที่ผมเซ็นชื่อ 

ผลกระทบก็เลยมาอยู่ที่เฟียน เพราะช้าไปตั้ง 3 ปี ตอนนั้นความจริงเขาต้องอยู่ม.2 แต่มีวุฒิอยู่แค่ป.4 ผมก็พยายามติดต่อกับทางพี่นิ่ม (คุณธรรณพร คชรัตน์ สบายใจ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานสิทธิการศึกษาบ้านเรียนและศูนย์การเรียนไทย) 

พี่นิ่มเล่าว่าที่ผ่านมามีกรณีเทียบโอนวุฒิตามวัยแบบนี้มาก่อนแล้วหลายราย รวมทั้งลูกชายของพี่นิ่มเองด้วย เราตกลงกับทางเขตว่าจะขอเทียบในรูปแบบเดียวกับคนอื่นๆ ตอนนั้นเขตให้ความร่วมมือดี ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการฯ ก็มาประเมินจนเฟียนได้จบป.6 มีใบเกรดออกให้เรียบร้อย รวมถึงประเมินว่า ‘ดีเยี่ยม’ แต่สองอาทิตย์หลังจากนั้น ทางเขตติดต่อกลับมาว่า ไม่สามารถให้จบป.6 ได้แล้ว เนื่องจากผิดกฎ คือเขาออกกฎระเบียบนี้ไว้เพื่อกันเด็กในโรงเรียนปกติจะข้ามชั้นเยอะเกินไป เลยให้ข้ามได้แค่ปีละ 1 ชั้น ถ้าอยู่ป.4 ต้องขึ้นป.5  ขึ้นป.6 ไม่ได้ พอเราท้วงไป เขาบอกว่าสพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) อยู่สูงกว่าเขา เขาไม่มีอำนาจตัดสินใจ และถามไปทางสพฐ​.​แล้ว เขาตัดสินใจว่าจะไม่เดินเรื่องให้ โดยบอกว่าให้วุฒิเฟียนได้แค่ป.5 แต่ตอนนั้นตามอายุคือเฟียนอยู่ม.2 แล้ว 

ผมนึกว่าเราจะช่วยกันเพื่อให้เด็กเข้าไปสู่ชั้นวัยของตัวเองได้เร็วที่สุด แต่ปรากฏว่ามันไม่ใช่เลย ยื่นเรื่องกันอยู่ตั้งสองสามปี ผลปรากฏเป็นแบบนี้ ทั้งๆ ที่มันเป็นความล่าช้าของระบบราชการมาตั้งแต่เริ่ม ตอนนั้นผมก็ไม่ไหว เลยตัดสินใจขอความเป็นธรรมจากศาล ฟ้องร้องเพื่อให้ลูกได้วุฒิป.6 

ครั้งแรก ศาลชั้นต้นตัดสินมาว่า “ราชการไม่ได้ล่าช้า” เป็นเพราะผมต่างหากที่ยื่นล่าช้า โดยเขาพิจารณาจากลายเซ็นครั้งนั้นครั้งเดียว ผมแย้งศาลในเรื่องนี้ ศาลตอบกลับมาว่าขอหลักฐาน พ่อธรรมดาอย่างผมจะคิดได้เหรอว่า ณ​ ตอนนั้นเราต้องเก็บหลักฐานตอนไปติดต่อ เอาเทปไปบันทึก หรือเอาจดหมายไปให้เซ็น คือผมเชื่อมาตลอดว่าเขตจะช่วยเด็กให้เด็กมีวุฒิได้ ผมไม่เคยคิดว่าจะต้องใช้หลักฐานอะไร หรือต้องมาจบที่ศาล 

สุดท้ายศาลให้ยกฟ้อง และคำฟ้องของผมเป็นโมฆะ  เป็นอีกครั้งที่ผมรู้สึกตกใจ เพราะคิดว่าน่าจะชนะ เนื่องจากที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์บ้านเรียน พอจะฟ้องร้องกันจริงๆ ทางศาลและเจ้าหน้าที่เขาจะเห็นแก่เด็กเป็นอันดับหนึ่ง โดยทำยังไงก็ได้ให้เด็กจบ แต่กรณีนี้ไม่ใช่ กลายเป็นการสู้กันด้วยหลักฐาน ด้วยแง่มุมทางกฎหมาย สุดท้ายคือผม ‘แพ้’

แล้วทำอย่างไรต่อ

หลังจากนั้นผมก็ยื่นอุทธรณ์ แต่ระหว่างอุทธรณ์ผมไม่ได้อยู่เฉย คุณนิ่มพาผมเข้าไปคุยกับทางรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในตอนนั้น เขาก็รับฟัง แต่ผู้ช่วยของเขาก็พูดในที่ประชุมเลยว่าไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพราะแต่ละคนก็มีองค์กรของเขา คือเขาไม่ยุ่ง พูดง่ายๆ เขาอยู่แค่ระดับนโยบาย ไม่ยุ่งกันกับฝ่ายปฏิบัติงาน หลังจากนั้นสัก 2 เดือน รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการก็โทรมาหาผม เขาบอกผมว่าเฟียนมีศักยภาพมากเรื่องนี้ ปล่อยไว้ไม่ได้ เดี๋ยวจะรีบให้คนติดต่อมาดำเนินการให้เรียบร้อย และจะดำเนินการให้เร็วที่สุด ปรากฏว่าเรื่องเงียบ หายไปเลย ไม่มีใครติดต่อกลับมา ผมโทรไปหาท่านหลายครั้ง ท่านก็ไม่รับสาย ผมก็ไม่รู้จะทำยังไง ทางไหนก็เงียบไปหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีศึกษาฯ รัฐมนตรีช่วยฯ แล้วศาลก็ตัดสินแบบนี้ ผมไม่ได้ต้องการเอาชนะในศาลหรอก แต่ผมไม่รู้จะทำยังไง อยากให้ลูกจบมีวุฒิเท่านั้นเอง ปรากฏว่าอำนาจทุกอย่างที่มีอยู่ประเทศไทยเงียบหมด ไม่มีการขยับอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเด็กคนหนึ่งให้มีวุฒิได้

หนึ่งปีที่ผ่านมาที่รอให้ศาลตัดสิน ก็อย่างที่ทราบครับ ‘แพ้’ 

ถามเฟียนว่าหลังจากเหตุการณ์ทั้งหมด เฟียนรู้สึกอย่างไร 

เฟียน: พูดตรงๆ ผมก็รู้อยู่แล้วล่ะว่าแพ้ (ยิ้ม) และผมก็ไม่อยากรู้สึกเศร้าเกินไป ความเศร้าทำให้ผมไม่มีอิสระ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ เหมือนอยู่ในกรงขัง พอทุกอย่างจบแล้ว ก็คือจบ อารมณ์เหมือนดูหนังครับ เด็กหายตัวไปแล้วพ่อแม่ตามหาตั้งนาน พ่อแม่กังวล กินไม่ได้ นอนไม่หลับ แต่พอรู้ว่าตายก็เสียใจแล้วจบ ผมรู้สึกคล้ายๆ อย่างนั้น คือรู้ไปเลยว่าแพ้ จบ แล้วจะได้ไปทำอย่างอื่นต่อ

พ่อแฟรงค์​: เหมือนเฟียน คือ คิดอยู่แล้วว่าแพ้ เราพูดกันไว้แล้วว่าแพ้ แล้วก็แพ้จริงๆ เท่านั้นเอง แต่ก็รอฟังว่าศาลท่านตัดสินเป็นแบบไหน คือเราส่งหลักฐานไปว่ามีกรณีก่อนหน้านี้ที่เขาเคยเทียบโอนกันมาได้ และเขาก็ได้วุฒิกัน มีเด็กคนหนึ่งไม่มีวุฒิตั้งแต่ป.1 เขาก็เทียบไป ม.3 เลย รวดเดียวผ่าน สิ่งเหล่านี้ศาลท่านไม่หยิบมาพิจารณาเลย 

อะไรที่ทำให้รู้อยู่แล้วว่าแพ้ 

พ่อแฟรงค์: สำหรับผมเองพอได้ใช้ชีวิตกับความเป็นจริงบ้าง ก็เข้าใจว่าราชการเขามีกรอบของเขาในแต่ละหน่วยงาน ไม่สามารถทำงานข้ามกันได้ การจะได้รับความยุติธรรมต้องมีบันทึกว่าเขาผิดจริง หลักฐานต้องชัดเจนมาก ตั้งใจจับผิด ต้องเอาเทปไปบันทึกเลยตั้งแต่เริ่ม ถึงจะเอาผิดเขาได้ เพราะฉะนั้นมันไม่มีทางชนะ แต่เราเป็นพ่อ พอเป็นเรื่องลูก เราก็อยากลองพยายามให้ถึงที่สุด

เฟียนล่ะคะ อะไรที่ทำให้รู้สึกว่าอย่างไรก็แพ้

เพียน: ก่อนที่เราจะฟ้องก็จะมีจดหมายมา เขาเขียนในลักษณะที่ทำให้รู้อยู่แล้วว่าเราแพ้ แต่บางทีผมก็ยังมีหวังว่าศาลท่านอาจจะมีเมตตากับผมบ้างก็ได้​​ (ยิ้ม)

ทำไมถึงไม่พาลูกไปวิถีทางอื่น เช่น กศน. 

พ่อแฟรงค์: มีคนเข้าใจผิดคิดว่ากศน.(การศึกษานอกระบบ) คือโฮมสคูล (การศึกษาโดยครอบครัว) แต่จริงๆ แตกต่างกันครับ กฎหมายถึงถูกบัญญัติไว้ว่าเป็นคนละตัวกัน กฎหมายบ้านเรียนจะพูดถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการจัดการศึกษาโดยครอบครัว 

กศน.ไม่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนออกแบบหลักสูตรเอง หลักสูตรจะมาจากหลักสูตรกลางที่ย่อลงมา แนวทางนี้เหมาะกับผู้ที่ต้องการวุฒิ มีข้อดีคือจบการศึกษาเร็ว แต่ผมเลือกวิธีใช้สิทธิ์ยื่นจดทะเบียนบ้านเรียนกับเขต โดยเราลงทุนเขียนแผนการเรียนรู้ให้ลูกเอง เพราะเราเห็นว่าลูกมีความสามารถ อ่านโน้ตสากลได้คล่องตั้งแต่ประถมต้น เรียนแต่งเพลงคลาสสิกตั้งแต่ 11 ปี เรียนการเป็นวาทยากร อ่านโน้ตของวงออร์เคสตราได้คล่องตั้งแต่มัธยมต้น เรียนจบเกรด 8 เปียโนของ Trinity London ตอนอายุ 14 ปี หากไปทางกศน. ​เฟียนต้องใช้เวลาไปเรียนและไปสอบในสิ่งที่ไม่เหมาะกับตัวเขา แทนที่จะได้พัฒนาศักยภาพที่เขามีอย่างเต็มที่ ซึ่งผมก็คิดว่ามันเป็นสิทธิในฐานะประชาชนที่ทำได้ 

ผมยืนยันและสนับสนุนให้ครอบครัวที่สนใจอยากสนับสนุนลูกตามแนวทางนี้ใช้สิทธิ์ของบ้านเรียน เป็นสิทธิ์โดยชอบตามกฎหมาย เราออกแบบการเรียนของลูกได้ตามความถนัดของเขาจริงๆ  

โกรธไหม

พ่อแฟรงค์: เคยโกรธนะ แต่ตอนนี้ไม่โกรธแล้ว เขาก็ทำเรื่องของเขา เราก็ทำเรื่องของเรา

แต่เวลาคนอื่นฟังเรื่องนี้แล้วจะรู้สึกโกรธ

พ่อแฟรงค์: ใช่ๆ บางคนฟังแล้วโกรธมาก

เฟียน: บางเรื่อง ถ้าเราโกรธจะเป็นเรื่องใหญ่ เราต้องพยายามทำให้เรื่องมันเล็กลง ถ้าทำให้เรื่องมันใหญ่ มันจะไปไกล ก็จะโกรธไปไกล

ทำใหญ่ให้มันเล็กทำอย่างไร

พ่อแฟรงค์: ก็ไม่ต้องไปสนใจ 

ไม่สนใจเท่ากับคำว่าหมดหวังหรือเปล่า

พ่อแฟรงค์: ผมไม่มีคำว่าหมดหวังกับลูกอยู่แล้ว แต่ในเรื่องราชการขอใช้คำว่าไม่สนใจแล้วดีกว่า ขอมองโลกใบนี้ให้มันกว้างกว่าประเทศนี้

ไม่หมดหวังในลูก แต่หมดหวังกับรัฐ

พ่อแฟรงค์: เขาเป็นของเขาอยู่แล้ว ผมไม่ตัดสินเขาดีกว่า แม้จะถูกเขาตัดสิน  เพราะเวลาที่ผมไปตัดสินกับเขา ผมต้องไปจมอยู่กับเขา ไม่เอาดีกว่า 

มหาวิทยาลัยที่รู้ความสามารถของเด็กแบบนี้ทำอะไรได้บ้างไหม

พ่อแฟรงค์: มหา’ลัยไทยทำอะไรไม่ได้ อย่างที่บอกคือ ระบบในประเทศไทยมันแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบออกเป็นส่วนๆ ไม่ทำงานข้ามส่วนกัน อาจารย์ที่สอนประพันธ์เพลงให้เฟียนบอกพวกเรานะว่า ฝีมือแบบเฟียนนี่ถ้าไป Paris Conservatory เขารับเลย อายุเท่าไหร่เขาก็รับ เข้าไปเรียนปริญญาตรีได้โดยไม่ต้องมีใบอะไรเลย เพียงแค่มีฝีมือ แต่ในประเทศไทยเราทำแบบนั้นไม่ได้

กว่าเฟียนจะมาถึงจุดนี้ คุณพ่อเริ่มต้นทำโฮมสคูลอย่างไร

พ่อแฟรงค์: ตอนเฟียนอยู่ป. 4 ผมคุยเรื่องนี้กับลูกหลังไปแข่งไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ว่าเราจะเอาดีทางนี้ดีไหม คือตอนนั้นเราพบว่าเฟียนอ่านและเขียนหนังสือได้ช้ากว่าคนอื่นสองปี ซึ่งส่งผลให้เวลาเขาเรียนในห้องกับเพื่อนคนอื่นเขาจะสอบได้ที่โหล่ เราก็ต้องหาวิธีให้ลูกพัฒนาสิ่งดีที่เขามีอยู่ในตัวก็คือดนตรี 

ผมพาเฟียนออกมาจากโรงเรียน แล้วก็ร่างหลักสูตรขึ้นมา ตั้งเป้าหมายกับลูกว่าเราจะไปตรงนี้ด้วยกัน แล้วเราจะต้องช่วยกันทำอะไรบ้างเพื่อให้ไปตรงที่เราอยากได้ด้วยกันนี้ได้ ซึ่งวิธีของผมกับเฟียนในเรื่องดนตรีก็ไม่ได้ไปทิศทางเดียวกับเด็กที่มีพรสวรรค์ด้านดนตรีคนอื่นๆ ที่ใช้วิธีแข่งขัน ผมไม่ได้บอกว่าแข่งไม่ดี แต่การแข่งไม่เหมาะกับเฟียน 

ผมเคยพาเฟียนไปลองแข่งทีหนึ่ง แต่แล้วเรากลับมานั่งพิจารณากันว่าสิ่งที่เสียไปมันคุ้มกับสิ่งที่ได้มาไหม พบว่ามันไม่คุ้ม มันทำลายความสร้างสรรค์ของเขา มันทำให้เขาเครียด เพราะสายแข่งเขาจะแบบเฉือนกันนิดเดียว แต่มันก็วัดยาก เพราะคนที่ตัดสินไม่ใช่ตัวเรา คนตัดสินคือคนอื่น แล้วดนตรีเป็นสิ่งที่ไม่เหมือนกีฬา กีฬาวัดได้เป็นวินาที แต่ความไพเราะของดนตรีมันตอบยากว่าจะใช้อะไรตัดสิน แล้วก็ไม่ใช่แค่เรื่องฝีมือ ยังมีการเมืองอีก มีเด็กใคร ลูกศิษย์ใคร บางครั้งเราเห็นว่าคนนี้เล่นบนเวทีเก่งจังเลยน่าจะชนะ แต่เขาไม่ชนะ พอไปดูชื่อ อ๋อ เขาเป็นลูกศิษย์ของคนนี้ อะไรแบบนี้ผมว่ามันไม่ได้เป็นผลดีกับใคร ทั้งเด็กที่ชนะ และเด็กที่แพ้

เฟียน: มันมีแต่ความเจ็บปวด

พ่อแฟรงค์: มันเจ็บปวด แล้วถ้าศิลปินคนนี้เจ็บปวด ศิลปินก็ไม่อยากสร้างสรรค์งาน แล้วไม่ได้เจ็บปวดครั้งเดียว แข่งแล้วแข่งเล่า แพ้อยู่อย่างนั้น เป้าหมายในชีวิตที่เป็นการสร้างงานให้เป็นที่ยอมรับก็จะถูกเปลี่ยนเป็นว่าแข่งยังไงให้ชนะ ซึ่งกลายเป็นให้คนอื่นมาควบคุม มาตั้งกติกา มาตัดสินเรา พอคิดมุมนี้ได้ ผมเลยเลือกไม่เดินทางนี้ 

แต่พอไม่ได้แข่งเหมือนคนอื่น โจทย์ของเฟียนก็คือต้องสร้างงานสิ คือไปเรียน ประพันธ์เพลงคลาสสิกตั้งแต่เด็กเลย แล้วก็ไปเรียนทฤษฎีดนตรีเพื่อจะได้ส่งเสริมงานด้านนี้ พอมีเวิร์กชอปจากต่างประเทศมา พวกเราก็จะตามข่าวแล้วไปเรียน ไปเข้าคลาส ก็จะมีศิลปินดีๆ มีอาจารย์ดีๆ มาแนะนำเทคนิคต่างๆ สิ่งนี้รับรองว่าในเวทีการแข่งขันไม่มี 

ช่วงโควิดก็เหมือนกันเป็นช่วงที่มีการแข่งมากสุดเป็นประวัติการณ์ แข่งและได้เหรียญกันหมด ทุกคนจะมีเหรียญสักเหรียญหนึ่งแน่นอน แต่พอปัจจุบันหลังโควิด คนที่เคยแข่งในประเทศไทยที่เก่งๆ เจ๋งๆ แล้วมีชื่อเสียง คนเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นธรรมดาไปหมดแล้ว เพราะการแข่งแบบนั้นทำให้รางวัลเฟ้อ มีเยอะไปหมด

ตอนคุณพ่อชวนทำโฮมสคูล เฟียนรู้สึกอย่างไร

เฟียน: ดีใจ (ยิ้ม) รู้มั้ยครับ ตอนที่ผมอยู่โรงเรียนตั้งแต่อนุบาลเลย คือผมเรียนไม่ได้เท่าเขาจริงๆ บางทีผมไม่เข้าใจว่า ทำไมเพื่อนเรียนได้เก่งจังเลย ทำไมเราไม่เข้าใจเลย การไปโรงเรียนมันก็เครียด บางทีผมเรียนไปเรื่อยๆ ผมไม่เข้าใจก็จะหลับ โดนครูด่า สมัยก่อนพ่อแม่คิดว่าผมกวนตีน แต่จริงๆ ผมไม่ได้กวนตีน คือผมไม่รู้จริงๆ ไม่รู้เรื่องก็เลยหลับ

แต่ตอนนั้นผมเล่นเปียโนอยู่แล้ว คือผมรู้สึกรักเปียโน อยากทำสิ่งนี้ แล้วอยู่ดีๆ วันหนึ่งพ่อก็ถามว่า เรามาทำโฮมสคูลมั้ย ผมรีบตอบเลยว่า ‘เอา’ เพราะผมจะได้ทำในสิ่งที่รัก คือดีใจมาก

เฟียนเวอร์ชันอยู่ในโรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง

เฟียน: ผมเป็นเด็กที่ชอบอยู่กับตัวเอง อยู่กับสิ่งที่ตัวเองชอบ บางทีเพื่อนบูลลี่ผม ผมก็ไม่ค่อยรู้สึกอะไร เพราะผมไม่ค่อยฟังคนอื่น มันก็เลยไม่ค่อยรู้เรื่อง ผมเริ่มมารู้และเข้าใจหลังจากนั้นว่าอย่างนี้เรียกว่าโดน ‘บูลลี่’

เฟียนรู้ชัดเจนว่าโดนบูลลี่?

พ่อแฟรงค์: รู้

เฟียน: รู้แต่ว่าไม่สน คือผมไม่สนใจ

ตอนนั้นคุณพ่อรู้ไหมว่าเฟียนต่างจากเพื่อน

พ่อแฟรงค์: ก็แค่ผลการเรียนเท่านั้นนะที่ผมว่าแตกต่าง ตอนแรกผมเข้าใจว่าเขาขี้เกียจแต่พอไปตรวจกับคุณหมอ ก็เลยรู้ ทราบตอนแรกก็เสียใจนะ ที่ไปตัดสินเขา เข้าใจเขาผิด ผมเสียใจมาก คือเขาไม่ได้ขี้เกียจอย่างที่เราตัดสิน แต่เวลาเขามองตัวหนังสือ เขาจะไม่เห็นเหมือนเรา สมมติ บ.ใบไม้ กับ ผ.ผึ้ง เขาจะมองเห็นว่ามันเหมือนกัน เพราะสมองเขาเห็นเป็นภาพรวม ทุกอย่างจำเป็นภาพหมด  

ไม่ใช่เสียใจที่รู้ว่าลูกเราไม่เหมือนคนอื่น แต่เสียใจที่ไปตัดสินเขาในตอนแรก

พ่อแฟรงค์: เสียใจตัวเอง ที่เข้าใจผิด ไปตัดสินเขา

จัดโฮมสคูลมากี่ปีแล้วคะ

พ่อแฟรงค์: ตั้งแต่ป.4 คือ ปี 2014 ตอนนี้ 2022 ก็ประมาณ​ 8 ปี

เวลา 24 ชั่วโมง 8 ปีให้ลูกทั้งหมด สำหรับความเป็นพ่อ เป็นอย่างไรบ้างคะ

พ่อแฟรงค์: ถ้าลูกไปโรงเรียนปกติ เราจะมีเวลาส่วนตัวหกชั่วโมงพอไปส่งลูกปุ๊บแล้วเราจะไปทำอะไรก็ได้ บ่ายสองค่อยกลับไปรับ แต่พอโฮมสคูล เราจะไม่เหลือมันเลยฮะ เวลา 24 ชั่วโมงของเราจะเป็นของลูกทั้งหมด ตอนที่ตัดสินใจทำโฮมสคูล ผมก็มานั่งคิดว่าผมแลกได้ไหม นั่นคือข้อที่ใหญ่ที่สุดของผมในการคิดเลยนะ เพราะต่อไปจะไม่มีเวลาส่วนตัวอีกแล้ว แต่พอคุยกับลูกแล้วเห็นลูกดีใจ ผมตัดสินใจทันที แล้วก็เปลี่ยนตัวเองหมดเลย ตื่นให้เช้าขึ้น ไปวิ่งออกกำลังกาย ทำทุกอย่างเป็นระบบ ชั่วโมงนี้ไปทำนั้น ชั่วโมงนั้นทำอย่างนี้ เพื่อให้แต่ละอย่างมันมีจังหวะ และค่อยๆ พัฒนาไปทีละนิด 

แรกๆ รู้สึกทรมาน แต่ก็ต้องหาทางให้ตัวเรากลับมาอยู่กับลูกให้ได้ จนสักพักหนึ่ง เราพบว่าเราทิ้งตัวตนเดิมของเราได้ สร้างตัวตนใหม่ เป็นตัวตนที่อยู่กับลูกขึ้นมาแทน แล้วมันก็ใหญ่ขึ้นมาเรื่อยๆ แทนที่ตัวตนเดิม ผมไม่ได้รู้สึกโหยหาสิ่งที่เคยทำในอดีต มันไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว มันไม่สำคัญอีกแล้ว มันมีสิ่งที่สนุกกว่านั้น คือการได้อยู่กับลูก 

เฟียนมองคุณพ่ออย่างไรบ้างคะ

เฟียน: มองว่าคุณพ่อเป็นคนที่รักผมมากๆ และเป็นคนที่ช่วยผมทุกอย่าง สามารถพูดได้ว่าเราเป็น ‘พวกเดียวกัน’

เฟียนวางแผนตัวเองไว้อย่างไรบ้างคะ

เฟียน: ผมอยากทำดนตรีคลาสสิกที่ทุกคนฟังได้ครับ ดนตรีคลาสสิกเวลาแสดงมักจะมีแต่คนที่มีรสนิยมมากๆ  ฟัง ผมอยากทำให้เพลงคลาสสิกเป็นเพลงฟังง่ายๆ เด็กหรือวัยรุ่นฟังง่าย เข้าถึงได้ง่าย เด็กบางคนจะมาเรียนดนตรีคลาสสิกพ่อแม่ต้องบังคับ แต่พอฟังแบล็กพิงค์ ไม่ต้องบังคับเลย ก็เลยคิดว่าอยากให้ดนตรีคลาสสิกมันมีความเหมือนไอดอล ฟังง่าย เข้าถึงง่าย 

พ่อแฟรงค์: ช่วงโควิด มุมมองดนตรีของเฟียนเปลี่ยนไป เนื่องจากว่าเขามาทางสายนี้ แล้วก็มีความสามารถ ตอนแรกผมก็พยายามทำให้เขาเก่งที่สุด แต่เราลืมไปอย่างหนึ่งว่า ความเก่งของเขามันต้องทิ้งคนดูไป เนื่องจากเพลงที่อยู่ในระดับสูง มันเป็นเพลงซับซ้อน ยาก ฟังไม่รู้เรื่อง บวกกับในช่วงสองปีที่ผ่านมา แต่ละวงที่เราเคยเห็นว่าเขามีงานเยอะๆ เขาไม่สามารถแสดงได้เลย นักแสดงดนตรีนี่ต้องไปทำงานอย่างอื่นเลย พอโควิดปุ๊บเขาไม่มีงานแล้ว ถ้าไม่มีงานก็ไม่มีเงิน จบเลย บางคนต้องมาส่งพิซซา แบบนี้ไม่ใช่แล้ว มันไม่น่าใช่ทิศทางที่เราจะทำให้มันฟังยากขึ้นและคนฟังน้อยลง แต่มันน่าจะทำให้ความซับซ้อนลดลงแล้ว ทำให้คนฟังเข้าใจได้ง่ายและมีคนฟังมากขึ้น 

เราต้องกลับมาที่คนฟัง เพลงอะไรที่คนชอบ ก็เอาความง่ายมาถ่ายทอดให้มีชั้นเชิง แต่งเพลงให้มันโดน แล้วเข้าห้องอัด ทำมิวสิกวิดีโอให้โดน เพื่อจะได้ไปสู่ตลาดสากล ไม่เอาแล้วที่จะทำให้มันยาก โจทย์ใหม่ของเฟียนคือจะทำยังไงให้เด็กมีแรงบันดาลใจอยากมาเรียนดนตรีคลาสสิกได้โดยพ่อแม่ไม่ต้องบังคับ 

เฟียนดูอย่างไรที่บอกว่าเด็กๆ หรือเพื่อนๆ ถูกบังคับให้เรียนดนตรี

เฟียน: มันจะเป็นแบบเบื่อๆ อารมณ์เหมือนโดนบังคับให้เรียน แล้วก็บางทีพอเขาเห็นผม เขาก็ไม่ชอบนะ เขาจะบอกว่าอย่าให้พ่อแม่ผมเห็นพี่เล่นอย่างนี้นะ พ่อแม่เห็นแล้วผมตายแน่ จะแบบ ดูพี่เฟียนสิ เขาทำได้ขนาดนี้ คือเด็กจะซวยไปเลย

ทะเลาะกันบ้างไหมคะ อยู่ด้วยกันเยอะๆ  แบบนี้

พ่อแฟรงค์: ถ้าผิดผมก็ขอโทษเลย ง่ายๆ เคลียร์ให้จบ เด็กๆ ที่มีเรื่องค้างคาใจโกรธแม่โกรธพ่อ เพราะว่าไม่ได้เคลียร์กัน แต่ของผมนี่พอเกิดเหตุการณ์ผมเคลียร์เลย พอเคลียร์ปุ๊บลูกก็จะไม่ติดใจ ไปด้วยกันเรื่อยๆ ได้

ด้วยความที่เราใกล้ชิดอยู่กับชีวิตและการเติบโตของลูกมาตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง พอวัยเปลี่ยน มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปไหม

พ่อแฟรงค์: คือเด็กเล็กเปรียบเสมือนดักแด้น่ารัก พอวัยรุ่นเขาเป็นผีเสื้อเลย เขาเป็นทันที เขาเปลี่ยนแบบวันนี้ธรรมดา พรุ่งนี้เปลี่ยนเลย พอเปลี่ยนแล้ว เรารู้ เราก็ต้องปรับจากพ่อที่แสนดีอบอุ่น ก็ต้องเปลี่ยนเป็นหัวหน้าแก๊ง พาลูกไปนู่นไปนี่แทน

เฟียน: หัวหน้ามาเฟียครับผม

พ่อแฟรงค์: โดยส่วนใหญ่ พ่อแม่วัยรุ่นที่มีปัญหาก็เพราะว่า พ่อแม่มักจะอยากได้ลูกคนเดิมกลับมา แต่มันไม่มีแล้ว แม้แต่ลูกสาวก็ไม่ใช่คนเดิมคนนั้นแล้ว เขาเปลี่ยนไปแล้ว แล้วเขาเปลี่ยนเลยด้วย สิ่งที่เราต้องทำไม่ใช่ห้ามเขาเปลี่ยน แต่พ่อแม่ต้องเปลี่ยนตามเขา

สิ่งหนึ่งที่เรารับรู้ได้จากการพูดคุยในวันนี้คือ คุณพ่อกับเฟียนไม่ได้ติดกับความผิดหวังที่ได้รับจากการแพ้คดี แต่มูฟออนไปได้เลย อะไรที่ทำให้ตัดมันง่ายขนาดนั้น 

พ่อแฟรงค์: เคล็ดลับของเราคือ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นคำชม หรือแม้แต่สูงสุดของรางวัลจะเป็นอะไร เราจะมีความสุขและดื่มด่ำกับมันแป๊บเดียวพอ จากนั้นวางมันลงเลย เพราะถ้าเรากอดมันไว้ มันจะเป็นตัวตน แล้วมันจะอยู่ตรงนั้นนาน แล้วจะไปยึดติดกับมันอีก แล้วเราจะคิดว่าเราเหนือคนอื่น อีโก้ขึ้นไปอีก 

ทั้งๆ ที่จริงอีโก้มันไม่ช่วยในการพัฒนาเลย มันเป็นแค่การต่อรองทางสังคมเท่านั้น การพัฒนาจริงๆ มันคือการฝึกฝนแล้วก็สร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นเวลามีคนมาชมเฟียน เฟียนก็ดีใจ แต่ว่าเฟียนก็ควรต้องรีบวางมันลง ไม่อย่างนั้นจะไม่พัฒนา

ส่วนความทุกข์นี่ไม่ต้องพูดถึง รีบวางมันลงให้เร็วที่สุด อย่าไปดื่มด่ำกับมัน พอรู้ว่าผิดหวังก็โยนมันทิ้งไปเลย แล้วก็แทนที่ด้วยเรื่องอื่นๆ ทันที ต้องทันทีด้วยนะ พอเรารู้ตัวว่าเราคิด เราทุกข์ ให้ ไปทำอย่างอื่นเลย ไปสู่บรรยากาศอื่น ไปป่า ไปทำให้เราหลุดออกไปจากตัวตน มีคนถามว่า ทำไมถึงชอบไปป่า เพราะเวลาเราอยู่ในป่า อยู่กับน้ำตก ธรรมชาติ ตัวเรานิดเดียวเอง เล็กมากๆ เดินไปในป่าถ้าเกิดมีกระทิงโผล่มาเราก็ตาย โดนงูกัดเราก็ตาย แล้วทำไมพอกลับมาบ้าน กลับมาในเมือง เรายิ่งใหญ่ เราเหนือคนอื่นจังเลย

เพราะฉะนั้นการวางสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุกข์หรือเรื่องอะไร ถ้าความทุกข์ต่างๆ มันคือความมืด เราแก้ความมืดด้วยความมืดไม่ได้ แต่เราเดินออกจากห้องนี้ไปเปิดไฟห้องอื่นได้ หรือไม่ก็เปิดไฟในห้องนี้เลยแล้วความมืดมันก็จะหายไปเอง


Writer

Avatar photo

มิรา เวฬุภาค

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

Photographer

Avatar photo

อนุชิต นิ่มตลุง

ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว จนถึงสารคดี ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision เพิ่งตัดสายสะดือเป็นคุณพ่อหมาดๆ เมื่อเมษาที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563)

Related Posts