“การเล่น เป็นธรรมชาติ เป็นเรื่องสนุกสนาน มีความสุข และเป็นพื้นฐานในการพัฒนาชีวิตของเด็ก แต่ผู้ใหญ่มักคาดหวังถึงสิ่งที่จะได้รับจากการเล่น มุ่งการเรียนรู้จนหลงลืมธรรมชาติของพวกเขา เด็กต้องการการเล่นที่สนุกสนาน อิสระ พื้นที่และเวลาในการเล่น ส่วนเรื่องการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้การเล่น”
นี้คือบางส่วนจากคำนำหนังสือ ‘คู่มือการเล่นอิสระ’ โดย กลุ่มไม้ขีดไฟ ที่เมื่อผู้เขียนอ่านแล้วก็รู้ว่าเป็นหนึ่งในคำนิยาม ‘การเล่น’ (Play) ได้อย่างดี
เมื่อเราโตเป็นผู้ใหญ่ เชื่อว่า หากให้ย้อนนึกถึง ‘การเล่น’ เหล่านั้นอาจเป็นสิ่งที่อยู่ในความทรงจำที่จางแสนจาง อาจเพราะกาลเวลาผ่านล่วงเลยมานานจนจำไม่ได้
แต่อย่างไรก็ดี เราหลายคนล้วนเคยเป็นเด็ก เคยหยิบชิ้นส่วนวัสดุเล็กๆ เท่าที่จะหาได้รอบตัวมาลองต่อๆ จนกลายเป็นของเล่นทำมือ หรือกระทั่งการเดินเข้าสนามเด็กเล่นแล้วมองหาเครื่องเล่นชิ้นโปรดกับเพื่อนๆ ที่รู้ใจ เล่นสนุกกันเพลินจนอาจลืมเวลาแล้วรู้ตัวอีกทีตอนที่คุณครูมาตาม
ถึงแม้ว่าเด็กๆ จะมี ‘ของเล่น’ มากมาย หากแต่ในหลายต่อหลายครั้งเราเองก็อาจลองเล่นอะไรตามใจอยาก และนั่นอาจไม่ใช่ประสบการณ์ที่หาได้ตามของเล่นสำเร็จรูปทั่วๆ ไปก็เป็นได้ เพราะเด็กๆ ต่างจินตนาการสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างไม่รู้จบ
ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานั้นอาจกล่าวได้ว่าคือคำนิยามของ ‘การเล่นอิสระ’ (Free Play) ที่เกิดจากความต้องการและแรงขับภายในของเด็กๆ เอง ดังนั้นการเล่นจึงเปรียบได้กับการออกเดินทางสำรวจโลกของพวกเขา ทั้งในแง่ของการเรียนรู้ตนเอง การสร้างสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง และการเรียนรู้โลกกว้างผ่านความเป็นไปได้ใหม่ๆ เท่าที่จินตนาการอันกว้างไกลจะพาไปถึง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการเล่นที่เล่นเพื่อความสนุกสนานหรือการผ่อนคลายอารมณ์นั้นย่อมส่งผลที่ดีต่อสมองของเด็กๆ ให้มีแรงจูงใจและมีการตื่นตัวได้อย่างมากที่สุด ทั้งในแง่ร่างกายก็มองว่า การเล่นคือการสร้างเสริมมัดกำลังที่ดี ในแง่จิตใจก็ช่วยให้เขาได้สำรวจความสนุกใหม่ๆ อย่างไม่รู้จบ
การเล่นมีหลากหลายรูปแบบ แน่นอนว่า การเล่นอิสระ (Free Play) คือหนึ่งในนั้น ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นการเล่นในรูปแบบที่เด็กๆ จะเป็นคนเลือกกิจกรรมขึ้นเอง ไม่มีการกำหนดรูปแบบและวิธีการเล่นที่ตายตัว รวมถึงไม่ถูกบังคับจากใคร
“การเล่นทำให้เด็กๆ มีโอกาสฝึกฝนสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้”
คำกล่าวสำคัญจาก เฟร็ด โรเจอร์ส (Fred Rogers) พิธีกรรายการโทรทัศน์ นักเขียน โปรดิวเซอร์ และรัฐมนตรีรัฐเพรสไบทีเรียน ชาวอเมริกัน ยิ่งทำให้เราเล่นความสำคัญของ ‘การเล่น’ ได้เป็นอย่างดี
หากถามว่า แล้วเราจะเล่นอิสระได้อย่างไรบ้าง? คำตอบมีมากมายและหลากหลาย แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือไม่พ้น ‘ความอิสระ’ ที่เราต่างคุยกันมาตั้งแต่ต้น
การเล่นโดยไม่มีเป้าหมาย ไม่เล่นเพื่อต้องการคำชมหรือรางวัล
เล่นอย่างสนุกสนานและเต็มใจ ไม่ถูกบังคับ
ในบางครั้งก็เล่นโดยปราศจากกาลเวลา
ไม่ต้องคอยกังวลถึงภาพลักษณ์ว่าจะเป็นอย่างไร
สามารถเล่นแบบด้นสด (improvise) หรือ role play เป็นสิ่งต่างๆ ได้
ข้างต้นนี้ล้วนนับเป็นการเล่นอิสระทั้งสิ้น
และทั้งหมดนี้ต้องเล่นด้วย ‘ความสนุก’ อันเป็นส่วนสำคัญที่สุด
อาจเริ่มต้นง่ายๆ จาก การปล่อยให้พวกเขาโลดแล่นอย่างอิสระและไร้ซึ่งเงื่อนไข มุมมอง การตัดสิน และข้อกำหนดจากผู้ใหญ่ ให้เด็กๆ เป็นศูนย์กลางในการตัดสินใจว่า จะ ‘เล่น’ อย่างไร โดยไม่มีเป้าหมายอะไรมาขวางกั้น เหล่านั้นจะทำให้พวกเขาผ่อนคลายและเป็นตัวเองได้อย่างดี ในขณะเดียวกันก็เรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับผู้อื่นไปด้วย
ดังนั้น ‘การเล่น’ ในฐานะเป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่ใช้ประสาทสัมผัส รวมถึงช่วยพัฒนาจิตใจนั้น จึงไม่ควรถูกละเลยความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นอิสระที่เด็กๆ ได้มีโอกาสเป็นเจ้าของและผู้นำในการเล่นด้วยตนเอง เราจึงควรให้น้ำหนักและความสำคัญไปกับการเล่นให้มากขึ้น
และผู้เขียนก็เชื่อเหลือเกินว่า ไม่ว่าจะเล่นที่ไหน อย่างไร ก็ล้วนสนุกและเกิดการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุดในทุกที่
อ้างอิง :
https://childimpact.co/learning/Free-Play
https://mappamedia.co/posts/lets-play-festival/?fbclid=IwY2xjawGAgzpleHRuA2FlbQIxMAABHaovfqwlpP9ef1OmFmao8ks_Iox093r98k2bBzNV__pCTxPOuU-p2OWBmA_aem_cLs6Zn5uYhnbE3Z4ADowKQ
https://mappamedia.co/posts/recreate-our-play-relearn-festival
https://mappamedia.co/posts/kitblox-yarinda-2
https://www.pinerest.org/newsroom/articles/importance-free-play-blog/
https://www.cotlands.org/types-free-play/