ในบรรดาความสุขทั้งหลายที่มีในชีวิต การมีความสุขที่ได้เป็นตัวเองอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการได้แสดงความคิดเห็น การแสดงออก การแต่งกาย และการกระทำใดๆ ในรูปแบบอื่นที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่เบียดเบียนหรือทำให้ใครเดือดร้อนนั้น เป็นสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมีตามหลักสิทธิมนุษยชน หรือกล่าวโดยย่อว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นตัวเองได้อย่างมีความสุข
แต่ในบางพื้นที่อย่างสถานศึกษา ก็ยังคงมีกฎระเบียบที่ตั้งขึ้นด้วยเหตุผลเพื่อสร้างระเบียบวินัย เช่น กฎการแต่งกายหรือไว้ทรงผมตาม ‘ความเหมาะสม’ โดยอำนาจในการตัดสินความเหมาะสมของเครื่องแบบและทรงผมนั้น กลับไม่ได้เป็นของเจ้าของทรงผมและเครื่องแต่งกาย แต่กลับกลายเป็นของ ‘ผู้มีอำนาจ’ ในแต่ละสถานศึกษา
รวมไปถึงกฎระเบียบที่มีนั้นก็อาจไม่ครอบคลุมถึงความหลากหลายที่มีในรั้วโรงเรียน สถานศึกษาจึงอาจไม่ได้สนับสนุนสิทธิเสรีภาพและการเป็นตัวเองของทุกคน อย่างที่ควรจะเป็น
แม้โรงเรียนส่วนใหญ่จะยังคงยึดใช้ระเบียบข้อบังคับแบบเดิม แต่ก็มีโรงเรียนบางส่วนที่เริ่มเปิดรับความหลากหลายภายใต้กฎระเบียบโดยไม่จำเป็นต้องรอนโยบาย อย่างที่ โรงเรียนศรีบุญเรืองวิทยาคาร จ. หนองบัวลำภู ที่ครูและนักเรียนสามารถแต่งกายและไว้ทรงผมตามเพศวิถีของตัวเองได้ โดยมีจุดเริ่มต้นจากผู้อำนวยการที่รับฟังเสียงความต้องการของทุกคนในโรงเรียน
วันนี้ Mappa พามาฟังเสียงของคุณครูและนักเรียนเพศหลากหลายที่ได้เป็นตัวของตัวเองในรั้วโรงเรียน มาดูกันว่าคุณค่าของการได้เป็นตัวเองที่ได้รับมาจากการได้แต่งกายตามเพศสภาพจะเป็นอย่างไร
กฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อทุกเพศสภาพ
ไทยแลนด์ คือประเทศที่ใครต่อใครนับว่าเปิดกว้างในการแสดงออกทางเพศ และเป็นสังคมที่เป็นมิตรกับ LGBTQI+ กว่าอีกหลาย ๆ ประเทศ… แต่จริงหรือ?
กล่าวถึงเรื่องเพศ สังคมมักเข้าใจว่าเพศมีเพียงชายและหญิงเท่านั้น เสื้อผ้าหรือสิ่งของจึงถูกรังสรรค์ขึ้นโดยมีลักษณะทางกายภาพมาเป็นเกณฑ์ ทว่าในมิติอื่น ๆ เช่นมิติทางสังคม เพศอาจซับซ้อนกว่านั้น บ่อยครั้งที่คนเราอาจมีเพศกำเนิด และเพศทางจิตใจที่ไม่ได้ไปทางเดียวกัน แม้เราไม่ได้มีสิทธิเลือกเพศทางกายภาพของเราตอนกำเนิดได้ แต่เรามีสิ่งที่มาทดแทนคือ สิทธิในร่างกายของตนเอง เราสามารถเลือกได้ว่าจะจัดการกับร่างกายของตนเองอย่างไร ไม่ว่าจะเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศหรือการแสดงออกทางเพศ นี่จึงเป็นเหตุที่เพศมีความหลากหลายมากกว่าแค่หญิงหรือชาย
(ทำความรู้จักกับ “จักรวาลของผู้มีความหลากหลายทางเพศ LGBTI+” เพิ่มเติมได้ที่: https://fkwp.mappamedia.co/lgbti-vocabulary/)
การที่โรงเรียนจำนวนมากในสังคมไทยยังคงใช้กฎระเบียบการแต่งกายและไว้ทรงผมแบบเดิม ซึ่งอาจไม่ครอบคลุมความหลากหลายทางเพศที่มีในรั้วโรงเรียนได้ ทำให้ ‘เม-พีรพัฒน์ หัดทะแสง’ นักเรียนเพศสภาพหญิงที่เดิมต้องแต่งชุดนักเรียนชายมาโรงเรียนตามกฎ รู้สึกไม่มั่นใจในตนเองเมื่อมีสายตาคนภายนอกจับจ้องทุกครั้ง แม้ว่าเธอจะได้ไว้ผมยาวตามเพศสภาพที่ต้องการก็ตาม
“เมื่อสามปีก่อน โรงเรียนได้อนุญาตให้ LGBTQ+ ไว้ผมยาวและเลือกทรงผมได้เอง แต่เวลาเราใส่ชุดผู้ชายไปข้างนอกหลังเลิกเรียน บางทีจะถูกมองแปลกไปว่าเป็นเด็กผู้หญิง ทำไมใส่ชุดนักเรียนผู้ชาย ตอนอยู่ในโรงเรียนทุกคนรับรู้ เข้าใจ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่พอไปข้างนอกคนอื่นก็จะมองเราแปลก”
เช่นเดียวกับ ‘ครูเมย์-ปทุมพร จันทรักษ์’ คุณครูเพศสภาพชาย ที่ต้องสวมกระโปรงตามเพศกำเนิดหญิงมาปฏิบัติหน้าที่ตามกฎระเบียบ แม้จะไม่สะดวกในการทำงาน
“กฎเดิมคือให้แต่งกายตามเพศกำเนิด เพศหญิงใส่กระโปรง เพศชายใส่กางเกง ทำให้ทำอะไรได้ไม่เต็มที่และเป็นอุปสรรคในการทำงาน เช่น การเดินขึ้นลงบันไดไปสอน ต้องขึ้นลงถึง 4 ชั้น ทำให้ไม่กระฉับกระเฉง อีกเหตุผลคือ เราอยากแต่งกายในสิ่งที่เราต้องการและได้เป็นตัวเอง” ครูเมย์เล่า
จากความรู้สึกของทั้งครูและนักเรียน ทำให้ได้เห็นความลำบากกายและลำบากใจที่เกิดขึ้น เมื่อบุคลากรในโรงเรียนบางส่วนได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบแบบเดิม ซึ่งไม่ได้วางไว้ครอบคลุมถึงความหลากหลายทางเพศที่ตนมี
ผลตอบรับของการเปลี่ยนแปลง ที่มาจากการเปิดใจ
ด้วยความอึดอัดใจที่มี เมจึงขออนุญาตผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อแต่งกายตามเพศสภาพ เพราะสัมผัสได้ถึงการเปิดใจรับความหลากหลายที่ผู้อำนวยการมี จากนั้นจึงได้มีการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างนักเรียน ผู้ปกครอง และโรงเรียน โดยอนุญาตให้นักเรียนแต่งกายตามเพศสภาพมาโรงเรียนได้ และเลือกทรงผมได้เอง ภายใต้ความเรียบร้อยและกฎระเบียบของโรงเรียน
หลังจากได้รับการอนุมัติ เมเล่าว่าเธอดีใจมากที่จะได้แต่งกายในแบบที่เธอเลือกเอง เพื่อนพี่น้องเพศหลากหลายคนอื่น ๆ เริ่มใส่ชุดนักเรียนตามเพศสภาพมาเรียนกันมากขึ้น เมคิดว่าจำนวนนักเรียน LGBTQ+ ที่มีมาก อาจเป็นผลมาจากการที่ทางโรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนเลือกทรงผมที่เรียบร้อยมาโรงเรียนได้เองมาหลายปี เด็ก ๆ หลายคนจึงย้ายมาเรียนในโรงเรียนที่ได้เป็นตัวเอง โดยเสียงตอบรับจากคนรอบตัว ทั้งเพื่อนๆ และครอบครัวก็มีแต่ความยินดีที่เห็นเมมีความสุข
“เพื่อน ๆ ก็รู้สึกว่าเราดูดี ใส่แบบนี้แล้วดูเรียบร้อย ดูน่ารัก ที่บ้านก็ยอมรับเป็นอย่างดี อะไรที่ทำแล้วมั่นใจขึ้น ทำให้ตัวเองดูดี เรียบร้อย มีความสุข ก็ทำเลย ครูทั้งโรงเรียนก็รับรู้และเข้าใจร่วมกันทั้งหมด เวลาไปข้างนอก คนก็ไม่ได้มาสนใจว่าเราแปลกเหมือนเดิม เรามีความสุข มันดีต่อจิตใจเรามาก” เมเล่า
ในส่วนของครูเมย์ เมื่อได้เห็นว่ามีนักเรียนที่แต่งกายตามเพศสภาพมาโรงเรียนได้ จึงคิดว่านี่เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมและรวบรวมความกล้าไปขออนุญาตกับทางผู้อำนวยการ โดยก่อนหน้านี้ ครูเมย์ เล่าว่าตนยังมีข้อจำกัดและกังวลเรื่องสังคมรอบตัวอยู่มาก
“ด้วยวัฒนธรรมของคนไทยที่ยังยึดกับขนบเดิมว่าต้องแต่งกายตามเพศกำเนิดของตัวเอง ด้วยความที่เราปฏิบัติสืบทอดกันมานาน ถึงปัจจุบันก็มีการเปิดกว้างบ้าง แต่ก็ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ บางคนอาจยังไม่เห็นด้วย”
เมื่อครูเมย์ได้เปิดใจคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียน ทำให้ครูเมย์ประทับใจและดีใจที่ผู้อำนวยการเปิดรับเป็นอย่างมาก รวมไปถึงครูท่านอื่นในโรงเรียนเช่นกัน นี่ทำให้ครูเมย์ได้ปลดล็อกความรู้สึกและกำแพงความคิด ที่เคยกลัว กังวลว่าจะโดนปฏิบัติอย่างไรหากอยู่นอกกรอบเดิม ๆ ของสังคม แต่เมื่อได้ลองก็พบกับรอยยิ้มและคำยินดี ซึ่งครูเมย์คิดว่าเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์
“ตอนแรกยังกังวลเรื่องคนรอบตัวมากว่าจะคิดยังไง เพราะเราอยู่ในแวดวงการศึกษามาหลายยุคสมัย แต่พอได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจึงค่อยกล้า สิ่งที่ประทับใจคือ เราเห็นความสำคัญของความเท่าเทียมกันมากขึ้น ไม่ว่าคนเพศไหน ทุกคนก็เป็นตัวของตัวเองได้ตามกฎระเบียบขององค์กรนั้น ๆ ด้วย”
ปัจจุบัน ทั้งเมและครูเมย์ ได้แต่งกายตามเพศสภาพไปโรงเรียนได้ทุกวันตามกฎระเบียบและความเหมาะสมที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่ทำให้โรงเรียนเสียหาย โดยสังคมรอบตัวก็ยอมรับและเข้าใจความหลากหลายที่มีร่วมกันได้ นอกจากนี้ทั้งคู่ยังมีความสุขขึ้นมากอีกด้วย
ความสำคัญของการแต่งกายตามเพศสภาพ จากมุมเจ้าของสิทธิ
เมื่อถามถึงความสำคัญของการแต่งกายตามเพศสภาพจากผู้ที่เป็นเจ้าของสิทธิทั้งในมุมของครูและนักเรียน คำตอบที่ได้รับออกมาตรงกันแบบไม่ได้นัดหมายว่า ตนเองมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นเมื่อได้แต่งกายเครื่องแบบที่ตนเองเลือกมาโรงเรียน โดยไม่ต้องกังวลว่าใครจะมองมาแบบไหน ซึ่งส่งผลไปถึงการตัดสินใจเรื่องอื่น ๆ ได้เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่มากขึ้น
“เรามีสิทธิเลือกสิ่งต่าง ๆ ที่ตัวเราจะเป็นได้ เช่น เลือกที่จะใส่ชุดผู้หญิง เรามีสิทธิได้เป็นตัวของตัวเอง เราอยากมั่นใจในสิ่งที่เลือก เพราะมันเป็นตัวของเรา การเป็นตัวเองทำให้เรามั่นใจในทุกอย่าง ทุกเรื่องมากขึ้น” เมเล่า
ในประเด็นสำคัญที่ยังถกเถียงกันมากในสังคมอย่างเรื่อง ประสิทธิภาพของการเรียนการสอน ที่จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามทรงผม – เครื่องแต่งกาย เมได้พูดถึงประเด็นนี้ว่า
“สวมใส่ชุดไหน การเรียนเราก็เหมือนเดิม แต่เรามีความสุขกับการเรียนมากขึ้น”
เช่นเดียวกับครูเมย์ที่คิดว่า “เครื่องแต่งกายไม่ได้จำกัดศักยภาพ แต่หากเราได้เลือกเอง เราจะมีความสุขและทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีกว่า แล้วเรายังแบ่งปันความสุขของเราให้คนอื่นได้ด้วย”
นอกจากนี้ครูเมย์ยังคิดว่าการได้แต่งกายเป็นตัวของตัวเองคือ ความเท่าเทียม อย่างหนึ่ง เพราะไม่ว่าจะเป็นเพศไหนหรือมีความหลากหลายเรื่องใด การแต่งกายเป็นเหมือนเครื่องสะท้อนความเป็นตัวเองออกมา ทำให้ทุกคนได้เป็นตัวเองได้อย่างมีความสุขเท่าเทียมกัน ซึ่งจะส่งผลต่อไปให้ทุกคนทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้เต็มประสิทธิภาพ โดยครูเมย์เสริมว่า ทุกอย่างยังขึ้นอยู่กับกรอบ ระเบียบขององค์กรนั้น ๆ ด้วย ซึ่งกฎระเบียบก็สามารถยืดหยุ่นตามความคิดเห็นของคนที่มีร่วมกันได้
แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีตัวเลขระบุชัดเจนว่าคนในองค์กรการศึกษามีความคิดเปิดรับความหลากหลายมากเท่าใด แต่แนวโน้มก็มีมากกว่าหลายปีก่อนมาก
“ในสังคมอาจมีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่การเปิดรับอย่างน้อยเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ ก็คือโอกาสและความสุขแล้ว เราเห็นการเปิดกว้างเรื่องนี้เพิ่มขึ้นมาตลอด ตั้งแต่ช่วงยุคมืดที่แสดงออกมาไม่ได้เลยจนปัจจุบัน ที่เปิดเผยได้กว่าเมื่อก่อนมาก” ครูเมย์เล่า
พื้นที่โอบรับความหลากหลายที่เกิดขึ้นได้ หากสร้างร่วมกัน
จากสถานการณ์ในโรงเรียนศรีบุญเรืองวิทยาคาร ทำให้ได้เห็นตัวอย่างการเปิดใจกว้างจนโอบรับความหลากหลายของครูและนักเรียนเข้ามาอยู่รวมกันได้อย่างมีความสุข โดยครูเมย์พูดถึงข้อคำนึงเมื่อต้องการปรับกฎระเบียบเดิมที่มี ให้กลายเป็นเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายว่า
“สิ่งที่ต้องคำนึงคือคน ถ้าทุกคนเปิดใจให้กัน มีความเห็นชอบร่วมกัน กฎระเบียบก็จะปรับเปลี่ยนได้ตามยุคสมัยปัจจุบันที่คนมีความต้องการเปลี่ยนไป ถ้าทุกคนเห็นด้วย ยินยอม การแค่เปลี่ยนกฎมันเป็นเรื่องที่ง่าย”
ครูเมย์เสริมว่าอีกปัจจัยสำคัญ คือการเปิดใจรับฟังความต้องการของคนในสังคมอย่างเห็นใจกัน เพราะหากลองเปิดใจรับฟัง มองความเห็นของทุกคนเท่าเทียมกัน อาจทำให้ได้เห็นโอกาสมากมายที่จะตามมา ขอเพียงแค่ความต้องการของแต่ละคนต้องไม่ละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น
โดยนอกจากเรื่องการแต่งกาย ครูเมย์ยังอยากผลักดันเรื่องการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งหากเพิ่มความสำคัญของเรื่องการให้เกียรติคนอื่นได้ จะช่วยสร้างแนวทางที่นักเรียนจะอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุขด้วย
“หลัก ๆ คืออยากให้ทุกคนให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเพศไหน แต่งกายแบบไหน แค่เราให้เกียรติเขา เขาให้เกียรติเรา แค่นี้เราก็ใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความสุขได้แล้ว นี่เป็นสิทธิ มารยาทขั้นพื้นฐานในการใช้ชีวิตไม่ว่าจะในสังคมไหน”
“โรงเรียนของเราไม่ได้มาคิดเรื่องการแต่งกายหรือเพศหลากหลายแล้ว คนอื่นก็ยินดีด้วยซ้ำที่เพื่อนได้เป็นตัวของตัวเอง บางคนก็ไว้ผมยาวแต่ก็ใส่กางเกง เพราะเขามองว่าตัวเองดูดี เด็ก ๆ สามารถดีไซน์การแต่งกายตามความต้องการได้ เพื่อน ๆ ก็เคารพเรื่องส่วนตัวของกันและกัน ทุกคนก็เลยถือว่าโชคดี อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขมาก ๆ” ครูเมย์เล่าเสริม
มุมของ เม ที่มีโอกาสได้เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ในรั้วโรงเรียนมองว่า หากมีพื้นที่ที่โอบรับความหลากหลายแบบนี้ในโรงเรียนอื่น ๆ ก็จะเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะเมมองว่าเป็นเรื่องที่ดี หากเด็ก ๆ ได้มีความสุขในการมาโรงเรียนทุก ๆ วัน โดยยังรู้หน้าที่นักเรียนของตัวเอง
ครูเมย์เสริมว่าในบางโรงเรียนที่ยังไม่สามารถทำได้ อาจเป็นเพราะผู้บริหารบางคนอาจยังไม่กล้า เพราะไม่ได้มีกฎออกมาอย่างเป็นทางการ จึงมีข้อกังวลอยู่ แต่หากแก้กฎร่วมกันได้ ก็จะเปิดโอกาสให้กับบุคลากรทุกคนได้
“ตอนนี้กฎระเบียบก็ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียน ไม่ได้เคร่งครัดมาก ที่นี่จึงสามารถอนุโลมได้ แต่ด้วยขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมยังคอยกดให้เราปฏิบัติตามแบบเดิม ๆ สืบทอด ยึดติด เหมือนสมัยก่อนอยู่ หากมีการปรับกฎระเบียบมาจากส่วนกลางอย่างเป็นทางการแล้ว ก็จะทำให้ทุกโรงเรียนโอบรับความหลากหลายของบุคลากรได้เลยทันที”
ครูเมย์ทิ้งท้ายถึงประเด็นนี้ว่า “ด้วยโลกสมัยที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีเข้าถึงได้ไว บางเรื่องเด็ก ๆ รู้มากกว่าเราด้วยซ้ำ โลกมันเปลี่ยนไป เด็ก ๆ ก็อยากเป็นตัวของตัวเองได้ ณ ตอนนั้น
“โชคดีที่ทุกคน และสังคมก็เปิดรับ เปิดกว้างขึ้นมาก หรือถ้าใครไม่เปิดรับก็แค่ไม่มายุ่งกัน เคารพพื้นที่ของกัน ก็เพียงพอแล้ว”