ฮาเจอร์ ชาเรียฟ

ทุกเย็นวันศุกร์ เราจะคุยการเมืองและทุกเรื่องบนโต๊ะกินข้าว

  • ศาสนา การเมือง ความตาย ผู้ใหญ่มักห้ามคุยสามเรื่องนี้บนโต๊ะกินข้าวเพราะจัดอยู่ในหมวดละเอียดอ่อนและชวนทะเลาะ
  • แต่ฮาเจอร์ ชาเรียฟ นักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพและสิทธิมนุษยชนชาวลิเบีย โต๊ะกินข้าวทุกค่ำวันศุกร์คือพื้นที่ปลอดภัย คุยได้ทุกเรื่องรวมถึงการเมือง 
  • เป็นการเมืองที่เริ่มต้นจากคำถามว่า “วันนี้ที่โรงเรียนเป็นยังไงบ้าง” ไปจนถึง “ใครจะเป็นคนล้างจาน”

เราจะคุยเรื่องการเมืองกับเด็กๆ โดยไม่มีคำว่า ‘การเมือง’ ได้ไหมนะ 

ผู้ใหญ่หลายคนกังวลว่าจะเริ่มคุยเรื่องการเมืองกับลูกอย่างไรดี หรือจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครูสังคมศึกษา 

แต่จริงๆ แล้ว ในวันที่เด็กๆ เป็นฝ่ายสอนพ่อแม่ใช้ยูทูป โพสต์ภาพเพื่อบอกความรู้สึกแทนตัวอักษร เขียนไดอารี่ด้วยการบันทึกผ่านสตอรี่ ฯลฯ การเมืองคือสิ่งที่ไม่ต้องสอนเพราะมันอยู่รอบตัว แต่จะเอามาคุยกันอย่างไรให้เป็นเรื่องธรรมดา 

แค่เริ่มต้นจาก “วันนี้ที่โรงเรียนเป็นยังไงบ้าง”

ช่วงเวลาบนโต๊ะอาหารที่หลายๆ ครอบครัวมีไว้พูดคุยเรื่องต่างๆ แต่สำหรับ ฮาเจอร์ ชาเรียฟ (Hajer Sharief) กลับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ครอบครัวมอบให้เธอได้เรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า ‘การเมือง’ 

ฮาเจอร์  เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพและสิทธิมนุษยชนชาวลิเบีย ผู้ก่อตั้งองค์กร Together We Build It เพื่อสร้างสันติภาพในลิเบียและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ในตอนที่เธอยังอายุเพียง 19 ปี

ฮาเจอร์ขึ้นเวที Ted Talk บอกเล่าประสบการณ์อาหารมื้อค่ำที่ครอบครัวทำให้รู้สึกว่า การเมืองเป็นเรื่องธรรมดา เช่นเดียวกับหัวข้อ “วันนี้ที่โรงเรียนเป็นยังไงบ้าง” ที่คุยกันได้ปกติบนโต๊ะอาหาร

พื้นที่อิสระสำหรับพูดคุยในครอบครัว 

“20 ปีที่แล้ว ครอบครัวของฉันเริ่มมี ‘การประชุมวันศุกร์’ ทุกสัปดาห์ เวลา 19.00 น.  ครอบครัวของฉันมารวมตัวกันประชุมเพื่อหารือทุกๆ เรื่องในครอบครัว พ่อแม่จะคอยอำนวยความสะดวกในการประชุม และลูกๆ มีหน้าที่บันทึกการประชุม”

เธอเล่าว่าเรื่องที่พูดคุยจะแตกต่างกันไปในแต่ละสัปดาห์ เช่น สัปดาห์แรกอาจเป็นการคุยกันเรื่องอาหารที่อยากกิน เวลาที่เด็กๆ จะเข้านอน และวิธีปรับปรุงสิ่งต่างๆ ในครอบครัว ในขณะที่อีกสัปดาห์อาจคุยกันถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนและการการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างพี่น้อง

การประชุม หรือในทางปฏิบัติก็คือการคุยกันในครอบครัว จะมีกติกาเล็กๆ น้อยๆ 

 “กฎข้อแรกคือทุกคนได้รับอนุญาตให้พูดอย่างเปิดเผยและอิสระ ฉันที่เป็นเด็กในตอนนั้นได้รับอนุญาตให้วิพากษ์วิจารณ์พ่อแม่ โดยห้ามใช้คำหยาบคายใดๆ ทั้งสิ้น  ทั้งหมดนี้ไม่ถือว่าเป็นการไม่เคารพ กฎข้อที่สองคือสิ่งที่พูดในที่ประชุมจะอยู่ในที่ประชุมเท่านั้น”

ในวันที่ฉันเจอความเห็นที่ไม่ชอบ 

การพูดคุยกันอย่างเปิดเผย บางครั้งก็นำมาสู่การทะเลาะเบาะแว้ง ครอบครัวของฮาเจอร์ก็เช่นกัน

“การประชุมเหล่านี้ฟังดูมีความสุขและเป็นประชาธิปไตย แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เราเปิดกว้างสำหรับการพูดและการวิจารณ์ แต่บางครั้งสิ่งต่างๆ ก็ทำให้ฉันหัวเสีย ครั้งหนึ่งมันเป็นการประชุมที่แย่มากสำหรับฉัน ตอนนั้นอายุประมาณ 10 ขวบ ทำอะไรแย่ๆ ที่โรงเรียน และฉันเลือกที่จะไม่เล่าให้ที่บ้านฟังในวันนั้น แต่พี่ชายของฉันตัดสินใจนำเรื่องนี้มาพูดในที่ประชุม”

และวิธีที่ฮาเจอร์ในวัยสิบขวบใช้เมื่อพี่ชายเล่าเรื่องที่เธอไม่อยากให้คนอื่นรับรู้คือ

“ฉันไม่สามารถแก้ต่างให้ตัวเองได้ ฉันจึงตัดสินใจถอนตัวจากการประชุมและคว่ำบาตรระบบการประชุมของครอบครัว ฉันเขียนจดหมายอย่างเป็นทางการและส่งให้พ่อเพื่อประกาศตัวว่าฉันกำลังคว่ำบาตรอยู่”

แม้จะตัดสินใจคว่ำบาตรที่ประชุมไปแล้ว แต่เรื่องของเธอที่โรงเรียนก็ยังคงถูกเล่าต่อไป  ฮาเจอร์ได้ค้นพบด้วยตัวเองว่า การหนีจากที่ประชุมเพียงเพราะไม่อยากรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นนั้นไม่ได้ช่วยทำให้เสียงของเธอดังขึ้น หรือปัญหาถูกคลี่คลายเลย

เธอมาเรียนรู้ทีหลังว่า เด็กจะต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับความเห็นทั้งแง่บวกและแง่ลบ และผู้ใหญ่ก็มีหน้าที่ที่จะทำให้เด็กๆ รู้และคิดได้เองว่า เขาจะจัดการความเห็นแง่ลบเหล่านั้นด้วยวิธีใดได้บ้าง จะเลือกเดินออกจากโต๊ะอาหารเหมือนฮาเจอร์ (ที่เธอพิสูจน์แล้วว่าไม่เวิร์ค) หรือใช้วิธีอื่น ๆ  ดี

ใครควรล้างจาน?

เรื่องพื้นฐานอย่างการล้างจาน  จำได้ไหม ตอนเด็กๆ ใครบอกให้เรารับผิดชอบหน้าที่นี้ คุณพ่อคุณแม่ คุณปู่หรือย่า หรือพี่น้องคนอื่นๆ ที่ยื่นจานให้ 

ฮาเจอร์เองก็เช่นกัน เธอเคยโต้เถียงกับพี่ชายเรื่องล้างจาน 

“ฉันเป็นคนเดียวที่ถูกขอให้ล้างจานเสมอหลังอาหารแต่ละมื้อ ขณะที่พี่ชายและน้องชายของฉันไม่ต้องทำอะไร ฉันรู้สึกว่าสิ่งนี้ไม่ยุติธรรมและเป็นการเลือกปฏิบัติ ดังนั้นฉันจึงต้องเอาเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ในที่ประชุม พี่ชายและน้องชายของฉันเถียงว่าไม่มีผู้ชายคนไหนที่เรารู้จักต้องล้างจาน แล้วทำไมครอบครัวของเราต้องแตกต่างไปจากนี้ด้วย”

“ฉันแนะนำว่าแทนที่จะให้คนๆ เดียวล้างจานทั้งหมด ทุกคนในครอบครัวควรล้างจานของตัวเอง และเพื่อเป็นการแสดงถึงแรงศรัทธา ฉันบอกพวกเขาว่าฉันจะยอมล้างหม้อเอง ด้วยวิธีนี้ พี่ชายน้องชายของฉันไม่สามารถโต้แย้งได้อีกต่อไปว่าการล้างจานและทำความสะอาดไม่ใช่ความรับผิดชอบของเด็กผู้ชายหรือผู้ชาย เพราะกฎใหม่ที่ฉันเสนอคือให้ทุกคนในครอบครัวทำความสะอาด และจัดการในส่วนที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ (ล้างใครล้างมัน) และต้องดูแลตัวเอง ทุกคนเห็นด้วยกับข้อเสนอของฉัน และปฏิบัติกันเป็นเวลาหลายปี นั่นคือวิธีล้างจานของบ้านเรา”

ศ.ริชาร์ด เอ็ม มาเรลแมน (Richard M. Marelman) ด้านรัฐศาสตร์  University of Wisconsin-Madison เจ้าของบทความ The family and Political socialization  บอกว่าการเรียนรู้ทางการเมืองในวัยเด็กจะเป็นพื้นฐานของพฤติกรรมทางการเมืองในวัยต่อไป วัยรุ่นและผู้ใหญ่ล้วนเคยเป็นเด็กๆ ที่ถูกปลูกฝังจากครอบครัวมาก่อน ระบบล้างจานของฮาเจอร์จึงเป็นเสมือนด่านแรกที่ทำให้เธอรู้จักกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง  

การเมืองคือการพูดคุย

ฮาเจอร์สรุปทิ้งท้ายบนเวทีไว้อย่างน่าประทับใจ ถึงการพูดคุยเรื่องการเมืองกับเด็ก ๆ ไว้ว่า 

“การเมืองเป็นเรื่องของการพูดคุยกัน (รวมถึงเรื่องที่ยากจะคุย) ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจ และเพื่อที่จะมีบทสนทนา คุณต้องมีส่วนร่วม ไม่ใช่เดินหนีเหมือนที่ฉันเคยทำตอนเด็กๆ แล้วเรียนรู้บทเรียนและต้องกลับเข้าสู่ระบบการประชุมเพื่อพูดคุยซึ่งกันและกัน หากคุณวางบทบาทให้ลูกๆ ของคุณได้มีส่วนร่วมในการสนทนาในครอบครัว พวกเขาจะเติบโตและเรียนรู้วิธีมีส่วนร่วมในการเมือง และที่สำคัญที่สุดเลย พวกเขาจะช่วยให้ผู้อื่นมีส่วนร่วม”

จากประสบการณ์ของฮาเจอร์ การได้มีส่วนร่วมในบ้านช่วยให้เด็ก ๆ ได้ค้นพบเสียงของตัวเอง ผู้ใหญ่อย่างเราก็คอยหาวิธีสนับสนุนให้พวกเขาได้ยินเสียงของตัวเอง  เหมือนที่ฮาเจอร์ได้ค้นพบเสียงของเธอบนโต๊ะอาหารของครอบครัว


Writer

Avatar photo

พัชรพร ศุภผล

มนุษย์ที่รักการอ่านวรรณกรรมและแมวเป็นชีวิตจิตใจ ชอบหลงไปในร้านหนังสือ แกลอรี่อาร์ต มีเจ้าชายน้อยเป็นตัวละครชุบชูใจ

Related Posts