Life is like a Play : ละคร/ชีวิตของ ‘ชาคร ชะม้าย’ คนละครที่พาละครไปขับเคลื่อนย่าน

ไวน์-ชาคร ชะม้าย เป็นคนทำละคร

ถ้าขยายความแบบไล่เรียง เขาเป็นผู้กำกับละครเวที แอคติ้งโค้ช อาจารย์พิเศษเกี่ยวกับศิลปะการแสดง 

แต่หากขยายความแบบลึก เขาเรียกตัวเองว่า ‘นักจัดการศิลปะและวัฒนธรรม’

เป็นครั้งแรกที่ได้ยินคำนี้เลยอดถามไม่ได้ ชาครอธิบายกับเราว่า “คือการจัดการศิลปะวัฒนธรรมให้มีมูลค่า ในโจทย์ที่แตกต่างออกไป” พร้อมไล่เรียงตัวอย่างให้ฟังเพื่อป้องกันเรางง

นิทรรศการเกี่ยวกับละครชาตรีในชุมชนนางเลิ้ง, ละครเรื่อง Untold Story ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชุมชนเดียวกันเพื่อบอกเล่าความในใจของคนในย่าน และล่าสุดเขาคือหัวเรือใหญ่ในการจัด IN CHARM Fest เฟสติวัลเล็กๆ ที่รวบรวมศิลปะหลากหลายแขนงมาไว้ในโรงเรียนสตรีจุลนาค โรงเรียนเก่าแก่ในย่านนางเลิ้งซึ่งปิดตัวลงไปแล้ว มีทั้งเสวนา งานจัดฉายหนัง นิทรรศการ และแน่นอนว่า-ต้องมีละคร

พิจารณาจากลิสต์ข้างบน ดูเหมือนจะมีคำสองคำที่โผล่มาบ่อยกว่าใครเพื่อน นั่นคือ ‘ละคร’ สิ่งที่ชาครหลงใหลมาตั้งแต่วัยเยาว์ และ ‘นางเลิ้ง’ ย่านที่เขาได้มาศึกษา อาศัยอยู่หลายปี ทำละครที่ได้แรงบันดาลใจจากที่นี่ และผูกพันจนแทบจะเรียกตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่ง ความสนุกของการพาละครไปเชื่อมโยงกับชุมชนคืออะไร และเทศกาล IN CHARM Fest เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจแบบไหน ในบ่ายวันที่โรงเรียนสตรีจุลนาคกำลังเงียบเหงากำลังดี ชาครรอเราอยู่ที่นั่นพร้อมกับคำตอบ  

ความสัมพันธ์ของคุณกับละครเริ่มขึ้นตอนไหน

สมัย ม. ปลายเรามีความสนใจหลากหลาย เราเรียนสเก็ตช์ภาพ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ แฟชั่น เปียโน แต่สิ่งที่ชอบมาตั้งแต่เด็กและอยากเรียนมากที่สุดคือละคร

จุดเปลี่ยนที่ทำให้อยากทำละครคือตอนไปดูเรื่อง Macbeth ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนนั้นก็ดูไม่รู้เรื่องหรอกเพราะค่อนข้างดูยาก แต่มันมีเสน่ห์คือการเล่าเรื่องเรียบๆ และทำให้เราตั้งคำถามต่อ มันเหมือนเป็นโลกอีกใบ เป็นความจริงอีกชุดที่มาเล่นอยู่ตรงหน้าเราและพยายามสื่อสารอะไรบางอย่างกับเรา หลังจากนั้นเราก็ยิ่งอยากเป็นคนทำละคร อยากเป็นผู้กำกับเพราะเหมือนเราได้สร้างโลกทั้งใบ

เราอยากเรียนละครตั้งแต่ป.ตรี สอบเข้าสาขาวิชาการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แต่สอบไม่ติด ช่วงนั้นขายเสื้อผ้ามือสองอยู่แล้วรายได้ดี เราเลยชั่งใจว่าจะเรียนอยู่ไหม จนกระทั่งได้รู้จักวิทยาลัยนวัตกรรม การจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ตอนแรกเราไม่เข้าใจว่าเรียนเกี่ยวกับอะไร พออ่านหลักสูตรแล้วรู้ว่าเรียนกว้างมาก ทั้งแฟชั่น สื่อ ศิลปะการแสดง ประวัติศาสตร์ศิลป์ การวิพากษ์ ไปจนถึงเรียนแนวคิดเชิงมานุษยวิทยา สรุปง่ายๆ คือเรียนเพื่อจัดการศิลปะวัฒนธรรมให้มีมูลค่าในโจทย์ที่แตกต่างออกไป เราสนใจเลยลองสอบดู

ช่วงเรียนป.ตรี เรายังอยากเรียนละครอยู่ ตอนแรกคิดจะซิ่ว แต่สุดท้ายก็เรียนจนจบป.ตรีแล้วมาต่อป.โทสาขา Applied Theater ที่อักษรศาสตร์ จุฬาฯ แทน เหตุผลที่มาเรียนต่อที่นี่คือเคยไปดูละครเรื่องไลฟ์คูณสามของ Live Theater ทั้งเรื่องมีตัวละครอยู่ 3-4 ตัว เล่าเรื่องวันธรรมดาวันหนึ่งในห้องนั่งเล่น หัวใจของมันคือหากมีชอยส์บางอย่างในชีวิตเปลี่ยนไป ทุกอย่างในเรื่องก็จะเปลี่ยนไปหมดเลย 

เรื่องนี้ทำให้รู้ว่าละครมันมีเท่านี้ก็ได้เลย ไม่ได้ยิ่งใหญ่ เป็นเรื่องธรรมดาสามัญทั่วไปแต่เราต่อกับมันติด

เราทึ่งมากจนต้องไปเสิร์ชว่าใครเป็นผู้กำกับ พบชื่อครูหนิง (พันพิสา ธูปเทียน) แล้วก็ได้รู้ว่าเขาสอนป.โทที่จุฬา นั่นคือส่วนหนึ่งของเหตุผลที่มาสมัครเรียนที่นี่ 

แล้วคุณพาละครไปเชื่อมโยงกับชุมชนได้อย่างไร

ตอนยังเรียนป.ตรี วิทยาลัยของเราทำโปรเจกต์เกี่ยวกับชุมชน จะมีงบบริการชุมชนให้เราเข้าไปทำงานกับชุมชนต่างๆ ปีแรกเขาทำกับชุมชนนางเลิ้ง ทำนิทรรศการเกี่ยวกับละครชาตรี จัดที่หอศิลป์

เราเข้าร่วมโปรเจกต์นี้ในปีที่ 2 เพราะได้เรียนกับอาจารย์กาญจนา เหล่าโชคชัยกุล ในวิชาโครงการทางวัฒนธรรมและการระดมทุน วิชานี้สอนให้เราเชื่อมโยงกับพื้นที่ต่างๆ ด้วยการลองคิดโปรเจกต์ เผอิญว่าปีที่ 2 เขายังอยากทำงานกับชุมชนนางเลิ้งต่อก็เลยชวนเราไปทำด้วย หลังจากนั้นเราได้ทำละครเรื่องแรกด้วยกันในปี 2560 ชื่อเรื่อง Untold Story จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

อาจารย์เขาให้โจทย์ว่า ‘ชุมชนบันดาลใจ’ เราจึงตั้งใจเล่า ‘เรื่องเล่าหลายชุด’ โดยมีตัวละครหลักเป็นนักเล่าเรื่อง พล็อตของเรื่องนี้คือนักเล่าเรื่องคนนี้เขียนเรื่องราวตัวละครที่หลากหลาย แล้วอยู่ดีๆ ตัวละครพวกนี้ก็มีชีวิตขึ้นมาเพื่อบอกเขาว่าจริงๆ เรื่องของฉันไม่ใช่แบบที่เขียน แรงบันดาลใจมาจากเวลาเราไปเดินในชุมชนนางเลิ้ง มันมีความเชื่อ (myth) บางอย่างที่ทำให้รู้สึกว่าแออัดหรือน่ากลัว แต่พอเรามารู้จักที่นี่จริงๆ มันมีอีกมุมหนึ่งให้เรามอง ซึ่งไม่ได้แออัดหรือน่ากลัวเลย

เราทำละครเรื่องนี้กับศิลปินละครชาตรี  ตอนแรกคิดว่าเราทำละครแบบตะวันตก เขาคงไม่เข้าใจหรอก เพราะละครชาตรีคือละครร้อง ละครรำ แต่พอได้ทำงานกับนางละครชาตรีคนหนึ่ง ชื่อป้ากัญญา ทิพโยสถ ในเรื่องแกแสดงเป็นนางละครเหมือนกัน วันหนึ่งแกก็เดินมาคุยกับเราว่า “ป้าชอบเล่นละครเพราะมันได้บอกสิ่งที่อยู่ในใจผ่านการแสดง สิ่งที่เราพูดไม่ได้ ซึ่งจริงๆ ชีวิตนางละครเป็นแบบนี้แหละ ทุกคนมีเรื่องซ่อนอยู่”

คำพูดนั้นทำให้เราเปลี่ยนความคิด โห เขาเล่นละครมาทั้งชีวิตแล้วจะไม่เข้าใจศิลปะได้ยังไง ต่อจากนั้นเราไม่มีกำแพงกับศิลปะแขนงไหนอีกเลย จุดนี้ทำให้เราเห็นว่าเมจิกของศิลปินยังไง ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติหรือเกิดขึ้นในวัฒนธรรมไหน ตราบใดที่เรื่องเล่านั้นสื่อสารกับคนอื่นได้ มันก็เชื่อมต่อกับคนอื่นได้

คุณว่าเสน่ห์ของการทำละครกับชุมชนคืออะไร  ต่างจากละครที่ไม่ได้ทำกับชุมชนอย่างไร

เรามองว่าตอนนี้ การทำงานไม่ว่าสาขาไหนมันมีเทรนด์ที่ทุกคนต้อง localize เชื่อมโยงกับผู้คนและท้องถิ่นของตัวเองมากขึ้น ถ้าเราอยากพัฒนางานของเราหรือเพิ่มผู้ชม (Audience) เราอาจจะต้องออกนอกโรงละครบ้าง เพราะจริงๆ นอกโรงละครมีวัตถุดิบและเรื่องราวอีกมามายให้เราได้เล่า มีโจทย์ที่ซับซ้อนขึ้น แต่แน่นอนว่ามันยากขึ้นแน่นอนในทุกมิติ

องค์ความรู้ของแทบทุกสาขาวิชามาจากตะวันตก แต่เราจะทำยังไงให้องค์ความรู้นั้นเชื่อมโยงกับท้องถิ่น ไม่ใช่แค่ระดับภาคแต่เป็นระดับย่าน ระดับผู้คนไปแล้ว เราว่าทุกสาขาวิชา ทุกศาสตร์และศิลป์ทำงานแบบนี้กันหมด ขึ้นอยู่กับว่าใครจะทำได้แหลมคมแล้วแหละ เพราะเมื่อมันเป็นเทรนด์ เราต้องมองให้ออกว่าผู้คนที่อยู่ในย่านนั้นเขามีเรื่องราว มีปัญหา มีความต้องการอะไรที่แตกต่างออกไปจากคนอื่นๆ เราจะทำงานกับมันยังไงให้คนเสพโดยไม่ได้ฉาบฉวย

อยู่กับชุมชนนางเลิ้งมานาน นางเลิ้งในสายตาของคุณเป็นอย่างไร

เราว่านางเลิ้งมีอะไรให้เล่าอีกเยอะมาก นางเลิ้งเป็นย่านที่มีความซับซ้อนมากๆ เพราะคนนางเลิ้งไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน ที่ดินของนางเลิ้งส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นคนนางเลิ้งจะไม่มีโฉนดที่ดิน

ย่านนี้จึงเป็นย่านที่มีการขัดแย้ง (Conflict) สูง มากกว่านั้นคือมีผู้คนหลากหลายแบบ มีทั้งชนชั้นกลาง ผู้ดี๊ผู้ดี มีกลุ่มคนละคร มีทั้งพ่อค้าแม่ค้าที่เป็นคนใน ขาจร และคนในชุมชนแออัด มันปนเปไปหมดและมีความหลากหลายสูง เพราะฉะนั้นการจะทำโปรเจกต์อะไรสักอย่างกับนางเลิ้ง เราว่าการทำงานสร้างมันต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกับการยกระดับชุมชน เพราะการทำงานเชิงศิลปะและวัฒนธรรมแค่อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะยกระดับย่านนี้ไปสู่ย่านที่ดีขึ้น เพราะมันมีปัญหามากมายที่ต้องแก้ไปถึงระดับนโยบาย

เช่น ปัญหาเรื่องอะไร

พอนางเลิ้งเป็นย่านที่คนมาอาศัยอยู่แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของอย่างแท้จริง มันเลยเป็นงานที่เงียบ นิ่ง เพราะเขาก็อยู่ด้วยความรู้สึกที่ว่า ไม่รู้ว่ารถไฟฟ้าจะมาถึงเมื่อไหร่ หรือจะโดนไล่ที่เมื่อไหร่ มันไม่มีความแน่นอนในชีวิต แล้วเราควรอยู่บ้านหลังนี้ด้วยความรู้สึกแบบไหน

เป็นเรื่องที่พูดยาก แต่เราว่าสิ่งสำคัญคือการทำให้เกิดการพูดคุยอย่างแท้จริงกับผู้คนที่อยู่ในย่าน ให้พวกเขามาร่วมกำหนดทิศทาง เขาอาจจะรู้สึกอยากลุกขึ้นมาทำอะไรกับย่านมากกว่านี้

จริงๆ นางเลิ้งมีเสน่ห์เฉพาะตัวมาก มีสถาปัตย์ อาหาร เรื่องเล่าตั้งแต่อดีต ทุกวันนี้มีบาร์แจ๊สอยู่ตรงหัวมุม ในขณะเดียวกันก็มีตลาดที่เปิด-ปิดแล้วแต่อารมณ์ มันเป็นย่านที่รุ่มรวย (Rich) มาก 

โปรเจกต์ที่คุณทำกับนางเลิ้งในปีนี้ แตกต่างจากปีก่อนๆ อย่างไร

พอทำ ‘อีเลิ้ง’ ครั้งก่อน เรารู้สึกว่าในฐานะ art manager ด้วย การมีเฟสติวัลอะไรสักอย่างมันยังน้อยเหลือเกินในประเทศนี้ โดยเฉพาะเฟสติวัลที่ค้นหาเรื่องธรรมดาสามัญแล้วมาเล่าใหม่ให้น่าสนใจ เฟสติวัลที่ชื่อ IN CHARM Fest จึงเกิดขึ้น

จริงๆ โปรเจกต์นี้ตั้งต้นจาก วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่อยากลองทำงานกับพื้นที่โรงเรียนสตรีจุลนาคที่ปิดตัวลงไปแล้ว โจทย์คือโรงเรียนนี้จะกลายเป็นอะไรได้บ้าง เราจึงลองจัดกิจกรรมหลายๆ อย่างขึ้นมา เช่น ละคร ทอล์ก งานฉายหนัง นิทรรศการที่เชื่อมโยงกับย่านเพื่อเชิญชวนให้คนมารู้จักนางเลิ้งและโรงเรียนสตรีจุลนาคมากขึ้น 

เราคิดว่าสิ่งที่ทำให้สเปซตรงนี้น่าสนใจ คือมันอยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างย่านนางเลิ้ง บางลำพู และพระนครพอดี มันเป็นพื้นที่ที่สามารถเชื่อมต่อชุมชนหลายๆ แห่งได้ และสามารถกลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ในอนาคตได้ แต่กว่าจะไปถึงตรงนั้น เรามองว่าต้องทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะเสียก่อน ฝันได้แต่ต้องนำไปสู่การพูดคุยอีกมาก เช่น เมืองอาจจะต้องลงทุนกับที่นี่หรือเปล่า

ทั้งๆ ที่ทำละครมาตลอด ทำไมถึงเลือกจัดเป็นเฟสติวัล

น่าจะเพราะสนุก เราเคยเป็นผู้ช่วยวิจัยในงานเฟสติวัลงานหนึ่งแล้วรู้สึกว่าเป็นเฉดสีที่น่าสนใจ ซึ่งจริงๆ เฟสติวัลของเราก็ไม่ได้ใหญ่ เป็นเฟสติวัลจิ๋วๆ ที่พยายามทำให้พื้นที่โรงเรียนนี้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ได้ อีกอย่างคือเรารู้สึกว่าแค่ละครเพียงอย่างเดียวไม่สามารถสื่อสารประเด็นที่อยากพูดของโรงเรียนสตรีจุลนาคได้ ต้องทำอย่างอื่นประกอบด้วย

ความฝันของเฟสติวัลนี้คือเราอยากจัดงานที่มีปฏิสัมพันธ์ (Interact) กับมนุษย์เพื่อให้พื้นที่นี้มีชีวิตขึ้นมา จะไม่ใช่การเอางาน Installation art มาวางเพราะเราแค่รู้สึกว่ามันจะไม่มีชีวิต คนจะแวะมาเฉยๆ และไม่ได้ใช้เวลากับที่นี่มากพอ

ในส่วนของละคร ปีนี้ทำเกี่ยวกับเรื่องอะไร

ชื่อเรื่อง “ถ้าเดือน สิงหา ไม่มีฝน” ตอนแรกพอได้โจทย์ว่าเป็นโรงเรียนร้าง เราจะนึกถึงเรื่องผี แต่เราว่ามันดูซ้ำๆ ไปหน่อย เลยคิดต่อยอดว่าถ้าเป็นพื้นที่ร้างแล้วมีคนมาอยู่มันจะเป็นยังไง 

เรานึกถึงบทละครชื่อ fairytaleheart ของ Philip Ridley ว่าด้วยเด็กสองคนที่มาเจอกันในพื้นที่ร้างแห่งหนึ่ง เราคิดว่าช่วงวัยเด็กคือช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต ยิ่งช่วงอายุ 18 คือหัวเลี้ยงหัวต่อ แล้วถ้าเขาหนีออกจากบ้านมาอยู่ที่นี่แล้วมาเจอกับเด็กอีกคนที่เผชิญชีวิตยากไม่แพ้กันมันจะเป็นยังไง สุดท้ายจึงกลายเป็นละครเรื่องนี้ที่พูดถึงเด็กผู้พยายามรับมือกับชีวิต เป็นเด็กที่รู้สึกว่าเป็นผู้ใหญ่แล้วแต่ไม่รู้สึกโตสักที เพราะชีวิตไม่ได้ง่ายขนาดนั้น

คุณคิดว่าการทำ IN CHARM Fest ส่งผลต่อชุมชนนางเลิ้งในแง่ไหน

ส่งผลในแง่ที่ว่าทำให้ย่านนี้มีการจัดงานลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะเราว่าปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของย่านคือฝรั่งมาเที่ยว แต่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก นางเลิ้งไม่ใช่จุดหมายของคนไทย เหมือนหลายคนรู้สึกว่าย่านนี้ลึกลับ มีตรอกซอกซอยโบราณที่ดูน่ากลัว แต่เราไม่ต้องการให้นางเลิ้งเป็นย่านลับ อย่างตลาดนางเลิ้งที่เปิดเช้า เราอยากให้เป็นตลาดที่ “มาเล้ย มาเดินเที่ยวได้” มาสำรวจนางเลิ้งในอีกแบบหนึ่ง

แต่ถามว่า IN CHARM Fest ที่สตรีจุลนาคได้พูดถึงหรือหยิบเอานางเลิ้งมาเล่าขนาดนั้นไหม เราคิดว่าไม่ได้หยิบมาเยอะอะไรมาก แต่ที่แน่ๆ IN CHARM Fest คือส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมในการเรื่องการสื่อสารว่า จริงๆ แล้วนางเลิ้งมีหลายเฉด หลายกิจกรรม 

เป้าหมายของคุณในการทำงานนี้คืออะไร

อย่างน้อยพื้นที่ของโรงเรียนสตรีจุลนาคจะถูกพูดถึง ถูกสื่อสารออกไปว่ามีพื้นที่ที่สามารถกลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ งานนี้ตอบโจทย์ในแง่นั้น ซึ่งมันก็เริ่มเห็นผลเพราะคนที่มาดูละครหลายคนเริ่มสนใจพื้นที่นี้ว่าทำอะไรได้บ้างแล้ว

แต่ถ้าโจทย์ในใจคือการทำให้เราเชื่อมต่อกับคนทำละครและนักจัดการศิลปะหลายคน ซึ่งหลายๆ คนเรียนจบจากที่เดียวกัน มาเข้าร่วมโปรเจกต์เรียนจบไปแล้วและทุกคนมีงานประจำ  โปรเจกต์นี้ก็ทำให้เราได้กลับมาทำสิ่งที่เคยเรียนอย่างตรงไปตรงมา เราได้ช่วยกันสื่อสารว่านักจัดการศิลปะและวัฒนธรรมคืออะไรในประเทศนี้ เพราะมันยังขาดความเข้าใจอยู่มาก อีกอย่างหนึ่งคือมันได้ทำให้เราได้เรียนรู้และหาที่หาทางของตัวเองด้วยว่า นักจัดการศิลปะและวัฒนธรรมในประเทศนี้เราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง

อยู่กับละครมาหลายปี พลังของละครที่คุณมองเห็นคืออะไร

มีสองระดับ ระดับแรกเกิดขึ้นในแวดวงละครก่อน การมีละครเล็กๆ เหล่านี้ทำให้ละครเป็นที่รู้จักมากขึ้น คนไม่ได้รู้จักแค่รัชดาลัย ทำให้คนตัดสินใจมาดูเรา มาอยู่ในมวลบรรยากาศแบบนี้ที่ต้องการการแสดงสด ต้องการ performing art ซึ่งจากช่วงโควิดที่มีคนบอกว่าโลกของละครต้องเปลี่ยนไปแล้วแน่ๆ เราต้องไปเล่นในซูม แต่เราว่าการแสดงสดมันยังไม่มีอะไรมาแทนได้

อีกอย่างคือเราสามารถเห็นว่าละครไปทำงานกับพื้นที่ที่หลากหลายได้มากขึ้น ยกตัวอย่างโปรเจกต์ Finding Teresa ในงาน Bangkok Design Week ที่ผ่านมา ที่นักแสดงไปเล่นละครในชุมชนเยาวราชจริงๆ แบบเปลี่ยนที่แสดงไปเรื่อยๆ นี่คือโมเดลที่ทำให้เราเห็นว่าละครสามารถนำพาคนดูไปสำรวจย่านได้ เป็นอีกประสบการณ์ใหม่ในการสำรวจย่านที่ไม่ใช่การฮอปปิ้งตามจุดถ่ายรูป แล้วคนดูเขาตื่นตาตื่นใจ หรืออย่างงานปักษ์ใต้ดีไซน์วีคที่เราไปเป็น Project Manager และ Producer ให้กับละครที่ไปเล่นในร้านน้ำชาในเมืองเก่าสงขลา เล่าเรื่องคนจีนห้าเหล่า เราได้เห็นว่าละครสามารถทำงานกับเรื่องราว ตัวละคร พื้นที่จริงๆ และมีปฏิสัมพันธ์กับคนในแบบที่ศิลปะอื่นทำไม่ได้ คนจีนที่มาดูเขาก็นึกถึงครอบครัวตัวเอง มันทำให้บรรยากาศในเมืองมีชีวิตชีวามากขึ้น

การได้เป็นคนละครและผลักดัน IN CHARM Fest ให้เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้มีความหมายต่อตัวคุณอย่างไร

ละครจะสอนให้เราทำความเข้าใจมนุษย์ และการทำความเข้าใจมนุษย์เป็นงานที่ไม่มีวันจบ เราต้องทำต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่การทำความเข้าใจผ่านบทหรือแค่ในโรงละคร แต่มนุษย์ในที่นี้หมายถึงมนุษย์รอบตัวที่สอนอะไรบางอย่างกับเรา 

พูดตรงๆ เราแค่อยากเลือกใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ได้ทำอะไรบางอย่างที่มีความหมายกับชีวิตแล้วอยู่ได้ เราไม่ได้ปฏิเสธระบบทุนนิยม แต่ในขณะเดียวกัน ในชีวิตหนึ่งเราก็อยากทำอะไรต่อยอดจากสิ่งที่เรียน สิ่งที่ชอบ สิ่งที่รัก ซึ่งเราก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่ามันควรจะเป็นอะไรนอกจากการทำละคร


Writer

Avatar photo

พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนจากเชียงใหม่ผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็นเรื่องเพศ ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Avatar photo

อรญา ศรีสังวาลย์

คนเจนซีที่เชื่อว่าบ้านเมืองจะดีกว่านี้ได้ หลงใหลในการทอดไข่และก๋วยเตี๋ยวไม่ใส่ถั่วงอก มีความสุขทุกครั้งที่กินหวาน ตัดผม และเห็นคนบังเอิญใส่เสื้อสีแมทช์กัน

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts