นิยามครอบครัวในความหมายของคุณคืออะไร และการเป็นครอบครัวจะมีแค่พ่อกับลูก หรือแม่กับลูก เท่านั้นได้หรือไม่
single parenting หรือ ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางการเลี้ยงลูกที่พบเห็นได้ในปัจจุบันและเป็นเรื่องปกติ โดยข้อมูลจาก ‘รายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558 โฉมหน้าครอบครัวไทย ยุคเกิดน้อย อายุยืน’ โดย กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า สังคมไทยช่วงปี 2530-2556 มีครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวเพิ่มขึ้นจากเดิม 970,000 ครัวเรือน เป็น 1.37 ล้านครัวเรือน โดยเกือบร้อยละ 60 ของครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว เป็นผลมาจากการหย่าร้างหรือแยกกันอยู่ และร้อยละ 28 มาจากการเสียชีวิตของคู่สมรส
เมื่อครอบครัวหนึ่งต้องขาดพ่อ/แม่คนใดคนหนึ่งไป การเลี้ยงลูกเพียงลำพังจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหน้าที่ในการรับผิดชอบต่างๆ ต้องตกเป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ความกดดัน ความเครียด และความเหนื่อยล้ามากมายอาจเกิดขึ้นจนมีผลต่อสุขภาพจิต ซึ่งหากมีมากเกินไปอาจกระทบมาถึงลูกได้ ดังนั้น การหาสมดุลในการเลี้ยงลูกในรูปแบบนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ
ถัดจากนี้คือ 6 คำแนะนำ ที่อาจเป็นตัวช่วยในการเลี้ยงลูกของพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยว เพื่อให้เด็กเติบโตได้อย่างไม่ขาดและสมบูรณ์ที่สุด
1.
ปรับ Mindset บรรเทาความกังวลของพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยว
- ไม่กล่าวโทษตัวเอง เพราะการเลี้ยงเดี่ยวไม่ใช่ความผิดของใคร
- หากกลัวว่าลูกจะไม่มีวินัย การกำหนดเวลาอย่างเป็นระบบและตั้งกฎในบ้านก็อาจช่วยได้
- รู้จักขอความช่วยเหลือ และพึ่งพาผู้อื่นบ้างในยามลำบาก
2.
สร้างความสัมพันธ์ที่ดีและความรู้สึกมั่นคงให้กับลูก
- ไม่กล่าวร้ายอีกฝ่ายให้ลูกฟัง
- หาเวลาทำกิจกรรมร่วมกับลูก พูดคุยหรือคลุกคลีในสิ่งที่ลูกชอบ
- แสดงพฤติกรรมด้านบวกให้ลูกเห็น เช่น หัวเราะชื่นชม ยิ้ม และโอบกอด
- สร้างความสนิทสนมกับลูก เพื่อให้ลูกกล้าพูดคุยหรือปรึกษาเมื่อมีปัญหา
- กล่าวชื่นชมเมื่อลูกขอคำปรึกษา เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกสบายใจและกล้าพูดมากขึ้น
3.
เมื่อพ่อแม่แยกทาง พฤติกรรมไม่ดีของลูกอาจเกิดขึ้นได้ แต่ก็ปรับปรุงได้เช่นกัน
- ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็กและครอบครัว
- พยายามให้ลูกระบายความรู้สึกออกมาเป็นคำพูด ที่ไม่ใช่การด่าทอหรือแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม เพื่อจะได้เข้าใจความต้องการของอีกฝ่าย
4.
เลี้ยงลูกต้องมีบาลานซ์
- อย่าใจร้ายกับตัวเองเกินไป เมื่อเกิดความเครียด พ่อ/แม่อาจต้องวางกฎเกณฑ์บางอย่างลงบ้าง
- อย่าใจอ่อนกับลูกมากเกินไป เพราะอาจนำมาสู่พฤติกรรมบางอย่างที่แก้ไขยาก
5.
รับมือกับความรู้สึกและแก้ปัญหาของผู้ใหญ่ด้วยตัวเอง
- พยายามควบคุมอารมณ์ด้านลบของตัวเองให้ได้ เมื่ออยู่ต่อหน้าลูก
- ซื่อสัตย์กับอารมณ์ความรู้สึกตัวเอง และบอกอีกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา เพื่อการรับรู้ที่ตรงกัน
- อย่าเอาปัญหาของผู้ใหญ่ไปคุยกับลูก
6.
ลูกต้องไม่รู้สึกขาดแบบอย่าง
- ไม่พูดเชิงลบเกี่ยวกับเพศตรงข้ามให้ลูกฟัง และอาจยกแบบอย่างคนในครอบครัวที่เป็นเพศตรงข้ามแทน
- คุณก็เป็นแบบอย่างให้ลูกได้ เช่น การออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ หรือดูแลสุขภาพฟันของตนเอง เหล่านี้จะเป็นคำแนะนำทางอ้อมให้ลูกได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง
อ่านบทความ ‘Co-Parenting/Single Parenting: 2 วิธีเลี้ยงลูก ในวันที่ชีวิตคู่เลิกรา’