‘แค่เปิดใจที่จะเรียนรู้ อะไรๆ ก็เป็นครูได้ทั้งนั้น’
ข้อความแนะนำตัวสั้นๆ ในเพจ อะไรอะไรก็ครู ทำให้เราอยากรู้จักตัวตนของ ‘ครูมะนาว-ศุภวัจน์ พรมตัน’ เจ้าของเพจที่คอยโพสต์หยอกล้อและเสียดสีปัญหาระบบการศึกษาได้อย่างแสบๆ คันๆ เรียกเสียงหัวเราะ ยอดไลก์ และคอมเมนต์จากเหล่าคุณครูได้อย่างถล่มทลายแทบทุกโพสต์ เพราะเห็นว่าข้อความนี้พลิกชื่อเพจให้มีความหมายในอีกแง่มุมหนึ่งได้อย่างน่าสนใจ
ที่มาของชื่อเพจ ‘อะไรอะไรก็ครู’ เริ่มต้นมาจากประโยคขำขันที่เราได้ยินกันคุ้นหูว่า ‘อะไรๆ ก็กู’ ล้อไปกับภาระหน้าที่และเรื่องราวสารพัดอย่างที่ครูไทยจะต้องประสบพบเจอในแต่ละวัน แต่เมื่อติดตามเนื้อหาของเพจนี้ จะเห็นว่าหลายครั้งครูมะนาวก็เลือกที่จะนำเสนอและแบ่งปันวิธีการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ และยังชวนครูไทยมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันถึงปัญหาในระบบการศึกษาอยู่บ่อยครั้ง
ปัจจุบันนี้เพจ ‘อะไรอะไรก็ครู’ มีผู้ติดตามมากกว่า 4 แสน 6 หมื่นคน มียอดไลก์มากกว่า 4 แสน 3 หมื่นไลก์ และเป็นพื้นที่ที่ให้ครูไทยได้มาร่วมกันแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนมุมมองกันในประเด็นการศึกษาและภาระหน้าที่ครูมานานกว่า 13 ปี โดยมีครูมะนาว ครูประจำกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนนครวิทยาคม อําเภอพาน จังหวัดเชียงราย เป็นผู้ดูแลเพจมาตั้งแต่ต้น
ในวันนี้ Mappa มีโอกาสได้เดินทางมายังจังหวัดเชียงรายทั้งที เลยขอชวนครูภาษาไทยสุดเท่คนนี้มาเล่าเรื่องราวและแนะนำตัวให้ทุกคนได้รู้จักกับ ‘ครูมะนาว’ ในแง่มุมอื่นๆ บ้าง นอกเหนือจากที่เราเคยรู้จักเขาเท่าที่ได้เห็นในเพจอะไรอะไรก็ครู
“ตอนเด็กครูหลายคนจะมองว่าผมเป็นเด็กดีครับ เป็นไอ้ตัวจดชื่อเลย” ครูมะนาวเริ่มเล่าถึง ‘เด็กชายมะนาว’ ด้วยอารมณ์ขัน หลังจากที่เราประเดิมคำถามแรกด้วยความอยากรู้ว่า ครูมะนาวในวัยเด็กนั้นเป็นเด็กแบบไหน
“ผมชอบไปอ่านในสมุดพกที่พ่อเขียนเอาไว้ พ่อเขียนว่าผมเป็นเด็กที่ไม่ค่อยกล้าทําอะไรใหม่ๆ คือพ่อจะชอบบอกว่าให้ลองทําอันนั้นอันนี้ดู แต่ผมเป็นคนไม่ค่อยกล้า อันไหนที่เคยทําอยู่แล้วก็จะทําอันเดิมๆ ซ้ำๆ ไม่ค่อยลองอะไรใหม่ๆ”
คำตอบที่ได้ทำเราแปลกใจเล็กน้อย เพราะครูมะนาวในตอนนี้ กลายมาเป็นครูภาษาไทยที่พร้อมจะลงมือทำสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา สังเกตจากกิจกรรมและวิธีการสอนในห้องเรียนที่แทบไม่ซ้ำกัน และสารพัดกิจกรรมที่ครูมะนาวสร้างสรรค์แล้วนำเสนอออกมาผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลง แต่งแร็ป เล่นละคร หรืออัดพอดแคสต์
ด้วยความที่คุณพ่อทำอาชีพครู เด็กชายมะนาวจึงเติบโตมากับการพยายามรักษาผลคะแนนสอบและรักษาอันดับผลการเรียนในห้องอยู่เสมอ เพราะต้องแบกศักดิ์ศรีลูกครูคนเดียวที่เรียนโรงเรียนใกล้บ้านแล้วสอบได้ที่หนึ่งตลอด ตัวตนในวัยเด็กของครูมะนาวจึงผูกอยู่กับเรื่องของการสอบและการเรียน จนแทบจะกลายเป็นกิจวัตรในตอนนั้น
“พอเริ่มถึงวัยที่จะต้องสอบเข้าชั้นมัธยมต้น ทางโรงเรียนจะมีโควตา ม.1 จำนวน 20 เปอร์เซ็นต์สำหรับเด็กที่บ้านไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่บริการ คิดเป็นจำนวนเด็กประมาณไม่ถึง 100 คน และจะมีโควตาความสามารถพิเศษ พ่อก็เลยส่งไปเรียนเปียโนตอน ป.5 ก่อนหน้านี้ก็เคยไปเล่นดนตรีพื้นเมืองด้วย พวกสะล้อ ซอ ซึง” เขาเท้าความถึงกิจกรรมที่พ่อเคยสนับสนุนให้ลองลงมือทำอย่างการเล่นดนตรี
วิธีการเรียนดนตรีในแบบของเด็กชายมะนาวในตอนนั้นไม่ใช่การอ่านโน้ตเหมือนอย่างที่เด็กทั่วไปทำ แต่เขาเลือกที่จะใช้วิธีสังเกตและฟังเพลงที่ครูเล่น แล้วจึงค่อยๆ จดจำและฝึกฝนจนเล่นออกมาเป็นเพลง นั่นคือวิธีการไปสู่ ‘จุดหมาย’ ของเด็กชายมะนาว ณ ตอนนั้น
“ซึ่งมันก็ไม่ใช่วิธีที่ดีสักเท่าไรนะครับ” เขาเสริมเบาๆ
แต่ท้ายที่สุดเด็กชายมะนาวก็สอบเข้า ม.1 ได้โดยไม่ต้องใช้โควตาความสามารถพิเศษ
“ตอนที่สอบได้ก็แอบคิดว่าเราก็เก่งพอตัวนะเนี่ย แต่ความเป็นจริงคือคนที่เก่งเขาไม่ได้มาสอบแข่งกับเรา เพราะเขาเป็นเด็กที่เรียนในเมืองอยู่แล้ว พอเข้าไปเรียน ม.1 เราเลยกลายเป็นเด็กกลางๆ ไม่ได้เรียนเก่งที่สุดแต่ก็ไม่ได้เรียนแย่ที่สุด
“แต่พอผ่านไปสักพัก เกรดก็ค่อยๆ ลดลงตามความสนใจ”
เมื่อก้าวเข้าสู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เด็กชายผู้เคยได้เกรด 4 วิชาคณิตศาสตร์ กลับรู้สึกว่าวิชานี้ไม่ใช่ทางที่เคยถนัด
ครูมะนาวให้เหตุผลสั้นๆ ว่าในตอนนั้นตัวเขาเองก็ไม่แน่ใจว่าความรู้สึกไม่ชอบนั้นเกิดจากอะไร
ระหว่าง ‘เรียนไม่รู้เรื่อง ก็เลยไม่ชอบครูผู้สอน’ กับ ‘ไม่ชอบวิธีการสอนของครู ก็เลยเรียนไม่รู้เรื่อง’
“ตอนนั้นหลุดจากคณิตศาสตร์ไปเลย พอช่วงที่กำลังจะขึ้น ม.4 ผมเริ่มรู้ตัวว่าชอบวิชาสังคมศึกษา ชอบแผนที่ ชอบภูมิศาสตร์ ส่วนวิชาภาษาไทยก็ทำได้ประมาณหนึ่ง แต่งกลอนได้ ครูก็จะชมว่าเราแต่งดี ซึ่งเราก็ดีใจ แต่ก็ยังรู้สึกว่าวิชาภาษาไทยไม่ค่อยเหมาะกับสไตล์เราเท่าไร ก็เลยขอพ่อเรียนห้องศิลป์-สังคม”
แต่กว่าจะมาเป็นครูภาษาไทยในวันนี้ได้ ครูมะนาวเปิดใจว่าเขาเคยเกือบจับพลัดจับผลูได้เป็นครูสอนวิชาชีววิทยา เพราะหลังจากปรึกษาพ่อเรื่องเรียนต่อชั้นมัธยมปลาย แล้วได้คำตอบว่าเรียนสายวิทย์-คณิตอาจมีทางเลือกในการเรียนต่อที่หลากหลายกว่า เด็กชายมะนาวชั้น ม.6 ก็สอบติดคณะครุศาสตร์ วิชาเอกชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“แต่พอไปไล่ดูฐานคะแนนของปีที่ยื่น เห็นคะแนนต่ำสุด เห้ย นี่มันคะแนนกูนี่หว่า” เขาเล่าอย่างติดตลก ก่อนจะยืนยันอีกครั้งว่าเป็นเรื่องจริง
“กว่าจะเรียนจนถึง ม.6 ก็คิดอยู่เสมอว่าวิทยาศาสตร์มันไม่ใช่ทางที่อยากไป มีครั้งหนึ่งตอนเรียนวิชาเคมี ครูจะให้นักเรียนแต่ละคนบันทึกว่าสัปดาห์นี้ทำอะไรบ้าง ผมเป็นคนขี้เกียจ ไม่บันทึก แต่พอถึงเวลาที่จะต้องส่ง ผมก็กลัวครูจะรู้ว่าผมไม่ได้บันทึกทุกวัน
“สุดท้ายก็เลยแต่งกลอนส่งไปว่าทั้งสัปดาห์ทำอะไรบ้าง กลายเป็นครูชมว่าผมตั้งใจบันทึก ตั้งใจทำงานดี คนอื่นเขียนบันทึกสั้นๆ แต่เด็กคนนี้เขาแต่งเป็นกลอน ซึ่งในมุมมองของผมคือกลอนมันง่าย มันสรุปออกมาทั้งหมดได้เลยว่าเราทำอะไรบ้าง” นี่เป็นอีกครั้งที่เราสังเกตเห็นว่าครูมะนาวมีวิธีการไปถึง ‘จุดหมาย’ ในแบบของตัวเอง แม้เส้นทางนั้นจะไม่ใช่ ‘ทางที่อยากไป’ อย่างที่เขาเกริ่นไว้ตั้งแต่แรก
ด้วยความที่รู้ว่าวิทยาศาสตร์อาจไม่ใช่เส้นทางที่ถนัด หลังจากที่สอบติดวิชาเอกชีววิทยาได้ไม่นาน เด็กชายมะนาวก็ได้ข่าวโครงการ ‘ครูพันธุ์ใหม่’ ซึ่งเปิดรับสมัครเป็นปีแรก เขาจึงตัดสินใจยื่นใบสมัคร ท้ายที่สุดก็ได้กลายเป็นนิสิตคณะครุศาสตร์ สาขามัธยมศึกษา (มนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์) วิชาเอกภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้มาเป็นครูสอนวิชาภาษาไทยอย่างในตอนนี้
เมื่อถามว่าสิ่งใดที่ทำให้ตัดสินใจเลือกทำอาชีพนี้ ครูมะนาวตอบทันทีว่าอาชีพครูคือคำตอบที่อยู่ในใจมาตลอด หรือถ้าว่ากันง่ายๆ อาจจะต้องเรียกว่า ‘ล็อกมง’ มาแล้วตั้งแต่แรก
“พอได้เรียนกับพ่อตอน ป.6 เราเลยรู้ว่าวิธีการสอนของพ่อไม่เหมือนกับของครูคนอื่น เช่น เขาจะให้จับสลากว่าจะได้นั่งตรงไหน ต้องลุ้นว่าสัปดาห์นี้จะได้นั่งกับใคร มันมีความรู้สึกว่า ต่อให้ครูคนนี้ไม่ได้เป็นพ่อเรา เขาก็เป็นครูที่มีลูกเล่นและวิธีการสอนเยอะแยะไปหมด
“แล้วก็ได้คำตอบว่าเราอยากเป็นครูแบบนี้แหละ” คำตอบนี้ไขข้อสงสัยในใจเราได้ทันที
ครูมะนาวเล่าว่าในวันที่เริ่มก้าวเข้าสู่เส้นทางอาชีพครูอย่างเต็มตัว ‘ครูในขนบ’ คือคำที่เขาเลือกใช้นิยามตนเองเมื่อมองย้อนกลับไปยังช่วงไม่กี่ขวบปีแรกของการเป็นครู ซึ่งเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับช่วงเริ่มก่อตั้งเพจ ‘อะไรอะไรก็ครู’ ในเฟซบุ๊ก ความคิดในช่วงนั้นจึงถูกสะท้อนออกมาในรูปแบบของการโพสต์บ่นและแซวนักเรียนลงในเพจ
“ตอนนั้นเรียกได้ว่าอยู่ฝั่งตรงข้ามกับนักเรียนเลยครับ ขอแค่ได้โพสต์แซะโพสต์แซว เช่น ‘ขยันเรียนให้เท่ากับทาแป้งได้ไหม’ ‘จะกลับบ้านแล้วแต่งหน้าเลยเหรอ’
“เป็นครูที่เอาตัวเองตอนมัธยมมาเป็นมาตรฐานว่าทำไมนักเรียนไม่ตั้งใจเรียน ไม่อยากเข้ามหาวิทยาลัยเหรอ เวลาสอนก็จะสอนอย่างที่เคยเรียน ไม่ได้ตั้งคำถามว่าวิธีการมันจะเก่าไปสำหรับเด็กในยุคสมัยนี้หรือเปล่า”
แต่แล้วจุดเปลี่ยนแรกของครูมะนาวก็เกิดขึ้นเมื่อได้รู้จักกับ Brain-based Learning หรือแนวทางการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง เป็นการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและดึงศักยภาพของผู้เรียนออกมาได้อย่างเต็มที่
“ทางโรงเรียนมีการส่งครูไปอบรมเรื่อง Brain-based Learning และ Learning Facilitator มันเป็นการอบรมที่โหดมาก อบรมสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ยาวนานประมาณ 3 เดือน ต้องขับรถไปอบรม เป็นการอบรมครั้งแรกที่ผมทะเลาะกับผอ. ว่าทำไมถึงให้ผมไป แต่ผอ. เขาคงไม่รู้จะให้ใครไป ก็เลยต้องไป
“วิธีการที่อาจารย์ผู้อบรมใช้กับเราก็คือ ใช้ทฤษฎี Brain-based Learning เพื่อทำความเข้าใจว่าจะกระตุ้นแบบไหนให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดี เขาจะเปิดเพลงสบายๆ เปิดคลิปให้ดู พูดถึงเรื่องหนึ่งแต่เรียนรู้ผ่านอีกเรื่องหนึ่ง จนเราได้เรียนรู้ว่ามันมีวิธีการเยอะมาก ไม่ได้มีแค่การสอนผ่าน Powerpoint
และนี่คือจุดที่ ‘ปลดล็อก’ ความคิดของครูมะนาว และจุดประกายให้เขาเริ่มมองหาวิธีการสอนที่สนุกยิ่งขึ้น
ทว่าความสนุกที่เพิ่มขึ้น ก็ยังไม่เพียงพอที่จะจูงใจผู้เรียนได้
“มันก็สนุกขึ้นระดับหนึ่ง แต่ผมก็ยังรู้สึกว่ายังทะเลาะกับนักเรียนอยู่ แอบคิดกับตัวเองว่านี่ขนาดสนุกแล้วเด็กยังไม่สนใจอีกเหรอ”
จนกระทั่งครูมะนาวได้เจอกับจุดเปลี่ยนครั้งที่ 2 นั่นคือการได้ไปอบรมหลักสูตร ‘ครูกล้าสอน’ โดยกลุ่มมะขามป้อม หลักสูตรที่พาครูก้าวออกมาจากความกลัว กล้าที่จะออกนอกกรอบ กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงและทดลองสิ่งใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงให้การจัดการศึกษาดีขึ้น
“ผมได้เรียนรู้เรื่องการสอนในวัฒนธรรมอำนาจนิยม ได้เปิดโลกและมุมมองใหม่ๆ ทำความเข้าใจสิ่งที่ไม่เคยได้เรียนรู้มาก่อน และได้แรงบันดาลใจที่จะกล้าออกนอกกรอบ กล้าตัดอะไรที่ไม่จำเป็น หรือแม้กระทั่งกล้าที่จะยืนหยัดเพื่ออะไรสักอย่างหนึ่ง
“หลังอบรมจบก็ค่อยๆ เปลี่ยน mood & tone ในการสอน แล้วจากนั้นเด็กๆ ก็ค่อยๆ เปลี่ยน mood ตาม”
เมื่อลองเปิดใจและเริ่มทำความเข้าใจมุมมองของผู้เรียนมากขึ้น ครูมะนาวค้นพบว่าเด็กแต่ละคนมี ‘จุดหมายในการเรียนรู้’ ที่ต่างกันออกไป และเมื่อจุดมุ่งหมายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน จึงไม่แปลกที่วิธีการเรียนรู้ของเด็กจะต่างกัน
“มุมมองที่มีต่อนักเรียนเริ่มเปลี่ยนไป พอไปเยี่ยมบ้านนักเรียน เจอผู้ปกครอง เราก็จะถามด้วยความเคยชินว่า ‘แม่ครับ ถ้าลูกเรียนจบแล้วจะให้เขาไปเรียนต่อที่ไหนครับ’ ผู้ปกครองก็จะบอกว่า ‘จบแค่ ม.6 ก็พอ’ เท่านี้ก็ทำให้เราเห็นแล้วว่าเป้าหมายที่เราคิดไว้กับเป้าหมายที่ผู้ปกครองคิดไม่เหมือนกัน และบางทีเป้าหมายที่เด็กคิดไว้อาจก็จะแตกต่างไปจากที่ครูและพ่อแม่คิด
“เราลืมนึกไปว่าเป้าหมายที่เด็กๆ ตั้งไว้มันไม่ได้เหมือนกับเป้าหมายที่เราเคยตั้ง เด็กบางคนก็ไม่ได้เรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย พอเป้าหมายเขาไม่เหมือนกับเรา วิธีเรียนก็ไม่เหมือนกัน เราเลยต้องหาวิธีที่ทำให้เด็กสนุก อย่างน้อยถึงจะไม่ได้เรียนต่อ แต่ถ้าเขาเอาความรู้ที่เราสอนไปใช้ในการใช้ชีวิตของเขาได้เท่านี้ก็พอแล้ว”
หลังจากได้เปลี่ยน ‘ความข้องใจ’ ให้กลายเป็น ‘ความเข้าใจ’
ครูมะนาวก็ได้ทำความรู้จักกับภูเขาน้ำแข็งก้อนใหญ่ ที่ทำให้ได้เรียนรู้ว่าการเป็นครูนั้นไม่ใช่แค่เพียงต้องทำความเข้าใจผู้เรียนจากปัญหาหรือพฤติกรรมที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า แต่ต้องเรียนรู้ว่าสาเหตุที่นำมาซึ่งสิ่งเหล่านั้นก่อตัวขึ้นมาจากอะไร
“คิวจำเรื่องค่ายลูกเสือได้ไหม ใช่รุ่นเราหรือเปล่า” ครูมะนาวหันไปถาม คิว-ธนวัฒน์ เกียรติดำรงชัย ลูกศิษย์ที่มารับหน้าที่ถ่ายภาพประกอบบทสัมภาษณ์ในวันนี้
“รุ่นน้องครับ” คิวตอบอย่างทันทีทันใด ราวกับว่าเป็นเรื่องที่เพิ่งผ่านมาได้ไม่นาน
ครูมะนาวเริ่มเล่าถึงเหตุการณ์ในค่ายลูกเสือเมื่อหลายปีก่อน “วันเข้าค่ายตรงกับวันเกิดของนักเรียนคนหนึ่ง เพื่อนๆ และครูเลยวางแผนเซอร์ไพร์สวันเกิดในค่าย สร้างสถานการณ์ขึ้นมา แกล้งบอกว่าจับได้ว่าเขาขโมยของเพื่อน แล้วให้เพื่อนไปเอาของกลางมา ซึ่งของกลางคือตุ๊กตาสำหรับเซอร์ไพร์ส ปรากฏว่าพอเฉลยแผน นักเรียนเจ้าของวันเกิดช็อก
“เหมือนเขาเปลี่ยนอารมณ์ไม่ทัน ผมรีบพาไปส่งโรงพยาบาล พอส่งโรงพยาบาลปุ๊บ หมอก็นัดให้มาดูอาการ ผมก็เข้าใจว่าคงจะมาดูเรื่องปอด เรื่องระบบหายใจ แต่หมอส่งไปห้องจิตวิทยา
“เราเป็นครูแต่เราไม่เข้าใจเลยว่าทำไมชักแล้วต้องส่งไปห้องจิตวิทยา หมอก็อธิบายว่าพื้นฐานก่อนหน้านี้เด็กคนนี้เจออะไรมา เลยทำให้ปัจจุบันเขาเป็นแบบนี้
“นั่นเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ผมเข้าใจเรื่องทฤษฎีภูเขาน้ำแข็งมากขึ้น เราไม่มีทางรู้เลยว่าเด็กคนหนึ่งเคยเจอหรือเคยผ่านอะไรมาบ้าง ภาพที่เราเห็นเขาในตอนนี้อาจจะเป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งแปลว่าถ้าเราคุยเฉพาะปัญหาที่อยู่ตรงยอด มันก็จะแก้ไขอะไรไม่ได้เลย”
ครูต้องพยายามทำความเข้าใจนักเรียนก่อนว่าเด็กผ่านอะไรมาบ้าง หลังจากนั้นครูเองก็ต้องทำความเข้าใจตัวเองว่าคาดหวังอะไรอยู่ และท้ายที่สุดคือครูต้องเข้าใจว่าสังคมตอนนี้ทำให้เด็กๆ ต้องมีภูมิคุ้มกันในเรื่องใดบ้าง
นี่คือสามสิ่งที่ครูมะนาวเชื่อว่าจะทำให้ครูและนักเรียนปรับตัวเข้าหากันและเข้าใจกันได้มากขึ้น
การเป็นครูไม่ใช่การตั้งเป้าหมายหรือหยิบยกความคาดหวังไปไว้ที่ตัวเด็ก
การเป็นครูไม่ใช่การนำเอาประสบการณ์ที่ตัวเองเคยมีไปตัดสินผู้เรียน
แต่การเป็นครูของครูมะนาว คือการเปลี่ยนมุมมองและพร้อมที่จะทำความเข้าใจผู้เรียน
หลังจากที่ได้ฟังจุดเปลี่ยนและวิธีการทำความเข้าใจเด็กๆ ในมุมมองของครูมะนาวแล้ว เรายังอดสงสัยไม่ได้ว่าการทำอาชีพนี้สำหรับครูมะนาวนั้นมีความยากง่ายมากเพียงไหน เพราะจากที่ได้ฟังเรื่องราวต่างๆ มาตั้งแต่ต้น อาชีพครูดูจะเป็นงานหินไม่น้อยเลยทีเดียว
“เป็นครูไม่ยากครับ สนุก” เขาตอบคำถามอย่างง่ายๆ ก่อนจะขยายความต่อ
“แต่ก็สนุกเป็นบางเรื่องครับ จริงๆ แล้วอาชีพครูเป็นงานแบบซ้ำๆ เปลี่ยนแค่ตัวละครที่เข้ามา เหมือนกับข้อสอบโอเน็ตที่มันเปลี่ยนโจทย์ เปลี่ยนชอยส์ แต่ว่ามาตรฐานหรือตัวชี้วัดที่ต้องการจะวัดผู้เรียนยังเป็นเรื่องเดิม
“สมมุติว่าเราอยากให้นักเรียนวิเคราะห์วรรณคดีเป็น ตัวชี้วัดมันจะบอกแค่ว่าต้องสะกดคําให้ถูก เขียนคําให้เป็น สื่อสารได้ แต่ในส่วนของกระบวนการที่เราจะเอามาใช้เพื่อให้เขาเขียนคำให้เป็น สื่อสารได้ มันเปลี่ยนได้ อันนี้แหละที่สนุก
“ผมคิดว่าการเรียนมันเหมือนการวางแผนว่าจะทำคอนเทนต์ยังไงให้น่าสนใจ ถ้าเราพูดหรือสอนตรงๆ ไปเลย สรุปจบเรียบร้อย มันก็ไม่มีอะไรที่ต้องไปค้นคว้าต่อ ไม่ได้มีประเด็นต่อยอด คนเสพคอนเทนต์ก็จะเบื่อ”
แน่นอนว่าวิธีคิดของครูมะนาวได้รับการยืนยันด้วยวิธีการสอนในห้องเรียนที่ไม่ซ้ำกับใคร
สำหรับใครที่ติดตามครูมะนาวมาก่อน อาจเคยเห็นภาพหรือวิดีโอที่ครูมะนาวพานักเรียนชั้นมัธยมศึกษาลงมือทำกิจกรรมในห้องเรียนอย่างสนุกสนาน ทั้งแบ่งกลุ่มวางแผนเจรจาพูดคุยกันผ่านการเล่นเกม ทำภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย หรือแม้กระทั่งชวนนักเรียนมาร่วมถ่ายมิวสิกวิดีโอเพลงที่ครูมะนาวแต่งขึ้นเอง โดยมีสิ่งที่ยืนยันความสนุกเป็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเด็กๆ ที่เราเห็นผ่านภาพและวิดีโอเหล่านั้น
การตั้งเป้าหมายว่าอย่างน้อยจะต้องมีกิจกรรมเล็กๆ ให้นักเรียนได้ลงมือทำ ไม่ใช่แค่การเข้าไปสั่งงานเพียงเท่านั้น คือสิ่งที่ครูมะนาวคำนึงถึงเสนอ เพราะนอกจากวิธีการเหล่านี้จะช่วยให้เด็กๆ ตื่นตัวที่จะเรียนรู้และสนใจในการได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ ยังเป็นการชวนให้ผู้เรียนได้ค้นหาความเป็นไปได้และมองเห็นแนวทางการเรียนรู้ในแบบที่ตัวเขาอยากก้าวไปลองทำอีกด้วย
อย่างที่ครูมะนาวเชื่อมั่นมาตั้งแต่แรกว่า ‘เด็กแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน และมีวิธีการไปถึงเป้าหมายในแบบของตนเอง’ หน้าที่ของครูจึงต้องเป็นผู้พาเด็กๆ ค้นพบโอกาสในการเรียนรู้สิ่งเหล่านั้น และผลักดันให้พวกเขาเดินไปถึงจุดหมายปลายทางที่ตั้งเอาไว้
ครูมะนาวยกตัวอย่างกิจกรรมในรายวิชาภาษาไทยที่เพิ่งสอนจบไปเมื่อภาคเรียนที่ผ่านมา
“เทอมที่แล้วผมสอนเรื่องพระอภัยมณี เริ่มเล่นละครตั้งแต่นักเรียนก้าวเข้ามาในห้องเลยครับ นักเรียนทุกคนจะได้รับบทเป็นตำรวจที่ต้องสืบคดี แบ่งออกเป็นทีมสืบพยานและทีมพิสูจน์หลักฐาน เราก็ต้องจัดสถานที่เตรียมไว้ตั้งแต่ก่อนเด็กๆ จะเข้ามา ในห้องเรียนจะมีผ้าม้วนไว้เป็นร่างสุภาพสตรีที่อยู่ในหอพัก ชื่อว่า ‘ผีเสื้อสมุทร’
“คอนเซ็ปต์คือจำลองห้องเรียนให้เป็นสถานที่เกิดเหตุ ในห้องจะมีหลักฐานต่างๆ เช่น บัตรประจําตัว ข้อความล่าสุดที่โพสต์ในเฟซบุ๊ก นักเรียนต้องเอาหลักฐานเหล่านี้มาเชื่อมโยงกัน จัดลําดับว่าสิ่งไหนเกิดขึ้นก่อนหรือหลัง แล้วเอาข้อมูลมาดูว่าอันไหนคือข้อเท็จจริง อันไหนคือข้อคิดเห็น ใช้วิธีนําเสนอหน้าชั้นเรียนในรูปแบบของการแถลงข่าว”
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อย่างเช่น การใช้ Emoji เป็นสื่อการสอนเรื่องสุภาษิตสำนวนไทย “บางคาบก็ไม่คุยกับนักเรียนเลย คือนักเรียนเข้าห้องมาก็เปิดจอค้างไว้ แล้วเราก็พิมพ์ ‘สวัสดีครับ’ ตัวใหญ่ๆ ฉายขึ้นหน้าจอ นักเรียนก็จะอัดคลิป สะกิดกันดู แล้วเราก็พิมพ์แชตบอกว่าวันนี้ครูจะไม่พูดนะครับ เราจะมาเรียนเรื่องสุภาษิตกัน แล้วก็ให้นักเรียนส่ง Emoji ในมือถือ เช่น หัวล้านได้หวี นักเรียนก็จะพิมพ์เป็นรูปเด็ก หัวล้าน รูปหวี ส่งเข้ามาในกลุ่ม แล้วก็ทายกันว่าเป็นสำนวนอะไร”
เห็นได้ว่าสื่อการสอนภาษาไทยของครูมะนาวไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในรูปแบบสไลด์ ใบงาน หรือหนังสือแบบฝึกหัด แต่เป็นสื่อที่เกิดจากการสังเกตและหยิบเอาสิ่งรอบตัวมาออกแบบการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้เห็นว่า ‘อะไรๆ ก็สร้างการเรียนรู้ได้’ และการเรียนรู้ก็เกิดขึ้นได้ทุกที่ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยม
“ทุกวันนี้ความสนุกและความสุขในการสอนคือต้องทำให้เขาเดาไม่ถูกว่าครูจะสอนอะไร แล้วปิดท้ายด้วยการเฉลยว่า ที่ทํากิจกรรมไปทั้งหมดเนี่ย เราเรียนเรื่องนี้นะ ซึ่งเด็กก็จะแบบ เห้ย กลายเป็นเรื่องนี้ได้ยังไง ครูโยงเข้ามาเรื่องนี้ได้ยังไง
“ถ้าคาบไหนไม่ทําอะไรเลย ผมจะรู้สึกผิดครับ” เขาตอบพร้อมเสียงหัวเราะ
เมื่อถามถึงที่มาของความตั้งใจที่ทำให้อยากสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดีให้กับเด็กๆ นอกเหนือจากเหตุผลในเรื่องของการเปิดโอกาสในการเรียนรู้ด้วยวิธีการใหม่ๆ ครูมะนาวปิดท้ายสั้นๆ ว่า
“การที่ครูเลือกหยิบเอาด้านสนุกของวิชานั้นขึ้นมาได้ มันมีผลทำให้เด็กชอบวิชานั้นมากขึ้น เหมือนเป็นการปลูกฝังทัศนคติให้กับผู้เรียนในแง่ใดแง่หนึ่ง ผมว่านี่แหละครับคือสิ่งที่คนเป็นครูจะมอบให้เด็กคนหนึ่งได้”