- ‘ภาพยนตร์’ ตัวแทนของผู้ชมในช่วงวัยหนึ่งที่เคยเจอปัญหา เรียนรู้ และเติบโตเพื่อเดินหน้าต่อเป็นตัวเราในวันนี้
- ‘กรุงเทพกลางแปลง’ กิจกรรมใหม่ของชาวกรุงเทพฯ ย้อนวันวานการดูหนังแบบ ‘กลางแปลง’
- mappa ชวนดูหลากหลายความสัมพันธ์จาก 4 ภาพยนตร์ ที่จัดฉายตลอดเดือนกรกฎาคมนี้
‘กรุงเทพกลางแปลง’
เป็นหนึ่งในนโยบาย ‘12 เดือน 12 เทศกาล’ ของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความบันเทิงให้กับชาวกรุงเทพฯ
หลายคนจับมือแฟน จูงมือลูก หรือพาแก๊งเพื่อนไปดูหนังกลางแปลงตามจุดฉายหนังต่างๆ เพื่อหวนนึกถึงบรรยากาศและความทรงจำกันอีกครั้ง
สุดสัปดาห์นี้ mappa ชวนดูหลากหลายความสัมพันธ์จาก 4 ภาพยนตร์ ที่จัดฉายตลอดเดือนกรกฎาคมนี้
บางครั้งละครก็คือตัวแทนของผู้ชมในช่วงวัยหนึ่งที่เคยเจอปัญหา เรียนรู้ และเติบโตเพื่อเดินหน้าต่อเป็นตัวเราในวันนี้ แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม
แต่เราก็ยังจำตัวเราในวัยนั้นได้ดีเช่นเดียวกับทุกๆ ตัวละครจาก 4 ภาพยนตร์ที่บอกว่า ชีวิตวันนี้ของเราคือผลลัพธ์ของทุกๆ ความสัมพันธ์ที่เคยผ่านเข้ามาในชีวิต
ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ พวกเราก็เคยมีความสุขและผิดพลาดกันทั้งนั้น แล้วสิ่งนั้นคือแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เราเติบโตและเดินหน้าต่ออย่างมีจุดหมาย
รักแห่งสยาม : ‘ความรัก’ อาจไม่คงทน แต่ได้เจอ ‘ตัวตน’ ที่จะอยู่กับเราตลอดไป
ผู้ชายต้องคู่กับผู้หญิง
คำสอนที่เราต่างเคยได้ยินมาในวัยเด็ก ไม่ว่าจะจากผู้ใหญ่หรือสื่อโฆษณา สื่อบันเทิงต่างๆ ที่มักฉายภาพชายหญิงคู่กันเสมอ
‘โต้ง’ ตัวละครจาก ‘รักแห่งสยาม’ ที่อาจถูกปลูกฝังด้วยความคิดนี้เช่นกัน เพราะมันทำให้เขาเกิดความรู้สึกแปลกๆ เมื่อพบว่าหัวใจเต้นแรงเวลาที่อยู่ใกล้ ‘มิว’ เพื่อนสนิทชายในวัยเด็กที่ได้กลับมาเจอกันอีกครั้งช่วงม.6
ขณะที่โต้งกำลังค้นหาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาคืออะไร ‘สุนีย์’ แม่ของโต้งที่มองเห็นสิ่งนี้จากลูกชายของเธอเช่นกัน แต่เธอเลือกที่จะตีความทันทีว่าเป็นสิ่งที่ผิดปกติ แล้วการเลี้ยงดูลูกชายคนนี้ก็ทำให้รู้ว่าเขาดื้อขนาดไหน เธอเลือกที่จะไปคุยกับมิวให้ถอยห่างจากลูกเธอซะ
ส่วนมิวเองก็เกิดความรู้สึกเช่นเดียวกับโต้ง มันย้ำเตือนให้เขานึกถึงช่วงวัยเด็กที่โดนเพื่อนๆ แกล้ง เพราะมองว่าพฤติกรรมเขาไม่ ‘แมน’ พอ
ความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างสองคนนี้อาจไม่ใช่รักแท้ที่คงอยู่หรือต้องต่อสู้เพื่อให้ได้คู่กัน แต่เป็นความรู้สึกที่ทำให้พวกเขารู้จัก ‘ตัวตน’ ได้ทำความเข้าใจตัวพวกเขาให้ลึกซึ้งกว่าเดิม
แม้สิ่งที่ค้นพบจะแตกต่างกับสิ่งที่สังคมพร่ำบอก แต่สุดท้ายคนที่เลือกจะใช้ชีวิตอย่างไรก็คือตัวเราเอง
สามารถรับชมภาพยนตร์ได้ในวันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม ณ สยาม Blox I สยามสแควร์
รถไฟฟ้ามาหานะเธอ : “คนนี้พี่ขอ”กล้าพูดความต้องการออกมา พาตัวเองไปลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ
“แม่ เคยบอกว่าห้ามไปจีบผู้ชายก่อน ไม่ใช่เหรอ?”
คำถามจาก ‘เหมยลี่’ ที่มีให้กับแม่ตัวเอง หลังจากฟังแม่เล่าว่าสมัยวัยรุ่นเคยติ่งนักร้องคนหนึ่ง เพราะเหมยลี่ก็เคยทำแบบเดียวกัน แต่ปฎิกิริยาของแม่ตอนนั้นทำบ้านแทบแตก แม่โมโหและบอกว่าถ้าพ่อรู้ว่าเธอ ‘บ้าผู้ชาย’ คงเสียใจ
“ไม่นิ แกเข้าใจว่าแบบนั้นเหรอ”
คำตอบจากแม่ที่ทำให้เหมยลี่ตาโตกว่าเดิม 17 ปีที่เธอโตมาพร้อมกับความคิดว่าติ่งดาราไม่ดีหรือจีบผู้ชายก่อนไม่ควร ต้องอยู่ในกรอบผู้หญิงที่ดีตามครอบครัวบอก ทำให้เหมยลี่ในวัย 30 ปีตอนนี้ไม่เคยมีประสบการณ์ความรัก
ขณะที่เพื่อนหลายคนเริ่มแยกออกไปมีชีวิตของตัวเอง จนกระทั่งเพื่อนที่สนิทที่สุดก็โบกมือลาไปจับมือคู่ชีวิตตัวเอง ทำให้เหมยลี่เคว้งคว้างกว่าเดิม
จนเธอได้เจอกับคนคนหนึ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึก ‘รัก’ ครั้งแรกและอยากจะลองเดินบนเส้นทางแปลกใหม่นี้ แต่ก็ไม่ง่ายที่จะเดินออกมาจาก comfort zone พื้นที่ปลอดภัยที่เธอใช้เวลากับมันมาทั้งชีวิต ถึงมันจะไม่ใช่พื้นที่ที่เธอชอบหรือมีความสุขที่จะอยู่สักเท่าไร แต่ก็ทำให้เธออุ่นใจและปลอดภัยจนไม่กล้าจะก้าวไปทางอื่น
‘ครอบครัว’ เป็น comfort zone ของเหมยลี่ แม้จะเต็มไปด้วยการตีกรอบและความเป็นห่วงที่บางทีก็มากเกินรับไหว แต่เหมยลี่ก็อยู่จนชินและกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
แม้แต่ตัวตนของเธอ ความเป็นคนที่เก็บทุกอย่าง ไม่พูดแม้จะไม่ชอบแค่ไหน เลือกทน ทน และทนเสมอ
“คนนี้พี่ขอ”
ครั้งแรกที่เหมยลี่กล้าพูดความต้องการตัวเองออกมา รวมถึงพาตัวเองไปลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ
แม้ที่ผ่านมาเธออาจจะพลาดหลายสิ่งเพราะความกลัวและความเชื่อที่ฝังหัว แต่ถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ ก็ยังคงสามารถเปลี่ยนได้เสมอ ก้าวออกจากพื้นที่เดิมๆ ลองเดินไปเส้นทางใหม่ๆ ที่เราไม่เคย ถึงจะหกล้มหรือเดินยากกว่าเดิม แต่ก็อาจเป็นความสนุกของการเกิดเป็นมนุษย์ก็ได้
School Town King : คนเรามีความฝัน ต้องเลือกและทำมันด้วยตัวเอง
“กูต้องทำความฝันตอนนี้”
‘แรปเปอร์’ คือ ความฝันของ ‘บุ๊ค’ ธนายุทธ ณ อยุธยา เด็กจากชุมชนคลองเตย แม้สิ่งนี้จะค้านสายตาครูและครอบครัว
แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคที่จะทำให้บุ๊คล้มเลิกความฝัน เขาพยายามมากขึ้น ทุ่มเทเวลาทั้งหมดที่มีไปกับการเตรียมตัวและฝึกซ้อม
นอกจากจะหลงใหลในเพลงฮิปฮอป อีกด้านหนึ่ง เพลงแร็ปทำให้บุ๊คมีตัวตนในสายตาคนอื่น เพราะที่โรงเรียน บุ็คเป็นเด็กเกเรที่ไม่ยอมเรียน ส่วนในครอบครัวบุ๊คเป็นลูกชายที่ทำให้พ่อผิดหวัง
“ตอนที่ผมไม่แร็ป เหมือนเราเป็นคนที่โดนมองข้าม เหมือนในโรงเรียน เราไม่มีชื่อเสียงหรือไม่เด่นเลย แต่พอเราแร็ปคนก็หันกลับมาชอบเรา”
ขณะเดียวกัน ถึงพ่อจะไม่เต็มใจยอมรับ แต่ในห้องเล็กๆ ที่บ้าน บุ๊คมีห้องอัดและแต่งแร็ปเป็นงานอดิเรก สำหรับวัยรุ่นคนนี้ ความคิดเห็นของคนอื่นไม่สำคัญเท่ากับความเชื่อในตัวเอง
ทำให้บุ๊คพาพ่อเดินเข้าโรงเรียนเพื่อลาออก สวนทางกับ ‘นนท์’ แรปเปอร์รุ่นน้องที่เลือกจะพักวิถีแรปเปอร์ สะพายกระเป๋าเข้าห้องเรียนเพื่อพ่อแม่
“สุดท้ายคนที่อยู่ได้ ไม่ใช่คนเรียนเก่ง แต่คือคนที่ดูแลตัวเองได้”
บุ๊คบอกนนท์ ในวันที่เขาเลือกแล้วว่า แรปเปอร์จะทำให้เขาดูแลตัวเองได้ และสุดท้ายเขาจะมอบความสุขให้ครอบครัวได้ แม้วันนี้บุ๊คจะต้องแบกรับความกดดันและความเจ็บปวดที่บอกใครไม่ได้ เพราะพ่อยังไม่ยอมรับทางเลือกที่เขาเลือก
แต่ลูกชายคนนี้ก็หวังว่าวันหนึ่งพ่อจะเข้าใจและภูมิใจในตัวเขาบ้าง
และไม่ว่าอย่างไรก็ตาม บุ๊คก็ยังเชื่อว่า “คนเรามีความฝัน ต้องเลือกและทำมันด้วยตัวเอง”
สามารถรับชมภาพยนตร์ได้ในวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม ณ สวนครูองุ่น
เพื่อนสนิท : รักและคิดถึง ประโยคลงท้ายจดหมายที่บอกว่า เพื่อนจะให้กำลังใจกันแม้จะแยกย้ายกันไปเติบโต
“สวัสดี เราชื่อดากานดา”
ดากานดา คือ เพื่อนคนแรกของ ‘หมู’ หรือ ‘ไข่ย้อย’ ในชีวิตมหาวิทยาลัย
ขณะที่เพื่อนคนอื่นวิ่งล่าลายชื่อเพื่อนตอนรับน้อง แต่ไข่ย้อยยืนอยู่กับที่ เพราะไม่รู้จะเริ่มต้นบทสนทนากับเพื่อนคนอื่นอย่างไรดี
แต่ดากานดาเป็นคนที่เข้ามาทักพร้อมกับแนะนำตัวเองด้วยรอยยิ้มและความสดใส หลังจากวันนั้น ความสัมพันธ์ของทั้งสองคนก็พัฒนาจากเพื่อนเป็นเพื่อนสนิท
ไปดูคอนเสิร์ต คอยเตือนให้ส่งงาน และบางครั้งก็ด่ากันบ้าง
เพราะทั้งสองคน คือ ‘เพื่อนสนิท’ กัน แม้จริงๆ แล้วทั้งสองคนจะคิดกับอีกคนมากกว่าเพื่อนก็ตาม
วันสอบวันสุดท้าย ความสัมพันธ์ของดากานดาและไข่ย้อยจะไม่เหมือนเดิม แต่ไข่ย้อยก็ยังนัดเพื่อนที่เคยสนิทมาเคลียร์ใจกัน
“เรารักแกว่ะ” ไข่ย้อยบอกกับดากานดา แม้จะรู้คำตอบของอีกฝ่ายอยู่แล้ว
“มาทำอะไรเอาตอนนี้” ดากานดาตอบด้วยน้ำเสียงเรียบ เพราะเธอเองก็น่าจะรู้อยู่แล้วเหมือนกันว่า ไข่ย้อยคิดอย่างไรกับเธอ
แล้วคำตอบของดากานดาก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนความสัมพันธ์ที่ทำให้ไข่ย้อยกลับกรุงเทพฯ มาพักผ่อนที่พะงัน
ตั้งแต่วันที่ดากานดาปฏิเสธความรู้สึก นาฬิกาของไข่ย้อยเหมือนเดินถอยหลัง ทุกครั้งที่เขาจะเริ่มต้นใหม่ เขาจะนึกถึงเพื่อนสนิทเสมอ
ชีวิตที่พะงันของไข่ย้อย ไม่ใช่การหนีร้อน แต่หนีรัก เพื่อเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
“เมื่อวานฉันพร้อมออกเดินทางอีกครั้ง จะไปไหนน่ะเหรอ คงเป็นสักที่มั้ง ที่เวลาเลิกเดินถอยหลังและวันใหม่ของฉันจะเริ่มต้นขึ้น”
วันหนึ่งทุกคนต้องแยกย้ายไปเติบโต แต่ความสัมพันธ์ของเพื่อนจะยังเป็นความทรงจำที่สวยงามในใจของเราเสมอ
“ดากานดา หวังว่าแกจะอวยพรให้ฉันนะ”
“รักและคิดถึง”
ไข่ย้อยทิ้งท้ายในจดหมายถึงดากานดาไว้แบบนั้น เพราะนี่คงเป็นจดหมายฉบับสุดท้ายที่เขาจะเขียนถึงเพื่อนสนิท
เพื่อส่งสัญญาณให้กับตัวเองอีกครั้งว่า ไม่เป็นไรถ้าความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนจะไม่เหมือนเดิม แต่ส่งแรงใจในระยะไกลก็เพียงพอแล้วสำหรับเพื่อนคนหนึ่งที่รักและหวังดีต่อกันเสมอมา
สามารถรับชมภาพยนตร์ได้ในวันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม ณ ตลาดบางแคภิรมย์