เวลาเด็กโดนบังคับให้ตัดผม พวกเขาโดนตัดไปแค่ผมจริงเหรอ? เมื่อแบรนด์ปักธงใหม่ สร้างบทสนทนาและความเปลี่ยนแปลง

  • เวลาเด็กผู้หญิงโดนบังคับให้ตัดผม พวกเขาโดนตัดไปแค่ผมจริงเหรอ?
  • #LetHerGrow แคมเปญล่าสุดจากโดฟ (Dove) เพื่อรณรงค์ยุติกฎการตัดผมในโรงเรียน ที่ตัดความมั่นใจของเด็กๆ
  • คุยกับพาณิภัค ศิริรัตนชัยกูล ผู้จัดการอาวุโส กลุ่มผลิตภัณฑ์โดฟ เบื้องหลังการทำแคมเปญ ที่ปลายทางให้ทุกคนได้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ในแบบที่ชอบ

ตอนที่เรียนมัธยมเรามักจะกลัวเวลาต้นเดือน เพราะเป็นช่วงที่คุณครูตรวจผม 

ปลายเดือนร้านทำผมแถวบ้านก็จะเต็มไปด้วยนักเรียนที่รอต่อคิวตัดผมเพื่อให้ถูกระเบียบ ไม่ว่าผมสั้นเท่าติ่งหูหรือเกรียน 3 ด้าน 

ไม่ใช่ช่วงเวลาที่น่าจดจำสักเท่าไร การไว้ผมสั้นไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะมั่นใจ บางคนต้องหาสารพัดวิธีเพื่อให้อยู่กับผมทรงนี้ได้ บางโรงเรียนดีหน่อยถ้าขึ้นมัธยมปลายสามารถไว้ผมยาวเลยติ่งหู แต่ก็ยังมีการกำหนดความยาวของผมในระดับที่ ‘เหมาะสม’สำหรับนักเรียน

“จะได้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย”

คำตอบจากผู้ใหญ่ เมื่อเด็กตั้งคำถามถึงกฏระเบียบ แต่เมื่อโตขึ้นพร้อมสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป มันก็ทำให้เราย้อนกลับไปมองช่วงเวลานั้นแล้วตั้งคำถามว่า ‘ระเบียบเรียบร้อย’ นั้น ไม้บรรทัดยังควรใช้อันเดิมอยู่หรือเปล่า  

และเป็นไม้บรรทัดที่ทุกคนในโรงเรียนควรได้ออกแบบร่วมกันหรือไม่ เพราะมันอาจไม่ใช่แค่ไม้บรรทัดวัดความยาวของผม แต่เป็นไม้บรรทัดที่วัดความเคารพซึ่งกันและกัน 

“เวลาเด็กผู้หญิงโดนบังคับให้ตัดผม พวกเขาโดนตัดไปแค่ผมจริงเหรอ?”

#LetHerGrow แคมเปญล่าสุดจากโดฟ (Dove) เพื่อรณรงค์ยุติกฎการตัดผมในโรงเรียน เพราะสิ่งที่ถูกตัดไม่ใช่แค่เส้นผม แต่เป็นความมั่นใจของพวกเขา

จุดยืนของแคมเปญนี้คือ เสริมสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค ด้วยความเชื่อว่าความมั่นใจในตัวเองสามารถสร้างได้ตั้งแต่เด็กๆ และจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรารู้จักกับความสวยที่แรกๆ คือโรงเรียน แต่น่าเศร้าที่หากต้องกลายเป็นพื้นที่ที่อาจจะลดทอนความมั่นใจ และตีกรอบเด็กๆจนอาจจะเสียความเป็นตัวตนไป

พาณิภัค ศิริรัตนชัยกูล ผู้จัดการอาวุโส กลุ่มผลิตภัณฑ์โดฟ กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย

mappa สนทนากับ พาณิภัค ศิริรัตนชัยกูล ผู้จัดการอาวุโส กลุ่มผลิตภัณฑ์โดฟ กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ถึงเบื้องหลังการทำแคมเปญชิ้นนี้ เพื่อให้เห็นภาพกว้างที่ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เราก็อยากมีความมั่นใจที่จะใช้ชีวิต สวมใส่ภาพลักษณ์ที่เราต้องการ

#LetHerGrow ปล่อยให้เด็กเติบโตอย่างที่ต้องการ

Dove Real Beauty Pledge คือ พันธกิจหลักของโดฟ เพื่อผลักดันความเชื่อที่ว่าเราทุกคนมีความงามในตัวเอง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และความมั่นใจจะช่วยดึงสิ่งนี้ออกมา โดยเฉพาะเด็กๆ ที่กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาตัวเอง การขาดความมั่นใจในรูปร่าง กังวลเกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอก อาจปิดกั้นเด็กๆ ไม่ให้เป็นตัวเองในแบบที่ดีที่สุด 

จุดแรกๆ ที่ทำให้เด็กรู้จักกับความงาม หรือเริ่มสนใจเรื่องภาพลักษณ์ตัวเองก็คือโรงเรียน แต่กฎระเบียบบางกฎอาจเป็นตัวขัดขวางและลดทอนความมั่นใจ รวมถึงชี้และตีกรอบว่า ‘ความสวยงาม’ ควรเป็นแบบไหน

“เราได้ทำวิจัย พูดคุยกับคุณครู ผู้ปกครอง นักเรียน พบว่า 8 ใน 10 ของนักเรียนรู้สึกสูญเสียความมั่นใจ ซึ่งจริงๆแล้วกระทรวงศึกษาฯ ได้ออกกฎไม่ให้มีการตัดผม แต่หลายคนยังไม่ทราบ เปิดเทอมที่ผ่านมาจึงยังมีการตัดผมนักเรียนอยู่”

อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า สิ่งที่เด็กถูกตัดไปไม่ใช่แค่เส้นผม แต่เป็นตัวตนและความมั่นใจ เมื่อไม่มีสิ่งนี้ทำให้เด็กหลายคนไม่อยากจะออกไปใช้ชีวิต ค้นหาตัวตนหรือประสบการณ์ต่างๆ

แคมเปญนี้จึงเกิดขึ้นมาเพื่อเรียกคืนความมั่นใจของเด็กๆ 

“เราไม่ได้ออกแคมเปญรณรงค์ให้เกิด awareness แล้วจบ แต่เราต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว มีการทำวิจัยรองรับ มีการจัดวงเสวนาเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยแลกเปลี่ยนในเรื่องนี้ คุณครูในโรงเรียน หมอโอ๋ (ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร) มาพูดเรื่องผลกระทบพัฒนาการเด็ก หลังจากนั้นเราเอาความคิดเห็นที่ได้ไปตกผลึก ไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทำงานร่วมกับโรงเรียน เพื่อสร้างความมั่นใจและความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง”

Dove Self-Esteem Project ความมั่นใจในตัวเองที่ควรสร้างตั้งแต่เด็ก

แคมเปญ #LetHerGrow เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ Dove Self-Esteem Project ที่โดฟ ประเทศไทย ได้ทำมาตลอด 8 ปี ได้สร้างความมั่นใจให้เด็กๆ เด็กบางคนถูกหล่อหลอมมาด้วยบรรทัดฐานความงามที่คนบางกลุ่มตั้งไว้ ปิดกั้นโอกาสที่เขาจะได้ทดลองสวมใส่รูปลักษณ์ที่หลากหลาย เพื่อค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบ เพราะความงามที่แท้จริงคือ การมีความมั่นใจและมีเอกลักษณ์แบบที่ต้องการ

“เราเชื่อเรื่องโฆษณาสามารถ shape ความคิดของคนได้ ถ้าโฆษณาออกมาเหมือนกันว่าคนต้องผมยาว ตรง สวย เรียบ ก็จะทำให้เด็กทุกคนอยากเป็นแบบนั้น ไม่ได้มีตัวตนหรือความงามตามอัตลักษณ์ของตัวเอง 

“ทุกคนมีเอกลักษณ์ของตัวเอง เพราะฉะนั้น เราควรมีความมั่นใจที่จะพรีเซนต์สิ่งนี้ นั่นเป็นความงามที่แท้จริง ไม่ใช่ความงามตามมาตรฐานที่โฆษณาหรือสังคมกำหนด เราอยากให้ทุกคนได้เป็นตัวเอง สื่อของเราจะสื่อสารด้วยภาพลักษณ์ของคนหลากหลายแบบ ให้คนรู้สึก positive เกี่ยวกับตัวเอง”

หลักสูตร ‘FREE BEING ME’ ภายใต้ Dove Self-Esteem Project ที่โดฟ ร่วมกับสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดหลักสูตรขึ้น เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้เด็กวัย 7 – 18 ปีเข้าใจคอนเซปต์นี้ พาณิภัคเล่าประสบการณ์ลงพื้นที่ทำงานในโรงเรียน ให้เด็กๆ ดูรูป และถามว่าเขาคิดว่าคนไหนสวย ส่วนใหญ่จะเลือกคนที่ผิวขาว ผมยาว ผอม ทำให้ต้องมาละลายมุมมองความงามเด็กใหม่ 

“พอให้เลือกรูปอีกที เด็กเลือกไม่เหมือนเดิม เราไม่ได้ให้เขาเลือกแค่สวยหรือไม่สวย แต่เราถามเขาต่อด้วย เช่น ทำไมเขาถึงคิดว่าคนนี้สวย เราจะได้เห็นความคิดเห็นของเขา เด็กก็ได้ใช้ความคิดเชิงเหตุผล แล้วก็ยอมรับความแตกต่างของแต่ละคน

เด็กบางคนไม่มีความมั่นใจในตัวเองเลย คุณครูถามอะไรไม่ค่อยกล้าตอบ ก้มหน้าตลอด พอเขาเข้าโปรแกรมนี้ คุณครูก็สังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เด็กมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น กล้ายกมือตอบในห้อง หรือบางคนลงสมัครประธานนักเรียนเลย พวกเขารู้สึกว่าสิ่งนี้มันสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง

“ถ้าทุกคนต้องคิดเหมือนกัน มีผมทรงเดียวกันหมด เด็กก็จะไม่กล้าคิดถึงสิ่งที่แตกต่าง เราทำให้เขามีความมั่นใจ เขาก็จะสามารถมีความคิดเป็นของตัวเอง กล้าที่จะลงมือทำ เปลี่ยนตัวเองหรือสังคม”

ทุกคนควรมีอิสรภาพที่จะเป็นตัวของตัวเอง

“เป็นเด็กเป็นเล็กอย่าเพิ่งไปคิดเรื่องความสวย”

ช่วงชีวิตวัยเด็กต้องมีโอกาสได้ยินคำนี้ ทำให้บางคนเกิดทัศนคติว่าการแต่งเนื้อแต่งตัว หรือสนใจภาพลักษณ์กลายเป็นเด็กไม่ดี และเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในการทำแคมเปญนี้

“เรารู้ว่าถ้าออกมาพูดประเด็นนี้ เสียงตอบรับอาจจะมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ทีมเชื่อว่าถ้าเรามี stand point จุดยืนในสิ่งที่ถูกต้อง และต้องการสร้างให้เห็นความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ก็ไม่มีเรื่องที่ต้องกังวล แคมเปญนี้เราไม่ได้สื่อสารไปที่เด็กอย่างเดียว ความตั้งใจของโดฟคือ สร้าง conversation เป็นตัวกลางที่ทำให้เกิดการคุยเรื่องนี้จริงๆ” 

การสื่อสารแคมเปญนี้ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ พาณิภัคอธิบายว่า ต้องการสื่อสารกับคนหลากหลายวัย ผลตอบรับแคมเปญนี้คือทำให้ทุกคนมาคุยกัน เด็ก ครู หรือผู้ออกนโยบาย ออกกฎนี้เพื่ออะไร เพื่อหาจุดตรงกลางที่จะเป็นประโยชน์กับทุกคน ปลายทางคือทำให้เด็กเติบโต ได้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเขาเอง ค้นหาตัวตนที่แท้จริงของเขาเพื่อให้เกิดความมั่นใจที่จะออกไปค้นหาที่ทางของตัวเองในโลก 

“เหมือนที่หมอโอ๋ได้กล่าวไว้ การที่ผู้ใหญ่ไปตัดผมเขา มันสร้างความเสียใจหรือความบอบช้ำตั้งแต่เด็ก สิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาตัวตนในระยะยาว เราควรสร้างรากฐานความมั่นใจที่แข็งแรงให้เขาตั้งแต่เด็ก 

“ผู้ใหญ่หรือครูอาจมองว่า เด็กต้องการจะไว้ผมยาวเพราะอยากดูสวย มีภาพลักษณ์ที่ดี การได้ฟังเสียงตอบรับจากเด็กๆ แคมเปญนี้ทำให้เราพบว่าจริงๆ อาจมีเหตุผลที่มากกว่านั้น เช่น เด็กบางคนผมค่อนข้างฟู เขาอาจต้องการไว้ผมยาวเพื่อให้มัดได้เป็นระเบียบ หรือการตัดผมทรงสั้นสำหรับบางคนอาจทำให้ใช้ชีวิตไม่สะดวก หรือบางคนเรียนบัลเลต์ เขาอยากไว้ผมยาว เพื่อให้มัดรวบได้ มันเป็นการ explore ทดลองหาตัวตนของเขา 

“มันไม่ใช่แค่ความสวยงาม แต่มีเรื่องอื่นๆ อีกที่เด็กต้องการไว้ผมยาว เพราะฉะนั้น กฏไม่ควรตัดตัวตนของพวกเขาด้วยการตัดผม”

ปล่อยให้ผมเด็กๆ ได้ยาวเท่าที่เขาต้องการ ไปพร้อมกับตัวตน ทำให้ทุกคนได้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ในแบบที่ดีที่สุดของเขาเอง

Free Being Me เป็นโครงการที่จัดขึ้นด้วยความร่วมมือและการสนับสนุนขององค์การผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งโลก (World Association of Girl Guides and Girl Scouts – WAGGGS) และโดฟ  เพื่อให้โอกาสกับเยาวสมาชิกสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ อายุ 7-18 ปี ได้ฝึกฝนตนเองให้มีความมั่นใจทางกาย นำไปสู่ความภาคภูมิใจในตนเองและส่งเสริมความเป็นผู้นำต่อไป

หลักสูตรจะจัดกระบวนการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ทำให้เด็กๆ เห็นคุณค่าของตัวเอง ยืนหยัดต่อแรงกดดันในสังคม และสนับสนุนผู้อื่นให้มีความมั่นใจทางกายมากขึ้น เช่น กิจกรรม Beauty Around the World ให้ลองสำรวจความสวยงามรอบโลก เพื่อรู้ว่าความงามเปลี่ยนแปลงได้เสมอ วัฒนธรรม สังคม และประวัติศาสตร์ส่งผลกับทัศนคติความงามในแต่ละพื้นที่ หรือเขียนว่าพวกเขาภูมิใจอะไรในร่างกายตัวเองบ้าง

ปัจจุบันมีผู้ได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการนี้ กว่า 45,000 คน ใน 116 โรงเรียนทั่วประเทศ

Writer

Avatar photo

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ชีวิตอยู่ได้ด้วยซัมเมอร์ ทะเล และความฝันที่จะได้ทำสิ่งที่เป็นความสุขตลอดไป

Avatar photo

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts