สำรวจเบื้องหลัง “LUNA: The Immersive Musical Experience”  เมื่อเหล่าคนตัวเล็ก “หาทำ” ละครเวที

  • LUNA: The Immersive Musical Experience คือละครเวทีไร้เวทีที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง The Girl who Drank the Moon ที่ผู้ชมสามารถเลือกเส้นเรื่องและเลือกจะปฏิสัมพันธ์กับตัวละครต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง
  • พื้นที่ 1 ไร่ ที่ผู้ชมจะเดินไปไหนก็ได้ บทเพลง 30 บทเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ นักแสดง 3 ชุด ทีมงานกว่า 100 ชีวิต และเส้นเรื่องที่แตกต่างกันอีกราว ๆ 10 เส้นเรื่อง คือสิ่งที่ผู้ชมจะได้สัมผัสจากละครเวทีเรื่องนี้
  • “หาทำ” คือคำที่หนึ่งในทีมงานใช้บรรยายไอเดียการสร้างละครเวทีที่มีองค์ประกอบอันซับซ้อนยุ่งยากแบบนี้ขึ้น แต่ทุกคนก็เต็มใจทำ ด้วย passion ที่กินไม่ได้แต่อิ่มใจ

การเริ่มทำอะไรใหม่ ๆ ยากกว่าการทำสิ่งที่คุ้นเคยเสมอ เพราะมันมักจะมาพร้อมความเสี่ยง ความเคลือบแคลงสงสัย ความกังวล และการจะกดข่มความรู้สึกเหล่านั้นได้ ก็ต้องใช้ทั้งความกล้า ความเชื่อ และความรักในสิ่งที่ทำ

และนั่นคือสิ่งที่ทีมงานผู้อยู่เบื้องหลัง LUNA: The Immersive Musical Experience ต่างมีร่วมกัน

LUNA: The Immersive Musical Experience คือละครเวทีรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคนิค Immersive Musical ให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมในการแสดงและมีอิสระในการเลือกเส้นทางได้ด้วยตัวเอง อาจจริงที่ละครเวทีแบบ immersive นั้นเคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ความพิเศษของละครเวทีเรื่องนี้ นอกจากความเป็น immersive คือการเป็นละครเพลงที่มีเส้นเรื่องให้ผู้ชมได้เลือกมากกว่า 10 รูปแบบ กับนักแสดง 3 ชุด พร้อม 30 บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ บนพื้นที่ 1 ไร่ ภายในห้างสรรพสินค้า The EmQuartier

ละครเวทีที่ไร้เวทีเรื่องนี้ ดัดแปลงจากวรรณกรรมเยาวชนชื่อ The Girl who Drank the Moon ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเมืองแห่งหนึ่ง ที่มีพิธีสังเวยเด็กด้วยการนำพวกเขาไปทิ้งไว้ในป่าในทุกปี เพราะเชื่อว่าจะทำให้แม่มดร้ายไม่มากล้ำกรายคนในเมือง แต่แท้จริงแล้วในป่ากลับมี “ยายแซน” แม่มดแสนใจดี ผู้มีชีวิตอยู่มาถึง 500 ปี ที่คอยรับเด็ก ๆ ไปส่งให้ครอบครัวอุปถัมภ์ในอีกเมืองหนึ่ง จนกระทั่งยายแซนได้พบกับลูน่า เด็กน้อยที่ทำให้เธอหลงรักสุดหัวใจและได้มอบเวทมนตร์ให้ลูน่าโดยบังเอิญ เธอจึงตัดสินใจเลี้ยงลูน่าด้วยตัวเองในบ้านที่มีทั้งปีศาจหนองน้ำและมังกรน้อยไม่ยอมโต

เนื้อเรื่องที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเยาวชนที่มีองค์ประกอบหลากหลาย ฉากต่าง ๆ บนพื้นที่ 1 ไร่ 30 บทเพลง 10 เส้นเรื่อง ทีมงานกว่า 100 ชีวิตนี้ ไม่ได้อำนวยการสร้างโดยโรงละคร production ใหญ่ ๆ ที่เราคุ้นชื่อ แต่มีจุดเริ่มต้นมาจากคนตัวเล็กอย่าง ท็อป – วรัชญ์ อนุมานศิริกุล ผู้ก่อตั้ง Castscape และเจ้าของโปรเจ็กต์ LUNA: The Immersive Musical Experience ที่กล้ามากพอจะทำสิ่งยิ่งใหญ่ เพราะแรงบันดาลใจจาก ป้าหมอ – พญ.ดร. เคลียวพันธ์ สูรพันธ์ุ แห่งบ้านเด็กชัยพฤกษ์ มูลนิธิที่ดูแลเด็กกำพร้าด้วยความรักและความอบอุ่น ไม่ต่างอะไรจากตัวละครสำคัญอย่างยายแซน ในเรื่อง The Girl who Drank the Moon

ท็อปได้ชักชวนเพื่อนพี่น้องที่มีความกล้าแบบเดียวกัน ความเชื่อเดียวกัน และความรักในละครเวทีเหมือน ๆ กัน มาร่วมกันสร้างละครเวทีไร้เวที สเกลใหญ่ เพลงเยอะ และเส้นเรื่องหลากหลายนี้ ที่แม้ว่าช่วงแรกมิตรสหายของเขาจะยังนึกภาพไม่ออก และยังมีความกังวลอยู่บ้าง แต่สิ่งที่พวกเขาไม่มีคือ “ความลังเล” ที่จะตกปากรับคำ และร่วมหัวจมท้ายในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้วงการที่พวกเขารัก

Passion ที่กินไม่ได้ แต่อิ่มใจที่ได้ “หาทำ”

“หาทำ” คือคำที่ อาจารย์น้อง – ดร.นลิน เพ็ชรอินทร์ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตร์ สาขาอุตสาหกรรมบันเทิง คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้รับบทเป็น “ยายแซน” ในเรื่อง ใช้บรรยายความรู้สึกเมื่อได้ฟังไอเดียการสร้างละคร immersive ที่มีเส้นเรื่องกว่า 10 เส้นเรื่องเป็นครั้งแรก  

“ตอนแรกเรามาแค่ passion ว่าเราอยากเล่นเพราะมันเป็น immersive แต่ก็มีคำถามว่าทำไปทำไม มันยุ่งยากมากเลย หาทำมาก แต่ในวันปฐมนิเทศที่ท็อปมาบอกว่าป้าหมอเป็นแรงบันดาลใจให้เขา เพราะดูแลเด็กเหมือนยายแซน เราเลยรู้สึกว่าการจะทำอะไรแบบนี้ได้มันไม่ใช่แค่เงิน มันต้องเอาชีวิตเข้าไปลง มันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มหาศาลมาก ก็ยิ่งรู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์นี้”

“มีเงินอย่างเดียวก็ทำไม่ได้” ไม่ได้หมายถึงความทุ่มเทของป้าหมอแห่งบ้านเด็กชัยพฤกษ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการทำละครเวทีของทีมงาน LUNA: The Immersive Musical Experience ด้วย อาจารย์น้องยอมรับว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้ล้วนเกิดจาก passion เพราะในประเทศนี้ การทำละครเวทีอย่างเดียวคงไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ 

“passion ล้วน ๆ ค่ะ เราไม่เคยทำอะไรได้เงินเลย นอกจากมีความสามารถแล้วยังต้องไม่มีสติด้วย เอาจริง ๆ บ้านเราไม่ได้หาเลี้ยงชีพได้เต็มที่ด้วยการเป็นนักแสดงละครเวทีอย่างเดียว มันเป็นไปไม่ได้ อย่างพี่น้องก็ไม่ได้เป็นนักแสดงเป็นหลักอยู่แล้ว มีบ้างที่เราได้ออกมาอยู่หน้าฉาก ก็เหมือนเราได้เติมเต็ม จุดไฟให้เราได้กระชุ่มกระชวยในชีวิตแล้วเอาพลังนี้กลับไปทำงานอย่างอื่น”

 “ความวุ่นวาย” คือสิ่งที่ทำให้อาจารย์น้องหลงใหลและยังคงโลดแล่นอยู่ในวงการละครเวที ไม่ว่าจะในฐานะคนเบื้องหน้าหรือเบื้องหลัง เพราะงานศิลปะประเภทการแสดงนั้นมีเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นให้ต้องแก้ปัญหาได้ทุกวัน และ LUNA: The Immersive Musical Experience ก็เป็นโอกาสอันดีที่อาจารย์น้องจะได้หวนคืนสู่ความวุ่นวายที่รักอีกครั้ง

“ช่วงสองปีที่มีโควิด ทุกคนก็ไม่ได้ทำอะไรเลย ชีวิตเหมือนโดนแช่แข็งไว้ พอโปเต้ชวนว่ามี audition ละคร musical นะ แถมยังเป็นแบบ immersive ด้วย นักแสดงกว่าร้อยชีวิตจะเล่นกันในพื้นที่เป็นไร่ เลยคิดว่ามันต้องเป็นเราแล้วแหละที่อยู่ใน production นี้ จริง ๆ เราเคยทำเบื้องหลังมาเยอะแล้ว เลยอยากทำเบื้องหน้า อยากรู้ว่าในฐานะนักแสดงเราต้องเตรียมตัวยังไง เราต้องมีพลังงานเท่าไร ต้องเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ต่างหรือไม่ต่างอะไรกับตอนเราทำเบื้องหลัง”“ถ้าหนูไม่ได้ทำสิ่งนี้ มันเหมือนมีอะไรบางอย่างขาดหายไป” มิเชล – แอลจิล่า รพี ไอ. กินโตะ หนึ่งในนักแสดงที่รับบทเป็นตัวละครหลักอย่าง “ลูน่า” เล่าที่มาของความรักที่เธอมีต่อละครเวทีให้เราฟังด้วยรอยยิ้มกว้าง “ละครเวทีทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับมนุษย์ มันไม่ใช่แค่ดูเอาสนุกอย่างเดียว แต่เราได้เข้าใจและได้ไปสัมผัสมุมมองต่าง ๆ ด้วย”

โปเต้ – รังสิมันตุ์ กิจชัยเจริญ ผู้กำกับละครและผู้เขียนบท ก็เป็นอีกคนที่หลงใหลในละครและเรียนสื่อสารการแสดงมาโดยตรง สำหรับโปเต้ ความหลงใหลในละครเวทีเกิดขึ้นเพราะมันสามารถ “เปลี่ยน” เขาได้ ด้วยกระบวนการทำงานที่ดึงให้เขาได้เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และทำความเข้าใจมนุษย์ผ่านละคร ซึ่งเป็นเสน่ห์อันทรงพลังอย่างหนึ่งของศิลปะชนิดนี้

ก่อนหน้านี้ โปเต้มีกลุ่มทำละครที่ชื่อว่า FahFun Production ซึ่งถือว่าเป็นละครมิวสิคัลขนาดเล็ก แม้จะรู้สึกกลัวการขยายสเกลอย่างรวดเร็วเมื่อได้มาทำ LUNA แต่โปเต้ก็ยังเชื่อในความสัมพันธ์ของคนทำงานใน “ละครโรงเล็ก” ที่จะทำให้งานสำเร็จได้

“ถ้าหากเทียบกับโปรดักชันที่เป็น professional ของเราอาจจะยังเทียบกันไม่ได้ ทีมงานแต่ละคนมาจากต่างที่ต่างถิ่นกัน แล้วเรื่องความสามารถก็ยังแตกต่าง แต่เราก็รู้สึกว่าเราเชื่อในกลุ่มละครและเชื่อในชุมชนที่มันเกิดขึ้น หลายคนช่วยกันทำ มันก็มีโอกาสทำขึ้นมาแล้วสำเร็จได้ในแบบของเรา”

เช่นเดียวกับบอล – ชาติชาย สัตยดิษฐ์ ผู้กำกับโชว์ ที่ตัดสินใจร่วมงานกับท็อป เพราะ “อยากดู” และเมื่ออยากดูเองก็เลย “อยากทำ”

“เราตอบตกลงกับงานนี้ แล้วเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราคุยมาทั้งหมดนี้มันจะทำงานกับคนดู มันมีก้อนที่เราอยากจะเล่า มันมีก้อนที่เราอยากให้คนดูรู้สึก อยากให้คนดูได้กลับไป ซึ่งเรารู้สึกว่าสิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ ทุกครั้งบอลก็จะมองกลับไปว่าปลายทางเราอยากได้อะไร” บอลกล่าว

“ประสบการณ์ที่คนดูจะได้รับตรงนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้” คือสิ่งที่บอลบอกตัวเองเพื่อให้ก้าวข้ามความกลัวว่าผู้ชมจะเปรียบเทียบ Luna กับละครเรื่องอื่น ๆ และก้าวข้ามสิ่งใดก็ตามที่ทำให้เขารู้สึกว่างานนี้เป็นงานยาก

“บอลรู้ว่ายอมแพ้ได้ เทได้ แต่สุดท้ายก็รู้สึกว่าจะได้ประโยชน์อะไรกลับมาบ้าง แล้วตัวเองจะทนกับความรู้สึกแบบนั้นได้ไหม จะทนกับการเสียใจที่ตัวเองไม่ได้ทำ จะทนอยู่กับความผิดพลาดที่เราไม่ได้เคยลองแก้มันได้ไหม ผมว่ามันเป็นแรงขับเคลื่อนข้างใน” 

คนเบื้องหลังกับการสร้างโลก open world จากมุมมองของคนดู  

ในวงการเกม มีเกมประเภทหนึ่งที่เรียกว่า open world เป็นโลกที่เราสามารถสำรวจตรวจตราและทำภารกิจต่าง ๆ ได้หลากหลาย ส่วนใหญ่มักเป็นเกมที่มีเส้นเรื่องหลัก แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้เราได้แวะสำรวจเส้นทางใหม่ ๆ ได้ตลอดประสบการณ์แบบนี้คือสิ่งที่ทีมงานเบื้องหลัง LUNA: The Immersive Musical Experience ตั้งใจจะมอบให้ผู้ชม และนั่นก็คืองานยากของโปเต้และบอลในฐานะผู้กำกับ

บอลบอกว่าความแตกต่างของ LUNA กับละครเวทีเรื่องอื่น ๆ คือการที่คนดูต้องเข้าไปอยู่ใน “ฉาก” ด้วยตัวเอง คนดูมีอิสระในการเลือกเดินไปไหนก็ได้ ภาพที่ออกมาจึงไม่ได้ถูกจัดวางไว้แบบละครเวทีที่เป็นโรงด้านเดียว ซึ่งสามารถควบคุมจังหวะจะโคนของแต่ละฉากได้ แต่เป็นเหมือนการเดินเที่ยวชมสวนสนุกมากกว่า และการมีเส้นเรื่องหลากหลายก็ทำให้ผู้กำกับโชว์ต้องหาจุดเชื่อมในการเล่าเรื่องของฉากหนึ่งไปสู่อีกฉากหนึ่ง เพื่อทำให้การรับชมเป็นไปอย่างไหลลื่นที่สุด

“มันคือการคิดแล้วตกผลึก มันคือการคุยกันตั้งแต่ต้นว่าที่มาที่ไปของมันคืออะไร มันคือการจัดการความเป็นไปของเรื่องราวให้ไหลลื่นที่สุด คือการกำกับประสบการณ์ว่าคนดูจะเห็นอะไร คนดูจะรู้สึกอะไร แสงในจังหวะนี้ ไฟในจังหวะนี้ เสียงที่ได้ยินหรือการตัดภาพ การเชื่อมภาพ หมายถึงประสบการณ์การรับรู้ของคนที่จะเกิดขึ้นกับละครเวที” บอลมอบนิยามของการเป็น “ผู้กำกับเวที” จากมุมมองส่วนตัวของเขา

ทางด้านโปเต้ที่เป็นผู้กำกับละครและผู้เขียนบท หน้าที่หลักของเขาคือการดูแลการเล่าเรื่องและบทละครเป็นหลัก รวมถึงเรื่องการสื่อสารและทิศทางในการแสดงของนักแสดงให้เข้ากับองค์ประกอบอื่น ๆ ซึ่งต่างจากบอลที่ดูภาพรวมความสมบูรณ์และความลื่นไหลในแต่ละฉาก

“พอเรามาเห็นสถานที่ที่ EmQuartier เราก็เห็นแล้วว่าเราสร้างองค์ประกอบอะไรได้บ้าง แล้วพออ่านหนังสือเรื่องนี้มันก็คือเรื่องที่เราจะเล่าและอยากจะสื่อจริง ๆ เราพยายามหาวรรณกรรมหรืออะไรที่คนรู้จักกันก่อน อาจไม่ต้องในวงกว้างก็ได้ แต่อยากให้มีพื้นที่ที่คนดูจะต่อติดง่าย แล้ววรรณกรรมเรื่องนี้มันตอบโจทย์ เราก็เลยเห็นภาพแล้วก็นึกภาพกันในทีม จนถึงจุดที่เรารู้สึกว่ามันเป็นไปได้ เราก็เริ่มทำ ในแง่ของการเอาเรื่องมาวางโครงมันเลยไม่ได้ยาก”

สิ่งที่ยากจึงไม่ใช่การเปลี่ยนวรรณกรรมมาเป็นบทละคร แต่เป็นการเขียนบทต่อเติมให้ตัวละครแต่ละตัวเพื่อให้พวกเขาสามารถตอบโต้กับคนดูได้ในโลก open world พื้นที่ 1 ไร่นี้ ส่วนที่เหมือนกันระหว่างงานของบอลและโปเต้ จึงเป็นการพยายามทำความเข้าใจในมุมมองของคนดู

“เราต้องตีความว่าถ้าตัวละครต่าง ๆ เป็นคนในสังคมปัจจุบัน เขาเป็นใคร เหมือนกลุ่มเป้าหมายรูปแบบไหน คนดูที่เป็นวัยทำงาน ที่จะอินกับการเมือง จะเป็นเส้นเรื่องไหน คนที่จะอินกับสังคมการใช้ชีวิตเส้นเรื่องไหน เราก็ต้องตีความว่าแต่ละตัวจะเอาแง่มุมไหนออกมาเพื่อให้เชื่อมโยงกับสภาพสังคมประเทศไทยด้วย”

นอกจากเรื่องการพยายามทำความเข้าใจมุมมองของคนดูเหมือนกันแล้ว ทั้งสองยังต้องทำความเข้าใจทั้งในเรื่องการตีความบทและวิธีการถ่ายทอดบทบาทนั้นของนักแสดงด้วย

“สำคัญมากเลยคือการทำงานกับนักแสดงให้เขารู้สึกว่านี่คือที่ของเขาจริง ๆ เพราะถ้าเขาไม่รู้สึก คนดูก็ไม่รู้สึกว่าที่นี่เป็นที่ที่เขาจะมารับรู้เรื่องราวเหล่านี้ เราค่อนข้างเวิร์กกับนักแสดงหนักอยู่ เพราะต้องเปลี่ยนแนวคิดในแง่ของการเล่นละครค่อนข้างสูง นักแสดงต้องอยู่กับ blocking ที่ทำให้ภาพเราออกมาสวย โดยที่ยังพร้อมจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนดู ตัวละครที่เป็นชาวบ้านที่ยังอยู่ตรงนั้นเขาจะต้องแข็งแรงในแง่ของเส้นเรื่องที่ตัวเองจะเล่า ในแง่ของความเข้าใจโลกที่เขาอยู่ตรงนั้น เพื่อที่จะสร้างมวลและส่งต่อ” โปเต้เล่าถึงการทำงานระหว่างเขากับนักแสดง

เมื่อการแสดงไปไกลกว่าการตีความบท

สำหรับนักแสดง สิ่งที่ต้องทำคือการศึกษาบทบาทและตีความบทเพื่อให้สามารถถ่ายทอดสารที่จะสื่อออกมาได้ แต่ละคร immersive ที่คนดูสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับตัวละครได้นั้น อาจารย์น้อง ผู้รับบทเป็น ยายแซน แม่มดใจดีในป่า กล่าวว่า นักแสดงยังต้องแสดงโดยคำนึงถึงคนดูอยู่ตลอด

“ใจความของ immersive คือเราจะปฏิบัติต่อคนดูเป็นอะไร เป็นหนึ่งในซีนหรือเป็นแค่คนมายืนสังเกตการณ์ เป็นชาวบ้านหนึ่ง ชาวบ้านสอง หรือมาอยู่กับเรา ซึ่งบางฉากเขาก็จำเป็นที่ต้องเป็นแค่ชาวบ้าน แต่บางฉากเขาก็มาเล่นกับเราได้ บางครั้งการมีคนดูใกล้ ๆ มันช่วยให้ฉากนั้นมีชีวิตชีวาขึ้น มันก็สนุกไปด้วยมวลนั้น แต่มันก็มีความไม่เสถียรเพราะเราก็ไม่รู้ว่าแต่ละรอบเขาจะมายังไง บางทีคนดูไม่สนุกไปกับเรา เราจะทำยังไง นี่ก็เป็นความท้าทาย”

มิเชลผู้รับบทเป็น ลูน่า ตัวละครที่เป็นแก่นของเรื่อง เล่าว่า สิ่งที่ยากกว่าคือจังหวะและพื้นที่ บางเส้นเรื่องตัวละครต้องบรรจบกัน บางเส้นเรื่องตัวละครบางตัวก็ต้องใช้ฉากต่อจากตัวละครอีกตัว และท้ายที่สุดทุกเส้นเรื่องก็ต้องมาบรรจบกันที่ฉากหนึ่ง ซึ่งหากเกิดข้อผิดพลาด บางฉากอาจหายไป บางตัวละครอาจไม่ได้เจอกันอย่างที่ควรจะเป็น

 “ละครนี้ต้องใช้จังหวะและพื้นที่เป็นหลัก ตัวละครก็ต้องจัดการกับเวลาเหล่านั้นให้ได้ แล้วด้วยความที่พื้นที่ในฉากมันมีหลายแบบมาก เราก็ต้องรู้ว่าถ้าพื้นที่เล็กเราจะเล่นมวลเท่าไหน พื้นที่ใหญ่เราเล่นมวลเท่าไหน”

 ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของ LUNA: The Immersive Musical Experience คือการมีนักแสดงด้วยกันถึง 3 ชุด แต่นักแสดงแต่ละชุดก็มีอิสระในการตีความบท ดังนั้นแม้จะรับบทเป็นตัวละครเดียวกัน แต่การถ่ายทอดบทบาทออกมาก็ยังคงมีความแตกต่าง และผู้ชมเองก็จะได้ประสบการณ์ที่ต่างกันไปด้วย

 “พอมายืนข้างกันสามคน ยายแซนสามตัวไม่เหมือนกันเลย อย่างอีกคนเขาจะเด็กกว่าเรา แต่เขามีความนิ่งกว่า เป็นผู้ใหญ่กว่า เขาก็จะเป็นยายแซนที่เป็นหญิงวัยกลางคนที่ใจดี ตลก สนุก ในขณะที่พี่อีกคนคือนางฟ้านางสวรรค์ เป็นคุณยายแซนที่โคตรใจดี อ่อนโยน ส่วนของเราเป็นโบ๊ะบ๊ะโชว์ ทั้งเกลิร์ก ทั้งฟีเรียน ก็โบ๊ะบ๊ะกันหมด เป็นลูน่า the comedy” อาจารย์น้องเล่า

สำหรับการตีความบทยายแซนในเวอร์ชันอาจารย์น้องนั้น เธอได้เอาบทบาทของการเป็นแม่และเป็นครูในชีวิตจริงมาช่วย ยายแซนของอาจารย์น้องจึงเป็นยายแซนที่เป็นเหมือนสายใยเชื่อมโยงทุกคนในครอบครัวและรักเด็กคนหนึ่งได้อย่างไร้เงื่อนไขอย่างที่แม่เป็น และเป็นยายแซนผู้มีความเมตตาและเข้าใจในความต่างของคนแต่ละคนอย่างที่คนเป็นครูเป็น

“ยายแซนเป็นคนใจดีแต่เข้มแข็งมาก เพราะยายแซนเป็นเหมือนแม่ที่ต่อให้ไม่ได้เบ่งลูกออกมา แต่ก็เลี้ยงเด็กสองคน มีความสัมพันธ์แบบ long-term relationship กับเกลิร์กที่เป็นปีศาจหนองน้ำ แล้วในครอบครัว ผู้หญิงโดยธรรมชาติมันต้องแบกทุกอย่างด้วยทัศนคติที่ดี ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรในบ้าน เราก็ต้องมีพลังงานที่ดีเพื่อให้บ้านมันสงบ และให้มันผ่านไป ยายแซนก็เป็นเหมือนกันเลย คือใจดีแต่ก็ต้องเข้มแข็งมากที่จะเก็บทุกอย่างไว้ แม้ว่าปัญหานั้นมันโคตรหนักหนาเลย แล้วการอยู่มา 500 ปี มันเห็นอะไรมาเยอะมาก มันต้องเห็นความทุกข์ ความสุข การสูญเสีย เพราะฉะนั้นเรื่องราวในใจแซนมันเป็นอะไรที่มีหลายอย่าง แต่เมื่อต้องอยู่กับลูน่าและคนในบ้าน มันต้องนิ่ง สงบ ให้มากที่สุด”           

“ความเป็นแม่ทำให้เราเล่นบทนี้ง่ายขึ้น เพราะพอเล่นจบเราเข้าใจเลยว่าการที่คนคนหนึ่งจะยอมเอาชีวิตไปวางลงเพื่อปกป้องชีวิตคนอีกคนมันทำไปทำไม ถ้าไม่มีลูกเราก็คงนึกไม่ออกเหมือนกัน เพราะเราก็คงรักแต่ตัวเอง แต่พอมีลูกมันเป็นรักที่ไร้เงื่อนไขมาก ๆ ส่วนความเป็นอาจารย์เราก็ใช้ตีความยายแซนในแง่ความเมตตา มันทำให้เราเข้าใจการอยู่กับผู้คนร้อยแปดพันเก้ามากขึ้น รู้จักความเป็นไปของโลก แล้วก็สงบประมาณหนึ่ง”

ส่วนมิเชลบอกว่าเธอเข้าใจลูน่าในเรื่องของการรับมือกับความสูญเสียได้เป็นอย่างดีเนื่องจากเธอเคยสูญเสียคนสำคัญในชีวิตไป นอกจากนั้นแล้ว เธอกับลูน่ายังต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคในการค้นหาตัวเองเช่นกัน

“สิ่งที่หนูเข้าใจในตัวลูน่าคือหนูเคยสูญเสีย หนูเข้าใจมันแล้ว แต่ลูน่ายังไม่เข้าใจ เราเลยต้องย้อนกลับไปช่วงที่เราเพิ่งเจอ และจริง ๆ ลูน่าคือผู้หญิงคนหนึ่ง อาจเป็นตัวแทนของหลาย ๆ คนด้วยซ้ำที่กำลังค้นหาตัวเองว่าแท้จริงแล้วเราเป็นใคร ซึ่งหนูรู้สึกว่าเป็นตัวละครที่มันน่าสนใจมาก ๆ”

“สิ่งที่หนูประทับใจที่สุดคือการยอมรับความเศร้าเพื่อก้าวต่อไป แล้วการยอมรับสิ่งต่าง ๆ ได้มันก็คือการเติบโต บางครั้งการเติบโตมันไม่ได้เกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้น แต่เกิดจากการเรียนรู้ที่จะจัดการสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามายังไง”

มิเชลเชื่อว่าทุกคนต่างต้องเคยมีช่วงเวลาที่ไม่เข้าใจตัวเองหรือรู้สึกว่าคนรอบข้างไม่เข้าใจ และหลายคนอาจเคยผ่านการสูญเสีย แต่เธอเชื่อว่าลูน่าอาจทำให้ผู้ชมเห็นแง่งามในการออกค้นหาตัวเอง หรือสามารถยอมรับและก้าวผ่านความเศร้าได้

ละครเวทีที่เปิดโอกาสให้เราได้เลือกและตีความด้วยตัวเอง

แม้หน้าฉากจะดูเหมือนละครเวทีสำหรับเด็ก แต่เนื้อหาของ LUNA: The Immersive Musical Experience นั้นประกอบไปด้วยเรื่องราวมากมาย ทั้งเรื่องแฟนตาซีอย่างเวทมนตร์ แม่มด มังกร มีทั้งความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว การตามหาตัวตน การยอมรับความสูญเสีย หรือแม้แต่เรื่องการเมืองเข้มข้น มีพื้นที่ที่แตกต่างให้เราได้ไปสำรวจอย่างป่าและเมือง มีตัวละครหลายตัวให้เราได้ติดตามเส้นเรื่องของพวกเขา และมีตัวละครอีกหลายตัวยิ่งกว่าให้เราได้ลองพูดคุยด้วย           

สำหรับบอลที่เชื่อใน “ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง” กล่าวว่า ที่ผ่านมาละครส่วนใหญ่มักจะทำงานกับคนดูในแง่ของความรู้สึก เช่น ละครที่พูดถึงครอบครัวอาจทำให้ผู้ชมร้องไห้ แต่ก็ยังทำให้ผู้ชมกลับไปที่บ้านและมีความเห็นอกเห็นใจสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวมากขึ้น สิ่งที่บอลต้องการให้เกิดกับคนดูจึงเป็นการ “ตกตะกอน” หลังดูจบ เพื่อที่จะได้มีปฏิสัมพันธ์และอยากจะเข้าใจคนอื่น ๆ มากขึ้น

“ทุกคนมีเหตุผลของตัวเอง ทุกคนมีความเศร้า ทุกคนมีวิธีการจัดการความเศร้า บางครั้งวิธีการของเขาอาจจะทำร้ายคนอื่น แต่อย่างแรกที่เราต้องทำคือ ไม่จำเป็นต้องเห็นใจเขาก็ได้ แต่อย่างน้อยคือเข้าใจเขา รู้ว่าเขาเองก็ผ่านประสบการณ์อะไรบางอย่างที่มันอาจจะเทียบเคียงกับเราไม่ได้ บอลไม่ได้ต้องการให้หาเหตุผลไปรองรับให้มันโอเค แต่อย่างน้อยเราเข้าใจเขาว่าเขาเผชิญอะไรบางอย่างมา ทุกครั้งที่เราเข้าใจ เราจะเริ่มเห็นว่าความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นหลังจากนี้มันจะกลมขึ้น มันจะประนีประนอมขึ้น มันจะเห็นว่าบางอย่างมันก็เป็นเรื่องของเขา บางอย่างเราไม่จำเป็นต้องไปรู้สึกร่วมเสมอไปก็ได้”

และการจะทำให้ผู้ชมเกิดการตกตะกอนเพื่อจะเข้าใจได้ว่า แต่ละคนต่างก็มีเรื่องราวและประสบการณ์ที่ต่างกัน ก็คือการที่มีเรื่องราวของตัวละครให้เลือกหลากหลายเส้นเรื่อง ยิ่งถ้าผู้ชมที่มาด้วยกันแยกกันตามเส้นเรื่องคนละเส้น ตามตัวละครคนละตัว การตกตะกอนนี้อาจเกิดขึ้นได้เมื่อละครจบลง และผู้ชมได้ออกมาบอกเล่าเรื่องราวของตัวละครที่แต่ละคนตามให้เพื่อน ๆ ฟัง

“ทำไมเราต้องทำ immersive theatre ที่คนดูสามารถเลือกดูได้ เราอยากให้มันไปถึงตอนจบแล้วคนดูเห็นคนดูอีกกลุ่มหนึ่งที่ตามต่างตัวละครและต่างเส้นเรื่องเขารู้สึกอีกแบบหนึ่ง แล้วรู้สึกต่อกันและกันมากกว่าแค่รู้สึกกับสถานการณ์ตรงหน้า” โปเต้เล่าถึงเหตุผลในการเลือกทำละครแบบ immersive ที่คนดูสามารถเลือกเส้นทางได้ และยิ่งไปกว่านั้น เขาอยากจะมอบ “สิทธิในการเลือก” ให้กับคนดู

“เหมือนคนดูเขาซื้อบัตรมารับชมการแสดง มันไม่ใช่แค่ราคาของการได้รับชมการแสดง แต่เป็นราคาของการที่เขาได้มีสิทธิ์เลือกที่จะสัมผัสสิ่งนี้ตามทางของตัวเอง และมันยังมีสารเรื่องสังคม อย่างฉากสุดท้ายพอตัวละครมารวมกัน เราได้เห็นว่าทุกคนคือฟันเฟืองในสังคมนี้ เราอยากให้คนดูได้มาลองว่าในสถานการณ์ที่เราได้รับอิสระในการเลือก เขาจะรู้สึกยังไง”

ส่วนมิเชลที่ได้รับบทเป็นลูน่า ตัวละครที่ได้รักและได้รับรักจากครอบครัวที่ไม่จำเป็นต้องประกอบไปด้วยพ่อ แม่ ลูก เธอจึงอยากให้คนดูได้รู้ว่าความรักนั้นมีมากมายหลายแบบ

“หนูอยากให้คนได้เห็นว่าความรักมันมีได้หลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องมีสายเลือดเดียวกัน ความรักมันเกิดจากการรัก การให้ การนึกถึงคนอื่น ให้ก็คือให้ รักก็คือรัก ไม่จำเป็นต้องมีผลตอบแทน เหมือนยายแซนในเรื่องที่ให้และรักโดยไม่ต้องการผลตอบแทนเลย”

หากใครยังลังเลเพราะมีภาพจำว่าละครเวทีนั้นดูยาก หรือกลัวว่าการเป็นละคร immersive ที่มีหลายเส้นเรื่องจะทำให้เกิดความสับสนและเข้าใจได้ยาก อาจารย์น้องก็ขอยืนยันว่าไม่ต้องกลัว

“ไม่ต้องกลัวว่าเราจะไม่เข้าใจเรื่องตรงกับเพื่อน เพราะมันสนุกตรงที่ได้ออกมานั่งคุยกัน อันดับแรกเราก็อยากให้คนดูแล้วมีความสุขอยู่แล้ว แต่ส่วนตัวเรารู้สึกว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องได้อะไรกลับไปก็ได้ เวลาเรามาดูอะไรสักอย่าง มันก็ไม่เหมือนการเข้าห้องเรียนแล้วสกัดออกมาเป็นความรู้ว่าคุณต้องได้อะไรบ้าง แต่เราเชื่อ 100 เปอร์เซ็นต์เลยว่าการเข้าไปอิ่มเอมกับงานศิลปะไม่ว่าจะแขนงไหน มันจะมีอะไรที่ติดตัวคุณกลับไปอยู่แล้วโดยอัตโนมัติ เราคงไม่ไปบอกหรอกว่านิทานเรื่องนี้สอนให้รู้อะไร ศิลปะมันคือการเปิดกว้างทางความคิด ไม่ต้องตีความก็ได้ ไม่รู้ว่าจะได้อะไรก็ได้ แค่ได้ออกจากบ้าน ได้ไปอยู่ตรงนั้นก็พอแล้ว”

ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การรวมตัวกันของคนตัวเล็กจากหลาย production เพื่อทำสิ่งแปลกใหม่ที่พวกเขารักร่วมกันแบบนี้อาจไม่ได้มีให้เห็นบ่อยนัก และที่อาจมีให้เห็นน้อยไปกว่านั้น ก็คือโอกาสที่จะมีการแสดงแบบอารีนา ซึ่งคนดูจะได้นั่งล้อมดูนักแสดงด้วยระยะที่ชิดใกล้แบบนี้และได้เห็น “ความเป็นมนุษย์” ของกันและกัน

“คนดูนั่งล้อม นักแสดงอยู่ตรงกลาง มันเหมือนเล่นรอบกองไฟ เหมือนมามุงดูอะไรบางอย่างกัน มันสามารถมองตาซึ่งกันและกัน เราชอบความรู้สึกของสิ่งแวดล้อมแบบนี้ เรารู้สึกว่าคนดูอินกับเรื่องได้มากขึ้น ความเป็นมนุษย์มันจับต้องได้จริง แล้วนักแสดงก็จะเอาตรงนั้นออกมาเพื่อนำพาคนดูไปต่อ” โปเต้กล่าวทิ้งท้าย


Writer

Avatar photo

ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

Illustrator

Avatar photo

ลักษิกา บรรพพงศ์

กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรีส์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเป็นทาสแมว

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Related Posts