“ดิฉันโชคดีที่มีแม่อย่างท่าน” เลี้ยงลูกไร้ตำราแบบแม่ของโต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง

  • ครูใหญ่โคบายาชิคือบุคคลสำคัญของหนังสือ โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง ที่ทำให้เด็กๆ อยากไปโรงเรียนโทโมเอ ไม่มีใครอยากกลับบ้าน 
  • แนวความคิดและวิธีการสอนแบบไม่สอนของครูใหญ่โคบายาชิ จะไม่ลุล่วงเข้าไปในใจโต๊ะโตะจังได้เลย ถ้าวันนั้น ‘แม่’ จะไม่จูงมือลูกสาวเดินเข้าโรงเรียนตู้รถไฟ
  • “ดิฉันโชคดีที่มีแม่อย่างท่าน” โต๊ะโตะจัง หรือ คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ เขียนในบทส่งท้ายของเล่มด้วยประโยคนี้

“ความจริงลูกถูกไล่ออกจากโรงเรียนจ้ะ” 

ถ้าแม่ของโต๊ะโตะจัง บอกความจริงข้อนี้กับลูกสาวไปตั้งแต่ต้น เราและโลกก็คงอาจจะไม่ได้อ่าน โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง 

คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ ชื่อเต็มๆ ของโต๊ะโตะจัง เขียนเอาไว้ในบทส่งท้ายว่า ถ้าเผื่อท่าน (แม่) บอกดิฉัน ในขณะที่ดิฉันถูกไล่ออกจากโรงเรียนว่า

“ทำไงดีล่ะ ลูกถูกไล่ออกจากโรงเรียนแล้ว รู้ไหม ถ้าไปเข้าโรงเรียนใหม่ แล้วถูกเขาไล่ออกอีกละก้อ ไม่มีที่ไปอีกแล้วนะ!”

ถ้าคุณแม่พูดอย่างนี้ ดิฉันคงตกอกตกใจจนทำอะไรไม่ถูกเมื่อไปโรงเรียนโทโมเอในวันแรก และประตูโรงเรียนซึ่งเป็นต้นไม้จริง และห้องเรียนซึ่งเป็นตู้รถไฟก็อาจดูไม่น่าสนใจเท่าที่ดิฉันรู้สึก…

ดิฉันโชคดีที่มีแม่อย่างท่าน…

คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ (ผู้เขียน)

1. ไม่เฉลยแต่ให้หาคำตอบเอง (ตอน ชอบจังเลย)

แนวความคิดและวิธีการสอนแบบไม่สอนของครูใหญ่โคบายาชิ จะไม่ลุล่วงเข้าไปในใจโต๊ะโตะจังได้เลย ถ้าวันนั้นแม่ไม่จูงมือลูกสาวเดินเข้าโรงเรียนรถไฟโทโมเอ

แม่เป็นคนที่มีความอดทน หรือจะว่ามีอารมณ์ขันก็ได้ พอลูกสาวเห็นห้องเรียนเป็นตู้รถไฟ คำถามของเจ้าหนูจำไมเรียกพี่จึงผุดไม่หยุดหย่อน

“แม่คะ คนที่เราจะไปพบนี่เป็นเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟไม่ใช่หรือคะ” 

“ทำไมหรือจ๊ะ” แม่ไม่ตอบว่า ‘ไม่’ ในทันทีแต่ถามแบบนี้กลับไปเพื่อให้โต๊ะโตะจังได้อธิบายออกมา “ก้อแม่บอกว่า เขาเป็นคุณครูใหญ่ แต่มีรถไฟเยอะๆ อย่างนี้ สงสัยว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟมากกว่า” 

แม่คิดว่าความคิดลูกสาวก็เข้าที แต่ให้เจ้าตัวดีไปหาคำตอบจากครูใหญ่เองดีกว่า 

“ลูกไปถามครูใหญ่เองแล้วกัน แล้วลองคิดเรื่องพ่อของลูกดู พ่อเป็นนักดนตรีแล้วก็มีไวโอลินหลายตัว แต่พ่อก็ไม่ใช่เจ้าของร้านขายไวโอลิน ใช่ไหมจ๊ะ” 

พอเจอหน้าสุภาพบุรุษปริศนา โต๊ะโตะจังเลยได้หาคำตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำด้วยตัวเอง

“คุณเป็นคุณครูใหญ่หรือเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟกันแน่คะ” 

Illustration: Chihiro Iwasaki / Facebook: @chihiro.tokyo

2. ไม่มีเรื่องเล่าไหนไร้สาระ (ตอน รถไฟมา

“วันนี้รถไฟจะมา ไม่รู้ว่าจะมายังไง ชุดนอนกับผ้าห่มค่ะแม่ ไปได้ใช่ไหมคะ” 

เป็นแม่คนไหนก็งง แม่ของโต๊ะโตะจังก็เช่นเดียวกัน แต่ไม่มีแม้สักคำหรือประโยคที่หลุดมาว่าลูกสาวพูดจาไม่รู้เรื่อง แต่จากน้ำเสียงที่จริงจัง แม่ฟังและถามต่ออีกหลายประโยคในฐานะเรื่องสำคัญ 

จนเข้าใจถ่องแท้ว่าคืนนี้จะมีตู้รถไฟมาถึงโรงเรียนและมันจะถูกใช้เป็นห้องสมุด 

แม่คิดว่าโต๊ะโตะจังคงไม่มีโอกาสได้เห็นเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยนัก จึงอยากให้ไปดูไว้ แม่เองยังอยากไปดูกับลูกด้วย 

แต่แม่ก็ไม่ได้ไปเพราะเข้าใจดีว่าเป็นกิจกรรมของเด็กๆ และครู 

เย็นนั้นแม่เตรียมชุดนอนและผ้าห่มให้ลูกสาว และพาไปส่งที่โรงเรียน 

3. ไม่เริ่มต้นบทสนทนาด้วยคำว่าไม่ (ตอน ไปเที่ยวบ่อน้ำร้อน

“แม่คะ ขอไปเที่ยวบ่อน้ำร้อนกับทางโรงเรียนได้ไหมคะ” 

แม่รู้สึกแปลกใจเพราะเที่ยวบ่อน้ำร้อนคือกิจกรรมตามปกติของคนแก่ 

การขอด้วยปากเปล่ามาพร้อมกับจดหมายของครูใหญ่ หลังอ่านจบแม่จึงเข้าใจเจตนา และคิดว่า “เข้าค่ายริมทะเล 3 วัน 2 คืน”นี้ น่าสนใจ เพราะบ่อน้ำร้อนนี้อยู่ในทะเล เด็กๆ จะได้ทั้งว่ายและแช่ 

ไม่มีคำว่า ‘ไม่’ เช่นเดิม หนำซ้ำ แม่ยังเห็นด้วยกับความคิดนี้แม้เด็กๆ จะต้องขึ้นรถไฟและลงเรือ 

4. ยอมปวดใจให้ลูกได้รู้จักการพลัดพราก (ตอน คำขอร้องของโต๊ะโตะจัง

เที่ยวงานวัดครั้งแรกในชีวิต โต๊ะโตะจังอยากได้ลูกไก่กลับบ้าน 

“ซื้อให้หนูหน่อยสิคะ” ทนเสียงเจี๊ยบๆ รบเร้าไม่ไหว 

“ลูกไก่นี่ ไม่กี่วันก็ตาย น่าสงสารมันจ้ะ อย่าซื้อเลย” คำอธิบายของแม่ให้เด็กประถม 1 ฟังไม่เป็นผล 

“ตอนนี้มันน่ารักก็จริง แต่ไม่แข็งแรง แล้วโต๊ะโตะสุเกะก็จะร้องไห้สงสารมัน” พ่อช่วยอีกแรง พร้อมกับเรียกชื่อลูกสาวที่พ่อเรียกอยู่คนเดียวในโลก 

คำอธิบายภายใต้ความกลัวของทั้งคู่ว่าลูกสาวจะเสียใจเมื่อลูกไก่ตาย ไม่ประสบผลสำเร็จ 

วันต่อมา ก็เป็นแม่ที่จัดแจงให้ช่างไม้ทำกรงให้ลูกไก่ ติดหลอดไฟให้ความอบอุ่นอีกต่างหาก

วันที่ 4 และ 5 เรียกเท่าไหร่ลูกไก่ก็ไม่ยอมลืมตา 

“พ่อกับแม่พูดถูกแล้ว โต๊ะโตะจังร้องไห้อยู่คนเดียว” นั่นคือการพลัดพรากจากสิ่งที่รักครั้งแรกของเด็กหญิง

5. หาสาเหตุก่อนตัดสิน (ตอน เสื้อตัวเก่าที่สุด

“ให้เด็กสวมเสื้อตัวเก่าที่สุดมาโรงเรียนนะครับ”

ครูใหญ่มักจะบอกผู้ปกครองอย่างนี้ เพราะไม่อยากเห็นเด็กๆ โดนแม่ดุเมื่อเสื้อเปื้อน โดยเฉพาะโต๊ะโตะจังที่ชอบเล่นมุดรั้ว และลวดหนามก็มักจะเกี่ยวเสื้อขาดทุกที 

วันนั้นก็เช่นกัน ชุดติดกันขาดเป็นริ้วข้างหลังตั้งแต่เอวถึงก้น และเป็นชุดที่แม่ชอบมากเสียด้วยสิ 

“ตอนกลับบ้าน มีเด็กหลายคนขว้างมีดมาที่หนูค่ะ เสื้อเลยขาด” ลูกสาวโกหกเพื่อให้แม่เสียใจน้อยที่สุด

“งั้นเหรอจ๊ะ น่ากลัวจัง” แม่พูดเท่านั้นจริงๆ 

โต๊ะโตะจังโล่งใจที่แม่ไม่โกรธและยอมรับเหตุผล

เอาเข้าจริง พอได้ยินคำว่ามีด มีคนไหนบ้างที่ไม่กลัว แต่สำรวจหลังแล้วไม่มีบาดแผล ท่าทางหวาดกลัวของลูกสาวก็เท่ากับ 0 แม่จึงไม่จี้ถาม และเรียกคำโกหกเสียใหม่ว่าข้อแก้ตัวครั้งแรกในชีวิต พร้อมมองอีกด้านว่า โต๊ะโตะจังยังรู้จักเป็นห่วงเสื้อผ้า 

แม่ใช้โอกาสนี้ถามเรื่องที่อยากรู้มานานต่อทันทีว่า “แล้วทำไมกางเกงชั้นในถึงได้ขาดตรงก้นทุกวันล่ะจ๊ะ” 

“เวลามุดรั้วเข้าไป กระโปรงจะโดนลวดหนามก่อน แต่เวลาถอยออกมา กางเกงในก็โดนลวดหนามด้วย หนูเล่น ‘สวัสดีค่ะ’ แล้วก็ ‘ไปก่อนค่ะ’ ยังไงล่ะคะ” 

แม่ไม่ค่อยเข้าใจแต่ก็นึกขำในคำอธิบาย 

“แล้วมันสนุกหรือจ๊ะ” แม่ถามลูกสาวที่เส้นผม เล็บ และในช่องหูสกปรกไปด้วยดินและฝุ่น

6. รักษาคำสัญญา (ตอน เราเล่นกันเท่านั้น

โต๊ะโตะจังเล่น ‘หมาป่า’ กับร็อคกี้ – สุนัขตัวโปรด

หมายความถึงการเล่นอย่างกอดรัดฟัดเหวี่ยง และกระโดดงับ 

เจ้าสี่ขาก็เลยงับเพื่อนสองขาเข้าจริงๆ ใบหูถึงขั้นห้อยร่องแร่ง เลือดไหลโทรม 

“อย่าดุร็อคกี้นะคะ” โต๊ะโตะจังพูดซ้ำๆ เมื่อพ่อแม่วิ่งเข้ามา มือก็ยังไม่ยอมปล่อยจากหู 

จนได้ยินคำสัญญาว่าจะไม่โกรธ แม่จึงได้เห็นหูที่ห้อยร่องแร่งแล้วรีบพาไปโรงพยาบาลทันที

จนถึงบ้าน เด็กหญิงที่ขาวโพลนด้วยผ้าพันแผลก็ยังไม่สบายใจ เพราะไม่แน่ใจว่าพ่อกับแม่จะรักษาสัญญาหรือไม่

พ่ออยากจะดุร็อคกี้ แต่แม่ขยิบตาห้ามไว้

“ไม่เป็นไรแล้ว ไม่มีใครดุ” โต๊ะโตะจังจึงวางใจในคำสัญญา หมาจึงไม่เล่นหมาป่าอีกต่อไป และทั้งสองก็เป็นเพื่อนรักกันเหมือนเดิม 

7. ชนชาติไม่สำคัญเท่ามิตรภาพ (ตอน มาซาวจ๊าง!

‘มาซาวจ๊าง’ คือชื่อของ ‘มาซาโอะ’ ที่แม่ชาวเกาหลีใช้เรียกลูกชาย ทั้งคู่อาศัยอยู่ในห้องแถวระหว่างทางจากบ้านโต๊ะโตะจังไปสถานีรถไฟ 

อยู่ดีๆ วันหนึ่งมาซาโอะจังก็ยืนเท้าสะเอว และพูดใส่หน้าโต๊ะโตะจังว่า “ไอ้คนเกาหลี” 

ความตกใจ กลัว รู้ถึงหูแม่ที่ตกใจไม่แพ้กัน เพิ่มเติมคือน้ำตาคลอ จมูกเริ่มมีสีแดง แทนที่จะโกรธ แม่กลับพูดว่า

“น่าสงสารจัง ใครๆ คงเรียกมาซาโอะจังว่า ‘คนเกาหลีๆ’ แกนึกว่าเป็นคำด่า มาซาโอะจังยังเด็ก คงอยากจะด่าใครดูบ้าง ใครนะช่างใจร้าย พูดกับเด็กอย่างนั้น” 

หลังปาดน้ำตา แม่พูดกับโต๊ะโตะจังโดยไม่สร้างความเกลียดชังเพิ่มเติม

“โต๊ะโตะจัง ลูกเป็นคนญี่ปุ่น มาซาโอะจังเป็นคนเกาหลี แต่ก็เป็นเด็กเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่าแบ่งแยกว่าใครเป็นชนชาติอะไรนะจ๊ะ ลูกต้องทำดีกับมาซาโอะจัง น่าสงสารที่เขาถูกด่าว่า เพียงเพราะเกิดมาเป็นคนเกาหลี” 

เป็นเรื่องเข้าใจยากสำหรับโต๊ะโตะจัง แต่ที่แน่ๆ คำอธิบายของแม่ทำให้เธอเข้าใจว่าทำไมแม่ของเขาต้องร้องเรียกหา ‘มาซาวจ๊าง’ ทุกวัน

8. ความจริงที่ถูกเวลา (บทส่งท้าย) 

จนเมื่อลูกสาวบรรลุนิติภาวะแล้ว แม่ถึงถามโต๊ะโตะจังว่า “รู้ไหม ทำไมตอนนั้นต้องย้ายโรงเรียน” 

ก่อนจะอธิบายด้วยท่าทางธรรมดาที่สุดว่า “ความจริงลูกถูกไล่ออกจากโรงเรียนจ้ะ” 

ไม่มีใครรู้ แม้แต่ตัวโต๊ะโตะจังก็ไม่รู้ ว่าถ้ารู้ความจริงในวันที่ถูกไล่ออก เรื่องราวหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร 

แต่ที่แน่ๆ …

ดิฉันคิดว่า ถ้าในปัจจุบันนี้มีโรงเรียนอย่างโรงเรียนโทโมเอ คงไม่มีปัญหาเด็กเกลียดโรงเรียน เพราะที่โทโมเอ หลังโรงเรียนเลิกแล้วก็ยังไม่มีใครอยากกลับบ้าน และเมื่อกลับถึงบ้าน ทุกคนก็รอคอยเช้าวันรุ่งขึ้นที่จะได้ไปโรงเรียนอีก โรงเรียนโทโมเอเป็นอย่างนั้น 

“ไปดูโรงเรียนใหม่กันดีไหม เขาว่าเป็นโรงเรียนดีนะ” แม่ชวนโต๊ะโตะจังด้วยประโยคนี้ 


Writer

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Related Posts