- ความเป็นหนึ่งเดียว (oneness) คือความรู้สึกล่วงพ้น เป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล และเชื่อมโยงกับทุกอย่างในเอกภพ
- แม้จะมีศัพท์ที่ใช้เรียกแตกต่างกัน แทบทุกศาสนามีแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับความเป็นหนึ่งเดียว
- การเข้าถึงใจ (empathy) เป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่จะช่วยให้เราเชื่อมโยงกับผู้คนและเข้าใกล้ความเป็นหนึ่งเดียวมากยิ่งขึ้น
ความเป็นหนึ่งเดียว (oneness) คือความรู้สึกล่วงพ้นและเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล เข้าใจว่าทุกชีวิตคือส่วนหนึ่งของเราที่ยืดขยายออกไป เมื่อคุณสัมผัสถึงความเป็นหนึ่งเดียว คุณจะรู้สึกเชื่อมโยงกับทุกอย่างในเอกภพและรู้สึกมีตัวตนในทุกระดับ
พูดอีกอย่างคือ คุณรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่งเพราะความตระหนักรู้และเข้าใจว่าที่สุดแล้วเราเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล ความเข้าใจและประสบการณ์ของเราเป็นการแสดงเจตจำนงของจิตสำนึกเดียวกัน และการลดละความเป็นปัจเจกนิยมและวัตถุนิยมจะนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
ความเป็นหนึ่งเดียวเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสู่ชีวิตอันผาสุก เป็นหนึ่งในพื้นฐานของธรรมเนียมปฏิบัติทางด้านจิตวิญญาณทั้งหลาย และสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้อย่างมหาศาล นอกจากนั้น มันยังสอนให้เราทำงานร่วมกับผู้อื่นโดยมุ่งไปที่ความสงบสุขของระบบในภาพรวมแทนที่จะจดจ่อกับความต้องการส่วนตัว
ที่ไปที่มา การฝึกฝนและการปรับใช้แนวคิดความเป็นหนึ่งเดียว
มีข้อสังเกตว่าคำว่าความเป็นหนึ่งเดียวมักใช้สลับกับคำว่า ความเป็นองค์รวม (wholeness) โดยความเป็นองค์รวมหมายถึงความรู้สึกอิ่มเต็ม พึงพอใจ สมบูรณ์และบริบูรณ์ซึ่งมาจากการเป็นตัวเองอย่างแท้จริง มันคือการโอบกอดตัวเองตามที่เป็น
โดยเนื้อแท้แล้วทั้งสองอย่างนี้คืออย่างเดียวกัน ชื่อของมันอาจแตกต่างไปตามวัฒนธรรมและพิธีกรรม แต่แนวคิดเบื้องหลังการปฏิบัติทั้งสองเหมือนกัน พูดอีกอย่างได้ว่า ทั้งความเป็นหนึ่งเดียวและความเป็นองค์รวมคือการแผ่ขยายประสบการณ์การรับรู้ของเราออกไปให้กว้างกว่าอัตตาของเราคนเดียว
หลักคิดเบื้องหลังความเป็นหนึ่งเดียว
ศาสนาแต่ละศาสนามีหลักคิดเกี่ยวกับความเป็นหนึ่งเดียวต่างกันออกไป แต่ส่วนมากตั้งอยู่บนแนวคิดว่ามนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งปวงล้วนมีจุดกำเนิดเดียวกัน แม้จะมีชื่อเรียกและศัพท์เฉพาะต่างกัน แนวคิดเกี่ยวกับความเป็นหนึ่งเดียวและความเป็นองค์รวมแทรกซึมอยู่ในทุกวัฒนธรรมและสังคม
ยกตัวอย่างเช่น คริสตศาสนาสอนว่าเราทุกคนล้วนกำเนิดมาจากพระเจ้าและเป็นบุตรและบุตรีของพระเจ้า หากเราใช้ชีวิตโดยตระหนักถึงความข้อนี้ โอกาสที่เราจะทำร้ายคนอื่นก็ลดลง ในทำนองเดียวกัน วัฒนธรรมและธรรมเนียมตะวันออกหลายวัฒนธรรมก็มีแนวคิดและหลักคิดที่เกี่ยวข้องกับการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ศาสนาพุทธเห็นว่าสรรพชีวิตต่างต้องพึ่งพาอาศัยกัน พุทธนิกายเซ็นมีแนวคิดหนึ่งว่าเราควรผละจากความเป็นปัจเจก จากร่างกายและใจของตัวเองเพื่อให้เห็นและดำรงชีวิตในจิตใจที่ใหญ่ยิ่งกว่าที่เรียกว่าไดชิน ส่วนอหิงสาหรือการไม่เบียดเบียนผู้อื่นคือแก่นของการใช้ชีวิตตามหลักโยคะ ปรัชญาอไทวตเวทานตะเห็นว่าทั้งจักรวาลเกิดขึ้นจากจิตสำนึกเดียว ดังนั้น สสารต่าง ๆ สิ่งมีชีวิตและธรรมชาติคือสิ่งเดียวกัน และการแบ่งแยกสิ่งต่าง ๆ ออกจากกันเป็นเพียงข้อผิดพลาดในมุมมองของเราเท่านั้น
ตามคำสอนของลัทธิเต๋า คนคนหนึ่งควรหลุดพ้นจากการยึดติดในตัวเองและใช้ชีวิตให้สอดคล้องกลมกลืนกับเต๋า ส่วนในศาสนาพุทธนิกายมหายาน การเป็นพระโพธิสัตว์คือการเมตตามนุษย์ทุกคน หลักคิดเหล่านี้ไม่ได้ใช้คำว่า “ความเป็นหนึ่งเดียว” หรือ “ความเป็นองค์รวมอย่างเจาะจง” แต่ชัดเจนว่าทั้งหมดเชิดชูแนวคิดว่าคนคนหนึ่งจะค้นพบสัจธรรมได้ต่อเมื่อใช้ชีวิตตามหลักความเป็นหนึ่งเดียว
การฝึกความเป็นหนึ่งเดียว
ความเป็นหนึ่งเดียวต้องอาศัยความมุมานะและเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาตามหาทั้งชีวิต แม้แต่เหล่าโยคีหรือพระสงฆ์ยังต้องฝึกสมาธิหลายต่อหลายปีกว่าที่จะเห็นเสี้ยวหนึ่งของประสบการณ์ทางจิตวิญญาณนี้ และสำหรับคนทั่วไปต้องใช้ความอุตสาหะอย่างยิ่ง ดังนั้น เราพึงเคารพในความพยายามและความจริงจังในการเดินตามเส้นทางนี้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีวันฝึกได้ เราอาจไม่ได้เข้าถึงมันอย่างสมบูรณ์ แต่เราสามารถปรับใช้ในชีวิตเท่าที่ทำได้
ทว่าก่อนจะเริ่มต้นเข้าสู่การฝึกความเป็นหนึ่งเดียว มีสองแง่มุมของแนวคิดนี้ที่ต้องพิจารณา ได้แก่
ประสบการณ์การรู้สึกถึงตัวตนของตัวเอง
ศึกษาเกี่ยวกับความเป็นหนึ่งเดียว ทบทวนแนวคิดนี้ และฟังคำสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ช่วยได้มากทีเดียว ทว่าการจะเข้าใจแนวคิดนี้ได้อย่างลึกซึ้งอาศัยการฝึกฝนด้านจิตวิญญาณอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการทำสมาธิ ซึ่งจะช่วยย้ายตัวตนจากอัตตาไปสู่จิตสำนึกในระดับที่สูงขึ้น
เมื่อเราเข้าถึงตัวตน เราสามารถเข้าถึงความตระหนักรู้ว่าตัวเราตั้งอยู่ที่ใด การเดินทางระหว่างจิตที่ฟุ้งซ่านและจิตทั่วไปในชีวิตประจำวันจะนำเราเข้าใกล้ความเป็นหนึ่งเดียว อีกทั้งเปิดประตูต้อนรับแนวคิดนี้เข้าสู่ชีวิตและทำให้ยอมรับด้านมืดของตัวเองได้มากขึ้น
เมื่อทำสมาธิจนถึงสภาวะที่ลึกล้ำ คุณจะเริ่มเข้าใจและสัมผัสได้ถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับโลก และผนวกแนวคิดนี้เข้ากับชีวิตประจำวัน
การปรับใช้ความเป็นหนึ่งเดียวกันในชีวิต
ศาสนาต่าง ๆ มีศีลหรือข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดนี้มากมาย เช่น ศีลห้าในศาสนาพุทธซึ่งเกี่ยวข้องกับการไม่เบียดเบียนและคำนึงถึงผู้อื่น
อย่างหนึ่งที่เราควรระลึกไว้ในการฝึกความเป็นหนึ่งเดียวคือสมดุล เราต้องไม่ลืมว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของจิตสำนึกที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรามาก การไม่เบียดเบียนผู้อื่นก็ถือเป็นการดูแลตัวเองรูปแบบหนึ่ง ซึ่งส่งผลต่อทั้งสุขภาพและความอยู่ดีมีสุขของตัวเราเอง ข้อสำคัญคือการฝึกฝนความเป็นหนึ่งเดียวจะต้องส่งผลดีต่อตัวเอง ผู้อื่นและสังคมในภาพรวม
การเข้าถึงใจและความเป็นหนึ่งเดียว
การเข้าถึงใจ (empathy) เป็นเครื่องมือเปี่ยมประสิทธิภาพที่จะช่วยให้เราเชื่อมโยงกับผู้คน ซึ่งในขณะเดียวกันก็จะเพิ่มความเป็นหนึ่งเดียว เมื่อคุณรับรู้อารมณ์ผู้อื่น คุณจะมีข้อมูลเกี่ยวกับคนคนนั้นเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณสามารถตัดสินใจอย่างรอบคอบว่าจะมีปฏิสัมพันธ์หรือสื่อสารกับเขาอย่างไร ยิ่งเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น การสื่อสารก็มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม การเข้าถึงใจป้องกันการไม่ลงรอยก่อนที่มันจะเกิดขึ้น และยุติการทะเลาะเบาะแว้งก่อนที่ทุกอย่างจะบานปลาย
การเข้าถึงใจเป็นความสามารถในการสัมผัสความรู้สึกของอีกฝ่าย แต่ไม่ใช่ความเห็นอกเห็นใจ (compassion) ซึ่งหมายถึงความปรารถนาที่จะบรรเทาทุกข์ของคนอื่น ที่บางครั้งอาจมีการเข้าถึงใจปนอยู่ด้วย แต่การเข้าถึงใจไปไกลกว่านั้น คุณแสดงความเห็นอกเห็นใจได้แม้เข้าไม่ถึงใจอีกฝ่าย
เช่นเดียวกับทักษะอื่น การเข้าถึงใจพัฒนาได้ด้วยการหมั่นฝึกฝน ต่อไปนี้คือวิธีที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงใจผู้อื่น
ฟังอย่างตั้งใจด้วยใจ
เคยหรือเปล่า บางครั้งเวลาอยู่ในบทสนทนาที่ดุเดือดแล้วคุณเอาแต่คิดว่าจะพูดอะไรต่อโดยไม่ได้ตั้งใจฟังอีกฝ่าย
ถ้าคุณไม่ฟัง คุณจะเข้าใจได้อย่างไรว่าเขาจะสื่ออะไร ถ้าคุณไม่ฟัง มีโอกาสสูงมากที่คู่สนทนาจะไม่ฟังคุณเหมือนกัน คราวหน้าหากได้สนทนากับใคร ลองตั้งใจฟังด้วยใจ กลบเสียงในหัวของตัวเองแล้วฟังว่าอีกฝ่ายพูดอะไร คุณอาจได้ยินสิ่งที่คุณอาจจะพลาดไปได้ อย่าตัดสินใจล่วงหน้าว่าจะพูดอะไร ฟังก่อน เมื่อทำอย่างนี้ได้ คุณจะจับอารมณ์ความรู้สึกของอีกฝ่ายได้ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจเขาได้ดีขึ้น และเมื่อคุณตอบสนอง คุณตอบด้วยความเข้าอกเข้าใจ
จินตนาการตัวเองในสถานการณ์เดียวกับอีกฝ่าย
วิธีการเสริมสร้างความสามารถในการเข้าถึงใจที่ดีมากอีกวิธีหนึ่งคือการจินตนาการว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์เดียวกับอีกฝ่าย ลองนึกภาพ จากนั้นถามว่าอีกฝ่ายรู้สึกอย่างไร เรื่องนี้สามารถทำได้แม้แต่กับคนแปลกหน้า
แสดงความเข้าใจ
เวลาที่มีใครเข้าใจเรา เราย่อมรู้สึกดี แต่ที่จริงแล้วเราเองเป็นฝ่ายทำความเข้าใจคนอื่นได้เหมือนกัน หากมีใครเล่าเรื่องของเขาให้คุณฟัง ลองตั้งใจฟังโดยไม่พูดแทรก จากนั้นทวนสิ่งที่อีกฝ่ายพูดตามความเข้าใจของคุณ นอกจากจะเป็นการแสดงออกว่าคุณเข้าใจแล้ว มันยังสื่อว่าคุณพร้อมจะฟังมุมมองของอีกฝ่ายอย่างตั้งใจโดยไม่ด่วนสรุป
ขยายขอบเขตการตระหนักรู้
ลองสำรวจว่าคนอื่นทำอะไรอยู่ สังเกตผู้คนตามสถานที่ต่าง ๆ อย่างเช่นโรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า ร้านหนังสือ เป็นต้น คุณอาจเห็นคนที่กำลังเร่งรีบ คนทะเลาะกัน คนที่กลัดกลุ้มกังวล ลองเดาว่าคนเหล่านั้นน่าจะมีความรู้สึกอย่างไร คุณอาจเริ่มบทสนทนากับคนแปลกหน้าหรืออาสาช่วยเหลือเมื่อเห็นเขามีปัญหาเพื่อทำความเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น
การเพิ่มพูนทักษะการเข้าถึงใจคนอื่นคือการเพิ่มความรักความปรารถนาดี รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมากขึ้น คนทุกคนย่อมต้องการความเข้าใจ เมื่อคุณแสดงออกว่าเข้าใจความรู้สึกคนอื่น คุณกำลังเชิดชูประสบการณ์การเป็นมนุษย์ของผู้อื่น และมีแนวโน้มที่เขาจะให้เกียรติคุณเช่นกัน
อ้างอิง
https://www.verywellmind.com/what-is-empathy-2795562
https://liveanddare.com/oneness/
https://themindfool.com/oneness/
https://www.vajrasiddha.com/articles-advaita-vedanta-summary/
https://www.degruyter.com/document/doi/10.7312/ivan18298-021/html