ชีวิตที่ดี งานก็จะดี : ส่องสิทธิลาคลอดที่ต่างกันของพ่อในไทยและสวีเดน

  • การจะมีชีวิตทำงานที่ดีและมีเวลาให้ครอบครัว ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกเท่านั้น แต่ต้องสร้างเป็น ‘นโยบาย’ ด้วย
  • ชวนดูความคืบหน้าของการทำนโยบายลาคลอดพ่อแม่ในไทยและขยับไปดูประเทศต้นแบบอย่าง ‘สวีเดน’

พ่อหรือแม่ ใครทำหน้าที่เลี้ยงลูกได้ดีกว่ากัน?

คำตอบที่ผุดขึ้นมาในหัวหลายคนคือ แม่ เพราะค่านิยมที่เราต่างถูกบอกว่า แม่เป็นคนที่เลี้ยงลูกได้ดีที่สุด เพราะความผูกพันที่มีกับลูกมากกว่าพ่อ เนื่องจากเป็นคนตั้งท้อง และบทบาทของเพศหญิงที่ควรทำงานดูแลบ้าน เป็นช้างเท้าหลังให้ครอบครัว 

ยุคสมัยที่เปลี่ยน เหตุผลทางเศรษฐกิจทำให้ผู้หญิงต้องลุกขึ้นมาทำงานนอกบ้านมากขึ้น แต่หน้าที่เดิมๆ สังคมยังคงคาดหวังให้ผู้หญิงต้องทำอยู่ ทำให้นโยบายหรือสวัสดิการในชีวิตการทำงานออกมาเพื่อซัพพอร์ตผู้หญิงให้สามารถบาลานซ์ชีวิตครอบครัวและชีวิตการทำงาน เช่น สิทธิลาคลอดเพื่อไปดูแลลูก หรือบางสถานประกอบการมีโซนให้นมลูกและสถานดูแลเด็กระหว่างที่แม่ทำงาน

ขณะที่ ‘พ่อ’ กลายเป็นบุคคลที่ถูกมองข้ามในการเลี้ยงลูกไป แม้จะมีเสียงสนับสนุนให้พ่อสามารถลาไปเลี้ยงลูกได้เช่นกัน แต่ยังไม่ได้รับการผลักดันที่มากพอ 

เพศไม่ใช่ปัจจัยที่บอกว่าใครสามารถทำหน้าที่เลี้ยงลูกได้ดีกว่ากัน แต่เป็นสวัสดิการที่จะทำให้พวกเขาได้มีโอกาสดูแลเด็กคนหนึ่งเท่าๆ กัน เพราะไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ หรือเพศไหนๆ พวกเขาต่างส่งผลกับการเติบโตของลูก 

งานประชุมออนไลน์ Sweden – Thailand Sustainable Development Forum 2022 จัดโดยสถานเอกอัครราชทูตสวีเดนในไทย (Embassy of Sweden in Bangkok) เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนไอเดียการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน หนึ่งในหัวข้อคือ ‘Decent Work is Good for Business งานที่ดีนั้นดีต่อธุรกิจ’ พูดถึงการมีสวัสดิการครอบครัวกับคนทำงานนั้นส่งผลดีอย่างไร ภาพรวมของการผลักดันให้เกิดสิ่งนี้ในประเทศไทย ก่อนขยับไปดูการปฏิรูปของสวีเดนหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่ออกสวัสดิการให้ทุกเพศสามารถลาไปเลี้ยงดูลูกได้ โดยยังได้รับเงินเดือน 

เพราะ Work – Life Balance การจะมีชีวิตทำงานที่ดีและมีเวลาให้ครอบครัว ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกเท่านั้น แต่มาจากการผลักดันของทุกฝ่าย

การผลักดันสวัสดิการครอบครัวของแรงงานในไทย : เน้นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทำสวัสดิการ เพื่อเกิดการยอมรับ และกลายเป็นกฎหมายต่อไป

จินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ เล่าในที่ประชุมถึงแผนการทำงานของกรมฯ ที่พยายามส่งเสริมแรงงานหญิงและเพศอื่นๆ ให้เข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อเกิดความเท่าเทียมและมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันแรงงานหญิงยังคงได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าแรงงานชาย และสถานประกอบการบางแห่งยังคงมีการเลือกปฏิบัติทางเพศ

จินตนา จันทร์บำรุง
ที่มา : สำนักข่าวมติชน

ปัจจุบันมาตรการที่กรมฯ กำลังทำเพื่อผลักดันให้แรงงานหญิงเข้าสู่ระบบทำงานมากขึ้น ได้แก่

  • ลดภาระที่แรงงานหญิงส่วนใหญ่เผชิญ เช่น สนับสนุนการสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จากเดิมที่รับเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป ปรับเป็นต่ำกว่า 3 ปีก็รับเช่นกัน และขยายเวลาเปิด – ปิดศูนย์ให้สอดคล้องกับเวลาทำงานของแรงงานในแต่ละพื้นที่ 
  • ส่งเสริมการลาไปดูแลลูกหลังคลอดของสามี ปัจจุบันยังไม่ระบุเป็นกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม มีสถานประกอบการเอกชนบางแห่งที่มีสวัสดิการนี้ และอาชีพข้าราชการที่สามีสามารถลาไปดูแลลูกหลังคลอดได้ 15 วันต่อการคลอด 1 ครั้ง ส่วนของผู้หญิง (ภาคเอกชนและข้าราชการ) ขยายสิทธิวันลาคลอดจากเดิม 90 วัน เป็น 98 วัน เพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวได้ใช้เวลาอยู่กับลูก และเด็กจะได้กินนมแม่มากขึ้น ตามมาตรฐาน ILO (International Labour Organization : องค์การแรงงานระหว่างประเทศ) โดยได้รับเงินเดือนจากบริษัทและประกันสังคม
  • ส่งเสริมผู้หญิงให้เข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยการฝึกทักษะอาชีพต่างๆ ที่เป็นที่ต้องการในท้องตลาด เช่น อาชีพเสริมสวย ทำอาหาร นวดแผนไทย ตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นต้น โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเรียน
  • ส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มในชุมชุนเพื่อผลักดันให้เป็นผู้ประกอบการ สามารถเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น มาตรการนี้จะขยายไปถึงระดับอาเซียน ตั้งเครือข่ายผู้ประกอบการสตรี ร่วมมือและพัฒนาเข้าสู่แหล่งเงินทุน และความรู้ใหม่ๆ

นอกจากนี้ กรมมีการทำงานทางกฎหมาย ทำพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 เพื่อป้องกันปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในที่ทำงาน 

กาญจนา พูลแก้ว
ที่มา : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

กาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน มีบทบาทแก้ไขปัญหาการคุกคาม ปกป้อง พัฒนาสวัสดิการและสภาพชีวิตของแรงงาน เล่าถึงความท้าทายในการทำนโยบายหรือสร้างสวัสดิการครอบครัวให้กับแรงงานในไทยว่า การแก้ไขกฎหมายของไทยเป็นการทำงานแบบ ‘ไตรภาคี’ คือ ต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ แรงงาน และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ถึงจะออกกฎหมายได้ แน่นอนว่าต้องมีฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทำให้การทำงานผลักดันสิ่งนี้ต้องใช้วิธี ‘ส่งเสริม’ ไม่ใช่การบังคับเพื่อให้เกิดการยอมรับและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่จะทำให้การพัฒนายั่งยืน 

การทำงานของกรมฯ ตอนนี้คือ ผลักดันให้คุณภาพชีวิตของแรงงานในไทยดีขึ้น ด้วยมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทน ชั่วโมงทำงาน สิทธิ์ในการลาต่างๆ ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน จัดสวัสดิการตามกฎหมายและนอกเหนือกฎหมาย เช่น จุดบริการน้ำดื่ม จัดโซนให้นมลูก รวมถึงส่งเสริมการจัดตั้งสหกรณ์และแรงงานสัมพันธ์ 

ส่วนสวัสดิการให้สามีลาไปดูแลลูก แม้จะยังไม่บังคับเป็นกฎหมาย แต่ไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 156 ว่าด้วยผู้ใช้แรงงานและความรับผิดชอบต่อครอบครัว ค.ศ.1981 (the Convention concerning Workers with Family Responsibilities, 1981) หากสถานประกอบการใดอยากออกสวัสดิการนี้สามารถทำได้ ปัจจุบันมีสถานประกอบที่มีสวัสดิการนี้ประมาณ 323 แห่งในความดูแลของกรมฯ

สถานประกอบการที่มีแรงงานหญิงจำนวนมาก กรมฯ ส่งเสริมให้จัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในสถานประกอบการเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของแรงงาน โดยจัดตั้งตามระเบียบของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ปัจจุบันมีอยู่ 99 แห่ง ดูแลจำนวนเด็ก 2,038 คน เช่น ที่ศูนย์เด็กเล็กวิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์ ในจังหวัดนครปฐมและสมุทรปราการ ส่วนแผนงานอนาคตจะขยายไปดูแลสิทธิของกลุ่มแรงงานที่เป็น LGBTQ+ 

“คนที่จะเลี้ยงดูลูกได้ดี คนส่วนใหญ่จะตอบว่าผู้หญิง แต่ในขณะเดียวกันสภาพสังคมตอนนี้ผู้หญิงผู้ชายก็ต้องช่วยกันทำงาน” กาญจนากล่าว

สวีเดน : โครงสร้างสังคมที่ดี จะทำให้ทุกๆ เพศสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานและมีคุณภาพชีวิตที่ดี 

Lenita Freidenvall ผู้อำนวยการหัวหน้ากองเสมอภาคทางเพศ กระทรวงการจ้างงานของสวีเดน (Director, Head of Division for Gender Equality, the Ministry of Employment of Sweden) เล่าถึงเบื้องหลังการผลักดันนโยบายที่ทำให้สวีเดนกลายเป็นประเทศแรกที่ประชาชนทุกเพศสามารถลาไปเลี้ยงลูกได้โดยที่ยังรับเงินเดือน

Lenita Freidenvall
ที่มา : European Institute for Gender Equality

การผลักดันนโยบายดังกล่าวมาจากการที่สวีเดนตั้งใจที่จะปฏิรูปสังคมให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ ผลักดันให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น แต่วัฒนธรรมและค่านิยมที่ผู้หญิงมักเป็นฝ่ายรับหน้าที่ดูแลลูกและผู้สูงอายุ กลายเป็นข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาดการทำงาน 

รัฐบาลสวีเดนพยายามลดภาระดังกล่าวด้วยการพัฒนาโครงสร้างทางสังคม สร้างบริการดูแลเด็กและผู้สูงอายุ ยกเลิกการยื่นภาษีรวมระหว่างสามีภรรยา และนโยบายลาไปเลี้ยงลูกที่ใช้ได้ทุกเพศ เพื่อสนับสนุนพ่อแม่ที่ออกไปทำงานทั้งคู่ ปัจจุบันวันลาเฉลี่ยอยู่ที่ 480 วัน แต่ปัญหาคือเพศที่ใช้สิทธิ์นี้ส่วนใหญ่ยังคงเป็นผู้หญิง ผู้ชายยังใช้จำนวนน้อยประมาณ 30% หรือการลาไปดูแลลูกชั่วคราว เช่น ลูกไม่สบาย สามารถลาได้ทุกเพศ แต่ผู้หญิงยังเป็นฝ่ายที่ลามากกว่า

ที่มา : Freepik

ภาครัฐพยายามออกมาตรการเพื่อส่งเสริม เช่น ล็อกวันลาสำหรับผู้ปกครองให้ลาไปดูแลลูก โดยไม่สามารถโอนให้กันได้ เพื่อแบ่งปันการทำงานนอกและในบ้านอย่างเท่าเทียม 

การปฏิรูปนี้ช่วยลดช่องว่างการเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้หญิง เพิ่มความมั่นคง และยืดหยุ่นในตลาดแรงงาน

ส่วนมาตรการในอนาคต สวีเดนกำลังจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อความเท่าเทียมด้านรายได้ที่หาได้ตลอดชีวิต เพื่อศึกษาผลกระทบแรงงานผู้หญิงที่ส่วนใหญ่มักทำงานพาร์ตไทม์ และต้องดูแลลูกเป็นหลัก ส่งผลต่อรายได้และเงินบำนาญ ภาครัฐพยายามมาตรการสร้างรายได้ที่เท่าเทียมมากขึ้น 

Jon Åström Gröndahl เอกอัครราชทูตสวีเดนในไทย กล่าวว่า สิ่งที่ต้องปรับคือ ค่านิยมสังคมที่ว่าบทบาทเพศไหนต้องทำอะไร การให้พ่อหรือเพศอื่นๆ สามารถลาเลี้ยงลูกจะทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพิ่มจำนวนแรงงาน มีฐานผู้เสียภาษีเยอะขึ้น นำไปสู่การพัฒนาประเทศ 

พนักงานมีชีวิตครอบครัวที่ดี ก็ส่งผลให้ปฏิบัติงานดีไปด้วย

อัจฉริยา คุณพันธ์ Head of People Experience จาก Volvo Cars Thailand เล่าถึงนโยบายส่งเสริมชีวิตครอบครัวของพนักงาน (Family bond) พ่อแม่หรือผู้ปกครองที่เป็น LGBTQ+ สามารถลาเพื่อดูแลลูกได้ 24 สัปดาห์ โดยได้รับเงินเดือน 80% สามารถวางแผนวันลาเอง เช่น อาจสลับแม่ลาก่อนแล้วพ่อลาทีหลัง  มีพนักงานชายใช้วันลามากกว่า 170 คน นับเป็น 70% ถือเป็นสัญญาณที่ดี 

อัจฉริยา คุณพันธ์
ที่มา : สำนักข่าวมติชน

“การทำสวัสดิการนี้ลงทุนเยอะ แต่เราไม่ได้มองว่าเป็นค่าใช้จ่าย เพราะเราเชื่อการลงทุนในคนจะทำให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพ ได้ความร่วมมือจากคนทำงานกลับมา ให้เขาได้กลับไปใช้เวลากับครอบครัว เมื่อพนักงานดูแลครอบครัวดีก็จะทำให้ได้งานที่ดีตาม มีความผูกพันกับบริษัท” อัจฉริยากล่าว

Christian dassonville Country Human Resource Manager จาก IKEA Thailand เล่าว่า สวัสดิการพนักงานมาจากจุดยืนของ IKEA ที่ต้องการสร้างชีวิตที่ดีของทุกคนในทุกวัน รวมถึงชีวิตของพนักงาน IKEA การให้พนักงานได้กลับไปใช้เวลากับครอบครัว ก็จะทำให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพและดีกลับคืนมา 

สวัสดิการลาไปเลี้ยงลูกของ IKEA พ่อสามารถลาไปเลี้ยงลูกได้ 4 สัปดาห์ ส่วนแม่สามารถลาติดต่อกัน 4 เดือน โดยได้รับเงินเดือนจากประกันสังคมและ IKEA ก็จะเสริมเงินเพิ่มด้วยเพื่อให้ได้ครบตามฐานเงินเดือนจริง 

“การทำสวัสดิการให้พนักงาน ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทอยากให้ตัวเองมีจุดยืนอย่างไรในตลาด เราอยากดึงดูดพนักงานที่ดีด้วยสวัสดิการที่ดี” Christian กล่าว

เพศไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าใครจะเลี้ยงดูลูกได้ดีกว่ากัน แต่คือการให้สิทธิ์พวกเขาไปเลี้ยงดูลูก เพราะชีวิตที่ดีย่อมส่งผลต่องานที่ดี เราไม่ต้องกังวลว่าจะต้องเลือกงานหรือลูก เพราะเราสามารถทำสองสิ่งไปพร้อมๆ กันได้


Writer

Avatar photo

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ชีวิตอยู่ได้ด้วยซัมเมอร์ ทะเล และความฝันที่จะได้ทำสิ่งที่เป็นความสุขตลอดไป

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts