ลดช่องว่างระหว่างวัย – สานสายสัมพันธ์ – สร้างพื้นที่ทดลอง กับ “โรงเล่น” ที่ใช้ “การเล่น” สร้างพื้นที่มหัศจรรย์เพื่อการเรียนรู้

  • “โรงเล่น” พื้นที่การเรียนรู้ที่พัฒนาจากพิพิธภัณฑ์เล่นได้ ก่อตั้งโดย พ่อปุ๊ – วีรวัฒน์ กังวานนวกุล เพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาจากคนรุ่นเก่าในชุมชนไปสู่ผู้เรียนรุ่นใหม่ และขยายพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ
  • ภารกิจของโรงเล่น ประกอบด้วยการรักษาของเก่า พัฒนาของใหม่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ และสร้างพื้นที่เล่น
  • พ่อปุ๊เชื่อว่า การเล่นสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน และช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ทั้งในครอบครัวและในชุมชน

“เด็กเติบโตได้ด้วยการเล่น” ประโยคที่คนรุ่นเก่าฟังแล้วอาจจะคิ้วขมวดด้วยความสงสัยว่าจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมา เรามักเชื่อกันว่า การเล่นทำหน้าที่สร้างความสนุกสนานคลายเครียด และการเรียนรู้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนเท่านั้น แต่สำหรับ พ่อปุ๊ – วีรวัฒน์ กังวานนวกุล ผู้อำนวยการโรงเล่นเรียนรู้ นักการศึกษา นักพัฒนาสังคม พ่วงตำแหน่งคุณพ่อลูกสอง การเล่นไม่เพียงแต่จะให้ความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังทำให้เขาและครอบครัวได้เติบโตไปพร้อม ๆ กันด้วย

20 กว่าปีที่แล้ว พ่อปุ๊เดินทางจากกรุงเทพฯ มาตั้งรกรากและทำงานในอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ในช่วงเวลาที่คนหนุ่มสาววัยทำงานต่างโยกย้ายถิ่นฐานออกไปทำงานในเมือง พื้นที่ชนบทในเชียงรายเหลือเพียงผู้สูงอายุและเด็กอาศัยอยู่ท่ามกลางช่องว่างระหว่างวัย ขณะเดียวกัน พื้นที่เล่นสำหรับเด็ก ๆ เองก็ลดน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และเติบโตของเด็กๆ

“พื้นที่เล่นแต่ก่อน มันคือชุมชน คือทุ่งนา มันคือป่า แต่ว่า ณ ตอนนี้ไม่น่าจะใช่ เพราะบางนาใช้สารเคมี เจ้าของนาก็ไม่อยากให้ลูกหลานตัวเองลง ไปป่าเองมันก็รก หรือว่าอาจจะต้องมีผู้ใหญ่พาไป หรือว่าเด็ก ๆ จะต้องมีทักษะในระดับหนึ่ง ลานวัดแต่ก่อนมันเคยใช้ แต่ว่าวันนี้ผมว่าหลายอย่างมันเปลี่ยนไป” พ่อปุ๊เล่าถึงที่มาที่ไปของการก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์เล่นได้” ที่ต่อมาพัฒนาเป็น “โรงเล่นเรียนรู้”

พิพิธภัณฑ์เล่นได้: พื้นที่การเรียนรู้จากคนรุ่นใหญ่สู่คนรุ่นเล็ก 

พิพิธภัณฑ์เล่นได้เกิดจากความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนและนักพัฒนาสังคม ที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาของผู้สูงอายุมาสู่เด็กและเยาวชน ผ่านเครื่องมือที่เรียบง่ายอย่าง “ของเล่นพื้นบ้าน” โดยทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน จัดแสดงของเล่นพื้นบ้านให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วิถีชีวิตในชุมชนพร้อมความสนุกสนาน

จากการทำงานกับชุมชนในช่วงแรก พ่อปุ๊เล่าว่า สิ่งที่ผู้สูงอายุในชุมชนถนัด คือการทำของเล่น อาหาร และขนม ซึ่งทักษะเล็ก ๆ เหล่านี้ สะท้อนให้พ่อปุ๊มองเห็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า

“เราเป็นคนเมืองที่พอเห็นของพื้นบ้านเราก็ว้าวแล้ว พอของเล่นมันหลั่งไหลออกมาผ่านผู้คน ผ่านวิถีชีวิต เรามองของเล่นเป็นเครื่องมือที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน”

แต่ของเล่นจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการเชื่อมร้อยผู้คนเข้าด้วยกันได้อย่างไร พ่อปุ๊ ณ ตอนนั้น ก็ลงมือ “ถอดรหัส” ที่มาของของเล่นพื้นบ้านเหล่านี้ ออกมาเป็น “วัสดุท้องถิ่น” และ “เครื่องมือพื้นบ้าน” ที่ต่อยอดไปเป็นการออกแบบการเรียนรู้มากมาย

“สิ่งที่เราได้อันดับแรกแล้วเราภูมิใจที่เราทำสำเร็จก็คือ วัสดุท้องถิ่น  เราไม่ได้แค่ใช้ทรัพยากรในป่า เราใช้ป่าเป็นฐาน แล้วทำแปลงทดลองใหม่ ตอนนี้เราปลูกป่าในพื้นที่เสื่อมโทรม เป็นแนวกันชนระหว่างป่ากับชุมชน เราขอใช้พื้นที่ 5 ไร่ และปลูกไม้ทุกชนิดเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้น วันนี้มันเป็นแปลงทดลองจริง ๆ ที่เราเชื่อว่า ถ้าเรามีวัสดุธรรมชาติที่หลากหลาย มันจะเกิดของเล่นที่หลากหลาย วันนี้มันเห็นผลชัดและจับต้องได้” พ่อปุ๊เล่า

ป่าของพ่อปุ๊ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งวัสดุธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังสามารถประยุกต์เป็นห้องปฏิบัติการวิชาวัสดุศาสตร์ ที่ไม่เพียงแต่สอนให้ผู้เรียนท่องสปีชีส์ของต้นไม้เท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ “สัมผัส” วัสดุท้องถิ่นแบบครบทุกประสาทสัมผัส ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนได้ทำความรู้จักกับวัสดุได้อย่างลึกซึ้งและสนุกสนานยิ่งขึ้น

“ต่อมาคือเครื่องมือ ตัวนี้สำคัญมาก เพราะว่ายุคที่เราทำของเล่นแรก ๆ เราใช้มีดเหลา เราใช้เลื่อย ใช้เครื่องมืองานคราฟต์ทั้งหมด ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญและสนุกมาก แต่ว่าวันนี้ หลายอย่างเปลี่ยนไป หรือกระทั่งเวลาเราทำงานที่แบบอยากทดลองงานใหม่ ๆ เนี่ย ตัวเครื่องมือมีวิวัฒนาการที่ทันสมัยมาก พื้นที่ที่มีผู้สนับสนุนเครื่องมือเนี่ย มันจะทำให้เกิดการประกอบฝัน คือฝันมันอยู่ในจินตนาการอยู่ในกระดาษ คราวนี้มันจะทำให้จากนามธรรมเป็นรูปธรรมจริง ๆ”

อย่างไรก็ตาม เมื่อขึ้นชื่อว่าพิพิธภัณฑ์ ภาพจำของคนทั่วไปก็มักจะมองว่าเป็นสถานที่เก็บสะสมของเก่า พิพิธภัณฑ์เล่นได้เองก็อาจจะเป็นพื้นที่สำหรับของเล่นยุคเก่า เพราะฉะนั้น พ่อปุ๊จึงตัดสินใจ “รีแบรนด์” พิพิธภัณฑ์เล่นได้ กลายเป็น “โรงเล่นเรียนรู้” ในปัจจุบัน 

ส่งต่อจินตนาการผ่าน “โรงเล่นเรียนรู้”

“โรงเล่นนี่เราทำ 3 เรื่อง หนึ่งคือรักษาของเก่า ซึ่งเราก็มีประสบการณ์ พัฒนาของใหม่ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ แล้วสามคือสร้างพื้นที่เล่น” พ่อปุ๊อธิบายภารกิจหลักของโรงเล่นเรียนรู้ ที่แตกกอต่อยอดจากข้อจำกัดของพิพิธภัณฑ์เล่นได้

“วัสดุกับเครื่องมือเนี่ย มันทำกระบวนการ ออกแบบหลักสูตร ลงไปสอน ทำได้ แต่สอนเรื่องจินตนาการเนี่ย มันสอนกันยังไง แล้วใครจะเป็นคนสอน เนื่องจากเราสอนเด็กทำของเล่น เยอะและบ่อย เด็กทำของเล่นเป็นแล้ว ดีใจสิ แต่ว่าพอเด็กทำของเล่นเป็นสิบครั้งแล้วทำแบบเดิม ในฐานะนักการศึกษา เราก็เอ๊ะ มันใช่หรือเปล่า มันคือการผลิตซ้ำความรู้ และวันหนึ่งเดี๋ยวเด็กก็เบื่อ”

ระหว่างที่พ่อปุ๊กำลังควานหาแนวทางในการสอนแบบใหม่ ลูกชายทั้งสองก็เป็นผู้จุดประกายให้คุณพ่อ โดยการนำของเล่นที่ชำรุดมาประกอบร่างใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการซ่อมของเล่นเก่าแล้ว ยังสามารถพัฒนาความรู้ เพื่อสร้างของเล่นใหม่ด้วย

“ดังนั้นจินตนาการ เราบอกว่ามันสร้างได้ แต่ว่ามันต้องใช้เวลาในการสร้าง แล้วมันต้องมีการลงทุนกับสื่อ เช่น หนังสือดี ๆ พื้นที่ดี ๆ ให้เล่นของเล่นเยอะ ๆ พื้นที่ปลอดภัย พื้นที่อิสระ โค้ชดี ๆ หรือกระทั่งพื้นที่ที่สร้างความไว้วางใจให้เด็กสามารถค้นหาความถนัด ความสนุกได้ด้วยตัวเอง” 

“แล้วก็มากกว่าความรู้คือความไม่รู้ คือความรู้ใส่กันเท่าไรก็ได้ แต่ทำยังไงให้เด็กรู้ว่าความไม่รู้ก็สำคัญ แล้วจะไปหาความรู้จากไหน มันจึงออกแบบมาเป็นโรงเล่นปัจจุบันว่า โรงเล่นทำหน้าที่นั้นแหละ ไม่ได้มีคำตอบสำเร็จรูปให้ ที่สำคัญอันดับแรกคือเล่นให้สนุก และต้องการให้เด็กสนุก รู้สึกไว้วางใจ และรู้สึกปลอดภัย พอคุณเข้ามาเล่นซ้ำบ่อย ๆ คุณจะค้นพบสิ่งที่ว่า”

นอกเหนือจากการเป็นพื้นที่ปลูกฝังจินตนาการให้กับผู้เรียน โรงเล่นยังเป็น “พื้นที่ส่งต่อความรู้” จากลูกชายทั้งสองของพ่อปุ๊ไปยังนักเรียนรู้คนอื่นๆ ผ่านของเล่นจากมุมหนึ่งในบ้าน ที่ขยายใหญ่ขึ้นตามการเติบโตของสองหนุ่ม

“เหมือนตัวเขาเอง เขาก็ต้องการพื้นที่มากขึ้นด้วย ต้องการพื้นที่ที่แบบว่า เรามีตรงนี้นะ เราพร้อมจะส่งต่อชุดความรู้นี้ให้กับคนอื่น มันก็ต้องมีพื้นที่ที่มารองรับตรงนี้ โรงเล่นก็เป็นตรงนั้นให้ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันเหมือนถูกกลั่นกรองมาแล้วว่ามันทำได้จริง แล้วก็มันสามารถใช้พื้นที่นี้นำไปสู่การเรียนรู้อีกหลาย ๆ สิ่งได้จริง” พ่อปุ๊กล่าว

เมื่อถามถึงสิ่งที่ได้รับจากการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เล่นได้ จนมาถึงโรงเล่นเรียนรู้ พ่อปุ๊ตอบว่า ได้ความอิ่มเอมใจ

“เราไม่ได้คาดหวังใหญ่ว่าคนจะค้นพบการเรียนรู้ จะสร้างนวัตกรรม ก็แค่ให้คนมามีปฏิสัมพันธ์ มาสนุก แล้วให้คนรู้สึกไว้วางใจ แล้วก็อุ่นใจ เพราะรู้ว่าครอบครัวหนึ่งจะลงทุนซื้อหนังสือมานั่งอ่าน มันไม่ง่ายในวิถีแบบชนบทนะ พอเรามีพื้นที่ตรงนี้เขาก็หยิบยืมใช้ อ่านสนุก เขาเก็บ ผมแฮปปี้แล้ว เขารักษามัน เขาทะนุถนอมมัน ผมว่ามันเป็นการเริ่มต้นที่ดีสู่สิ่งต่าง ๆ”

“5 ปีที่ผ่านมาลองขยายแล้ว ให้อะไรกับผมคือ ให้บทเรียนมากมายที่รู้ว่า ถ้าเรากลัว เราไม่กล้าทำ มันจะไม่เกิด แล้วมันขยายผลแล้วมันเห็นผลได้จริง ๆ ซึ่งเรายืนยันว่า พื้นที่แบบนี้พอไปเกิดที่ไหน รอบ ๆ ชุมชนนั้นหรือคนที่อยู่ในนิเวศนั้นได้ประโยชน์แน่นอน” พ่อปุ๊กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

มหัศจรรย์แห่งการเล่น

ที่ผ่านมาเรามักจะมองว่าการเล่นคือการพักผ่อนที่แยกส่วนชัดเจนกับการเรียนรู้ ทว่าพ่อปุ๊มองว่า การเล่นคือความสุข และความสนุกที่ไม่ต้องมีมูลค่ามหาศาล และไม่มีนิยามเฉพาะตายตัว ทำให้ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน ยากดีมีจนอย่างไร ก็สามารถเข้าถึงการเล่นได้ และการเล่นนี่แหละ ที่เปิดโอกาสให้คนเราสามารถสัมผัสสิ่งต่างๆ ได้มากมาย

“พอเราทำเรื่องการเล่นมาอย่างยาวนาน แล้วเราเห็นพฤติกรรมคนเปลี่ยนจากการเล่น เราก็เลยคิดว่ามันสำคัญ ถ้าใครเข้าไปถึงจุดนั้น คุณก็จะเปลี่ยนได้ สร้างปฏิสัมพันธ์ได้ผล ค้นพบได้ พัฒนาได้ หรือว่ามีความสุขกับเรื่องเล่นในแบบของคุณที่มีตามกำลังทรัพย์ที่บ้านได้จริง” พ่อปุ๊กล่าว

และไม่ใช่แค่การสานสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน หรือกระชับความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเท่านั้น แต่การเล่นยังช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยของผู้สูงอายุกับคนรุ่นใหม่ ดังเช่นประสบการณ์ของพ่อปุ๊ที่ได้ร่วมงานกับผู้สูงอายุในชุมชนมาเป็นเวลานาน และต้องปะทะสังสรรค์ทางความคิดและความเชื่อกันอยู่บ่อยครั้ง

“มันเริ่มสนุกตรงที่เวลาผู้สูงอายุบอกให้เราเชื่อ มันต้องแบบนั้นแบบนี้ แล้วเราไม่ค่อยเชื่อ แล้วเราทำยังไงให้ความสัมพันธ์เหล่านี้มันลงตัวแล้วมันเกิดความสนุก หมายถึงว่าเราไม่จำเป็นต้องเชื่อความรู้เดิม แต่ว่าเรามาหาจุดร่วมลงตัวกันได้ มันเกิดการทดลองสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ หรือกระทั่งเราเปลี่ยน พบการเปลี่ยนของผู้สูงอายุซึ่งยากกว่าเด็กนะ เราพบว่ามหัศจรรย์ของการเล่นตรงนี้ มันเข้าไปช่วยคลี่คลาย แล้วทำให้เราไม่ต้องทะเลาะกันแบบแตกหัก การเล่นมันทำให้ละมุนละไม แล้วนำไปสู่การค้นพบ”

“ผมยังสนุกกับการเล่น แล้วก็อยากสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้เกิดขึ้นหลาย ๆ ที่ เชื่อว่าพื้นที่พวกนี้มันมีประโยชน์ แต่ว่ามันต้องกลับไปทำพื้นที่เหล่านี้ให้มันเข้าถึงได้ง่าย แล้วก็ถ้าเป็นไปได้ ให้มันมีทุกตำบล ทุกอำเภอ ผมว่ามันจะเปลี่ยนโฉมหน้าของการเรียนรู้ในประเทศนี้ได้จริง” พ่อปุ๊สรุป


Writer

Avatar photo

ณัฐธยาน์ ลิขิตเดชาโรจน์

บรรณาธิการและแม่ลูกหนึ่ง ผู้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ผ่านการเติบโตของลูกชาย มีหนังสือและเพลงเมทัลร็อกเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และมีชีวิตอยู่ได้ด้วยกาแฟและขนมทุกชนิด

Illustrator

Avatar photo

ลักษิกา บรรพพงศ์

กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรีส์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเป็นทาสแมว

Photographer

Avatar photo

ชัชฐพล จันทยุง

หลงรักการบันทึกรอยยิ้มและความรู้สึกเป็นภาพถ่าย

Related Posts