EF ทำงานอย่างไร
หลักการของ EF คือโครงสร้างสมองส่วนหน้าใช้กำหนดความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย ซึ่ง EF สามารถทำงานได้ในเหตุการณ์ปกติทั่วไปในชีวิตประจำวัน ไล่ตั้งแต่ตอนตื่นนอนถึงตอนเด็กๆ เรียนหนังสือ
หากในตอนเช้า เด็กๆ ถึงเวลาตื่นนอนแล้วแต่ยังอยากนอนต่อ ทว่าสุดท้ายพวกเขาก็ลุกขึ้นมาอาบน้ำเพราะมี ‘ความรับผิดชอบ’ รออยู่ นี่คือตัวอย่างการกำกับความคิดและอารมณ์โดยใช้ EF ได้ชัดเจนที่สุด
แต่ก่อนที่ EF จะทำงานได้แบบนี้ สมองต้องมีการดึงประสบการณ์เดิมมาประมวลผลก่อนกำกับความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม พูดง่ายๆ คือต้องมีข้อมูลชุดเดิมที่ทำให้เด็กได้คิด วิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจทำบางอย่าง
ประสบการณ์เดิมของเด็ก ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่
แต่เด็กคนหนึ่งที่เพิ่งลืมตามาดูโลกได้ไม่กี่ปี จะมีประสบการณ์สักกี่มากน้อย นั่นคือเหตุผลที่เด็กแสดงพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่สมควรออกไป เพราะเขาไม่เคยได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสม เช่น พอรู้สึกโกรธแล้วอยากต่อยเพื่อน เพราะไม่รู้ว่าถ้าไม่ต่อยแล้วทำอะไรได้บ้าง
ไม่ว่าประสบการณ์เดิมเยอะหรือน้อย สิ่งสำคัญกว่าคือประสบการณ์มีคุณภาพเพียงพอหรือเปล่า ประสบการณ์ที่มีคุณภาพสร้างได้เมื่อเด็กรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย เป็นตัวของตัวเองได้เมื่ออยู่กับผู้ปกครอง เมื่อนั้นแหละที่ EF ของเขาจะใช้งานได้เต็มที่
ยกตัวอย่าง เมื่อเด็กบอกพ่อแม่ว่ามีแฟน หากพ่อแม่ห้ามคบกับแฟนต่อ บอกให้ไปตั้งใจเรียน ความสัมพันธ์ของเด็กกับพ่อแม่ก็จะไม่ดี เพราะคำพูดของพ่อแม่ทำให้เด็กรู้สึกว่าไม่มีตัวตน ไม่เป็นคนสำคัญ ไม่มีความสามารถ และที่สำคัญคือพ่อแม่ ‘คิดแทน’ เด็กว่าการมีแฟนเป็นเรื่องไม่ดี
เมื่อความสัมพันธ์ไม่ดี EF ก็จะทำงานได้ไม่เต็มที่ พัฒนาการที่เด็กควรจะมีก็ถูกริดรอนไป
วิธีแก้คือพ่อแม่ต้องตั้งเป้าหมายก่อนเลี้ยงลูก
เพราะ EF เกี่ยวโยงกับการตั้งเป้าหมาย ถ้าพ่อแม่อยากให้เด็กมี EF ที่ดีก็ต้องตั้งเป้าหมายก่อน ซึ่งเป้าหมายอาจเป็นแค่เรื่องเล็กๆ แค่ลูกกินข้าวหมดจาน ไปจนถึงเป้าหมายระยะยาวอย่างการเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในสังคม
พ่อแม่ต้องเป็นผู้ประคอง ไม่ใช่ผู้ปกครองที่เป็นเจ้าของความคิดของเด็กๆ หน้าที่ของผู้ประคองคือ หากลูกตัดสินใจผิดพลาดก็ยอมให้ลูกลองใหม่ หากลูกทำดีก็ชื่นชมเขา เท่านี้ประสบการณ์ของเด็กก็จะมีคุณภาพเพียงพอที่จะพัฒนา EF ได้
ผู้ใหญ่ก็ฝึก EF ได้
ในเวลาเดียวกับที่ฝึก EF ของเด็ก ผู้ปกครองก็สามารถฝึก EF ของตัวเองได้ด้วย แต่อาจจะต้องทำใจว่าอาจจะฝึกยากกว่า เพราะมีสันดาน ประสบการณ์เดิม และความเชื่อเดิมอยู่เยอะ ผู้ปกครองจึงต้องรู้ตัวและต้องคิดก่อนพูดหรือรีแอคชั่นทุกครั้ง เช่น หากลูกทำน้ำหก พ่อแม่อาจต้องฝึกไม่ดุ ไม่ว่า แต่สอนให้ลูกระมัดระวังมากขึ้น
เด็กที่มี EF ดีในวันนี้ คือผู้ใหญ่ที่ดีในวันหน้า
เด็กที่มี EF ที่ดีตั้งแต่วัยเยาว์ จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีเป้าหมายในชีวิต EF ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่จะฝึกฝนและทำงานได้ในสภาวะที่เด็กรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย มีครอบครัวให้โอกาสเขาได้ลองผิด ลองถูก ลองทำ อยากทำอะไรเขาจึงมุ่งมั่นว่าจะทำให้ได้ แต่ถึงทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะเขารู้อยู่เสมอว่ามีคนเชื่อในตัวเขา
ต้นทุนที่ดีที่สุด คือความรักและโอกาส
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กที่มี EF ที่ดีหลายคนนั้นมีต้นทุนชีวิตมากกว่าคนอื่น แต่การมีฐานะก็ไม่ได้แปลว่าจะฝึกฝน EF ได้ดีเสมอไป เพราะเด็กที่เติบโตในครอบครัวมีฐานะบางคนไม่ได้ใช้ EF เลย เพราะพ่อแม่ตามใจเขา และคิดแทนเขาทุกอย่าง
แท้จริงแล้ว ความรักของผู้ปกครองนั้นไม่ต้องใช้เงิน ผู้ใหญ่สามารถมอบความรัก โอกาส ความเชื่อมั่น และการยอมรับให้กับเด็กคนหนึ่งเพื่อให้เขารู้สึกเป็นคนสำคัญ และมีความสามารถได้ และเมื่อใดที่เขารู้สึกว่ามีคนเชื่อในตัวเขา เขาจะเชื่อว่าตัวเองจะประสบความสำเร็จได้