Preteen 101

ไม่รอดก็ร่วง : ชีวิตมนุษย์ม.2 พุ่งทะยานด้วยอารมณ์ และร่วงหล่นด้วยคำว่าห้ามผิดพลาด

  • เมื่อทางแยกของวัยรุ่น คือ ช่วงม.2 เป็นตัวตัดสินว่าเขาจะรอดหรือร่วง
  • สมองที่ทำงานด้วยอารมณ์ ตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อชีวิตวัยรุ่นม.2
  • mappa ชวนทำความเข้าใจกับมนุษย์ม.2 ผ่านเคสจริง และวิธีดูแลในมุมมองนักจิตวิทยา คุณครู

ยังจำความรู้สึกตอนที่เราอยู่ม.2 กันได้ไหม ตอนนั้นเราเป็นอย่างไรบ้าง

เป็นคนที่มุ่งแต่เรียน สอบให้ได้คะแนนดีๆ หรือตั้งเป้าว่าต้องลองประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เยอะที่สุด 

ช่วงเวลาดังกล่าวจะเรียกว่าเป็นช่วงที่ง่ายก็ว่าง่าย เพราะยังไม่มีเรื่องให้ต้องแบกรับเต็มไหล่ จะว่ายากก็ใช่อีกเหมือนกัน เพราะถือเป็นช่วงรอยต่อ เหมือนยืนอยู่บนทางแยกว่าจะเดินต่อเส้นไหนดี

บางคนขนานนามช่วงนี้ว่า ‘รอดหรือร่วง’ หรือ ‘วัยหัวเลี้ยวหัวต่อ’

เป็นวัยรุ่นว่ายากแล้ว ยิ่งเป็นวัยรุ่นพ่วงคำว่าม.2 ยิ่งยากคูณสอง 

mappa ชวนทำความเข้าใจเด็กวัยนี้ ผ่านเรื่องเล่าของคนที่ ‘ร่วง’ ช่วงม.2 รวมถึงวิธีการดูแลพวกเขาให้รอดจากคุณครูและนักจิตวิทยา ที่พ่อแม่และผู้ใหญ่ควรรับฟังเพื่อหาทางป้องกันมากกว่าแก้ไข 

และเพื่อย้ำเตือนอีกสักรอบว่า ‘เด็กคนหนึ่งต้องใช้คนเลี้ยงทั้งหมู่บ้าน’ ยังคงเป็นเรื่องแท้จริงเสมอ

ตีตราครั้งเดียว ทำรถเปลี่ยนทางวิ่ง

“ตอนนั้นผมอารมณ์ร้อนจริงๆ ทำอะไรไม่ค่อยคิด คือใครทำอะไรไม่เข้าตาเราหน่อย มีปากเสียงละ เราต้องเอาเรื่อง”

‘ราม’ ในวัย 22 ปี หันกลับไปมองรามวัย 14 ปี เขานิยามตัวเองตอนนั้นว่า อารมณ์ร้อน และใช้กำลังหาทางออก เป็นผลพวงของการเลี้ยงดูที่พ่อใช้กำลังกับรามมาโดยตลอด

รามเล่าย้อนกลับไปอีก ถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้วันนี้เขาต้องมานั่งอยู่ที่ ‘บ้านกาญจนาภิเษก’ ศูนย์ฝึกและอบรมเยาวชนที่ทำความผิด เรื่องเริ่มต้นที่ช่วงมัธยม รามต้องย้ายจากโรงเรียนเดิม จากนักเรียนที่ดูมีอนาคตไกล ชอบเล่นกีฬาและดนตรี แต่สภาพแวดล้อมที่โรงเรียนใหม่กลับไร้สิ่งพวกนี้ และตอกย้ำว่ารามนั้นแปลกแยก กลายเป็นปัญหากลั่นแกล้งจากคนในโรงเรียนเพราะไม่ยอมรับ ไม่มีครูยื่นมือให้ความช่วยเหลือ รามเลือกทางออกด้วยการคบเพื่อนและใช้กำลัง

“ผมว่ามันเป็นจุดสำคัญนะ ถ้าเด็กมีปัญหาแล้วผู้ใหญ่ไม่เข้ามาช่วยแก้ไข เหมือนเรามีปัญหาครั้งหนึ่ง จะถูกผู้ใหญ่มองว่าเป็นเด็กไม่ดีไปเลย ทำให้ไม่ค่อยสนใจเรา ทั้งๆ ที่ตัวเราก็มีความสามารถนะ อาจจะคนละด้านกับที่เขาสนใจ แต่พอเราไม่เก่งวิชาการ ครูก็มองข้ามเราไปเลย

“เด็กก็คือเด็ก เราไม่ได้เก่งจนสามารถจัดการปัญหาได้คนเดียว เราต้องการใครสักคนที่คอยให้คำปรึกษา ให้โอกาสถ้าเราพลาด ซึ่งผมว่าการรับฟังสำคัญที่สุด เราปรึกษาใครไม่ได้ถ้าไม่มีใครรับฟัง มันตัน”

จากก่อเหตุทะเลาะวิวาทในโรงเรียน รามขยายอาณาเขตไปยังโรงเรียนอื่น จนถูกเชิญออกจากโรงเรียน ทำให้เขามีเวลามากกว่าเดิม รามเลือกไปอยู่กับกลุ่มเพื่อนที่มีความคิดเหมือนกัน ทำให้ปรอทอารมณ์ของรามพุ่งสูงขึ้น วิธีแก้ไขปัญหาของรามที่ใช้กำลังก็หนักขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นใช้ปืน

ช่วงเวลา 7 ปีที่อยู่บ้านกาญจนาฯ มันทำให้รามนิ่งขึ้น จากคนอารมณ์ร้อนเปลี่ยนเป็นอารมณ์เย็น ส่วนสำคัญที่ทำให้รามเปลี่ยน เขาบอกว่าเป็นเพราะกระบวนการสอนที่ทำให้เขารู้จักคิดมากขึ้น

“ผมว่าการสอนเด็กคนหนึ่ง น่าจะให้เขาได้เห็นผลลัพธ์ปัญหาก่อนที่เขาจะตัดสินใจทำอะไรลงไป ดีกว่าไปสั่งสอนว่าทำแบบนี้ไม่ถูกต้องนะ โดนตำรวจจับติดคุกแน่ ทำให้เขาเห็นว่าทางที่เขาเลือกจะทำ มีผลกระทบอะไรตามมา ทั้งตัวเขาและคนรอบตัว 

“ที่นี่ (บ้านกาญจนาฯ) จะมีกิจกรรมวิเคราะห์ข่าว ทำทุกๆ เช้า เขาจะเอาข่าวที่เกิดขึ้นจริง เอาประสบการณ์ของคนอื่น มาสอนให้เราได้เรียนรู้ว่าถ้าเราทำแบบเดียวกันจะเกิดอะไร ผลกระทบที่ตามมาตัวเราจะรับไหวไหม เช่น ข่าวยาเสพติด เหมือนชี้ทางให้เรา ทางสว่างกับทางมืด” 

เด็กม.2 เปรียบเสมือนรถยนต์ที่โครงดี ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันแห่ง ‘อารมณ์’

ครูต้น – นรพันธ์ ทองเชื่อม นักจิตวิทยาและนักจิตบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Therapist) อธิบายพัฒนาการของคนวัย 14 ปี หรือม.2 เริ่มจากสมองที่ขยายตัวมากขึ้น เตรียมพร้อมสำหรับการทำงาน สมองส่วน limbic system ที่ทำงานด้านอารมณ์และพฤติกรรม กลายเป็นแม่ทัพแถวหน้าขับเคลื่อนสมอง

ทำให้เด็กวัยนี้เรียนรู้ได้รวดเร็ว อยากลองทำสิ่งใหม่ๆ อยากออกไปเผชิญโลกภายนอกเพื่อค้นหาว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง ตัวตนเขาคืออะไร แต่การออกไปจะใช้อารมณ์มากกว่าตรรกะเหตุผล 

“เป็นเหมือนรถ Porsche ที่โครงดี เครื่องยนต์ดี แต่น้ำมันเบรกติดๆ ขัดๆ เบรกได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บางคนเรียกเด็กวัยนี้ว่าพายุบุแคม (stress and storm) วัยหุนหันพลันแล่นบ้าง หรือวัยหัวเลี้ยวหัวต่อบ้าง เพราะเขาควบคุมตัวเองได้น้อย เนื่องจากปรากฏการณ์ของสมองด้านอารมณ์

“แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กม.2 ไร้ความสามารถนะ เขาแค่จะพุ่งตัวออกไปก่อน แล้วค่อยมาเรียนรู้ที่หลัง”

ส่วนต่อมา คือ พัฒนาการของวัยรุ่นกับสังคม ครูต้นอธิบายว่า เด็กม.2 อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากเด็กประถม สู่เด็กมัธยม จากที่เคยต้องการคำชมจากพ่อแม่ คุณครู ที่บอกว่าเขาทำอะไรได้ดี คอยชื่นชมเขา เขากลับไปต้องการ ‘เพื่อน’ ที่มาตอบว่า ‘เขามีคุณค่าอย่างไร’ และการได้รับการยอมรับจากเพื่อนหรือคนอื่น สำคัญกับเด็กม.2 มากๆ

“มีพ่อแม่หลายคนบอกว่าทุกข์ใจ เลี้ยงลูกมาตั้งนาน ทำไมตอนนี้ลูกถึงไม่สนิทกับตัวเองเหมือนเดิม อยากให้พ่อแม่มองว่า ปรากฎการณ์ตอนนี้เป็นเรื่องปกติของคนวัยนี้ ที่เขาจะเปลี่ยนความสนใจ หรือเปลี่ยนคนที่จะมาตีตราเขา จากพ่อแม่มาเป็นกลุ่มเพื่อน” 

อ่านจนถึงตอนนี้ หลายคนอาจเกิดคำถามว่า ทำไมเพื่อนถึงสำคัญกับคนวัยนี้ ครูต้นเปรียบเทียบเด็กม.2 กับนก เมื่อเติบโตขึ้นคงไม่ได้อยากอยู่แค่ในรังที่พ่อแม่สร้างไว้ หรือรอรับอาหาจากพ่อแม่เท่านั้น แต่เขาต้องการออกไปเผชิญโลกภายนอก และคำชื่นชมจากคนอื่นๆ ทำให้เขาแข็งแกร่งขึ้น อยากได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ

“การได้รับการยอมรับทางสังคม ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อน สำคัญกับเด็กวัยนี้มาก เด็กบางคนพยายามแสดงความสามารถเพื่อให้คนยอมรับเขา การโดนตำหนิความสามารถต่อหน้าเพื่อน จะทำให้เขากังวลว่า ตัวเองจะไม่ได้รับการยอมรับอีกแล้ว เพราะขนาดผู้ใหญ่ยังไม่ยอมรับเขา”

“จริงๆ วัยรุ่นกับผู้ใหญ่ไม่ต่างกัน เพียงแต่วัยรุ่นขับเคลื่อนตัวเองด้วยอารมณ์เป็นหลัก อยากทำ ทำเลย มีข้อดีตรงไม่ต้องคิดซ้าย – ขวา หรือคิดหน้าคิดหลัง ได้สิ่งสดใหม่ แต่ข้อน่ากลัว คือ เป็นความหุนหัน และเกิดผลผลิตที่ตีตราเขาว่า ‘ไม่น่าทำเลย’ หลายครั้งเจอพ่อแม่ ครู สังคมย้ำเตือนว่า ‘เห็นไหมฉันเตือนแล้ว อย่าทำอย่างนี้อีกนะ’ เพราะมองว่าเขาเป็นเด็ก ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ วัยรุ่นคิดได้นะ แต่เขาเลือกแสดงออกด้วยอารมณ์”

ทำตัวเป็นเพื่อนคนหนึ่งที่คอยรับฟัง ไม่ยัดเยียดคำแนะนำ

รอดหรือร่วง

คำนิยามจาก มะพร้าว – ฉัตรบดินทร์ อาจหาญ อดีตคุณครูโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีต่อนักเรียนม.2 

ประสบการณ์คุณครูประจำชั้นม.1 และม.2 ทำให้มะพร้าวเข้าใจธรรมชาติของเด็กวัยนี้ เขาอธิบายคาแรกเตอร์ของเด็กม.2 ว่าจะเด่นกว่าเด็กชั้นอื่นๆ คือ เริ่มปรับตัวเข้ากับการเรียนช่วงมัธยมศึกษาได้ ทำให้มีเวลาสนใจเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเรียน 

“ถ้าเปรียบเทียบเด็กกับเข็มทิศ เข็มเด็กม.1 จะหมุนปิ้วๆ ไม่รู้จะชี้ไปทางไหน แต่ของม.2 เริ่มหมุนเป็นทิศทางมากขึ้น กำลังหาทิศว่าฉันควรไปทางไหนดี”

‘เพื่อน’ กลายเป็นสิ่งสำคัญของคนวัยนี้ เรียกว่าเป็นเครื่องช่วยหายใจเลยก็ว่าได้ มะพร้าวอธิบายว่าเด็กม.2 กำลังหาที่ทางของตัวเอง ฉันอยู่ตรงไหนบนโลกนี้ กลุ่มเพื่อนแบบไหนที่เหมาะกับฉัน เป็นที่มาของนิยามรอดหรือร่วง เพราะการคบเพื่อนจะเป็นส่วนหนึ่งที่ตัดสินว่าเราจะเป็นอย่างไร 

วิธีที่ครูมะพร้าวใช้ดูแลนักเรียนม.2 การทำตัวเป็นเพื่อนคนหนึ่งที่คอยรับฟัง เปิดใจกว้างๆ ตั้งกำแพงให้ต่ำที่สุด เพื่อให้เด็กกล้าที่จะก้าวมาหา

“เคยคุยกับเด็กว่า ทำไมชอบมาคุยกับเรา คุยเรื่องที่เขาไม่กล้าบอกครูคนอื่น เขาบอกอยู่ตรงนี้รู้สึกโอเคกว่า พูดอะไรก็ได้ ไม่โดนตัดสินหรือได้คำแนะนำอย่างบอกให้ทำนู่นทำนี่ 

“ฟังว่าเขาไปเจออะไรในชีวิตบ้าง แค่นี้เพียงพอละ ไม่ต้องไปตัดสินเยอะ หรือแทรกแซง เพราะยิ่งพยายามแทรกแซง เด็กยิ่งต่อต้าน รวมถึงอย่าไปบอกให้เขาทำอะไรด้วย ถ้าอยากให้คำแนะนำ ส่วนตัวเราจะโยนคำแนะนำไปให้ เป็นประสบการณ์ของเราเอง เธอพิจารณาเอาว่าอยากหยิบขึ้นมาไหม เราจะไม่ยัดใส่มือเขาเด็กขาด ตัวเด็กจะรู้สึกอยากเข้ามาหาเรา เพราะเรามีอะไรให้เขาและไม่ยัดเยียดว่าเขาต้องรับนะ”

เวลาคุณภาพและวินัยเชิงบวก ยังคงเป็นคีย์สำคัญในการเลี้ยงดู

ระหว่างที่ออกไปเผชิญโลก ค้นหาตัวเอง ทดลองทำสิ่งต่างๆ ซึ่งอาจมีทั้งสำเร็จหรือผิดพลาด จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นตอนที่ผิดพลาดแล้วเด็กจะรับมืออย่างไร ครูต้นยกตัวอย่างเด็กคนหนึ่งที่เปิดหมวกเล่นกีตาร์หาเงินใช้ ถ้ามีคนบอกว่าสิ่งที่เขาทำไม่ถูก หาเงินผิดวิธี หรือต่อว่าว่าเอาเงินไปใช้ฟุ่มเฟือย อาจทำให้เด็กรู้สึกแย่และตั้งคำถามกับสิ่งที่เขากำลังทำ ตัวตนของเขา หรืออาจไม่กล้าทำสิ่งนี้อีกเลย

ตัวแปรสำคัญมากๆ ที่จะช่วยเด็กเมื่อเจอปัญหา คือ หน่วยซับพอร์ต ณ วันที่เขาล้ม เจอคำตำหนิ สามารถมีคนให้เขาล้มลงไปได้ มีคนคอยรับฟัง หรือให้คำแนะนำเขา

“วัยรุ่นมีความหวาดหวั่นในตัวเองตลอดเวลา เขาตั้งคำถามกับตัวตนของเขาเสมอ ถ้าเขาโดนคำตำหนิแรงๆ แล้วไม่มีเพื่อนที่คอยรับฟัง หรือพ่อแม่ขาดเวลาคุณภาพ วางแต่เงื่อนไขวินัยเชิงลบ เช่น ถ้าทำแบบนี้จะโดน… แต่ไม่เคยบอกว่าทำแล้วจะได้อะไร”

คำแนะนำสำหรับดูแลเด็กม.2 จากครูต้น อันดับแรก – เปิดโอกาสให้เขาได้เลือกและลองทำ ถือเป็นการฝึกเขาให้เผชิญความกลัวรูปแบบหนึ่ง เพราะตัวเขาหวาดหวั่นอยู่แล้วว่า ฉันจะทำได้หรือเปล่า การเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ลองทำโดยไม่ตัดสินจึงสำคัญมาก ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่

สอง – ไม่ตัดสินจากผลลัพธ์ของการกระทำ ถ้าเด็กลองทำแล้วผิดพลาด ไม่สำเร็จ อย่างน้อยลองดูเรื่องอื่นๆ เช่น ความพยายาม ความตั้งใจ ความมีวินัย ความตรงต่อเวลา ฯลฯ ชีวิตเด็กคนหนึ่งมีเรื่องให้ดูเยอะมากๆ

สาม – เมื่อเขาเกิดข้อผิดพลาด ไม่ควรซ้ำเติมว่า ‘บอกแล้วใช่ไหมว่าไม่ควรทำ’ ‘บอกแล้วเธอทำไม่ได้’ 

และสุดท้ายการเป็นผู้ฟัง เป็นเรื่องที่ครูต้นเน้นมากๆ เพราะจะทำให้วัยรุ่นที่พลุ่งพล่านด้วยอารมณ์สงบลงได้ ช่วยให้เขาสามารถหาทางต่อได้ง่ายขึ้น

“ต้องแยกระหว่าง ‘ฟัง’ กับ ‘ได้ยิน’ สมมติลูกเล่าว่าไปแข่งกีฬาแต่แพ้ ถ้าเราฟังและคิดถึงแต่เรื่องในอดีต ‘สมัยก่อนพ่อทำแบบนั้น…’ นี่เรียกว่าได้ยินนะครับ โสตประสาทขยับเพราะเสียงกระทบ และเรากำลังเอาไม้บรรทัดเราไปวางบนตัวลูก แต่ถ้าเราฟังจะรู้ว่า ‘อ้อ ลูกมีคู่แข่งแปดคน ลูกพยายามแล้วนะ แต่ยังไปซ้อม แล้วยังไงต่อนะ’ ฟังแล้วถามต่อ ทำให้เขาเล่าหมดจดโดยไม่ขัด และไม่ตัดสิน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำ 

“ต้องยอมรับว่าพ่อแม่ก็มีปัญหาส่วนตัว รู้สึกว่าเรื่องที่เราถือมันหนักอยู่แล้ว ไม่พร้อมรับปัญหาลูก อยากให้ลองหาเวลาที่จะเป็นของเราบ้าง ‘เวลาพ่อแม่ลูก’ อย่างน้อยตอนกินข้าวถามไถ่ว่าเป็นไง หนูรู้สึกยังไง ถามนอกเหนือจากเรื่องเรียน พักความกังวลของเรา ไปหาใจลูกบ้าง”

วิธีดูแลอาจเรียกว่าเป็นการแก้ที่ปลายทาง วิธีที่ดีที่สุดคือการดูแลเด็กที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่แรก ช่วยให้ปัญหาไม่เกิดหรือเกิดน้อยที่สุด นั่นคือการสร้างเวลาคุณภาพภายในครอบครัวและวินัยเชิงบวก

ครูต้นอธิบายว่า วินัยเชิงบวกเป็นสิ่งที่พ่อแม่สามารถสร้างให้ลูกได้ตั้งแต่เล็กประมาณ 5 – 7 ปี เช่น สอนว่าเล่นแล้วเสร็จต้องเก็บของเข้าที่ อาจมีระบบรางวัลสำหรับเด็กเล็ก เช่น ให้ของรางวัล หรือพาไปกินขนม

“ถ้าเราเลี้ยงเขาโดยใช้แต่วินัยเชิงลบ ‘ถ้าไม่ทำ…แล้วจะเจอบทลงโทษอะไร’  สุดท้ายเด็กบางคนทำเพราะความกลัว พอโตเป็นวัยรุ่นหายกลัวปุ๊บ เขาจะไม่ทำทันที หรือเด็กบางคนทำเพราะจำยอม พอไม่มีพ่อแม่ เขาเลือกแอบซ่อนไม่ทำแทน หรือเด็กบางคนกลัวสุดๆ ถ้าเรื่องไหนโกหกได้ เขาพร้อมที่จะโกหก เกิดปัญหาบุคลิกภาพตามมา เพราะความเชื่อว่า ‘ดุด่าว่าเสียงดัง แล้วเด็กจะเชื่อฟัง ทำตาม’ ”

“การให้ความรู้ความเข้าใจในกระบวนการเลี้ยงเด็ก ต้องเริ่มตั้งแต่ทัศนคติต่อการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน คนวัยไหนเราควรดูแลเขายังไง อาจจะไม่ต้องทำให้สมบูรณ์แบบ แค่เข้าใจ ทำเท่าที่เราทำได้ ผมเชื่อว่าการมานั่งตามแก้ปัญหาตอนปลายจะน้อยลง”

คำกล่าวที่ว่า ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ อาจไม่จริงเสมอไป ถ้าสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวเขา ช่วยทำให้ช่วงเวลาที่อาจยากลำบากนั้นง่ายขึ้นเพราะเขาไม่โดดเดี่ยว ไม่ทำให้ช่วงวัยรุ่นที่ควรเป็นวัยแห่งความเบิกบาน ต้องเหี่ยวเฉาและกลายเป็นผู้ใหญ่ที่หมดแรงกับโลกใบนี้


Writer

Avatar photo

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ชีวิตอยู่ได้ด้วยซัมเมอร์ ทะเล และความฝันที่จะได้ทำสิ่งที่เป็นความสุขตลอดไป

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts