ปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งศรัทธาและคุณธรรม ให้เติบโตในใจเด็กปฐมวัยด้วย ‘นิทาน’ และ ‘คำภีร์อัลกุรอาน’

ไปกับ ผศ.ดร.สรินฎา ปุติ หนึ่งในคณะกรรมการเครือข่ายศูนย์ประสานงานส่งเสริมการอ่านชายแดนใต้ (เครือข่ายพลังอ่านชายแดนใต้) ผู้อยู่เบื้องหลังโครงการส่งเสริมการอ่านในเด็กปฐมวัยสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

“ตอนเด็กๆ การอ่านนิทาน แทบจะไม่ได้อยู่ในความทรงจำเลย” ผศ.ดร.สรินฎา ปุติ อาจารย์ ‘ผู้สร้างครูปฐมวัย’ จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เริ่มเล่าเรื่องการอ่านในวัยเยาว์ให้เราฟัง

“แต่สิ่งที่จำได้ดีคือ เสียงของแม่ที่อ่านหนังสือเกี่ยวกับเซอลามัต ฮารีรายอ เราจำสองประโยคที่บอกว่า “ตื่น ตื่นเร็ว วันนี้ฮารีรายอแล้ว” ได้ขึ้นใจ เสียงและภาพจากความทรงจำเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ยังคงชัดเจน ราวกับเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน

อาจารย์เล่าว่า ทุกครั้งที่ใกล้เข้าวันฮารีรายอ อาจารย์จะโทรไปคุณแม่ แล้วคุยกันถึงหนังสือเล่มเก่าอย่างสนุกสนาน ได้นึกถึงช่วงเวลาดีๆ ที่สอดคล้องไปกับหลักความเชื่อทางศาสนาอิสลาม และวิถีของชาวมุสลิมเรื่อยมา

เสียงปลุกของแม่ดังขึ้นอีกครั้ง “ตื่น ตื่นเร็ว วันนี้ฮารีรายอแล้ว”

… ตื่นแล้ว ตื่นแล้ว ฉันตื่นแล้ว ปลุกฉันแล้ว ฉันต้องทำ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า แบบเหมือนในหนังสือนิทาน เพราะฉันคือเด็กคนนั้นไง คนที่อยู่ในหนังสือน่ะ ฉันเป็นเด็กน่ารักแบบในหนังสือเลยนะ…

และแล้วเรื่องราวความน่าสนใจของการอ่านนิทาน พลังของนิทาน ความเชื่อและศรัทธาในศาสนาอิสลาม รวมทั้งการอ่านคำภีร์อัลกุรอานในทุกๆ วัน จะสามารถสร้างเมล็ดพันธุ์ที่ดีงามให้เติบโตในใจของเด็กหญิงในวัยเยาว์ สู่อาจารย์สรินฎา และเด็กปฐมวัยชาวมุสลิม ในทุกวันนี้ได้อย่างไร – คำตอบอยู่ที่นี่แล้วค่ะ

หนังสือนิทาน เซอลามัต ฮารีรายอ หนูน้อยหมวกแดง และฉันคือเด็กน่ารักคนนั้น 

เซอลามัต ฮารีรายอ คือความงดงามในใจของอาจารย์สรินฎาเสมอ

อาจารย์เล่าว่า “ในช่วงถือศีลอด ก็จะมีเสียงแม่ เสียงพ่อ บอกให้ตื่น ตื่น ตื่นเร็ว วันนี้ฮารีรายอแล้ว พอครบสามสิบวันก็จะมีเทศกาลรื่นเริง จะมีเสื้อผ้าใหม่ รองเท้าใหม่ ได้กิน ‘เกอตูปัต’ ข้าวเหนียวสามเหลี่ยมห่อใบกะพ้อ ก็เป็นบรรยากาศที่อยู่ในหนังสือและเป็นวิถีของเราด้วย ในช่วงวันตรุษอิสลาม”

แม้ว่าที่บ้านแทบจะไม่มีหนังสือนิทานเลย แต่อาจารย์กลับจดจำเรื่องเล่าดีๆ ได้จากคุณแม่ และได้ฟังเรื่องราวน่ารักๆ อย่าง ‘หนูน้อยหมวกแดง’ จากคุณครูที่โรงเรียน เรื่องเล่าและนิทานมีอิทธิพลต่อหัวใจ และตัวตนในวัยเยาว์ของอาจารย์เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังถอดความนำสิ่งๆ ที่ได้จากหนังสือสองเล่มนั้น นำมาสอนลูกสอนหลานต่อได้

“เวลาที่เราฟังนิทานหรือเรื่องเล่าจากพ่อแม่ มันเหมือนว่า เราเป็นเด็กคนนั้น มันคือตัวตนของเราในหนังสือเล่มนั้น หนังสือเรื่อง เซอลามัต ฮารีรายอ มันคือฉัน ที่ต้องตื่นขึ้นมา ปลุกฉันแล้วฉันก็ต้องทำต่อตามแบบในหนังสือ”

เราชวนอาจารย์คุยต่อว่า มันคือฉัน แปลว่า ทำให้อาจารย์ในวันนั้นมีความกระตือรือร้นทำสิ่งเหล่านั้นด้วยตัวเอง อยากเป็นคนดีแบบนั้น อยากเป็นเด็กน่ารักแบบนี้ ใช่หรือเปล่า – อาจารย์ยิ้มพร้อมพยักหน้าแทนคำตอบ 

หนังสือนิทานภาษาอังกฤษชุดแรก 20 เล่ม ราคา 7,000 บาท กับลูกทั้ง 7 หลานทั้ง 5 และกำไรที่ได้ ‘เกินคุ้ม’

แม้วัยเด็กของอาจารย์จะไม่มีหนังสือให้จับจอง แต่เมื่อวันที่เป็นคุณแม่ อาจารย์จึงยอมลงทุนเพื่อให้ลูกๆ ได้มีหนังสือนิทานไว้จับต้อง ฟัง ดู ไว้เรียนรู้ และส่งเสริมทักษะชีวิตในด้านต่างๆ เพราะอาจารย์เห็นแล้วว่า คุณค่าของการอ่านและฟังนิทานมันมีความสุข และอบอุ่นหัวใจมากแค่ไหน

อาจารย์เล่าว่า “จำได้แม่นเลยว่า เราซื้อหนังสือชุดแรกเป็นภาษาอังกฤษมีทั้งหมด 20 เล่ม ให้กับลูกคนโต และคุยกับพี่เลี้ยงของลูกว่า ให้นำหนังสือมาสอนและอ่านให้ลูกของเราฟังด้วยนะ แล้วสอนวิธีการใช้หนังสือให้กับพี่เลี้ยง แต่ช่วงเวลาก่อนนอน จะเป็นเรา ที่ต้องอ่านนิทานให้ลูกฟังเสมอ

“แล้วภาพที่ประทับใจมากๆ เกิดขึ้นกับลูกคนแรกคือ ลูกตื่นนอนขึ้นมา ไม่มีเสียงร้องสักนิด เขาคลานไปที่มุมหนังสือ แล้วหยิบหนังสือขึ้นมาดู เปิดดูไปเรื่อยๆ เราเห็นแล้วประทับใจมาก แสดงว่า ได้ผล”

หนังสือชุดเดิมกับลูกทั้ง 7 คน ยังได้ผลลัพธ์ที่ดีเกินคุ้ม อาจารย์เล่าว่า ตอนเด็กๆ ลูกทั้งเจ็ดคนจะมีบุคลิกและท่าทางบางอย่าง คล้ายถอดออกมาจากตัวละครในหนังสือ และช่วงหลังอาจารย์ได้นำคำภีร์อัลกุรอาน ที่มีเรื่องเล่าของศาสดาที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ในสมัยนั้น ถอดออกเป็นเรื่องราว เล่าให้ลูกฟัง ซึ่งมีส่วนช่วยฝึกฝนให้ลูกรู้จักความอดทน ความพยายาม และความมีเมตตาได้เป็นอย่างดี

“เราสอนทักษะเหล่านี้ให้กับลูกๆ ผ่านเรื่องเล่าจากในคำภีร์อัลกุรอาน อย่างเรื่อง ความอดทนของนบี (ผู้เผยพระวจนะในศาสนาอิสลาม) อดทนยังไงบ้าง เวลาลูกทำอะไรไม่ได้ เอ..นบีบอกว่ายังไงนะ ต้องอดทนนะ ต้องพยายามและไม่ย่อท้อกับเรื่องนี้นะ ต้องไปต่อนะ ซึ่งลูกก็จะจำได้และนำไปใช้ด้วย”

การอ่านนิทาน ยังคงดำเนินต่อไป และได้ผลมาจนถึงรุ่นหลาน ทั้ง 5 คน

“อย่าง หลานสามขวบ เป็นวัยโกรธที่ง่าย ซึ่งเป็นตามธรรมชาติ แต่เราก็จะใช้สอนเขาผ่านหนังสือนิทานเรื่อง รู้จักอารมณ์ เราจะอ่านและคุยกับเขา ด้วยการตั้งคำถามว่า เอ… ในหนังสือเล่มนั้น บอกว่า แบบนี้คืออารมณ์อะไร สีอะไรนะ แล้วเด็กจะนิ่งก่อน เหมือนกำลังนึกถึงหนังสือ วิธีนี้จะทำให้เด็กสงบง่ายกว่าการที่เราบอกให้เด็กนิ่ง แต่เราหยิบยกหนังสือนิทานขึ้นมา ก็จะทำให้เขารู้จักอารมณ์ และช่วยในการควบคุมอารมณ์ของหลานได้ดีมาก”

‘อิกเราะฮ์’ (จงอ่าน) กับการอ่านนิทานให้ลูกฟัง ผลบุญ และผลลัพธ์ ที่มีคุณค่าเช่นเดียวกัน

เราถามอาจารย์สรินฎาด้วยความไม่รู้ว่า เรื่องการอ่านคำภีรอัรกุลอาน กับการอ่านนิทาน คือการอ่านเหมือนกันหรือไม่ อาจารย์ยิ้มและอธิบายให้เราฟังว่า

“อันดับแรก การอ่านคำภีร์อัลกุรอานคือ ผลบุญที่เราได้ เหมือนการสะสมผลบุญให้กับตัวเองด้วยการอ่าน หนึ่งพยางค์คือหนึ่งผลบุญ ซึ่งพระเจ้าก็ไม่ได้บังคับ แต่ต้องอ่าน อ่านเพื่อเสริมศรัทธา เพื่อให้ได้ใกล้ชิดกับพระเจ้า และยังมีคำว่าอิกเราะฮ์ หรือจงอ่าน อยู่ในบทแรกของคำภีร์อัลกุรอาน แสดงว่าพระเจ้าให้ความสำคัญเรื่องการอ่านเป็นอย่างมาก  

“เราสามารถใช้เรื่องเล่าที่อยู่ในคำภีร์อัลกุรอาน มาเป็นนิทานให้กับลูกได้ แต่อ่านแล้วต้องสร้างศรัทธาได้ สอนแล้วต้องมีศรัทธา เมื่อมีศรัทธาในพระเจ้าก็จะมีวิถีที่ถูกต้อง คือจุดหลักของมุสลิม หนังสือต่างๆ ก็สามารถสร้างเด็กได้ เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่จะต้องเชื่อมไปถึงพระเจ้าให้ได้”

เพราะการอ่านนิทานให้ลูกฟังเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าเด็กๆ จะนับถือศาสนาอะไร หรือพูดภาษาอะไร เด็กปฐมวัยทุกคนควรได้ฟังนิทานจากคนในครอบครัว เพื่อให้พวกเขาเติบโตได้อย่างงดงาม

“ถ้าครอบครัวเห็นความสำคัญเรื่องของการอ่านและการเล่นกับลูก เพียงแค่ 15 – 30 นาที จะสร้างลูกในอนาคตได้ หรือพยายามอ่านจากเรื่องเล่าก็ได้ อ่านด้วยคุยได้ คุยกับลูกแบบสนุกๆ แต่ทั้งหมดต้องมีความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่อิสลามเราให้ความสำคัญมาโดยตลอด”

เมล็ดพันธุ์แห่งศรัทธา และความมหัศจรรย์ของหนังสือนิทาน  

“หนังสือนิทานคือ เมล็ดพันธุ์แห่งศรัทธาและคุณธรรม ที่จะไปเติบโตในใจเด็ก และจะเป็นรากฐานเมื่อเติบใหญ่ วันที่เด็กๆ ต้องออกไปอยู่อื่น อยู่ในที่ที่ไม่มีคุณพ่อคุณแม่ เขาจะรู้ว่า สิ่งใดควรทำหรือสิ่งใดไม่ควรทำ แม้จะอยู่ไกลจากแม่ เขาก็จะไม่ไปในทางที่ไม่ถูกต้อง และสิ่งเหล่านี้ปลูกฝังได้ตั้งแต่ปฐมวัย” นี่คือความเชื่อมั่นของอาจารย์สรินฎา

เมล็ดพันธุ์น้อยๆ ค่อยๆ เติบโตจากการเล่าเรื่องหรืออ่านนิทานให้ลูกฟัง อาจารย์บอกว่า หากสังเกตดีๆ จะพบกับความมหัศจรรย์บางอย่าง

“นัยน์ตาของเด็กจะมีจินตนาการ เราเห็นสิ่งเหล่านี้จากหลานวัยสี่ขวบ ตอนนั้นถามหลานว่า ตอนที่ยายอ่านนิทานให้ฟัง ลูกกำลังคิดอะไร หลานก็ไม่ได้ตอบอะไร แต่วันรุ่งขึ้นมีคำศัพท์ใหม่ๆ ออกมาให้เราได้ยิน เช่น คำว่า ตัวเล็กกระจิดริด ซึ่งเราก็งงว่า รู้จักคำนี้ได้ยังไง นึกขึ้นได้ว่า มาจากในนิทานที่เพิ่งอ่านให้ฟังเมื่อคืนนั่นเอง และนี่คือพลังของนิทาน

“สำหรับชาวมุสลิม เราจะสอนผ่านนิทาน เพื่อให้ไปสู่การเป็นผู้ที่มีศรัทธา การสอนต้องเชื่อมโยงพระเจ้า ไม่ว่าจะสอนด้วยนิทาน เรื่องเล่า หรืออะไรก็ตามแต่ จะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เชื่อมโยงไปถึงพระเจ้า ให้ไปเป็นเมล็ดพันธุ์ในใจของเขา ทำให้เขาเติบโตเป็นคนดีของสังคม และเป็นคนดีในสายตาของพระเจ้า” 

ความหลากหลายของหนังสือนิทาน ช่วยให้เมล็ดพันธุ์น้อยๆ เติบโตเป็นอย่างดี

จากเป็นผู้ตั้งคำถาม ช่วงหลังเราเป็นผู้เล่าบ้าง เราแชร์ประสบการณ์ให้อาจารย์สรินฎาฟังว่า

“เราเองเป็นคนพุทธ ไม่ค่อยได้มีโอกาสอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับอิสลามสักเท่าไหร่ จนวันหนึ่งมีได้โอกาสสัมภาษณ์ครูมู – ชัยฤทธิ์ ศรีโรจน์ฤทธิ์ แล้วได้ให้หนังสือนิทานเรื่อง ‘มูไม่กินหมู’ มาให้ลูกชายวัยอนุบาล หลังจากที่อ่านให้ลูกฟัง เขาดูสนใจและชอบเรื่องราวเป็นอย่างมาก เขาเชื่อมโยงไปกับเพื่อนชาวมุสลิมในห้องของเขา จากนั้นเราก็เลยชวยคุยเรื่องศาสนาอิสลามและเพื่อนชาวมุสลิมกับลูกต่อได้”

หลังจากนั้น เราจึงถามอาจารย์ต่อว่า “ในมุมมองของอาจารย์คิดว่า ความสำคัญของการที่เด็กปฐมวัยได้ฟัง ได้อ่านหนังสือนิทานที่หลากหลาย ดีต่อเด็กๆ ยังไงบ้างคะ”

อาจารย์ตอบว่า “เป็นคำถามชวนคิดที่น่าสนใจมากเลย อย่างแรกเด็กจะเข้าใจวัฒนธรรมของคนอื่น ให้เขาได้รู้วัฒนธรรมของผู้อื่นว่าเป็นอย่างไร ในเด็กปฐมวัยจะมีทฤษฎีทางจิต (Theory of Mind) เขาจะเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น นอกจากจะเข้าใจความรู้สึกของตัวเองแล้ว เขาต้องเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นด้วย การใช้หนังสือนิทานที่หลากหลาย ก็จะทำให้เขาเข้าใจความรู้สึกของคนต่างวัฒนธรรม หลักสำคัญคือ คุณพ่อ คุณแม่ และคุณครู จะสอนเด็กๆ ให้เห็นถึงความหลากหลายตรงนี้ได้อย่างไร” 

อาจารย์สรินฎาตั้งคำถามค้างไว้ ก่อนยกตัวอย่างขึ้นมาว่า “อย่างเรื่องการไหว้ หลานที่บ้านจะสลามหรือจับมือทักทายมาตั้งแต่เด็ก แต่เราก็จะสอนหลานเสมอว่า เวลาหนูเจอคนที่ไม่ใช่มุสลิม ต้องไหว้ หลานก็สงสัย เราก็ตอบว่า ไหว้ผู้ใหญ่ได้ แต่กราบไม่ได้ เพราะอิสลามห้ามกราบ เราก็สอนผ่านหนังสือที่มีอยู่ เมื่อก่อนไม่ไหว้เลย แต่เดี๋ยวนี้เขาก็ไหว้แล้ว”

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า นอกจากตัวนิทานเองจะได้ผลแล้ว ความหลากหลายของนิทานยังเป็นเรื่องจำเป็นที่เด็กปฐมวัยทุกคนควรได้รับ อาจารย์พยักหน้าแล้วอธิบายต่อว่า

“เราเชื่อว่า พอเราใช้หนังสือที่หลากหลาย คำศัพท์ของเด็กก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ส่วนเด็กในพื้นที่ที่ใช้หนังสือบริบทเดียว ก็จะได้เพียงคำศัพท์ที่ใกล้เคียงกัน แต่หากเด็กๆ ได้อ่านได้ฟังจากหนังสือนิทานแปล ที่มีการใช้คำที่ต่างกัน ผู้แต่งใช้คำที่ไม่เหมือนกัน แต่ความหมายเหมือนกัน ตรงนี้ล่ะ ที่ทำให้เด็กๆ ได้คำศัพท์เยอะมาก”

ว่าด้วยเรื่องของหนังสือนิทานที่อ่านไม่ได้

อาจารย์สรินฎาได้วนกลับมาเรื่องที่เราชวนคุยจากนิทานเรื่องมูไม่กินหมูอีกรอบ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าขยายความต่ออีกสักนิด อาจารย์บอกว่า พอมีหนังสือเล่มนี้ ก็ทำให้เด็กที่นับถือศาสนาอื่นๆ เข้าใจเพื่อนที่เป็นมุสลิม แต่เรื่องหมูกับคนมุสลิม บางคนอาจจะไม่สะดวกใจที่จะพูดถึงเท่าไหร่นัก

“บางคนไม่เอาเรื่องหมูมาพูดเลย อย่าง นิทานเรื่องหมูสามตัว ก็ไม่อ่าน อิสลามพูดเรื่องหมูไม่ได้ แต่เราสอนลูกหลานของเราได้ว่าจริงๆ แล้วอิสลามกินหมูไม่ได้ แต่เพื่อนๆ ที่ไม่ใช่มุสลิม เขาก็กินนะ ส่วนหมูที่อยู่ในนิทานคือตัวละครที่เราสามารถคุยได้ พูดได้ สอนได้ เพียงแค่ว่า ไม่ไปแตะและไม่กินเท่านั้นเอง”

“ส่วนเรื่อง LGBTQ อิสลามห้าม ถือเป็นบาป แต่เราสามารถสอนได้นะ อ่านได้ ขึ้นอยู่กับวิธีการสอนของพ่อแม่ เราบอกให้ลูกรู้ได้ทุกเรื่อง แล้วเด็กๆ ก็จะมีคำถามเกิดขึ้น เช่น ทำไมคนอื่นทำได้ ยกตัวอย่าง หลานชอบถามว่า พอออกไปข้างนอก ถามว่า ทำไมคนนั้นไม่คลุมผม เราก็บอกว่า เขาไม่ใช่อิสลาม ศาสนาของเขาไม่ได้บังคับให้คลุมผม เราก็จะสอนหลานแบบนี้ ดังนั้นการที่จะสอนเรื่อง LGBTQ ก็สอนได้ แต่ต้องย้ำให้ลูกเข้าใจว่า จะทำแบบนี้ไม่ได้

“เช่นเดียวกับหนังสืออื่นๆ ที่มีความหลากหลาย สอนได้หมดทุกเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องที่จะปฏิเสธศรัทธา หรือตั้งภาคีกับพระเจ้า หนังสือที่เป็นการตั้งภาคีกับพระเจ้า สอนไม่ได้ นี่คือหลักใหญ่ นอกนั้นใช้สอนได้หมดเลย”

  “หนังสือเล่มไหนที่อ่านแล้วเหนื่อยที่สุด” อาจารย์ถาม หลังทราบว่าเราเองก็เป็นคุณแม่ของลูกวัยอนุบาล

“ส่วนทางนี้ มีหลานวัยสองขวบ จะพูดว่า อ่าน อ่าน แล้วยื่นหนังสือเรื่องบ้านร้อยชั้น เล่มนี้ให้ ยายกลับมาจากที่ทำงานเหนื่อยๆ จะปฏิเสธหลาน ก็กลัวว่าหลานจะไม่อ่าน เลยอ่าน พออ่านเล่มนี้จบ เริ่มเล่มใหม่อีก แต่ต้องทน แม่ก็ต้องทนนะ แล้วนี่คือยาย ก็ต้องทน EF ยายต้องสูงแล้วนะ (หัวเราะ)

“สำคัญว่า ช่วงที่เขากระหาย อย่าตัด แล้วพอช่วงที่เขาไม่อยากได้ แต่เราอยากให้ ถึงต้องนั้น เราจะเสียใจ หรือตอนนี้เขาอยากให้เรากอด ก็กอดเขาให้มากๆ โตแล้วเขาก็จะค่อยๆ ห่างเราไป” อาจารย์กล่าวทิ้งท้ายไว้ให้คิด กลับไปกอด เล่น และอ่านหนังสือกับลูก – “อย่าลืม ต้องทำเป็นประจำ สม่ำเสมอและต่อเนื่องด้วยนะ” อาจารย์ยืนยัน  


Writer

Avatar photo

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล

คุณแม่ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยให้มีความสุขแบบกำลังพอดี และตัวเองก็แฮปปี้ได้ด้วย คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 14 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักเขียนและวาดนิทานเด็ก

Photographer

Avatar photo

กองบรรณาธิการ Mappa

Related Posts