กระแสชุดนักเรียนไทยที่เริ่มโด่งดังในประเทศจีน จนทำให้เกิดปรากฏการณ์นักท่องเที่ยวใส่ชุดนักเรียนเดินถ่ายรูปในเมืองไทยกันเป็นว่าเล่น กลายมาเป็นอีกหนึ่งประเด็นในปี 2566 ที่ถูกใครหลายคนนำมาพูดถึงในแง่ของ ‘ความสวยงาม’ และ ‘ความน่าภาคภูมิใจ’ ในเครื่องแบบนี้ จนเกิดเป็นกระแสที่หลายคนออกมาแชร์ถึงความประทับใจที่มีต่อเครื่องแบบนักเรียนไทย
เสียงส่วนหนึ่งกล่าวว่าข้อดีอีกอย่างหนึ่งของการมีเครื่องแบบนักเรียน คือ ‘การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในโรงเรียน’ เพราะเห็นว่าหากเด็กนักเรียนทุกคนใส่เครื่องแบบเหมือนกัน ก็จะไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นหรือฐานะทางการเงิน ไม่ต้องกังวลว่าเด็กจะถูกเพื่อนล้อหากใส่ชุดไปรเวทที่ไม่ได้มีราคาแพง หรือไม่ได้ตามเทรนด์แฟชั่นแบบคนอื่น อีกทั้งยังดูเรียบร้อยและมีระเบียบวินัย
แน่นอนว่าเมื่อมีเสียงจากฝั่งที่ประทับใจ ก็ย่อมมีเสียงจากอีกฝั่งที่มองว่าการบังคับให้สวมใส่เครื่องแบบนักเรียนไม่ได้ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำแต่อย่างใด เพราะเมื่อมีเด็กสวมใส่ชุดนักเรียนใหม่ ก็ย่อมมีเด็กสวมชุดนักเรียนเก่าซ้ำๆ อยู่หลายปี อีกทั้งฝั่งนี้ยังมองว่าควรสอนให้เด็กเข้าใจถึงความหลากหลายในสังคม เพื่อที่จะได้เติบโตไปใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเข้าใจความแตกต่างซึ่งกันและกัน
วันนี้ Mappa เลยขอรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียนไทยในปัจจุบัน เพื่อที่จะได้พาทุกท่านมาร่วมค้นหาคำตอบไปพร้อมกันว่า การบังคับแต่งเครื่องแบบนักเรียนไทยในตอนนี้ ตอบโจทย์ในแง่ของการช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้จริงไหม และสิ่งที่ต้องจ่ายเพื่อแลกกับ ‘ความมีระเบียบวินัย มีเอกลักษณ์ และความภาคภูมิใจ’ นั้นมีมูลค่าเท่าไหร่บ้าง
ที่มา : https://money.kapook.com/view246023.html
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าในช่วงเปิดภาคเรียนการศึกษาใหม่ ปี 2566 ค่าใช้จ่ายเครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การเรียน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียน มีมูลค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์จากผลสำรวจในปี 2565 คิดเป็นมูลค่า 2,700 ล้านบาท
ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้สอดคล้องกับผลสำรวจราคาเครื่องแบบนักเรียนในตลาด ที่มีราคาสูงขึ้นเฉลี่ย 20 เปอร์เซ็นต์จากราคาเดิมในปี 2565 (ข้อมูลจาก คมชัดลึก)
ผลสำรวจราคาเครื่องแบบนักเรียนในตลาดปัจจุบัน (ปี 2566) จากคมชัดลึก พบว่าตัวอย่างราคาชุดนักเรียนในตลาด มีราคาเฉลี่ยดังนี้
- ระดับชั้นประถมศึกษา ชุดนักเรียนหญิงมีราคาอยู่ที่ 426 – 666 บาท / ชุดนักเรียนชาย ราคา 399 – 762 บาท
- ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ชุดนักเรียนหญิงมีราคาอยู่ที่ 527 – 2,131 บาท / ชุดนักเรียนชาย ราคา 498 – 2,016 บาท
ซึ่งโดยทั่วไป พ่อแม่และผู้ปกครองจำเป็นต้องซื้อชุดนักเรียนอย่างน้อย 2 – 3 ชุด เพื่อให้เพียงพอต่อการใส่ไปโรงเรียนอย่างน้อย 2 – 3 วันใน 1 สัปดาห์ และยังไม่นับรวมค่าเครื่องแบบอื่นๆ อย่างชุดพละ ชุดลูกเสือ-เนตรนารี ชุดผู้บำเพ็ญประโยชน์ ชุดยุวกาชาด ชุดกีฬาสี หรือชุดเครื่องแบบอื่นๆ ที่แต่ละโรงเรียนกำหนดให้ใส่แตกต่างกันไปในแต่ละวัน และยังมีอุปกรณ์แยกย่อยในแต่ละชุดอีกด้วย
และนี่คือสิ่งที่ผู้ปกครองต้องจ่ายและต้องแบกรับไปเรื่อยๆ จนกว่าเด็กคนหนึ่งจะเรียนจบ
คำถามต่อมาคือ
ในระหว่างเส้นทางที่เด็กคนหนึ่งกำลังเติบโต อะไรคือสิ่งที่จะการันตีได้ว่าภาระค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่ผู้ปกครองต้องแบกรับจะไม่หนักหนาสาหัสเกินไป และจะสามารถแบกเด็กคนหนึ่งให้อยู่ในระบบการศึกษาได้จนตลอดรอดฝั่ง?
ที่มา : https://unsplash.com/photos/two-women-walking-on-wet-ground-IjhrXjawihI
สิ่งหนึ่งที่อาจเป็นคำตอบของพ่อแม่ผู้ปกครองหลายคน คงเป็นการสนับสนุนและการให้ความช่วยเหลือจากรัฐที่พ่อแม่ยังคงคาดหวังและตั้งตารอ
แต่นโยบายและการให้ความช่วยเหลือจากรัฐในเวลานี้ อาจไม่ได้เป็นแรงสนับสนุนที่มาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้มากเท่าที่หลายคนหวังไว้ เพราะเมื่อกล่าวถึงแง่ของการสนับสนุนและการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองได้รับจากรัฐ เราอาจเคยได้ยินคำว่า ‘เงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน’ ซึ่งเป็นเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐาน 5 รายการหลัก ได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
ทว่าเงินอุดหนุนรายหัวก็เป็นเพียงเงินช่วยเหลือที่ยังคงไม่เพียงพอสำหรับเด็ก หากนำมาเทียบกับภาระค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
ยกตัวอย่างเช่น อัตราเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนประจำปีงบประมาณ 2566 ให้งบประมาณค่าเครื่องแบบนักเรียน ประกอบด้วย เสื้อ กางเกง กระโปรง ในอัตราดังนี้
- ระดับก่อนประถมศึกษา 325 บาท/คน/ปี
- ระดับประถมศึกษา 400 บาท/คน/ปี
- ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 500 บาท/คน/ปี
- ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 550 บาท/คน/ปี
- ระดับ ปวช. 1 – 3 ที่จัดโดยสถานประกอบการ 950 บาท/คน/ปี
นั่นหมายความว่าเงินอุดหนุนจากรัฐ ก็ยังคงไม่เพียงพอที่จะซื้อชุดนักเรียน 1 ชุด
แม้ว่าอัตราเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนนี้จะมีการปรับเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี แต่ภาวะทางเศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้ความผันผวนและความไม่แน่นอน ก็ยังคงไม่สามารถการันตีได้อีกเช่นกันว่าเงินอุดหนุนส่วนนี้จะนับเป็นการช่วย ‘แบ่งเบา’ ผู้ปกครองได้ไปอีกนานแค่ไหน
หรือท้ายที่สุดแล้วมูลค่าของเงินอุดหนุนอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยแม้แต่น้อย หากต้นทุนเครื่องแบบนักเรียนยังคงสูงขึ้นทุกปี และค่าครองชีพต่างๆ ก็ไม่มีท่าทีที่จะลดลง
ข้อมูลรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าเด็กและเยาวชนอายุ 3 – 14 ปี จำนวนกว่า 2.5 ล้านคน มีรายได้คนละไม่ถึง 2,762 บาทต่อเดือน
ส่วนข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษของ กสศ. พบว่าล่าสุดในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีนักเรียนยากจนพิเศษในระดับการศึกษาภาคบังคับ 1,307,152 คน รายได้เฉลี่ยของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษที่คัดกรองใหม่เฉพาะสังกัด สพฐ. อยู่ที่ 1,044 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นวันละ 34 บาทเท่านั้น
จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่ามีเด็กในระบบการศึกษาไทยจำนวนหลักล้านคนที่มีรายได้น้อยกว่าราคาชุดนักเรียน 1 ชุด และเด็กเหล่านี้ก็นับเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะร่วงหล่นจากระบบการศึกษา
จึงเกิดเป็นคำถามว่า หากรัฐและโรงเรียนต้องการให้เด็กทุกคนสวมเครื่องแบบนักเรียน จะมีนโยบายสนับสนุนหรือมีวิธีการใดที่ไม่สร้างภาระค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็นที่ผู้ปกครองต้องแบกรับ
ที่มา : https://unsplash.com/photos/a-group-of-people-standing-in-front-of-a-building-ymmFNRCjL_4
หรือท้ายที่สุดแล้ว การ ‘บังคับ’ ให้ทุกคนสวมเครื่องแบบนักเรียน โดยมีเหตุผลคือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ หรือเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงเกียรติยศและความภาคภูมิใจในสถาบัน อาจไม่ได้ตอบโจทย์ผู้เรียนและผู้ปกครองในสภาพสังคมปัจจุบันที่แวดล้อมไปด้วยความหลากหลาย และกำลังตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการแบกรับค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
และอาจทำให้เด็กด้อยโอกาสเริ่มร่วงหล่นจากระบบการศึกษาไทยไปโดยไม่ได้รับการเหลียวแล
อ้างอิง
https://www.komchadluek.net/quality-life/well-being/548614
https://www.eef.or.th/news-221222/