- “เมื่อไหร่ที่เราอธิบาย ความอยากรู้อยากเห็นของเขาก็ลดลง” ‘แม่ตุ๊ก’ นิรัตน์ชญา การุณวงศ์วัฒน์ แอดมินเพจ little monster และ A Mom 2 Daughters กล่าวกับ mappa เมื่อ ‘น้องจิน’ ลูกสาววัย 9 ขวบ เริ่มสงสัยและอยากรู้เกี่ยวกับเพศศึกษา
- เพราะเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือเป็นเรื่องต้องห้าม การปูพื้นฐานด้วยการพูดคุยกับลูกอย่างเป็นธรรมชาติ นอกจากช่วยให้เขารู้จักและเข้าใจร่างกายตัวเองแล้ว ยังเสริมสร้างลักษณะนิสัยพื้นฐานสำคัญต่อสังคมด้วย นั่นคือ การเคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเองและผู้อื่น
- บทความชิ้นนี้เป็นการประกอบบทสนทนาเรื่องเพศศึกษากับแม่ตุ๊ก พร้อมเสริมข้อมูลจากหนังสือ Sex education for parents คุยกับลูกเรื่องเพศศึกษา ให้เป็นวิชาที่ไม่ต้องรอครูสอน เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งให้พ่อแม่ได้เตรียมพร้อมและรับมือ ในวันที่ลูกอาจตั้งคำถามง่ายๆ แต่ตอบยากอย่าง “เด็กเกิดมาจากไหน”
เรื่องเพศศึกษาต้องคุยกับลูกตอนไหน?
อาจเป็นคำถามที่พ่อแม่ปัจจุบันนี้เริ่มสงสัยกันมากขึ้น ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป การตระหนักถึงเรื่อง ‘สิทธิ’ จึงเปลี่ยนแปลงตาม ไม่ว่าจะเป็นสิทธิมนุษยชน สิทธิในการศึกษา หรือแม้แต่สิทธิในการแต่งกาย เป็นต้น ซึ่งเรื่องเพศเองก็มีเรื่องสิทธิเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เมื่อพูดถึงเรื่องเพศแล้ว สิ่งที่ทุกคนสนใจกันมากมักเป็นเรื่องเซ็กส์ ทว่าเพศศึกษายังเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นๆ ด้วย โดยสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการรู้จักดูแลร่างกายตัวเอง เรื่องเพศยังเชื่อมโยงไปถึงลักษณะนิสัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม อย่างการเคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเองและผู้อื่น
mappa สนทนากับ ‘แม่ตุ๊ก’ นิรัตน์ชญา การุณวงศ์วัฒน์ แอดมินเพจ little monster และ A Mom 2 Daughters หนึ่งในคุณแม่ที่ไม่มองข้ามเรื่องเพศศึกษา และเริ่มสอนเรื่องดังกล่าวกับ ‘น้องจิน’ ลูกสาววัย 9 ขวบ ผ่านคลิป ‘จินเขินหนัก!! เเต่ใกล้วัยรุ่นเเล้วควรรู้ กับเพศศึกษาเบื้องต้น 🙂 | Little Monster’ ด้วยมองว่า เป็นการปูพื้นฐานให้ลูกเข้าใจร่างกายตัวเอง และเพื่อให้พ่อแม่คนอื่นๆ เตรียมพร้อมและรู้จักรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากวัยเด็กสู่วัยรุ่นของลูก
ไม่เพียงเท่านั้น อีกหนึ่งเหตุผลที่แม่ตุ๊กมองว่าการสอนเรื่องเพศศึกษากับลูกนั้นสำคัญ คือ
“เรื่องเพศเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ เรื่องเพศไม่ใช่แค่ให้ลูกเรียนรู้ว่าต้องทำอย่างไรในอนาคต แต่ยังช่วยเรื่องการรักตัวเองด้วย เพราะเมื่อไหร่ที่เรารักร่างกายของเรา หรือเข้าใจว่า next step คืออะไร จะเกิดอะไรขึ้น จะทำให้เราอยู่กับมันอย่างเป็นธรรมชาติ เราต้องปรับที่มุมมองของเราก่อนว่า เรื่องเพศไม่ใช่ dark side แต่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคน”
นอกจากสนทนากับแม่ตุ๊กแล้ว บทความชิ้นนี้ยังเสริมข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติมจากหนังสือ Sex education for parents คุยกับลูกเรื่องเพศศึกษา ให้เป็นวิชาที่ไม่ต้องรอครูสอน โดย ฟุคุจิ มามิ นักวาดภาพประกอบ และ มุราเสะ ยูคิฮิโระ ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษามาเป็นเวลานาน เพื่อเป็นแนวทางให้พ่อแม่อีกหลายครอบครัวได้เริ่มเตรียมพร้อมรับมือ และมองเรื่องเพศเป็นเรื่องปกติธรรมชาติที่สามารถพูดคุยกับลูกได้
เรื่องเพศต้องคุยกับลูกตอนไหน วัยไหนคือวัยอันควร
“เหมือนเราสมัยเด็กที่ไม่รู้จริงๆ ถ้าเป็นสมัยก่อน พ่อแม่ก็คงไม่บอกหรอก ว่าเรื่องถุงยางอนามัยใช้ยังไง เขาไม่มาสอนเราอยู่แล้ว เขาจะสอนแค่ห้ามมีเซ็กส์ก่อนวัยอันควร แต่เขาไม่ได้อธิบายว่าวัยอันควรของเขาคือเมื่อไหร่ มีอะไรกันต้องรอแต่งงาน ต้องเป็นวัยที่โตแล้วเท่านั้น ห้ามอยู่ก่อนแต่งนะ นั่นคือชุดความคิดของเขา แต่ในปัจจุบัน ลูกเราโตพอแล้ว เราจะสอนเขาเรื่อง protection ดีกว่าที่เขาไม่รู้ แล้วเขาไม่ use protection”
เพราะเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่มักหลีกเลี่ยงที่จะพูดกับเด็ก ซึ่งไม่ใช่แค่ในอดีต ปัจจุบันเองเรื่องดังกล่าวก็ยังถูกทำให้เป็นเรื่องต้องห้ามและไม่ควรพูดถึง ด้วยมองว่าเป็นของต่ำหรือสกปรก
สำหรับแม่ตุ๊กกลับมองว่า ยิ่งผู้ใหญ่อย่างพ่อแม่ที่ใกล้ชิดลูกไม่สอนเรื่องนี้ จะยิ่งทำให้เด็กๆ ต้องหาแหล่งข้อมูลอื่นด้วยตัวเอง เช่น ถามเพื่อน หรือค้นหาจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งหากเด็กได้รับข้อมูลมาผิดๆ ก็อาจเกิดความเข้าใจเรื่องเพศที่ไม่ถูกต้องได้
“การที่เขาไม่พูด มันยิ่งทำให้เราอยากจะพูดกับลูก เพราะการที่พ่อแม่ไม่พูด ไม่สอน ทำให้เขาไปหาแหล่งเรียนรู้อื่น แล้วถ้าเรียนรู้ผิดหรือเข้าใจผิด มันจะอันตราย เช่น บางเรื่องก็ถามจากเพื่อน ซึ่งบางทีเพื่อนก็ไม่รู้หรอกว่ามันถูกหรือเปล่า โตมาถึงจะรู้ว่า เออ…เราก็เข้าใจผิดไปหลายเรื่องเลยนะ อย่างเรื่อง kissing เพื่อนบอกมันเป็นการแลกเชื้อโรคและเป็นสิ่งไม่ดี แต่พอโตมาก็รู้ว่าการจูบมันก็ติดโรคได้ แต่ไม่ใช่ชุดความคิดเดิมที่ว่ามันเป็นสิ่งที่แย่ มันคือสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติในวัยที่เหมาะสม และไม่ใช่ว่าจะเกิดโรคที่น่ากลัวขนาดนั้น”
แล้วอย่างนี้พ่อแม่ควรจะสื่อสารเรื่องเพศกับลูกอย่างไร ตอนไหน หรือวัยใดจึงจะเหมาะสม?
หนังสือ Sex education for parents คุยกับลูกเรื่องเพศศึกษา ให้เป็นวิชาที่ไม่ต้องรอครูสอน แนะนำว่า
หนึ่ง พ่อแม่ต้องบอกข้อเท็จจริงกับลูกด้วยน้ำเสียงราบเรียบ เพราะเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติที่ควรคุยกันได้อย่างปกติ
สอง ไม่ยัดเยียดความคิดเห็นเรื่องเพศของตัวเองให้ลูก
สาม ตอบคำถามตอนที่ลูกแสดงความสนใจ เพราะเป็นเวลาที่เขาจดจ่อและพร้อมรับฟัง
สี่ หากมีพี่น้องคนละเพศ ถ้าเจ้าตัวไม่รู้สึกไม่ดี สามารถบอกหรือสอนไปพร้อมๆ กันได้
ห้า ตั้งแต่ชั้นประถมปลายขึ้นไป ควรให้พ่อ/แม่ที่เป็นเพศเดียวกันกับลูกเป็นคนสอน เพราะพ่อ/แม่สามารถเล่าประสบการณ์และความรู้สึกของตัวเองให้ลูกฟังได้
ส่วนวัยใดจึงจะเหมาะสม คำตอบคือ “ควรเริ่มในวัยเด็กเล็กดีที่สุด” เพราะหากไม่ได้มีการปูพื้นฐานหรือทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดคุยกันอย่างปกติมาก่อน ก็อาจเป็นเรื่องยากหรือลำบากใจที่จะพูดคุยกันระหว่างพ่อแม่กับเด็กเอง
ตัวอย่างหนึ่งที่อาจช่วยให้การพูดคุยเรื่องเพศกับลูกง่ายขึ้น เช่น การใช้สื่ออย่างซีรีส์หรือหนังเป็นตัวอย่างประกอบ ซึ่งแม่ตุ๊กเองขณะดูซีรีส์เกาหลีก็ใช้โอกาสนี้สอนลูกสาวอย่างน้องจินไปในตัว
“จริงๆ ตอนนั้นเราเปลี่ยนช่องไม่ทันด้วยค่ะ (หัวเราะ) คือเราดูซีรีส์เกาหลี มันก็จะมีฉากเลิฟซีนประมาณหนึ่ง เราก็หยุด แล้วก็บอกเขาว่า เดี๋ยวแม่จะกดเล่นนะ แล้วเราก็อธิบายต่อไปว่า ที่เขาทำแบบนี้ เพราะเขารักกัน เขามี emotional อยากกอด อยากจูบ เราก็สอนให้เขาเห็นว่ามันปกติ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเด็กวัยเขาจะมาทำอะไรแบบนี้ได้นะ แค่ให้รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้ และให้เขาเรียนรู้ว่าจะรับมือกับมันยังไง
“บางทีเราก็สอนเขาไปถึงว่า ถ้าวันหนึ่งเขามีแฟนแล้วอยากจะทำแบบนี้ You tell me ok? I will tell you how to use protection. เขาก็ถามว่า protection คืออะไร เราก็พูดไปว่า cover your penis, vaginar อะไรก็ว่าไป เขาก็โอเค that’s enough คือเมื่อไหร่ที่เราอธิบาย ความอยากรู้อยากเห็นของเขาจะลดลง เพราะมันไม่มีความคับข้องใจ ซึ่งพอความอยากรู้อยากเห็นลดลง เขาก็ไม่ไปหาช่องทางอื่น เพราะเขาได้เห็น ได้เข้าใจแล้ว แต่ถ้าเกิดเขาไปหาช่องทางอื่น อย่างน้อยเขาได้ข้อมูลจากเราแล้วว่ามันคืออะไร”
ถึงอย่างนั้นฉากบางฉากที่เกี่ยวกับเรื่องเพศก็ใช่ว่าจะเป็นการแสดงความรักเสมอไป เช่น การบังคับข่มขู่หรือขืนใจอีกฝ่าย ซึ่งถือเป็นอาญชากรรมทางเพศ ทว่าพ่อแม่เองก็สามารถสอนลูกจากฉากเหล่านี้ได้ด้วยการแสดงอารมณ์ของพ่อแม่ตามเนื้อเรื่องให้ลูกรับรู้ เพื่อเป็นคำแนะนำทางอ้อมให้เขาเข้าใจว่าพฤติกรรมดังกล่าวไม่ถูกต้องและเป็นสิ่งผิด เช่น กล่าวว่า “ไม่ได้เต็มใจ ทำไม่ได้ ห้ามทำ…!!” เป็นต้น
ดังนั้น เพื่อให้เด็กเข้าใจเรื่องเพศศึกษาอย่างถูกต้องและไม่สร้างพฤติกรรมทางเพศที่ไม่พึงประสงค์ หัวใจหลักคือ พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกรู้จักให้ความสำคัญกับร่างกายและจิตใจของตัวเองและผู้อื่น
‘พื้นที่ส่วนตัว’ จุดเริ่มต้นของการเคารพตัวเองและผู้อื่น
จากที่กล่าวไปข้างต้นว่า การคอยสอนให้ลูกรู้จักให้ความสำคัญกับร่างกายและจิตใจของตัวเองและผู้อื่น เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เรื่องเพศไม่ใช่แค่ร่างกายและสุขภาพ แต่ยังรวมไปถึงเรื่องพื้นฐานที่เป็นหัวใจของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างการเคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเองและผู้อื่นด้วย
แล้วพ่อแม่ควรเริ่มสอนลูกอย่างไรดี?
คำตอบคือเริ่มสอนจากเรื่อง ‘พื้นที่ส่วนตัว’ ซึ่งเป็นส่วนของร่างกายที่ห้ามให้คนอื่นมาจับ มาดู ได้ตามใจ แม้จะเป็นพ่อแม่เองก็ตาม เพราะตัวเขาเองเท่านั้นที่เป็นเจ้าของร่างกายทุกส่วน โดยมีทั้งหมด 4 จุด คือ ปาก หน้าอก อวัยวะเพศ ก้น เพราะเป็นส่วนที่เชื่อมต่อกับภายในร่างกาย และเกี่ยวข้องกับการตั้งครรรภ์ การคลอด ความรักและชีวิต (Sex education for parents คุยกับลูกเรื่องเพศศึกษา ให้เป็นวิชาที่ไม่ต้องรอครูสอน, หน้า 39)
แต่ในวัยเด็กเล็กที่พ่อแม่ยังต้องดูแลสามารถเป็นข้อยกเว้นได้ ทว่าการจับเล่นหรือดูพื้นที่ส่วนตัวโดยไม่จำเป็นก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ ดังนั้น การมีเส้นแบ่งให้ชัดเจนว่า นี่คือพื้นที่ส่วนตัวของลูกจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก
สำหรับแม่ตุ๊กที่มีลูกสาวถึง 2 คน เธอกล่าวว่าการเลี้ยงลูกร่วมกับสามี หากเป็นเรื่องเพศศึกษาเธอจะเป็นคนสอนมากกว่า ส่วนกิจวัตรประจำวัน อย่างการอาบน้ำให้ลูก หรือการทำความสะอาดร่างกายในช่วงที่ลูกยังเด็ก ทั้งคู่จะร่วมกันดูแล แต่เมื่อลูกเริ่มโตเป็นสาว คุณพ่อก็อาจต้องละมือลง
“เราต้องรู้ขอบเขตว่า เมื่อลูกโตเป็นสาวจะต้องเว้นระยะตามที่ควรจะเป็น ยกตัวอย่างเรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การอาบน้ำ ล้างก้น ถึงจุดหนึ่งเราก็ไม่ได้ให้พี่เหว่ง (สามี) ทำ คือไม่ใช่ว่าพ่อทำให้ไม่ได้ เราแค่อยากให้ลูกเข้าใจถูกต้องว่า ใครจับได้ ใครจับไม่ได้ เราไม่อยากให้เขาสับสนว่า ทำไมพ่อทำได้ พ่อเป็นเพศชาย แล้วผู้ชายคนอื่นจะมาทำได้ไหม
“อย่างตอนนี้เรนนี่ พ่อก็ไม่ทำให้ตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ 4-5 ขวบ จินก็ปิดห้องน้ำ อาบน้ำเองแล้ว พ่อไม่ได้ยุ่งหรือดูอะไร เหมือนพี่เหว่งรู้ค่ะว่า อายุเท่านี้พ่อต้องไม่ทำแล้ว พอลูกเริ่มโตสัก 5 ขวบ แม้จะยังเด็กในสายตาเรา แต่เขาจะรู้ของเขาเองว่าต้อง step back ในบางเรื่อง แต่บางเรื่องก็ต้องเป็นแม่ เราไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์ว่าต้อง 5-6 ขวบ พ่อไม่ต้องทำนะ ซึ่งบางบ้านเขาอาจจะ 8-9 ขวบก็ได้ มันแล้วแต่ว่าบ้านไหนจะมีกฎเกณฑ์หรือเส้นที่ขีดเอาไว้อย่างไร”
จากคำแนะนำของ มุราเสะ ยูคิฮิโระ เสนอว่า เมื่อเริ่มเห็นว่าลูกมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ที่นอกเหนือจากการหลั่งอสุจิหรือการมีประจำเดือนครั้งแรก การเริ่มมีขนบริเวณอวัยวะเพศ เสียงแตก หรือเริ่มมีหน้าอก ก็ควรแยกห้องนอนหรือแยกกันอาบน้ำ ทั้งกับพ่อแม่หรือพี่น้องต่างเพศได้แล้ว
ทั้งนี้ หากเป็นไปได้ก่อนที่ร่างกายลูกจะเปลี่ยนแปลง พ่อแม่ควรพูดคุยกันเพื่อสร้างเส้นแบ่งให้ชัดเจน เพราะเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น เขาจะมองพ่อแม่หรือพี่น้องคนละเพศเป็นเพศตรงข้าม ซึ่งเป็นกลไกทางชีววิทยาหรือกลไกของสิ่งมีชีวิต หากพ่อแม่มองข้ามเรื่องนี้ไปอาจทำให้เด็กเข้าใจผิดว่า การละเมิดพื้นที่ส่วนตัวผู้อื่นเป็นเรื่องที่ทำได้ หรือหากเขาถูกละเมิดก็จะทำให้ไม่กล้าปฏิเสธ หรือปฏิเสธไม่เป็น จนอาจตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมในที่สุด
ในมุมมองของแม่ตุ๊กเห็นว่า เรื่องเพศศึกษาหรือการสอนเรื่องพื้นที่ส่วนตัวควรเป็นเรื่องที่ต้องสอนซ้ำๆ เพราะหากลูกไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าร่างกายของเขา เขาเป็นเจ้าของ และมีสิทธิปกป้องเนื้อตัวร่างกายตัวเอง อาจมีผลต่อการมองเห็นคุณค่าและการรักตัวเองที่ลดลง
“เรื่อง sex education ตุ๊กคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องพูดซ้ำๆ เลยว่า ตอนเด็กๆ ส่วนไหนจับไม่ได้บ้าง เพราะถ้าลูกไม่รู้ แล้วปล่อยให้คนอื่นจับแล้วคิดว่าทำได้ ก็อาจจะมีผลกระทบเรื่อง self-esteem, self-worth หรือความรักตัวเอง แล้วถ้าเกิดว่าเขาไม่เห็นคุณค่าทางร่างกาย มันก็จะส่งผลกระทบกับมุมมองในเรื่องอื่นๆ ด้วย”
การวางตัวให้ห่างกับลูกเล็กน้อยจึงถือเป็นการเปลี่ยนแปลงปกติที่พ่อแม่ควรเข้าใจ โดยต้องเล็งเห็นถึงความสำคัญ นั่นคือ การรักษาความเป็นส่วนตัวของลูกให้เหมือนกับผู้ใหญ่คนหนึ่ง
เรื่องเพศศึกษาจึงไม่ใช่แค่เรื่องร่างกายและสุขภาพ แต่รวมถึงชีวิตด้วย การสอนให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ จะส่งผลให้เขากลายเป็นคนที่ยอมรับเพศและร่างกายตัวเอง อีกทั้งยังสร้างให้เขามีความมั่นใจ มีความเข้มแข็งและอ่อนโยนไปพร้อมกัน เพราะเมื่อเขามองเห็นคุณค่าในตัวเอง การเคารพตัวเองและเคารพผู้อื่นก็จะตามมา นี่คือคุณลักษณะนิสัยพื้นฐานที่ดีในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม