Simulation – การเรียนรู้ผ่านการจำลองสถานการณ์จริง

  • การจำลองสถานการณ์จริง (Simulation) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในสภาพแวดล้อมที่ออกแบบให้สมจริงและเอื้อต่อการเรียนรู้
  • ผู้เรียนสามารถนำความรู้ในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือคิดแนวทางใหม่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
  • การสะท้อนผลเป็นขั้นตอนสำคัญในการประเมินคุณภาพของการเรียนรู้ด้วยการจำลองสถานการณ์จริง 

นิยามเบื้องต้น

การจำลองสถานการณ์จริง (Simulation) หมายถึงการจำลองสถานการณ์เพื่อการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนเข้าไปอยู่ใน “โลก” ที่ผู้สอนออกแบบเพื่อจำลองความเป็นจริง ผู้เรียนจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับโลกจำลองนี้ โดยมีผู้สอนควบคุมตัวแปรต่าง ๆ และใช้เป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้เรียนบรรลุผลการเรียนรู้ ผู้เรียนจะได้เผชิญสถานการณ์ที่สมจริงและเก็บเกี่ยวความรู้จากประสบการณ์ตรง

การจำลองสถานการณ์จริงเป็นรูปแบบการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์รูปแบบหนึ่ง กลยุทธ์นี้เหมาะกับการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (student-centered) หรือทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ (constructivist) ซึ่งให้อำนาจผู้เรียนในการตัดสินใจว่าจะเรียนอะไรและอย่างไร อีกทั้งอนุญาตให้ผู้เรียนสร้างความเข้าใจต่อเรื่องดังกล่าวผ่านประสบการณ์และปฏิสัมพันธ์ มากกว่าที่จะเป็นผู้รับข้อมูลฝ่ายเดียว

ภาพจาก https://www.pexels.com/th-th/photo/8926404/

การจำลองสถานการณ์จริงมีหลายรูปแบบ โดยอาจมีองค์ประกอบร่วมกัน ได้แก่ 

  • มีการเล่นเกม
  • มีการใช้บทบาทสมมติ
  • มีการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ (อภิปรายก่อนลงมือปฏิบัติ)
  • มีกิจกรรมที่เป็นการเปรียบเปรยให้เห็นภาพ

ลักษณะเฉพาะของการจำลองสถานการณ์คือความไม่ต่อเนื่องเป็นเส้นตรงและความกำกวม ซึ่งจะจุดประกายให้ผู้เรียนคิดและตัดสินใจอย่างเสรี ความสร้างสรรค์และความจดจ่อของผู้เรียนมักถูกใช้เป็นปัจจัยบ่งชี้ความสำเร็จของการจำลองสถานการณ์นั้น ๆ

ทำไมต้องจำลองสถานการณ์

การจำลองสถานการณ์จริงจะกระตุ้นการคิดเชิงวิพากษ์และประเมินผล สถานการณ์ส่วนมากจะมีความกำกวมและปลายเปิด กระตุ้นให้ผู้เรียนขบคิดความหมายโดยนัยของสถานการณ์นั้น ๆ สถานการณ์ต่าง ๆ มักมีความสมจริง ทำให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมและปฏิสัมพันธ์ต่อสภาพแวดล้อม

การจำลองสถานการณ์จริงช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ทั้งแนวคิดและการประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน ผู้เรียนมักจะรู้สึกร่วมไปกับการเรียนรู้มากกว่ากิจกรรมแบบอื่น เพราะเป็นการเจอกับสถานการณ์โดยตรง

การจำลองสถานการณ์จริงจะส่งเสริมผู้เรียนให้เห็นคุณค่าของการจัดการสถานการณ์ ทางการเมือง ชุมชนและวัฒนธรรม เช่น เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมแจกสิ่งของจำเป็น เขาอาจเข้าใจเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น การจำลองสถานการณ์จริงจะสร้างเสริมทักษะอื่น ๆ โดยอ้อม เช่น ทักษะการโต้วาที การค้นคว้าข้อมูล เป็นต้น

ปัญหาที่พบบ่อย 

การพัฒนาคุณภาพของประสบการณ์การเรียนรู้ต้องอาศัยทั้งเวลาและทรัพยากร อีกทั้งการประเมินผู้เรียนในการจำลองสถานการณ์จริงมีขั้นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อนกว่าวิธีการเรียนการสอนรูปแบบอื่น อีกอย่างหนึ่งคือ การจำลองสถานการณ์จริงนั้นสมจริง จนบางครั้งผู้เรียนอาจหลงลืมจุดประสงค์ในการเรียนรู้ไปในระหว่างกระบวนการ

หากการจำลองสถานการณ์จริงมีการแข่งขันเข้ามาเกี่ยวข้อง ควรมีการเตือนผู้เรียนอยู่เสมอว่าเป้าหมายหลักคือการเรียนรู้และทำความเข้าใจ ไม่ใช่การเอาชนะ

ภาพจาก https://www.pexels.com/th-th/photo/8364026/

แนวทางการจัดการเรียนการสอนด้วยการจำลองสถานการณ์จริง

ในการจำลองสถานการณ์จริงที่มีชุดตัวแปรควบคุม ผู้เรียนจะแก้ปัญหาโดยปรับตามสถานการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นและตระหนักรู้เกี่ยวกับสถานการณ์จำเพาะ ในบางครั้งการจำลองสถานการณ์จริงใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีหรือภายในหนึ่งชั่วโมง ทว่าบางครั้งอาจยาวนานเกินหนึ่งสัปดาห์ 

เตรียมการให้พร้อมเท่าที่ทำได้

  • กำหนดขอบเขตโดยคร่าวว่าต้องการให้ผู้เรียนเรียนรู้เรื่องอะไร แม้แต่การจำลองสถานการณ์จริงสั้น ๆ ก็ควรมีผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง 
  • ออกแบบเกณฑ์การวัดประเมินผลที่สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง 
  • แจ้งให้ผู้เรียนรู้วัตถุประสงค์ของกิจกรรมก่อนเริ่มต้น 
  • การจำลองสถานการณ์จริงเป็นเพียงส่วนนหนึ่งของการเรียนรู้ ไม่ควรใช้เป็นกิจกรรมหลักเพียงกิจกรรมเดียว
  • ออกแบบการจำลองสถานการณ์จริงให้เรียบง่ายที่สุด ตัดปัจจัยต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป เรียบง่ายดีกว่าซับซ้อน แม้บางครั้งจะทำให้สถานการณ์จำลองขาดความสมจริงไปบางส่วน
  • ก่อนเริ่มกิจกรรม ตรวจสอบความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการของผู้เรียน หากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันมากเกินไปอาจทำให้ผู้เรียนตื่นตระหนกหรือไม่พอใจได้ อาจจัดทำคู่มือให้นักเรียนอ่านประกอบ
  • คาดเดาคำถามของผู้เรียนไว้ล่วงหน้า บางครั้งการจำลองสถานการณ์จริงดำเนินกิจกรรมเร็ว การมีคำตอบเตรียมไว้จะช่วยรักษาความลื่นไหลและความสมจริงของสถานการณ์จำลอง

สังเกตการณ์กระบวนการอย่างใกล้ชิด

ผู้สอนควรสอดส่องดูแลความเรียบร้อยของกระบวนการเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจและได้ประโยชน์ ต่อไปนี้คือตัวอย่างคำถามในการตรวจสอบความเหมาะสมของการจำลองสถานการณ์จริง

  • การจำลองสถานการณ์จริงนี้สมจริงในระดับที่เหมาะสมกับผู้เรียนที่เข้าร่วมหรือไม่
  • ผู้เรียนเข้าใจจุดประสงค์การเรียนรู้หรือไม่
  • ความไม่แน่นอนหรือกำกวมของสถานการณ์อยู่ในระดับที่จัดการได้ใช่หรือไม่
  • ผู้เรียนแสดงออกว่าเข้าใจบทบาทของตัวเองหรือไม่
  • ผู้เรียนใช้กลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาหรือไม่
  • ผู้เรียนทำงานเป็นกลุ่มได้หรือไม่
  • ผู้เรียนบรรลุผลการเรียนรู้ที่คาดหวังหรือไม่
  • ผู้เรียนตอบคำถามปลายเปิดได้อย่างลึกซึ้งหรือไม่
  • จำเป็นต้องมีกิจกรรมเพิ่มเติมเพื่อให้การเรียนรู้หรือแก้ไขปัญหาและอุปสรรคหรือไม่
ภาพจาก https://www.pexels.com/th-th/photo/7579306/

พิจารณาว่าควรมีกิจกรรมเพิ่มเติมในภายหลังหรือเปล่า

ใช้กิจกรรมติดตามผล เช่น การอภิปราย การเขียนจุลสาร หรือกิจกรรมสะท้อนความคิดเห็นอื่น ๆ เพื่อประเมินว่าผู้เรียนเข้าใจวัตถุประสงค์ของการจำลองสถานการณ์จริง และใช้การสะท้อนผลเป็นตัวชี้วัดผลการปฏิบัติกิจกรรม

อ้างอิง

https://www.teaching.unsw.edu.au/simulations#:~:text=Simulations%20are%20instructional%20scenarios%20where,students%20achieve%20the%20learning%20outcomes.

https://www.baanjomyut.com/library_2/extension-2/constructivist_theory/01.htmlhttps://csrc.nist.gov/glossary/term/tabletop_exercise#:~:text=Definition(s)%3A,to%20a%20particular%20emergency%20situation.


Writer

Avatar photo

ศิริกมล ตาน้อย

อยากเกิดใหม่เป็นแมงกะพรุน

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts