- ให้เด็กรู้จักโลกแห่งการนอนมากกว่าคำอธิบายจากผู้ใหญ่กับ ‘คุณปุ๊บปั๊บ’ ในนิทานราตีสวัสดิ์นะคุณปั๊บปุ๊บและคู่มือนอนหลับฉบับคุณปุ๊บปั๊บ
- คุณปุ๊บปั๊บเปรียบเสมือนตัวแทนของเด็กคนหนึ่งที่เต็มไปด้วยความซุกซน และการละเมอออกไปผญจภัยแทบทุกคืนก็เป็นสารที่ผู้เขียนอยากบอกว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ ถ้าเพียงกล้าเดินออกจากพื้นที่ปลอดภัย
- บางทีการเป็นพ่อแม่เราไม่จำเป็นต้องทำเป็นเข้มแข็งตลอดเวลา เราสามารถมีข้อจำกัดและยอมรับข้อจำกัดนั้นกับลูกได้ และกลัวความมืดก็เป็นเรื่องที่คนวัยไหนต่างเผชิญได้ทั้งนั้น
เวลาเลือกหนังสือนิทาน เรามักมีความคิดว่าต้องเลือกเรื่องที่อ่านแล้วมีประโยชน์ มีคำสอนที่ดีให้กับเด็ก แต่จริงๆ แล้วนิทานอาจไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นผู้สั่งสอน แต่เกิดมาเพื่อเป็นเพื่อนกับมนุษย์ตัวจิ๋วที่เพิ่งลืมตาดูโลกนี้ไม่กี่ปี มนุษย์คนนี้อาจไม่ต้องการคำสอนที่ยิ่งใหญ่ แค่อยากได้เพื่อนสักคนที่เป็นเหมือนเขา คนที่สามารถแชร์ ช่วยแนะนำการใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ก็ได้
คำแนะนำอะไรที่เด็กเล็กอยากได้มากที่สุด… ให้นึกเร็วๆ คงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เขาต้องเผชิญทุกวัน อย่างเช่นการนอน ที่ผู้ใหญ่บางคนนอนหลับมาหลายสิบปี ก็ยังค้นพบเรื่องใหม่ๆ เกี่ยวกับการนอนให้เซอร์ไพรส์ได้เสมอ
ราตรีสวัสดิ์นะคุณปุ๊บปั๊บ (Hyvää yötä Herra Hakkarainen) เล่าเรื่องของ ‘คุณปุ๊บปั๊บ’ ตัวละครเอกที่เป็นแพะขี้ละเมอสุดขยันประจำเมืองตะกุยตะกาย ทุกค่ำคืนคุณปุ๊บปั๊บจะลุกเดินละเมอไปยังที่ต่างๆ ในเมือง ซึ่งบุคลิกตอนละเมอกับตอนตื่นนั้นแตกต่างสิ้นเชิง คุณปุ๊บปั๊บตอนตื่นนั้นเคร่งขรึม จะทำอะไรแต่ละอย่างต้องคิดหน้าคิดหลัง ส่วนคุณปุ๊บปั๊บเวอร์ชันละเมอจะทำทุกอย่างตามใจปรารถนา ทำให้มักมีเรื่องป่วนๆ เกิดขึ้นเสมอ แต่สุดท้ายเรื่องป่วนนั้นกลับทำให้คุณปุ๊บปั๊บกลายเป็นฮีโร่ช่วยชาวเมืองไปแทบทุกครั้ง
ไม่ต้องกลัวว่าคุณปุ๊บปั๊บตอนละเมอจะมีอันตราย เพราะสัตว์เลี้ยงคู่ใจ ‘หนูจุ๊กจิ๊ก’ หนูตะเภาที่เป็นผู้ติดตามและคอยระวังอันตรายให้กับคุณปุ๊บปั๊บในทุกค่ำคืน นอกจากหนูจุ๊กจิ๊ก คุณปุ๊บปั๊บยังมี ‘แมงมุมน้อย’ สัตว์ที่ไม่ได้เลี้ยงแต่คอยติดตามคุณปุ๊บปั๊บไปในทุกค่ำคืนเช่นกัน
คุณปุ๊บปั๊บถูกสร้างโดย เมาริ กุนนัส (Mauri Kunnas) นักเขียนและนักวาดชาวฟินแลนด์ ที่มีคำพ่วงต่อท้ายชื่อว่าแทบจะทุกบ้านในฟินแลนด์ ชั้นหนังสือของพวกเขาต้องมีนิทานของกุนนัสวางอยู่ โชคดีที่ต่อให้ไม่รู้ภาษาฟินแลนด์ เราก็สามารถอ่านนิทานเรื่องนี้ได้ เพราะทั้งสองเล่มแปลเป็นภาษาไทยโดย ครูจุ๊ย – กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
เด็กในสายตาของกุนนัสไม่ใช่คนที่ต้องเรียบร้อยเหมือนผ้าที่พับไว้ ต้องเก็บของเล่น หรือช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน เพราะธรรมชาติของเด็กเต็มไปด้วยการเล่นและความซุกซน
ตัวละครคุณปุ๊บปั๊บเลยเปรียบเสมือนตัวแทนของเด็กคนหนึ่งที่เต็มไปด้วยความซุกซน และการละเมอออกไปผญจภัยแทบทุกคืนก็เป็นสารที่กุนนัสอยากบอกว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ ถ้าเพียงกล้าเดินออกจากพื้นที่ปลอดภัย และการเล่นนี่แหละที่เป็นตัวช่วยให้เราออกจากพื้นที่เดิมๆ
ความต่างระหว่างตอนตื่นและตอนละเมอของคุณปุ๊บปั๊บเป็นกิมมิคที่สร้างรอยยิ้มให้คนอ่าน หากมองลึกๆ จะเห็นว่าคุณปุ๊บปั๊บก็เหมือนกับเราหลายคนที่พยายามทำตัวให้ฟิตในกรอบสังคม ถึงใจอยากจะทำแค่ไหน แต่ถ้าสมอง (ที่ถูกเซตโดยสังคม) บอกว่าไม่ดีคงต้องตัดใจไป แต่ความอยากนั้นยังถูกเก็บซ่อนไว้ในตัวเรา รอวันปลดปล่อยอออกมา ของคุณปุ๊บปั๊บถูกปล่อยออกมาในรูปแบบการละเมอ
เหตุผลที่ทำให้นิทานของกุนนัสกลายเป็นนิทานสามัญประจำบ้านชาวฟินแลนด์ เพราะไม่ได้ครองใจแค่เด็กๆ เท่านั้น แต่รวมไปถึงผู้ใหญ่ด้วย กุนนัสสอดแทรกวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของเขาลงไปในเรื่อง ทำให้คนวัยเดียวกันมาอ่านก็ยังเกิดจุดร่วม เช่น ชื่อวงร็อกในนิทานเป็นชื่อวงร็อกที่มีอยู่จริงๆ หรืออารมณ์ขันในเรื่องก็เป็นวัฒนธรรมของชาวฟินแลนด์ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ แจน – ณฐภัทร อุรุพงศา ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Barefoot Banana เลือกแปลนิทานเล่มนี้ เพื่อให้เด็กๆ ได้ซึมซับกับวัฒนธรรมต่างชาติ
ไม่ต้องกังวลว่าเป็นคนไทยอ่านแล้วจะไม่เข้าใจมุกคนฟินแลนด์ เพราะบางอย่างผู้แปลก็มีการปรับให้เข้ากับบริบทคนไทย เช่น เนื้อเพลงวงร็อกในเรื่อง ครูจุ๊ยปรับมาใช้เพลงไทย ‘ตาตี่ ตาตี๋ตกต้นตาล ตอตาลตำตู้ดดดดดด’ (ผู้เขียนเกิดไม่ทัน แต่ได้ทำการค้นหาก็พบว่าเป็นเนื้อเพลง ‘ตาตี๋’ ของวงคาราบาว และถามแม่พบว่าเป็นเพลงฮิตในยุคนั้น) นิทานเรื่องนี้ก็กลายเป็นประตูที่เปิดให้ผู้ใหญ่และเด็กได้เชื่อมกันด้วยการแชร์ช่องว่างระหว่างวัย
ราตรีสวัสดิ์นะคุณปุ๊บปั๊บไม่ได้บินมาไทยคนเดียว แต่พาเพื่อนที่ชื่อว่า คู่มือนอนหลับฉบับคุณปุ๊บปั๊บ (Hurjan hauska unikirja) มาด้วย หากราตรีสวัสดิ์นั้นทำให้เรารู้จักกับโลกแห่งการผจญภัยของคุณปุ๊บปั๊บ นิทานเล่มนี้ก็เล่าเรื่องโลกแห่งการนอนให้เราฟัง เนื้อหาก็สมกับชื่อว่าเป็นคู่มือที่เล่าตั้งแต่การนอนนั้นสำคัญไฉน กิจวัตรที่คนมักทำก่อนนอน จนไปถึงทำไมบางคนถึงมีปัญหานอนไม่หลับ และมีใครบ้างที่ไม่สามารถหลับในตอนกลางคืน เช่น ผู้รักษาความปลอดภัย นักบิน เรียกว่าทำให้เด็กเข้าใจโลกแห่งการนอนไปมากกว่าพื้นที่เตียง
‘นอน’ กลายเป็นเรื่องทั่วไปสำหรับผู้ใหญ่เมื่ออายุและประสบการณ์มากขึ้น หลงลืมความรู้สึกครั้งวัยเยาว์ที่เราเองก็มีปัญหาการนอน กลัวสิ่งต่างๆ จนหลับเองไม่ได้ นั่นอาจสิ่งที่เด็กๆ ของเรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
คู่มือเล่มนี้หยิบยกปัญหาที่เด็กมักเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นกลัวการนอนคนเดียว กลัวความมืด หรือกลัวสิ่งที่เกิดจากจินตนาการตัวเอง แต่การเล่าปัญหาไม่ได้เล่าผ่านตัวละครเด็ก แต่เป็นผู้ใหญ่ ‘คุณเป็กกา’ พ่อหมูที่ต้องนอนคนเดียวเพราะภรรยาไม่อยู่บ้าน เขากลัวการนอนคนเดียวที่สุด เพราะเสียงประหลาดที่ได้ยินเป็นระยะๆ และเงาตะคุ่มมุมห้อง จนมีเสียงฝีเท้าจากนอกห้องดังเข้ามาเรื่อยๆ จนมาหยุดที่ประตูห้องคุณเป็กกา
“พ่อครับ คืนนี้พ่ออยากมานอนกับพวกเราไหม” เป็นแวร์เนอร์ลูกของเขานั่นเอง ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่อยากคีพลุคเป็นคุณพ่อที่เข้มแข็งให้ลูกๆ คงจะปฏิเสธ แต่คุณเป็กกาเลือกที่จะตอบรับคำเชิญลูก ทำให้คืนนั้นเขานอนหลับได้อย่างสบายใจ
บางทีการเป็นพ่อแม่เราไม่จำเป็นต้องทำเป็นเข้มแข็งตลอดเวลา เราสามารถมีข้อจำกัดและยอมรับข้อจำกัดนั้นกับลูกได้ และกลัวความมืดก็เป็นเรื่องที่คนวัยไหนต่างเผชิญได้ทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือผิดปกติ เราก็แค่ต้องหาวิธีรับมือต่อไป
‘ความฝัน’ อาจเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่มักมองข้าม เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไม่จริง หรือไม่รู้จะอธิบายให้ลูกฟังอย่างไรดี คู่มือเล่มนี้ก็หยิบยกมาพร้อมให้คำอธิบายไว้ ตั้งแต่ความฝันคืออะไร มีแบบไหน ไปจนถึงฝันร้าย และวิธีเอาชนะฝันร้ายนั้น บางทีคำอธิบายให้เด็กฟังในเรื่องยากๆ อาจหาคำตอบได้จากนิทาน
อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า นิทานไม่ใช่ผู้สั่งสอน แต่เป็นเพื่อนๆ ของเด็กคนหนึ่ง ครูจุ๊ยในฐานะคนแปลนิทาน ให้ความเห็นไว้ว่า หลายครั้งเด็กไม่รู้ว่าจะบอกความรู้สึกตัวเองอย่างไร หนังสือ คือ เพื่อนคนหนึ่งที่บอกว่ามีคนที่เป็นเหมือนเขา รู้สึกเหมือนเขา มีความกลัว ละเมอเหมือนกัน แม้จะอยู่อีกซีกโลกหนึ่ง
“มันสอนเรื่องพื้นฐานที่สุดว่า มนุษย์เราแตกต่างแค่ไหนก็มีจุดร่วมเสมอ เรื่องนี้หยิบการนอนที่เป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ ความรู้สึกกลัวความมืด นอนละเมอ เป็นเรื่องปกติ แต่บางทีคำอธิบายจากพ่อแม่ก็ยากไปสำหรับเด็ก แต่ถ้ามันถูกเล่าผ่านนิทานด้วยตัวละครตลกๆ อาจสื่อสารกับเขาง่ายขึ้น”
ถ้าคืนนี้ยังไม่มีนิทานเล่มนี้ก็ไม่เป็นไรนะ ลองหยิบนิทานใกล้ตัวมาอ่านกับลูก หรือชวนเขาคุยเรื่องการนอนก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีนะ
ราตรีสวัสดิ์!
ชื่อตัวละครในนิทานถูกนำเสนอ 3 แบบ แบบที่หนึ่ง – ตั้งชื่อภาษาไทย เช่นชื่อของคุณปุ๊บปั๊บ ที่ต้นฉบับใช้ชื่อว่า Herra Hakkarainenเพื่อให้คนอ่านเข้าใจง่ายและเป็นที่จดจำ ครูจุ๊ยตั้งชื่อภาษาไทยแทน ชื่อมีที่มาจากบุคลิกคุณปุ๊บปั๊บที่ชอบ ‘ปุ๊บปั๊บ’ ตื่นตอนกลางคืน แบบที่สอง – แปลจากชื่อ เพราะชื่อคนฟินแลนด์จะมีความหมายในตัว เช่น คุณทะเลสาบ นามสกุลถนนยาว และแบบสุดท้าย ใช้ชื่อที่แปลในเวอร์ชันภาษาอังกฤษ เช่น พอลลี่ เอลล่า |