Neurodiversity : เพราะ ‘แตกต่าง’ ไม่ใช่ ‘บกพร่อง’ เมื่อความหลากหลายของระบบประสาท สวยงามไม่ต่างจากความหลากหลายแบบอื่นๆ

  • Neurodiversity คือศัพท์ทางสังคมวิทยาที่ใช้บรรยายความแปรปรวนตามธรรมชาติของการทำงานของสมองและพฤติกรรมมนุษย์ 
  • แนวคิด Neurodiversity มองว่าความหลากหลายทางระบบประสาท เช่น คนออทิสติก กลุ่มดิสเล็กเซีย กลุ่มสมาธิสั้น และกลุ่มอื่นๆ ที่อาจจะแสดงออกแตกต่างจากคนส่วนใหญ่นั้น ไม่ใช่ความบกพร่อง แต่เป็นเพียงความแตกต่างเท่านั้น
  • การสนับสนุนกลุ่ม Neurodivergence เองก็ไม่ต่างจากการสนับสนุนความหลากหลายในด้านอื่นๆ นั่นคือการเริ่มจากการทำความเข้าใจ ลดการตีตรา สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและเคารพในความแตกต่างของพวกเขาเท่านั้นเอง

ในช่วงไม่กี่ปีให้หลัง คำว่า ‘ความหลากหลาย’ หรือ ‘diversity’ เป็นหนึ่งในคำที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่บ่อยๆ และเมื่อได้ยินคำว่า ‘ความหลากหลาย’ ในหัวหลายๆ คนก็คงจับคำนี้เชื่อมโยงกับเพศ เชื้อชาติ ความเชื่อในทันที แต่ที่จริงความหลากหลายยังหมายถึงการมีอยู่ของความแตกต่างหลากหลายในด้านอื่นๆ ตั้งแต่เรื่องยิบย่อยที่สุดอย่างความรักความชอบที่มีต่อบางสิ่งบางอย่าง ไปจนถึงมุมมองความคิดเห็นที่มีต่อบางเรื่องราวด้วยประสบการณ์ที่แตกต่างกันไปของแต่ละคน

นอกจากนั้นยังมีความหลากหลายอีกแบบหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือ ‘ความหลากหลายทางระบบประสาท’ หรือ ‘neurodiversity’ ที่แม้จะเป็นเรื่องของระบบประสาท คำคำนี้ก็ไม่ใช่ศัพท์ทางการแพทย์หรือทางการวินิจฉัยแต่อย่างใด หากแต่คือการขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อความเท่าเทียมอีกด้านหนึ่ง เหมือนแนวคิดเรื่องความหลากหลายอื่นๆ นั่นเอง 

Neurodiversity คืออะไร

สารานุกรมบริแทนนิกา นิยาม ‘Neurodiversity’ ไว้ว่าเป็นศัพท์ทางสังคมวิทยาและจิตวิทยาที่ใช้บรรยายความแปรปรวนตามธรรมชาติในการทำงานของสมองและพฤติกรรมมนุษย์ โดยมองว่าอาการอย่างออทิสติก ดิสเล็กเซีย หรือสมาธิสั้นเป็นเพียงความหลากหลายทางสมองเท่านั้น ไม่ใช่ความบกพร่องหรือผิดปกติ

ขณะที่เว็บไซต์ Harvard  ได้นิยาม ‘Neurodiversity’ ในมุมมองที่กว้างขึ้นว่าเป็นแนวคิดที่ว่าคนเราต่างมีประสบการณ์และปฏิสัมพันธ์กับโลกรอบตัวพวกเขาด้วยวิธีที่แตกต่างหลากหลาย ไม่มีวิธีที่ ‘ถูกต้อง’ ที่สุดสำหรับการคิด การเรียนรู้ และพฤติกรรม อีกทั้งความแตกต่างก็ไม่ควรถูกมองว่าเป็นข้อบกพร่อง

จูดี ซิงเงอร์ (Judy Singer) นักสังคมวิทยาชาวออสเตรเลียเป็นผู้นิยามคำนี้ขึ้นมาครั้งแรกในปี 1998 เพื่อสร้างการตระหนักรู้ว่าพัฒนาการทางสมองของทุกคนมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป โดยคำนี้ถูกใช้ในการขับเคลื่อนสังคมภายใต้บริบทเรื่องความเท่าเทียมในฐานะมนุษย์ มากกว่าจะเป็นนิยามทางการแพทย์หรือการวินิจฉัย ซึ่งกลุ่มคนที่จัดอยู่ในกลุ่ม neurodiversity ก็จะเรียกว่าเป็นกลุ่ม ‘Neurodivergence’

หลักๆ แล้ว Neurodivergence มักจะเชื่อมโยงถึงกลุ่มอาการออทิสติก (autism spectrum) ซึ่งความแตกต่างทางระบบประสาทของคนกลุ่มนี้จะส่งผลในด้านที่แตกต่างกัน เช่น การเข้าสังคม การสื่อสาร การประมวลผลทางประสาทสัมผัส หรือพฤติกรรม นอกจากนั้นยังรวมถึงกลุ่มสมาธิสั้น (Attention-Deficit/Hyperactive Disorder: ADHD) กลุ่มดิสเล็กเซีย กลุ่มดิสแคลคูเลีย กลุ่มดิสแพรกเซีย และกลุ่มอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าความแตกต่างบางอย่างอาจส่งผลแง่ลบในชีวิตประจำวันและควรรับการรักษา แต่แนวคิด Neurodiversity เชื่อว่าความแตกต่างอีกหลายอย่างก็เป็นเพียงแค่นั้น… แค่ความแตกต่าง ไม่ใช่ปัญหาในตัวเอง 

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่าความแตกต่างบางอย่างยังมีความเชื่อมโยงกับทักษะในบางด้านด้วย เช่น ความสามารถในการจดจำในคนออทิสติก ความสามารถในการทำความเข้าใจภาพสามมิติในกลุ่มดิสเล็กเซีย ดังนั้นการขับเคลื่อนด้าน Neurodiversity นี้จึงเน้นการมองแง่มุม ‘ความแตกต่าง’ ในระบบประสาทให้ครบถ้วน แทนที่จะมองว่าทุกความแตกต่างเป็นข้อบกพร่อง และสร้างความตระหนักรู้ว่าไม่มี ‘ความแตกต่าง’ ใดที่ควรถูกนำมาใช้ลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนคนหนึ่ง

จะแตกต่างอย่างไร ขอแค่เข้าใจกัน

ในความเข้าใจของหลายๆ คนที่มองว่า ‘ความหลากหลาย’ เหล่านี้คือข้อบกพร่องนั้นมักจะเชื่อว่าทางแก้คือต้องแก้ ‘ความแตกต่าง’ ให้กลายมาเป็น ‘ความปกติ’ แต่ปัญหาที่แท้จริงอาจเกิดจากเรื่องของสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อผู้มีความหลากหลายทางระบบประสาท หากเทียบเคียงง่ายๆ ก็ไม่ต่างอะไรจากเวลาที่เราทำงานที่ต้องใช้สมาธิสูง แต่สภาพแวดล้อมรอบข้างกลับเต็มไปด้วยเสียงจ้อกแจ้กจอแจของผู้คน หรือหากมองภาพที่ใหญ่กว่านั้นก็คือเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ชาวดิสเล็กเซียหลายคนที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสามารถและประสบความสำเร็จไม่ต่างจากคนอื่นๆ แต่กลับประสบปัญหาในการขึ้นขนส่งสาธารณะ เพราะการดีไซน์ป้ายบอกทางที่ไม่เป็นมิตรต่อพวกเขานัก

อีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ สำหรับกลุ่ม Neurodivergence ก็คือการโดนตีตราจากสายตาของคนที่ไม่เข้าใจในธรรมชาติของความแตกต่างหลากหลายของพวกเขา ดังเช่นที่ผู้ดูแลเพจ NeurodiverThai  ได้ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Thisable.me ไว้ว่าหลายคนมักเข้าใจผิดว่าคนออทิสติกไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้เพราะไม่อยู่เฉย ทั้งที่การไม่อยู่เฉยนั้นคือวิธีการควบคุมอารมณ์และการตอบสนองต่อสิ่งเร้าของคนออทิสติก หากปิดกั้นการแสดงออกเหล่านั้น สิ่งที่ตามมาก็คือการ melt down หรือภาวะฟิวส์ขาดที่ทำให้คนส่วนใหญ่ตีความไปว่าเป็นอาการเกรี้ยวกราด

ดังนั้นหลักใหญ่ใจความของวิธีการช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่ม Neurodivergence ก็คือเรื่องของการสร้างสภาพแวดล้อมที่รองรับความหลากหลายทางระบบประสาทและการปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างเข้าใจ ยกตัวอย่างเช่น

  • สร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยลดการกระตุ้นทางประสาทสัมผัส

ผู้ที่มีความหลากหลายทางระบบประสาทหลายคนมักจะมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นทางประสาทสัมผัส เช่น เสียงดัง แสงสว่างจ้า หรือกลิ่นแรง การจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและสิ่งที่ช่วยลดการกระตุ้นประสาทสัมผัส เช่น หูฟังกันเสียงรบกวน ปรับไฟให้สลัวลง หรือจัดพื้นที่เงียบๆ ก็จะช่วยให้กลุ่ม neurodivergence ปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดีมากขึ้น

  • สื่อสารอย่างชัดเจน

คงไม่มีใครชอบคำพูดประชดประชัน เสียดสี หรือแฝงนัยที่ต้องตีความหลายชั้นในสถานการณ์ที่ต้องการความชัดเจนแน่ กลุ่ม neurodivergence ก็เช่นกัน การสื่อสารด้วยความชัดเจน ตรงไปตรงมา กระชับ จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน การสื่อสารเป็นไปอย่างราบรื่น และส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ด้วย

  • ทำสิ่งต่างๆ อย่างเป็นกิจวัตรและคาดการณ์ได้

กลุ่ม neurodivergence โดยเฉพาะคนออทิสติก มักจะทำสิ่งต่างๆ ได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีโครงสร้างชัดเจน มีกิจวัตรที่คาดเดาได้ เป็นระบบระเบียบ และแจ้งล่วงหน้าหากมีการเปลี่ยนแปลง

  • ความยืดหยุ่นในสภาพแวดล้อม

ไม่ว่าในที่ทำงาน ห้องเรียน บ้าน หรือสภาพแวดล้อมใดๆ การจัดพื้นที่ที่ยืดหยุ่น เช่น โต๊ะเรียนที่ยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนที่นั่งได้ การอนุญาตให้มีการหยุดพัก หรือวิธีการทำงานที่แตกต่างออกไป จะช่วยให้กลุ่ม neurodivergence รู้สึกสบายใจ

  • หลีกเลี่ยงการแปะป้ายประเมิน ‘คุณค่า’

เพราะแนวคิด Neurodiversity มองว่าไม่มีอะไรที่เป็นสิ่งที่ ‘ถูก’ เพียงหนึ่งเดียวอยู่แล้ว สิ่งที่ควรเลี่ยงในวิธีการปฏิบัติต่อกลุ่ม neurodivergence หรือใครก็ตาม ก็คือการแปะป้ายประเมินคุณค่าของเขาตามมาตรฐานใดมาตรฐานหนึ่งเท่านั้น คำว่า ‘มีประสิทธิภาพสูง’ ‘มีความสามารถสูง’ หรือ ‘มีประสิทธิภาพต่ำ’ ‘มีความสามารถต่ำ’ คือคำที่แปะป้ายเกินไป ทางที่ดีคือมุ่งเน้นที่จะทำความเข้าใจจุดแข็งที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคนโดยไม่มีการจัดลำดับพวกเขาจะดีกว่า

จะเห็นว่าที่จริงแล้ววิธีการสนับสนุนกลุ่ม neurodivergence ก็ไม่ได้แตกต่างจากความต้องการของคนทั่วไปเลย เพราะท้ายที่สุดแล้วคนทุกคนต่างมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง มีความต้องการที่ต่างกัน มีมุมมองต่อโลกที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน แต่สิ่งที่ทุกคนต้องการจริงๆ ก็คงไม่ต่างกันมากนัก นั่นคือ การยอมรับและเคารพความแตกต่างของกันและกัน และปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมก็พอ

อ้างอิง :

https://www.britannica.com/science/psychology
https://www.health.harvard.edu/blog/what-is-neurodiversity-202111232645
https://my.clevelandclinic.org/health/symptoms/23154-neurodivergent
https://speechify.com/blog/things-you-need-to-know-about-neurodiversity/?utm_source=google&utm_medium=cpc&utm_campaign=PMAX_WORLD_21436335041&utm_term=&utm_content=_x&gad_source=1&gclid=CjwKCAjwx4O4BhAnEiwA42SbVPdqFMJ0COlFezri1SkAS-Sesj26xR4F_3mRws6DO1bqKeomkFVfWxoCW38QAvD_BwE
https://thisable.me/content/2021/07/742
https://readthecloud.co/neurodivergent-friendly-city/


Writer

Avatar photo

ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

Illustrator

Avatar photo

มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด

Related Posts