- “ประเทศที่พัฒนาแล้วคนทั่วไปก็ประสบความสำเร็จได้ ไม่ต้องเป็นซุปเปอร์ฮีโร่” วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
- “ช่างแม่งบ้าง เพราะคนเราไม่สามารถโฟกัสได้ทุกเรื่องหรอก” วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
- ระบบนิเวศและความทุ่มเท วัตถุดิบที่ทำเกิด ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ ในวันนี้
ฝีปาก
เป็นสิ่งแรกๆ ที่คนมักนึกถึงเมื่อพูดชื่อของวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เพราะเฉียบตรงและฮุกเข้าเป้า ทำคนฟังจุกไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะตอนวาดลวดลายอภิปรายในสภาขณะที่ยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
หลังจากลาออกมาลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร แม้จะไม่ได้เข้าเส้นชัย แต่กระแสสำหรับการลงสมัครครั้งแรกก็อบอุ่นไม่น้อย
แต่กว่าจะมาเป็นวิโรจน์อย่างในวันนี้ เขาเคยเป็นเด็กชายวิโรจน์ที่สอบได้เกือบท้ายสุดของห้อง เป็นเด็กที่ไม่ทำการบ้าน และโกหกพ่อแม่เพื่อให้รอดตัว
เบื้องหลังกว่าจะมาเป็นวิโรจน์ฝีปากกล้า วิโรจน์ก้าวไกล หรือวิโรจน์ก้าวไก่ (มาจากเนื้อเพลงประจำตัวผู้สมัครผู้ว่ากทม.ที่ทำนองท่อน ‘ก้าวไกล’ คล้ายกับคำว่า ‘ก้าวไก่’) จะเป็นอย่างไร เนื้อหาต่อไปนี้มีคำตอบ
becoming วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
“มาจากระบบนิเวศที่เราอยู่จริงๆ ถ้าผมไม่ได้มีโอกาสมานั่งคิดกับตัวเอง ก็คงปล่อยชีวิตไปเรื่อยๆ”
เด็กชายวิโรจน์ตอนป.3 สอบได้ที่ 38 จาก 40 คน เพราะตอนเรียนในห้อง เขาไม่เข้าใจที่ครูสอนแม้แต่น้อย พอกลับมาบ้านก็ไม่สามารถทำการบ้านทบทวนความรู้ได้ จนต้องโกหกแม่ว่าทำการบ้านเสร็จตลอด
“เด็กทุกคนไม่ได้เริ่มต้นจากการโกหก แต่ตอบตามความจริงไปแล้วพ่อแม่โกรธ ธรรมชาติมนุษย์ก็จะเรียนรู้ว่า เออ ถ้าจับของแล้วมันร้อนก็จะไม่จับอีก ฉะนั้น ถ้าพ่อแม่ถามว่าทำการบ้านหรือยัง ก็ตอบด้วยคำตอบที่พ่อแม่คาดหวัง”
วิโรจน์คิดว่าตอนนั้น “เขายังพยายามไม่มากพอ” จุดเปลี่ยนเริ่มจากแม่ที่กลัวว่าถ้าปล่อยไว้อย่างนี้ อนาคตลูกชายคงแย่แน่ๆ เธอพาเขาไปฝากไว้กับ ‘อากู๋’ ข้างบ้านให้ช่วยดูแลเรื่องการเรียน
ประโยคแรกที่อากู๋ถามเขา คือ “เคยตั้งใจเรียนจริงๆ ไหม” มันทำให้วิโรจน์ได้กลับมาทบทวนตัวเองว่าจริงๆ เขาเองก็ไม่สนใจเรียนจริงๆ
“ต้องแก้จุดที่มึงคิดว่าตัวเองโง่ที่สุดก่อน เพราะถ้าฟื้นความมั่นใจในจุดที่เราเคยยอมแพ้แล้วกลับมาได้ มันจะสร้างความมั่นใจให้เรา”
คำแนะนำจากอากู๋เพื่อเรียกความมั่นใจว่า ‘เรียนได้’ ให้กับวิโรจน์ จุดเริ่มในการแก้ปัญหาที่เขาเผชิญ
‘วิชาคณิตศาสตร์’ วิชาแรกที่เขาลองรับมือกับมันสักตั้ง ด้วยการทำโจทย์ในห้องให้เยอะที่สุด ก่อนไปซื้อแบบฝึกหัดที่อื่นมาทำเพิ่ม ทำให้เขาเปลี่ยนจากเด็กที่ได้ที่โหล่กลายเป็นติวเตอร์วิชาคณิตให้กับเพื่อนๆ ในห้อง
เมื่อตั้งหลักกับวิชาคณิตได้ วิโรจน์ค่อยๆ ขยับไปรับมือวิชาอื่นๆ โดยมีสกิลติดตัว คือ อ่านแล้วจดสรุป ไม่เขียนหรือไฮไลท์ในหนังสือ เพราะเขารู้ว่าไม่มีวันกลับมาอ่าน การจดสรุปจะทำให้สามารถย่อยความคิดเก็บไว้ได้ เป็นการทบทวนความรู้ไปในตัว
“เด็กคนหนึ่งอยู่ในน้ำครำ เขาเกาะไม้ไผ่หายใจไปเรื่อยๆ เขาไม่รู้หรอกว่านี่คือความทุกข์ทรมาณ แต่ตอนที่โผล่พ้นมาเจออากาศบริสุทธิ์ เจอโลกที่สดใส มันจะทำให้เขาไม่กลับไปอยู่ในน้ำครำอีกแล้ว”
ในมุมวิโรจน์ ไม่มีเด็กคนไหนอยากเรียนแย่ แต่สภาพแวดล้อมที่เขาเติบโตทำให้บางคนยากจะเปลี่ยนตัวเอง แม้จะพยายามเท่าไร ความคิดที่เขาเคยคิดว่าตัวเองพยายามไม่มากพอ เลยเปลี่ยนไป ‘ระบบนิเวศ’ สำคัญกับการเติบโตของเด็กๆ ในความคิดวิโรจน์
“ผมไปเจอระบบการศึกษาฟินแลนด์ จนรู้สึกว่าระบบการศึกษาประเทศเราแปลกจริงๆ เพราะมันเป็นระบบคัดเลือก ให้เด็กทุกคนกระโจนลงมาในแม่น้ำที่เชี่ยวกราก ใครที่จมน้ำตายก็ปล่อยไป ใครว่ายมาฝั่งตรงข้ามได้ ก็จะคิดว่า ‘เพราะไม้เรียวทำให้คุณได้ดีทุกวันนี้’ แต่มันเป็นความสำเร็จของระบบจริงๆ เหรอ?”
ระบบการศึกษาที่วิโรจน์สัมผัสได้ คือ เป็นระบบที่เน้นเอาเด็กเก่งมา ให้เขาดิ้นรนพัฒนาด้วยตัวเอง แล้วก็มีผู้ใหญ่หรือระบบเคลมว่าเป็นผลงานตัวเอง แต่นี่อาจไม่ใช่ลักษณะของระบบการศึกษาเท่านั้น แต่เป็นลักษณะของสังคมเราด้วย
“เคยได้ยินคำว่า ‘สู้แล้วรวยไหม’ เอาจริงๆ ผมว่าคนที่สู้แล้วจนมันเยอะกว่า แต่ศพพูดไม่ได้ไง ไอคนที่สู้เท่าไหร่ก็จน ทำยังไงก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะระบบนิเวศไม่ได้เอื้ออำนวยเขา โอเคอาจจะมีคนที่ทำได้จริงๆ เป็น rare case แล้วคุณก็เอามาทำการตลาดโฆษณา แต่ไม่ได้แก้ระบบให้ survival rate ของคนทั่วๆ ไปมันเพิ่มขึ้น
“ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาทำให้คนทั่วๆ ไปที่มีความขยันระดับหนึ่งประสบความสำเร็จได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นซุปเปอร์ฮีโร่เท่านั้นถึงจะประสบความสำเร็จ”
ทุ่มเท หากลุ่มเพื่อนเรียน จัดสรรเวลา : วิธีเรียนรู้ของวิโรจน์
ในอดีต เด็กชายวิโรจน์ได้อากู๋ออกแบบการเรียนรู้ให้ แก้โดยเริ่มจากวิชาที่ไม่มั่นใจที่สุดก่อน เพื่อทำให้ความมั่นใจกลับคืนมาสู่วิโรจน์
ส่วนวิธีเรียนรู้ของวิโรจน์ในวันนี้ คือ สำรวจว่าเรามีทักษะความสามารถเป็นยังไง วางเป้าหมายที่เราอยากไป เมื่อเอาสองอย่างมารวมกันจะทำให้ได้เส้นทางการเรียนรู้ที่ได้ผล
“ให้เวลากับเรื่องที่เราปักธง เรื่องอื่นช่างแม่ง เพราะคนเรามันไม่สามารถโฟกัสได้ทุกเรื่องหรอก มนุษย์ยังต้องการการพักผ่อน ทำไมเราต้องเอาเวลาเล่นไปเสียสละกับสิ่งที่เราไม่สนใจ หรือเรื่องที่คนอื่นอยากให้เรารู้ แต่เราไม่ได้อยากรู้ด้วยละ
“ไม่งั้นมนุษย์จะมีเพื่อนไปทำไมถ้าจะรู้ทุกเรื่อง เราสามารถหาทาง หาเทคนิคอื่นๆ ได้นะ ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เองทั้งหมด”
การหาสังคมหรือกลุ่มคนที่ศึกษาเรื่องนั้นๆ จะทำให้เราได้เจอเพื่อน ได้รับความรู้ที่หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องเรียนคนเดียว ข้อสำคัญของการเรียนรู้แบบนี้ คือ ได้คอนเนคชั่นและคนที่สามารถบอกข้อดี-ข้อเสียให้เราพัฒนาตัวเองต่อไป
“ผมฟังทุกคน แม้แต่คนด่า ถ้าตัดที่เขาด่าๆ ไป เอาอันที่เป็นประโยชน์มาพัฒนาตัวเรา
“พ่อผมเคยบอกว่าคนเก่งเราจะไปสู้เขาทำไม เป็นเพื่อนเขาดีกว่า”
‘จัดสรรเวลา’ เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่วิโรจน์เน้น ไม่มีสูตรตายตัวว่าควรแบ่งเวลาอย่างไร ไม่จำเป็นว่าเราต้องเล่นหรือพักผ่อนมากๆ ถ้าเราเจอสิ่งที่สนใจจริงๆ การเอาเวลาไปทุ่มเทกับสิ่งนั้นก็ไม่ใช่เรื่องผิด อยู่ที่การจัดสรรเวลาของแต่ละคน
เสรีภาพ คือ สิ่งที่เด็กไทยต้องการในตอนนี้
“เหมือนเรากำลังหลอกตัวเอง สิ่งที่เราหวังกับสิ่งที่เราทำมันตรงกันข้าม”
เป็นความคิดเห็นที่วิโรจน์มีต่อระบบการศึกษาไทย ผู้ใหญ่ต้องการเด็กเก่ง มีคุณภาพ ต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ แต่พวกเขากลับไม่ช่วยพัฒนาเด็ก แถมยังตีกรอบการเติบโตของเด็กจนเกินไป
“สิ่งที่เด็กไทยต้องการ คือ เสรีภาพในการเรียนรู้และมีเวลาที่มากพอที่จะเรียนรู้ ถ้าอยู่ในกรอบเราจะคิดอะไรได้ ต้องการให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ มันต้องใช้เวลาเยอะมาก สุดท้ายการศึกษามีเวลาให้เด็กไหม
“ที่บอกว่าเด็กห่วงแต่เล่น เพราะเขาไม่มีเวลาเล่นไง ผู้ใหญ่ดูดเวลาเขาไปจนหมด มันเป็นคำที่สะท้อนปัญหานะ ถ้าผู้ใหญ่ไม่คิดอีกชั้นก็จะมองไม่เห็นปัญหา”
เมื่อตีกรอบก็ทำให้เด็กโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ทำตามคำสั่งเป็นอย่างเดียว และขาดทักษะยับยั้งชั่งใจ (Self Inhibition) เป็นทักษะที่วิโรจน์มองว่าจำเป็น เพราะจะทำให้เด็กเป็นคนที่รู้จักควบคุมดูแลตัวเองเป็น
“ถ้าคุณไม่ปล่อยให้เขามีเสรีภาพ เด็กจะรู้จักยับยั่งชั่งใจไหม? ถ้าคุณเอาอำนาจนิยมไปกดเขาอย่างเดียว อันนี้ก็ห้าม ไอโน่นก็ห้ามทำ สุดท้ายเด็กต้องทำทุกอย่างเพราะความกลัว มีครูหรือพ่อแม่มอนิเตอร์ตลอดเวลา เอาการลงโทษมาเป็นตัวกด ไม่มีการสร้าง self Inhibition
“ระบบที่ดีควรเป็น auto on คือ เปิดไปก่อน อยากเล่นเกมเท่าไรเสนอมาเลย คุยกันด้วยเหตุผล ทำข้อตกลงกัน แล้วถ้าทำเด็กทำได้ตามที่ตกลงกันไว้ แล้วเราจะยังต้องไปสั่งอะไรเขาละ”
เสรีภาพไม่ใช่แค่เด็กที่อยากได้ ครูเช่นกัน มีอำนาจที่จะจัดการเรียนการสอน ไม่ใช่โดนตีกรอบหรือจำกัดว่าต้องทำอะไร ถ้าระบบมอบอำนาจให้ครู ครูก็จะสามารถมอบอำนาจให้นักเรียน ไว้วางใจกันและกัน ความเปลี่ยนแปลงถึงจะเกิด
“ลดเวลา คืนเวลาให้เด็ก ให้อำนาจครูจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ไม่ใช่แค่เรียนวิชาการ
“ส่วนพ่อแม่อย่าบังคับลูกเลย เปิดใจ มองกว้างๆ สนับสนุนความถนัดลูก ไม่ใช่คิดว่าทำไปแล้วโตขึ้นจะหาอะไรกิน สังคมเมื่อก่อนมันอาจจะแคบ เด็กเรียนเก่งต้องต่อแค่หมอเท่านั้น แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว”
เปลี่ยนประเทศด้วยการเรียนรู้ ให้คนถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สังคมก้าวไปหนึ่งขั้น
แม้จะมีคนชื่นชมเยอะ แต่วิโรจน์ยอมรับว่าก็มีคนที่เห็นต่างและคำด่าก็เป็นสิ่งที่เขาได้รับบ่อยๆ เขาคิดว่าการแลกเปลี่ยนถกเถียงมีข้อดี คือ มันทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง ได้เห็นมุมมองหลากหลาย แต่ละความเห็นก็จะคานอำนาจกันเอง
“คนมีวิจารณญาณ ปล่อยให้เราเรียนรู้กันไปเถอะ ผิดบ้างถูกบ้าง ทะเลาะกันบ้าง ความเชื่อคนจะคานกันเอง
“สังคมต้องเปิดให้เกิดสิ่งนี้ เกิดการเรียนรู้ ต้องทำให้การเรียนรู้ในระบบอย่าฉุดรั้นการเรียนรู้ตามธรรมชาติ”