คุณครู นักเรียน ทรงผม : อำนาจนิยมบนคมกรรไกร

20 พฤศจิกายน 2565 ทวิตเตอร์ของกลุ่ม “นักเรียนเลว” ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของนักเรียน ได้โพสต์ข่าวการเสียชีวิตของ “กาฟิว” นักเรียน LGBTQ+ ที่ถูกครูตำหนิเรื่องทรงผมไม่ถูกระเบียบและถูกสั่งให้ไปตัดผม ประกอบกับการถูกเพื่อนล้อเลียนว่าทรงผมใหม่ไม่สวย ทำให้นักเรียนคนนี้ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง

ข่าวอันน่าเศร้านี้ทำให้ประเด็นเรื่องการตัดผมนักเรียนกลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกหน หลายคนมองว่าการตัดผมนักเรียนคือการละเมิดสิทธิในร่างกายของเด็ก ๆ ทว่าก็ยังมีอีกหลายคนที่สนับสนุนกฎระเบียบดังกล่าวโดยมองว่าการตัดผมจะทำให้เยาวชนมีระเบียบวินัยมากขึ้น

สำหรับ ครูจุ๊บแจง-ศิริพร ทุมสิงห์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งเพจ ก่อการสิทธิเด็ก อดีตครูแนะแนวที่ได้ร่วมขับเคลื่อนสิทธิเด็กไปกับโครงการ ก่อการครู เรื่องของทรงผมไม่ใช่ “เรื่องแค่นี้” หากแต่เป็นเรื่องที่ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กด้วย

“ในเชิงพัฒนาการของเด็ก การที่เด็กคนหนึ่งจะก่อร่างสร้างตัวตนขึ้นมา ไม่ใช่ว่าเด็กแปะป้ายให้ตนเอง แต่คนอื่นต่างหากที่ให้คุณค่ากับเด็ก แล้วเด็กจะรู้สึกค่อย ๆ ชื่นชมตนเองจนเกิดเป็นความรักตนเอง เกิดความรู้สึกดีกับตนเอง เพราะฉะนั้นทรงผมก็คืออัตลักษณ์หนึ่งที่เขาสร้างขึ้น วันหนึ่งมีใครสักคนมากระชากมันออกไป มันก็เหมือนสิ่งที่เขาอุตส่าห์สร้างมาถูกทำลาย พอเซลฟ์ตรงนั้นมันพังทลาย สิ่งที่เด็กมีปฏิกิริยาต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น คือ fight หรือสู้ ใช้ความรุนแรงตอบสนอง flight หรือหนี และ freeze หรือช็อก พอมันเกิดปรากฏการณ์นี้ในห้องเรียนกับเด็กหลายคน ครูก็สอนหนังสือไม่ได้ เมื่อเซลฟ์ข้างในไม่แข็งแรง เด็กก็ยิ่งไม่มั่นใจ ไม่อยากเข้าหาผู้คน รู้สึกอาย สถานการณ์มันพลิกไปหมดเลย ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเคยดีแค่ไหนก็แย่ลง จากแย่ก็แย่ลงกว่าเดิม เพราะเมื่อสมองส่วนอารมณ์ทำงานหนัก สมองส่วนเรียนรู้ก็เรียนรู้ไม่ได้”

ย้อนรอยกฎระเบียบทรงผมนักเรียน

“ทรงผมนักเรียนเริ่มมาจากไหน” น่าจะเป็นคำถามที่หลาย ๆ คนสงสัย ความจริงแล้วไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าทรงผมนักเรียนเริ่มขึ้นตอนไหน อย่างไรก็ตามกฎระเบียบทรงผมนักเรียนที่ถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นปรากฏครั้งแรกในปี 2515 เมื่อคณะปฏิวัตินำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร ออกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2515 มีใจความว่า

“นักเรียนและนักศึกษาควรจะได้รับการอบรมดูแลใกล้ชิดจากบิดามารดา ผู้ปกครอง และครูอาจารย์ เพื่อเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา เป็นศิษย์ที่ดีของครู อยู่ในโอวาทคำสั่งสอน รวมทั้งอยู่ในระเบียบประเพณีและกฎหมายของบ้านเมือง เป็นการสมควรจะส่งเสริมและคุ้มครองความประพฤติ การแต่งกาย และจรรยามารยาท ให้รัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน”

จากประกาศฉบับนี้ จึงได้มีกฎกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 1 ออกตามความในประกาศคณะปฏิวัติ ในวันที่ 28 มิถุนายน 2515  เรื่อง “การแต่งกายและความประพฤติที่ถือว่าไม่เหมาะสมแก่สภาพของนักเรียน” ไว้ดังนี้

  • นักเรียนชายไว้ผมยาว โดยไว้ผมข้างหน้าและกลางศีรษะยาวเกิน 5 เซนติเมตร และชายผมรอบศีรษะไม่ตัดเกรียนชิดผิวหนัง หรือไว้หนวดหรือเครา
  • นักเรียนหญิงตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย
  • นักเรียนใช้เครื่องสำอาง หรือสิ่งปลอมเพื่อการเสริมสวย

จากนั้น ในปี 2518 กฎกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 2 ก็ได้มีการยกเลิกข้อกำหนดเดิมเรื่องความยาวและการตัดผมเกรียนชิดผิวหนังของนักเรียนชาย เปลี่ยนเป็นการห้ามนักเรียนชายไว้ผมด้านข้างและด้านหลังยาวจนเลยตีนผม ส่วนข้อกำหนดทรงผมของนักเรียนหญิงยังคงเดิม

ปลายปี 2555 กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอให้ปรับปรุงระเบียบทรงผมนักเรียน โดยให้นักเรียนชายตัดผมสั้นเกรียน และนักเรียนหญิงต้องตัดผมสั้นเห็นติ่งหู ทำให้เรื่องทรงผมกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง ตามมาด้วยความพยายามที่จะแก้ปัญหานี้โดย พงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในปี 2556 ที่ลงนามในหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง “ซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียน” ซึ่งมีการชี้แจงให้สถานศึกษาปฏิบัติเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียนเป็นแนวเดียวกัน โดยยึดเอากฎกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 2 ในปี 2518 เป็นหลัก แต่แล้วประเทศไทยก็เกิดวิกฤติทางการเมืองจนความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องทรงผมต้องหยุดชะงักลง

ปี 2563 กระทรวงศึกษาธิการออกระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน โดยมีใจความสำคัญว่า

(1) นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาวไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย

(2) นักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย

แต่ยังคงมีข้อห้ามไม่ให้นักเรียนดัดผม ย้อมสีผม ไว้หนวดหรือเครา หรือกระทำอื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน เช่น การตัดแต่งทรงผมเป็นรูปทรงสัญลักษณ์หรือลวดลาย ยกเว้นมีความจำเป็นในการปฏิบัติตามหลักศาสนาหรือดำเนินกิจกรรมของสถานศึกษา และยังคงให้ขึ้นกับความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาหรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎระเบียบดังกล่าว

ความรุนแรงปะทะความรุนแรงจากอำนาจนิยมบนคมกรรไกร

แม้การตัดผมจะเป็น “เรื่องแค่นี้” สำหรับหลาย ๆ คนที่ยังคงเชื่อว่านักเรียนควรอยู่ใน “ระเบียบวินัย” และทำตามกฎระเบียบที่โรงเรียนกำหนด แต่การตัดผมก็อาจเป็นภาพสะท้อนอำนาจนิยมในสังคมไทย และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเยาวชน

ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ที่ประเทศไทยร่วมให้สัตยาบันในปี 2535 ข้อ 28 มีความตอนหนึ่งระบุว่า “รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมที่จะประกันว่า ระเบียบวินัยของโรงเรียนได้กำหนดขึ้นในลักษณะที่สอดคล้องกับศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของเด็ก”

เรื่องนี้ผูกโยงกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ข้อที่ 19 ที่ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งหากเรามองว่า “ทรงผม” เป็นการแสดงออกอย่างหนึ่ง การตัดผมนักเรียนหรือกฎระเบียบที่บังคับให้นักเรียนต้องไว้ทรงผมแบบใดแบบหนึ่ง ก็คงต้องถูกจัดรวมไว้ในการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามปฏิญญาสากลดังกล่าว และละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอีกด้วย

“เราว่าการตัดผมมันสะท้อนอำนาจนิยม สะท้อนการกดทับว่าครูอยู่เหนือกว่า และเราในฐานะนักเรียนหรือเด็กต้องทำตามกฎข้อนี้ที่เขาเขียนขึ้น”  ข้าวกล้อง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านกฎระเบียบที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนและขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาไทยร่วมกับกลุ่มนักเรียนเลว ให้สัมภาษณ์กับ Mappa 

ในบทความ “วินัยและการลงทัณฑ์ในประวัติศาสตร์การศึกษาไทย” ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ได้ยกกรอบคิดเรื่อง วินัยและการลงทัณฑ์ ของ มิเชล ฟูโกต์ นักประวัติศาสตร์ความคิดและทฤษฎีสังคมชาวฝรั่งเศส เพื่อให้เห็นภาพวิธีการควบคุมนักเรียนของโรงเรียนไทย

ฟูโกต์เสนอว่า เครื่องมือควบคุมสมัยใหม่นั้นทำให้นักโทษเชื่องด้วยการจับจ้องผ่านสถาปัตยกรรมแบบ Panopticon (สถาปัตยกรรมคุกรูปทรงกลมหรือวงแหวน ที่ออกแบบโดยเจเรมี เบนแธม ซึ่งให้เจ้าหน้าที่อยู่กลางวงแหวนและสามารถมองเห็นนักโทษได้ทั้งหมดในคราวเดียวในขณะที่นักโทษจะมองไม่เห็นเจ้าหน้าที่) ซึ่งลักษณะเช่นนี้คือความสัมพันธ์ที่ไม่ได้เกิดแค่เพียงในคุก แต่ยังเกิดขึ้นในโรงพยาบาล โรงงาน และโรงเรียนด้วย

ระเบียบทรงผมคือรูปแบบการลงโทษแบบ Panopticon เพื่อสร้างระเบียบวินัยให้นักเรียน โรงเรียนได้สร้างปัจเจกที่จะถูกครูและโรงเรียนจับจ้องและสอดส่องพฤติกรรมภายใต้กฎระเบียบ ภาพแทนของคุกทรงกลมปรากฏอย่างชัดเจนผ่านภาพครูที่ยืนสอนหน้าชั้นเรียนในขณะที่นักเรียนทั้งหมดนั่งอยู่ ซึ่งจะทำให้ครูสามารถสอดส่องและจับจ้องนักเรียนได้ทั่วถึง

ข้าวกล้องมองว่า “ระเบียบวินัย” ในโรงเรียนนั้น เป็นทั้งการกำจัดความแตกต่าง และการบังคับให้ทุกคนต้องปฏิบัติตามสิ่งเดียวกัน

“มันสะท้อนการคลั่งระเบียบวินัยของคนไทยว่าการเหมือนกัน การทำอะไรไปพร้อม ๆ กัน มันคือระเบียบวินัย มันคือการสร้างให้ประชากรของเรามีคุณภาพ และถึงแม้จะตอบคำถามด้วยเหตุผลไม่ได้เลย เราก็ยังอยู่กับสิ่งนี้ต่อไป เนื่องด้วยค่านิยมที่ผ่านมา กล้องมองว่ามันต้องมีความพอดี อย่างการมีระเบียบวินัยคือเราต้องรับผิดชอบตัวเองได้ รับผิดชอบหน้าที่การงานที่เราได้รับมอบหมายได้ แต่กล้องไม่เชื่อว่าการทำให้คนเหมือนกันหมดคือระเบียบวินัยหรือตอบโจทย์การสร้างพลเมืองที่มีระเบียบวินัย”

และหากเราจัดการลงโทษหรือการควบคุมนักเรียนด้วยการตัดผมเป็นความรุนแรง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหากในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จะมีเหตุการณ์นักเรียนชั้น ม.2 ทำร้ายร่างกายครู เนื่องจากไม่พอใจที่ถูกเรียกมาลงโทษด้วยการตัดผมต่อหน้าเพื่อน ๆ

ครูจุ๊บแจงกล่าวว่ามีหลายกรณีที่เด็กตอบโต้ความรุนแรงด้วยการใช้ความรุนแรงกลับ และปัญหานี้มีปัจจัยเรื่องพื้นฐานครอบครัวเด็กเป็นส่วนประกอบด้วยเช่นกัน

“ปัญหาแบบนี้มีทุกโรงเรียน แต่ขึ้นอยู่กับว่าเด็กสู้แบบไหน มันเป็นปัจจัยที่ซ้อนเหลื่อมกัน เช่น เด็กเก่ง จะทำทรงผมอะไรก็ได้เพราะเรียนเก่ง และความเก่งคืออำนาจสะสมที่จะใช้คานสิ่งที่ครูจะทำกับเขา แต่กลุ่มเด็กชายขอบไม่เหลืออะไรให้ต่อรอง ยกเว้นการเป็นเด็กกิจกรรมที่จะต่อรองเรื่องทรงผมได้ พอเด็กไม่เคยถูกฝึกกลไกเรียกร้อง ไม่ได้ฝึกการสื่อสารกับครู ไม่ได้ฝึกการตั้งคำถาม ไม่รู้ว่าใครจะช่วยเรียกร้องเรื่องทรงผม เด็กก็ถูกผลักออกไปเรื่อย ๆ”

อีกสาเหตุที่เรื่องของทรงผมยังคงเป็นปัญหาในประเทศไทย อาจเป็นเพราะ “ระเบียบวินัย” นี้คือความเชื่อที่ถูกส่งต่อกันมาในสังคมปิตาธิปไตยที่ยึดโยงความเป็น “แม่” เข้ากับ “ครู” และมองโรงเรียนเป็นบ้าน ครูจึงตีความหน้าที่ของตนว่าต้องดูแลนักเรียนตั้งแต่หัวจรดเท้าราวกับ “แม่ดูแลลูก”

“การที่ครูยังทำเรื่องแบบนี้อยู่ เพราะครูคิดว่ามันเป็นสิทธิโดยชอบธรรม ครูต้องดูแลนักเรียนตั้งแต่หัวจรดเท้า ไปสอดส่องเด็กว่าเธอทำสีผมแบบไหนทั้งที่เป็นช่วงปิดเทอม เพราะมันมีมุมมองเรื่องความเป็นแม่ โรงเรียนเป็นบ้านหลังที่สอง และผู้ปกครองบางกลุ่มยังผลักภาระการดูแลเด็กให้กับครูด้วย ครูเลยรู้สึกว่าจำเป็นต้องทำ”

การต่อสู้ที่ยังต้องสู้ต่อ  

อย่างที่ทราบกันดีว่าปัญหาเรื่องการตัดผมนักเรียนนั้นเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน และที่ผ่านมาก็ได้มีนักเรียนหลายกลุ่มที่เคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าว

การเคลื่อนไหวที่ชัดเจนที่สุดเกิดขึ้นในวันที่ 4 กรกฎาคม 2563 โดยกลุ่ม “นักเรียนเลว” ที่มีการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทรงผม และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ด้วยการตัดผมนักเรียนหญิง พร้อมยื่นหนังสือให้ปลัดกระทรวงเพื่อเรียกร้องให้สถานศึกษาออกระเบียบใหม่ที่สอดคล้องกับกฎกระทรวงว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียนในปี 2563

กลุ่มนักเรียนเลวระบุว่า ก่อนเปิดภาคเรียนจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 มีคำร้องจากนักเรียนว่าถูกครูจับตัดผมหรือกล้อนผมแล้วถึง 312 โรงเรียนทั่วประเทศ

ข้าวกล้องเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้โรงเรียนผ่อนปรนระเบียบทรงผมนักเรียน ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ภาพของเขาที่ถือป้ายพร้อมข้อความ “โรงเรียนไม่ให้ต่อ ม.6 เพราะผมยาว” ถูกรีทวิตหลายพันครั้งบนโลกทวิตเตอร์ เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่เขากลับมาจากการเข้าโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศแคนาดา ซึ่งที่นั่นไม่มีกฎระเบียบเรื่องทรงผมหรือการแต่งตัวอันเคร่งครัดให้นักเรียนปฏิบัติตาม แต่เมื่อจะกลับมาเรียนต่อชั้น ม.6 ที่ไทย ข้าวกล้องกลับมอบตัวไม่ผ่าน เหตุเพราะไม่ตัดผมสั้น  

หลังจากการออกมาถือป้ายเรียกร้อง ข้าวกล้องได้กลับไปเจรจากับโรงเรียนอีกหลายหน และแม้ท้ายที่สุดโรงเรียนจะตัดสินใจมอบสิทธิพิเศษให้ข้าวกล้องไม่ต้องตัดผม แต่ในระหว่างการเจรจาแต่ละครั้ง โรงเรียนก็พยายามโน้มน้าวเขาหลายอย่าง โดยเฉพาะการอ้างเรื่องของกฎระเบียบว่าอย่างไรเสีย “กฎก็ต้องเป็นกฎ”

“จากที่คุยมา ความคิดของครูเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งที่เราเรียกร้อง แต่เขาก็เลือกจะพูดคุยกับเราด้วยสิ่งที่มากกว่าความคิดเห็นของเขา คือเรื่องของกฎ เขาบอกว่ามันทำไม่ได้ ถ้านักเรียนคนอื่นเห็นเราได้ไว้ผมยาว เขาจะมองยังไง ถ้าคนอื่นมาถามครู ครูจะตอบว่าอะไร ซึ่งเราก็ยืนยันไปว่าเราต้องการให้ทุกคนมีสิทธิที่จะตัดสินใจได้เองว่าจะไว้ผมแบบไหน แต่เขาก็อ้างว่าทำไม่ได้ กฎก็คือกฎ”

แม้จะเรียกร้องจนโรงเรียนยอมมอบสิทธิพิเศษให้กับเขาแล้ว แต่ข้าวกล้องก็ยังคงหวังให้สักวันหนึ่ง การ “งดเว้นกฎระเบียบ” นี้ จะเป็นสิทธิที่นักเรียนทุกคนได้รับโดยทั่วกัน

“อย่างน้อยที่สุดกลุ่มนักเรียนเลวก็หวังว่าจะสร้างความตระหนักรู้ในสังคมไปเรื่อย ๆ อย่างน้อยเราก็อยากให้มันขยับอะไรบ้างเพื่อให้ความหวังกลับไปที่นักเรียนที่ยังต่อสู้อยู่ คนอาจไม่ค่อยสังเกตว่าช่วงที่ม็อบบูม ๆ หลังจากการเข้าไปเรียกร้องและกดดันครั้งแรกของนักเรียนด้วยจำนวนที่เยอะมาก วันต่อมากระทรวงเขาก็ออกหนังสือผ่อนปรนกฎ” ข้าวกล้องหมายถึงเมื่อครั้งที่กลุ่มนักเรียนเลวไปเรียกร้องหน้ากระทรวงศึกษาเมื่อปี 2563 “กล้องเลยมองว่าความจริงแล้ว ถ้าสังคมกลับมาตื่นตัวอีกรอบ ก็ยังพอมีหวังว่ากฎมันจะเปลี่ยนแปลงได้”

นอกจากฝั่งนักเรียนจะเรียกร้องแล้ว ครูที่ไม่เห็นด้วยกับกฎระเบียบดังกล่าวก็ยังคงเรียกร้องมาโดยตลอดเช่นกัน แต่เรื่องของกฎระเบียบทรงผมนักเรียนนั้นยึดโยงกับทั้งค่านิยม ความเชื่อ ความกลัว และความสัมพันธ์รูปแบบต่าง ๆ ในระบบการศึกษา ความพยายามที่จะเปลี่ยนกฎระเบียบนี้จึงยังไม่สัมฤทธิ์ผล

“ระบบการบริหารงานของกระทรวงศึกษาและมิติวัฒนธรรมของโรงเรียนมันขับเคลื่อนคนด้วยความกลัว เวลาที่คนกลัวมาก ๆ ก็หมดความคิดสร้างสรรค์และไม่พยายามไขว่คว้าสิ่งที่ดีกว่า เลยใช้วิธีที่ง่าย สั้น และจบความกลัวของตัวเอง ถามว่าอะไรทำให้ครูกลัว ก็การไม่เป็นส่วนหนึ่งในสังคมของครู” ครูจุ๊บแจงกล่าวถึงหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้แนวคิดเรื่องทรงผมไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของยุคสมัยและสาเหตุที่ยังคงมีครูยุคใหม่สมาทานแนวคิดดังกล่าว

“ระดับผู้บริหารโรงเรียนก็มักจะมีสมาคมที่พยายามค้ำจุนอำนาจและเครือข่ายของตัวเองด้วยการทำให้โรงเรียนไม่ต่างจากโรงเรียนอื่น แล้วก็ส่งต่อความกดดันนี้ลงมาที่ครูเป็นทอด ๆ มันมีผลทั้งกับความสัมพันธ์ การประเมินเงินเดือน ใครจะกล้าบอกเด็กว่ามีสิทธิของตัวเอง เราจะตัดผมยังไงก็ได้ ในเมื่อชุดความกลัวนี้ยังครอบงำครูเพราะเขายังต้องคำนึงเรื่องศักดิ์ศรี ความปลอดภัยในเนื้อตัวร่างกาย ความเป็นมนุษย์ของเขามันโดนกดทับโดยระบบไปหมด ถ้าเราอยากให้ครูออกมาเรียกร้องสิทธิ เราก็ต้องทำให้ระบบมันยุติธรรมกว่านี้ ทำให้ครูกล้ากว่านี้ในการปกป้องเด็ก”  

ด้วยชุดความเชื่อและวัฒนธรรมการสร้างความหวาดกลัวที่ฝังรากลึกในระบบการศึกษาไทย ครูจุ๊บแจงจึงเชื่อว่าการจะเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบนี้ได้ ต้องมีพื้นที่ให้แต่ละฝ่ายได้พูดคุยกันและสร้างพื้นที่ที่จะทำให้แต่ละฝ่ายมีความเห็นอกเห็นใจ (empathy) ต่อกันและกัน เริ่มตั้งแต่หลักสูตรของสถาบันฝึกหัดครูที่ควรมีรายวิชาที่สอนการวิพากษ์สังคมมากขึ้น

“คณะศึกษาศาสตร์มีรายวิชาที่เป็นการวิพากษ์สังคม ปรากฏการณ์สังคม หรือเครื่องมือทางจิตวิทยาสังคมน้อยมาก พอมันไม่ถูกสะท้อน ไม่เข้าใจความเป็นมนุษย์เลย ไม่เข้าใจปรากฏการณ์ของเด็กเลย มันเลยทำให้ครูรุ่นใหม่ ๆ ยังคงใช้วิธีการเดิม ๆ”

สำหรับครูรุ่นเก่าที่เติบโตมากับค่านิยมและความเชื่ออีกแบบ ครูจุ๊บแจงมองว่าความเชื่อเหล่านั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ต้องทำให้พวกเขาทรงตัวได้แม้ชุดความเชื่อเดิมแตกสลาย

“เราเข้าใจในมุมเขาว่าเขาคุ้นชินและนิยมกับเรื่องแบบนี้ มันเลยต้องมีการวิพากษ์ แต่ก็ต้องโอบรับการที่เขาจะแตกสลายจากการถูกทำลายชุดความเชื่อเดิมด้วย ถ้าเราเอาแต่วิพากษ์ เขาก็อาจจะแตกสลายและความสัมพันธ์ระหว่างเราก็พัง การจะไปต่อด้วยกันก็จะเป็นเรื่องที่ยากขึ้น”

ฉะนั้นปัญหากฎระเบียบเรื่องทรงผมนักเรียนที่ยืดเยื้อยาวนานนี้ อาจแก้ไขได้ หากทุกภาคส่วนพยายามทำความเข้าใจและร่วมมือกันโดยยึดเอาประโยชน์ของเด็กเป็นศูนย์กลางจริง ๆ “ถ้าจะเลือกทำความเข้าใจกับใครสักคน มันก็ต้องเลือกไปพร้อมกัน เราไม่เชื่อว่าเราจะเปลี่ยนจากข้างล่างโดยครูตัวเล็ก ๆ แล้วมันจะทรงพลังมากพอ มันต้องไปทั้งขบวน ทั้งสมาคมผู้บริหาร ทั้งครู ทั้งผู้เชี่ยวชาญ คนที่ทำงานสิทธิเด็ก ภาคีต่าง ๆ และคนออกนโยบายที่ต้องคิดถึงเด็กเป็นศูนย์กลางด้วย แล้วกระทรวงก็ต้องมี deep listening เห็นอกเห็นใจกัน ดูที่รากของปัญหาจริง ๆ ว่าทำไมเขาคิดกันแบบนี้ จากนั้นเราค่อย ๆ เปลี่ยนความเชื่อเขาก็ได้ เราว่าทุกคนก็เคยเจ็บปวดจากเรื่องทรงผม เพียงแต่ว่าเราแกล้งทำเป็นลืมเท่านั้นเอง” ครูจุ๊บแจงทิ้งท้าย

อ้างอิง

https://www.the101.world/new-student-haircut-rule/

https://waymagazine.org/thailand-teacher-barber/

https://prachatai.com/journal/2020/07/88705

https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jssnu/article/view/249610

https://www.matichonweekly.com/column/article_325654

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/…/P…/2563/E/103/T_0006.PDF

http://pptv36.news/X5r


Writer

Avatar photo

ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

Illustrator

Avatar photo

อุษา แม้นศิริ

มนุษย์กราฟิกผู้ชื่นชอบงานภาพประกอบ สีฟ้า ดนตรี และมีนกน้อยสองตัวเป็นของตัวเอง

Related Posts