- เมื่อการเปลี่ยนแปลงไปไวกว่าความเร็วที่โลกหมุนรอบตัวเอง การรู้ข้อมูลเพื่อเตรียมตัวสำหรับเหตุการณ์ข้างหน้าจึงสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
- mappa ไปสนทนาเรื่อง ‘อนาคตศึกษา’ กับ FuturesTales Lab ที่เชื่อว่ารู้อะไรก็ไม่สู้รู้อนาคต
- พร้อมเผยถึง 4 scenario ที่เป็นไปได้ของสังคมไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทั้ง worse case และ best case
เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า “จงอยู่กับปัจจุบัน” เพื่อความไม่ฟุ้งซ่านและจัดการงาน ชีวิตตรงหน้าให้ดีที่สุด
แต่ตอนนี้หลายคนกำลังสนใจศึกษาอนาคต เอาข้อมูล สถิติ ทุกความเป็นไปได้มาศึกษาเพื่อคาดการณ์ล่วงหน้าว่าอนาคตควรเตรียมตัวอย่างไร ทำอย่างไรให้ worst case เกิดน้อยที่สุด
mappa ไปสนทนาเรื่อง ‘อนาคตศึกษา’ กับ วิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ นักวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต FutureTales LAB by MQDC ศูนย์วิจัยด้านอนาคตศึกษา ที่เชื่อว่ารู้อะไรก็ไม่สู้รู้อนาคต
“ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับ Critical thinking Creative thinking Design thinking แต่ต่อไป Future Thinking จะกลายเป็นวิธีคิดที่จำเป็น เพราะโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกมิติ การมองอนาคตเพื่อเตรียมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น”
1. ในปีหน้าและอนาคตอันใกล้ หน้าตาและรูปแบบการเรียนรู้จะเป็นอย่างไร ภายใต้บรรยากาศและสถานการณ์ปัจจุบัน
มี 4 ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของเรื่องการเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงไป
หนึ่ง Flipped Learning Paradigm
คือ กระบวนทัศน์ของสังคมต่อการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง ความเข้มข้นของการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) จะเข้มข้นขึ้นเพื่อตอบรับสังคมสูงวัย พร้อมสร้างระบบเก็บหน่วยกิตการเรียนรู้ (Credit bank) ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ให้สามารถพัฒนาทักษะในหลักสูตรที่สนใจและจำเป็นในอนาคต
ผู้เรียนจะต้องติดอาวุธวิธีการเลือกเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ (Learning how to learn) ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูล รวมไปถึงการให้คุณค่ากับการผสานการเรียนรู้ไปกับการใช้ชีวิตที่เพิ่มขึ้น การให้คุณค่าต่อปริญญาบัตรและวุฒิการศึกษาที่ลดลง (Weakening value of degree) ส่งผลให้กระบวนการสรรหาของบริษัทเปลี่ยนแปลงไป โดยจะให้ความสนใจไปที่ทักษะที่จำเป็น ผลสำเร็จของงาน และค่านิยมที่ตรงกับองค์กรแทน
การเพิ่มขึ้นของเทคโนโลยีการศึกษา Edtech อาจทำให้บทบาทของผู้เชี่ยวชาญลดลง การคัดกรองข้อมูลในโลกออนไลน์อาจทำให้เกิดห้องแห่งเสียงสะท้อน (Echo chamber) ซึ่งจะจำกัดข้อมูลที่ผู้เรียนจะได้รับ นำไปสู่การล่มสลายของความรู้ทั่วไปในสังคม
สอง Blended Plearning
plearn มาจากคำว่า play + learn และ blended หมายถึงการผสมผสาน แปลรวมกันได้ว่าการเรียนรู้แบบผสมผสานระหว่างการใช้เทคโนโลยีสื่อสารทางไกลกับรูปแบบการเรียนในห้องเรียน เช่น การใช้เทคโนโลยีเสมือน เช่น VR AR Metaverse มาใช้ในการเรียนรู้ช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกมีความสุข สนุก และเข้าใจ ด้วยวิธีการสร้างการเรียนรู้ร่วมกับความบันเทิง (Edutainment) ออกแบบโดยนำประสบการณ์ของผู้ใช้เป็นสำคัญ (Experience-based design)
“อนาคตของการเรียนรู้จะกลายเป็นรูปแบบ hybrid โดยการใช้เทคโนโลยีสร้างประสบการณ์การเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ ในขณะเดียวกันพื้นที่ต่างๆ ในโลกก็สามารถเป็นแหล่งการเรียนรู้ได้หมด (World as our classroom) ห้องเรียนจะไม่ใช่รูปแบบเดิมอีกต่อไป”
นอกจากนี้ รูปแบบการเรียนจะมีความยืดหยุ่นและส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนผ่านประสบการณ์ตรง
“การใช้เทคโนโลยีเสมือนหลากหลายรูปแบบและออกแบบการเรียนการสอนให้สนุกจะทำให้เด็กๆ เข้าใจเนื้อหา เช่น ดาราศาสตร์หรือตารางธาตุได้ง่ายมากยิ่งขึ้น”
สาม Goodbye Sage on the Stage
คุณครูจะเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่จากผู้สอนหรือผู้ถ่ายทอดความรู้ เป็นผู้อำนวยความสะดวกหรือ facilitator เพราะในปัจจุบันผู้เรียนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ระดับโลก และยังสามารถเลือกรับข้อมูลที่ตรงกับจริตของตนเองได้ ขณะเดียวกัน AI หรือปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้
ในปัจจัยนี้ AI จะมีประโยชน์มากๆ ทั้งการช่วยกรองข้อมูลที่หลากหลาย แล้วก็ช่วย personalization ให้กับเด็ก เด็กๆ จะได้รู้ว่าเขาถนัดอะไร แต่ว่ามันก็จะมีข้อระวังเหมือนกัน เช่น สิทธิเด็ก ข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ หรือเนื้อหาใดที่มีแนวโน้มก่อให้เกิดการ bias หรือต่อต้าน
สี่ Learning Adaptability
การออกแบบและปรับหลักสูตร สื่อการเรียนการสอน บทบาทของครูและผู้เรียน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เฉพาะบุคคล (Personalized learning) มากขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนในหัวข้อที่ตรงตามความสนใจและความถนัดของตนเอง
ผู้เรียนจะรู้วิธีเลือกเรียนสิ่งที่จำเป็นต้องรู้ท่ามกลางข้อมูลความรู้มากมายในอนาคต ระบบการเรียนรู้จะเป็นรูปแบบทันเวลา (Just-in-time learning) ที่มีข้อมูลความรู้ต่างๆ เตรียมพร้อมรองรับเสมอ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนและการทำงาน
ผู้เรียนจะเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง ค้นพบตนเอง และเข้าใจความเป็นมนุษย์มากยิ่งขึ้น (Learning to be human)
“การเรียนรู้จะเน้นทักษะ soft skills มากขึ้น เช่น จริยธรรม ศีลธรรม ความคิดสร้างสรรค์ การควบคุมอารมณ์ การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น เพื่อให้เหมาะกับโลกในอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว”
มีรูปแบบไหนที่เริ่มเห็นในต่างประเทศแล้วบ้าง
ประเทศฟินแลนด์มี Flipped Learning Paradigm ที่มองว่าการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน การเรียนรู้จะให้ความสำคัญกับกระบวนการควบคู่ไปกับเนื้อหา ลดชั่วโมงเรียนที่ไม่จำเป็น ให้ผู้เรียนเรียนรู้ทักษะสำคัญที่จะนำไปใช้ต่อยอดได้จริง
การใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา (EdTech) ก็มีเพิ่มขึ้น เช่น การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) หุ่นยนต์ครูผู้ช่วยสอน (Robot teacher) รวมไปถึง application ที่นำข้อมูลขึ้นระบบดิจิทัลช่วยแบ่งเบาภาระครู
สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อค่านิยม (values) และวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบเดิม ซึ่งแต่ละปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญอาจจะเป็นไปในเชิงบวกหรือลบก็ได้ เช่น Blended Plearning ในประเทศไทย คิดแบบ worst case ก็อาจจะไม่ได้มีการสนับสนุนให้เกิดขึ้นมากนัก หรือเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างงบประมาณที่โรงเรียนต่างๆ ได้รับ ทำให้นักเรียนไทยได้รับโอกาสไม่เท่ากัน ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้นในประเทศไทย
“เราอยากนำเทคโนโลยีการศึกษามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แต่กลับกลายเป็นยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำ สิ่งนี้ต้องระมัดระวังอย่างมากต่อการพัฒนาระบบการเรียนรู้ในอนาคต”
2. Scenario ของการเรียนรู้ปีหน้า แบบ worst case กับ best case
ภาพอนาคตที่ 1 – Learning decomposed การเรียนรู้ที่ล่มสลาย
ระบบการเรียนรู้เกิดการล่มสลาย ผู้เรียนเกิดความทุกข์ในการเรียน ไม่ได้เรียนตรงตามสิ่งที่ตนเองสนใจ ไม่รู้ว่าตนเองชอบอะไร ความรู้ที่ได้รับไม่สามารถนำไปใช้ต่อยอดได้จริงกับสังคมในอนาคต
“นอกเหนือจากความทุกข์ที่ผู้เรียนไม่ได้เรียนตรงตามความสนใจ สิ่งที่แย่กว่านั้น คือ เนื้อหาไม่ได้มีการอัปเดต เมื่อหลักสูตรไม่อัปเดตนับเป็นการถดถอย นั่นแปลว่านักเรียนหรือผู้เรียนไม่สามารถนำความรู้และทักษะไปตอบโจทย์ชีวิตการทำงานได้ เพราะความรู้ที่ได้รับไม่ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”
เมื่อเป็นเช่นนั้น คนรุ่นใหม่ที่จบมาในสายงานที่ไม่ได้เตรียมทักษะแห่งอนาคต และไม่ได้เรียนตามความสนใจของตนเอง คนกลุ่มนี้จะไปอยู่ตรงไหน
“เมื่อการเรียนไม่สามารถตอบโจทย์ความสำเร็จในชีวิตได้ ก็ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วตนเองจะเรียนไปเพื่ออะไร”
ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนและศักยภาพของแรงงานในอนาคตจะยิ่งถดถอย ส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยโดยรวม
“แรงงานส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถพัฒนาทักษะขึ้นมาได้ ส่วนมากจะไม่ใช่แรงงานทักษะสูง การนำเทคโนโลยีอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ต่างๆ เข้ามาใช้จะยิ่งทำให้แรงงานทักษะต่ำถูกแทนที่ ยิ่งถ้าไม่มีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน (upskill / reskill) สำหรับทุกช่วงวัย ต่อไปสิ่งที่น่ากลัวกว่าการไม่ถูกจ้างงาน (unemployed) คือ การไม่มีทักษะที่ต้องการสำหรับการจ้างงาน (unemployable)”
ภาพอนาคตที่ 2 The vicious cycle of job seekers วงจรอุบาทว์ของผู้หางาน
ผู้เรียนส่วนใหญ่รู้สึกกดดันกับการเรียนรู้และการแข่งขันทั้งตอนเรียนและทำงาน เพราะถูกบังคับให้เดินไปตามความต้องการของสังคมและตลาดแรงงาน โดยโยนความชอบของตนเองทิ้งไว้เบื้องหลัง
“ถ้าเราปล่อยแบบนี้ไปเรื่อยๆ อีก 10 ปีผู้คนจะไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์งาน (job creator) แต่จะกลายเป็นผู้หางาน (job seeker) แบบที่คนส่วนมากเป็นมาตลอด อยู่ในวงจรอุบาทว์ (vicious circle) ที่ไม่มีวันจบสิ้น “เรียน สอบ เครียด” สำหรับนักเรียนนักศึกษา และ “ทำงาน ประเมินผล เครียด” สำหรับวัยแรงงาน วนไปอย่างนี้ไม่มีวันจบสิ้น ทำงานเพื่อขับเคลื่อนตลาดแรงงาน ไม่ได้ขับเคลื่อนตัวตนของตนเองจากภายใน
“การเรียนรู้ในวัยแรงงานจะเกิดขึ้นหรือไม่ เหมือนการเสี่ยงโชค ว่าเจอทีมดี องค์กรดีที่ส่งเสริมการเรียนรู้รึเปล่า หรือเป็นเพียงองค์กรที่มองลูกจ้างแต่ละคนเป็นเครื่องปั่นผลผลิตให้เกิดขึ้นเพียงเท่านั้น ไม่คิดที่จะช่วยพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ของพนักงานในระยะยาว ก็นับว่าต้องเสี่ยงโชคเหมือนกัน”
“แม้เทคโนโลยีจะถูกนำมาใช้กับการศึกษามากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดด้านการเข้าถึงทั้งอุปกรณ์และสัญญาณอินเทอร์เน็ต สิ่งที่เกิดขึ้นคือความเหลื่อมล้ำที่มากอยู่แล้วก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น”
ถ้าภาพอนาคตนี้เกิดขึ้น เศรษฐกิจไทยจะไม่เกิดการพัฒนาเท่าที่ควร ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เพราะในสังคมก็ยังวนเวียนอยู่กับการแข่งขันกันเอง
“สังคมยังให้คุณค่ากับวุฒิการศึกษา สถาบันและคณะที่จบ ผู้เรียนกดดันทั้งจากตัวเอง ครอบครัว และสังคม”
ภาพอนาคตที่ 3 Never-ending Learning การเรียนรู้อย่างไม่จบสิ้น
การเรียนรู้เป็นเรื่องของคนทุกวัย เป็นสังคมของการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา (Edtech) เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายและสนุกมากขึ้น ด้วยเนื้อหาที่สอดคล้องกับทักษะในอนาคต ครูปรับบทบาทเป็นผู้แนะนำการสอน ผู้เรียนก็มีความสุข
“เพราะสภาพแวดล้อมมีผลต่อการเรียนรู้ การที่เรามีแหล่งการเรียนรู้ มี lab ดีๆ มีการออกแบบตกแต่ง ในเมืองให้ส่งเสริมต่อการเรียนรู้เป็น Learning by Design จะช่วยส่งผลดีต่อประชากรในเมืองอย่างมาก มีการศึกษาที่ระบุว่าถ้าเราให้เด็กที่อยู่ในชุมชนแออัด ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ อย่างการทาสีผนังเชิงสร้างสรรค์ก็ตาม จะช่วยให้เด็กมีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น”
เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น แรงงานทุกช่วงวัยได้พัฒนาทักษะให้สอดรับกับตลาดแรงงาน คุณค่าของวุฒิการศึกษาลดลง ผู้เรียนจึงสามารถเลือกเรียนหรือฝึกทักษะที่ตัวเองสนใจได้อย่างเต็มที่ มีความกดดันและการแข่งขันน้อยลง ผู้เรียนมีความสุขในการเรียนและการทำงานเพิ่มมากขึ้น
ภาพอนาคตที่ 4 Design Your Ideal Life การเรียนรู้เพื่อออกแบบชีวิตในฝัน
“การเรียนรู้ไม่ได้เป็นไปเพื่อการหางาน หาเงินแต่จะเป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง ทำตามความฝันของตนเอง ผู้เรียนมีทักษะและทัศนคติที่เตรียมพร้อมหากเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในอนาคต”
ระบบการเรียนรู้เป็นระบบสะสมหน่วยกิตตลอดชีวิต (Credit bank) วางแผนการเรียนรายบุคคลร่วมกันระหว่าง AI กับผู้เรียน เพื่อการค้นพบตัวเอง และนำทักษะไปต่อยอดในการทำงานได้ตรงความสนใจและเกิดประโยชน์ต่อสังคม
ผลสืบเนื่อง คือ เศรษฐกิจขยายตัว มีนวัตกรรมและธุรกิจรูปแบบใหม่มากขึ้น คนในสังคมมีทัศนคติเชิงบวกต่อการเรียนรู้ ทุกคนเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุกของคนทุกวัยเพราะได้ออกแบบเอง ช่วยให้ค้นพบตัวเอง พบความหมายของชีวิต
“เมื่ออนาคตเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ผู้เรียนจะมีทักษะแห่งอนาคตและทัศนคติที่พร้อมรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลง และพร้อมเรียนรู้เรื่องใหม่เพื่อจะออกแบบชีวิตตนเองอยู่เสมอ”
3. ประเด็น Learning how to learn เราควรจะเริ่มต้นอย่างไร เริ่มกับใคร เริ่มที่ไหน
ในอนาคตข้อมูลจะยิ่งมีจำนวนมากและหลากหลายยิ่งขึ้น การคัดกรองข้อมูลด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การกรองข้อมูลด้วย AI เพียงอย่างเดียวก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป มนุษย์เองก็ต้องเรียนรู้ทักษะในการคัดกรองข้อมูลข่าวสาร เพื่อเลือกนำความรู้ที่สำคัญไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้เรียนและผู้สอนก็ต้องรู้รูปแบบการเรียนรู้ (Learning style) ที่เหมาะสมกับตัวผู้เรียนเองเช่นกัน
แล้วจะเริ่มต้นอย่างไร
- ผู้เรียน กระตุ้นให้ฝึกตั้งคำถาม เพื่อนำไปสู่การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking) มีเกณฑ์ในการเลือกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องและสำคัญ รู้รูปแบบการเรียนรู้ของตนเอง ฝึกฝน ลงมือทำ ปรับทัศนคติต่อวิธีการเรียนรู้
- ผู้ถ่ายทอดความรู้ ช่วยคัดกรองและเลือกวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะกับผู้เรียน
“ไม่ใช่การปรับทัศนคติต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนและครูผู้สอนเท่านั้น แต่ต้องรวมไปถึงคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน องค์กร สื่อ ภาครัฐ และภาคเอกชน ต้องปรับไปด้วยกันทั้งหมด”
4. ระบบนิเวศน์ต่างๆ ของการเรียนรู้ อย่าง ครู โรงเรียน พ่อแม่ ฯลฯ ควรทำอย่างไร
ครูและโรงเรียน มีความรู้ความเข้าใจต่อผู้เรียนรายบุคคล ระบบนิเวศน์แห่งการเรียนรู้เป็นรูปแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Child-centered Learning) ในการออกแบบหลักสูตรและกระบวนการสอน
“ไม่ได้หมายถึงแค่ภาครัฐในฐานะผู้กำหนดนโยบาย แต่ต้องรวมถึงครูผู้สอนที่ต้องเพิ่มการเห็นความสำคัญของผู้เรียนรายบุคคลให้มากขึ้นจริงๆ”
เพราะจะส่งผลต่อ 2 ส่วนสำคัญ ส่วนแรก คือ การบริหารจัดการที่เป็นผลจากวิสัยทัศน์และการวางเป้าหมายที่ชัดเจนเรื่องการเรียนรู้ นำไปสู่การจัดการที่มีประสิทธิภาพ
ส่วนที่ 2 คือ ทัศนคติ ถ้าทัศนคติดี เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ จะทำให้พฤติกรรมที่มีต่อการออกแบบการเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงไป
แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการเป้าหมายไม่ชัดและไม่เห็นความสำคัญตั้งแต่แรก”
“ทั้งในส่วนของหลักสูตร กระบวนการสอน การอบรม โรงเรียน วิสัยทัศน์ ผู้บริหาร การบริหารจัดการ และงบประมาณ เรื่องงบประมาณก็สำคัญ เพราะมันช่วยสร้างโอกาสให้กับนักเรียนโรงเรียนนั้นมากขึ้น”
พ่อแม่ มีความรู้ความเข้าใจในพัฒนาการเด็ก
“แม้กระทั่งการเลี้ยงดูแลลูกในแต่ละช่วงวัยก็เป็นทักษะอย่างหนึ่งที่การศึกษาไทยก็ไม่ได้สอน อาจจะมีโรงเรียนพ่อแม่ หรือว่าทักษะที่สื่อ องค์กรต่างๆ นำเสนอและให้ความรู้อย่างเข้าถึงง่าย”
5. data องค์ความรู้ งานวิจัยต่างๆ จะเข้ามาช่วยได้อย่างไรบ้าง
- Personalization : การนำข้อมูลขาดลามาสายหรือผลคะแนนของผู้เรียนมาช่วยในการวางแผนการเรียนการสอนสำหรับผู้เรียนรายบุคคล
- Management : การนำข้อมูลนำมาช่วยบริหารจัดการนโยบาย การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ลดภาระครู
- Prevention & Preparation : Look back to look forward / Forecast / Foresight
“การมองย้อนกลับไปในอดีตก่อนที่จะออกแบบอนาคต (Look back to look forward) ช่วยทำให้เราเรียนรู้จากเหตุการณ์หรือหลักฐานที่เคยเกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การทำนายอนาคต (Forecast) เช่น จำนวนผู้เรียน จำนวนครูเกษียณ เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เป็นต้น ส่วน Foresight คือ การคาดการณ์อนาคตโดยการพัฒนาภาพอนาคตออกมาหลายภาพ ซึ่งต้องอาศัย data ประกอบด้วยเช่นกัน จากนั้นองค์ความรู้งานวิจัยเหล่านี้จะช่วยต่อยอดเป็นนวัตกรรม ทั้งเพื่อแก้ปัญหาและสร้างนวัตกรรมใหม่”
6. ผู้ที่มีความสามารถที่หลากหลาย (Multipotentialite) สำคัญหรือเป็นที่ต้องการมากกว่าความเชี่ยวชาญอย่างใดอย่างหนึ่ง (Specialist) อย่างไร
ในอนาคตของการทำงาน บุคคลทั้ง 2 ประเภท ยังคงเป็นที่ต้องการ แต่ในสัดส่วนเท่าไรอาจต้องขึ้นกับขนาดและความต้องการขององค์กร เช่น Startup อาจต้องการผู้ที่มีความสามารถหลากหลาย (Multipotentialite) เป็นสัดส่วนที่มากกว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ (Specialists) เนื่องจากจำนวนคนน้อย จึงต้องการหาผู้ที่มีความสามารถหลายด้าน
แต่สิ่งสำคัญที่อยากจะฝาก คือ Specialist จำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาทักษะความรู้ให้เข้ากับทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต เพื่อป้องกันการถูกแทนที่งาน
7. ภาครัฐ ควรเข้ามามีบทบาทหรือสนับสนุนอย่างไร
ภาครัฐควรจะเป็น facilitator ที่ดีและสนับสนุนให้เกิดความพร้อมในทุกระดับอย่างที่กล่าวไป แล้วรูปแบบการสนับสนุนต้องมีความหลากหลาย แต่โดยหลักการ facilitator ที่ดีจะทำให้เกิดความพร้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ที่ดีต่อคนทุกระดับ
8. FutureTales Lab วางบทบาทของตัวเองไว้อย่างไร ภารกิจสำคัญคืออะไร
FutureTales Lab คือ ศูนย์วิจัยด้านอนาคตศึกษา ภายใต้บริษัท MQDC – Magnolia Quality Development Corporation
โฟกัสของ FutureTales Lab
ส่วนแรก Foresight งานวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต งานวิจัยที่ FutureTales Lab สนใจจะเน้นเรื่องอนาคตการใช้ชีวิตของมนุษย์ในหลายมิติ เช่น การทำงาน การเรียนรู้ การออกแบบพื้นที่เมือง การแพทย์ สิ่งแวดล้อม และอีกมากมาย รวมไปถึงการใช้ชีวิตบนอวกาศ เพื่อเตรียมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อออกแบบอนาคตที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นในสังคม
ส่วนที่ 2 สร้าง Data platform เพราะว่าการคาดการณ์อนาคต ข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เช่นกัน ส่วนสำคัญของ platform คือ Earthpulse ข้อมูลแบบ sea air land ice และ signal ข้อมูลต่างๆ ที่คัดกรองจาก AI เพื่อที่คณะผู้วิจัยจะได้มาดูว่า มีสัญญาณอะไรเกิดขึ้นบ้าง ณ ปัจจุบันเพื่อที่จะได้ดูว่ามันจะส่งผลต่ออนาคตอย่างไร
ส่วนที่ 3 Collaboration platform : FutureTales Lab ตั้งใจนำองค์ความรู้ต่างๆ เหล่านี้มาทำให้เกิด collaboration platform ให้กับนักอนาคตศาสตร์ (Futurists) และผู้ที่สนใจเรื่องอนาคตด้านต่างๆ ได้มารวมตัวกัน อาจจะไปรวมตัวกันที่พื้นที่ lab ที่ชั้น 8 อาคาร True Digital Park หรือว่าจะเป็นการรวมกันทางออนไลน์เพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้นด้วยกัน
FutureTales Lab ทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน ชุมชน สถานศึกษา มีการจัดงานทั้งเวิร์กช็อป นิทรรศการด้าน foresight วางอนาคตของเมือง อนาคตของประเทศ และอนาคตของเรื่องต่างๆ
9. ทำไมต้อง อนาคตศึกษา
ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับ Critical thinking Creative thinking Design thinking แต่ต่อไป Future Thinking จะกลายเป็นวิธีคิดที่จำเป็น เพราะโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกมิติ การมองอนาคตเพื่อเตรียมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น
“ต่อไปหลักสูตร Foresight หรือ Future Thinking ควรจะถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับของไทยด้วยเช่นกัน เพื่อให้เด็กไทยเตรียมพร้อมรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลง”
ผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องภาพอนาคต แนวโน้ม และสัญญาณการเปลี่ยนแปลงสำคัญในมิติต่างๆ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์และ Facebook fanpage : FutureTales Lab by MQDC นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีองค์กรและสถาบันการศึกษาชั้นนำ เปิดหลักสูตรเพิ่มขึ้นเยอะมาก นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้คนในสังคมที่จะได้ฝึกทักษะการมองอนาคตเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไปพร้อมกัน