- ตลอดปีที่ผ่านมา mappa สื่อสารผลงานทุกชิ้นบนความเชื่อว่า ความสัมพันธ์คือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่จะนำมาสู่การเรียนรู้ที่ตัวเราเป็นคนออกแบบเอง
- mappa ชวนดู 8 คอนเทนต์ “ที่สุดแห่งปี 2021” มอบมง ‘ความที่สุดกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว’ ผ่าน 8 ความสัมพันธ์ตลอดปี 2021
- เพื่อบอกว่า ทุกความสัมพันธ์ไม่ว่าจะใกล้หรือไกลตัวจะพาทุกคน เริ่มออกแบบแผนที่การเรียนรู้อย่างธรรมชาติ โดยอิงจากประสบการณ์และความสนใจของตัวเองได้
ปี 2021 บอกกับเราว่า “ไม่มีสิ่งไหนถูกหรือผิด”
อะไรที่เคยถูกต้องตามตำราเป๊ะก็ผิดไปหมด ส่วนที่เคยผิดดันกลายเป็นะถูกซะงั้น
ตลอดปีที่ผ่านมา mappa สื่อสารผลงานทุกชิ้นบนความเชื่อว่า ความสัมพันธ์คือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่จะนำมาสู่การเรียนรู้ที่ตัวเราเป็นคนออกแบบเอง ผิดถูกอาจไม่สำคัญเท่ากับว่าเราและครอบครัวมีความสุขกับมันหรือไม่
เช่นเดียวกับ 8 คอนเทนต์ “ที่สุดแห่งปี 2021” มอบมง ‘ความที่สุดกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว’ ผ่าน 8 ความสัมพันธ์ตลอดปี 2021 ประกอบด้วย คอนเทนต์ที่โอบกอดที่สุด Popular ที่สุด อยากรู้ที่สุด ฟาดที่สุด เหวอที่สุด หักมุมที่สุด ไม่อยากกลับบ้านที่สุดและแข็งแกร่งที่สุด
เพื่อบอกว่า ทุกความสัมพันธ์ไม่ว่าจะใกล้หรือไกลตัวจะพาทุกๆ คน เริ่มออกแบบแผนที่การเรียนรู้อย่างธรรมชาติ โดยอิงจากประสบการณ์และความสนใจของตัวเองได้
ไม่ต้องตั้งคำถามกับการกระทำตัวเองว่า “เราดีพอหรือยัง” หรือ “เราทำถูกแล้วหรือยัง” แต่อย่างน้อยจะมั่นใจว่า เส้นทางตรงหน้าคือทางที่เราเป็นคนเลือกเอง
“เพราะการเรียนรู้เกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ มันคือเรื่องธรรมดาและเป็นส่วนหนึ่งของความสนุกในชีวิตประจำวัน”
โอบกอดที่สุด: แหม่ม วีรพร นิติประภา
“พี่โอบกอดความเป็นมนุษย์ของตัวเองอยู่แล้ว เราก็เริ่มเห็นว่าเราก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง”
นี่คือความจริงของ “แหม่ม วีรพร นิติประภา” หลังจากเธอโอบกอดความเป็นมนุษย์ของลูกและโอบกอดความเป็นมนุษย์ของเธอเอง ในฐานะ ‘แม่’
วีรพรเคยกรี๊ดใส่หน้าลูก สิ่งที่เธอทำ คือ ขอโทษลูกและบอกกับลูกตรงๆ
“เราก็บอกว่าแม่ขอโทษนะลูก เราเป็นแค่คนธรรมดา บอกเขาอย่างนี้เลย เหมือนเขาเป็นคนโต แม่ก็เป็นคนธรรมดาหนึ่ง เจ้าอารมณ์ด้วย เป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ไม่เก่ง แม่ไม่ควรจะขึ้นเสียงกับลูก แต่แม่ทำไปแล้ว แม่ขอโทษ แม่จะพยายามไม่ทำอีกแล้ว”
และหลายๆ ครั้งที่แม่ไม่กล้าพูดกับลูก เพราะกลัวว่าลูกจะตั้งคำถามกับความรักของแม่
แต่แม่แหม่มบอกว่า ลูกไม่เคยตั้งเงื่อนไขกับความรักของแม่ “แต่พ่อแม่ต่างหากที่มีเงื่อนไขเว้ย ลูกต้องน่ารักนะ ลูกต้องสุขภาพดีนะ ลูกต้องดูแลตัวเองได้ ดูแลพ่อแม่ได้ยิ่งประเสริฐ”
ทั้งหมดนี้ เพราะเรากำลังอยู่ในสังคมที่บอกว่า อันนี้ดีอันนี้ไม่ดี แล้วไม่บอกว่ามันดียังไง
“แล้ววันหนึ่งเรามีลูก เราเริ่มรู้ว่าการเลี้ยงลูกก็สนุกดี จนลืมว่า ลูกโตแล้วนะ เขาต้องเลือกเองแล้วนะ ในที่สุดเราก็เริ่ม อ้าว ทำไมขัดใจแม่ล่ะ ทำไมเริ่มไม่เชื่อฟัง ไม่น่ารักเหมือนเดิม ทำไมทำแม่เสียใจ มันก็ไม่เกี่ยวกันเลย”
เพราะสุดท้าย ลูกเป็นแค่คนๆ หนึ่งที่กำลังโตขึ้นเป็นคนที่สมบูรณ์ขึ้นก็เท่านั้นเอง
อ่าน วีรพร นิติประภา “เพราะโลกข้างนอกมันเดียวดาย จงรักลูกอย่างไม่มีเงื่อนไขแบบที่ลูกรัก” ได้ ที่นี่
ดู mappa live ครั้งที่ 4 ศุกร์ 13 สนทนากับวีรพร นิติประภา : ทักษะที่แม่ไม่ต้องมี เพราะที่มีอยู่ก็ทำไม่ไหวแล้ว
Popular ที่สุด: ทิม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ปี 2021 คอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมที่สุดในเฟสบุ๊ก mappa คือ คลิปสัมภาษณ์ ‘ทิม’ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ “ถึงครอบครัวจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ลูกจะสมบูรณ์แบบในแบบของเค้าได้”
“เพราะรู้สึกว่าแยกกันอยู่มีความสุขกว่าอยู่ด้วยกันสำหรับลูก” เป็นจุดในความสัมพันธ์ที่ทำให้ ‘ทิม’ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์รู้สึกว่าควรพอแค่นี้
ลูกสาวเคยถามว่า ทำไมพ่อกับแม่ไม่อยู่ด้วยกัน คุณพ่อหัวหน้าพรรคตอบโดยใช้นิทาน เปรียบพ่อกับแม่เป็นยีราฟ
เพราะยีราฟกับจระเข้อยู่ด้วยกันแล้วไม่มีความสุข แต่อย่างไรพ่อกับแม่ก็ยังรักลูกเหมือนเดิม
สำหรับคนที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่ ครอบครัวก็อบอุ่นได้
“ครอบครัวที่อบอุ่นก็คงไม่ต้องเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ แต่คือครอบครัวที่ real ครอบครัวที่อยู่ได้จริง แล้วก็มีทั้งวันที่ดีและวันที่ไม่ดี แต่วันที่ดีก็อยู่ด้วยกันผมว่าน่าจะเป็นครอบครัวที่อบอุ่นอย่างแท้จริง แล้วก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องเป็นสิ่งที่ดีตลอดเวลา”
และสุดท้าย ลูกจะสมบูรณ์แบบในแบบของเค้าเอง
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ความแตกสลายภายใต้กระดุมห้าเม็ด “สำหรับผม ความรักคือพื้นที่อบอุ่น เจ็บปวด เติบโต และไม่นิรันดร์” ได้ ที่นี่
รับชมคลิป “ถึงครอบครัวจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ลูกจะสมบูรณ์แบบในแบบของเค้าได้”
ฟาดที่สุด: Supanaree story
ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร โซเชียลมีเดียคือสื่อกลางในการทำความรู้จักเพื่อนที่เราไม่เคยเห็นหน้า แต่ก็ยังมีป้าข้างบ้านบนโลกออนไลน์ที่อยากรู้เรื่องราวของคนอื่นมากกว่าตัวเองเต็มไปหมด
หนึ่งในความเห็นที่สามสาวจาก Supanaree Story เจอ คือ การบอกว่า ใส่เสื้อในเท่ากับเป็นคนดี
ในความเห็นของเฟิร์น ศุภนารี ลูกสาวคนโตมองว่า ถึงจะใส่หรือไม่ใส่ก็โดนอยู่ดี
ส่วนแม่บี จามจุรี สท๊วต คิดว่า ลูกมีสิทธิที่จะทำอะไรก็ได้ “บางคนติทุกเรื่อง ติตั้งเเต่หนึ่งถึงร้อย ก็ปล่อยเขาไป เเต่ลูกเราทำดีเเล้ว เขาทำในสิ่งที่เขาชอบ เเม่ไม่บังคับ เพราะคิดว่าเขาไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร สบายด้วย”
“คนจะคอมเมนต์มันห้ามไม่ได้”
บางครั้งเลือกปล่อยผ่านไป แต่คอมเมนต์ที่รุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวมากเกินไป เฟิร์นก็เลือกที่จะตอบกลับ
“คือเราก็เข้าไปตอบกลับว่า ที่คุณคิดมันไม่ได้ถูกนะ เราต่างมีความคิด เเต่จะไปบอกให้คนอื่นคิดเหมือนกับตัวเองไม่ได้ เเละควรยึดโยงกับเรื่องมารยาทกับสิทธิส่วนบุคคล บางคนใช้อวาตาร์มาตอบถือว่าไม่รู้จักกันเเล้วจะพิมพ์อะไรก็ได้ เเต่เฟิร์นมองว่า ถ้าเราทำอะไรแล้วมีความสุขเเละไม่เดือดร้อนใคร ก็ทำเลย”
สุดท้าย Cyberbully สอนสามสาวจาก Supanaree story ว่า ผู้คนมีความเเตกต่างหลากหลายที่พวกเธอต้องเรียนรู้ผ่านการสื่อสารบน ‘โลกออนไลน์’ เเละจงมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ เพราะถ้าเเม่ไม่ว่า ป้าก็คงไม่ต้อง…
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ ที่นี่
อยากรู้ที่สุด: Homebased Learning และ Homeschool
Home Based Learning คือ คำค้นหายอดนิยมที่ทำให้หลายคนรู้จัก mappa
เพราะเราเชื่อว่า สิ่งสำคัญของการเรียนรู้ คือ การลงมือทำเเละมีประสบการณ์จริง
Home Based Learning เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ ทุกคนลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของการเรียนรู้ได้
mappa เชื่อว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ สามารถสร้างได้จากทุกสิ่ง ง่ายบ้าง ยากบ้าง แต่ทำได้จริง เเละสุดท้ายเราคือเจ้าของความรู้นั้นเอง
ขณะเดียวกัน 2 ปีกับการเรียนออนไลน์ ทำให้พ่อแม่เริ่มลังเลใจว่า หากลูกต้องเรียนที่บ้าน พ่อแม่ก็ไม่ต่างจากครู
จะดีกว่าไหม? ถ้าพ่อแม่จะทำ Homeschool ให้ลูกเอง
ปี 2021 นี้ mappa ชวนพ่อแม่และลูกๆ โฮมสคูลมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์บ้านเรียน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของพ่อแม่และปลายทางของลูกๆ ที่เติบโตในระบบ Homeschool
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของการทำ Homeschool ได้ ที่นี่
ดูปลายทางของระบบบ้านเรียนได้ ที่นี่
อ่าน Home Based Learning เปลี่ยนบ้านเป็นพื้นที่การเรียนรู้ ครูคือพ่อแม่ก็ได้ ได้ ที่นี่
ดู Home-Based Learning EP.1: ชวนเด็กๆ ทำหุ่นเงา 3 เเบบกับ puppets by Jae
เหวอที่สุด: ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
“ถ้าคุณไม่พองตัวแบบคางคก (ทำท่าคางคก) คุณก็จะโดนคนอื่นแกล้ง ตอนเด็กๆ ผมก็เป็นทั้งคนบุลลี่คนอื่นและคนที่ถูกบุลลี่นะ ถ้าเราไม่ทำคนอื่นก็ทำเรา”
ประโยคเดียวของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าและคุณพ่อลูกสี่วินาทีที่ทำให้ mappa เหวอที่สุด ระหว่าง mappa live ครั้งที่ 2 ‘ถาม เถียง รับฟัง เคารพ: ประชาธิปไตยเริ่มต้นได้ที่บ้าน’
วิธีการสอนเด็กๆ ให้รู้นิยามประชาธิปไตยว่า “ทุกคนเท่ากัน” ด้วยการเชื่อมโยงกับเรื่องใกล้ตัว ยกตัวอย่างเช่น การบุลลี่
เราควรยอมรับความหลากหลาย ไม่มีใครควรถูกโดนบุลลี่หรือถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีหรือความเป็นมนุษย์
ธนาธรเองก็เคยเป็นคนที่ไม่ยอมรับความหลากหลาย เพราะ “สิทธิในชีวิตร่างกายไม่เคยอยู่ในหลักสูตร”
“ถ้าปล่อยให้การศึกษาไทยยังมีระบบการบูลลี่ในสังคม มันยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูง แทนที่ไม่ว่าจะคนรวยหรือจน ถ้าผ่านระบบการศึกษาออกมา คนทุกคนควรมีความภูมิใจในตัวเอง เชื่อมั่นในตัวเอง แต่นี่มันคนละเรื่องเลย มันทำให้ลูกหลานคนรวยเชื่อมั่นในตัวเอง ลูกหลานคนจนยิ่งหวาดกลัวต่ออำนาจ ต่อคำสั่ง หวาดกลัวที่จะแสดงความคิดเห็น หรือพูดในที่สาธารณะ”
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่: https://fkwp.mappamedia.co/thanathorn-juangroongruangkit…/
รับชม mappa live ครั้งที่ 2 ‘ถาม เถียง รับฟัง เคารพ: ประชาธิปไตยเริ่มต้นได้ที่บ้าน’
หักมุมที่สุด: เค คณิน พรรคติวงษ์ เจ้าของเพจแม่ เมนูนี้ทำไง
“แม่กินหัวกินก้างให้ลูกได้กินเนื้อปลา”
แม่เราเสียสละหรือเปล่า?
แต่คำตอบที่แท้จริงและหักมุมที่สุดจากแม่ของ เค คณิน พรรคติวงษ์ เจ้าของเพจ แม่ เมนูนี้ทำไง คือ แม่ไม่ได้เสียสละให้ลูก แต่แม่กินเพราะแม่อยากกิน
บทสนทนาถามตอบเรื่องสูตรการทอดปลาสลิดในคลิป “ปลาสลิดทอด Ep.13” นำมาสู่บทสนทนาเปิดใจของแม่ เสียงในใจที่ลูกชายไม่เคยได้ยิน
“แม่เปรียบเคเป็นต้นไม้เนื้อแข็งที่ยืนต้นด้วยตัวเองได้ก็เลยเหมือนดูแลน้องมากเกินไป จนไม่มีเวลาดูแลเค เพราะแม่เห็นว่าเคก็เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่ดูแลตัวเองได้ จนแม่ลืมไปว่าต้นไม้ใหญ่อีกต้นหนึ่งมันก็ต้องการความใส่ใจอยู่เหมือนกัน”
นี่คือเสียงในใจของแม่
“ผมโตมาด้วยความไม่สนิทกับแม่ รู้สึกว่าแม่ไม่รักหรือเปล่า แม่ลำเอียงหรือเปล่า เพราะแม่สนิทกับน้องมากกว่า แต่คลิปนั้นแม่มาบอกว่าเขารู้สึกยังไง แอบสารภาพผิดนิดหนึ่ง แม่ไม่ได้พูดตรงๆ แต่ผมจับความรู้สึกได้ว่า เขารู้สึกผิด แต่กล้าที่จะบอกความจริงกับเรา”
เพราะสำหรับเค แม่คือต้นไม้ที่เฝ้ามองลูกคนนี้ค่อยๆ เติบโต
“แม่ไม่เคยผูกมัด ผมจะเลือกเรียนอะไรก็ได้เขาไม่บังคับ ให้อิสระ เพราะเขาเชื่อว่าเราจะต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง”
อ่านบทความฉบับเต็มได้ ที่นี่
ไม่อยากกลับบ้านที่สุด: ฝ้าย บุณฑริกา แซ่ตั้ง เจ้าของเพจไม่อยากกลับบ้าน
“แทบทุกมุมในบ้าน ไม่มีมุมไหนที่รู้สึกสนุกหรือสบายใจ”
คือเหตุผลที่ทำให้ ฝ้าย บุณฑริกา แซ่ตั้ง ไม่อยากกลับบ้าน เพราะ บ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย
ตลอดเวลาที่ผ่านมาฝ้ายตามหาสิ่งที่เรียกว่า พื้นที่ปลอดภัย เธอไม่เคยสัมผัสความรู้สึกนั้นอย่างแท้จริงมาก่อน เธอไม่รู้ว่าอะไรคือความสบายใจของตัวเอง
“บางทีเราพอใจที่จะอยู่กับเพื่อนกลุ่มหนึ่ง แต่บางทีคนเขารับฟังเรา ก็ไม่ได้อยู่ฟังตลอด บางครั้งตัวเราเองด้วยซ้ำที่เป็นเซฟโซนของตัวเราเอง เรามีความเชื่อมั่นว่าถ้าเรารู้ว่าสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหามันคืออะไรก็น่าจะโอเค”
จึงเป็นที่มาของ เพจไม่อยากกลับบ้าน เธอไม่ได้ต้องการก่นด่า หรือเพิ่มความเกลียดชังให้คนที่หัวใจแตกสลายจากครอบครัว แต่อยากสร้างบรรทัดฐานใหม่และทำความเข้าใจกับสังคมว่า
“การที่เด็กคนหนึ่งจะมีความขัดแย้งกับพ่อแม่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และความรู้สึกที่ต้องการออกจากบ้านมันไม่ใช่ความอกตัญญู เพราะบ้านอาจจะไม่ใช่พื้นที่แห่งความสบายใจสำหรับใครบางคนจริงๆ”
อ่านบทความฉบับเต็มได้ ที่นี่
แข็งแกร่งที่สุด: ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ
“ปัญหาความเหลื่อมล้ำมาจากการที่เรามีสวัสดิการไม่เพียงพอ เราจะขจัดความเหลื่อมล้ำได้ก็ต่อเมื่อลูกต้องได้ดีกว่าพ่อแม่ เพราะถ้าลูกไม่สามารถพัฒนาได้ดีกว่าพ่อแม่ เขาก็จะตกอยู่ในวงจรอุบาทว์วนไป รัฐจึงต้องเอาสวัสดิการไปช่วยให้เขาหลุดพ้นจากวงจรนี้”
คำตอบของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ใน mappa live ครั้งที่ 5 ‘สายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี มาจากรัฐสวัสดิการ’ มองว่า รัฐสวัสดิการ คือการที่รัฐมาช่วยสนับสนุนสิ่งที่จำเป็นให้กับประชาชนในการดำเนินชีวิต
เพราะการเลี้ยงลูกมีความเสี่ยง รัฐสวัสดิการที่แข็งแกร่งและเหมาะสมจะทำให้พ่อแม่รู้สึกมั่นคง มั่นใจ ไม่กลัว รวมถึงกล้าที่จะมีลูกมากขึ้น
“สวัสดิการที่จะส่งผลไปถึงลูก ไม่ใช่แค่สวัสดิการของลูกอย่างเดียว แต่คือสวัสดิการพ่อแม่ด้วย ต้องให้พ่อแม่มี safety net ที่เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลไปถึงความสัมพันธ์กับลูกด้วย เพราะถ้าเรามีลูกและเต็มไปด้วยความกลัว ความไม่แน่ใจในอนาคต มันกระทบถึงอารมณ์และความสัมพันธ์ของเรากับลูกด้วย สวัสดิการจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีผลกระทบต่อเรื่องอื่นๆ อีกเยอะ”
ชัชชาติเชื่อว่า สายสัมพันธ์พัฒนาได้ตลอด โซ่ความสัมพันธ์ที่ดี พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ถ้ายังโกรธหรือมองโลกในแง่ร้ายแล้วใช้ความสัมพันธ์ยึดเขาไว้โดยที่เขาไปหาอิสระอย่างอื่นไม่ได้ มันก็เป็นผลลบ
“ปัจจุบันความขัดแย้งในสังคมมีมาก ผู้ใหญ่บางคนเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง และยึดความสัมพันธ์กับลูกว่า ลูกต้องคิดเหมือนเรา ผมว่ามันต้องเปิดกว้าง ปรับตัวเอง และเอาใจเขามาใส่ใจเราเยอะๆ การมีสายสัมพันธ์ที่ดีเป็นการยึดโยงให้เราเข้าใจลูกว่าเขาต้องการอะไร เขารู้สึกอะไร อย่าเอาสายสัมพันธ์ไปเป็นตัวตัดสินลูก แต่เอาไว้เชื่อมโยงเพื่อเข้าใจเขาให้มากขึ้น”
อ่านบทความฉบับเต็มได้ ที่นี่
รับชม mappa Live ครั้งที่ 5 “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์: สายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี มาจากรัฐสวัสดิการ”